ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 115อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 120อ่านอรรถกถา 31 / 136อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สังขารุเปกขาญาณนิทเทส

               อรรถกถาสังขารุเปกขาญาณนิทเทส               
               <a name='ข้อ_๑๒๗'>[๑๒๐-๑๓๕] พึงทราบวินิจฉัยในสังขารุเปกขาญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุปฺปาทา เป็นต้นมีอรรถดังได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               บททั้งหลายว่า ทุกฺขนฺติ ภยนฺติ สามิสนฺติ สงฺขารา - ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ความเกิดขึ้นเป็นภัย ความเกิดขึ้นมีอามิส ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร เป็นคำแสดงเหตุของญาณ คือ ความหลุดพ้นจากอุปฺปาท เป็นต้น.
               อนึ่ง พระสารีบุตร ครั้นแสดงถึงสังขารุเปกขาญาณโดยลักษณะอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อแสดงโดยอรรถ จึงกล่าวบทมีอาทิว่า อุปฺปาโท สงฺขารา, เต สงฺขาเร อชฺฌุเปกฺขตีติ สงฺขารุเปกฺขา - ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร, ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเบกขาญาณ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขาเร อชฺฌุเปกฺขติ - ญาณวางเฉยในสังขาร.
               ความว่า เมื่อพระโยคาวจรนั้นเริ่มเจริญวิปัสสนา ละความขวนขวายในการค้นหาลักษณะ เพราะเห็นพระไตรลักษณ์ด้วยวิปัสสนาญาณแล้ว เห็นภพ ๓ ดุจไฟติดทั่วแล้ว มีความเป็นกลางในการถือสังขารวิปัสสนาญาณนั้น ย่อมเห็นสังขารเหล่านั้นโดยพิเศษ และเห็นคือมองดูญาณที่เว้นแล้วด้วยการถือเอา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเบกขาญาณ.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ผู้ชนะโดยพิเศษ ชื่อว่าย่อมชนะยิ่งในโลก, ผู้เว้นอาหาร ขออยู่ด้วย ก็ชื่อว่าเข้าไปอาศัย. ญาณที่เห็นแจ้งสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นอีก เห็นแจ้งแม้สังขารุเบกขาซึ่งตั้งอยู่ในความเป็นกลาง โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นในการยึดถือ ท่านจึงกล่าวบทมีอาทิว่า เย จ สงฺขารา, ยา จ อุเปกฺขา - ทั้งสังขารและอุเบกขาก็เป็นสังขาร เพราะเกิดพร้อมกันด้วยสังขารุเบกขา อันตั้งอยู่โดยอาการเป็นกลางในการยึดถือสังขารุเบกขาแม้นั้น.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเพื่อจะแสดงประเภทของการน้อมจิตไปในสังขารุเบกขา จึงกล่าวบทมีอาทิว่า กตีหากาเรหิ - ด้วยอาการเท่าไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขารุเปกฺขาย เป็นสัตตมีวิภัตติ แปลว่า ในสังขารุเบกขา.
               บทว่า จิตฺตสฺส อภินีหาโร - การน้อมไปแห่งจิต ได้แก่ การทำจิตอื่นจากนั้นให้มุ่งไปสู่ความวางเฉยของสังขาร แล้วนำไปอย่างหนักหน่วง.
               อภิ ศัพท์ ในบทนี้มีความว่ามุ่งหน้า. นีศัพท์มีความว่าอย่างยิ่ง.
               พระสารีบุตรประสงค์จะแก้คำถามที่ถามว่า กตีหากาเรหิ - ด้วยอาการเท่าไร
               ตอบว่า อฏฺฐหากาเรหิ - ด้วยอาการ ๘ อย่าง แล้วจึงแสดงอาการ ๘ เหล่านั้น ด้วยแก้คำถามข้อที่ ๒ จึงไม่แสดงอาการเหล่านั้น ได้ตั้งคำถามมีอาทิว่า ปุถุชฺชนสฺส กตีหากาเรหิ - การน้อมจิตไปในสังขารุเบกขาของปุถุชน ด้วยอาการเท่าไร.
               ในบทว่า ปุถุชฺชนสฺส นี้มีคาถาดังต่อไปนี้.
                         ทุเว ปุถุชฺชนา วุตฺตา   พุทฺเธนาทิจฺจพนฺธุนา
                         อนฺโธ ปุถุชฺชโน เอโก  กลฺยาเณโก ปุถุชฺชโน.
                         พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ตรัสถึง
                         ปุถุชนไว้ ๒ จำพวก พวกหนึ่งเป็นอันธปุถุชน
                         พวกหนึ่งเป็นกัลยาณปุถุชน.
               ในปุถุชน ๒ จำพวกนั้น ปุถุชนที่ไม่มีการเรียน การสอบถาม การฟัง การจำและการพิจารณาเป็นต้นในขันธ์ ธาตุ อายตนะเป็นต้น เป็นอันธปุถุชน. ปุถุชนที่มีการเรียนเป็นต้นเหล่านั้น เป็นกัลยาณปุถุชน.
               แม้ปุถุชน ๒ จำพวกนี้ก็มีคาถาว่า
                         ปุถูนํ ชนนาทีหิ      การเณหิ ปุถุชฺชโน
                         ปุถุชฺชนนฺโตคธตฺตา  ปุถุวายํ ชโน อิติ.
                         ชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุยังกิเลสหนาให้เกิดขึ้น
                         เพราะความเป็นผู้มีกิเลสหนาหยั่งลงถึงภายใน
                         จึงชื่อว่า เป็นปุถุชน.

               ชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุยังกิเลสเป็นต้นมีประการต่างๆ อันหนาให้เกิด.
               ดังที่ท่านกล่าวว่า๑-
                                   ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ายังกิเลสอันหนาให้เกิด,
                         เพราะอรรถว่าไม่จำกัดสักกายทิฏฐิอันหนาออกไป, เพราะ
                         อรรถว่าเลือกหน้าศาสดามาก เพราะอรรถว่าคติทั้งปวงร้อย
                         ไว้มาก เพราะอรรถว่าย่อมตกแต่งด้วยอภิสังขารต่างๆ มาก
                         เพราะอรรถว่าย่อมลอยไปด้วยโอฆะต่างๆ มาก เพราะอรรถ
                         ว่าย่อมเดือดร้อน เพราะกิเลสเป็นเหตุให้เดือดร้อนต่างๆ
                         มาก, เพราะอรรถว่าถูกเผาด้วยอันตรายต่างๆ มาก, เพราะ
                         อรรถว่าเป็นผู้กำหนัด ยินดี ชอบใจ หลงใหล ซบ ติดใจ
                         เกาะเกี่ยว พัวพันในกามคุณ ๕, เพราะอรรถว่าถูกร้อยรัด
                         ปกคลุม ปิดบัง หุ้มห่อ ปกปิด คดโกงมากด้วยนิวรณ์ ๕ ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๔๓๐

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะชนมีกิเลสหนาเหลือที่จะนับ หันหลังให้อริยธรรม ประพฤติธรรมต่ำ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะคนกิเลสหนาจัดอยู่ต่างหาก ไม่สังสรรค์กับพระอริยเจ้าผู้ประกอบด้วยคุณ มีความเป็นผู้มีศีลและสุตะเป็นต้น.
               ในปุถุชน ๒ จำพวกนั้น ในที่นี้ ท่านประสงค์เอากัลยาณปุถุชน, เพราะชนนอกนั้นไม่มีการเจริญภาวนาเลย.
               ในบทว่า เสกฺขสฺส นี้ได้แก่ พระเสกขะ ๗ จำพวก คือผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผลและอรหัตมรรค ชื่อว่าเสกขะ เพราะท่านเหล่านั้นยังศึกษาสิกขา ๓.
               ในพระเสกขะเหล่านั้นในที่นี้ ท่านประสงค์เอาพระเสกขะ ๓ จำพวก ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผลและอนาคามิผล เพราะท่านผู้ตั้งอยู่ในมรรค ไม่น้อมจิตไปในสังขารุเบกขา.
               ในบทว่า วีตราคสฺส นี้ ชื่อว่า วีตราโค เพราะมีราคะปราศจากไปแล้ว โดยปราศจากไปด้วยสมุจเฉทปหาน.
               บทนี้เป็นชื่อของพระอรหัต.
               แม้ใน ๓ บทนั้น ท่านก็ทำให้เป็นเอกวจนะ โดยถือเอาชาติ.
               บทว่า สงฺขารุเปกฺขํ อภินนฺทติ - พระเสกขะย่อมยินดีสังขารุเบกขา.
               ความว่า พระเสกขะ ครั้นได้สัญญาในธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นผาสุก ในธรรมเป็นเครื่องอยู่คืออุเบกขานั้นแล้ว เป็นผู้มุ่งไปสู่สังขารุเบกขาด้วยความปรารถนาในผาสุวิหารธรรม ย่อมยินดี.
               อธิบายว่า ยังตัณหาอันมีปีติให้เกิดขึ้น.
               บทว่า วิปสฺสติ - ย่อมเห็นแจ้ง คือ พระเสกขะย่อมเห็นหลายๆ อย่าง ด้วยลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้นเพื่อได้โสดาปัตติมรรค, พระเสกขะย่อมเห็นเพื่อได้มรรคชั้นสูง, พระเสกขะผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นเพื่ออยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม.
               บทว่า ปฏิสงฺขาย ได้แก่ เข้าไปพิจารณาด้วยสามารถลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น.
               อนึ่ง เพราะพระอริยะทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้นเข้าผลสมาบัติของตนๆ ถ้าไม่เห็นแจ้งวิปัสนาญาณ ๙ มีอุทยัพพยญาณเป็นต้น ก็ไม่สามารถจะเข้าสมาบัติได้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปฏิสงฺขาย วา ผลสมาปตฺตึ สมาปชฺชนฺติ - พระอริยะทั้งหลายพิจารณาแล้วเข้าผลสมาบัติ ดังนี้.
               เพื่อแสดงความเป็นไปแห่งผลสมาบัติ จึงมีปัญหากรรมของพระเสกขะเหล่านั้นดังต่อไปนี้
                                   ผลสมาบัติ คืออะไร, ใครเข้าสมาบัตินั้น,
                         ใครไม่เข้าสมาบัติ, เพราะเหตุไรจึงต้องเข้าสมาบัติ,
                         การเข้าสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร, การตั้งอยู่เป็นอย่างไร,
                         การออกเป็นอย่างไร, อะไรเป็นลำดับของผล และผล
                         เป็นลำดับของอะไร?


               พึงทราบวินิจฉัยในปัญหากรรมนั้นดังต่อไปนี้ว่า
               อะไรเป็นผลสมาบัติ?
               แก้ว่า อัปปนาในนิโรธของอริยผล.๒-
____________________________
๒- วิสุทธิมรรคบาลี หน้า ๓๕๗

               ใครเข้าสมาบัตินั้น ใครไม่เข้าสมาบัตินั้น.
               แก้ว่า ปุถุชนแม้ทั้งหมดเข้าสมาบัติไม่ได้.
               เพราะเหตุไร? เพราะยังไม่บรรลุ.
               ส่วนพระอริยะทั้งหมดเข้าสมาบัติได้.
               เพราะเหตุไร? เพราะบรรลุแล้ว.
               ส่วนพระอริยะชั้นสูงไม่เข้าสมาบัติชั้นต่ำ เพราะสงบแล้วด้วยความเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น, และพระอริยะชั้นต่ำก็ไม่เข้าสมาบัติชั้นสูง เพราะยังไม่บรรลุ. แต่ท่านทั้งหมดก็เข้าสมาบัติอันเป็นผลของตนๆ นั่นเอง เพราะเหตุนั้น คำนี้จึงเป็นข้อสันนิษฐานไว้ในที่นี้.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แม้พระโสดาบันพระสกทาคามีก็ไม่เข้าสมาบัติ, พระอริยะ ๒ ชั้นสูงย่อมเข้าสมาบัติ. นี้เป็นเหตุของพระอริยะเหล่านั้น, เพราะพระอริยะเหล่านั้นเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ. นั้นไม่ใช่เหตุของปุถุชน เพราะเข้าโลกิยสมาธิที่ตนได้แล้ว.
               ก็ในที่นี้ เพราะคิดถึงเหตุ และมิใช่เหตุเป็นอย่างไร.
               ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ว่า สังขารุเบกขา ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นด้วยวิปัสสนาเป็นไฉน.๓- โคตรภูธรรม ๑๐ ย่อมเกิดด้วยวิปัสสนาเป็นไฉน ท่านกล่าวไว้ต่างหากกันในบาลีนี้แล้วมิใช่หรือว่า เพื่อประโยชน์การเข้าโสดาปัตติผล เพื่อประโยชน์การเข้าสกทาคามิผล.
               เพราะฉะนั้น พระอริยะแม้ทั้งหมดก็ย่อมเข้าสมาบัติอันเป็นผลของตนๆ เพราะเหตุนั้น จึงควรตกลงได้ในที่นี้.
____________________________
๓- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๓๔

               เพราะเหตุไรจึงต้องเข้าสมาบัติ?
               แก้ว่า เพื่ออยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม.
               เหมือนอย่างพระราชาทั้งหลายย่อมเสวยสุขในราชสมบัติ ทวยเทพย่อมเสวยทิพยสุขฉันใด, พระอริยะทั้งหลายก็ฉันนั้น ทำข้อกำหนดไว้ในกาลไกลว่าเราจักเสวยโลกุตรสุข ดังนี้แล้วเข้าผลสมาบัติในขณะที่ตนปรารถนาๆ.
               การเข้าสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร? ตั้งไว้เป็นอย่างไร, ออกเป็นอย่างไร?
               แก้ว่า การเข้าสมาบัตินั้นย่อมมีได้ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ไม่ใส่ใจถึงอารมณ์อื่น นอกจากนิพพาน ๑ ใส่ใจนิพพาน ๑.
               ดังที่ท่านกล่าวว่า๔-
                                   ดูก่อนอาวุโส ปัจจัย ๒ อย่าง คือการไม่ใส่ใจถึง
                         นิมิตทั้งปวง ด้วยสมาบัติอันเป็นเจโตวิมุตติ หานิมิต
                         มิได้ ๑ การใส่ใจด้วยธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๓

               นี้เป็นลำดับของการเข้าสมาบัติในที่นี้.
               จริงอยู่ พระอริยสาวกผู้มีความต้องการด้วยผลสมาบัติไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ พึงพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยอนุปัสสนาญาณมีอุทยัพพยานุปัสสนาญาณเป็นต้น.
               จิตของพระอริยสาวกนั้นผู้พิจารณาตามลำดับที่เป็นไปแล้ว ย่อมเอิบอิ่มในนิโรธด้วยสามารถผลสมาบัติในลำดับแห่งโคตรภูญาณ อันมีสังขารเป็นอารมณ์.
               อนึ่ง เพราะจิตน้อมไปในผลสมาบัติ ผลนั่นแลย่อมเกิดแม้แก่พระเสกขะในผลสมาบัตินี้ มิใช่มรรคเกิด.
               อนึ่ง ผู้ใดกล่าวว่าพระโสดาบันเริ่มตั้งวิปัสสนา ด้วยคิดว่าเราจักเข้าผลสมาบัติ ดังนี้แล้วจะเป็นพระสกทาคามี, และพระสกทาคามีก็จะเป็นพระอนาคามี ดังนี้. ผู้นั้นควรกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ พระอนาคามีก็จักเป็นพระอรหันต์, พระอรหันต์ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธะ และพระปัจเจกพุทธะก็จักเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้. เพราะฉะนั้น ข้อนั้นจึงไม่มีอะไร, และก็ไม่ควรถือเอาโดยบาลีว่า ปฏิกฺขิตฺตํ - ถูกห้ามเสียแล้วบ้าง. แต่ควรถือข้อนี้ไว้. ผลเท่านั้นย่อมเกิดแม้แก่พระเสกขะ มิใช่มรรคเกิด.
               อนึ่ง หากว่า ผลของมรรคนั้นมีอยู่ เป็นอันว่า พระเสกขะนั้นได้บรรลุมรรคอันมีในปฐมฌาน ญาณอันมีในปฐมฌานนั่นแล ย่อมเกิด, หากว่า มรรคมีในฌานอย่างใดอย่างหนึ่งในทุติยฌานเป็นต้น ญาณก็มีในฌานอย่างใดอย่างหนึ่งในทุติยฌานเป็นต้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น การเข้าสมาบัตินั้นย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้แล.
               สมาบัตินั้นตั้งอยู่ด้วยอาการ ๓ เพราะบาลีว่า๔-
                                   ดูก่อนอาวุโส ปัจจัย ๓ อย่าง คือ การไม่ใส่ใจถึง
                         นิมิตทั้งปวง เพื่อความตั้งมั่นแห่งเจโตวิมุตติ อันหา
                         นิมิตมิได้ ๑, การใส่ใจธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑ การ
                         ปรุงแต่งในกาลก่อน ๑.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๓

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ จ อภิสงฺขาโร - การปรุงแต่งในกาลก่อน คือกำหนดกาลก่อนจากเข้าสมาบัติ การตั้งอยู่ของสมาบัตินั้นย่อมมีได้ตราบเท่าที่กาลนั้นยังไม่มาถึง เพราะกำหนดไว้ว่าเราจักออกในเวลาโน้นดังนี้. ที่ตั้งของสมาบัติ ย่อมมีได้อย่างนี้.
               สมาบัตินั้นออกด้วยอาการ ๒ เพราะบาลีว่า๔-
                                   ดูก่อนอาวุโส ปัจจัย ๒ อย่างแล คือ การใส่ใจถึง
                         นิมิตทั้งปวง ด้วยการออกจากเจโตวิมุตติอันไม่มีนิมิต
                         ๑ การไม่ใส่ใจธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๓

               ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ ได้แก่ รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิตและวิญญาณนิมิต.
               อนึ่ง แม้จะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งหมดเหล่านั้นโดยเป็นอันเดียวก็จริง ถึงดังนั้นท่านก็กล่าวบทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ นี้ด้วยสามารถสงเคราะห์เข้าด้วยกันทั้งหมด. เพราะฉะนั้น. เมื่อพระโยคาวจรใส่ใจถึงอารมณ์อันมีแก่ภวังค์ก็เป็นอันออกจากผลสมาบัติ. เพราะเหตุนั้น พึงทราบการออกแห่งสมาบัตินั้นอย่างนี้.
               อะไรเป็นลำดับของผล, และผลเป็นลำดับของอะไร?
               แก้ว่า ผลนั่นแล หรือภวังค์เป็นลำดับของผล. แต่ผลมีอยู่ในลำดับมรรค, มรรคมีอยู่ในลำดับผล, ผลมีอยู่ในลำดับโคตรภู คืออนุโลมญาณ, ผลมีอยู่ในลำดับของเนวสัญญานาสัญญานะ. ผลมีอยู่ในลำดับของมรรคในวิถีแห่งมรรคนั้น, ผลหลังๆ มีอยู่ในลำดับของผลก่อนๆ, ผลก่อนๆ ในผลสมาบัติมีอยู่ในลำดับโคตรภู คืออนุโลมญาณ.
               อนึ่ง ในบทว่า โคตรภู นี้ พึงทราบว่าเป็นอนุโลมญาณดังที่ท่านกล่าวไว้ในปัฏฐานว่า อนุโลมญาณของพระอรหันต์เป็นปัจจัยแก่ผลสมาบัติด้วยอำนาจอนันปัจจัย.๕- อนุโลมญาณของพระเสกขะเป็นปัจจัยแก่ผลสมาบัติด้วยอำนาจอนันปัจจัย.๖- การออกจากนิโรธย่อมมีด้วยผลใด, ผลนั้นย่อมมีในลำดับของเนวสัญญานาสัญญานะ.
____________________________
๕- อภิ. ปฏฺฐาน. เล่ม ๔๐/ข้อ ๕๐๙  ๖- อภิ. ปฏฺฐาน. เล่ม ๔๐/ข้อ ๕๑๓

               ในบทนั้น ผลทั้งหมดที่เหลือเว้นผลอันเกิดขึ้นในมรรควิถี ชื่อว่าเป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติ. ผลนี้เป็นไปแล้วด้วยการเกิดขึ้นในมรรควิถีก็ดี ในผลสมาบัติก็ดี ด้วยประการฉะนี้.
               ท่านกล่าวเป็นคาถาไว้ว่า
                         ปฏิปฺปสฺสทฺธทรถํ   อมตารมฺมณํ สุภํ
                         วนฺตโลกามิสํ สนฺตํ  สามญฺญผลมุตฺตมํ.
                              สามัญญผลสูงสุด ระงับความกระวนกระวาย
                         มีอมตะเป็นอารมณ์ งาม คายโลกามิส สงบ ดังนี้.
               นี้เป็นผลสมาปัตติกถาในนิทเทสนี้.
               บทว่า ตทชฺฌุเปกฺขิตฺวา - วางเฉยสังขารุเบกขานั้น ได้แก่ วางเฉยสังขารุเบกขานั้นด้วยวิปัสสนาญาณเช่นนั้นอย่างหนึ่ง.
               ในบทมีอาทิว่า สุญฺญตวิหาเรน วา - ด้วยสุญญตวิหารสมาบัติ มีความดังต่อไปนี้.
               การอยู่ด้วยวิปัสสนา ๓ ของพระอรหันต์ผู้ประสงค์จะอยู่ด้วยวิปัสสนาวิหารเว้นผลสมาบัติ เห็นความยึดมั่นตนโดยความน่ากลัว จึงน้อมไปในสุญญตวิหาร เห็นความเสื่อมในสังขารุเบกขา ชื่อว่าสุญวิหาร.
               การอยู่ด้วยวิปัสสนา ๓ ของท่านผู้เห็นสังขารนิมิตโดยความน่ากลัวแล้วน้อมไปในอนิมิตวิหาร เห็นความเสื่อมในสังขารุเบกขา ชื่อว่าอนิมิตวิหาร.
               การอยู่ด้วยวิปัสสนา ๓ ของท่านผู้เห็นความตั้งมั่นในตัณหาโดยความน่ากลัวแล้วน้อมไปในอัปปณิหิตวิหาร เห็นความเสื่อมในสังขารุเบกขา ชื่อว่าอัปณิหิวิหาร.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ข้างหน้าว่า๗-
                         พระโยคาวจร เมื่อเห็นความยึดมั่นสังขารนิมิตโดย
               ความน่ากลัวถูกต้องแล้วๆ ย่อมเห็นความเสื่อม เพราะมีจิต
               น้อมไปในสุญญตนิพพาน ชื่อว่าสุญญตวิหาร. เมื่อเห็น
               นิมิตโดยความน่ากลัวถูกต้องแล้วๆ ย่อมเห็นความเสื่อม
               เพราะมีจิตน้อมไปในอนิมิตตนิพพาน ชื่อว่าอนิมิตตวิหาร.
               เมื่อเห็นปณิธิโดยความน่ากลัว ย่อมเห็นความเสื่อมถูกต้อง
               แล้วๆ ย่อมเห็นความเสื่อมเพราะมีจิตน้อมไปในอัปปณิหิต-
               นิพพาน ชื่อว่าอัปปณิหิตวิหาร.
____________________________
๗- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๐๒

               จิตของพระอรหันต์นั่นแลย่อมเป็นไปในอำนาจโดยอาการทั้งปวง โดยความมีฉฬังคุเบกขา และโดยมีวิหารธรรมมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่เป็นปฏิกูลเป็นต้น, จากนั้นท่านอธิบายว่า วิปัสสนาวิหารย่อมสำเร็จแก่พระอรหันต์เท่านั้น.
               ในบทนี้ว่า วีตราโค สงฺขารุเปกฺขํ วิปสฺสติ - ผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเบกขา. มีความว่า วิปัสสนายังไม่ถึงภัย ๓ อย่าง และอธิมุตติ ๓ อย่าง พึงทราบว่าเป็นวิปัสสนาสิ้นเชิง. เมื่อเป็นอย่างนั้นย่อมมีความวิเศษทั้งก่อนและหลัง.
               บัดนี้ พระสารีบุตรประสงค์จะแสดงประเภทของความเป็นอันเดียวกันและความต่างกันแห่งสังขารุเบกขา ด้วยสามารถบุคคล ๒-๓ ประเภท จึงกล่าวบทมีอาทิว่า กถํ ปุถุชฺชนสฺส จ เสกฺขสฺ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตสฺส อภินีหาโร เอกตฺตํ โหติ - ความน้อมไปแห่งจิตเป็นอย่างเดียวกัน คือ เป็นอันเดียวกัน.
               พึงทราบว่า เป็นภาววจนะ ลงในสกัตถะ. ท่านกล่าวว่า อิทปฺปจฺจยตา ก็เหมือน อิทปฺปจฺจยา. เอกตฺตํ ก็คือ เอโก นั่นเอง.
               บทว่า อภินีหาโร เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ. คือ อภินีหารสฺส - แห่งความน้อมไป.
               พึงทราบว่า ท่านทำเป็นวิภัตติวิปลาส ดุจในบทว่า โส เทโส สมฺมชฺชิตฺวา - กวาดที่พื้นที่นั้น.
               บทว่า จิตฺตํ กิลิสฺสติ - จิตเศร้าหมอง ได้แก่ จิตเศร้าหมองด้วยกิเลสคือโลภะได้ในบทว่า วิปสฺสนานิกํ เป็นข้าศึกแห่งวิปัสสนา.
               อธิบายว่า ทำให้เดือดร้อน ทำให้ลำบาก.
               บทว่า ภาวนาย ปริปนฺโถ โหติ - มีอันตรายแห่งภาวนา ได้แก่ กำจัดวิปัสสนาภาวนาที่ได้แล้ว.
               บทว่า ปฏิเวธสฺส อนฺตราโย โหติ - มีอันตรายแห่งปฏิเวธ ได้แก่ เป็นอันตรายแก่การได้สัจปฏิเวธที่ควรได้ด้วยวิปัสสนาภาวนา.
               บทว่า อายตึ ปฏิสนฺธิยา ปจฺจโย โหติ - มีปัจจัยแห่งปฏิสนธิต่อไป.
               ความว่า เมื่อกรรมนั้นให้สุคติปฏิสนธิ เพราะกรรมสัมปยุตด้วยสังขารุเบกขามีกำลัง กิเลสคือโลภะ กล่าวคือความยินดีมีปัจจัยแห่งสุคติปฏิสนธิ เป็นกามาวจรในอนาคต เพราะกรรมมีกิเลสเป็นสหาย ย่อมยังวิบากให้เกิด, ฉะนั้น กรรมจึงเป็นชนกปัจจัย กิเลสเป็นอุปถัมภกปัจจัย.
               อนึ่ง บทว่า อุตฺตริปฏิเวธสฺส - แห่งปฏิเวธในมรรคชั้นสูง ได้แก่ สัจปฏิเวธด้วยอำนาจสกทาคามิมรรคเป็นต้นของพระเสกขะ.
               บทว่า อายตึ ปฏิสนฺธิยา ปจฺจโย โหติ พึงทราบว่า กิเลสคือความพอใจเป็นปัจจัยแห่งสุคติปฏิสนธิเป็นกามาวจร อันกรรมคือสังขารุเบกขาให้แก่ฌานในพระเสกขะทั้งหลาย ที่เป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามียังไม่บรรลุ, ไม่เป็นปัจจัยแก่ผู้ได้ฌานและแก่พระอนาคามี ตั้งแต่ปฏิสนธิในพรหมโลก, กิเลสนี้แหละเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิอันโคตรภูที่เป็นอนุโลมให้.
               บทว่า อนิจฺจโต ชื่อว่าโดยความไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้ว ไม่มี เพราะมีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด เพราะความมีเบื้องต้นและความมีที่สุด.
               บทว่า ทุกฺขโต ชื่อว่าโดยความเป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าบีบคั้นบ่อยๆ เพราะบีบคั้นด้วยความเกิดและความเสื่อม และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์.
               บทว่า อนตฺตโต ชื่อว่าโดยความเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เพราะอาศัยปัจจัยเป็นไป และเพราะไม่มีสามี - เจ้าของ ไม่มีนิวาสี - ผู้อาศัยอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีการก - ผู้ทำและเวทกะ - ผู้เสวย.
               บทว่า อนุปสฺสนฏฺเฐน - โดยสภาพแห่งการพิจารณา ได้แก่ โดยสภาพแห่งการ โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นตามๆ กัน.
               บทว่า อภินีหาโร นานตฺตํ โหติ พึงทราบว่า การน้อมจิตไปต่างกัน หรือความต่างกันแห่งการน้อมจิต.
               บทว่า กุสลา ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่าไม่มีโรค เพราะอรรถว่าไม่มีโทษ และเพราะอรรถว่าเป็นความฉลาด.
               บทว่า อพฺยากตา คือ พยากรณ์ไม่ได้ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล.
               บทว่า กิญฺจิกาเล สุวิทิตา - ปรากฏดีในกาลนิดหน่อย ได้แก่ ปรากฏด้วยดีในกาลแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า กิญฺจิกาเล น สุวิทิตา - ไม่ปรากฏดีในกาลนิดหน่อย คือไม่ปรากฏด้วยดีในกาลแห่งความพอใจ.
               บทว่า อจฺจนฺตํ สุวิทิตา - ปรากฏดีโดยส่วนเดียว ได้แก่ ปรากฏดีโดยส่วนเดียว เพราะละความพอใจได้แล้ว.
               ในบทนี้ว่า วิทิตฏฺเฐน จ อวิทิตฏฺเฐน จ - โดยสภาพที่ปรากฏและโดยสภาพที่ไม่ปรากฏ.
               มีความว่า พระเสกขะที่เป็นปุถุชนมีสภาพปรากฏดีแล้วก็ดี พระเสกขะปราศจากราคะ มีสภาพปรากฏดีโดยส่วนเดียวก็ดี ชื่อว่าเป็นผู้ปรากฏแล้ว, แม้ทั้งสองมีสภาพปรากฏไม่ดี ก็ชื่อว่ามีสภาพปรากฏไม่ดีนั่นแล.
               บทว่า อติตฺตตฺตา - เพราะยังไม่เสร็จกิจ ได้แก่ เพราะยังไม่เสร็จกิจที่ควรทำแห่งวิปัสนา คือยังไม่ประณีต.
               ชื่อว่า ติตฺตตฺตา เพราะตรงข้ามกับบทว่า อติตฺตตฺตา นั้น.
               บทว่า ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปหานาย - เพื่อละสังโยชน์ ๓ ได้แก่ เพื่อละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส. พระโพธิสัตว์แม้มีภพสุดท้ายก็ยังสงเคราะห์เข้าในบทนี้เหมือนกัน. แต่สัตว์ผู้ยังไม่มีภพสุดท้ายยังวิปัสสนาให้ถึงสังขารุเบกขาตั้งอยู่
               บทว่า โสตาปตฺติมคฺคํ ปฏิลาภตฺถาย - เพื่อต้องการได้โสดาปัตติมรรค อาจารย์ทั้งหลายไม่กล่าวย่อไว้, กล่าวย่อไว้ดีกว่า.
               บทว่า เสกฺโข ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปหีนตฺตา ท่านกล่าวโดยความเสมอกันแห่งพระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี.
               จริงอยู่ สังโยชน์เหล่านั้น แม้พระสกทาคามีและพระอนาคามีก็ละได้แล้ว.
               บทว่า อุตฺตริปฏิลาภตฺถาย คือ เพื่อต้องการได้มรรคชั้นสูงๆ.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารตฺถาย - เพื่อต้องการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ได้แก่ เพื่อต้องการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือในอัตภาพที่ประจักษ์.
               บทว่า วิหารสมาปตฺตฏฺเฐน - โดยสภาพแห่งวิหารสมาบัติ ได้แก่ โดยสภาพแห่งผลสมาบัติของพระเสกขะ, โดยสภาพแห่งผลสมาบัติอันเป็นวิปัสสนาวิหารของท่านผู้ปราศจากราคะ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเพื่อแสดงการกำหนดด้วยการคำนวณของสังขารุเบกขา จึงกล่าวบทมีอาทิว่า กติ สงฺขารุเปกฺขา - สังขารุเบกขาเท่าไร?
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมถวเสน คือ ด้วยสามารถสมาธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะนี้เหมือนกัน.
               บทว่า นีวรเณ ปฏิสงฺขา - ปัญญาพิจารณานิวรณ์ ได้แก่ กำหนดโดยความที่ควรละนิวรณ์ ๕.
               บทว่า สนฺติฏฐนา - การดำรงไว้ ได้แก่ การดำรงไว้เพราะความเป็นกลาง ด้วยการเข้าถึงความไม่ขวนขวายในการละนิวรณ์เหล่านั้น เพราะมุ่งแต่จะละนิวรณ์เหล่านั้น.
               บทว่า สงฺขารุเปกฺขาสุ คือ ในการวางเฉยสังขาร อันกล่าวคือนิวรณ์ ด้วยการไม่ทำความขวนขวายในการละนิวรณ์ทั้งหลาย.
               ในวิตกวิจารเป็นต้น และในอุปาทะเป็นต้นก็มีนัยนี้.
               ญาณสำเร็จด้วยภาวนาอันมีกำลังในส่วนเบื้องต้นอันใกล้ด้วยอัปปนาวิถีในสมถะ ชื่อว่าสังขารุเบกขา.
               ในบทมีอาทิว่า โสตาปตฺติมคฺคํ ปฏิลาภตฺถาย - เพื่อได้โสดาปัตติมรรค คือเป็นอันได้มรรคอย่างใดอย่างหนึ่งในสุญญตมรรค อนิมิตตมรรคและอัปปณิหิตมรรค ในมรรควาร ๔.
               ในบทมีอาทิว่า โสตาปตฺติผลสมาปตฺตตฺถาย - เพื่อต้องการได้โสดาปัตติผลสมาบัติ พึงทราบผลสมาบัติอันเป็นอัปปณิหิตะในผลวาร ๔.
               เพราะเหตุไร? เพราะท่านกล่าวถึงผลสมาบัติ ๒ เหล่านี้ คือ สุญฺญตวิหารสมาปตฺตตฺถาย - เพื่อต้องการสุญญตวิหารสมาบัติ ๑ อนิมิตฺตวิหารสมาปตฺตตฺถาย - เพื่อต้องการอนิมิตวิหารสมาบัติ ๑ ไว้ต่างหากกัน.
               พึงทราบอนิมิตตมรรคด้วยการออกจากอนิจจานุปัสสนา, พึงทราบอนิมิตตผลสมาบัติในกาลแห่งผลสมาบัติ, พึงทราบอัปปณิหิตมรรคและผลสมาบัติ ด้วยการออกจากทุกขานุปัสสนา, พึงทราบสุญญตมรรคและผลสมาบัติ ด้วยการออกจากอนัตตานุปัสสนา โดยนัยแห่งพระสูตรนั่นแล.
               อนึ่ง ในมรรควาร ๔ เหล่านี้ ท่านกล่าวถึงบทอันเป็นมูลเหตุ ๕ มีอาทิว่า อุปฺปาทํ - เกิดขึ้น, บทแห่งไวพจน์ ๑๐ มีอาทิว่า คตึ รวมเป็น ๑๕ บท. ในผลสมาบัติวาร ๖ ท่านกล่าวบทอันเป็นมูลเหตุ ๕ ไว้.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร จึงกล่าวไว้อย่างนั้น.
               แก้ว่า เมื่อสังขารุเบกขามีความแก่กล้า เพื่อแสดงถึงความแก่กล้าของสังขารุเบกขานั้น เพราะมีมรรคสามารถในการละกิเลส ท่านจึงกล่าวบทอันเป็นมูลเหตุทำให้มั่นกับบทอันเป็นไวพจน์. เพื่อแสดงว่าสังขารุเบกขาแม้อ่อนก็เป็นปัจจัยแก่ผล เพราะความที่ผลมีสภาพสงบโดยความที่หมดความอุตสาหะ และเพราะเป็นที่อาศัยของมรรค.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงบทอันเป็นมูลเหตุเท่านั้น.
               บัดนี้ พระสารีบุตร ครั้นถามด้วยชาติแล้ว เพื่อจะแก้ด้วยการได้ จึงกล่าวบทมีอาทิว่า กติ สงฺขารุเปกฺขา กุสลา - สังขารุเบกขาเป็นกุศลเท่าไร?
               ในบทนั้น บทว่า ปณฺณรส สงฺขารุเปกฺขา - สังขารุเบกขาเป็นกุศลมี ๑๕ ได้แก่ ด้วยสมถะ ๘ และด้วยมรรค ๔ ผล ๓ เป็น ๗ รวมเป็น ๑๕.
                         สมถวเสน อฏฺฐ สงฺขารุเปกฺขา อรหโต นีวรณปฏิสงฺขา-
                         อภาวโต วิตกฺกวิจาราทีนํ ปหานพฺยาปารํ วินา สุเขน
                         ปหานโต จ สงฺขารุเปกฺขานามสฺส อนนุรูปาติ กตฺวา ตาสํ
                         อพฺยากตตา น วุตฺตาติ เวทิตพฺพา ฯ

               สังขารุเบกขา ๘ ด้วยสามารถสมถะไม่สมควรแก่ธรรมชื่อว่าสังขารุเบกขา เพราะพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณานิวรณ์ และเพราะเว้นความขวนขวายในการละวิตกวิจารเป็นต้น เป็นการละได้โดยง่าย เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าท่านไม่กล่าวความที่สังขารุเบกขาเหล่านั้นเป็นอัพยากฤต.
               อนึ่ง พระอรหันต์ผู้เข้าผลสมาบัติ ไม่สามารถเข้าสมาบัติ เว้นสังขารุเบกขาได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวสังขารุเบกขา ๓ ว่าเป็นอัพยากฤต.
               จริงอยู่ ชื่อว่าสังขารุเบกขา ๓ ของพระอรหันต์ย่อมมีด้วยสามารถอัปปณิหิตะ สุญญตะและอนิมิตตะ.
               บัดนี้ พึงทราบความในคาถาทั้งหลาย ๓ ที่ท่านกล่าวแล้วด้วยการพรรณนาถึงสังขารุเบกขาดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา สนฺติฏฺฐนา ปญฺญา - ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย ได้แก่สังขารุเบกขา.
               บทว่า อฏฺฐ จิตฺตสฺส โคจรา - เป็นโคจรของสมาธิ ๘.
               ความว่า ท่านกล่าวถึงสังขารุเบกขา ๘ เป็นวิสยะคือภูมิของสมาธิ ด้วยสามารถสมถะ.
               ท่านอธิบายถึงสมาธิ ด้วยหัวข้อว่าจิต ดุจในประโยคมีอาทิว่า๘- จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ - เจริญสมาธิและปัญญา,
               ท่านอธิบายวิสยะ ด้วยโคจรศัพท์ ดุจในประโยคมีอาทิว่า๙- โคจเร ภิกฺขเว จรถ สเก เปตฺติเก วิสเย - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปในโคจรอันเป็นถิ่นที่อยู่บิดาตน.
               ท่านกล่าวว่า นี้เป็นโคจรของผู้อาศัย.
____________________________
๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑  ๙- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๗๐๓

               บทว่า ปุถุชฺชนสฺส เทฺว - โคจรภูมิของปุถุชน ๒ คือด้วยสามารถแห่งสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า ตโย เสกฺขสฺส - โคจรของพระเสกขะ ๓ ได้แก่ ด้วยสามารถแห่งสมถะวิปัสสนาและสมาบัติ.
               บทว่า ตโย จ วีตราคสฺส - โคจรของผู้ปราศจากราคะ ๓ ได้แก่ ด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติอันเป็นอัปปณิหิตะ สุญญตะและอนิมิตตะ. ควรกล่าวว่า ติสฺโส ท่านทำเป็นลิงควิปลาสว่า ตโย. หรือพึงประกอบว่า ตโย สงฺขารุเปกฺขา ธมฺมา - ธรรมคือสังขารุเบกขา ๓ อย่าง.
               บทว่า เยหิ จิตฺตํ วิวฏฺฏติ- จิตปราศจากราคะหลีกไป.
               ความว่า จิตหลีกไปจากวิตกวิจารเป็นต้นด้วยธรรมคือสังขารุเบกขา, หรือจากอุปาทะเป็นต้น.
               ท่านอธิบายว่า เพราะแม้ผู้ปราศจากราคะก็ยังมีสังขารุเบกขาจิตหลีกจากสังขารแล่นไปสู่นิพพาน
               บทว่า อฏฺฐ สมาธิสฺส ปจฺจยา - เป็นปัจจัยแห่งสมาธิ ๘ คือปัจจัย ๘ ท่านกล่าวด้วยสามารถสมถะเป็นปัจจัยแก่อัปปนาสมาธิ เพราะให้ถึงอัปปนา.
               บทว่า ทส ญาณสฺส โคจรา - เป็นโคจรแห่งญาณ ๑๐ คือเป็นภูมิ ๑๐ แห่งมรรคญาณ และผลญาณ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า ติณฺณํ วิโมกฺขาย ปจฺจยา - เป็นปัจจัยแห่งวิโมกข์ ๓ คือเป็นปัจจัยแห่งสุญวิโมกข์ อนิมิตวิโมกข์และอัปณิหิวิโมกข์ด้วยอุปนิสปัจจัย.
               บทว่า นานาทิฏฺฐีสุ น กมฺปติ - ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่างๆ ได้แก่ ไม่สละความดับแล้วพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมไม่หวั่นไหวในทิฏฐิมีประการต่างๆ มีสัสสตทิฏฐิเป็นต้น.

               จบอรรถกถาสังขารุเปกขาญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สังขารุเปกขาญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 115อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 120อ่านอรรถกถา 31 / 136อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1434&Z=1583
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6330
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6330
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :