ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 227อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 233อ่านอรรถกถา 31 / 237อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สัลเลขัฏฐญาณนิทเทส

               ๓๗. อรรถกถาสัลเลขัฏฐญาณนิทเทส               
               [๒๓๓-๒๓๖] พึงทราบวินิจฉัยในสัลเลขัฏฐญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า ราโค ปุถุ ราคะหนา คือ ราคะต่างหาก ไม่ปนด้วยโลกุตระ.
               ในบทที่เหลือมีนัยนี้.
               ชื่อว่าราคะ เพราะอรรถว่ากำหนัด.
               ชื่อว่าโทสะ เพราะอรรถว่าประทุษร้าย.
               ชื่อว่าโมหะ เพราะอรรถว่าลุ่มหลง.
               พระสารีบุตรกล่าวกิเลสอันเป็นประธาน ๓ เหล่านี้ คือราคะมีลักษณะกำหนัด. โทสะมีลักษณะประทุษร้าย. โมหะมีลักษณะลุ่มหลง แล้วบัดนี้เมื่อจะแสดงโดยประเภท จึงกล่าวบทมีอาทิว่า โกโธ.
               ในบทเหล่านั้น ในบทว่า โกโธ มีลักษณะโกรธนี้ ท่านประสงค์เอาวัตถุ ๗ อย่าง.
               อุปนาหะมีลักษณะผูกโกรธ คือความโกรธนั่นเองที่ถึงความมั่นคง.
               มักขะมีลักษณะลบหลู่คุณผู้อื่น คือลบล้างคุณของผู้อื่น.
               ปลาสะมีลักษณะตีเสมอ คือเห็นคุณผู้อื่นด้วยการตีเสมอ.
               อิสสามีลักษณะทำสมบัติของผู้อื่นให้สิ้นไป คือริษยา.
               มัจฉริยะมีลักษณะซ่อนสมบัติของตน คือสมบัติของเราจงอย่าเป็นของผู้อื่น.
               มายามีลักษณะปกปิดความชั่วที่ตนทำ คือทำเป็นมายาด้วยความปกปิด.
               สาเถยยะมีลักษณะประกาศคุณที่ไม่มีในตน คือความเป็นผู้โอ้อวด.
               ถัมภะมีลักษณะพองจิต คือความเป็นผู้กระด้าง.
               สารัมภะมีลักษณะให้ยิ่งด้วยการทำ.
               มานะมีลักษณะถือตัว.
               อติมานะมีลักษณะดูหมิ่น.
               มทะมีลักษณะความเป็นผู้มัวเมา.
               ปมาทะมีลักษณะปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕.
               พระสารีบุตรเถระ ครั้นแสดงความหนาด้วยอำนาจกิเลสไว้แผนกหนึ่งๆ แล้ว เพื่อจะแสดงถึงกิเลสที่กล่าวไว้แล้ว และกิเลสอื่นที่ยังมิได้กล่าวไว้ ด้วยสงเคราะห์เข้ากันทั้งหมด จึงกล่าวบทมีอาทิว่า สพฺเพ กิเลสา - กิเลสทั้งปวง.
               ในบทเหล่านั้น ชื่อว่า กิเลส เพราะอรรถว่ายังสัตว์ให้เศร้าหมอง ให้เดือดร้อน ให้ลำบากในภพนี้และภพหน้า. ทั้งที่สงเคราะห์เข้าในอกุศลกรรมบถ ทั้งที่มิได้สงเคราะห์เข้า.
               ชื่อว่า ทุจริต เพราะอรรถว่าประพฤติด้วยความชั่ว หรือประพฤติชั่ว.
               ทุจริตนั้นมี ๓ ประการ คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑.
               ชื่อว่า อภิสงฺขารา เพราะอรรถว่าปรุงแต่งวิบาก.
               อภิสังขารก็มี ๓ ประการ คือ
               ปุญญาภิสังขาร - อภิสังขาร คือ บุญ ๑
               อปุญญาภิสังขาร - อภิสังขาร คือ บาป ๑.
               อาเนญชาภิสังขาร - อภิสังขาร คือ ความไม่หวั่นไหว ๑.
               ชื่อว่า ภวคามิโน เพราะอรรถว่าสัตว์ไปสู่ภพ ด้วยอำนาจวิบาก. กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพ ชื่อว่า ภวคามิกมฺมา.
               ด้วยบทนี้ แม้เมื่อความเป็นอภิสังขารมีอยู่ ก็เป็นอันห้ามกรรมที่ยังมิได้เสวย.
               นี้เป็นความต่างกันด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ทุจฺจริตา และ กมฺมา เป็นลิงควิปลาศ.
               บทว่า นานตฺเตกตฺตํ - สภาพต่างๆ และสภาพเดียวในอุทเทสหัวข้อนี้ คือแม้ไม่มีศัพท์ว่า เอกตฺต ผู้ประสงค์จะชี้แจงแม้สภาพเดียว เพราะความที่เพ่งถึงกันและกันแห่งสภาพต่างๆ และสภาพเดียว จึงทำอุทเทสว่า นานตฺเตกตฺตํ. เมื่อแสดงสภาพเดียวในการขัดเกลาสภาพต่างๆ ท่านก็แสดงถึงญาณในการขัดเกลาได้โดยง่าย.
               บทว่า นานตฺตํ คือ สภาพต่างๆ เพราะความไม่มั่นคง และเพราะมีความดิ้นรน.
               บทว่า เอกตฺตํ คือ สภาพเดียว เพราะความมั่นคง และเพราะไม่ดิ้นรน.
               บทว่า จรณเตโช - จรณเดช ชื่อว่าจรณะ เพราะอรรถว่าเที่ยวไปสู่ทิศที่ยังมิได้ไปคือนิพพาน ด้วยจรณเดชนั้น. จรณะนั้นคืออะไร? คือศีล. จรณะนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นเดช เพราะอรรถว่าเผาสิ่งเป็นข้าศึก.
               บทว่า คุณเตโช - คุณเดช คือสมาธิเดชอันเป็นที่ตั้งได้ด้วยศีล.
               บทว่า ปญฺญาเตโช - ปัญญาเดช คือวิปัสสนาเดชอันเป็นที่ตั้งได้ด้วยสมาธิ.
               บทว่า ปุญฺญเตโช - ปุญญเดช คืออริยมรรคกุสลเดชอันเป็นที่ตั้งได้ด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า ธมฺมเตโช - ธรรมเดช คือพุทธวจนเดชอันเป็นหลักแห่งเดช ๔.
               บทว่า จรณเตเชน เตชิตตฺตา ได้แก่ ผู้มีจิตกล้าแข็ง ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ทุศีลให้สิ้นไป ด้วยจรณเดชคือศีลเดช.
               บทว่า ทุสฺสีลฺยเตชํ ได้แก่ เดช คือความเป็นผู้ทุศีล. ชื่อว่าเตโช เพราะเผาสันดานแม้นั้น.
               บทว่า ปริยาทิยติ คือ ให้สิ้นไป.
               บทว่า อคุณเตชํ - ยังเดชมิใช่คุณ ได้แก่ เดชคือความฟุ้งซ่าน อันเป็นปฏิปักษ์ของสมาธิ.
               บทว่า ทุปฺปญฺญเตชํ - เดช คือความเป็นผู้มีปัญญาทราม ได้แก่ เดชคือโมหะ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิปัสสนาญาณ.
               บทว่า อปุญฺญเตชํ - เดชมิใช่บุญ ได้แก่ เดชคืออกุศลกรรมอันเป็นสหายของกิเลส ด้วยการไม่ละกิเลส อันทำลายมรรคนั้นๆ มิใช่ให้เดช มิใช่ให้บุญสิ้นไปอย่างเดียวเท่านั้น ยังกุศลกรรมให้สิ้นไปด้วย เพราะพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมไม่ดำ ไม่ขาว มีอยู่ กรรมอันเป็นวิบากของกรรมไม่ดำ ไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งกรรมดังนี้๑- ท่านกล่าวเดชอันมิใช่บุญเท่านั้น ด้วยสามารถเป็นปฏิปักษ์ต่อเดชอันเป็นบุญ.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓๓

               บทว่า อธมฺมเตชํ - เดชมิใช่ธรรม ได้แก่ เดชอันเป็นถ้อยคำแสดงลัทธิของพวกเดียรถีย์ต่างๆ.
               เมื่อท่านกล่าวอรรถวิกัปที่สอง ในการพรรณนาอุทเทสแห่งญาณนี้ เดช คือความเป็นผู้ทุศีลมากมี ๑๙ อย่างมีราคะเป็นต้น.
               ในบทนี้ว่า อภิสงฺขารา ภวคามิกมฺมา ได้แก่ อปุญญาภิสังขารและอกุศลกรรม เป็นเดชมิใช่บุญ. อาเนญชาภิสังขารเป็นกุศลกรรมฝ่ายโลกิยะ ชื่อว่าย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อเดชมิใช่บุญ เพราะยังบุญเดชให้สิ้นไป. สภาพต่างๆ ๑๕ มีกามฉันทะเป็นต้นย่อมเป็นเดชมิใช่คุณ. สภาพต่างๆ ๑๘ มีนิจสัญญาเป็นต้นย่อมเป็นเดชแห่งความเป็นผู้มีปัญญาทราม. สภาพต่างๆ ๔ อันทำลายมรรค ๔ ย่อมเป็นเดชมิใช่บุญ.
               พึงสงเคราะห์เดชมิใช่ธรรม ด้วยสภาพต่างๆ อันทำลายโสดาปัตติมรรค.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงธรรมเครื่องขัดเกลา ด้วยธรรมมิใช่เครื่องขัดเกลา อันเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมเครื่องขัดเกลาไว้ในนิทเทส จึงแสดงธรรมเครื่องขัดเกลาไว้ก่อนธรรมมิใช่เครื่องขัดเกลา.
               ธรรมสภาพเดียว ๓๗ มีเนกขัมมะเป็นต้น ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา เพราะขัดเกลาธรรมเป็นข้าศึก. ญาณในธรรมเครื่องขัดเกลา ๓๗ ประเภทมีเนกขัมมะเป็นต้นนั้น ชื่อว่าสัลเลขัฏฐญาณ.

               จบอรรถกถาสัลเลขัฏฐญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สัลเลขัฏฐญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 227อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 233อ่านอรรถกถา 31 / 237อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=2564&Z=2596
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=7579
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=7579
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :