ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๖ / ๗.

               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงด้วยสามารถแห่งความยึดมั่น จึงกล่าวว่า สุญฺญโต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุญฺญโต เป็นต้น ความว่า ท่านเรียกว่าสุญญตะ เพราะว่างจากราคะ โทสะ โมหะ. เรียกว่าอนิมิตตะ เพราะไม่มีเครื่องหมายแห่งราคะ โทสะ โมหะ, เรียกว่าอัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้งแห่งราคะ โทสะ โมหะ.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงด้วยสามารถผัสสะที่นับเนื่องและไม่นับเนื่องในวัฏฏะ จึงกล่าวว่า โลกิโย เป็นต้น.
               วัฏฏะ ท่านเรียกว่าโลก ด้วยอรรถว่าแตกหัก พังทลาย, ผัสสะชื่อว่าโลกิยะ เพราะอรรถว่าประกอบไว้ในโลก ด้วยภาวะที่นับเนื่องในโลกนั้น, ชื่อว่าอุตตระ เพราะอรรถว่าข้ามขึ้นแล้ว, ชื่อว่าโลกุตตระ เพราะอรรถว่าข้ามขึ้นจากโลก เพราะภาวะที่ไม่นับเนื่องในโลก.
               บทว่า ผุสนา ได้แก่ อาการที่ถูกต้อง.
               บทว่า สมฺผุสฺนา สมฺผุสิตตฺตํ ท่านขยายด้วยอุปสัค.
               บทว่า เอวํ ญาตํ กตฺวา ได้แก่ ทำให้ปรากฏอย่างนี้. เมื่อรู้ย่อมพิจารณา คือย่อมเห็น ย่อมคิดโดยอาการที่พึงเป็นไปเบื้องบน ย่อมพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง เพราะมีความเป็นไปในที่สุดคืออนิจจัง และและเพราะมีเบื้องต้นและที่สุด.
               ชื่อว่าโดยความเป็นทุกข์ เพราะมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปบีบคั้น และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์.
               ชื่อว่าโดยความเป็นโรค เพราะจะต้องให้เป็นไปด้วยปัจจัย และเพราะเป็นมูลแห่งโรค.
               ชื่อว่าโดยความเป็นดังหัวฝี เพราะประกอบด้วยโรคเสียดท้องโดยเป็นทุกข์ เพราะมีการไหลออกแห่งของไม่สะอาดคือกิเลส และเพราะขึ้นพองแก่รอบแตกไปด้วยความเกิดขึ้น ความเสื่อมโทรมและความแตกดับ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นดังลูกศร เพราะให้เกิดความบีบคั้น เพราะเจาะแทงภายในและเพราะมีภาวะที่นำออกได้ยาก.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของลำบาก เพราะเป็นภาวะที่น่าติเตียน เพราะไม่นำมาซึ่งความเจริญและเพราะเป็นที่ตั้งแห่งความชั่ว.
               ชื่อว่าโดยความเป็นอาพาธ เพราะไม่ให้เกิดเสรีภาพและเพราะเป็นปทัฏฐานแห่งอาพาธ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นอย่างอื่น เพราะไม่มีอำนาจและเพราะความเป็นชื่อ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของชำรุด เพราะชำรุดด้วยพยาธิชราและมรณะ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นเสนียด เพราะนำมาซึ่งความพินาศมิใช่น้อย.
               ชื่อว่าโดยความเป็นอุบาทว์ เพราะนำมาซึ่งความฉิบหายมากมาย ซึ่งไม่มีใครรู้ได้และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งอันตรายทุกอย่าง.
               ชื่อว่าโดยความเป็นภัย เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งภัยทั้งปวง และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อหายใจเข้าอย่างยิ่ง กล่าวคือความสงบทุกข์.
               ชื่อว่าโดยความเป็นอุปสรรค เพราะพัวพันด้วยความฉิบหายมิใช่น้อย เพราะเข้าไปดำรงไว้ซึ่งโทษ และเพราะไม่ควรแก่การอดกลั้น ดุจอุปสรรค.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของหวั่นไหว เพราะหวั่นไหวด้วยพยาธิ ชราและมรณะ และด้วยโลกธรรมมีลาภเป็นต้น.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของแตกพัง เพราะเข้าถึงความแตกพังเป็นปกติ ด้วยความเพียรและด้วยสิ่งที่มีรส.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของไม่ยั่งยืน เพราะทำความมั่นคงทั้งปวงให้ถึงความพินาศและเพราะไม่มีความมั่นคง.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของไม่มีที่ต้านทาน เพราะความไม่ต้านทานและเพราะไม่ได้ความปลอดภัย.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เพราะความเป็นของไม่ควรที่จะติดแน่นและเพราะไม่กระทำกิจซ่อนเร้นแม้ของผู้ที่ติดแน่น.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของไม่มีที่พึ่ง เพราะไม่มีความเป็นผู้กระทำที่พึ่งจากภัยแก่ผู้อาศัยทั้งหลาย.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของว่าง เพราะว่างจากอัตภาพที่ยั่งยืน งาม เป็นสุข ตามที่กำหนดไว้.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของเปล่า เพราะความเป็นของว่างนั่นเอง หรือเพราะเป็นของน้อย.
               จริงอยู่ แม้ของน้อย ท่านก็เรียกว่า เปล่าในโลก.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของสูญ เพราะเว้นจากเจ้าของผู้อยู่อาศัย ผู้รู้ ผู้กระทำและผู้อธิษฐาน.
               ชื่อว่าโดยความเป็นอนัตตา เพราะความที่ตนเองมิใช่เจ้าของเป็นต้น.
               ชื่อว่าโดยความเป็นโทษ. เพราะมีทุกข์เป็นไป และเพราะความเป็นโทษของทุกข์อีกอย่างหนึ่ง.
               ชื่อว่าอาทีนพ เพราะอรรถว่าพัดไปคือไป เป็นไปซึ่งเบื้องต้น, คำนี้เป็นชื่อของคนกำพร้า, แม้ขันธ์ทั้งหลายก็กำพร้าเหมือนกันโดยความเป็นโทษ เพราะเป็นเช่นกับโทษ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะมีปกติแปรปรวน ๒ อย่าง คือด้วยชราและมรณะ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของไม่มีแก่นสาร เพราะทุพพลภาพ เหมือนกระพี้ และเพราะทำลายความสุข.
               ชื่อว่าโดยความเป็นมูลแห่งความลำบาก เพราะเป็นเหตุแห่งความลำบาก.
               ชื่อว่าโดยความเป็นดังเพชฌฆาต เพราะฆ่าความคุ้นเคยเหมือนศัตรูที่อยู่ต่อหน้าทำเป็นมิตร.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของปราศจากความเจริญ เพราะปราศจากความเจริญ และเพราะมีความเสื่อม.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของมีอาสวะ เพราะมีอาสวะเป็นปทัฏฐาน.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของอันเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เพราะเป็นของอันเหตุและปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว.
               ชื่อว่าโดยความเป็นเหยื่อมาร เพราะเป็นเหยื่อแห่งมัจจุมารและกิเลสมาร.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของมีชาติชราพยาธิและมรณะเป็นธรรมดา เพราะมีชาติ ชรา พยาธิและมรณะเป็นปกติ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของมีโสกะ ปริเทวะและอุปายาสะเป็นธรรมดา เพราะเป็นเหตุแห่งโสกะ ปริเทวะและอุปายาสะ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เพราะมีอารมณ์แห่งตัณหาทิฏฐิทุจริตและสังกิเลสทั้งหลายเป็นธรรมดา.
               ชื่อว่าโดยความเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพราะความเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งอวิชชา กรรม ตัณหาและสฬายตนะ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของดับไป เพราะไม่มีเหตุเกิดแห่งทุกข์เหล่านั้น.
               ชื่อว่าโดยความเป็นของชวนให้แช่มชื่น เพราะความแช่มชื่นที่มีความหวานด้วยสามารถแห่งฉันทราคะในผัสสะ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นอาทีนพ เพราะความแปรปรวนแห่งผัสสะ.
               ชื่อว่าโดยความเป็นนิสสรณะ เพราะการออกไปแห่งความแช่มชื่นและอาทีนพทั้งสอง, ปาฐะที่เหลือในบทว่า ติเรติ เหล่านี้ พึงเห็นในบทว่า ติเรติ ทุกบท.
               บทว่า ปชหติ ความว่า นำออกจากสันดานของตน.
               บทว่า วิโนเทติ ความว่า บรรเทา.
               บทว่า พยนฺตีกโรติ ความว่า ทำให้สิ้นสุด.
               บทว่า อนภาวงฺคเมติ ความว่า ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง.
               ชื่อว่ามีมูลรากอันตัดขาดแล้ว เพราะอรรถว่ามูลรากที่สำเร็จด้วยตัณหาและอวิชชาของฉันทราคะเหล่านั้น ถูกตัดขาดแล้วด้วยศัสตราคืออริยมรรค.
               ชื่อว่าทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน เพราะอรรถว่าทำที่ตั้งแห่งฉันทราคะเหล่านั้น ราวกะว่าตาลยอดด้วน, เหมือนอย่างว่า ถอนต้นตาลขึ้นพร้อมทั้งรากแล้วทำประเทศนั้นเป็นเพียงที่ตั้งของต้นตาลนั้น ความเกิดขึ้นของต้นตาลนั้นย่อมไม่ปรากฏอีกฉันใด, ถอนรสมีรูปเป็นต้นพร้อมทั้งรากด้วยศัสตราคืออริยมรรค แล้วทำจิตสันดานเป็นเพียงที่ตั้งแห่งฉันทราคะเหล่านั้น โดยภาวะเดิมที่เกิดขึ้นแล้วในก่อน ฉันทราคะเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่า ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วนฉันนั้น
               บทว่า ยสฺเสโส ได้แก่ ความติดใจนั้นของบุคคลใด.
               บทว่า สมุจฺฉินฺโน ได้แก่ ตัดขาดแล้วโดยชอบ.
               บทว่า วูปสนฺโต ได้แก่ สงบได้แล้วด้วยผล.
               บทว่า ปฏิปสฺสทฺโธ ได้แก่ ระงับได้แล้วด้วยปฏิปัสสัทธิปหานะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านขยายบทด้วยอุปสรรค.
               บทว่า อภพฺพุปฺปตฺติโก ได้แก่ ไม่ควรเพื่อจะเกิดขึ้นอีก.
               บทว่า ญาณคฺคินา ทฑฺโฒ ได้แก่ เผาแล้วด้วยไฟคือมรรคญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า ละได้แล้วพร้อมด้วยวัตถุ เหมือนทิ้งไปพร้อมกับภาชนะที่ใส่ยาพิษ. ตัดพร้อมทั้งราก เหมือนตัดรากเถาวัลย์มีพิษ ดังนั้นจึงชื่อว่า ตัดขาดแล้ว, สงบได้แล้ว เหมือนราดน้ำดับถ่านไฟในเตา, ระงับได้แล้ว เหมือนหยาดน้ำที่ตกลง ในถ่านไฟที่ดับแล้ว, ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เหมือนพืชที่ถูกตัดเหตุเกิดของหน่อเสียแล้ว, เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เหมือนต้นไม้มีพิษถูกฟ้าผ่า ดังนี้.
               บทว่า วีตเคโธ นี้ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการสละภาวะของตน.
               บทว่า วิคตเคโธ นี้กล่าวด้วยสามารถแห่งการสละภาวะที่ยังมีอาลัยในอารมณ์.
               บทว่า วนฺตเคโธ นี้กล่าวด้วยสามารถแสดงภาวะไม่ถือเอา.
               บทว่า มุตฺตเคโธ นี้กล่าวด้วยสามารถแห่งการเปลื้องจากสันตติ.
               บทว่า ปหีนเคโธ นี้กล่าวด้วยสามารถแสดงความไม่ตั้งมั่นในบางคราวของจิตที่พ้นแล้ว.
               บทว่า ปฏินิสฺสฏฺฐเคโธ นี้กล่าวด้วยสามารถแสดงการสลัดออกซึ่งความติดใจที่เคยยึดถือไว้.
               บทว่า วีตราโค วิคตราโค จตฺตราโค วนฺตราโค พึงประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น ชื่อว่าเคธะ ด้วยสามารถแห่งความติดใจ, ชื่อว่าราคะ ด้วยสามารถแห่งความยินดี,
               บทว่า นิจฺฉาโต ได้แก่ มีตัณหาออกแล้ว.
               ปาฐะว่า นิจฺฉโท ก็มีความว่า เว้นจากหลังคาคือตัณหา.
               บทว่า นิพฺพุโต ได้แก่ มีสภาวะดับแล้ว
               บทว่า สีติภูโต ได้แก่ มีความเย็นเป็นสภาวะ.
               บทว่า สุขปฏิสํเวที ได้แก่ มีสภาวะเสวยสุขทางกายและสุขทางใจ.
               บทว่า พฺรหฺมภูเตน ได้แก่ มีสภาวะสูงสุด.
               บทว่า อตฺตนา ได้แก่ จิต.
               บทว่า กตตฺตา จ ได้แก่ เพราะทำกรรมชั่วด้วย.
               บทว่า อกตตฺตา จ ได้แก่ เพราะไม่ทำกรรมดีด้วย.
               บทว่า กตํ เม กายทุจฺจริตํ อกตํ เม กายสุจริตํ เป็นต้นกล่าวด้วยสามารถการไม่งดเว้นและการงดเว้นและการงดเว้นทางทวาร และด้วยสามารถกรรมบถ.
               บทว่า สีเลสุมฺหิ น ปริปูริการี เป็นต้นกล่าวด้วยสามารถปาริสุทธิสีล ๔.
               บทว่า ชาคริยมนนุยุตฺโต กล่าวด้วยสามารถชาครณธรรม ๕.
               บทว่า สติสมฺปชญฺเญน กล่าวด้วยสามารถสาตถกสัมปชัญญะเป็นต้น.
               โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายมีบทว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา เป็นต้นกล่าวด้วยสามารถโลกิยะและโลกุตตระ.
               บททั้ง ๔ มีบทว่า ทุกฺขํ เม อปริญฺญาตํ เป็นต้นกล่าวด้วยสามารถอริยสัจพึงทราบดังนี้. บทเหล่านั้นมีเนื้อความปรากฏแล้ว เพราะมีนัยดังที่กล่าวไว้ในที่นั้นๆ.
               บททั้ง ๗ ว่า ธีโร ปณฺฑิโต เป็นต้น มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้วเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ธีร ด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหวในทุกข์, ชื่อว่า ปณฺฑิต ด้วยอรรถว่าไม่ลอยไปในสุข, ชื่อว่า ปญฺญวา ด้วยอรรถว่าทำความสะสมประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ข้างหน้า, ชื่อว่า พุทฺธิมา ด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหวในประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน, ชื่อว่า ญาณี ด้วยอรรถว่าลึกและตื้น และด้วยอรรถว่าไม่ถอยหลัง, ชื่อว่า วิภาวี ด้วยอรรถว่าแจ่ม แจ้งในอรรถที่ปกปิดลึกลับ, ชื่อว่า เมธาวี เพราะอรรถว่าเช่นกับตาชั่ง ด้วยอรรถว่าเซาะลงจนหมดกิเลส.
               บทว่า น ลิมฺปติ ความว่า ไม่ติดในความเกิดของตน เหมือนรอยเขียนในอากาศ.
               บทว่า น ปลิมฺปติ ความว่า ไม่ติดโดยพิเศษ.
               บทว่า น อุปลิมฺปติ ความว่า แม้ประกอบก็ไม่ติด เหมือนรอยเขียนในฝ่ามือ.
               บทว่า อลิตฺโต ความว่า แม้ประกอบก็ไม่เศร้าหมองเหมือนแก้วมณีที่วางไว้ในผ้าแคว้นกาสี.
               บทว่า อสํลิตฺโต ความว่า ไม่เศร้าหมองเป็นพิเศษ เหมือนผ้าแคว้นกาสีที่พันไว้ที่แก้วมณี.
               บทว่า อนูปลิตฺโต ความว่า แม้เข้าไปก็ไม่ติดแน่นเหมือนหยาดน้ำบนใบบัว.
               บทว่า นิกฺขนโต ความว่า ออกไปภายนอก เหมือนหนีออกจากเรือนจำ
               บทว่า นิสฺสฏฺโฐ ความว่า ละขาดแล้ว เหมือนผ้าเศร้าหมองที่อมิตรคลุมไว้.
               บทว่า วิปฺปมุตฺโต ความว่า พันด้วยดี เหมือนยังความยินดีในวัตถุที่น่าถือเอาให้พินาศแล้วไม่มาอีก.
               บทว่า วิสํยุตฺโต ความว่า ไม่ประกอบด้วยกิเลสทั้งหลาย โดยความเป็นอันเดียวกัน เหมือนคนไข้หายจากพยาธิฉะนั้น.
               บทว่า วิมริยาทิกเตน เจตสา ความว่า มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลส. อธิบายว่า มีจิตพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง โดยภพทั้งปวงโดยอารมณ์ทั้งปวง.
               ก็ในคาถาว่า สญฺญํ ปริญฺญา เป็นต้น ความย่อดังต่อไปนี้
               มิใช่ผัสสะแต่อย่างเดียวเท่านั้น ก็อีกอย่างหนึ่งแล มุนีกำหนดรู้สัญญาต่างด้วยกามสัญญาเป็นต้น แม้นามรูป โดยแนวแห่งสัญญาหรือโดยนัยที่กล่าวแล้วในก่อนนั่นแล ด้วยปริญญา ๓ พึงข้ามพ้นโอฆะทั้ง ๔ ด้วยปฏิปทานี้ ต่อนั้น มุนีนั้นข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ เพราะละกิเลสคือตัณหาและทิฏฐิได้ เป็นมุนีมีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว เพราะถอนลูกศรคือกิเลสมีราคะเป็นต้นได้แล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทเที่ยวไป เพราะถึงความไพบูลย์แห่งสติ หรือเป็นผู้ไม่ประมาท เที่ยวไปในกาลเบื้องต้น เป็นผู้ถอนลูกศรได้ด้วยเที่ยวไปด้วยความไม่ประมาทนั้น ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งต่างโดยอัตภาพของตนและของผู้อื่นเป็นต้น ย่อมปรินิพพานเพราะดับจริมจิตเสียได้โดยแท้ เหมือนไฟหมดเชื้อฉะนั้น.
               พระสารีบุตรเถระวางระเบียบธรรมนั่นแล จบเทศนาด้วยยอดธรรมคือพระอรหัตต์ ด้วยประการฉะนี้ แต่มิได้ยังมรรคหรือผลให้เกิดขึ้นด้วยเทศนานี้ เพราะท่านแสดงแก่พระขีณาสพดังนี้แล.
               ชื่อว่าสัญญา เพราะอรรถว่าจำอารมณ์ ชนิดสีเขียวเป็นต้นได้.
               สัญญานั้นมีความจำได้เป็นลักษณะ, มีความรู้ยิ่งเฉพาะเป็นรส, ก็สัญญาที่เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่ามีความจำได้เป็นลักษณะ, สัญญาทั้งหมดมีความจำได้เป็นลักษณะทั้งนั้น. ก็สัญญาใดย่อมจำได้ด้วยความรู้ยิ่ง ในที่นี้ สัญญานั้นชื่อว่ามีความรู้ยิ่งเฉพาะเป็นรส. พึงทราบความเป็นไปของสัญญาที่มีความรู้ยิ่งเฉพาะเป็นรสนั้น ในเวลาที่ช่างไม้ทำเครื่องหมายไว้ที่ไม้จำไม้นั้นได้ด้วยเครื่องหมายนั้นอีก และในเวลาที่กำหนดเครื่องหมายมีไฝดำเป็นต้นของบุรุษ จำบุรุษนั้นได้ว่า ผู้นี้คือคนชื่อโน้น ด้วยเครื่องหมายนั้นอีก และในเวลาที่เจ้าหน้าที่ภัณฑาคาริกผู้ดูแลเครื่องประดับของพระราชา ผูกหนังสือชื่อที่เครื่องประดับนั้นๆ เมื่อมีรับสั่งว่า จงนำเครื่องประดับชื่อโน้นมา ก็จุดประทีปเข้าห้องที่แข็งแรง อ่านหนังสือแล้วนำเครื่องประดับนั้นๆ นั่นแลมาได้.
               อีกนัยหนึ่ง สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ ด้วยสามารถรวบรวมทุกอย่างไว้ได้, มีการกระทำนิมิตซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความจำได้อีกเป็นรส เหมือนช่างถากเป็นต้นทำเครื่องหมายไว้ที่ไม้เป็นต้น. มีการกระทำความยึดมั่นเป็นปัจจุปปัฏฐาน ด้วยสามารถนิมิตตามที่ยึดถือไว้ เหมือนคนตาบอดดูช้าง, หรือมีความตั้งอยู่ไม่นานเป็นปัจจุปปัฏฐาน เพราะมีความเป็นไปไม่หยั่งลงในอารมณ์ เหมือนฟ้าแลบ, มีอารมณ์ตามที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วเป็นปทัฏฐาน เหมือนความจำว่าบุรุษ ของเหล่าลูกเนื้อน้อยๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่คนเลี้ยงหญ้าฉะนั้น.
               ก็สัญญาใดสัมปยุตด้วยญาณในที่นี้ สัญญานั้นย่อมเป็นไปตามญาณนั่นแล ธรรมที่เหลือในปถพีที่เป็นไปกับด้วยสัมภาระเป็นต้น พึงทราบว่า เหมือนปฐพีเป็นต้น.
               สัญญาที่ปฏิสังยุตด้วยกาม ชื่อกามสัญญา, สัญญาที่ปฏิสังยุตด้วยพยาบาท ชื่อพยาปาทสัญญา สัญญาที่ปฏิสังยุตด้วยวิหิงสา ชื่อวิหิงสาสัญญา.
               บรรดาสัญญาเหล่านั้นสัญญา ๒ ย่อมเกิดขึ้นทั้งในสัตว์ทั้งในสังขารทั้งหลาย, ก็กามสัญญาย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ตรึกถึงสัตว์หรือสังขารทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ, พยาปาทสัญญาเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาโกรธแลดูสัตว์หรือสังขารทั้งหลายซึ่งไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจ จนถึงพินาศไป, วิหิงสาสัญญาไม่เกิดขึ้นในสังขารทั้งหลาย ด้วยว่าสังขารที่ชื่อว่าให้ถึงทุกข์ไม่มี แต่เกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลาย ในเวลาคิดว่าสัตว์เหล่านี้จงฆ่ากัน จงขาดสูญ จงพินาศหรืออย่าได้มี ดังนี้, สัญญาที่ปฏิสังยุตด้วยเนกขัมมะ ชื่อเนกขัมมสัญญา เนกขัมสัญญานั้นเป็นกามาวจรในกาลเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งอสุภ เป็นรูปาวจรในอสุภฌาน, เป็นโลกุตตระในกาลที่มรรคผลเกิดขึ้นเพราะทำฌานนั้นให้เป็นบาท.
               สัญญาที่ปฏิสังยุตด้วยอัพยาบาท ชื่ออัพยาปาทสัญญา. อัพยาปาทสัญญานั้นเป็นกามาวจรในกาลเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งเมตตา เป็นรูปาวจรในเมตตาฌาน, เป็นโลกุตตระในกาลที่มรรคผลเกิดขึ้น เพราะทำฌานนั้นให้เป็นบาท.
               สัญญาที่ปฏิสังยุตด้วยอวิหิงสา ชื่ออวิหิงสาสัญญา. อวิหิงสาสัญญานั้นเป็นกามาวจรในกาลเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งกรุณา เป็นรูปาวจรในกรุณาฌาน เป็นโลกุตระในกาลที่มรรคผลเกิดขึ้น เพราะทำฌานนั้นให้เป็นบาท.
               ในกาลใด อโลภะเป็นข้อสำคัญ ในกาลนั้น สัญญา ๒ เหล่านี้ย่อมไปตามอโลภะนั้น, ในกาลใดเมตตาเป็นข้อสำคัญ ในกาลนั้นสัญญา ๒ เหล่านี้ย่อมไปตามเมตตานั้น, ในกาลใดกรุณาเป็นข้อสำคัญในกาลนั้น สัญญา ๒ เหล่านี้ย่อมไปตามกรุณานั้นแล.
               สัญญาที่เกิดขึ้นปรารภรูปารมณ์ ชื่อรูปสัญญา. แม้ในสัททสัญญาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ. คำนี้เป็นชื่อของสัญญานั้นแหละโดยอารมณ์ แม้วัตถุที่เกิดแต่จักขุสัมผัสเป็นต้น ย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้วทีเดียว เพราะได้กล่าวอารมณ์ทั้งหลายไว้แล้ว.
               บทว่า ยา เอวรูปา สญฺญา ความว่า พึงทราบสัญญามีอาทิอย่างนี้ว่า สัญญาเกิดแต่ปฏิฆสัมผัส สัญญาเกิดแต่อธิวจนสัมผัสแม้อื่นๆ.
               บรรดาบทเหล่านั้น.บทว่า อธิวจนสมฺผสฺสชา สญฺญา ได้แก่ สัญญาที่เป็นไปทางทวาร ๖ โดยปริยายนั่นเอง, ก็อรูปขันธ์ ๓ ที่เป็นไปข้างหลังเอง ย่อมได้ชื่อว่าอธิวจนสัมผัสสชาสัญญา เพราะสหชาตสัญญาของตน.
               แต่โดยตรง สัญญาที่เป็นไปทางทวาร ๕ ชื่อปฏิฆสัมผัสสชาสัญญา. สัญญาที่เป็นไปทางมโนทวาร ชื่ออธิวจนสัมผัสสชาสัญญา. สัญญาเหล่านี้พึงทราบว่า ท่านกำหนดเป็นอดิเรกสัญญา.
               บทว่า สญฺญา ได้แก่ สภาวนาม.
               บทว่า สญฺชานนา ได้แก่ อาการที่รู้พร้อม.
               บทว่า สญฺชานิตตฺตํ ได้แก่ ความเป็นคือความรู้พร้อม.
               บทว่า อวิชฺโชฆํ ความว่า กายทุจริตเป็นต้น ชื่อว่าไม่พึงประสบ ด้วยอรรถว่าไม่ควรบำเพ็ญ. อธิบายว่า ไม่พึงได้. กายทุจริตเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าประสบสิ่งที่ไม่พึงประสบ.
               กายสุจริตเป็นต้น ชื่อว่าพึงประสบโดยตรงกันข้ามกับกายทุจริตเป็นต้นนั้น.
               กายสุจริตเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าไม่ประสบสิ่งที่พึงประสบ.
               ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่ากระทำอรรถว่ากองแห่งขันธ์ทั้งหลาย, อรรถว่าที่ต่อแห่งอายตนะทั้งหลาย, อรรถว่าสูญแห่งธาตุทั้งหลาย อรรถว่าเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย, อรรถว่าแท้แห่งสัจจะทั้งหลาย ใช้ไม่รู้แล้ว.
               ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่ากระทำเนื้อความ ๔ อย่างที่กล่าวแล้วด้วยสามารถบีบคั้นทุกข์เป็นต้น ให้ไม่รู้แล้ว.
               ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่ายังสัตว์ทั้งหลายให้แล่นไปในกำเนิด คติ ภพ วิญญาณฐิติและสัตตาวาสทั้งหลาย ในสงสารอันไม่มีที่สุด.
               ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่า แล่นไปในสตรีและบุรุษเป็นต้นซึ่งไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่แล่นไปในขันธ์เป็นต้นซึ่งมีอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอวิชชา เพราะปกปิดธรรมทั้งหลายที่อาศัยวัตถุและอารมณ์แห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเกิดขึ้นก็มี. ซึ่งอวิชชาโอฆะนั้น พึงข้ามขึ้นด้วยสามารถกาโมฆะ พึงข้ามพ้นด้วยสามารถภโวฆะ, พึงล่วงเลยด้วยสามารถทิฏโฐฆะ, พึงก้าวล่วงด้วยสามารถอวิชโชฆะ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงข้ามขึ้นด้วยสามารถละด้วยโสดาปัตติมรรค, พึงข้ามพ้นด้วยสามารถละด้วยสกทาคามิมรรค, พึงล่วงเลยด้วยสามารถละด้วยอนาคามิมรรค, พึงก้าวล่วงด้วยสามารถละด้วยอรหัตตมรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง บท ๕ บทมีบทว่า ตเรยฺย เป็นต้น พึงประกอบด้วยปหานะมีตทังคปหานะเป็นต้น อาจารย์บางพวกกล่าวไว้ดังนี้.
               พระสารีบุตรเถระครั้นกล่าวว่า ญาณ เรียกว่าโมนะ ดังนี้แล้ว เพื่อจะแสดงญาณนั้นโดยประเภท จึงกล่าวว่า ยา ปญฺญา ปชานนา เป็นต้น.
               เว้นนัยที่กล่าวแล้วนั้นนั่นเอง พึงทราบบทว่า อโมโห ธมฺมวิจโย ดังต่อไปนี้.
               อโมหะความไม่หลง เป็นปฏิปักษ์ต่อการไม่เจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย คือเป็นเหตุให้เจริญ. บุคคลมีความไม่หลง ย่อมถือเอาไม่วิปริตจากการถือเอาวิปริตของคนหลง. บุคคลทรงจำความแน่นอนโดยเป็นความแน่นอน ย่อมเป็นไปในสภาวะที่เป็นจริง ด้วยความไม่หลง. ก็คนหลงย่อมถือเอาความจริงว่าไม่จริง และความไม่จริงว่าจริง ย่อมมีทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ด้วยประการนั้น.
               คนไม่หลงย่อมไม่มีมรณทุกข์ เพราะเกิดแต่การพิจารณามีอาทิอย่างนี้ว่า จะได้ความทุกข์นั้นแต่ไหนในที่นี้. ก็ความตายด้วยความลุ่มหลงเป็นทุกข์ และความตายด้วยความลุ่มหลงนั้น ไม่มีแก่คนไม่หลง. บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่บังเกิดในกำเนิดเดียรฉาน.
               ก็คนที่ลุ่มหลงเป็นนิจย่อมเข้าถึงกำเนิดเดียรฉานด้วยความหลง. และความไม่หลงเป็นปฏิปักษ์ต่อความหลง. กระทำให้ไม่มีความเป็นกลาง ด้วยอำนาจความหลง. อวิหิงสาสัญญา ธาตุสัญญา การปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา การทำลาย ๒ คัณฐะหลัง ย่อมมีด้วยความไม่หลง. สติปัฏฐาน ๒ ข้อหลังย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของความไม่หลงนั้นแล.
               ความไม่หลงเป็นปัจจัยให้เป็นผู้มีอายุยืน. ด้วยว่าคนผู้ไม่หลง รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เสพเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ ย่อมมีอายุยืน ไม่เสื่อมจากอรรถสมบัติ. ก็คนผู้ไม่หลงเมื่อกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนนั่นแล ย่อมยังตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่หลง ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการอยู่อย่างประเสริฐ เป็นผู้ดับในฝ่ายที่เป็นกลาง
               คนไม่หลงย่อมเห็นอนัตตาด้วยความไม่หลง เพราะไม่มีความสงสัยทั้งปวง. ก็คนไม่หลงเป็นคนฉลาดถือเอาความแน่นอน ย่อมรู้ขันธปัญจกซึ่งไม่ใช่ผู้นำ โดยความไม่ใช่ผู้นำ เหมือนอย่างว่า เห็นอนัตตาเพราะความไม่หลงฉันใด ความไม่หลงเพราะเห็นอนัตตาฉันนั้น. ก็ใครแลรู้ความว่างเปล่าแห่งอัตตาแล้วจะพึงถึงความลุ่มหลงอีกแล.
               บทว่า เตน ญาเณน สมนฺนาคโต ความว่า พระเสขะเป็นต้นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยญาณมีประการดังกล่าวแล้วนั้น ชื่อว่ามุนี.
               บทว่า โมนปฺปตฺโต ความว่า ถึงแล้วซึ่งความเป็นมุนี ด้วยญาณที่ได้เฉพาะแล้ว.
               บทว่า ตีณิ เป็นบทกำหนดจำนวน.
               บทว่า โมเนยฺยานิ ได้แก่ ธรรมคือข้อปฏิบัติที่กระทำความเป็นมุนี คือกระทำให้เป็นมุนี,
               ในบทว่า กายโมเนยฺยํ เป็นต้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ข้อที่พึงบัญญัติด้วยสามารถแห่งกายวิญญัตติและรูปกาย ชื่อว่าโมเนยธรรมทางกาย. ข้อที่พึงบัญญัติด้วยสามารถแห่งวจีวิญญัตติและสัททวาจา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา. ข้อที่พึงบัญญัติด้วยสามารถแห่งจิตที่เป็นไปในมโนทวารเป็นต้น ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
               บทว่า ติวิธกายทุจฺจริตานํ ปหานํ ได้แก่ การละความประพฤติชั่วที่เป็นไปทางกาย ๓ อย่าง มีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า กายสุจริตํ ได้แก่ ความประพฤติดีที่เป็นไปทางกาย.
               บทว่า กายารมฺมเณ ญาณํ ได้แก่ ญาณในธรรมที่มีกายเป็นอารมณ์ ที่ทำกายให้เป็นอารมณ์เป็นไปด้วยสามารถแห่งอนิจจังเป็นต้น.
               บทว่า กายปริญฺญา ได้แก่ ญาณที่เป็นไปด้วยสามารถรู้กาย ด้วยญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา.
               บทว่า ปริญฺญาสหคโต มคฺโค ได้แก่ มรรคที่พิจารณากายภายในให้เกิดขึ้น ชื่อว่าสหรคตด้วยปริญญา.
               บทว่า กาเย ฉนฺทราคสฺส ปหานํ ได้แก่ การละฉันทราคะคือตัณหาในกาย.
               บทว่า กายสงฺขารนิโรโธ ได้แก่ ความดับคือการปิดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก, คือการเข้าสมาบัติ. คือจตุตถฌาน.
               บทว่า วจีสงฺขารนิโรโธ ได้แก่ ความดับ คือการปิดวิตกวิจาร, คือการเข้าสมาบัติ. คือทุติยฌาน.
               บทว่า จิตฺตสงฺขารนิโรโธ ได้แก่ ความดับ คือการกั้นสัญญาและเวทนา คือการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.
               ในบทว่า กายมุนึ เป็นต้น ในคาถาแรกมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าผู้เป็นมุนีทางกาย ด้วยสามารถละกายทุจริตได้, ชื่อว่าผู้เป็นมุนีทางวาจา ด้วยสามารถละวจีทุจริตได้, ชื่อว่าผู้เป็นมุนีทางใจ ด้วยสามารถละมโนทุจริตได้, ชื่อว่าผู้เป็นมุนีทางใจผู้หาอาสวะมิได้ ด้วยสามารถละอกุศลทั้งปวงได้.
               บทว่า โมเนยฺยสมฺปนฺนํ ความว่า ชื่อว่าผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เพราะรู้สิ่งที่ควรรู้แล้วตั้งอยู่ในผล.
               บทว่า อาหุสพฺพปฺปหายินํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงเพราะละกิเลสทั้งปวงตั้งอยู่.
               ในคาถาที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า นินฺหาตปาปกํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้มีบาปอันล้างเสียแล้ว เพราะเป็นผู้ล้างคือชำระบาปทั้งปวงที่เกิดขึ้นในอายตนะแม้ทั้งปวง กล่าวคือภายในและภายนอกด้วยสามารถอารมณ์ภายในและภายนอก ด้วยมรรคญาณตั้งอยู่แล้ว
               พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               มุนีผู้อยู่ครองเรือน ชื่ออคารมุนี, มุนีผู้เข้าบรรพชา ชื่ออนาคารมุนี, พระเสขะ ๗ ชื่อเสขมุนี, พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่ออเสขมุนี, พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อปัจเจกมุนี, พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อมุนิมุนี.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า กตเม อคารมุนิโน อีกด้วยสามารถแห่งการถามเพื่อใคร่จะตอบ.
               บทว่า อคาริกา ได้แก่ ผู้ขวนขวายในการงานของผู้ครองเรือนมีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น.
               บทว่า ทิฏฺฐปทา ได้แก่ ผู้มีนิพพานอันเห็นแล้ว.
               บทว่า วิญฺญาตสาสนา ความว่า ชื่อว่ามีคำสอนอันรู้แจ้งแล้ว เพราะอรรถว่ามีคำสอนคือไตรสิกขาอันรู้แจ้งแล้ว.
               บทว่า อนาคารา ความว่า บรรพชิตทั้งหลาย ท่านเรียกว่าอนาคารมุนี เพราะอรรถว่าไม่มีการงานของผู้ครองเรือนมีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น.
               บทว่า สตฺต เสกฺขา ความว่า ชื่อว่าเสขมุนี เพราะอรรถว่าพระอริยบุคคล ๗ มีพระโสดาบันเป็นต้น ยังศึกษาในไตรสิกขา.
               พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี เพราะอรรถว่าไม่ต้องศึกษา. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี เพราะอรรถว่าแต่ละองค์นั่นแลไม่มีครูอาจารย์ อาศัยการณ์นั้นๆ ตรัสรู้อริยสัจ ๔.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :