ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 100อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 116อ่านอรรถกถา 30 / 146อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส

               อรรถกถาปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในปุณณกสุตตนิทเทสที่ ๓.
               บทว่า อเนชํ ผู้ไม่หวั่นไหวแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามโมฆราช ตรัสแล้วโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า มูลทสฺสาวี ผู้เห็นมูล คือเห็นมูลของอกุศล.
               บทว่า อิสโย ฤาษี ชฏิลทั้งหลายมีชื่อว่าฤาษี.
               บทว่า ยญฺญํ คือ ไทยธรรม.
               บทว่า อกปฺปึสุ คือ แสวงหา.
               บททั้งหมดมีอาทิว่า เหตุทสฺสาวี ทรงเห็นเหตุ เป็นไวพจน์ของการณะ (เหตุ). เพราะการณะย่อมปรารถนา ย่อมเป็นไปเพื่อผลของตน ฉะนั้นจึงเรียกว่าเหตุ. เพราะการณะย่อมมอบให้ซึ่งผลนั้นดุจตั้งใจว่า เชิญพวกท่านรับผลนั้นเถิด ฉะนั้นจึงเรียกว่านิทาน.
               บทห้าบทมีอาทิว่า สมฺภวทสฺสาวี ทรงเห็นสมภพ มีนัยดังที่แสดงไว้แล้วในหนหลัง. เพราะการณะนั้นอาศัยผลนั้นย่อมเป็นไป ผลนั้นจึงเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าปัจจัยและสมุทัย.
               บทว่า ยา วา ปนญฺญาปิ กาจิ สุคติโย สุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น คือมนุษย์กำพร้าและผู้มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้ยาก มีศักดิ์น้อยมีอุตตรมารดาเป็นต้น พ้นแล้วจากอบาย ๔ พึงทราบว่าเป็นผู้ถูกทุกข์เบียดเบียน.
               บทว่า ยา วา ปนญฺญาปิ กาจิ ทุคฺคติโย ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น เป็นต้นว่า พระยายม พระยานาค ครุฑ เปรตและผู้มีฤทธิ์.
               บทว่า อตฺตภาวาภิ นิพฺพตฺติยา เพื่อความเกิดแห่งอัตภาพ คือเพื่อได้อัตภาพด้วยปฏิสนธิในฐานะ ๓.
               บทว่า ชานาติ คือ ย่อมทรงรู้ด้วยสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า ปสฺสติ คือ ย่อมทรงเห็นด้วยสมันตจักษุ.
               บทว่า อกุสลา ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่ฉลาด.
               บทว่า อกุสลํ ภชนฺติ ย่อมเสพธรรมเป็นอกุศล คือในส่วนที่เป็นอกุศล.
               บทว่า อกุสลปกฺเข ภว คือ เป็นฝ่ายอกุศล.
               ชื่อว่า อวิชฺชามูลกา เพราะธรรมทั้งหมดเหล่านั้นมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ.
               ชื่อว่า อวิชฺชาสโมสรณา เพราะมีอวิชชาเป็นที่รวมโดยชอบ.
               บทว่า อวิชฺชา สมุคฺฆาตาย คือ มีอวิชชาอันอรหัตมรรคถอนได้.
               บทว่า สพฺเพ เต สมุคฺฆาตํ คจฺฉนฺติ ย่อมถึงความเพิกถอนทั้งหมด ได้แก่อกุศลกรรมดังกล่าวแล้ว อกุศลกรรมทั้งหมดเหล่านั้นย่อมถึงความถูกกำจัด.
               บทว่า อปฺปมาทมูลกา ได้แก่ ชื่อว่า อปฺปมาทมูลกา เพราะมีความไม่ประมาท คือความไม่อยู่ปราศจากสติเป็นมูลเหตุ.
               ชื่อว่า อปฺปมาทสโมสรณา เพราะรวมลงในความไม่ประมาทโดยชอบ.
               บทว่า อปฺปมาโท เตสํ ธมฺมานํ อคฺคมกฺขายติ ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมเหล่านั้น คือแม้ผู้ท่องเที่ยวไปในกามาวจรก็ชื่อว่าเป็นยอด เพราะมีธรรมเป็นไปในภูมิ ๔ เป็นที่พึ่งอาศัย.
               บทว่า อลมตฺโต คือ เป็นผู้สามารถ.
               บทว่า มยา ปุจฺฉิตํ คือ อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว.
               บทว่า วหสฺเสตํ ภารํ คือ จงนำภาระที่นำมาแล้วไป.
               บทว่า เยเกจิ อิสิปพฺพชฺชํ ปพฺพชิตา ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งบวชเป็นฤาษี ปาฐะว่า อิสิปพฺพชฺชา ปพฺพชิตา บวชเป็นฤาษีดังนี้บ้าง.
               บทว่า อาชีวกสาวกานํ อาชีวกา เทวตา อาชีวกเป็นเทวดาของพวกอาชีวกสาวก คือชนเหล่าใดเชื่อฟังคำของอาชีวก ชนเหล่านั้น ชื่อว่าอาชีวก. อาชีวกของอาชีวกสาวกเหล่านั้นย่อมรับไทยธรรมของอาชีวกสาวก อาชีวกเหล่านั้นจึงเป็นเทวดา.
               ในบททั้งปวงก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เย เยสํ ทกฺขิเณยฺยา พระทักขิไณยบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมของชนเหล่าใด คืออาชีวกเป็นต้นเหล่าใด ผู้มีทิศเป็นที่สุด สมควรแก่ไทยธรรมของกษัตริย์เป็นต้นเหล่าใด.
               บทว่า เต เตสํ เทวตา คือ อาชีวกเหล่านั้นเป็นเทวดาของกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า ยญฺญํ เอเสนฺติ คือ ปรารถนาไทยธรรม.
               บทว่า คเวสนฺติ แสวงหา คือแลดู.
               บทว่า ปริเยสนฺติ เสาะหา คือให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ยญฺญา วา เอเต ปุถู คือ ยัญเหล่านั้นก็มาก.
               บทว่า ยญฺญยาชกา วา ผู้บูชายัญ คือผู้บูชาไทยธรรมเหล่านั้นก็มาก.
               บทว่า ทกฺขิเณยฺยา วา เอเต ปุถู ทักขิไณยบุคคลก็มาก คือทักขิไณยบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมก็มากเหมือนกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงถึงยัญเหล่านั้นโดยพิสดาร จึงตรัสว่า ยัญเหล่านั้นมากอย่างไร.
               บทว่า อสึสมานา หวังอยู่ คือปรารถนาในรูปเป็นต้น.
               บทว่า อิตฺถตฺตํ คือ ปรารถนาความมีอยู่. อธิบายว่า ปรารถนาความเป็นมนุษย์เป็นต้น.
               บทว่า ชรํ สิตา คือ อาศัยชรา.
               ในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทุกข์ในวัฏฏะทั้งหมดด้วยหัวข้อว่า ชรา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงว่า อาศัยทุกข์ในวัฏฏะไม่พ้นจากทุกข์นั้นจึงแสวงหา.
               บทว่า รูปปฏิลาภํ อาสึสมานา หวังได้รูป คือปรารถนาได้สมบัติอันเป็นบ่อเกิดแห่งวรรณะ.
               แม้ในเสียงเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ขตฺติย มหาสาลกุเล อตฺตภาวปฏิลาภํ หวังได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล คือปรารถนาได้อัตภาพ คือปฏิสนธิในตระกูลมหาศาลอันเพียบพร้อมด้วยสมบัติ.
               แม้ในตระกูลพราหมณ์มหาศาลก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทนี้ว่า พฺรหฺมกายิเกสุ เทเวสุ ในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ท่านกล่าวหมายถึงส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า อตฺถ คือ ในตระกูลกษัตริย์เป็นต้น.
               บทว่า ชรนิสฺสิตา คือ อาศัยชรา.
               แม้ในบทมีอาทิว่า พฺยาธินิสฺสิตา อาศัยพยาธิ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ด้วยบทเหล่านี้เป็นอันทรงแสดงถือเอาทุกข์ในวัฏฏะทั้งหมด.
               ยัญนั้นแหละคือทางยัญ ในบทนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นิรทุกข์ ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วในทางยัญ ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติชราบ้างหรือ.
               ข้อนี้มีอธิบายว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วในยัญ ปรารถนายัญ ได้ข้ามพ้นทุกข์ในวัฏฏะบ้างหรือ.
               บทว่า เยปิ ยญฺญํ ยชนฺติ คือ บูชายัญด้วยการให้ไทยธรรม.
               บทว่า ปริจฺจชนฺติ คือ สละ.
               บทว่า อาสึสนฺติ หวัง คือปรารถนาได้รูปเป็นต้น.
               บทว่า โถมยนฺติ ยินดี คือสรรเสริญยัญเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วย่อมมีผล.
               บทว่า อภิชปฺปนฺติ ย่อมชม คือกล่าววาจาเพื่อได้ลาภเป็นต้น.
               บทว่า ชุหนฺติ คือ ย่อมบูชา.
               บทว่า กามาภิชปฺปนฺติ ปฏิจฺจ ลาภํ ชมกามเพราะอาศัยลาภ คือชมกามทั้งหลายบ่อยๆ เพราะอาศัยการได้รูปเป็นต้น กล่าวว่า ไฉนหนอ กามทั้งหลายจะพึงมีแก่เราบ้าง. อธิบายว่า เพิ่มพูนตัณหาในกามนั้น.
               บทว่า ยาชโยคา ผู้ประกอบในการบูชา คือน้อมไปในการบูชา.
               บทว่า ภวราครตฺตา ยินดีแล้วด้วยภวราคะ คือยินดีแล้วด้วยภวราคะนั่นเอง ด้วยความหวังเป็นต้นเหล่านี้อย่างนี้. ชื่อว่าเป็นผู้ยินดีแล้วในภวราคะ กระทำความหวังเป็นต้นเหล่านี้.
               บทว่า นาตรึสุ คือ ไม่ข้ามทุกข์ในวัฏฏะมีชาติเป็นต้นได้.
               บทว่า ยญฺญํ วา โถเมนฺติ คือ ชนทั้งหลายย่อมสรรเสริญการให้.
               บทว่า ผลํ วา คือ การได้มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ทกฺขิเณยฺยํ วา คือ ทักขิไณยบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเป็นต้น.
               บทว่า สุจิทินฺนํ คือ กระทำให้สะอาดแล้วให้.
               บทว่า มนาปํ คือ ยังใจให้เจริญ.
               บทว่า ปณีตํ คือ มีรสอร่อย.
               บทว่า กาเลน คือ ในกาลอันถึงพร้อมแล้วนั้นๆ.
               บทว่า กปฺปิยํ คือ เว้นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะแล้วให้.
               บทว่า อนวชฺชํ คือ ไม่มีโทษ.
               บทว่า อภิณฺหํ คือ บ่อยๆ.
               บทว่า ททํ จิตฺตํ ปสาทิตํ เมื่อให้จิตผ่องใส คือเมื่อให้ จิตขณะบริจาคก็ผ่องใส เพราะเหตุนั้น จึงสรรเสริญชมเชย.
               บทว่า กิตฺเตนฺติ ย่อมประกาศ คือย่อมทำคุณให้ปรากฏ.
               บทว่า วณฺเณนฺติ คือ ย่อมกล่าวสรรเสริญ.
               บทว่า ปสํสนฺติ คือ ย่อมให้ถึงความเลื่อมใส.
               บทว่า อิโต นิทานํ คือ เพราะให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้เป็นเหตุ.
               บทว่า อชฺฌยกา คือ ร่ายมนต์. บทว่า มนฺตธรา คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งมนต์.
               บทว่า ติณฺณํ เวนานํ คือ ไตรเพท มีอิรุพเพท ยชุพเพท สามเพท.
               ชื่อว่า ปารคู เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งด้วยการทำให้กระทบริมฝีปาก พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์.
               บทว่า นิฆณฺฑุ เป็นศาสตร์ บอกชื่อของต้นไม้เป็นต้น.
               บทว่า เกฏุภํ การกำหนดกิริยามารยาท อันเป็นศาสตร์เพื่อเป็นอุปการะของกวีทั้งหลาย. เป็นประเภทอักขระ พร้อมด้วยอักขระประเภท. การศึกษา และภาษา ชื่อว่าอักขรประเภท.
               บทว่า อิติหาสปญฺจมานํ มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕. ชื่อว่า อิติหาสปญฺจโม เพราะมีคัมภีร์อิติหาส (หนังสือประเภทประวัติศาสตร์และประเพณีโบราณ) กล่าวคือ เรื่องราวเก่าๆ ประกอบด้วยคำพูดเช่นนี้ว่า อิติห อาส อิติห อาส เป็นที่ ๕ มีอาถรรพณเวทเป็นที่ ๔.
               ชื่อว่าเป็นผู้เข้าใจตัวบทเข้าใจไวยากรณ์ เพราะเรียนรู้ตัวบทและไวยากรณ์อันเหลือจากตัวบทนั้น.
               ตำราพูดให้คนหลงเชื่อ เรียกว่าโลกายตนะ.
               ตำราประมาณ ๑๒,๐๐๐ บทแสดงลักษณะของพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้เป็นพระมหาบุรุษ ชื่อว่ามหาปุริสลักษณะ ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมนต์ประมาณ ๑๖,๐๐๐ คาถา.
               ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายประกอบด้วยพระลักษณะนี้ด้วยอำนาจแห่งพุทธมนต์ใด ด้วยพุทธมนต์นี้ย่อมรู้ความต่างกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา อัครอุปัฏฐาก อัครอุปํฏฐายิกา พระราชา พระเจ้าจักรพรรดิ.
               บทว่า อนวยา ไม่บกพร่อง คือในคัมภีร์โลกายตนะและคัมภีร์มหาปุริสลักษณะไม่พร่อง บริบูรณ์. อธิบายว่า ไม่ขาดตกบกพร่อง. ผู้ใดไม่สามารถทรงศาสตร์เหล่านั้นไว้ได้โดยอรรถและโดยคัณฐะ (คัมภีร์) ผู้นั้นชื่อว่าบกพร่อง.
               บทว่า วีตราคา คือ ละราคะได้แล้ว. ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล. ท่านกล่าวถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคด้วยบทนี้ว่า ราควินยาย วา ปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ.
               บทว่า วีตโทสา ปราศจากโทสะ คือด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล. ท่านกล่าวถึงผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคด้วยบทนี้ว่า โทสวินยาย ปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ.
               บทว่า วีตโมหา ปราศจากโมหะ คือด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล. ท่านกล่าวถึงผู้ที่ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคด้วยบทนี้ว่า โมหวินยาย ปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ.
               บทว่า สีลสมาธิปญฺญาวิมุตฺติ สมฺปนฺนา ความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้น อันเจือด้วยโลกิยะและโลกุตระ ๔ เหล่านี้ คือศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงผู้ถึงพร้อมด้วยปัจจเวกขณญาณด้วยบทนี้ว่า วิมุตฺติญาณทสฺสมฺปนฺนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ. ญาณนั้นเป็นโลกิยะอย่างเดียว.
               บทว่า อภิชปฺปนฺติ ย่อมชอบ คือย่อมปรารถนา.
               บทว่า ชปฺปนฺติ คือ ย่อมหวัง.
               บทว่า ปชปฺปนฺติ ย่อมอ้อนวอน คือย่อมหวังอย่างยิ่ง.
               บทว่า ยาเค ยุตฺตา ผู้ประกอบในการบูชายัญ คือประกอบด้วยการบูชาอย่างยิ่งในไทยธรรมที่เขาบูชาให้.
               ท่านปุณณกะทูลถามว่า อถ โก จรหิ เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ใครเล่าได้ข้ามพ้นแล้ว.
               บทว่า สงฺขาย คือ พิจารณาแล้วด้วยญาณ.
               บทว่า ปโรปรานิ คือฝั่งนี้และฝั่งโน้น. อธิบายว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้นมีอัตภาพของคนอื่นและอัตภาพของตนเป็นต้น.
               บทว่า วิธูโม ปราศจากควัน คือปราศจากควันมีกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า อนิโฆ คือ ปราศจากทุกข์มีราคะเป็นต้น.
               บทว่า อตาริ โส คือ พระอรหันต์นั้นได้ข้ามชาติและชราได้แล้ว.
               บทว่า สกรูปา คือ รูปของตน.
               บทว่า ปรรูปา คือ รูปของคนอื่น.
               บทว่า กายทุจฺจริตํ วิธูมิตํ กำจัดกายทุจริต คือทำความกำจัดกายทุจริต ๓ อย่าง.
               บทว่า วิธมิตํ คือ ทำให้พินาศไป.
               บทว่า มาโน หิ เต พฺราหฺมณ ขาริภาโร ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนดังเครื่องหาบ คือยกมานะขึ้นอาศัยวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งมานะ มีชาติ โคตร ตระกูลเป็นต้น ให้เกิดริษยาในมานะนั้นๆ ย่อมจมในอบาย ๔ เหมือนอย่างแบกเครื่องหาบไป แม้ตั้งอยู่ข้างบนก็ยังสัมผัสแผ่นดินในที่เหยียบแล้วๆ ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนเครื่องหาบ.
               บทว่า โกโธ ธูโม คือ ความโกรธเปรียบเหมือนควัน เพราะอรรถว่าเป็นความเศร้าหมองแห่งไฟคือญาณของท่าน. ไฟคือญาณเศร้าหมองด้วยความโกรธเปรียบดังควันนั้น ย่อมไม่ไพโรจน์.
               บทว่า ภสฺมนิ โมสวชฺชํ คือ มีการพูดเท็จเปรียบเหมือนเถ้า เพราะไม่รุ่งเรือง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เหมือนอย่างว่าไฟถูกเถ้าปกปิดย่อมไม่รุ่งเรืองฉันใด ญาณของท่านถูกปกปิดด้วยการพูดเท็จก็ฉันนั้น.
               บทว่า ชิวฺหา สุชา มีลิ้น เปรียบเหมือนทัพพี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ลิ้นพอที่จะให้เกิดการบูชาธรรมของเราเป็นทัพพี เหมือนทัพพีเพื่อให้เกิดการบูชายัญที่ทำด้วยทองคำ เงิน โลหะ ไม้และดินเหนียวอย่างใดอย่างหนึ่งของท่านฉะนั้น.
               บทว่า หทยํ โชติฏฺฐานํ หทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนที่บูชายัญ คือหทัยของสัตว์ทั้งหลายเป็นที่บูชายัญ เพราะเป็นที่ให้เกิดการบูชาธรรมของเรา เหมือนที่บูชายัญ ณ ฝั่งแม่น้ำของท่านฉะนั้น.
               บทว่า อตฺตา คือ จิต.
               บทว่า ชาติ คือ เป็นกำเนิดด้วยอำนาจแห่งความเกิด. บทนี้เป็นสภาพเฉพาะตัวในที่นี้. สัญชาติ (ความเกิดพร้อม) ด้วยอำนาจแห่งความเกิดร่วมกัน. เพิ่มบทอุปสัค.
               บทว่า โอกฺกนฺติ (ความก้าวลง) ด้วยอำนาจแห่งการหยั่งลง. หรือชื่อว่า ชาติ ด้วยอรรถว่าเกิด. ความเกิดนั้นประกอบด้วยอายตนะยังไม่ครบ.
               ชื่อว่า สญฺชาติ ด้วยอรรถว่าเกิดพร้อม. สัญชาตินั้นประกอบด้วยอายตนะครบ.
               ชื่อว่า โอกฺกนฺติ เพราะอรรถว่าก้าวลง. โอกกันตินั้นย่อมควรด้วยอัณฑชะกำเนิด (เกิดแต่ฟอง) และชลาพุชะกำเนิด (เกิดแต่น้ำ). เพราะสัตว์เหล่านั้นก้าวลงเข้าไปสู่ฟองไข่และช่องมดลูกย่อมถือปฏิสนธิดุจก้าวลงเข้าไป.
               ชื่อว่า อภินิพฺพตฺติ (เกิดเฉพาะ) เพราะอรรถว่าเกิดยิ่ง.
               อภินิพพัตตินั้นย่อมควรด้วยสังเสทชะกำเนิด (เกิดแต่เหงื่อไคล) และโอปปาติกะกำเนิด (ผุดเกิดขึ้น).
               จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นเกิดปรากฏเป็นตัวตนเลย.
               นี้เป็นเพียงสมมติกถา. บัดนี้จะพูดถึงปรมัตถกถา. จริงอยู่ โดยปรมัตถ์ขันธ์เท่านั้นปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ปรากฏ.
               ในบทว่า ขนฺธานํ พึงทราบการถือเอาขันธ์หนึ่งในเอกโวการภพ ภพที่มีขันธ์หนึ่ง, ขันธ์ ๔ ในจตุโวการภพ ภพที่มขันธ์ ๔, ขันธ์ ๕ ในปัญจโวการภพ ภพที่มีขันธ์ ๕.
               บทว่า ปาตุภาโว ความปรากฏ คือความเกิด.
               ในบทว่า อายตนานํ นี้ พึงทราบการสงเคราะห์อายตนะอันเกิดขึ้นในขันธ์นั้นๆ.
               บทว่า ปฏิลาโภ การได้เฉพาะ คือความปรากฏในปฏิสนธินั่นเอง.
               จริงอยู่ อายตนะเหล่านั้นเมื่อปรากฏอยู่ เป็นอันชื่อว่าได้แล้ว.
               อนึ่ง ชาตินี้นั้นมีการเกิดครั้งแรกในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ มีการมอบให้เป็นรส มีการผุดขึ้นในภพนี้จากภพในอดีตเป็นเครื่องปรากฏ หรือมีความเป็นผู้เต็มไปด้วยทุกข์ด้วยอำนาจแห่งผลเป็นเครื่องปรากฏ.
               บทว่า ชรา ความแก่ เป็นสภาพเฉพาะตน.
               บทว่า ชิรณตา ความเสื่อม แสดงถึงอาการ.
               บท ๓ บทมีอาทิว่า ขณฺฑิจฺจํ ความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้น แสดงถึงกิจในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไป. ๒ บทหลังแสดงถึงปกติ. แสดงโดยความเป็นสภาพด้วยบทนี้ว่า อยํ หิ ชรา นี่แหละชรา.
               นี้เป็นสภาพเฉพาะตนของชราด้วยบทนั้น. แสดงโดยกิจ คือการทำฟันและเล็บให้หัก ในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไปด้วยบทนี้ว่า ขณฺฑิจฺจํ ความเป็นผู้มีฟันหัก. แสดงโดยกิจ คือการทำให้ผมและขนหงอก ด้วยบทนี้ว่าปาลิจฺจํ ความเป็นผู้มีผมหงอก. แสดงโดยกิจ คือการทำให้เนื้อเหี่ยวหนังย่นด้วยบทนี้ว่า วลิตฺต จตา ความเป็นผู้มีหนังย่น.
               บท ๓ บทมีอาทิว่า ขณฺฑิจฺจํ นี้ แสดงกิจ ในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไปแห่งชรานั้น. ด้วยบทเหล่านั้น ท่านแสดงชราปรากฏชัดด้วยการเห็นความวิการเหล่านี้. เหมือนอย่างว่า ทางไปของน้ำ ลม ไฟหรือหญ้าต้นไม้เป็นต้นย่อมปรากฏ เพราะหักโค่นล้มหรือเพราะถูกไฟไหม้ แต่ทางไปไม่ปรากฏ น้ำเป็นต้นไม่ปรากฏฉันใด ทางไปของชราย่อมปรากฏโดยความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้น แม้ลืมตาคอยจับความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้นไม่ปรากฏ ชราก็ไม่ปรากฏฉันนั้น. เพราะชราไม่พึงรู้ด้วยตา.
               บทว่า อายุโน สํหานิ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย. ความว่า ท่านแสดงตามปกติ กล่าวคือความเสื่อมแห่งอายุและความแก่แห่งอินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้น เพราะรู้เท่าทัน ในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไปด้วยบทเหล่านี้.
               พึงทราบว่า สองบทหลังนี้แสดงถึงปกติของอายุนั้น.
               ในบทนั้น เพราะเมื่อถึงชราอายุย่อมเสื่อม ฉะนั้น ชรา ท่านกล่าวด้วยความใกล้เคียงผลว่า ความเสื่อมแห่งอายุ ก็เพราะเมื่อยังเป็นหนุ่ม อินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้นแจ่มใสดี สามารถจับวิสัยของตนแม้ละเอียดอ่อนได้โดยง่าย เมื่อถึงชราอินทรีย์ก็แก่หง่อม ขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่สามารถจะจับวิสัยของตนแม้หยาบได้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวโดยใกล้เคียงผลว่า อินฺทฺริยานํ ปริปาโก ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย.
               ก็เมื่อได้แสดงถึงชรานั้นอย่างนี้แล้วจึงสรุปได้ว่า ชรามีสองอย่าง คือชราปรากฏ และชราปกปิด. ในชราทั้งสองนั้น ชราในรูปธรรม ชื่อว่าชราปรากฏ เพราะแสดงความมีฟันหักเป็นต้น. แต่ชราในอรูปธรรม ชื่อว่าชราปกปิด เพราะไม่เห็นความวิการเช่นนั้น. ความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้นจักปรากฏเป็นสีของฟันเป็นต้นเช่นนั้น. ครั้นเห็นสีนั้นด้วยตา คิดด้วยใจจึงรู้ชราว่าขันธ์ทั้งหลายถูกชรากำจัดเสียแล้ว. ดุจแลดูจันทน์เหลืองเป็นต้นที่เขาผูกไว้ในที่มีน้ำ แล้วก็รู้ว่าน้ำมีอยู่ข้างล่าง.
               ชรายังมีอีกสองอย่าง คือ อวิจิชรา ๑ สวิจิชรา ๑.
               ในชราสองอย่างนั้น ชราชื่อว่า อวิจิชรา เพราะรู้ในความแตกต่างของสี มีมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เป็นต้นในระหว่างๆ ได้ยาก ดุจของสัตว์มีชีวิต ในบรรดาพระเจ้ามันธาตุราชและท้าวสักกะเป็นต้น และดุจของสิ่งไม่มีชีวิต ในบรรดาดอกไม้ ผลไม้และใบไม้อ่อนเป็นต้น. อธิบายว่า ชราต่อเนื่อง.
               ชราชื่อว่า สวิจิชรา เพราะรู้ความแตกต่างของสิ่งในระหว่างๆ ในสิ่งอื่นจากนั้นตามที่กล่าวแล้วได้ง่าย. ในชราสองอย่างนั้น สวิจิชราพึงแสดงอย่างนี้ด้วยอุปาทินนกะ. เพราะว่าเด็กเล็กฟันน้ำนมขึ้นก่อน แต่ไม่มั่นคง. เมื่อฟันน้ำนมหักฟันก็ขึ้นอีก. ฟันเหล่านั้นตอนแรกก็ขาว ครั้นถึงคราวลมชรากระทบก็ดำ. ส่วนผมตอนแรกก็แดงบ้างดำบ้าง. ส่วนผิวมีสีแดง เมื่อเจริญเติบโตก็ปรากฏเป็นผิวขาวผิวดำ. ครั้นถึงคราวถูกลมชรากระทบก็เกิดรอยย่น เวลาอบด้วยตนเองก็ขาว ภายหลังก็เขียวแก่. ครั้นถูกลมชรากระทบก็ขาว. ควรเปรียบด้วยหน่อมะม่วง.
               อนึ่ง ชรานั้นมีความแก่ของขันธ์ เป็นลักษณะ มีการนำเข้าไปสู่มรณะเป็นรส มีการหมดความเป็นหนุ่มสาว เป็นเครื่องปรากฏ.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระสูตรนี้ลงด้วยธรรมเป็นยอด คือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อจบเทศนา พราหมณ์พร้อมด้วยอันเตวาสิก ๑,๐๐๐ ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัต. ธรรมจักษุเกิดขึ้นแล้วแก่ชนเหล่าอื่นหลายพัน.
               บทที่เหลือเช่นกับที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 100อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 116อ่านอรรถกถา 30 / 146อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=802&Z=1275
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=257
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=257
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :