ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๔ / ๗.

               ทุกข์โทมนัสและสุข ละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ พึงทราบการละสุขทุกข์ โสมนัสและโทมนัสที่กล่าวไว้ แม้ในที่นี้ ตามลำดับอุทเทสแห่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทริยวิภังค์ ซึ่งมิได้กล่าวไว้ตามลำดับการละสุขทุกข์ โสมนัสและโทมนัสเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ถ้าสุขทุกข์ โสมนัสและโทมนัสเหล่านี้ละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานนั้นๆ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสความดับในฌานทั้งหลายนั่นแลไว้อย่างนี้ว่า ก็ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นในที่ไหน ก็ย่อมดับไม่เหลือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นในปฐมฌานนี้ ย่อมดับไม่เหลือ ก็โทมนัสสินทรีย์ สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ เกิดขึ้นในที่ไหน ก็ย่อมดับไม่เหลือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุข ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานอยู่ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นในจตุตถฌานนี้ ก็ย่อมดับไม่เหลือ ดังนี้ เพราะดับอย่างสมบูรณ์ ก็ความดับอย่างสมบูรณ์มิใช่ความดับแห่งสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสเหล่านั้น ในปฐมฌานเป็นต้น.
               อนึ่ง ความดับนั่นแหละมิใช่ความดับอย่างสมบูรณ์ ในขณะแห่งอุปจาระ.
               จริงอย่างนั้น ทุกขินทรีย์แม้ดับในอุปจาระแห่งปฐมฌาน ในเพราะการละต่างๆ พึงเกิดขึ้นเพราะสัมผัสแห่งเหลือบยุงเป็นต้นก็มี เพราะลำบากด้วยอาสนะไม่เรียบก็มี แต่ภายในอัปปนาไม่มีเลย.
               อีกอย่างหนึ่ง ทุกขินทรีย์แม้ที่ดับในอุปจาระนี้ ย่อมไม่เป็นอันดับด้วยดี เพราะไม่ถูกปฏิปักษ์กำจัด ก็กายทั้งปวงหยั่งลงสู่ความสุขด้วยการแผ่ไปแห่งปีติภายในอัปปนา. และทุกขินทรีย์ของกายที่หยั่งลงสู่ความสุข ย่อมเป็นอันดับด้วยดี เพราะถูกปฏิปักษ์กำจัด สำหรับโทมนัสสินทรีย์ที่แม้ละได้ในอุปจาระแห่งทุติยฌานในเพราะการละต่างๆ นั้นแล เพราะเมื่อมีความลำบากกาย และความเดือดร้อนใจซึ่งมีวิตกวิจารเป็นปัจจัย โทมนัสสินทรีย์นั้นย่อมเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นไม่ได้ในเพราะไม่มีวิตกวิจาร.
               อนึ่ง ยังละวิตกวิจารในอุปจาระแห่งทุติยฌานไม่ได้เลย ดังนั้น โทมนัสสินทรีย์นั้นพึงเกิดขึ้นในทุติยฌานนั้น เพราะยังละปัจจัยไม่ได้ แต่ในทุติยฌานนั้นไม่ใช่อย่างนั้น เพราะละปัจจัยได้ สุขินทรีย์แม้ที่ละได้ในอุปจาระแห่งตติยฌาน ก็อย่างนั้นพึงเกิดขึ้นแก่กายที่มีปีติเป็นสมุฏฐานและรูปอันประณีตถูกต้องแล้ว แต่ในตติยฌานไม่ใช่อย่างนั้น.
               ด้วยว่า ปีติที่เป็นปัจจัยแก่สุขในตติยฌาน ดับโดยประการทั้งปวงแล โสมนัสสินทรีย์แม้ที่ละได้ในอุปจาระแห่งจตุตถฌานก็อย่างนั้น พึงเกิดขึ้นเพราะใกล้ และเพราะไม่ก้าวล่วงแล้วโดยชอบ เพราะไม่มีอุเบกขาที่ถึงอัปปนา แต่ในจตุตถฌานไม่ใช่อย่างนั้น.
               ก็เพราะฉะนั้นแล ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นในจตุตถฌานนี้จึงดับไม่เหลือ ดังนั้น ท่านจึงกระทำการถือเอาว่าไม่เหลือไว้ในฌานนั้นๆ แล.
               ในเรื่องนี้มีผู้ท้วงว่าเมื่อเป็นอย่างนั้น เวทนาเหล่านี้แม้ละได้แล้วในอุปจาระแห่งฌานนั้นๆ เหตุไรจึงนำมารวมไว้ในที่นี้.
               แก้ว่า เพื่อถือเอาสะดวก.
               ก็อทุกขมสุขเวทนาที่ท่านกล่าวว่า อทุกฺขมสุขํ นี้ใด อทุกขมสุขเวทนานั้นสุขุม รู้แจ้งได้ยาก ใครๆ ไม่อาจที่จะถือเอาโดยสะดวก. เพราะฉะนั้น จึงนำเวทนาเหล่านี้ทั้งหมดมารวมไว้ เพื่อถือเอาสะดวก เหมือนคนเลี้ยงโคนำโคทั้งหมดมารวมไว้ในคอกแห่งหนึ่ง เพื่อจะจับโคดุที่ใครๆ ไม่อาจจะเข้าไปจับได้ด้วยวิธีไรๆ ครั้นแล้วเขานำโคออกทีละตัว ให้คนจับโคดุตัวนั้นที่มาตามลำดับ ด้วยคำว่า ตัวนี้คือโคดุตัวนั้น พวกท่านจงจับมันฉะนั้นแล. ครั้นแสดงเวทนาเหล่านี้ที่นำมารวมไว้อย่างนี้แล้วก็อาจที่จะถือเอาเวทนานี้ที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่โสมนัส ไม่ใช่โทมนัส ว่านี้คืออทุกขมสุขเวทนา.
               อีกอย่างหนึ่ง เวทนาเหล่านี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงปัจจัยแก่เจโตวิมุตติอันเป็นอทุกขมสุข.
               ก็การละสุขทุกข์เป็นต้นเป็นปัจจัยแก่เจโตวิมุตตินั้น เหมือนอย่างที่กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส ปัจจัยเพื่อการเข้าถึงเจโตวิมุตติที่เป็นอทุกขมสุข มี ๔ แล ดูก่อนอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุข ฯลฯ เข้าจตุตถฌานอยู่ ดูก่อนอาวุโส ปัจจัย ๔ เหล่านี้แลเพื่อการเข้าถึงเจโตวิมุตติที่เป็นอทุกขมสุขดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง สักกายทิฏฐิเป็นต้นแม้ที่ละได้ในที่อื่น ท่านก็กล่าวว่าละได้ในฌานนั้น เพื่อกล่าวสรรเสริญตติยมรรค๑- ฉันใด เวทนาเหล่านี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อกล่าวสรรเสริญฌานนั้นฉันนั้น.
____________________________
๑- อนาคามิมรรค

               อีกอย่างหนึ่ง เวทนาเหล่านี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวแม้เพื่อแสดงว่าราคะและโทสะอยู่ไกลยิ่ง ในฌานนี้ด้วยการกำจัดปัจจัย.
               ด้วยว่าในเวทนาเหล่านี้ สุขเป็นปัจจัยแก่โสมนัส โสมนัสเป็นปัจจัยแก่ราคะ ทุกข์เป็นปัจจัยแก่โทมนัส โทมนัสเป็นปัจจัยแก่โทสะและราคะ โทสะที่มีปัจจัยก็ถูกกำจัดด้วยการทำลายความสุขเป็นต้นเสีย ดังนั้นจึงมีอยู่ในที่ไกลยิ่ง ฉะนี้แล.
               บทว่า อทุกฺขมสุขํ ความว่า ชื่อว่าไม่มีทุกข์ เพราะความไม่มีแห่งทุกข์ ชื่อว่าไม่มีสุข เพราะความไม่มีแห่งสุข.
               ด้วยบทนี้ ท่านแสดงตติยเวทนาซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์สุข ในฌานนี้ มิใช่แสดงเพียงความไม่มีทุกข์สุข, อทุกขมสุขที่ชื่อว่าตติยเวทนา ท่านเรียกว่าอุเบกขาก็มี. อุเบกขานั้นพึงทราบว่ามีความเสวยอารมณ์ที่ตรงกันข้ามกับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นกลางในอารมณ์เป็นรส มีความไม่เด่นชัดเป็นปัจจุปปัฏฐาน มีความดับแห่งสุขทุกข์เป็นปทัฏฐาน.
               บทว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ ได้แก่ มีความบริสุทธิ์แห่งสติที่ให้เกิดด้วยอุเบกขา.
               ก็สติในฌานนี้บริสุทธิ์ดี และความบริสุทธิ์แห่งสตินั้นกระทำด้วยอุเบกขา มิใช่ด้วยอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ฌานนี้ท่านจึงเรียกว่ามีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์แห่งสติในฌานนี้ มีด้วยอุเบกขาใด อุเบกขานั้นพึงทราบว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา โดยความ.
               อนึ่ง มิใช่ด้วยอุเบกขานั้นอย่างเดียวที่เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ในฌานนี้ ยังมีสัมปยุตธรรมแม้ทั้งปวงด้วย แต่ท่านยกสติขึ้นแสดงเป็นข้อสำคัญ.
               ในฌานเหล่านั้น อุเบกขานี้มีอยู่ในฌานทั้ง ๓ หลังๆ กันจริง ก็เหมือนอย่างว่าดวงจันทร์ถึงมีอยู่ในกลางวัน ก็ไม่บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะถูกรัศมีดวงอาทิตย์ครอบงำ และเพราะไม่ได้ราตรี ซึ่งเป็นสภาคะกันโดยความเป็นดวงจันทร์หรือโดยเป็นอุปการะแก่ตนฉันใด ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเปกขานี้ก็ฉันนั้น ถึงมีอยู่ก็ไม่บริสุทธิ์ในประเภทแห่งปฐมฌานเป็นต้น เพราะถูกเดชแห่งธรรมที่เป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นครอบงำ และเพราะไม่ได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาซึ่งเป็นสภาคะกัน.
               อนึ่ง เมื่ออุเบกขานั้นไม่บริสุทธิ์ สติเป็นต้นแม้เกิดร่วมกัน ก็ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เหมือนรัศมีแห่งดวงจันทร์ไม่บริสุทธิ์ในกลางวัน ฉะนั้น เพราะฉะนั้นจึงมิได้กล่าวในฌานเหล่านั้น แม้ฌานเดียวว่ามีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์. แต่ในจตุตถฌานนี้ ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเปกขานี้บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะไม่มีเดชแห่งธรรมที่เป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นครอบงำ และเพราะได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนา ซึ่งเป็นสภาคะกัน.
               สติเป็นต้นแม้ที่เกิดร่วมกัน ย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะตัตรมัชฌัตตุเปกขานั้นบริสุทธิ์ เหมือนรัศมีแห่งดวงจันทร์บริสุทธิ์ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จตุตถฌานนี้เท่านั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวว่ามีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์.
               บทว่า จตุตฺถํ ความว่า ที่ ๔ โดยลำดับการนับ ฌานนี้ชื่อว่าจตุตถะ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นเป็นที่ ๔ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ปญฺญวา โหติ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา เพราะอรรถว่าปัญญาของภิกษุนั้นมีอยู่.
               บทว่า อุทยตฺถคามินิยา ได้แก่ เครื่องให้ถึงความเกิดด้วยเครื่องให้ถึงความดับด้วย.
               บทว่า สมนฺนาคโต ได้แก่ บริบูรณ์.
               บทว่า อริยาย ได้แก่ ปราศจากโทษ.
               บทว่า นิพฺเพธิกาย ได้แก่ เป็นไปในฝักใฝ่แห่งการชำแรกกิเลส
               บทว่า ทุกฺขกฺขยคามินิยา ได้แก่ เครื่องให้ถึงนิพพาน.
               ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า โส อิทํ ทุกฺขํ ดังนี้ พึงทราบความอย่างนี้ว่า
               ย่อมรู้ชัด คือแทงตลอดทุกขสัจแม้ทั้งปวงตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า ทุกข์มีประมาณเท่านี้ ทุกข์ไม่ยิ่งไปกว่านี้, ย่อมรู้ชัด คือแทงตลอดตัณหาซึ่งเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์นั้นตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์, ย่อมรู้ชัด คือแทงตลอดนิพพานซึ่งเป็นฐานะที่ทุกข์และทุกขสมุทัยทั้ง ๒ นั้นถึงแล้วดับไป คือทุกข์และทุกขสมุทัยทั้ง ๒ นั้นเป็นต้นไปไม่ได้ ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า นี้ความดับแห่งทุกข์, และย่อมรู้ชัด คือแทงตลอดอริยมรรคเครื่องให้ถึงความดับแห่งทุกข์นั้น ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า นี้ปฏิปทาเครื่องดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์.
               พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงสัจจะทั้งหลายโดยย่ออย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงโดยปริยายด้วยสามารถแห่งกิเลส จึงกล่าวคำว่า อิเม อาสวา ดังนี้เป็นต้น.
               อาสวะเหล่านั้นพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว.
               พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงสิกขา ๓ อย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงลำดับสิกขา ๓ เหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ จึงกล่าวคำว่า อิมา ติสฺโส สิกฺขาโย อาวชฺชนฺโต สิกฺเขยฺย ดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นมีความดังต่อไปนี้ :-
               สัตว์ผู้เกิดมาแม้เมื่อนึกถึงพึงศึกษาเพื่อให้บริบูรณ์เป็นอย่างๆ ครั้นนึกถึงแล้ว เมื่อรู้ว่า สิกขาชื่อนี้พึงศึกษา, ครั้นรู้แล้ว เมื่อเห็นอยู่บ่อยๆ พึงศึกษา. ครั้นเห็นแล้ว เมื่อพิจารณาตามที่เห็นแล้ว พึงศึกษา, ครั้นพิจารณาแล้ว เมื่ออธิษฐานจิตให้มั่นในสิกขา ๓ นั้นแล พึงศึกษา, แม้เมื่อกระทำกิจของตนๆ ที่สัมปยุตด้วยสิกขานั้นๆ ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พึงศึกษา, เมื่อกระทำกิจนั้นๆ แม้ในกาลเป็นที่รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ชื่อว่าพึงศึกษาสิกขา ๓ ดังนี้. พึงประพฤติเอื้อเฟื้ออธิศีล, พึงประพฤติเอื้อเฟื้ออธิจิต, พึงสมาทานประพฤติอธิปัญญา,
               บทว่า อิธ เป็นบทเดิม.
               คำสอนของพระสัพพัญญูพุทธเจ้ากล่าวคือไตรสิกขานั่นแล พระสารีบุตรเถระกล่าวแล้วด้วยบท ๑๐ บท มีบทว่า อิมิสฺสา ทิฏฺฐิยา เป็นต้น. ก็คำสอนนั้น ท่านเรียกว่าทิฏฐิ เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว.
               คำสอนนั้นแล ท่านเรียกว่าขันติ ด้วยสามารถความอดกลั้น, เรียกว่ารุจิ ด้วยสามารถความชอบใจ, เรียกว่าอาทายะ ด้วยสามารถความยึดถือ, เรียกว่าธรรม ด้วยอรรถว่าสภาวะ, เรียกว่าวินัย ด้วยอรรถว่าพึงศึกษา, เรียกว่าธรรมวินัย แม้ด้วยเหตุทั้ง ๒ นั้น, เรียกว่าปาพจน์ ด้วยสามารถเป็นไปทั่ว, เรียกว่าพรหมจรรย์ ด้วยอรรถว่าประพฤติธรรมอันประเสริฐ, เรียกว่าสัตถุศาสน์ ด้วยสามารถประทานคำพร่ำสอน.
               เพราะเหตุนั้น ในบทว่า อิมิสฺสา ทิฏฺฐิยา เป็นต้น พึงทราบความอย่างนี้ว่า ในพุทธธรรมวินัยนี้ ในพุทธปาพจน์นี้ ในพุทธพรหมจรรย์นี้ ในพุทธสัตถุศาสน์นี้ ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนโคตมี ในพุทธทิฏฐินี้ ในพุทธขันตินี้ ในพุทธรุจินี้ ในพุทธอาทายะนี้ ในพุทธธรรมนี้ ในพุทธวินัยนี้ เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อมีกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด. เป็นไปเพื่อความประกอบ ไม่เป็นไปเพื่อคลายความประกอบ, เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากความสะสม, เป็นไปเพื่อความยึดมั่น ไม่เป็นไปเพื่อความสละวาง, เป็นไปด้วยความมักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความมักน้อย, เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ, เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด, เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารถนาความเพียร, เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงง่าย.
               ดูก่อนโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียว ว่านั้นใช่ธรรม, นั้นไม่ใช่วินัย, นั้นไม่ใช่สัตถุศาสน์ดังกล่าวมาแล้วนี้.
               ดูก่อนโคตมี อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อมีกำหนัด, ฯลฯ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงง่าย.
               ดูก่อนโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่านั่นเป็นธรรม, นั่นเป็นวินัย, นั่นเป็นสัตถุศาสน์.
               อีกอย่างหนึ่ง คำสอนทั้งสิ้นกล่าวคือไตรสิกขานั้น ชื่อว่าทิฏฐิ เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว เพราะเป็นปัจจัยแก่สัมมาทิฏฐิและทรงมีสัมมาทิฏฐิเป็นประธาน, ชื่อว่าขันติ ด้วยสามารถความควรของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ชื่อว่ารุจิ ด้วยสามารถความชอบใจ. ชื่อว่าอาทายะ ด้วยสามารถยึดถือ, ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่าทรงการกของตนไม่ให้ตกไปในอบายทั้งหลาย, ชื่อว่าวินัย เพราะอรรถว่ากำจัดฝ่ายสังกิเลสของธรรมนั้นนั่นแล. ชื่อว่าธรรมวินัย เพราะอรรถว่าเป็นธรรมด้วยเป็นวินัยด้วย. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธรรมวินัย เพราะอรรถว่ากำจัดอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยกุศลธรรม.
               เพราะเหตุนั้นแหละจึงตรัสว่า เย จ โข ตฺวํ โคตมิ ธมฺเม ชาเนยฺยาสิ อิเม ธมฺมา วิราคาย ฯเปฯ เอกํเสน โคตมิ ชาเนยฺยาสิ เอโส ธมฺโม เอโส วินโย เอตํ สตฺถุสาสน์ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธรรมวินัย เพราะอรรถว่านำไปให้วิเศษด้วยธรรม มิใช่ด้วยอาชญา เป็นต้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                         คนบางพวกฝึกด้วยท่อนไม้ ด้วยขอ และด้วยแส้ทั้งหลาย
               พระผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ทรงฝึกผู้ประเสริฐ มิใช่ด้วยอาชญา
               มิใช่ด้วยศัสตรา.

               และว่า
                         สำหรับผู้ฝึกโดยธรรม ผู้รู้แจ้งอยู่จะต้องขะมักเขม้นอะไร.

               ธรรมหรือวินัย ชื่อธรรมวินัย. ความจริง ธรรมนี้นำไปให้วิเศษซึ่งประโยชน์คือธรรมอันหาโทษมิได้ มิใช่นำประโยชน์มีโภคสมบัติในภพเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้มิใช่เพื่อหลอกลวงประชาชน. ความพิสดารว่า แม้พระปุณณเถระก็กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวินัย เพราะอรรถว่านำไปให้ประเสริฐ นำไปให้ประเสริฐโดยธรรม ชื่อว่าธรรมวินัย. จริงอยู่ ธรรมวินัยนี้ย่อมนำไปสู่นิพพานอันประเสริฐ จากธรรมมีสังสารวัฏเป็นต้น หรือจากธรรมมีความโศกเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธรรมวินัย เพราะอรรถว่านำไปให้วิเศษเพื่อธรรม มิใช่เพื่อพวกเจ้าลัทธิทั้งหลาย. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นโดยธรรม นำไปให้วิเศษซึ่งธรรมนั้นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะธรรมทั้งหลายนั้นแล เป็นธรรมควรรู้ยิ่ง ควรกำหนดรู้ ควรละ ควรเจริญและควรทำให้แจ้ง ฉะนั้นแล จึงชื่อว่า ธรรมวินัย เพราะอรรถว่า นำไปให้วิเศษในธรรมทั้งหลาย มิใช่ในสัตว์และมิใช่ในชีวะทั้งหลาย.
               ชื่อว่าปวจนะ เพราะอรรถว่าคำเป็นประธานโดยคำของชนเหล่าอื่น ด้วยความพร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะเป็นต้น คำเป็นประธานนั้นแหละ คือปวาจนะ.
               ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะเป็นความประพฤติประเสริฐกว่าความประพฤติทั้งปวง.
               ชื่อว่าสัตถุศาสน์ เพราะอรรถว่าเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, หรือชื่อว่าสัตถุศาสน์ เพราะอรรถว่าคำสอนเป็นศาสดา ดังนี้ก็มี.
               จริงอยู่ ธรรมวินัยนั้นแลชื่อว่าเป็นศาสดา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงไปแล้ว พึงทราบความของบทเหล่านั้นอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เพราะภิกษุผู้บำเพ็ญสิกขา ๓ โดยประการทั้งปวง ย่อมปรากฏในศาสนานี้เท่านั้น ไม่ปรากฏในศาสนาอื่น ฉะนั้น ท่านจึงทำกำหนดนี้ว่า อิมิสฺสา และ อิมสฺมึ ในบทนั้นๆ พึงทราบดังนี้.
               ชื่อว่าชีวิต เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเป็นอยู่แห่งสัมปยุตธรรมนั้นๆ ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าให้กระทำอรรถว่าเป็นใหญ่ในลักษณะตามรักษา. อินทรีย์คือชีวิต ชื่อว่าชีวิตินทรีย์. ชีวิตินทรีย์นั้นมีสันติเป็นใหญ่ในความเป็นไป, ก็ชีวิตินทรีย์นั้นมีการรักษาธรรมที่แยกจากตนไม่ได้โดยลักษณะเป็นต้นเป็นลักษณะ, มีความเป็นไปแห่งธรรมเหล่านั้นเป็นรส, มีความตั้งอยู่แห่งธรรมเหล่านั้นแหละเป็นปัจจุปัฏฐาน, มีธรรมที่พึงยังชีวิตให้เป็นไปเป็นปทัฏฐาน,
               ก็แม้เมื่อการทรงไว้มีการตามรักษาเป็นลักษณะเป็นต้นมีอยู่ ชีวิตินทรีย์นั้นย่อมตามรักษาธรรมเหล่านั้นในขณะมีอยู่นั่นแล ดุจน้ำตามรักษาดอกอุบลเป็นต้น, และย่อมรักษาธรรมแม้ที่เกิดขึ้นแล้วจากปัจจัยทั้งหลายตามที่เป็นของตน ดุจพี่เลี้ยงรักษากุมาร, ย่อมเป็นไปด้วยความเกี่ยวเนื่องธรรมที่ให้เป็นไปเองดุจนายท้ายยังเรือให้แล่นไป ไม่เป็นไปล่วงภังคขณะ เพราะไม่มีธรรมที่พึงให้เป็นไปของตน ไม่ตั้งอยู่ในภังคขณะ เพราะทำลายอยู่เอง ดุจไส้ตะเกียงน้ำมัน เมื่อสิ้นไป ย่อมยังเปลวประทีปให้สิ้นไปฉะนั้น, และไม่เว้นจากอานุภาพแห่งความเป็นไปและความตั้งอยู่ เพราะยังสำเร็จกิจนั้นๆ ในขณะตามที่กล่าวแล้ว พึงเห็นดังนี้.
               บทว่า ฐิติปริตฺตตาย วา ได้แก่ เพราะฐิติขณะน้อยคือหน่อยหนึ่ง.
               บทว่า อปฺปกํ ได้แก่ น้อย คือลามก.
               บทว่า สรสปริตฺตาย วา ได้แก่ เพราะกิจหรือสมบัติทั้งหลายซึ่งเป็นปัจจัยของตน น้อยคือมีกำลังน้อย เพื่อจะแสดงเหตุทั้ง ๒ นั้นเป็นส่วนๆ พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า กถํ ฐิติปริตฺตตาย เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทมีอาทิอย่างนี้ว่า อตีเต จิตฺตกฺขเณ ชีวิตฺถ ดังนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงอรูปชีวิต โดยความที่อรูป เป็นประธานโดยรูป แม้เมื่อรูปธรรมทั้งหมดยังไม่ดับ ในกาลเป็นที่ดับแห่งจิตในความเป็นไปในปัญจโวการภพ หรือหมายถึงจุติจิตในปัญจโวการภพ โดยความดับแห่งรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งปวงกับจุติจิต หรือหมายถึงจตุโวการภพเพราะความไม่มีแห่งรูปในจตุโวการภพ.
               บทว่า อตีเต จิตฺตกฺขเณ ความว่า บุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยชีวิตนั้น กล่าวได้ว่าเป็นอยู่แล้ว ในกาลที่มีความพร้อมเพรียงด้วยภังคขณะแห่งจิตเป็นอดีต.
               บทว่า น ชีวติ ความว่า กล่าวไม่ได้ว่า เป็นอยู่ในปัจจุบัน.
               บทว่า น ชีวิสฺสติ ความว่า แม้จะกล่าวว่าจักเป็นอยู่ในอนาคต ก็ไม่ได้.
               บทว่า อนาคเต จิตฺตกฺขเณ ชีวิสฺสติ ความว่า กล่าวได้ว่าจักเป็นอยู่ ในกาลที่มีความพร้อมเพรียง ด้วยขณะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งจิตเป็นอนาคต.
               บทว่า น ชีวติ ความว่า กล่าวไม่ได้ว่าเป็นอยู่.
               บทว่า น ชีวิตฺถ ความว่า แม้จะกล่าวว่าเคยเป็นอยู่แล้วในอดีต ก็ไม่ได้.
               บทว่า ปจฺจุปฺปนฺเน จิตฺตกฺขเณ ชีวติ ความว่า กล่าวได้ว่าเป็นอยู่ในกาลที่มีความพร้อมด้วยขณะแห่งจิตเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า น ชีวิตฺถ ความว่า กล่าวไม่ได้ว่าเคยเป็นอยู่แล้วในอดีต.
               บทว่า น ชีวิสฺสติ ความว่า แม้จะกล่าวว่าจักเป็นอยู่ในอนาคต ก็ไม่ได้.
               คาถานี้ว่า ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ ดังนี้ ท่านกล่าวหมายเอาปัญจโวการภพนั่นแล เพราะถูกทุกขเวทนาที่ได้มาเพราะยังไม่พ้นปัญจโวการภพยึดไว้. อย่างไร?
               บทว่า ชีวิตํ ได้แก่ สังขารขันธ์โดยหัวข้อคือชีวิต.
               บทว่า อตฺตภาโว ได้แก่ รูปขันธ์.
               สุขและทุกข์กระทำอุเบกขาเวทนาไว้ภายใน ดังนั้นจึงชื่อว่า เวทนาขันธ์ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า อุเบกขา ท่านกล่าวว่า สุข นั่นเทียวเพราะมีอยู่.
               วิญญาณขันธ์ ท่านกล่าวว่า จิต.
               แม้สัญญาขันธ์ ก็พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้แล้วด้วยสามารถแห่งการมุ่งลักษณะ เพราะมีลักษณะเดียวกันกับลักษณะแห่งขันธ์ เพราะขันธ์ ๔ เหล่านี้ ท่านได้กล่าวไว้แล้วแล.
               ความเป็นประธานแห่งอรูปธรรม ย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้วว่า เอกจิตฺตสมายุตฺตา เพราะความไม่เป็นไปแห่งรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้น ซึ่งพ้นอรูปธรรมในขันธ์ ๕ ที่กล่าวแล้วอย่างนี้.
               แม้รูปในอสัญญีสัตว์ ย่อมเป็นไปไม่พ้นกำลังกรรมที่เข้าไปสั่งสมไว้ในที่นี้ อย่างไร? แม้รูปของผู้เข้านิโรธทั้งหลายก็เป็นไปไม่พ้นกำลังแห่งปฐมสมาบัติเลย.
               ความเป็นประธานแห่งจิตพึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้วว่า เอกจิตฺตสมายุตฺตา ด้วยความเป็นเหตุแห่งประธานของความเป็นไปแห่งรูป ในฐานะที่เป็นไปแห่งตนของอรูปธรรมซึ่งมีสภาวะกระทำความเป็นไปแห่งรูป ให้เป็นของมีอยู่ของตนทีเดียวเป็นไป แม้ในฐานะที่เป็นไปไม่ได้ของตนอย่างนี้. เมื่อรูปยังดำรงอยู่นั่นแล ชื่อว่า ความดับของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้ด้วยความดับแห่งจิตที่เป็นประธานของความเป็นไปแห่งรูป ในปวัตติกาล ในปัญจโวการภพ ด้วยประการฉะนี้. ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ลหุโส วตฺตเต ขโณ ด้วยสามารถแห่งอรูปธรรมนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายจุติจิตในปัญจโวการภพ.
               เมื่อท่านกล่าวอยู่อย่างนี้ บทว่า สุขทุกฺขา จ ได้แก่ สุขเวทนาที่เป็นไปทางกายและทางจิต และทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและทางจิต. แม้ไม่มีอยู่ในขณะแห่งจุติจิต ท่านก็กล่าวว่า ย่อมดับพร้อมกับจุติจิต ด้วยมีสันตติร่วมกัน. พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงจตุโวการภพก็มี. สัญญาขันธ์ท่านถือเอาว่า อัตภาพ ด้วยความที่ท่านกล่าวสัญญาขันธ์ว่า อัตภาพในที่อื่น. อย่างไร? สุข ทุกข์ และโทมนัสทางกายแม้ไม่มีในพรหมโลก ก็พึงทราบว่า ท่านถือเอาเวทนาขันธ์ที่ได้โดยเวทนาสามัญว่า สุขทุกฺขา จ ดังนี้
               บทที่เหลือ เช่นกับที่กล่าวแล้วนั่นแล, รวมทั้งในวิกัป ๓ เหล่านี้ด้วย.
               บทว่า เกวลา ความว่า ไม่มีความยั่งยืน ความสุขและความงามทั้งสิ้น คือไม่เจือปนด้วยความยั่งยืน ความสุขและความงามเหล่านั้น. ขณะแห่งชีวิตเป็นต้น เร็วคือนิดหน่อยเหลือเกิน เพราะเป็นไปชั่วขณะจิตเดียว ย่อมเป็นไปโดยนัยที่กล่าวแล้วว่า ลหุโส วตฺตติกฺขโณ.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงความไม่เป็นไปร่วมกันของจิต ๒ ดวง จึงกล่าวคาถาว่า จูฬาสีติ สหสฺสานิ เป็นต้น.
               บทว่า จูฬาสีติ สหสฺสานิ กปฺปา ติฏฺฐนฺติ เย มรู ความว่า หมู่เทพเหล่าใดมีอายุแปดหมื่นสี่พันกัป ย่อมตั้งอยู่ในภพชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ. บาลีว่า เย นรา ดังนี้ก็มี.
               บทว่า น เตวฺว เตปี ชีวนฺติ ทฺวีหิ จิตฺเตหิ สมาหิตา ความว่า เทพแม้เหล่านั้นย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวงโดยความเป็นอันเดียวกัน เป็นอยู่ด้วยจิตที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นคู่ หามิได้เลย แต่ย่อมเป็นอยู่ด้วยจิตดวงเดียวเท่านั้น.
               บัดนี้พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงมรณกาล จึงกล่าวคาถาว่า เย นิรุทฺธา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย นิรุทฺธา ความว่า ขันธ์เหล่าใดดับแล้ว คือถึงซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้.
               บทว่า มรนฺตสฺส ได้แก่ ตายแล้ว.
               บทว่า ติฏฺฐมานสฺส วา ได้แก่ หรือยังดำรงอยู่.
               บทว่า สพฺเพปิ สทิสา ขนฺธา ความว่า ขันธ์แม้ทั้งปวงเป็นขันธ์ที่ดับต่อจากจุติก็ตาม เป็นขันธ์ที่ดับในเมื่อเป็นไปก็ตาม ชื่อว่าเป็นเช่นเดียวกัน ด้วยอรรถว่าอาจที่จะสืบต่อได้อีก.
               บทว่า คตา อปฺปฏิสนฺธิกา ความว่า ขันธ์เหล่านั้นท่านกล่าวว่า ดับไปแล้ว มิได้สืบเนื่องกัน เพราะไม่มีขันธ์ที่ดับแล้วมาสืบเนื่องอีก.
               บัดนี้พระสารีบุตรเถระเพื่อจะแสดงว่า ขันธ์ที่ดับในกาลทั้ง ๓ ไม่มีความต่างกัน จึงกล่าวคาถาว่า อนนฺตรา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนนฺตรา จ เย ภงฺคา เย จ ภงฺคา อนาคตา ความว่า ขันธ์เหล่าใดเป็นอดีตติดต่อกัน แตกแล้วคือดับแล้ว และขันธ์เหล่าใด เป็นอนาคตก็จักแตก.
               บทว่า ตทนฺตเร ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งดับในระหว่างขันธ์ที่เป็นอดีตและขันธ์ที่เป็นอนาคตเหล่านั้น.
               บทว่า เวสมฺมํ นตฺถิ ลกฺขเณ ความว่า ความไม่เสมอกันชื่อว่าความแปลกกัน ความแปลกกันนั้นไม่มี.
               อธิบายว่า ไม่มีความต่างกันจากขันธ์เหล่านั้น.
               ชื่อว่าลักษณะ เพราะอรรถว่ากำหนดในลักษณะนั้น.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะกล่าวความที่ขันธ์ที่เป็นอนาคต ไม่เจือปนด้วยขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน จึงกล่าวคาถาว่า อนิพฺพตฺเตน น ชาโต เป็นต้น.
               บทว่า อนิพฺพตฺเตน น ชาโต ความว่า ไม่เกิดแล้วด้วยขันธ์ที่เป็นอนาคต ซึ่งยังไม่เกิดคือไม่ปรากฏ พระเถระกล่าวถึงความที่ขันธ์ที่เป็นอนาคต ไม่เจือปนด้วยขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน.
               บทว่า ปจฺจุปฺปนฺเนน ชีวติ ความว่า ย่อมเป็นอยู่ด้วยขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ในขันธ์ที่เกิดขึ้นในขณะ ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวว่า ย่อมไม่เป็นอยู่ด้วยจิต ๒ ดวงในขณะเดียวกัน.
               บทว่า จิตฺตภงฺคมโต ความว่า ตายแล้วเพราะความดับแห่งจิต เพราะความเป็นอยู่ไม่ได้ด้วยจิต ๒ ดวงในขณะเดียวกัน บาลีว่า อุปริโต จิตฺตภงฺคา ดังนี้ก็มี. บทบาลีนั้นตรงทีเดียว.
               บทว่า ปญฺญตฺติ ปรมฏฺฐิยา ความว่า เพียงเป็นบัญญัติตามลำดับ.
               คำว่า รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมเสื่อมโทรม แต่ชื่อและโคตรหาเสื่อมโทรมไม่ ชื่อว่าโดยปรมัตถ์ เพราะอรรถว่ามีความตั้งมั่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสภาพไม่เสื่อมโทรม.
               อธิบายว่า ตั้งมั่นโดยสภาวะ.
               ความจริง ตั้งอยู่เพียงบัญญัติเท่านั้นว่า นายทัตตาย นายมิตรตาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปรมตฺถิยา ได้แก่ เป็นปรมัตถ์ บัญญัติชื่อว่าปรมัตถิกา เพราะอรรถว่ามีอรรถอย่างยิ่ง บัญญัติว่าตายแล้วมิได้ กล่าวเพราะอาศัยนัตถิธรรม ดุจการกล่าวอาศัยนัตถิธรรม โดยบัญญัติว่า อชฎากาศ-ท้องฟ้า ท่านกล่าวอาศัยธรรม กล่าวคือความแตกแห่งชีวิตินทรีย์.
               บทว่า อนิธานคตา ภงฺคา ความว่า ขันธ์เหล่าใดแตกแล้ว ขันธ์เหล่านั้นย่อมไม่ถึงความทรงอยู่คือการตั้งอยู่ ดังนั้นจึงชื่อว่ามิได้ถึงความตั้งอยู่.
               บทว่า ปุญฺโช นตฺถิ อนาคเต ความว่า ความเป็นกลุ่มคือความเป็นกอง แห่งขันธ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีแม้ในอนาคต.
               บทว่า นิพฺพตฺตาเยว ติฏฺฐนฺติ ความว่า ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน เป็นขันธ์ที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ย่อมตั้งอยู่ในฐิติขณะแห่งขันธ์ปัจจุบันนั้น. เหมือนอะไร?
               บทว่า อารคฺเค สาสปูปมา ความว่าเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงความพินาศของขันธ์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาว่า นิพฺพตฺตานํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิพฺพตฺตานํ ธมฺมานํ ได้แก่ ขันธ์ปัจจุบัน.
               บทว่า ภงฺโค เนสํ ปุรกฺขโต ความว่า ความแตกแห่งขันธ์เหล่านั้น ตั้งอยู่ข้างหน้า.
               บทว่า ปโลกธมฺมา ได้แก่ ธรรมที่มีความพินาศเป็นสภาวะ.
               บทว่า ปุราเณหิ อมิสฺสิตา ความว่า ไม่เจือปน คือไม่เกี่ยวข้องด้วยขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในก่อน.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงความไม่ปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาว่า อทสฺสนโต อายนฺติ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทสฺสนโต อายนฺติ ความว่า มาคือเกิดขึ้น ไม่ปรากฏเลย.
               บทว่า ภงฺคา คจฺฉนฺติทสฺสนํ ความว่า แตกแล้วก็ไปสู่ความไม่ปรากฏ ต่อจากที่แตก.
               บทว่า วิชฺชุปฺปาโทว อากาเส ได้แก่ ดุจสายฟ้าแลบในอากาศกลางแจ้ง.
               บทว่า อุปฺปชฺชนฺติ วยนฺติ จ ความว่า ย่อมเกิดขึ้นและย่อมแตกไป พ้นเบื้องต้นและที่สุด. อธิบายว่า พินาศ ดุจในข้อความมีอาทิอย่างนี้ว่า ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงลอยอยู่ ฉะนั้น.
               ครั้นแสดงความตั้งอยู่เพียงเล็กน้อยอย่างนี้แล้ว บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงความมีกิจน้อย จึงกล่าวคำว่า กถํ สรสปริตฺตตาย เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสาสูปนิพทฺธํ ชีวิตํ ความว่า ชีวิตินทรีย์ที่เนื่องด้วยลมนาสิกที่เข้าไปภายใน.
               บทว่า ปสฺสาโส ได้แก่ ลมนาสิกที่ออกภายนอก.
               บทว่า อสฺสาสปสฺสาสา ได้แก่ ทั้งสองนั้น.
               บทว่า มหาภูตูปนิพทฺธํ ความว่า ชีวิตเนื่องด้วยมหาภูตรูป คือดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีสมุฏฐาน ๔.
               บทว่า กวฬิงฺการาหารูปนิพทฺธํ ได้แก่ เนื่องด้วยอาหารคือคำข้าวมีเครื่องบริโภคและเครื่องดื่มเป็นต้น.
               บทว่า อุสฺมูปนิพทฺธํ ได้แก่ เนื่องด้วยเตโชธาตุ อันเกิดแต่กรรม.
               บทว่า วิญฺญาณูปนิพทฺธํ ได้แก่ เนื่องด้วยวิญญาณในภวังค์คือเนื่องด้วยภวังคจิต, ที่ท่านมุ่งหมายกล่าวไว้ว่า อายุ ไออุ่นและวิญญาณ ย่อมละลายนี้ไปในกาลใด ดังนี้.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงเหตุให้มีกำลังทรามของธรรมเหล่านั้น จึงกล่าวคำว่า มูลมฺปิ อิเมสํ ทุพฺพลํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มูลมฺปิ ความว่า ชื่อว่าแม้เป็นเหตุเดิม ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง.
               จริงอยู่ กรชกายเป็นเหตุเดิมแห่งลมหายใจเข้าและลมหลายใจออก อวิชชา กรรม ตัณหาและอาหารเป็นเหตุเดิมแห่งมหาภูตรูป.
               บทว่า อิเมสํ ได้แก่ ลมหายใจเข้าเป็นต้น ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว คือที่กล่าวแล้วด้วยสามารถแห่งเหตุที่เนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ บรรดาลมหายใจเข้าเป็นต้นเหล่านั้น เมื่ออย่างหนึ่งๆ ไม่มีชีวิตินทรีย์ก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้.
               บทว่า ทุพฺพลํ ได้แก่ มีกำลังน้อย.
               บทว่า ปุพฺพเหตูปิ ความว่า แม้อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทานและภพ กล่าวคือเหตุ ซึ่งเป็นเหตุแห่งวิปากวัฏนี้ในอดีตชาติ แห่งลมหายใจเข้าเป็นต้นเหล่านี้ มีกำลังทราม.
               บทว่า เยปิ ปจฺจยา เตปิ ทุพฺพลา ได้แก่ สาธารณปัจจัยมีอารัมณปัจจัยเป็นต้น.
               บทว่า ปภวิกา ได้แก่ ตัณหาที่เป็นประธานเกิดขึ้น.
               บทว่า สหภูปิ ได้แก่ รูปธรรมและอรูปธรรม แม้ที่ร่วมภพกัน.
               บทว่า สมฺปโยคาปิ ได้แก่ อรูปธรรมแม้ที่ประกอบร่วมกัน
               บทว่า สหชาปิ ได้แก่ แม้เกิดขึ้นด้วยกันในจิตดวงเดียว.
               บทว่า ยาปิ ปโยชิกา ได้แก่ ตัณหาที่เป็นมูลแห่งวัฏฏะ.
               ชื่อว่าปโยชิกา เพราะอรรถว่าประกอบเข้าแล้ว เพื่อที่จะประกอบด้วยสามารถแห่งจุติและปฏิสนธิ. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า บุรุษมีตัณหาเป็นที่ ๒.
               บทว่า นิจฺจทุพฺพลา ได้แก่ มีกำลังทรามโดยไม่มีระหว่าง.
               บทว่า อนวฏฺฐิตา ได้แก่ ไม่ตั้งลง คือไม่น้อมลงตั้งอยู่.
               บทว่า ปริปาตยนฺติ อิเม ความว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมยังกันและกันให้ตกไป คือซัดไป.
               บทว่า อญฺญมญฺญสฺส ได้แก่ แก่กันและกัน ความว่า ๑ ต่อ ๑.
               หิศัพท์ เป็นนิบาตในอรรถแห่งเหตุ.
               บทว่า นตฺถิ ตายิตา ความว่า ความต้านทานคือรักษา มิได้มี.
               บทว่า น จาปิ ฐเปนฺติ อญฺญมญฺญํ ความว่า ธรรมเหล่าอื่นไม่อาจดำรงธรรมอื่นไว้ได้.
               บทว่า โยปิ นิพฺพตฺตโก โส น วิชฺชติ ความว่า ธรรมใดเป็นที่เกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้, ธรรมนั้นก็มิได้มีในบัดนี้.
               บทว่า น จ เกนจิ โกจิ หายติ ความว่า ธรรมอะไรๆ คือแม้สักอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เสื่อมไปเพราะอำนาจของธรรมอะไร ๆ.
               บทว่า ภงฺคพฺยา จ อิเม หิ สพฺพโส ความว่า ก็ขันธ์เหล่านี้แม้ทั้งหมด ก็ควรถึงความดับไปโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า ปุริเมหิ ปภาวิตา ความว่า ขันธ์เหล่านี้อันเหตุปัจจัยมีในก่อนเหล่านี้ ให้เป็นไปคือให้เกิดขึ้น.
               บทว่า เยปิ ปภวิกา ได้แก่ เหตุปัจจัยในก่อนที่เป็นไปคือให้เกิดขึ้นเหล่านี้ใด.
               บทว่า เต ปุเร มตา ความว่า ปัจจัยมีประการดังกล่าวแล้วนั้น เป็นไปไม่ได้แล้ว ถึงความตายแล้วก่อนทีเดียว
               บทว่า ปุริมาปิ จ ปจฺฉิมาปิ จ ได้แก่ ขันธ์ที่เกิดก่อน คือที่มีเหตุปัจจัยในก่อนก็ดี ขันธ์ที่เกิดภายหลัง คือที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยปัจจัย ในเมื่อเหตุปัจจัยเป็นไปก็ดี.
               บทว่า อญฺญมญฺญํ น กทาจิ มทฺทสํสุ ความว่า ไม่เคยเห็นกันและกันในกาลไหนๆ.
                อักษร ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งบทสนธิ.
               บทว่า จาตุมฺมหาราชิกานํ เทวานํ ความว่า เทวดาเหล่านั้น.
               ชื่อว่าจาตุมมหาราชิกา เพราะอรรถว่ามีมหาราชทั้ง ๔ กล่าวคือท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์และท้าวกุเวร เป็นใหญ่.
               ชื่อว่าเทพ เพราะอรรถว่ารุ่งเรืองด้วยรูปเป็นต้น. เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางสิเนรุบรรพต, บรรดาเทวดาเหล่านั้น พวกที่อยู่ที่บรรพตก็มี พวกที่อยู่ในอากาศก็มี อยู่ต่อๆ กันไปถึงจักรวาลบรรพต.
               เทวดาเหล่านี้คือพวกขิฑฑาปโทสิกะ พวกมโนปโทสิกะ พวกสีตวลาหกะ พวกอุณหวลากะ จันทิมเทพบุตร สุริยเทพบุตร แม้ทั้งหมดอยู่เทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาทั้งนั้น. ชีวิตของเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเหล่านั้น.
               บทว่า อุปาทาย ได้แก่ อาศัย.
               บทว่า ปริตฺตกํ ได้แก่ ปฏิเสธความเจริญ ดุจในข้อความว่า วัยของเราแก่รอบ ชีวิตของเราน้อย เป็นต้น.
               บทว่า โถกํ ได้แก่ เหลือเวลาน้อย, ปฏิเสธวันยาวนาน.
               บทว่า ขณิกํ ได้แก่ เหลือเวลาน้อย ปฏิเสธระหว่างกาล ดุจในข้อความว่า มรณะชั่วขณะ ฌานชั่วขณะ เป็นต้น.
               บทว่า ลหุกํ ได้แก่ เบาพร้อม ดุจในข้อความว่า ปฏิเสธความเกียจคร้าน เป็นไปรวดเร็วอย่างนี้เป็นต้น.
               บทว่า อิตฺตรํ ได้แก่ เร็ว, ปฏิเสธอย่างแข็งแรง ดุจในข้อความว่า ภักดีเดี๋ยวเดียว ศรัทธาเดี๋ยวเดียว เป็นต้น.
               บทว่า อนทฺธนิกํ ได้แก่ ทนอยู่ได้ไม่นานด้วยสามารถแห่งกาล ดุจในข้อความว่า ตลอดกาลยาวนาน เป็นต้น.
               บทว่า น จิรฏฺฐิติกํ ความว่า ชื่อว่าดำรงอยู่ไม่นาน เพราะอรรถว่า ตั้งอยู่ไม่นานในวันๆ ปฏิเสธวัน ดุจในข้อความว่า พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นาน เป็นต้น.
               บทว่า ตาวตึสานํ ความว่า ชื่อว่าดาวดึงส์ เพราะอรรถว่า ชน ๓๓ คนเกิดขึ้นในภพนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่าดาวดึงส์ว่า เป็นชื่อของเทวดาเหล่านั้น ดังนี้ก็มี, เทวดาแม้เหล่านั้น อยู่บรรพตก็มี อยู่ในอากาศก็มี อยู่ต่อๆ กันไปถึงจักรวาลบรรพต ชั้นยามาเป็นต้นก็เหมือนกัน ก็แม้ในเทวโลกชั้น ๑ เหล่าเทวดาที่อยู่ต่อๆ กันไปไม่ถึงจักรวาลบรรพต ย่อมไม่มี.
               ชื่อว่ายามา เพราะอรรถว่าไป คือถึง ได้แก่ บรรลุถึงซึ่งทิพยสุข.
               ชื่อว่าดุสิต เพราะอรรถว่ายินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว.
               ชื่อว่านิมมานรดี เพราะอรรถว่าเนรมิตโภคะทั้งหลายตามที่ชอบใจแล้วยินดีอยู่ในกาลที่ประสงค์จะยินดีด้วยโภคะที่เกินกว่าอารมณ์ที่ตกแต่งไว้ตามปกติ.
               ชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตดี เพราะอรรถว่ายังอำนาจให้เป็นไปในโภคะทั้งหลายที่เทวดาเหล่าอื่นรู้วาระจิตเนรมิตให้.
               ชื่อว่าเนื่องในหมู่พรหม เพราะอรรถว่าประกอบแล้วด้วยธรรมเป็นเครื่องสืบต่อพรหมธรรมในหมู่พรหม, รูปพรหมแม้ทั้งหมด ท่านถือเอาแล้ว.
               บทว่า คมนีโย แปลว่า ต้องไป.
               บทว่า สมฺปราโย ได้แก่ ปรโลก.
               บทว่า โย ภิกฺขเว จิรํ ชีวติ โส วสฺสสตํ ความว่า ผู้ใดดำรงอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี.
               บทว่า อปฺปํ วา ภิยฺโย ความว่า ผู้ที่ดำรงอยู่เกิน ๑๐๐ ปี ชื่อว่าดำรงอยู่ถึง ๒๐๐ ปีไม่มี.
               บทว่า หิเฬยฺย นํ ความว่า พึงดูหมิ่นชีวิตนั้น คือพึงคิดเป็นสิ่งเลวทราม. ท่านกล่าวว่า หิเฬยฺยานํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อจฺจยนฺติ ได้แก่ ย่อมก้าวล่วง
               บทว่า อโหรตฺตา ได้แก่ กำหนดคืนและวัน.
               บทว่า อุปรุชฺฌติ ความว่า ชีวิตินทรีย์ย่อมดับ คือเข้าถึงความไม่มี.
               บทว่า อายุ ขียติ มจฺจานํ ความว่า อายุสังขารของสัตว์ทั้งหลายย่อมถึงความสิ้นไป.
               บทว่า กุนฺนทีนํว โอทกํ ความว่า น้ำในแม่น้ำน้อยที่ขาดน้ำ ย่อมสิ้นไปฉันใด อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไปฉันนั้น.
               ก็โดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยเหลือเกิน เพียงเป็นไปชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ล้อรถเมื่อหมุนก็หมุนด้วยประเทศแห่งดุมอย่างเดียวเท่านั้น, เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ด้วยประเทศแห่งดุมอย่างเดียวนั่นแหละฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นไปชั่วขณะจิตเดียวฉันนั้น พอจิตดวงนั้นดับ ท่านเรียกสัตว์ว่า ดับคือตาย.
               บทว่า ธีรา ได้แก่ นักปราชญ์ ธีรา อีกบทหนึ่ง ได้แก่ บัณฑิต,
               บทว่า ธิติมา ความว่า ชื่อว่าธิติมา เพราะอรรถว่ามีปัญญาเป็นเครื่องทรง.
               บทว่า ธิติสมฺปนฺนา ความว่า ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า ธิกฺกิตปาปา ความว่า ผู้ติเตียนบาป.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :