ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๗.

               ก็เพราะภิกษุชื่อว่าย่อมตั้งอยู่ในศาสนาด้วยปาติโมกขศีล ฉะนั้น ปาติโมกขศีลนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นที่ตั้ง. ชื่อว่าเป็นที่ตั้ง เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งภิกษุ หรือเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น.
               เนื้อความนี้ พึงทราบด้วยสามารถแห่งสูตรเป็นต้นว่า นระผู้มีปัญญาตั้งอยู่ในศีลดังนี้ ด้วยว่า ดูก่อนมหาบพิตร ศีลเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวงดังนี้ ด้วยว่า ดูก่อนมหาบพิตร กุศลธรรมทั้งปวงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลแล ย่อมไม่เสื่อมไป.
               ศีลนี้นั้นชื่อว่าเป็นเบื้องต้น ด้วยอรรถว่าเกิดขึ้นก่อน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า แน่ะขัตติยะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงชำระเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายแล ก็อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลที่บริสุทธิ์ดีแล้วและทิฏฐิที่ตรง ดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า นายช่างสร้างนคร ประสงค์จะสร้างนคร จึงชำระที่ตั้งนครก่อน ต่อนั้นจึงสร้างนคร แบ่งกำหนดเป็นถนน ทาง ๔ แพร่ง ทาง ๓ แพร่ง ในภายหลัง ฉันใด,
               พระโยคาวจรชำระศีลเป็นเบื้องต้น ต่อนั้นจึงทำให้แจ้งซึ่งสมาธิ วิปัสสนา มรรค ผลและนิพพานในภายหลัง ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ก็หรือว่าช่างย้อมผ้า ซักผ้าด้วยน้ำด่าง ๓ อย่างก่อน เมื่อผ้าสะอาดแล้วจึงใส่สีตามที่ต้องการ ฉันใด, ก็หรือว่าช่างเขียนผู้ฉลาด ต้องการจะเขียนรูปภาพ จึงขัดฝาเป็นเบื้องต้นทีเดียว ต่อนั้นจึงสร้างรูปภาพขึ้นในภายหลัง ฉันใด
               พระโยคาวจรชำระศีลให้บริสุทธิ์แต่ต้นทีเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งธรรมทั้งหลายมีสมถะและวิปัสสนาเป็นต้นในภายหลัง ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ศีลเป็นเบื้องต้น ดังนี้.
               ศีลนี้นั้นชื่อว่าจรณะ เพราะความเป็นคุณที่พึงเห็นเสมอด้วยจรณะ. ก็เท้า ท่านเรียกว่า จรณะ.
               เหมือนอย่างว่า อภิสังขารคือการไปสู่ทิศย่อมไม่เกิดแก่คนเท้าด้วน ย่อมเกิดแก่คนมีเท้าบริบูรณ์เท่านั้น ฉันใด, การไปแห่งญาณเพื่อบรรลุนิพพาน ย่อมไม่สำเร็จแก่บุคคลผู้มีศีลขาดด่างพร้อย ไม่บริบูรณ์นั้น, แต่การไปแห่งญาณเพื่อบรรลุนิพพาน ย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย บริบูรณ์ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวศีลว่า จรณะ.
               ศีลนั้น ชื่อว่าสังยมะ ด้วยสามารถแห่งความสำรวม, ชื่อว่าสังวระ ด้วยสามารถแห่งความระวัง. ดังนั้น ท่านจึงกล่าวทั้งศีลสังยมะทั้งศีลสังวระ แม้ด้วยบททั้ง ๒ ก็ในบทนี้มีเนื้อความของคำว่า ชื่อว่าสังยมะ เพราะอรรถว่าสำรวม หรือยังบุคคลผู้ดิ้นรนก้าวล่วงให้สำรวม คือไม่ให้บุคคลนั้นดิ้นรนก้าวล่วง. ชื่อว่าสังวระ เพราะอรรถว่ากั้น คือปิดทวาร ด้วยความสำรวมการก้าวล่วง.
               บทว่า มุขํ ได้แก่ สูงสุด หรือเป็นประมุข เหมือนอย่างว่า อาหาร ๔ อย่างของสัตว์ทั้งหลาย เข้าทางปากแล้วแผ่ไปยังอวัยวะต่างๆ ฉันใด, แม้พระโยคาวจรทั้งหลายก็ฉันนั้น เข้าสู่กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๔ ด้วยปากคือศีล ยังความสำเร็จแห่งประโยชน์ให้ถึงพร้อม, เพราะฉะนั้น บทว่า โมกฺขํ จึงมีความว่า ประมุข หัวหน้า เป็นสภาพถึงก่อน ประเสริฐที่สุด เป็นประธาน.
               บทว่า กุสลานํ ธมฺมานํ สมาปตฺติยา ความว่า พึงทราบว่าเป็นประมุข เป็นหัวหน้า เป็นสภาพถึงก่อน เป็นสิ่งประเสริฐสุด เป็นประธาน เพื่อประโยชน์แก่การได้ เฉพาะซึ่งกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๔.
               บทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ความว่า สงัด คือเว้น คือหลีกออกจากกามทั้งหลาย.
               ก็อักษรว่า เอว ในบทว่า วิวิจฺเจว นี้นั้น พึงทราบว่า มีเนื้อความอันแน่นอน ก็เพราะมีเนื้อความอันแน่นอน ฉะนั้น ท่านจึงแสดงความที่กามทั้งหลายแม้ไม่มีอยู่ในเวลาเข้าปฐมฌานเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌานนั้น และความบรรลุปฐมฌานนั้น ด้วยการสละกามนั่นเอง.
               อย่างไร?
               ก็เมื่อกระทำความแน่นอนอย่างนี้ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ดังนี้ ปฐมฌานนี้ย่อมปรากฏ กามทั้งหลายยังเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้แน่ เมื่อกามเหล่าใดมีอยู่ ปฐมฌานนี้ย่อมไม่เป็นไป เหมือนเมื่อความมืดมีอยู่ แสงสว่างแห่งประทีปก็ไม่มี การบรรลุปฐมฌานนั้นย่อมมีด้วยการสละกามเหล่านั้นนั่นแล เหมือนสละฝั่งในถึงฝั่งนอกฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกระทำความแน่นอน.
               ในเรื่องนั้น พึงมีคำถามว่า เหตุไร ความแน่นอนนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ในบทแรกเท่านั้น ไม่กล่าวในบทหลัง บุคคลแม้ไม่สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จะพึงเข้าปฐมฌานอยู่หรือ ก็ข้อนี้อย่าพึงเห็นอย่างนั้นเลย.
               ด้วยว่า ท่านกล่าวความแน่นอนในบทแรกเท่านั้น โดยการออกไปจากกามนั้น ก็ฌานนี้เป็นเครื่องออกไปของกามทั้งหลายนั่นแล เพราะก้าวล่วงด้วยดีซึ่งกามธาตุ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกามราคะ.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า :-
                         การออกไปแห่งกามทั้งหลายคือเนกขัมมะ.
               ก็แม้ในบทหลังท่านพึงกล่าว เหมือนที่นำอักษร เอว มากล่าวไว้ในข้อนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ ในศาสนานี้นั่นเทียว สมณะที่ ๒ ในศาสนานี้ดังนี้. เพราะไม่อาจที่จะเข้าฌานอยู่ โดยไม่สงัดจากอกุศลธรรมกล่าวคือนิวรณ์แม้อื่นๆ จากนี้ได้ ฉะนั้น พึงเห็นความนี้แม้ทั้งสองบทอย่างนี้ว่า สงัดจากกามทั้งหลายนั่นเทียว สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเทียว.
               ก็ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวกและจิตตวิเวก กายวิเวก อุปธิวิเวก ย่อมถึงความสงเคราะห์ด้วยคำอันเป็นสาธารณะนี้ว่าสงัด ก็จริงอยู่ แม้ถึงอย่างนั้น กายวิเวก จิตตวิเวก วิกขัมภนวิเวก ก็พึงเห็นในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น, กายวิเวก จิตตวิเวก สมุจเฉทวิเวกและนิสสรณวิเวก พึงเห็นในขณะแห่งโลกุตตรมรรค.
               ก็วัตถุกามเหล่าใดที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้เป็นต้นว่า วัตถุกามเป็นไฉน? คือรูปที่น่าชอบใจ ดังนี้ด้วย กิเลสกามเหล่าใดที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้อย่างนี้ว่า กามคือฉันทะ กามคือราคะ กามคือฉันทราคะ กามคือสังกัปปะ กามคือ สังกัปปราคะ ดังนี้ด้วยวัตถุกาม และกิเลสกามเหล่านั้นแม้ทั้งหมดพึงเห็นว่า ท่านสงเคราะห์ด้วยบทนี้ว่า กาเมหิ ดังนี้ทั้งนั้น.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น บทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ มีเนื้อความว่า สงัดแล้วแม้จากวัตถุกามทั้งหลาย ก็ถูก. ด้วยบทนั้น กายวิเวกเป็นอันกล่าวแล้ว.
               บทว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ มีเนื้อความว่า สงัดแล้วจากกิเลสกามทั้งหลาย หรือจากอกุศลทั้งปวง ก็ถูก. ด้วยบทนั้น จิตตวิเวกเป็นอันกล่าวแล้ว.
               ก็ในข้อนี้ การสละกามสุขเป็นอันท่านให้เป็นแจ้งแล้วโดยคำว่า สงัดจากวัตถุกามทั้งหลายนั่นแล ด้วยบทแรก, การกำหนดเนกขัมมสุขเป็นอันท่านให้เป็นแจ้งแล้วโดยคำว่า สงัดจากกิเลสกามทั้งหลาย ด้วยบทที่ ๒. การละวัตถุแห่งสังกิเลสของกามเหล่านั้นโดยคำว่า สงัดจากวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลายอย่างนี้ เป็นอันท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วยบทแรก. การละสังกิเลสเป็นอันท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วยบทที่ ๒ การสละเหตุแห่งความโลเล เป็นอันท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วยบทแรก การสละเหตุแห่งความเป็นพาล เป็นอันท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วยบทที่ ๒ และความบริสุทธิ์แห่งความเพียร เป็นอันท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วยบทแรก กายชำระอาสยะที่อาศัยให้สะอาด เป็นอันท่านให้แจ่มแจ้งแล้วด้วยบทที่ ๒ พึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               บรรดากามทั้งหลายที่กล่าวไว้ในบทว่า กาเมหิ นี้ในฝ่ายวัตถุกาม มีนัยเท่านี้ก่อน.
               แต่ในฝ่ายกิเลสกาม กามฉันท์นั้นแลซึ่งมีประเภทไม่น้อย เป็นต้นว่า ฉันทะและราคะอย่างนี้ ท่านประสงค์ว่า กาม,
               ก็กามนั้นแม้นับเนื่องในอกุศล ท่านก็แยกกล่าวโดยเป็นปฏิปักษ์ต่อฌาน ในวิภังค์ โดยนัยว่า ในกามเหล่านั้น กามฉันทะเป็นไฉน? คือกาม ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในบทแรก เพราะเป็นกิเลสกาม ในบทที่ ๒ เพราะนับเนื่องด้วยอกุศล.
               อนึ่ง ท่านไม่กล่าวว่า กามโต ท่านกล่าวว่า กาเมหิ โดยประเภทไม่น้อยของกามนั้น.
               อนึ่ง แม้เมื่อธรรมเหล่าอื่นเป็นอกุศลมีอยู่ ท่านก็กล่าวนิวรณ์นั่นแหละ โดยแสดงความเป็นข้าศึกคือปฏิปักษ์ต่อองค์ฌานสูงๆ ขึ้นไป ในวิภังค์โดยนัยเป็นต้นว่า ในธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเป็นไฉน? คือ กามฉันทะ ดังนี้.
               ก็นิวรณ์ทั้งหลายเป็นข้าศึกต่อองค์ฌานทั้งหลาย ท่านอธิบายไว้ว่า องค์ฌานทั้งหลายนั่นแล เป็นปฏิปักษ์ เป็นผู้ทำลาย เป็นผู้พิฆาตนิวรณ์เหล่านั้น.
               จริงอย่างนั้น ท่านกล่าวไว้ในปิฎกว่า สมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท วิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อถิ่นมิทธะ สุขเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกกุจจะ วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา. ความสงัดด้วยความข่มกามฉันทะ เป็นอันท่านกล่าวแล้วในที่นี้ด้วยบทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ นี้ด้วยประการฉะนี้.
               ความสงัดด้วยความข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ นี้ ก็ด้วยการยึดถือสิ่งที่เขาไม่ยึดถือกัน ความสงัดด้วยความข่มกามฉันทะ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทแรก#- ความสงัดด้วยความข่มนิวรณ์ที่เหลือ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทที่ ๒.##- ด้วยประการนั้น.
____________________________
#- วิวิจฺเจว กาเมหิ. ##- วิวิจฺจ อกุสเลหิ.

               ความสงัดด้วยความข่มโลภะซึ่งมีประเภทแห่งกามคุณ ๕ เป็นอารมณ์ ในอกุศลมูล ๓ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทแรก ความสงัดด้วยความข่มโทสะและโมหะซึ่งมีประเภทแห่งอาฆาตวัตถุเป็นต้นเป็นอารมณ์ ย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทที่ ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง ในธรรมทั้งหลายมีโอฆะเป็นต้น ความสงัดด้วยความข่มกาโมฆะ กามโยคะ กามาสวะ กามุปาทาน อภิชฌากายคันถะและกามราคสังโยชน์ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทแรก, ความสงัดด้วยความข่มโอฆะ โยคะ อาสวะ อุปาทาน คันถะและสังโยชน์ที่เหลือ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทที่ ๒.
               ความสงัดด้วยความข่มตัณหาและธรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหานั้น เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทแรก, ความสงัดด้วยความข่มอวิชชาและธรรมที่สัมปยุตด้วยอวิชชานั้น เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทที่ ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง ความสงัดด้วยความข่มจิตตุปบาท ๘ ที่สัมปยุตด้วยโลภะ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทแรก ความสงัดด้วยความข่มจิตตุปบาทที่เป็นอกุศลที่ ๔ ที่เหลือเป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยบทที่ ๒. พึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               ก็พระสารีบุตรเถระแสดงองค์แห่งการละของปฐมฌานด้วยคำมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงองค์แห่งการประกอบ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ ดังนี้.
               บรรดาวิตกและวิจารเหล่านั้น วิตกมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจารมีลักษณะประคองจิตไว้ในอารมณ์ วิตกและวิจารเหล่านั้น แม้เมื่อไม่แยกกันในอารมณ์อะไรๆ วิตกเข้าถึงจิตก่อนด้วยอรรถว่าหยาบและเป็นธรรมชาติถึงก่อน ดุจการเคาะระฆัง, วิจารตามพัวพันด้วยอรรถว่าละเอียด และด้วยสภาพตามเคล้า ดุจเสียงครางของระฆัง.
               ก็วิตกมีการแผ่ไปในอารมณ์นี้ เป็นความไหวของจิตในเวลาที่เกิดขึ้นครั้งแรก ดุจการกระพือปีกของนกที่ต้องการจะบินไปในอากาศ และดุจการโผลงตรงดอกปทุมของภมรที่มีใจผูกพันอยู่ในกลิ่น, วิจารมีความเป็นไปสงบ ไม่เป็นความไหวเกินไปของจิต ดุจการกางปีกของนกที่ร่อนอยู่ในอากาศ และดุจการหมุนของภมรที่โผลงตรงดอกปทุม ในเบื้องบนของดอกปทุม.
               แต่ในอรรถกถาทุกนิบาตท่านกล่าวว่า วิตกเป็นไปด้วยภาวะติดไปกับจิตในอารมณ์ เหมือนเมื่อนกใหญ่บินไปในอากาศ ปีกทั้งสองจับลม แล้วก็หยุดกระพือปีกไปฉะนั้น, วิจารเป็นไปด้วยภาวะตามเคล้า เหมือนการบินไปของนกที่กระพือปีกเพื่อให้จับลมฉะนั้น.
               คำนั้นย่อมควรในการเป็นไปด้วยการตามพัวพัน.
               ก็ความแปลกของวิตกวิจารเหล่านั้น ย่อมปรากฏในปฐมฌานและทุติยฌาน.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลใช้มือข้างหนึ่งจับภาชนะที่มีสนิมจับอย่างมั่น ใช้มืออีกข้างหนึ่งขัดถูด้วยแปรงทำด้วยหางม้าที่จุ่มน้ำมันผสมผงละเอียด. วิตกเหมือนมือที่จับมั่น วิจารเหมือนมือที่ขัดถู. เหมือนเมื่อช่างหม้อใช้ท่อนไม้หมุนแป้นทำภาชนะอยู่ วิตกดุจมือที่กด วิจารดุจมือที่ตกแต่งข้างโน้นข้างนี้. และเหมือนบุคคลที่ทำวงเวียน วิตกติดไปกับจิต ดุจขาที่ปักกั้นอยู่ตรงกลาง, วิจารตามเคล้า ดุจขาที่หมุนรอบนอก.
               ฌานนี้ ท่านกล่าวว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ เพราะอรรถว่าย่อมเป็นไปกับด้วยวิตกนี้ด้วย ด้วยวิจารนี้ด้วย ดุจต้นไม้มีทั้งดอกและผลด้วยประการฉะนี้.
               ในบทว่า วิเวกชํ นี้ ความสงัดชื่อว่า วิเวก ความว่า ปราศจากนิวรณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิเวก เพราะอรรถว่าสงัด.
               อธิบายว่า กองธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน ซึ่งสงัดจากนิวรณ์.
               ชื่อว่าวิเวกชะ เพราะอรรถว่าเกิดแต่วิเวกนั้น หรือในวิเวกนั้น.
               ในบทว่า ปีติสุขํ นี้ ชื่อว่าปีติ เพราะอรรถว่าอิ่มใจ, ปีตินั้นมีลักษณะดื่มด่ำ.
               ก็ปีตินี้นั้นมี ๕ อย่างคือ ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย ๑ ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ๑, โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก ๑, อุพเพงคาปีติ ปีติโลดลอย ๑. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ๑,
               บรรดาปีติ ๕ อย่างนั้น ขุททกาปีติอาจทำพอให้ขนชูชันในสรีระทีเดียว, ขณิกาปีติย่อมเป็นเช่นกับฟ้าแลบ เป็นขณะๆ, โอกกันติกาปีติให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดฝั่งทะเล. อุพเพงคาปีติเป็นปีติมีกำลัง ทำกายให้ลอยขึ้นโลดไปในอากาศหาประมาณไม่ได้, ผรณาปีติเป็นปีติมีกำลังยิ่ง ก็เมื่อผรณาปีตินั้นเกิดขึ้นแล้ว สรีระทั้งสิ้นจะรู้สึกเย็นซาบซ่าน ดุจเต็มไปด้วยเม็ดฝน และดุจเวิ้งเขาที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาฉะนั้น.
               ก็ปีติทั้ง ๕ อย่างนี้เมื่อถือเอาห้องถึงความแก่กล้า ย่อมยังปัสสัทธิทั้งสองคือกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิให้บริบูรณ์.
               ปัสสัทธิเมื่อถือเอาห้องถึงความแก่กล้า ย่อมยังสุขทั้ง ๒ คือ สุขทั้งทางกายและสุขทางใจให้บริบูรณ์.
               สุขเมื่อถือเอาห้องถึงความแก่กล้า ย่อมยังสมาธิ ๓ อย่างคือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิให้บริบูรณ์.
               บรรดาปีติเหล่านั้น ผรณาปีติที่เป็นมูลแห่งอัปปนาสมาธิ เมื่อเจริญถึงความประกอบด้วยสมาธิ นี้ท่านประสงค์เอาว่า ปีติ ในอรรถนี้.
               ก็อีกบทหนึ่ง ชื่อว่าสุข เพราะอรรถว่าสบาย. อธิบายว่า เกิดขึ้นแก่คนใด ย่อมทำคนนั้นให้ถึงความสบาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ความสบายชื่อว่าสุข ธรรมชาติใดย่อมกลืนกินและขุดออกเสียได้โดยง่าย ซึ่งอาพาธทางกายทางใจ ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่าสุข. คำนี้เป็นชื่อของโสมนัสสเวทนา สุขนั้นมีลักษณะสำราญ.
               ปีติและสุขเหล่านั้นเมื่อไม่แยกกันในอารมณ์อะไรๆ ความยินดีด้วยการได้เฉพาะอารมณ์ที่น่าปรารถนา ชื่อว่าปีติ. ความเสวยรสแห่งอารมณ์ที่ได้เฉพาะแล้ว ชื่อว่าสุข. ที่ใดมีปีติที่นั้นมีสุข ที่ใดมีสุขที่นั้นมีปีติโดยไม่แน่นอน.
               ปีติสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ สุขสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์. คนที่ลำบากในทางกันดาร ปีติเหมือนเมื่อเห็น หรือได้ฟังป่าไม้และน้ำ, สุขเหมือนเมื่อเข้าไปสู่ร่มเงาของป่าไม้และบริโภคน้ำ ก็บทนี้พึงทราบว่ากล่าวไว้ เพราะภาวะที่ปรากฏในสมัยนั้นๆ.
               ฌานนี้ท่านกล่าวว่า ปีติสุข เพราะอรรถว่าปีตินี้ด้วย สุขนี้ด้วยมีอยู่แก่ฌานนี้ หรือในฌานนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปีติด้วย สุขด้วย ชื่อว่าปีติและสุข ดุจธรรมและวินัยเป็นต้น.
               ชื่อว่ามีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอย่างนี้ เพราะอรรถว่าปีติและสุขเกิดแต่วิเวก มีอยู่แก่ฌานนี้ หรือในฌานนี้ ก็ฌานฉันใด ปีติและสุขก็ฉันนั้นย่อมเกิดแต่วิเวกทั้งนั้น ในที่นี้.
               ก็ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกนั้นมีอยู่แก่ฌานนี้ เพราะเหตุดังนี้นั้น แม้จะกล่าวว่า วิเวกชํ ปีติสุขํ รวมเป็นบทเดียวกันทีเดียว ย่อโดยไม่ลบวิภัตติ ก็ควร.
               บทว่า ปฐมํ ความว่า ชื่อว่าที่ ๑ เพราะเป็นลำดับแห่งการนับชื่อว่าที่ ๑ เพราะอรรถว่า ฌานนี้เกิดขึ้นเป็นที่ ๑ ก็มี.
               บทว่า ฌานํ ได้แก่ ฌาน ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน.
               ในฌาน ๒ อย่างนั้น สมาบัติ ๘ ถึงการนับว่า อารัมมณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งอารมณ์มีปฐวีกสิณเป็นต้น. ก็วิปัสสนา มรรค ผล ชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน.
               ในวิปัสสนา มรรคผลเหล่านั้น วิปัสสนาชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะเข้าไปเพ่งอนิจจลักษณะเป็นต้น, มรรคชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะกิจที่ทำด้วยวิปัสสนา สำเร็จด้วยมรรค, ส่วนผลชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งนิโรธสัจจะ ซึ่งเป็นลักษณะแท้.
               ในฌาน ๒ อย่างนั้น ในที่นี้ ท่านประสงค์อารัมมณูปนิชฌาน ในกาลเป็นส่วนเบื้องต้นประสงค์ลักขณูปนิชฌาน ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า ฌาน เพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์ด้วย, เพราะเข้าไปเพ่งลักษณะด้วย, เพราะเผาข้าศึกคือกิเลสด้วย.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช ได้แก่ เข้าถึงแล้ว. มีอธิบายว่า บรรลุแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ให้เข้าถึงพร้อมแล้ว. มีอธิบายว่า ให้สำเร็จแล้ว.
               บทว่า วิหรติ ความว่า ย่อมเคลื่อนไหวด้วยการอยู่แห่งอิริยาบทที่สมควรแก่ฌานนั้น คือเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยฌานซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว ยังความเคลื่อนไหวคือความเป็นไปแห่งอัตภาพให้สำเร็จ.
               ก็ปฐมฌานนี้นั้นละองค์ ๕ ประกอบองค์ ๕ มีความงาม ๓ อย่าง ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐.
               ในปฐมฌานนั้น พึงทราบความที่ละองค์ ๕ ด้วยสามารถละนิวรณ์ ๕ เหล่านั้น คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมีทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ด้วยว่า เมื่อละนิวรณ์เหล่านี้ไม่ได้ ปฐมฌานนั้นย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวนิวรณ์เหล่านี้ว่าเป็นองค์แห่งการละของปฐมฌานนั้น.
               ก็อกุศลธรรมแม้เหล่าอื่นจะละได้ในขณะแห่งฌานก็จริง ถึงอย่างนั้น นิวรณ์เหล่านั้นแหละก็ยังทำอันตรายแก่ฌานได้โดยวิเสส. ด้วยว่า จิตที่ถูกกามฉันท์เล้าโลมด้วยอารมณ์ต่างๆ ย่อมไม่ตั้งมั่นในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความแน่วแน่ หรือจิตนั้นถูกกามฉันท์ครอบงำ ย่อมไม่ดำเนินไปเพื่อละกามธาตุ. ถูกพยาบาทกระทบกระทั่งในอารมณ์ ย่อมไม่เป็นไปติดต่อ, ถูกถีนมิทธะครอบงำ ย่อมเป็นจิตไม่ควรแก่การงาน, ถูกอุทธัจจะกุกกุจจะนำไปในเบื้องหน้า เป็นจิตไม่สงบทีเดียว ย่อมหมุนไปรอบ, ถูกวิจิกิจฉาเข้าไปกระทบ ย่อมไม่ขึ้นสู่ปฏิปทาที่ให้การบรรลุฌานสำเร็จ นิวรณ์เหล่านี้แล ท่านกล่าวว่าองค์แห่งการละ เพราะกระทำอันตรายแก่ฌานโดยวิเสส ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เพราะวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจารประคองจิตไว้ในอารมณ์ ปีติเกิดแต่ปโยคสมบัติแห่งจิตที่มีสังโยคอันวิตกวิจารเหล่านั้นสำเร็จแล้วด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน กระทำความเอิบอิ่ม, และสุขกระทำความเพิ่มพูน,
               ลำดับนั้น เอกัคคตาซึ่งเป็นสัมปยุตธรรมที่เหลือของปฐมฌานนั้น อันการติดไปกับจิต การตามเคล้า ความเอิบอิ่มและความเพิ่มพูนเหล่านี้ อนุเคราะห์แล้วย่อมตั้งมั่นเสมอและโดยชอบในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความแน่วแน่ ฉะนั้นพึงทราบความที่ปฐมฌานประกอบองค์ ๕ ด้วยสามารถความเกิดขึ้นแห่งองค์ ๕ เหล่านี้ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาจิต,
               ด้วยว่า เมื่อองค์ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ฌานชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น องค์ ๕ เหล่านี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นองค์ประกอบ ๕ ประการของปฐมฌานนั้น.
               เพราะฉะนั้น ไม่พึงถือเอาว่า มีฌานอื่นที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เหมือนอย่างว่า ท่านกล่าวว่า เสนามีองค์ ๔ ดนตรีมีองค์ ๕ มรรคมีองค์ ๘ ก็ด้วยสามารถสักว่าองค์เท่านั้นฉันใด, แม้ปฐมฌานนี้ก็ฉันนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่ามีองค์ ๕ ก็ตาม ว่าประกอบด้วยองค์ ๕ ก็ตาม ก็ด้วยสามารถสักว่าองค์เท่านั้น.
               ก็องค์ ๕ เหล่านี้มีอยู่ในขณะแห่งอุปจารก็จริง ถึงอย่างนั้นในอุปจารก็มีกำลังกว่าจิตปกติ แต่ในปฐมฌานนี้แม้มีกำลังกว่าอุปจาร ก็สำเร็จเป็นถึงลักษณะแห่งรูปาวจร.
               ก็วิตกในปฐมฌานนี้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เกิดขึ้นโดยอาการอันสะอาดมาก วิจารประคองจิตไว้กับอารมณ์อย่างยิ่ง ปีติและสุขแผ่ไปสู่กายแม้เป็นที่สุดแห่งสภาวะ. เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า โดยสภาพแห่งกายนั้น อะไรๆ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มี. แม้เอกัคตาจิตก็เกิดขึ้นถูกต้องด้วยดีในอารมณ์ ดุจพื้นผอบข้างบนถูกต้องพื้นผอบข้างล่างฉะนั้น องค์เหล่านั้นแตกต่างจากองค์เหล่านี้ดังนี้.
               ในองค์เหล่านั้น เอกัคคตาจิตมิได้แสดงไว้ในปาฐะนี้ว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็เป็นองค์เหมือนกัน เพราะท่านกล่าวไว้ในวิภังค์อย่างนี้ว่า บทว่า ฌานํ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตาจิตดังนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอุทเทสด้วยอธิบายใด อธิบายนั้นแล พระสารีบุตรเถระนี้ประกาศแล้วในวิภังค์ ดังนี้แล.
               ก็ในบทว่า ติวิธกลฺยาณํ ทสลกฺขณสมฺปนฺนํ นี้ ความที่ปฐมฌานมีความงาม ๓ คือเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด และพึงทราบความที่ปฐมฌานถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ ด้วยสามารถแห่งลักษณะของเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดเหล่านั้นนั่นแล.
               ในข้อนั้นมีบาลีดังนี้ :-
               ปฏิปทาวิสุทธิเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน การเพิ่มพูนอุเบกขาเป็นท่ามกลาง ความรื่นเริงเป็นที่สุด.
               ปฏิปทาวิสุทธิเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน, เบื้องต้นมีลักษณะเท่าไร?
               เบื้องต้นมีลักษณะ ๓ จิตบริสุทธิ์จากอันตรายแห่งปฐมฌานนั้น, เพราะบริสุทธิ์ จิตจึงดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นท่ามกลาง, เพราะดำเนินไป จิตจึงแล่นไปในสมถนิมิตนั้น, จิตบริสุทธิ์จากอันตราย ๑ เพราะบริสุทธิ์ จิตจึงดำเนินไปสู่สมถนิมิต ๑ เพราะดำเนินไป จิตจึงแล่นไปในสมถนิมิตนั้น ๑. ปฏิปทาวิสุทธิเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน เบื้องต้นมีลักษณะ ๓ เหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปฐมฌานมีความงามในเบื้องต้นและถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓.
               การเพิ่มพูนอุเบกขาเป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน ท่ามกลางมีลักษณะเท่าไร?
               ท่ามกลางมีลักษณะ ๓ เข้าถึงจิตบริสุทธิ์ เข้าถึงสมถปฏิปทา เข้าถึงที่ประชุมเอกัตตารมณ์ เข้าถึงจิตบริสุทธิ์ ๑ เข้าถึงสมถปฏิปทา ๑ เข้าถึงที่ประชุมเอกัตตารมณ์ ๑. การเพิ่มพูนอุเบกขาเป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน ท่ามกลางมีลักษณะ ๓ เหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปฐมฌานมีความงามในท่ามกลาง และถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓.
               ความรื่นเริงเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน ที่สุดมีลักษณะเท่าไร?
               ที่สุดมีลักษณะ ๔ ชื่อว่าความรื่นเริง เพราะอรรถว่าไม่ล่วงธรรมที่เกิดในปฐมฌานนั้น, ชื่อว่าความรื่นเริง เพราะอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีรสเดียวกัน, ชื่อว่าความรื่นเริง เพราะอรรถว่านำมาซึ่งความเพียรที่เข้าถึงปฐมฌานนั้น. ชื่อว่าความรื่นเริง เพราะอรรถว่าคบหา. ความรื่นเริงเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน ที่สุดมีลักษณะ ๔ เหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปฐมฌานมีความงามเป็นที่สุด และถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๔ ดังนี้.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า ในบาลีนั้น ชื่อว่าปฏิปทาวิสุทธิ ได้แก่อุปจาระที่เป็นไปกับด้วยสัมภาระ. ชื่อว่าการเพิ่มพูนอุเบกขา ได้แก่อัปปนา. ชื่อว่าความรื่นเริง ได้แก่การพิจารณา.
               ก็เพราะท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า เอกัคคตาจิตมีปฏิปทาวิสุทธิเป็นลักษณะด้วย, เพิ่มพูนอุเบกขาด้วย, รื่นเริงด้วยญาณด้วย ดังนี้, ฉะนั้นพึงทราบปฏิปทาวิสุทธิ ด้วยสามารถแห่งการมาภายในอัปปนานั่นแล, พึงทราบการเพิ่มพูนอุเบกขา ด้วยสามารถแห่งกิจของตัตรมัชฌัตตุเปกขา, และพึงทราบความรื่นเริง ด้วยสามารถแห่งความสำเร็จแห่งญาณที่ผ่องแผ้วด้วยการยังความไม่ล่วงธรรมทั้งหลายเป็นต้นให้สำเร็จ
               อย่างไร?
               ก็ในวาระที่อัปปนาเกิดขึ้นนั้น หมู่กิเลสกล่าวคือนิวรณ์ใดเป็นอันตรายต่อฌานนั้น จิตย่อมบริสุทธิ์จากหมู่กิเลสนั้น. เพราะบริสุทธิ์ จิตจึงเว้นจากเครื่องกั้น ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันมีในท่ามกลาง, อัปปนาสมาธิที่เป็นไปพร้อมนั่นแล ชื่อว่าสมถนิมิตอันมีในท่ามกลาง,
               ลำดับนั้น ปุริมจิตเข้าถึงความเป็นอย่างนั้นด้วยการน้อมไปสู่สันตติ ๑ ชื่อว่าย่อมดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันมีในท่ามกลาง เพราะดำเนินไปอย่างนั้น จึงชื่อว่าย่อมแล่นไปในปฐมฌานนั้น ด้วยการเข้าถึงความเป็นอย่างนั้น. ปฏิปทาวิสุทธิที่ยังอาการซึ่งมีอยู่ในปุริมจิตให้สำเร็จ พึงทราบด้วยสามารถแห่งการบรรลุในอุปปาทักขณะแห่งปฐมฌานก่อน.
               ก็เพราะไม่ต้องทำจิตที่บริสุทธิ์อย่างนี้ให้บริสุทธิ์อีก บุคคลจึงไม่ขวนขวายในการให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าย่อมเพ่งจิตที่บริสุทธิ์ เมื่อไม่ขวนขวายในการตั้งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถะ ด้วยการเข้าถึงภาวะแห่งสมถะอีก ชื่อว่าย่อมเพ่งจิตที่ดำเนินไปสู่สมถะ ก็เพราะความที่จิตนั้นดำเนินไปสู่สมถะนั่นแล บุคคลจึงละความเกี่ยวข้องด้วยกิเลส ไม่ต้องขวนขวายในการประชุม เอกัตตารมณ์ของจิตที่ตั้งมั่นแล้วด้วยเอกัตตารมณ์อีก ชื่อว่าย่อมเข้าถึงที่ประชุมเอกัตตารมณ์.
               พึงทราบการเพิ่มพูนอุเบกขา ด้วยสามารถแห่งกิจของตัตรมัชฌัตตุเปกขา ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ธรรมที่เนื่องกันเป็นคู่ กล่าวคือสมาธิและปัญญา ซึ่งเกิดในปฐมฌานนั้น อันอุเบกขาเพิ่มพูนแล้วอย่างนี้ ไม่เป็นไปล่วงกันและกันเป็นไป, อินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้น มีรสเป็นอันเดียวกันด้วยวิมุตติรส เพราะพ้นจากกิเลสต่างๆ เป็นไป, ความเพียรที่ถึงความเป็นไปกับด้วยรูป ไม่เป็นไปล่วงธรรมเหล่านั้น สมควรแก่ภาวะที่มีรสเป็นอันเดียวกันเป็นไป. และการคบหาที่เป็นไปในขณะนั้นแห่งปฐมฌานนั้น อาการเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เพราะสำเร็จ เพราะเห็นโทษนั้นๆ และอานิสงส์นั้นๆ ในความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วด้วยญาณ จึงรื่นเริง บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วด้วยประการนั้นๆ ฉะนั้น พึงทราบความรื่นเริง ด้วยสามารถแห่งความสำเร็จกิจแห่งญาณที่ผ่องแผ้วด้วยการยังความไม่เป็นไปล่วงธรรมทั้งหลายเป็นต้นให้สำเร็จ ท่านกล่าวไว้ดังนี้.
               บทว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ความว่า เพราะองค์ ๒ เหล่านี้คือวิตกด้วย วิจารณ์ด้วย สงบไป. มีอธิบายว่า เพราะไม่ปรากฏในขณะแห่งทุติยฌาน.
               ในทุติยฌานนั้น พึงทราบว่า ธรรมแห่งปฐมฌานทั้งหมด ไม่มีในทุติยฌานก็จริง ถึงอย่างนั้น ผัสสะเป็นต้น ในปฐมฌานเป็นอย่าง ๑ ในทุติยฌานนี้เป็นอย่าง ๑ ก็เพื่อแสดงองค์ที่หยาบว่า การบรรลุทุติยฌานเป็นต้นอื่นจากปฐมฌาน ย่อมมีได้เพราะก้าวล่วงองค์ที่หยาบ ดังนี้ ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ดังนี้.
               ในบทว่า อชฺฌตฺตํ นี้ ท่านประสงค์ภายในที่แน่นอน. อธิบายว่า เกิดในตน คือบังเกิดในสันดานของตน.
               บทว่า สมฺปสาทนํ ความว่า ศรัทธา ท่านเรียกว่า สัมปสาทนะ ความผ่องใส แม้ฌานก็ชื่อสัมปสาทนะ เพราะประกอบด้วยความผ่องใส ดุจผ้าเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียว.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะฌานนั้นยังใจให้ผ่องใส เพราะประกอบด้วยความผ่องใส และเพราะยังความกำเริบแห่งวิตกวิจารให้สงบ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัมปสาทนะ และในอรรถวิกัปนี้ พึงทราบการเชื่อมบทอย่างนี้ว่า สมฺปสาทนํ เจตโส มีความผ่องใสแห่งใจ ดังนี้.
               ส่วนในอรรถวิกัปแรก พึงประกอบบท เจตโส นี้กับบท เอโกทิภาเวน ในอรรถวิกัปนั้นมีอรรถโยชนาดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่า เอโกทิ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมเอกผุดขึ้น. อธิบายว่า เป็นธรรมเลิศ คือประเสริฐ เพราะไม่ถูกวิตกวิจารท่วมทับผุดขึ้น. ความจริง แม้ธรรมที่ประเสริฐ ท่านก็เรียกว่าเป็นเอกในโลก.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่เว้นจากวิตกวิจาร เป็นธรรมเอก คือไม่มีธรรมที่เป็นไปร่วม ย่อมเป็นไปดังนี้ก็มี.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อุทิ เพราะอรรถว่ายังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เกิด. ความว่าให้ตั้งขึ้น, ธรรมนั้นเป็นเอก เพราะอรรถว่าประเสริฐด้วย ตั้งขึ้นด้วย ดังนั้นจึงชื่อว่า เอโกทิ.
               คำว่า เอโกทิ นี้เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานนี้มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะอรรถว่ายังธรรมเอกผุดขึ้นนี้ ให้เกิด คือให้เจริญด้วยประการฉะนี้. ก็ธรรมเอกผุดขึ้นนี้นั้น เพราะเป็นของใจ ไม่ใช่ของสัตว์ ไม่ใช่ของชีวิต ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวทุติยฌานนี้ว่า เจตโส เอโกทิภาวํ ดังนี้.
               อนึ่ง ศรัทธานี้และสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้ มีอยู่แม้ในปฐมฌาน มิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรจึงกล่าวไว้ในที่นี้เท่านั้นว่า สมฺปสาทนํ เจตโส เอโกทิภาวํ ดังนี้?
               ข้อนั้นจะอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ก็ปฐมฌานนี้ย่อมไม่ผ่องใสด้วยดี เพราะวิตกวิจารกำเริบ เหมือนน้ำกระเพื่อมเพราะระลอกคลื่น ฉะนั้น แม้เมื่อมีศรัทธา ท่านก็ไม่กล่าวว่า สมฺปสาทนํ และเพราะไม่ผ่องใสด้วยดีนั่นเอง แม้สมาธิก็ไม่ปรากฏด้วยดีในฌานนี้ ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวแม้ว่า เอโกทิภาวํ แต่ในฌานนี้ ศรัทธามีกำลังได้โอกาส เพราะไม่มีวิตกวิจารเป็นเครื่องกังวล. และทั้งสมาธิก็ปรากฏ เพราะได้ศรัทธาที่มีกำลังเป็นสหายนั่นเอง. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ฌานนี้เท่านั้น ท่านกล่าวไว้อย่างนี้.
               บทว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ ความว่า ชื่อว่าไม่มีวิตก เพราะอรรถว่าวิตกไม่มีในฌานนี้ หรือแก่ฌานนี้ เพราะละได้ด้วยภาวนา, ชื่อว่าไม่มีวิจาร ก็โดยนัยนี้แหละ ในที่นี้ท่านท้วงว่า แม้ด้วยบทว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ก็สำเร็จความนี้แล้วมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรท่านจึงกล่าวว่า อวิตกฺกํ อวิจาร์ อีก?
               ข้อนั้นจะอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ความนี้สำเร็จแล้วอย่างนี้ทีเดียว แต่บทนี้มิได้แสดงความนั้น พวกเราได้กล่าวแล้วมิใช่หรือ เพื่อแสดงองค์ที่หยาบว่า การบรรลุทุติยฌานเป็นต้นอื่นจากปฐมฌาน ย่อมมีได้เพราะก้าวล่วงองค์ที่หยาบ ดังนี้ ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะวิตกและวิจารสงบไป ฌานนี้จึงมีความผ่องใส ไม่ใช่เพราะความสกปรกของกิเลสหมดไป และเพราะวิตกและวิจารสงบไป จึงมีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ซึ่งไม่เหมือนอุปจารฌาน เพราะละนิวรณ์ได้ เหมือนปฐมฌาน เพราะองค์ฌานปรากฏ คำนี้เป็นคำแสดงเหตุแห่งความผ่องใสและความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะวิตกและวิจารสงบไป ฌานนี้จึงไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ไม่เหมือนตติยฌานและจตุตถฌาน และไม่เหมือนจักษุวิญญาณเป็นต้น เพราะไม่มี นี้เป็นคำแสดงเหตุแห่งความเป็นฌานไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มิใช่แสดงเพียงความไม่มีวิตกและวิจาร.
               คำนี้อีกว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ ดังนี้ เป็นคำแสดงเพียงความไม่มีแห่งวิตกและวิจารเท่านั้น, เพราะฉะนั้น แม้กล่าวอรรถวิกัปแรกแล้ว ก็พึงกล่าวเหมือนกันดังนี้แล.
               บทว่า สมาธิชํ ความว่า เกิดแต่สมาธิในปฐมฌาน หรือแต่สมาธิที่เป็นสัมยุตธรรม. ในบทนั้น แม้ปฐมฌานเกิดแต่สมาธิที่เป็นสัมยุตธรรมก็จริง, ถึงอย่างนั้น ฌานนี้แลก็ควรที่จะกล่าวว่า สมาธิชํ เพราะมั่นคงที่สุด และเพราะผ่องใสด้วยดี ด้วยเว้นจากความกำเริบแห่งวิตกและวิจาร. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวฌานนี้เท่านั้นว่า สมาธิชํ เพื่อกล่าวสรรเสริญฌานนี้.
               บทว่า ปีติสุขํ นี้มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า ทุติยํ ได้แก่ ที่ ๒ โดยลำดับการนับ, ชื่อว่าทุติยะ เพราะอรรถว่าฌานนี้เกิดเป็นที่ ๒ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ปีติยา จ วิราคา ความว่า ความเกลียดชังก็ดี ความก้าวล่วงก็ดี ซึ่งปีติมีประการดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า วิราคะ
               ก็ ศัพท์ระหว่างบททั้ง ๒ มีอรรถว่าประมวล. ศัพท์นั้นย่อมประมวลซึ่งความสงบหรือซึ่งความสงบแห่งวิตกและวิจาร. ในบทนั้น ศัพท์ย่อมประมวลความสงบนั่นแล ในกาลใด ในกาลนั้นพึงทราบการประกอบความอย่างนี้ว่า เพราะปีติสิ้นไปด้วยเพราะสงบอะไรๆ อย่างยิ่งด้วย. ก็ด้วยความประกอบนี้ วิราคะย่อมมีความเกลียดชัง, เพราะฉะนั้น พึงเห็นความดังนี้ว่า เพราะเกลียดชัง ปีติด้วยเพราะก้าวล่วงปีติด้วย.
               ก็ ศัพท์ย่อมประมวลซึ่งความสงบแห่งวิตกและวิจาร ในกาลใด ในกาลนั้นพึงทราบการประกอบความอย่างนี้ว่า เพราะปีติสิ้นไปด้วย เพราะวิตกและวิจารอะไรๆ สงบไปอย่างยิ่งด้วย. ก็ด้วยการประกอบความนี้ วิราคะย่อมมีความว่าก้าวล่วง เพราะฉะนั้น พึงเห็นความดังนี้ว่า เพราะก้าวล่วงปีติด้วย เพราะวิตกและวิจารสงบไปด้วย
               ก็วิตกและวิจารเหล่านี้สงบแล้วในทุติยฌานนั้นแล ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็กล่าวบทนี้ เพื่อแสดงมรรคของฌานนี้ และเพื่อกล่าวสรรเสริญฌานนี้.
               ถามว่า ก็เมื่อกล่าวว่า เพราะวิตกและวิจารสงบไปดังนี้ ฌานนี้ย่อมปรากฏ ความสงบแห่งวิตกและวิจารเป็นมรรคแห่งฌานนี้ มิใช่หรือ?
               แก้ว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อกล่าวถึงการละอย่างนี้ว่า เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ที่ยังละไม่ได้ในอริยมรรคที่ ๓ ย่อมเป็นการกล่าวสรรเสริญ เพื่อให้เกิดอุตสาหะแก่ผู้ที่ขวนขวายเพื่อบรรลุฌานนั้นฉันใด เมื่อกล่าวถึงความสงบวิตกและวิจารแม้ที่ยังไม่สงบในที่นี่ ย่อมเป็นการกล่าวสรรเสริญ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ความนี้ท่านกล่าวเพราะก้าวล่วงปีติ และเพราะวิตกและวิจารสงบไป.
               ในบทว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ นี้ ชื่อว่าอุเบกขา เพราะอรรถว่าเห็นโดยความเข้าถึง. อธิบายว่า เห็นเสมอ คือเป็นผู้ไม่ตกไปในฝักใฝ่เลยเห็น ผู้พร้อมเพรียงด้วยตติยฌาน ท่านเรียกว่า ผู้มีอุเบกขา เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยอุเบกขานั้น ซึ่งบริสุทธิ์ไพบูลย์มีกำลัง.
               ก็อุเบกขามี ๑๐ อย่าง คือ
               ฉฬังคุเบกขา, พรหมวิหารุเบกขา, โพชฌังคุเบกขา, วิริยุเบกขา, สังขารุเบกขา, เวทนุเบกขา, วิปัสสนุเบกขา, ตัตรมัชฌัตตุเบกขา, ฌานุเบกขา และปาริสุทธิอุเบกขา.
               บรรดาอุเบกขาเหล่านั้น อุเบกขาที่มีภาวะปกติคือบริสุทธิ์ เป็นอาการละคลองแห่งอารมณ์ ๖ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ในทวาร ๖ ของพระขีณาสพ มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ดังนี้ นี้ชื่อว่าฉฬังคุเบกขา.
               อุเบกขาที่มีอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า มีใจสหรคตด้วยอุเบกขาแผ่ไปสู่ทิศ ๑ อยู่ ดังนี้ นี้ชื่อว่าพรหมวิหารุเบกขา.
               อุเบกขาที่มีอาการเป็นกลางแห่งสหชาตธรรมทั้งหลาย มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ซึ่งอาศัยวิเวก ดังนี้ นี้ชื่อว่าโพชฌังคุเบกขา.
               อุเบกขากล่าวคือความเพียรที่ไม่ปรารภเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า มนสิการถึงอุเบกขานิมิตตามกาลอันสมควร ดังนี้ นี้ชื่อว่าวิริยุเบกขา.
               อุเบกขาที่พิจารณานิวรณ์เป็นต้นแล้วเป็นกลางในการถือเอา ข้อตกลงมาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า สังขารุเบกขาเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสมาธิเท่าไร สังขารุเบกขาเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา เท่าไร สังขารุเบกขา ๘ เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสมาธิ สังขารุเบกขา ๑๐ เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา ดังนี้ นี้ชื่อว่าสังขารุเบกขา.
               อุเบกขาที่เรียกกันว่าไม่ทุกข์ไม่สุข มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า สมัยใด กุศลจิตฝ่ายกามาพจรเกิดขึ้นแล้ว สหรคตด้วยอุเบกขา ดังนี้ นี้ชื่อว่าเวทนุเปกขา.
               อุเบกขาที่เป็นกลางในการพิจารณา มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า ละสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่นั้นเสีย ได้เฉพาะอุเบกขา ดังนี้ นี้ชื่อว่าวิปัสสนุเบกขา.
               อุเบกขาที่มาในเยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น ซึ่งสหชาตธรรมนำไปด้วยดีแล้ว นี้ชื่อว่าตัตรมัชฌัตตุเปกขา.
               อุเบกขาที่ไม่ให้การตกไปในฝักใฝ่เกิดขึ้นในอารมณ์นั้น แม้เป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า เป็นผู้มีอุเบกขาอยู่ ดังนี้ นี้ชื่อว่าฌานุเบกขา.
               อุเบกขาที่บริสุทธิ์จากข้าศึกคือกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องขวนขวายแม้ในการยังข้าศึกคือกิเลสให้สงบ มาในบาลีอาคตสถานอย่างนี้ว่า จึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดังนี้ นี้ชื่อว่าปาริสุทธิอุเบกขา.
               บรรดาอุเบกขาเหล่านั้น ฉฬังคุเปกขา พรหมวิหารุเปกขา โพชฌังคุเปกขา ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ฌานุเปกขาและปาริสุทธุเปกขา โดยความก็เป็นตัตรมัชฌัตตุเปกขาอย่างเดียวเท่านั้น.
               ก็ตัตรมัชฌัตตุเปกขานั้นมีประเภทดังนี้โดยประเภทแห่งตำแหน่งนั้นๆ ดุจสัตว์แม้คนเดียว มีประเภทเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสนาบดีและเป็นพระราชาเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ในอุเบกขาเหล่านั้น ในที่ใดมีฉฬังคุเปกขา ในที่นั้นไม่มีโพชฌังคุเปกขาเป็นต้น ก็หรือในที่ใดมีโพชฌังคุเปกขา ในที่นั้นไม่มีฉฬังคุเปกขาเป็นต้น พึงทราบดังนี้.
               อุเบกขาเหล่านั้นโดยความก็เป็นอย่างเดียวกันฉันใด แม้สังขารุเปกขาและวิปัสสนุเปกขาโดยความก็เป็นอย่างเดียวกันฉันนั้น ก็ปัญญานั่นแลแบ่งเป็น ๒ อย่างด้วยสามารถแห่งกิจ.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษถือท่อนไม้เหมือนกีบแพะค้นหางูที่เข้าเรือนเวลาเย็น เห็นมันนอนอยู่ในฉางแกลบ พิจารณาดูว่า งูหรือมิใช่หนอ เห็นลักษณะงูชัด ๓ อย่างก็หมดสงสัย เกิดความเป็นกลางในการค้นหาว่า งู ไม่ใช่งู ฉันใด ความเป็นกลางในการพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายเป็นต้น ในเมื่อเห็นไตรลักษณ์ด้วยวิปัสสนาญาณ เกิดขึ้นแก่ผู้ปรารภวิปัสสนาฉันนั้นนั่นแล ความเป็นกลางนี้ชื่อว่าวิปัสสนุเปกขา.
               ก็เมื่อบุรุษนั้นจับงูไว้มั่นด้วยท่อนไม้มีลักษณะเหมือนกีบแพะ คิดว่า เราจะไม่เบียดเบียนงูนี้และจะไม่ให้งูนี้กัดเรา จะพึงปล่อยไปอย่างไร เมื่อกำลังคิดหาวิธีปล่อยอยู่นั่นแล มีความเป็นกลางในการจับงูไว้ฉันใด เมื่อบุคคลเห็นภพทั้ง ๓ เหมือนถูกไฟไหม้ เพราะเห็นไตรลักษณะแล้ว ความเป็นกลางในการยึดถือสังขารมีขึ้นฉันนั้นเหมือนกัน ความเป็นกลางนี้ชื่อว่าสังขารุเปกขา.
               แม้สังขารุเปกขาก็ย่อมสำเร็จด้วยความสำเร็จแห่งวิปัสสนุเปกขา ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ด้วยประการนี้ สังขารุเปกขานี้จึงแบ่งเป็น ๒ โดยกิจ กล่าวคือความเป็นกลางในการพิจารณาและการยึดถือ. ส่วนวิริยุเปกขาและเวทนุเปกขาต่างกันและกัน และต่างจากอุเบกขาที่เหลือลงทั้งหลายโดยความเท่านั้นแล.
               และท่านสรุปไว้ในที่นี้ว่า :-
                         อุเปกขา โดยพิสดารมี ๑๐ คือ ตัตรมัชฌัตตุเปกขา
               พรหมวิหารุเปกขา โพชฌังคุเปกขา ฉฬังคุเปกขา ฌานุ
               เปกขา ปาริสุทธุเปกขา วิปัสสนุเปกขา สังขารุเปกขา
               เวทนุเปกขา วิริยุเปกขา แบ่งที่เป็นความเป็นกลางเป็น
               ต้น ๖ ที่เป็นปัญญา ๒ อย่าง อย่างละ ๒ รวมเป็น ๔ ดังนี้

               บรรดาอุเบกขาเหล่านี้ ฌานุเปกขาท่านประสงค์เอาในที่นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ฌานุเปกขานั้นมีมัชฌัตตะความเป็นกลาง เป็นลักษณะ ในข้อนี้ท่านกล่าวไว้ว่า ก็ฌานุเปกขานี้ โดยความก็คือ ตัตรมัชฌัตตุเปกขานั่นเอง มิใช่หรือ และฌานุเปกขานั้นก็มีอยู่แม้ในปฐมฌานและทุติยฌาน ฉะนั้น ฌานุเปกขานี้จึงควรกล่าวแม้ในฌานนั้นอย่างนี้ว่า เป็นผู้มีอุเบกขาอยู่ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่กล่าวไว้ เพราะไม่ประกอบกิจที่จะต้องขวนขวาย ด้วยว่าฌานุเปกขานั้นไม่มีกิจในฌานนั้นที่ต้องขวนขวาย เพราะวิตกเป็นต้นครอบงำไว้ แต่ในฌานนี้ เพราะวิตกวิจารและปีติมิได้ครอบงำ จึงเป็นเหมือนเงยศีรษะขึ้น มีกิจที่ต้องขวนขวาย ฉะนั้นจึงกล่าวไว้.
               ในบทว่า สโต จ สมฺปชาโน นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่ามีสติ เพราะอรรถว่าระลึกได้. ชื่อว่ามีสัมปชัญญะ เพราะอรรถว่ารู้ตัว, สติด้วยสัมปชัญญะด้วย ท่านกล่าวโดยบุคลาธิษฐาน สติมีลักษณะระลึกได้ สัมชัญญะมีลักษณะไม่ลุ่มหลง ในข้อนั้น สติและสัมปชัญญะนี้มีอยู่แม้ในฌานต้นๆ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่อบุคคลลืมสติไร้สัมปชัญญะ แม้เพียงอุปจารก็ไม่สำเร็จ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา. เพราะฌานเหล่านั้นมีองค์หยาบ จิตของบุรุษก็เหมือนภาคพื้น ย่อมมีคติเป็นสุข.
               ในฌานเหล่านั้นไม่ต้องขวนขวายกิจแห่งสติสัมปชัญญะ แต่เพราะฌานนี้สุขุมเพราะละองค์ที่หยาบได้ จึงต้องปรารถนาคติแห่งจิตที่กำหนดกิจแห่งสติสัมชัญญะของบุรุษดุจคมมีดโกนนั่นแล ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยประการฉะนี้.
               ยังมีอะไรๆ ที่พึงทราบให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ลูกโคที่ยังดื่มน้ำ ถูกพรากจากแม่โค เมื่อไม่ระวังรักษา ก็เข้าหาแม่โคอีกร่ำไป ฉันใด สุขในตติยฌานนี้ก็ฉันนั้น ถูกพรากจากปีติ เมื่อไม่รักษาด้วยสติสัมปชัญญะ พึงเข้าหาปีติอีกนั่นเทียว พึงสัมปยุตด้วยปีติอยู่นั่นเอง.
               อนึ่ง เหล่าสัตว์ก็ยังกำหนัดนักในสุขอยู่นั่นเอง. เพื่อแสดงอรรถพิเศษแม้นี้ว่า ก็สุขนี้เป็นสุขที่หวานยิ่งเพราะไม่มีสุขที่ยิ่งกว่านั้น ก็ความไม่กำหนัดนักในสุขในฌานนี้ ย่อมมีด้วยอานุภาพสติสัมปชัญญะ มิใช่มีด้วยอย่างอื่น ดังนี้ ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ในที่นี้นั่นแล.
               บัดนี้จะวินิจฉัยในบทนี้ว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ ดังนี้ ความผูกใจในการเสวยสุขของผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยตติยฌาน ย่อมไม่มีก็จริง, แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยตติยฌานนั้นจึงมีสุขอันสัมปยุตด้วยนามกาย เพราะตติยฌานนั้นมีสุขอันสัมปยุตด้วยนามกายอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นสมุฏฐาน เหตุใดรูปกายอันรูปที่ประณีตจึงจะถูกต้องแล้ว. เพราะรูปกายอันรูปที่ประณีตยิ่งถูกต้องแล้ว แม้ออกจากฌานแล้วก็พึงเสวยสุข. ฉะนั้น เมื่อจะแสดงความนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สุขญฺจกาเยน ปฏิสํเวเทติ ดังนี้.
               บัดนี้จะวินิจฉัยในบทนี้ว่า ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ อุเปกฺข โก สติมา สุขวิหารี ดังนี้ พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญ แสดง บัญญัติแต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื่นขึ้นประกาศซึ่งบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยตติยฌานนั้น เพราะเหตุการณ์แห่งฌานใด.
               อธิบายว่า สรรเสริญ สรรเสริญว่าอย่างไร? สรรเสริญว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข.
               พึงทราบการประกอบความในบทนี้อย่างนี้ว่า เข้าตติยฌานนั้นอยู่ ก็เพราะเหตุไร พระอริยะเหล่านั้นจึงสรรเสริญตติยฌานนั้นอย่างนี้ เพราะควรแก่การสรรเสริญ คือเพราะผู้มีอุเบกขาในตติยฌานแม้ถึงบารมีคือสุข ซึ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็ไม่ถูกความคิดสุขในฌานนั้นฉุดคร่าไว้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น โดยอาการที่ปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้และเพราะเสวยสุขที่พระอริยะยินดี คือที่อริยชนเสพนั้นแล และเป็นสุขไม่เศร้าหมอง ด้วยนามกาย ฉะนั้นจึงเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ. พระอริยะทั้งหลายเมื่อประกาศคุณที่เป็นเหตุควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้เหล่านั้น จึงสรรเสริญตติยฌานนั้นโดยควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้ว่า อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารี ด้วยประการฉะนี้ พึงทราบดังนี้.
               บทว่า ตติยํ ได้แก่ ที่ ๓ โดยลำดับการนับ. ฌานนี้ ชื่อว่าตติยะ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นเป็นที่ ๓ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา ความว่า เพราะละสุขทางกายและทุกข์ทางกาย.
               บทว่า ปุพฺเพว ได้แก่ สุขและทุกข์นั้นแล ในกาลก่อน มิใช่ในขณะแห่งจตุฌาน
               บทว่า โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา ความว่า เพราะถึงความดับแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้ง ๒ แม้เหล่านี้ คือสุขทางใจและทุกข์ทางใจในก่อนเที่ยว ท่านอธิบายว่าเพราะละนั่นเอง.
               ก็การละโสมนัสโทมนัสเหล่านั้นมีในกาลไร มีในขณะแห่งอุปจาระของฌานทั้ง ๔ โสมนัสละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานที่ ๔ นั่นเอง.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :