ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 788อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๖. สาริปุตตสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               [๙๒๓-๙๒๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าอันท่านพระสารีบุตรสรรเสริญด้วยคาถา ๓ คาถาแล้วทูลถามถึงเสนาสนะ โคจร ศีลและพรตเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่ศิษย์ทั้งหลาย ๕๐๐ เพื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงเริ่มวิสัชนาโดยนัยมีอาทิว่า วิชิคุจฺฉมานสฺส ของภิกษุผู้เกลียด ดังนี้.
               ในคาถาเหล่านั้นพึงทราบความแห่งคาถาต้นก่อน.
               ดูก่อนสารีบุตร เราจะกล่าวซึ่งความผาสุกและธรรมตามสมควรนั้นของภิกษุผู้เกลียดด้วยชาติเป็นต้น ผู้เสพที่นั่ง ที่นอน อันสงัด ผู้ปรารถนาสัมโพธิแก่เธอตามที่รู้ คือเรารู้อย่างใดก็จะกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า ยํ ผาสุวิหารํ คือ ความอยู่เป็นผาสุก.
               บทว่า อสปฺปายรูปทสฺสเนน จากการเห็นรูปไม่เป็นที่สบาย คือเห็นรูปไม่เป็นที่สบายของสมณะมีรูปสตรีเป็นต้น.
               บทว่า ตํ สมฺโพธึ พุชฺฌิตุกามสฺส ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สัมโพธินั้น คือปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สัมโพธิ อันได้แก่มรรคญาณ ๔ นั้น.
               บทว่า อนุพุชฺฌิตุกามสฺส ปรารถนาจะตรัสรู้ตาม คือปรารถนาจะตรัสรู้ด้วยการปฏิบัติตามสมควร.
               บทว่า ปฏิวิชฺฌิตุกามสฺส ปรารถนาจะตรัสรู้เฉพาะ คือปรารถนาจะแทงตลอดทำไว้ในที่เฉพาะหน้า.
               บทว่า สมฺพุชฺฌิตุกามสฺส ปรารถนาจะตรัสรู้พร้อม คือปรารถนาจะตรัสรู้ชอบด้วยการไม่ให้กิเลสที่ละได้แล้วกลับมา.
               บทว่า อธิคนฺตุกามสฺส คือ ปรารถนาจะบรรลุ.
               บทว่า สจฺฉิกาตุกามสฺส ปรารถนาจะทำให้แจ้ง คือปรารถนาจะบรรลุด้วยการได้เฉพาะและการทำให้แจ้ง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า พุชฺฌิตุกามสฺส ได้แก่ ปรารถนาจะรู้โสดาปัตติมรรคญาณ.
               บทว่า อนุพุชฺฌิตุกามสฺส ได้แก่ ปรารถนาจะรู้สกทาคามิมรรคญาณอีก.
               บทว่า ปฏิวิชฺฌิตุกามสฺส ได้แก่ ปรารถนาจะรู้ด้วยการแทงตลอดอนาคามิมรรคญาณ.
               บทว่า สมฺพุชฺฌิตุกามสฺส ได้แก่ ปรารถนาจะรู้โดยชอบซึ่งอรหัตมรรคญาณ. ปรารถนาจะบรรลุแม้ทั้ง ๔ ญาณ.
               บทว่า ผุสิตุกามสฺส ปรารถนาจะถูกต้อง คือปรารถนาจะถูกต้องด้วยญาณ.
               บทว่า สจฺฉิกาตุกามสฺส ได้แก่ ปรารถนาจะทำให้ประจักษ์ด้วยการพิจารณา.
               บทว่า จตุนฺนํ มคฺคานํ ปุพฺพภาเค วิปสฺสนา วิปัสสนาในส่วนเบื้องต้นแห่งมรรค ๔ คือวิปัสสนาญาณมีอุทยัพพยญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดและความดับ) เป็นต้น อันเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้นของอริยมรรค ๔.
               พึงทราบความในคาถาที่สองดังต่อไปนี้.
               บทว่า สปฺปริยนฺตจารี ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุด คือประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุด ๔ อย่างมีศีลเป็นต้น.
               บทว่า ฑํสาธิปาตานํ ได้แก่ เหลือบและแมลงวัน. เพราะเหลือบและแมลงวันเหล่านั้นบินออกจากที่นั้นๆ แล้วกัด เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อธิปาตา (สัตว์ไต่ตอม).
               บทว่า มนุสฺสผสฺสานํ สัมผัสแต่มนุษย์ คือสัมผัสแต่โจรเป็นต้น.
               บทว่า จตฺตาโร ปริยนฺตา ประพฤติธรรมเป็นส่วนสุดรอบมี ๔ อย่าง ได้แก่ศีลอันเป็นเขตแดน ศีลอันเป็นข้อกำหนด.
               บทว่า อนฺโต ปูติภาวํ ปจฺจเวกฺขมาโน พิจารณาความเสีย ณ ภายใน คือตรวจดูความน่าเกลียดในภายใน ความเป็นผู้เว้นจากศีล.
               บทว่า อนฺโตสีลสํวรปริยนฺเต จรติ ได้แก่ ประพฤติในธรรมภายในอันกำหนดด้วยศีลสังวร.
               บทว่า มริยาทํ น ภินฺทติ มิได้ทำลายศีลอันเป็นเขตแดน คือไม่ทำศีลอันเป็นเขตแดน ศีลอันเป็นข้อกำหนดให้กำเริบ.
               บทว่า อาทิตฺตปริยายํ ปจฺจเวกฺขมาโน คือ พิจารณาอาทิตตปริยายเทศนา.
               บทว่า อกฺขพฺภญฺชนวณปฏิจฺฉาทนปุตฺตมํสูปมํ ปจฺจเวกฺขมาโน พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันหยอดเพลาเกวียน ผ้าพันแผลและเนื้อบุตร คือพิจารณาอาหารดุจน้ำมันหยอดเพลาของเกวียน อุปมาด้วยผ้าเก่าชุบน้ำมันพันแผลของคนเป็นโรคเรื้อน และอุปมาด้วยการกินเนื้อบุตรของผัวเมียที่เดินทางกันดาร.
               บทว่า ภทฺเทกรตฺตวิหารํ ปจฺจเวกฺขมาโน พิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือพิจารณาภัทเทกรัตตวิหารธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า
                         บุคคลไม่ควรคำนึงถึงอดีต ไม่ควรหวังถึงอนาคต มุนี
                         ผู้สงบเรียกบุคคลนั้นแลว่า เป็นผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้.

               บทว่า ตา อุปฺปติตฺวา อุปฺปติตฺวา ขาทนฺติ แมลงวันเหล่านั้นย่อมบินตอมกัดกิน.
               พึงทราบความแห่งคาถาที่สามดังต่อไปนี้.
               คนภายนอกแม้ทั้งหมดเว้นสหธรรมิก ๗ จำพวก ชื่อว่า ปรธมฺมิกา คนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น.
               บทว่า กุสลานุเอสี ผู้แสวงหากุศล คือแสวงหากุศลธรรม.
               บทว่า สตฺต สหธมฺมิเก ฐเปตฺวา เว้นสหธรรมิก ๗ จำพวก คือเว้นภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา.
               บทว่า อถาปรานิปิ อตฺถิ อภิสมฺโภตพฺพานิ คือ อนึ่ง อันตรายแม้เหล่าอื่นมีอยู่ ภิกษุทั้งหลายพึงย่ำยี.
               พึงทราบความในคาถาที่สี่ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อาตงฺกผสฺเสน ได้แก่ ผัสสะคือโรค.
               บทว่า สีตํ อถุณฺหํ ได้แก่ ความหนาวและความร้อน.
               บทว่า โส เตหิ ผุฏฺโฐ พหุธา คือ ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้นมีโรคเป็นต้น กระทบแล้วโดยอาการไม่น้อย.
               บทว่า อโนโก เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส คือไม่ให้โอกาสแก่วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขารเป็นต้น.
               บทว่า อพฺภนฺตรธาตุสงฺโกปวเสน วา ความหนาวย่อมมีด้วยสามารถแห่งอาโปธาตุภายในร่างกายกำเริบ คือด้วยสามารถแห่งอาโปธาตุภายในกำเริบ หรือด้วยสามารถแห่งธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งกำเริบ.
               บทว่า อุณฺหํ ความร้อนคือความร้อนย่อมเกิดด้วยสามารถแห่งเตโชธาตุภายในร่างกายกำเริบ.
               บทว่า อภิสงฺขารสหคตวิญฺญาณสฺส วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขาร คือจิตที่สัมปยุตด้วยกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา.
               บทว่า โอกาสํ น กโรติ ไม่เปิดโอกาส คือไม่เปิดช่องที่อาศัย.
               บทว่า อวฏฺฐิตสมาทาโน พึงเป็นผู้สมาทานมั่น คือหยั่งลงยึดไว้.
               [๙๔๒-๙๔๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ความที่พระสารีบุตรถามด้วยคาถา ๓ คาถามีอาทิว่า เมื่อภิกษุเกลียดอยู่อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแก้ปัญหาที่พระสารีบุตรถามโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร จึงตรัสคำมีอาทิว่า ภิกษุไม่พึงทำการขโมย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ผสฺเส คือ พึงแผ่.
               บทว่า ยทาวิลตฺตํ มนโส วิชญฺญา ความว่า ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ พึงบรรเทาเสียซึ่งความขุ่นใจนั้นทั้งหมด ด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า อทินฺนาทานํ ปหาย ภิกษุละอทินนาทานเสีย ดังต่อไปนี้
               การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ชื่อว่า อทินนาทาน. การนำไปมีคำอธิบายว่า การขโมยของคนอื่น ท่านกล่าวว่าเป็นโจร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อทินฺนํ คือ ของที่คนอื่นหวงแหน. คนอื่นถึงความเป็นผู้ทำตามความปรารถนา ไม่ควรลงอาชญา และไม่ควรว่ากล่าวติเตียน ในของที่ผู้อื่นหวงแหนใด โดยเจตนาอันยังความพยายามเพื่อถือเอาของที่ผู้อื่นหวงแหนนั้น ตั้งขึ้น ของผู้มีความสำคัญในของที่ผู้อื่นหวงแหนว่า เป็นของอันผู้อื่นหวงแหน เป็นอทินนาทาน.
               อทินนาทานนั้นมีโทษน้อยในของผู้อื่นที่เลว มีโทษมากในของที่ประณีต. เพราะเหตุไร. เพราะวัตถุประณีต.
               เมื่อวัตถุสมบูรณ์มีโทษมาก ในวัตถุ อันเป็นของของผู้ยิ่งด้วย คุณธรรม. มีโทษน้อยในวัตถุอันเป็นของของผู้มีคุณเลวกว่าผู้ยิ่งด้วยคุณนั้นๆ.
               อทินนาทานนั้นมีองค์ ๕ คือของอันผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้อยู่ว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ จิตคิดจะขโมย ๑ พยายามที่จะขโมย ๑ นำไปได้ด้วยความพยายามนั้น ๑.
               บทว่า ปหาย คือ ละความเป็นผู้ทุศีล อันได้แก่เจตนาที่จะถือเอาของที่เขาไม่ให้นี้.
               บทว่า ปฏิวิรโต คือ งดเว้นจากความเป็นผู้ทุศีลนั้นตั้งแต่เวลาที่ละได้แล้ว.
               ชื่อว่า ทินฺนาทายี เพราะถือเอาแต่ของที่เขาให้อย่างเดียว. ชื่อว่า ทินฺนปาฏิกงฺขี เพราะหวังได้แต่ของที่เขาตั้งใจให้อย่างเดียว. ชื่อว่า เถโน คือ ขโมย. พึงเป็นผู้มีจิตไม่เป็นขโมย. เป็นผู้มีจิตสะอาดเพราะเป็นผู้มีจิตไม่ขโมย.
               บทว่า อตฺตนา คือ ด้วยความเป็นตน. ท่านอธิบายว่า ทำความเป็นตนให้มีจิตสะอาดมีจิตไม่ขโมย.
               ต่อจากนี้มีนัยดังกล่าวแล้ว.
               [๙๔๗-๙๕๐] ความไมตรีด้วยอำนาจความเมตตา. อาการแห่งความเมตตา ชื่อว่า เมตฺตานา. ความที่จิตมีความพร้อมเพรียงด้วยเมตตา ชื่อว่า เมตฺตายิตตฺตํ. ชื่อว่า อนุทฺนา เพราะย่อมเอ็นดู. อธิบายว่า ย่อมรักษา. อาการแห่งความเอ็นดู ชื่อว่า อนุทฺนา. ความเป็นผู้เอ็นดู ชื่อว่า อนุทฺทายิตตฺตํ. การแสวงหาประโยชน์ด้วยอำนาจแห่งการหาประโยชน์เกื้อกูล. ความอนุเคราะห์ด้วยอำนาจแห่งความช่วยเหลือ.
               ด้วยบทแม้ทั้งหมดเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เมตตาอันถึงอุปจาร (ใกล้เคียง) และอัปปนา (แนบแน่น). พึงเห็นความที่เมตตาไพบูลย์ด้วยการแผ่ไปในบทนี้ว่า วิปุเลน ด้วยความไพบูลย์.
               จิตนั้นถึงความเป็นใหญ่ด้วยอำนาจภูมิ. ไม่มีประมาณด้วยอำนาจความคล่องแคล่ว.
               อนึ่ง ไม่มีประมาณด้วยอำนาจสัตตารมณ์ (มีสัตว์เป็นอารมณ์) ไม่มีเวรด้วยการละข้าศึกคือพยาบาท ชื่อว่าไม่มีพยาบาทเพราะละโทมนัส. อธิบายว่า ไม่มีทุกข์.
               บทว่า อาวิลํ ขุ่นมัว คือไม่ผ่องใส.
               บทว่า ลุลิตํ เศร้าหมอง คือเป็นกลละ (เปือกตม).
               บทว่า เอริตํ ยุ่ง คือไม่ตกลง.
               บทว่า ฆฏฺฏิตํ วุ่น คือถึงความกระทบด้วยอารมณ์.
               บทว่า จลิตํ หวั่นไหว คือสั่นสะเทือน.
               บทว่า ภนฺตํ หมุนไป คือละหน้าที่.
               บทว่า อวูปสนฺตํ ไม่สงบ คือไม่ดับ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า โย โส มาโร ดังนี้ต่อไป.
                         ชื่อว่า มาร เพราะชักชวนมหาชนให้ประกอบความฉิบหายแล้วฆ่า.
                         ชื่อว่า กณฺห เพราะมีกรรมดำ.
                         ชื่อว่า อธิปติ เพราะเป็นใหญ่ในกามาวจร.
                         ชื่อว่า อนฺตคู เพราะให้สัตว์ถึงความตาย.
                         ชื่อว่า นมุจิ เพราะไม่ให้สัตว์พ้นไปได้.
                         ชื่อว่า มารพฬิสํ เพราะเป็นเบ็ดมาร.
                         ชื่อว่า มารามิสํ เพราะเป็นเหยื่อมารโดยอาศัยวัฏฏะ.
                         ชื่อว่า มารวิสโย เพราะเป็นวิสัยแห่งมารโดยให้อยู่ในอำนาจ.
                         ชื่อว่า มารนิวาโป เพราะเป็นเหยื่อของมารโดยเป็นอารมณ์.
                         ชื่อว่า มารโคจโร เพราะเป็นอารมณ์ของมารโดยเที่ยวไปสู่กาม.
                         ชื่อว่า มารพนฺธนํ เพราะเป็นเครื่องผูกของมารโดยแก้ออกได้ยาก.
                         ชื่อว่า ทุกฺขพนฺธโน เพราะทำให้เกิดทุกข์.
               บทว่า มูลมฺปิ เตสํ ปลิขญฺญ ติฏฺเฐ ภิกษุพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นตั้งอยู่ คือพึงขุดรากมีอวิชชาเป็นต้นของความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นตั้งอยู่.
               บทว่า อทฺธา ภวนฺโต อภิสมฺภเวยฺย คือ ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังโดยส่วนเดียวเท่านั้น. อธิบายว่า ไม่พึงยินดีสิ่งที่รัก ไม่พึงเกลียดสิ่งที่ไม่น่ารัก.
               บทว่า อวิชฺชา มูลํ คือ อวิชชาเป็นต้นเป็นมูลแห่งความโกรธด้วยอำนาจอุปนิสยปัจจัยและสหชาตปัจจัยเป็นต้น. ธรรมสองอย่างเหล่านี้ คือไม่ทำไว้ในใจโดยอุบาย ๑ การถือตัว ๑ เป็นมูลของความโกรธด้วยอำนาจอุปนิสยปัจจัย. ธรรมสามอย่างเหล่านี้ คือความไม่ละอาย ๑ ความไม่เกรงกลัว ๑ ความฟุ้งซ่าน ๑ เป็นมูลของความโกรธ ด้วยอำนาจของอุปนิสยปัจจัยและสหชาตปัจจัย.
               แม้แห่งอติมานะ (ความดูหมิ่น) ก็เหมือนกัน.
               [๙๕๑-๙๕๕] บทว่า ปญฺญํ ปุรกฺขิตฺวา คือ ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า.
               บทว่า กลฺยาณปีติ มีปีติงาม คือประกอบด้วยกัลยาณปีติ.
               บทว่า จตุโร สเหถ ปริเทวธมฺเม คือ พึงปราบปริเทวธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน) สี่อย่างที่ท่านกล่าวไว้ในคาถาเป็นลำดับไป.
               บทว่า วิจยพหุโล มีความเลือกเฟ้นมาก คือมีความไตร่ตรองมาก.
               บทว่า ปวิจยพหุโล มีความเลือกเฟ้นทั่วมาก คือมีความไตร่ตรองมากเป็นพิเศษ.
               บทว่า โอกฺขายนพหุโล มีปัญญาเครื่องเห็นมาก คือมีความเห็นมาก.
               บทว่า สเมกฺขายนพหุโล มีความเสาะหามาก คือมีการแสวงหามาก.
               บทว่า วิภูตวิหารี คือ อยู่ด้วยการทำความรู้ให้ปรากฏ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต ในการก้าวไป ในการถอยกลับนี้ ต่อไป.
               การเดินไปเรียกว่าก้าวไป การเดินกลับเรียกว่าถอยกลับ. แม้ทั้งสองนั้นก็ได้ในอิริยาบถ ๔ พึงทราบความในการเดินก่อน การนำกายไปข้างหน้า ชื่อว่าก้าวไป การยังกายให้ถอยกลับ ชื่อว่าถอยกลับ. ยืนอยู่กับที่น้อมกายไปข้างหน้า ชื่อว่าก้าวไป ถอยไปข้างหลัง ชื่อว่าถอยกลับ. นั่งอยู่กับที่ หันหน้าหมุนไปทางอาสนะ ชื่อว่าก้าวไป. หมุนอวัยวะไปข้างหลัง ชื่อว่าถอยกลับ.
               แม้ในการนอนก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมฺปชานการี โหติ คือ กระทำกิจทั้งหมดด้วยสัมปชัญญะ หรือว่ากระทำความรู้สึกตัวนั่นเอง.
               จริงอยู่ ผู้มีสัมปชัญญะนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าวไปเป็นต้น เป็นผู้ไม่เว้นจากความรู้สึกตัวไม่ว่าในที่ไหนๆ.
               พึงทราบความในบทว่า อาโลกิเต วิโลกิเต ในการแลดูในการเหลียวดูนี้ต่อไป.
               การเพ่งไปข้างหน้า ชื่อว่าการแลดู การเพ่งดูไปตามทิศ ชื่อว่าการเหลียวดู. แม้อย่างอื่นที่มีการก้มการแหงนการมองดูไปทั่วๆ ด้วยการเพ่งดูไปข้างล่างข้างบนข้างหลัง. ในที่นี้มิได้ถือเอาอย่างนั้น. แต่โดยสรุปถือเอาสองอย่างเหล่านี้ หรือถือเอาทั้งหมดโดยเป็นหัวข้อนี้เท่านั้น.
               บทว่า สมฺมิญฺชิเต ปสาริเต ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ได้แก่ในการคู้เข้าการเหยียดออกซึ่งอวัยวะทั้งหลาย.
               พึงทราบความในบทว่า สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ ในการครองสังฆาฏิ บาตรและจีวรนี้ต่อไป. การใช้ด้วยการนุ่งและการห่มสังฆาฏิและจีวร ด้วยการรับภิกษาแห่งบาตร ชื่อว่า ธารณ (การครอง).
               [๙๕๖] พึงทราบความในบทว่า อสิต การฉัน เป็นต้นต่อไป.
               บทว่า อสิเต คือ ในการฉันบิณฑบาต. บทว่า ปีเต คือ ในการดื่มข้าวยาคูเป็นต้น.
               บทว่า ขายิเต คือ ในการเคี้ยวมีของเคี้ยวทำด้วยแป้งเป็นต้น.
               บทว่า สายิเต คือ ในการลิ้มมีน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น.
               บทว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม คือ ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ.
               พึงทราบในบทว่า คต เป็นต้นต่อไป.
               บทว่า คเต คือ ในการเดิน.
               บทว่า ฐิเต คือ ในการยืน.
               บทว่า นิสินฺเน คือ ในการนั่ง.
               บทว่า สุตฺเต คือ ในการนอน.
               บทว่า ชาคริเต คือ ในการตื่น.
               บทว่า ภาสิเต คือ ในการพูด.
               ในบทว่า ภาสิเต นั้นมีความดังนี้.
               เมื่อสัททายตนะอันเป็นอุปาทายรูปเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ชื่อว่าพูด เมื่อสัททายนะยังเป็นไปได้ ก็ชื่อว่าพูดได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้กำหนด ชื่อว่าเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการพูด.
               ภิกษุแสดงธรรมในหัวข้อวิมุตตายตนะ (การหลุดพ้น) บ้าง ละติรัจฉานกถา ๓๒ กล่าวกถาอิงกถาวัตถุ ๑๐ บ้าง ก็ชื่อว่าเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการพูด.
               บทว่า ตุณฺหีภาเว ในการนิ่ง คือไม่พูด.
               ในบทว่า ตุณฺหีภาเว นั้น มีความดังนี้
               ชื่อว่าความเป็นผู้นิ่งย่อมไม่มี ในเมื่อสัททายตนะอันเป็นอุปาทายรูปยังเป็นไปได้อยู่ ย่อมมีได้ในเมื่อสัททายตนะอันเป็นอุปาทายรูปเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น ภิกษุผู้กำหนดจึงชื่อว่า เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในความเป็นผู้นิ่ง.
               ภิกษุนั่งเรียนกัมมัฏฐานอันเป็นที่ชอบใจในอารมณ์ ๓๘ ก็ดี เข้าทุติยฌานก็ดี ชื่อว่าเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในความเป็นผู้นิ่ง.
               อนึ่ง ในบทนี้ อิริยาบถหนึ่งมาแล้วในฐานะสอง.
               ในบทว่า อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต นี้ เมื่อภิกษุเดินไปเดินมายังบ้านเพื่อภิกษาจาร ท่านกล่าวถึงภิกษุนั้นในภายหลังด้วยการเดินทางไกล.
               ในบทว่า คเต ฐิเต นิสินฺเน พึงทราบว่า ท่านกล่าวด้วยการยกเท้าอันมีฝุ่นละอองในวิหาร.
               บทมีอาทิว่า พุทฺธานุสฺสติวเสน ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุสสติ ท่านประกาศไว้แล้วในที่นั้นๆ ในหนหลัง.
               บทว่า อรติ ความไม่ยินดี คือห้ามความยินดี.
               บทว่า อรติกา คือ อาการไม่ยินดี.
               บทว่า อนภิรติ คือ ความไม่ยินดียิ่ง.
               บทว่า อนภิรมนา คือ อาการไม่ยินดีเฉพาะ.
               บทว่า อุกฺกณฺฐิกา คือ อาการเบื่อ.
               บทว่า ปริตฺตสิกา ความระอา คือความระอาด้วยความเบื่อ.
               บทว่า กึสุ อสิสฺสามิ คือ เราจักฉันอะไร.
               บทว่า กุวํ วา อสิสฺสํ คือ เราจักฉันที่ไหน.
               บทว่า ทุกฺขํ วต เสตฺถ กุวชฺช เสสฺสํ คือ วันนี้ เรานอนลำบากตลอดคืนนี้ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน.
               บทว่า เอเต วิตกฺเก ได้แก่ วิตก ๔ อย่าง คือวิตกอาศัยบิณฑบาต ๒ อย่าง อาศัยเสนาสนะ ๒ อย่าง.
               บทว่า อนิเกตจารี ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป ไม่มีตัณหาท่องเที่ยวไป.
               บทว่า ผลเก วา บนแผ่นกระดาน คือบนหลังกระดานมีกระดานคดเป็นต้น.
               บทว่า อาคมนรตฺตึ คือ ราตรีที่จะมาถึง.
               บทว่า อาเทวเนยฺเย เป็นฐานแห่งความปรับทุกข์ คือปรับทุกข์เป็นพิเศษ.
               บทว่า ปริเทวเนยฺเย เป็นฐานแห่งความรำพัน คือรำพันไปรอบๆ.
               บทว่า กาเล คือในเวลาออกบิณฑบาต. อธิบายว่า ได้ข้าวคือบิณฑบาตหรือเครื่องนุ่งห่ม คือจีวรโดยธรรมโดยเสมอ.
               บทว่า มตฺตํ โส ชญฺญา ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ คือพึงรู้จักประมาณในการรับและการบริโภค.
               บทว่า อิธ คือ ในศาสนานี้. หรือบทว่า อิธ นี้เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               บทว่า โตสนตฺถํ คือ เพื่อสันโดษ. ท่านอธิบายว่า พึงรู้จักประมาณเพื่อประโยชน์นั้น.
               บทว่า โส เตสุ คุตฺโต คือ ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น.
               บทว่า ยตจารี คือ เป็นผู้สำรวมเที่ยวไป. ท่านอธิบายว่า รักษาอิริยาบถ และรักษากายทวาร วจีทวาร มโนทวาร. ปาฐะว่า ยติจารี บ้าง. มีความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า รุสิโต คือ ถูกเขาด่า. อธิบายว่า ถูกเขาเสียดสี.
               บทว่า ทฺวีหิ การเณหิ มตฺตํ ชาเนยฺย คือ พึงรู้จักประมาณด้วยเหตุ ๒ อย่าง.
               บทว่า ปฏิคฺคหณโต วา โดยการรับ คือโดยกาลรับของที่ผู้อื่นถวาย.
               บทว่า ปริโภคโต วา โดยการบริโภค คือโดยกาลบริโภค.
               บทว่า โถเกปิ ทียมาเน คือ เมื่อทายกถวายแม้น้อย.
               บทว่า กุลานุทฺทยาย คือ เพื่อความเอ็นดูแก่ตระกูล.
               บทว่า กุลานุรกฺขาย คือ เพื่อรักษาตระกูล.
               บทว่า ปฏิคฺคณฺหาติ คือ รับแม้น้อย.
               บทว่า พหุเกปิ ทียมาเน คือ เมื่อทายกถวายแม้มาก.
               พึงทราบความในบทว่า กายปริหาริยํ จีวรํ ปฏิคฺคณฺหาติ ภิกษุรับจีวรพอบริหารกายนี้ต่อไป
               ชื่อว่า กายปริหาริยํ เพราะบริหารเลี้ยงร่างกาย.
               ชื่อว่า กุจฺฉิปริหาริยํ เพราะบริหารเลี้ยงท้อง.
               บริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีดตัดไม้ชำระฟัน เข็ม ประคดเอว หม้อกรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         บริขาร ๘ เหล่านี้ คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็มประคดเอว
                         หม้อกรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบความเพียร ดังนี้.

               บริขารทั้งหมดนั้น เป็นทั้งการบริหารกาย เป็นทั้งการบริหารท้อง.
               อย่างไร.
               ไตรจีวรย่อมบริหารเลี้ยงกายในเวลานุ่งและห่มเที่ยวไป เพราะเหตุนั้น จึงเป็นการบริหารกาย. ไตรจีวรบริหารเลี้ยงท้อง ในเวลาเอาชายจีวรกรองน้ำดื่ม และในเวลารับผลไม้น้อยใหญ่ที่ควรเคี้ยว เพราะเหตุนั้น จึงเป็นการบริหารท้อง.
               แม้บาตรก็เป็นการบริหารกาย ในเวลาเอาบาตรตักน้ำอาบและในเวลาทำความสะอาดกุฏิ, เป็นการบริหารท้อง ในเวลารับอาหารฉัน.
               แม้มีดก็เป็นการบริหารกาย ในเวลาเอามีดนั้นตัดไม้สีฟันและในเวลาแต่งเชิงเตียงและตั่ง จีวรและใช้ไม้ทำกุฏิ เป็นการบริหารท้อง, ในเวลาตัดอ้อยและปอกมะพร้าว.
               เข็มเป็นการบริหารกายในเวลาเย็บจีวร, เป็นการบริหารท้อง ในเวลาจิ้มขนมหรือผลไม้กิน.
               รัดประคดเป็นการบริหารกาย ในเวลาพันกายเที่ยวไป, เป็นการบริหารท้อง ในเวลามัดอ้อยเป็นต้นถือเอา.
               หม้อกรองน้ำเป็นการบริหารกาย ในเวลาเอาหม้อกรองนั้นกรองน้ำอาบและในเวลาทำความสะอาดเสนาสนะ เป็นการบริหารท้อง, ในเวลากรองน้ำดื่ม และในเวลารับงา ข้าวสาร ข้าวเม่าเป็นต้น ด้วยหม้อกรองน้ำนั้นฉัน.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส พิจารณาโดยแยบคาย. อธิบายว่า พิจารณาโดยอุบาย คือโดยทำนองคลองธรรม.
               อนึ่ง ในบทนี้ พึงทราบว่า การพิจารณาโดยนัยมีอาทิว่า สีตสฺส ปฏิฆาตาย เพื่อกำจัดความหนาวเป็นการพิจารณาโดยแยบคาย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จีวรํ ได้แก่ จีวรผืนใดผืนหนึ่ง ในบรรดาอันตรวาสก (ผ้าสบง) เป็นต้น.
               บทว่า ปฏิเสวติ คือ ใช้ ได้แก่นุ่งหรือห่ม.
               บทว่า ยาวเทว เป็นคำกำหนดเขตของประโยชน์ เพราะว่าประโยชน์ในการใช้จีวรของพระโยคีมีเพียงเท่านี้ คือเพื่อกำจัดความหนาวเป็นต้นไม่ยิ่งไปกว่านั้น.
               บทว่า สีตสฺส ความหนาว คือความหนาวอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นด้วยธาตุภายในกำเริบ หรือความเปลี่ยนแปลงฤดูในภายนอก.
               บทว่า ปฏิฆาตาย คือ เพื่อกำจัด.
               เพื่อบรรเทาอาพาธโดยอาการที่ไม่ให้อาพาธนั้นเกิดในร่างกาย. เพราะเมื่อร่างกายถูกความหนาวเบียดเบียน ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่านไม่สามารถตั้งความเพียรโดยแยบคายได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า ภิกษุพึงใช้จีวรเพื่อกำจัดความหนาวดังนี้.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้. เพราะในบทนี้มีอย่างเดียว.
               บทว่า อุณฺหสฺส ความร้อน คือ ความร้อนของไฟ. ความร้อนของไฟนั้นพึงทราบว่า เกิดขึ้นในเพราะไฟไหม้ป่าเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงทราบความในบทนี้ว่า ฑํสมกสวาตาตปสิรึสปสมฺผสฺสานํ สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานต่อไป.
               บทว่า ฑํส คือ เหลือบ. ท่านเรียกว่า อนฺธมกฺขิกา บ้าง. บทว่า มกส คือ ยุงนั่นเอง. บทว่า วาต คือ ลมเกิดแต่เสียงและเกิดแต่การหมุนของวงล้อ. บทว่า อาตโป คือ ความร้อนจากดวงอาทิตย์. บทว่า สิรึสป คือ ทีฆชาติประเภทใดประเภทหนึ่งมีงูเป็นต้น เลื้อยคลานไป.
               สัมผัสเหล่านั้น สัมผัสสองอย่าง คือทัฏฐสัมผัส (ถูกกัด) ๑ ผุฏฐสัมผัส (ถูกต้อง) ๑. สัมผัสแม้นั้นย่อมไม่เบียดเบียนภิกษุผู้นั่งห่มจีวร. เพราะฉะนั้น ภิกษุใช้จีวรเพื่อกำจัดสัมผัสเหล่านั้น ในฐานะเช่นนั้น.
               จะกล่าวถึงบทว่า ยาวเทว อีก คือเพื่อแสดงกำหนดเขตของประโยชน์ที่แน่นอน. เพราะประโยชน์ที่แน่นอน คือการปกปิดอวัยวะที่ยังความละอายให้กำเริบ. นอกนี้ย่อมเป็นบางครั้งบางคราว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า หิริโกปินํ ยังหิริให้กำเริบ คืออวัยวะนั้นๆ เป็นที่คับแคบ. เพราะเมื่ออวัยวะใดๆ เปิด หิริย่อมกำเริบคือเสียหาย ท่านจึงเรียกอวัยวะนั้นๆ ว่า หิริโกปิน เพราะยังหิริให้กำเริบ. ชื่อว่า หิริโกปินปฏิจฺฉาทนตฺถํ เพราะปกปิดอวัยวะอันจะยังหิริให้กำเริบนั้น. ปาฐะว่า หิริโกปินํ ปฏิจฺฉาทนตฺถํ บ้าง ความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า ปิณฺฑปาตํ คือ อาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               จริงอยู่ ท่านเรียกอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ปิณฺฑปาต เพราะตกไปในบาตรของภิกษุโดยความเป็นก้อน. หรือชื่อว่า ปิณฺฑปาโต เพราะก้อนข้าวตกลงไป. อธิบายว่า รวบรวมภิกษาที่ได้ในที่นั้นๆ.
               บทที่เหลือมีนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า เสนาสนํ คือ ที่นอนและที่นั่ง.
               ก็ภิกษุนอนที่ใดๆ จะเป็นในวิหาร หรือในเรือนมุงด้านเดียว ที่นั้นเรียกว่าเสนะ คือที่นอน. ภิกษุนั่งในที่ใดๆ ที่นั้นเรียกว่าอาสนะ คือที่นั่ง. ที่นอนที่นั่งเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าเสนาสนะ คือที่นอนที่นั่ง.
               บทว่า อุตุปริสฺสยวิโนทนปฏิสลฺลานารามตฺถํ เพื่อบรรเทาอันตรายเกิดแต่ฤดู เพื่อความยินดีในการหลีกเร้น คือฤดูนั่นแหละเป็นอันตราย จึงเรียกว่า อุตุปริสฺสย. เพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น. ฤดูใดเป็นฤดูไม่สบายทำให้ร่างกายและจิตใจผิดปกติ พึงบรรเทาฤดูนั้นด้วยการใช้เสนาสนะ. เพื่อบรรเทาฤดูนั้น. อธิบายว่า เพื่อความสุขอันเป็นเอกภาพ.
               ท่านกล่าวการบรรเทาอันตรายเกิดแต่ฤดู ด้วยบทมีอาทิว่า สีตปฏิฆาต กำจัดความหนาวโดยแท้.
               ท่านกล่าวว่า ก็เพราะประโยชน์ที่แน่นอน คือการปกปิดอวัยวะอันจะยังหิริให้กำเริบในการใช้จีวร นอกนั้นเป็นบางครั้งบางคราวฉันใด แม้ในบทนี้ก็ฉันนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวดังนี้หมายถึงความแน่นอน คือการบรรเทาอันตรายอันเกิดแต่ฤดู.
               อีกอย่างหนึ่ง ฤดูที่ได้กล่าวแล้วนี้คืออุตุเท่านั้น.
               แต่อันตรายมีสองอย่าง คืออันตรายปรากฏ ๑ อันตรายปกปิด ๑
               ในอันตรายสองอย่างนั้น อันตรายปรากฏ ได้แก่ ราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น. อันตรายปกปิด ได้แก่ ราคะและโทสะเป็นต้น. อันตรายเหล่านั้นไม่ทำการเบียดเบียนด้วยการไม่คุ้มครอง และด้วยการเห็นรูปไม่เป็นที่สบายเป็นต้น ในเสนาสนะใด ภิกษุรู้พิจารณาอย่างนี้แล้ว ใช้ เสนาสนะนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าพิจารณาเสนาสนะโดยแยบคาย ฯลฯ ใช้เสนาสนะเพื่อบรรเทาอันตรายเกิดแต่ฤดู.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ บริขารคือคิลานปัจจัยเภสัชต่อไป.
               ชื่อว่า ปจฺจโย เพราะต่อต้านโรค. อธิบายว่า ถึงความเป็นข้าศึกกัน. บทนี้เป็นชื่อแห่งความสบายอย่างใดอย่างหนึ่ง
               การกระทำของหมอ ชื่อว่าเภสัชชะ เพราะอนุญาตให้ใช้ยาเป็นปัจจัยแห่งคนไข้. เภสัช ก็คือคิลานปัจจัยนั่นเอง ชื่อว่าคิลานปัจจัยเภสัช. ท่านอธิบายว่า การกระทำของหมอ เป็นที่สบายของคนไข้ด้วยเภสัช มีน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ปริกฺขาโร ท่านเรียกว่า บริวารในประโยคมีอาทิว่า นครล้อมไว้เป็นอย่างดีด้วยการล้อมนคร ๗ ชั้น. เรียกว่าเครื่องประดับ ในประโยคมีอาทิว่า รถประดับด้วยสีขาว มีฌานเป็นเพลา มีวิริยะเป็นล้อ. เรียกว่าของใช้ ในบทมีอาทิว่า บรรพชิตควรหาของใช้อันจำเป็นแก่ชีวิต.
               แต่ในที่นี้ เป็นของใช้บ้าง เป็นบริวารบ้างก็ควร.
               อนึ่ง คิลานปัจจัยเภสัชนั้น ชื่อว่าเป็นบริวารของชีวิตบ้าง เพราะป้องกันไม่ให้ช่องเพื่อเกิดอาพาธอันจะทำความเสียหายแก่ชีวิต, ชื่อว่าเป็นของใช้บ้าง เพราะเป็นเหตุให้ชีวิตเป็นไปได้นาน. เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ปริกฺขาโร.
               ชื่อว่า คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาโร เพราะเป็นคิลานปัจจัยเภสัชและเป็นบริขาร. ซึ่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น. ท่านอธิบายว่า น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นอันหมออนุญาตแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นที่สบายของคนไข้ ชื่อว่าเป็นชีวิตบริขาร.
               บทว่า อุปฺปนฺนานํ คือ เกิดแล้ว เป็นแล้ว บังเกิดแล้ว.
               บทว่า พฺยาพาโธ ในบทว่า เวยฺยาพาธิกานํ นี้ คือ ธาตุกำเริบ. โรคเรื้อน ฝี ฝีหัวขาดเป็นต้น ซึ่งมีธาตุกำเริบเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า เวยฺยาพาธิกา เพราะเกิดจากธาตุกำเริบ.
               บทว่า เวทนา ได้แก่ ทุกขเวทนา คือเวทนาอันเป็นผลแห่งอกุศล. เพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดแต่ธาตุกำเริบเหล่านั้น.
               บทว่า อพฺยาปชฺฌปรมตาย เพื่อความไม่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง คือเพื่อความไม่มีทุกข์เป็นอย่างยิ่ง. อธิบายว่า ตลอดเวลาที่ละทุกข์ได้หมด.
               บทว่า สนฺตุฏฺโฐ โหติ ภิกษุเป็นผู้สันโดษ คือสันโดษด้วยปัจจัย.
               บทว่า อิตรีตเรน จีวเรน ด้วยจีวรตามมีตามได้ คือไม่ใช่สันโดษด้วยจีวรผืนใดผืนหนึ่ง บรรดาจีวรเนื้อหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต ยังใหม่และเก่า ที่แท้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรผืนใดผืนหนึ่งตามมีตามได้ ในบรรดาจีวรตามที่ได้แล้วเป็นต้น.
               จริงอยู่ ในจีวรมีสันโดษ ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ (สันโดษตามที่ได้) ๑ ยถาพลสันโดษ (สันโดษตามกำลัง) ๑ ยถาสารุปสันโดษ (สันโดษตามสมควร) ๑.
               แม้ในบิณฑบาตเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า วณฺณวาที กล่าวคุณ ความว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สันโดษย่อมไม่กล่าวคุณของความสันโดษ รูปหนึ่งเป็นผู้ไม่สันโดษ ย่อมกล่าวคุณของความสันโดษ รูปหนึ่งทั้งเป็นผู้ไม่สันโดษทั้งไม่กล่าวคุณของความสันโดษ รูปหนึ่งทั้งเป็นผู้สันโดษ ทั้งเป็นผู้กล่าวคุณของความสันโดษ เพื่อแสดงถึงการกล่าวคุณนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิตรีตรสนฺตุฏฺฐิยา จ วณฺณวาที ผู้กล่าวคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ดังนี้.
               บทว่า อเนสนํ การแสวงหาผิด คือการแสวงหาไม่สมควรมีประการต่างๆ มีประเภทเช่นเป็นทูตส่งข่าว เดินส่งข่าว.
               บทว่า อปฺปฏิรูปํ คือ ไม่สมควร.
               บทว่า ลทฺธา จ คือ ได้แล้วโดยธรรมโดยเสมอ.
               บทว่า อคธิโต ไม่อยาก คือปราศจากความโลภ. อมุจฺฉิโต ไม่หลง คือไม่หลงด้วยอยากได้ให้มาก.
               บทว่า อนชฺฌาปนฺโน ไม่พัวพัน คือไม่ถูกตัณหาท่วมทับ ไม่พัวพันด้วยตัณหา.
               บทว่า อาทีนวทสฺสาวี เห็นโทษ คือเห็นโทษในการแสวงหาไม่สมควร และในการบริโภคด้วยความอยาก.
               บทว่า นิสฺสรณปญฺโญ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ คือรู้เครื่องสลัดทุกข์ ดังที่กล่าวแล้วว่า ยาวเทว สีตสฺส ปฏิฆาตาย เพียงเพื่อกำจัดความหนาว.
               บทว่า อิตรีตรจีวรสนฺตุฏฺฐิยา คือ ด้วยความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้.
               บทว่า เนวตฺตานุกฺกํเสติ ไม่ยกตน คือไม่ยกตนว่าเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เราถือปังสุกูลิกังคธุดงค์ในเรือนยอดตั้งแต่วันอุปสมบท ไม่มีใครเช่นกับเรา.
               บทว่า น ปรํ วมฺเภติ ไม่ข่มผู้อื่น คือไม่ข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า ภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร หรือภิกษุเหล่านี้แม้เพียงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรก็ไม่มี.
               บทว่า โย หิ ตตฺถ ทกฺโข ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยันในจีวรสันโดษนั้น คือภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ฉลาด เฉียบแหลม ในการกล่าวคุณเป็นต้นในจีวรสันโดษนั้น.
               บทว่า อนลโส ไม่เกียจคร้าน คือเว้นจากความเกียจคร้านด้วยการกระทำเนืองๆ.
               บทว่า สมฺปชาโน ปติสฺสโต มีสัมปชัญญะ มีสติ คือประกอบด้วยปัญญาคือความรู้สึกตัวและด้วยสติ.
               บทว่า โปราเณ มีมาแต่โบราณ คือมิใช่เพิ่งเกิดในบัดนี้.
               บทว่า อคฺคญฺเญ คือ ที่รู้กันว่าเป็นวงศ์เลิศ.
               บทว่า อริยวํเส ฐิโต คือ ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะทั้งหลาย.
               อนึ่ง บทว่า อริยวํโส คือ อริยวงศ์ที่ ๘ แม้นี้ เป็นเชื้อสายของพระอริยะ ชื่อว่าเป็นประเพณีของพระอริยะ เหมือนวงศ์กษัตริย์ วงศ์พราหมณ์ วงศ์แพศย์ วงศ์ศูทร วงศ์สมณะ วงศ์ตระกูล ราชวงศ์ฉะนั้น.
               อริยวงศ์นี้นั้นท่านกล่าวว่า เลิศกว่าวงศ์เหล่านี้ เหมือนกลิ่นกระลำพักเป็นต้น เลิศกว่ากลิ่นไม้มีกลิ่นที่รากเป็นต้น.
               ก็วงศ์ของพระอริยะทั้งหลายเป็นใครบ้าง.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายและสาวกของพระตถาคตทั้งหลาย ท่านเรียกว่าเป็นอริยะ วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่าอริยวงศ์.
               จริงอยู่ ก่อนแต่นี้ไปในที่สุดสื่อสงไขยกับแสนกัปมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๔ พระองค์ คือพระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร. พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นอริยะ วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่าอริยวงศ์.
               ต่อมาหลังจากพระพุทธเจ้าเหล่านั้นปรินิพพานล่วงไปหนึ่งอสงไขย พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะทรงบังเกิด.
               ในกัปนี้พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ทรงอุบัติคือพระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราคือพระโคดม วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่าอริยวงศ์.
               อนึ่ง วงศ์ของพระอริยะทั้งหลายผู้เป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่าอริยวงศ์. ประดิษฐานอยู่ในอริยวงศ์นั้น.
               บทว่า อิตรีตเรน ปิณฺฑปาเตน คือ ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               แม้ในเสนาสนะเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อายตเนสุ คือ ในอายตนะทั้งหลายมีจักขวายตนะเป็นต้น.
               บทว่า ยโต คือ สำรวมแล้ว.
               บทว่า ยตฺโต คือ ระวังแล้ว.
               บทว่า ปฏิยตฺโต คือ ระวังอย่างยิ่ง.
               บทว่า คุตฺโต คือ คุ้มครองแล้ว.
               บทว่า โคปิโต ครอบครองแล้ว คือตั้งไว้แล้วดุจตั้งไว้ในหีบ.
               
               บทว่า รกฺขิโต รักษาแล้ว คือเก็บไว้แล้ว.
               บทว่า สํวุโต สำรวมแล้ว คือปิดแล้วด้วยการกั้นทวาร.
               บทว่า ขุํสิโต คือ ถูกติเตียน.
               บทว่า วมฺภิโต ถูกเขาดูหมิ่น คือถูกเขาไม่เลื่อมใส.
               บทว่า ฆฏฺฏิโต คือ ถูกเขาเสียดสี.
               บทว่า ครหิโต คือ ถูกเขาเหยียดหยาม.
               บทว่า อุปวทิโต ถูกเขาค่อนว่า คือถูกเขาด่า.
               บทว่า ผรุเสน ด้วยถ้อยคำหยาบ คือด้วยคำตัดจุดสำคัญของร่างกาย.
               บทว่า กกฺขเฬน ด้วยถ้อยคำกระด้าง คือทารุณ.
               บทว่า น ปฏิวชฺชา๑- คือ ไม่พึงกล่าวโต้ตอบ.
____________________________
๑- ในบาลีไม่มี แต่ ม. ยุ. มีคำนี้.

               บทว่า ฌานานุยุตฺโต พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน คือประกอบด้วยฌานที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเสพฌานที่เกิดแล้ว.
               บทว่า อุเปกฺขมารพฺภ สมาหิตตฺโต พึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นปรารภอุเบกขา คือพึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นยังอุเบกขาในจตุตถฌานให้เกิด.
               บทว่า ตกฺกาสยํ กุกฺกุจฺจิยูปจฺฉินฺเท พึงตัดวิตก ที่อยู่ของวิตกและความคะนอง คือพึงตัดวิตกมีกามวิตกเป็นต้น ที่อยู่ของวิตกมีกามสัญญาเป็นต้น และความคะนองมีคะนองมือเป็นต้น.
               บทว่า อนุปฺปนฺนสฺส วา ปฐมฌานสฺส อุปฺปาทาย เพื่อความเกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิด คือเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดในอัตภาพนั้น หรือเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เพื่อได้เฉพาะในสันดานของตน.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า อุปฺปนฺนญฺจ ปฐมชฺฌานํ อาเสวติ เสพปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้วต่อไป
               ในบทนี้มีความว่า เสพโดยเอื้อเฟื้อกระทำให้คล่องแคล่ว ทำให้เกิด ทำให้เจริญ ทำให้มาก ทำบ่อยๆ.
               บทว่า อุเปกฺขา ความเพิกเฉย คือตัตรมัชฌัตตุเบกขาอันเกิดขึ้นในจตุตถฌาน.
               บทว่า อุเปกฺขา เป็นบทแสดงสภาวะ.
               บทว่า อุเปกฺขนา กิริยาที่เพิกเฉย คืออาการเห็นแต่การเข้าถึง.
               บทว่า อชฺฌุเปกฺขนา กิริยาที่เพิกเฉยยิ่ง คือเห็นเป็นอย่างยิ่ง.
               บทว่า จิตฺตสมตา ความที่จิตสงบ คือความที่จิตเสมอเว้นความหย่อนและความมากเกินไป.
               บทว่า จิตฺตปสฺสทฺธตา ความที่จิตระงับ. อธิบายว่า ความที่จิตไม่คะนอง จิตไม่กระด้าง.
               บทว่า มชฺฌตฺตตา จิตฺตสฺส ความที่จิตเป็นกลาง. อธิบายว่า ความที่จิตไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล เป็นกลาง.
               บทว่า จตุตฺเถ ฌาเน อุเปกฺขํ อารพฺภ ปรารภอุเบกขาในจตุตถฌาน คืออาศัยตัตรมัชฌัตตุเบกขา อันเกิดขึ้นในจตุตถฌาน.
               บทว่า เอกคฺคจิตฺโต คือเป็นผู้มีจิตเป็นไปแล้วในอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               บทว่า อวิกฺขิตฺตจิตฺโต คือ เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่านเว้นจากอุทธัจจะ. วิตก ๙ มีนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า กามวิตกฺกานํ กามสญฺญาสโย กามสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่งกามวิตก. อธิบายว่า กามสัญญาอันเกิดขึ้นแก่ผู้ตรึกอยู่ด้วยกามวิตก เป็นที่อาศัย เป็นโอกาสที่อยู่ของวิตกเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า กามสญฺญาสโย.
               แม้ในพยาปาทวิตกเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า จุทิโต วจีภิ สติมาภินนฺเท ภิกษุถูกติเตียนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ คือภิกษุถูกติเตียนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติ ยินดีคำตักเตือนนั้น.
               บทว่า วาจํ ปมุญฺเจ กุสลํ พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล คือเปล่งวาจาอันตั้งขึ้นด้วยญาณ.
               บทว่า นาติเวลํ ไม่เกินขอบเขต คือไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต คือเกินขอบเขตของกาล และขอบเขตของศีล.
               บทว่า ชนวาทธมฺมาย คือ เนื้อธรรม คือการว่ากล่าวชน.
               บทว่า น เจตเยยฺย คือ ไม่พึงยังความคิดให้เกิด.
               บทว่า อิทํ เต อปฺปตฺตํ คือ กรรมนี้ไม่ถึงแก่ท่าน.
               บทว่า อสารุปฺปํ คือ กรรมนี้ไม่สมควรที่ท่านจะประกอบ.
               บทว่า อสีลฏฺฐํ ไม่ตั้งอยู่ในศีล คือ ชื่อว่า อสีลฏฺฐํ เพราะไม่ตั้งอยู่ในศีลอันเป็นความขวนขวายของท่าน. อธิบายว่า กรรมนี้ไม่เป็นประโยคสมบัติของท่านผู้ตั้งอยู่ในศีล.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อสิลิฏฺฐํ คือ ไม่งดงาม. ท่านพรรณนาความไว้ว่า มีวาจาไม่เกลี้ยงเกลา.
               บทว่า นิธีนํ ขุมทรัพย์ คือหม้อทรัพย์เต็มไปด้วยเงินและทองที่เขาฝังตั้งเอาไว้.
               บทว่า ปวตฺตารํ ผู้บอก คือดุจผู้ทำความอนุเคราะห์มนุษย์เข็ญใจ มีความเป็นอยู่คับแค้น กล่าวว่า เจ้าจงมา เราจะบอกอุบายเลี้ยงชีพอย่างเป็นสุขแก่เจ้า แล้วนำไปยังที่ฝังทรัพย์ไว้ เหยียดมือบอกว่า เจ้าจงถือเอาทรัพย์นี้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด.
               บทว่า วชฺชทสฺสินํ ผู้แสดงโทษ. ความว่า ผู้ชี้โทษมี ๒ จำพวกคือผู้คอยเสาะแสวงหาโทษด้วยประสงค์ว่า เราจักข่มภิกษุนั้นในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยกรรมอันไม่สมควร หรือด้วยความพลั้งพลาดนี้ และผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะชี้โทษด้วยการตรวจดูโทษนั้นๆ เพราะความเป็นผู้ใคร่ความเจริญแก่เขาด้วยศีลเป็นต้น เพื่อให้รู้สิ่งที่ไม่รู้ เพื่ออนุเคราะห์สิ่งที่รู้แล้ว.
               ในที่นี้ประสงค์เอาข้อนี้.
               ภิกษุไม่ควรโกรธบุคคลผู้เห็นความไม่สมควรหรือความผิดพลาดแล้วบอกกล่าว พึงเป็นผู้มีความยินดีอย่างเดียว ควรขอร้องว่า ท่านขอรับ ท่านได้ทำกรรมแก่กระผมอย่างใหญ่หลวง ขอท่านพึงตั้งอยู่ในฐานะอาจารย์และอุปัชฌาย์ของกระผม แล้วว่ากล่าวตักเตือนกระผมอีก ด้วยโอวาทดังนี้ เหมือนคนเข็ญใจไม่โกรธผู้คุกคาม แม้โบยตีแล้วแสดงขุมทรัพย์ให้ว่า เจ้าจงถือเอาทรัพย์นี้เถิด กลับพอใจเสียอีกฉะนั้น.
               บทว่า นิคฺคยฺหวาทึ กล่าวข่มขี่ คือ ภิกษุบางรูปเห็นความไม่สมควร หรือความผิดพลาดของสัทธิวิหาริกเป็นต้นแล้ว ไม่ว่ากล่าวด้วยคิดว่า ภิกษุรูปนี้อุปัฏฐากเราด้วยการให้น้ำบ้วนปากเป็นต้นโดยเคารพ หากเราจักว่ากล่าวเธอ เธอก็จักไม่อุปัฏฐากเรา เราก็จักเสื่อมไปด้วยประการฉะนี้ ดังนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวข่มขี่. ภิกษุนั้นโปรยหยากเยื่อลงในศาสนานี้
               ส่วนภิกษุใดเห็นโทษอย่างนั้นแล้ว คุกคามตามสมควรแก่โทษ ประณามทำทัณฑกรรม นำออกจากวิหารให้ศึกษา. ภิกษุนี้ชื่อว่า เป็นผู้กล่าวข่มขี่ เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉะนั้น.
               สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวข่มผู้ที่ควรข่ม เรากล่าวยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง ผู้ที่มีคุณความดีจักดำรงอยู่ได้.
               บทว่า เมธาวึ ผู้มีปัญญา คือผู้ประกอบด้วยปัญญา มีโอชะเกิดแต่ธรรม.
               บทว่า ตาทิสํ คือ พึงคบ พึงเข้าใกล้บัณฑิตเห็นปานนั้น. เพราะว่าเมื่ออันเตวาสิกคบอาจารย์เช่นนั้น ย่อมมีแต่ความประเสริฐอย่างเดียว ไม่มีความลามก มีแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมฉะนี้.
               บทว่า โอวเทยฺย พึงกล่าวสอน คือ เมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้วกล่าวสอน ชื่อว่าโอวาท เมื่อเรื่องยังไม่เกิดขึ้น พึงชี้ให้เห็นโทษในอนาคต ด้วยคำมีอาทิว่า แม้โทษก็จะพึงมีแก่ท่าน ดังนี้ ชื่อว่าอนุสาสน์. แม้กล่าวสอนต่อหน้าก็ชื่อว่าโอวาท ส่งทูตหรือคำสอนไปลับหลัง ชื่อว่าอนุสาสน์ กล่าวสอนแม้ครั้งเดียวก็ชื่อว่าโอวาท กล่าวสอนบ่อยๆ ชื่อว่าอนุสาสน์ หรือให้โอวาทอย่างเดียวก็ชื่อว่าอนุสาสน์ เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงให้โอวาทและอนุสาสน์ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อสพฺภา จากอสัตบุรุษ ความว่า พึงห้ามจากอกุศลธรรม พึงให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรม.
               บทว่า สตํ หิ โส ปิโย โหติ เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษ คือ บุคคลเห็นปานนั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               อนึ่ง ภิกษุผู้ให้โอวาทอนุสาสน์ ย่อมไม่เป็นที่รักของภิกษุผู้เป็นอสัตบุรุษ ผู้ไม่เห็นธรรม ผู้ข้ามปรโลกเสียแล้ว ผู้เพ่งต่ออามิส บวชเพื่อดำรงชีวิต ยังกล่าวทิ่มแทงด้วยหอกคือปากว่า ท่านมิใช่อุปัชฌาย์อาจารย์ของพวกผม เพราะเหตุไรจึงมาสั่งสอนพวกผม ดังนี้.
               บทว่า เอกกมฺมํ คือ มีกรรมเป็นอันเดียวกัน มีอปโลกนกรรม คือการบอกเล่าเป็นต้น.
               บทว่า เอกุทฺเทโส มีอุเทศเป็นอันเดียวกัน คือมีนิทานุเทศเป็นต้นเป็นอันเดียว.
               บทว่า สมสิกฺขตา คือ มีสิกขาเสมอกัน.
               บทว่า อาหตจิตฺตตํ คือ ความเป็นผู้มีจิตอันความโกรธกระทบแล้ว.
               บทว่า ขิลชตตํ คือ ความเป็นผู้มีจิตกระด้าง.
               บทว่า ปญฺจปิ เจโตขิเล คือ พึงทำลายความกระด้างแห่งจิต ในสิ่งทั้ง ๕ คือ ในพระพุทธเจ้า ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ๑.
               บทว่า ญาณสมุฏฺฐิตํ วาจํ คือ พึงเปล่งวาจาอันเกิดขึ้นในจิตสัมปยุตด้วยญาณ.
               บทว่า มุญฺเจยฺย คือ พึงเปล่ง.
               บทว่า อตฺถูปสํหิตํ คือ วาจาประกอบด้วยอรรถ.
               บทว่า ธมฺมูปสํหิตํ คือ วาจาประกอบด้วยธรรม.
               บทว่า กาลาติกฺกนฺตํ วาจํ น ภาเสยฺย คือ ไม่พึงเปล่งวาจาเกินกาล เพราะเวลานั้นล่วงไปแล้ว.
               บทว่า เวลาติกฺกนฺตํ เกินขอบเขต คือไม่พึงกล่าววาจาเกินขอบเขต เพราะขอบเขตของวาจาล่วงไปแล้ว.
               พึงทราบกาลและเวลาด้วยบททั้งสอง.
               บทว่า โย จ กาเล อสมฺปตฺเต ก็บุคคลใดยังไม่ถึงกาลอันควร คือยังไม่ถึงกาลที่ตนพูด.
               บทว่า อติเวลํ เกินเวลา คือพูดเกินเวลาที่กำหนด.
               บทว่า นิหโต เสติ คือ ถูกฆ่านอนอยู่.
               บทว่า โกกิลาเยว อตฺรโช คือ เหมือนลูกนกดุเหว่าเกิดแต่ดุเหว่าอันนางกาเลี้ยงไว้.
               บทว่า อถาปรํ คือ ลำดับต่อไปนี้.
               บทว่า ปญฺจ รชานิ ธุลี ๕ ประการ คือธุลี ๕ มีรูปราคะเป็นต้น.
               บทว่า เยสํ สติมา วินยาย สิกฺเข ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษา คือพึงตั้งสติศึกษาไตรสิกขา เพื่อกำจัดกิเลส. เพราะเมื่อศึกษาอยู่อย่างนี้ ย่อมอดกลั้นความกำหนัดในรูป ฯลฯ ในผัสสะ ไม่อดกลั้นอย่างอื่น.
               บทว่า รูปรโช ธุลีในรูป คือธุลีมีราคะเป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยรูป.
               แม้ในบทว่า สทฺทรโช เป็นต้นก็มีนัยเหมือนกัน.
               แต่นั้นภิกษุศึกษาเพื่อกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น พึงทราบคาถาว่า เอเตสุ ธมฺเมสุ โดยลำดับ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า เอเตสุ คือ ในรูปเป็นต้น.
               บทว่า กาเลน โส สมฺมา ธมฺมํ ปริวิมํสมาโน ภิกษุนั้นพึงพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล คือ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาสังขตธรรมทั้งปวง โดยนัยมีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ตามกาลที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เมื่อจิตฟุ้งซ่านเป็นกาลของสมถะ.
               บทว่า เอโกทิภูโต วิหเน ตมํ โส ภิกษุเป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืดเสีย คือ ภิกษุนั้นมีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง พึงกำจัดความมืดมีโมหะทั้งหมดเป็นต้นเสีย ไม่มีความสงสัยในข้อนี้.
               บทว่า อุทฺธเต จิตฺเต เมื่อจิตฟุ้งซ่าน คือ เมื่อจิตไม่สงบด้วยอำนาจแห่งวิริยินทรีย์.
               จริงอยู่ ความเพียรมีกำลัง สมาธิอ่อน ย่อมครอบงำความฟุ้งซ่าน เพราะความเพียรเป็นฝ่ายแห่งความฟุ้งซ่าน เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านอย่างนี้.
               บทว่า สมถสฺส กาโล คือ เป็นกาลแห่งความเจริญสมาธิ.
               บทว่า สมาหิเต จิตฺเต คือ เมื่อจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารและอัปปนา.
               จริงอยู่ สมาธิมีกำลัง ความเพียรอ่อน ย่อมครอบงำความเกียจคร้าน เพราะสมาธิเป็นฝ่ายแห่งความเกียจคร้าน. สมาธิอันวิริยะผูกไว้แล้ว ย่อมไม่ตกไปในความเกียจคร้าน. วิริยะอันสมาธิผูกไว้แล้ว ย่อมไม่ตกไปในความฟุ้งซ่าน. เพราะฉะนั้น ทั้งสองอย่างนั้นพึงทำให้เสมอกัน. เพราะความที่ธรรมทั้งสองเสมอกัน จึงเป็นอัปปนา.
               บทว่า วิปสฺสนาย กาโล เป็นกาลแห่งวิปัสสนา คือ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ เป็นกาลแห่งวิปัสสนาหลายอย่างด้วยอำนาจแห่งอนิจจลักษณะเป็นต้น. ศรัทธาแม้มีกำลังก็ควรแก่ผู้ประกอบสมาธิ. เมื่อเชื่อคือเชื่อมั่นอย่างนี้ ย่อมถึงอัปปนา. ศรัทธามีกำลังในสมาธิและปัญญา ย่อมควร เพราะผู้ประกอบสมาธิมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               จริงอยู่ ผู้นั้นย่อมถึงอัปปนาด้วยอาการอย่างนี้. ปัญญามีกำลังย่อมควรแก่ผู้ประกอบวิปัสสนา. เพราะผู้นั้นย่อมบรรลุการแทงตลอดลักษณะด้วยประการฉะนี้. แม้เมื่อทั้งสองอย่างเสมอกัน ก็เป็นอัปปนาแท้.
               บทว่า กาเล ปคฺคณฺหติ จิตฺตํ ประคองจิตไว้ในกาลอันควร คือในสมัยใด จิตหดหู่เพราะความเพียรย่อหย่อนยิ่งนักเป็นต้น ในสมัยนั้น ประคองจิตไว้ด้วยการตั้งอยู่ในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์.
               บทว่า นิคฺคณฺหาติ ย่อมข่ม คือ ในสมัยใด จิตฟุ้งซ่านด้วยปรารภความเพียรเกินไปเป็นต้น ในสมัยนั้น ข่มจิตไว้ด้วยตั้งอยู่ในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               บทว่า สมฺปหํสติ กาเลน ย่อมให้จิตรื่นเริงโดยกาล คือ ในสมัยใด จิตไม่มีอัสสาทะ (ความยินดี) เพราะความขวนขวายด้วยปัญญาอ่อน หรือเพราะไม่ได้รับความสุขอันเกิดแต่ความสงบ ในสมัยนั้น ให้เกิดความสังเวชด้วยพิจารณาสังเวควัตถุ (วัตถุให้เกิดความสังเวช) ๘ ประการ.
               สังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รวมเป็น ๔ ทุกข์ในอบายเป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีตเป็นที่ ๖ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคตเป็นที่ ๗ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบันเป็นที่ ๘. ทำจิตให้เกิดความเลื่อมใสด้วยระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย. นี้เรียกว่าให้จิตรื่นเริงตามกาล.
               บทว่า จิตฺตํ สมาทเห พึงตั้งจิตไว้ คือ สมัยใด ความที่ศรัทธาและปัญญา สมาธิและวิริยะ เสมอกัน สมัยนั้นพึงตั้งจิตคือพึงให้ถึงอัปปนา.
               บทว่า อชฺฌุเปกฺขติ กาเลน วางเฉยตามกาล คือ สมัยใด จิตอาศัยสัมมาปฏิบัติ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีอัสสาทะ เป็นไปเสมอในอารมณ์ ดำเนินสู่วิถีแห่งสมาธิ สมัยนั้น จิตนั้นย่อมไม่ถึงความขวนขวายในการประคอง ข่ม ให้ร่าเริง เหมือนสารถี เมื่อม้าวิ่งเรียบก็วางเฉยได้ นี้เรียกว่าวางเฉยตามกาล.
               บทว่า โส โยคี กาลโกวิโท โยคีผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในกาล คือ โยคีผู้นั้นเป็นผู้ประกอบแล้วในกรรมฐานมีประการดังกล่าว เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมในกาล คือ ยกย่อง ข่ม ให้ร่าเริง ตั้งมั่นและวางเฉย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตามกาลมีการประคองเป็นต้น ด้วยพระดำรัส มีอาทิว่า กิมฺหิ กาลมฺหิ ในกาลไหน ดังนี้. บัดนี้ เมื่อจะทรงวิสัชนากาลมีการประคองเป็นต้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ลีเน จิตฺตมฺหิ เมื่อจิตหดหู่ ดังนี้.
               เมื่อจิตถึงความหดหู่เพราะความเพียรย่อหย่อนยิ่งนักเป็นต้น เป็นกาลที่ควรประคองไว้ด้วยการตั้งอยู่ด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์.
               บทว่า อุทฺธตสฺมึ วินิคฺคโห เมื่อจิตฟุ้งซ่านเป็นกาลที่ควรข่มไว้ คือ เมื่อจิตฟุ้งซ่านเพราะปรารภความเพียรเกินไป เป็นกาลที่ควรข่มด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               บทว่า นิรสฺสาทคตํ จิตฺตํ สมฺปหํเสยฺย ตาวเท โยคีพึงยังจิตที่ถึงความไม่แช่มชื่นให้รื่นเริงในกาลนั้น คือ โยคีพึงยังจิตที่เว้นจากความแช่มชื่น เพราะขวนขวายทางปัญญาอ่อน หรือเพราะไม่ได้รับสุขอันเกิดแต่ความสงบ ให้รื่นเริงด้วยพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ หรือด้วยระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในขณะนั้น.
               บทว่า สมฺปหฏฺฐํ ยทา จิตฺตํ จิตรื่นเริงในกาลใด คือในกาลใด จิตเป็นธรรมชาติรื่นเริงตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า อลีนํ ภวติ นุทฺธตํ จิตเป็นธรรมชาติ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน คือ จิตเว้นจากความหดหู่และฟุ้งซ่าน เพราะผูกไว้ด้วยวิริยะและสมาธิ.
               บทว่า สมถนิมิตฺตสฺส ของสมถนิมิต คือ สมถะและนิมิตของกาลนั้น ชื่อว่าสมถนิมิต.
               บทว่า โส กาโล คือ กาลที่ท่านกล่าวถึงกาล ที่เว้นจากความหดหู่และฟุ้งซ่าน.
               บทว่า อชฺฌตตํ รมเย มโน ใจพึงยินดีในภายใน คือ จิตสัมปยุตด้วยฌาน พึงยินดีพึงให้อภิรมย์ในภายในอารมณ์มีกสิณเป็นต้น.
               บทว่า เอเตน เมวุปาเยน โดยอุบายนั้นนั่นแล คือ โดยอุบายดังที่กล่าวแล้วนั้นนั่นแล. อักษร ท่านกล่าวด้วยบทสนธิ.
               บทว่า อชฺฌุเปกฺเขยฺย ตาวเท พึงวางเฉยในกาลนั้น คือ ในกาลใด จิตนั้นตั้งมั่นด้วยอุปจารและอัปปนา ในกาลนั้น ชื่อว่าจิตตั้งมั่นแล้ว เพราะเหตุนั้น โยคีรู้แล้วไม่พึงทำความขวนขวายในการประคอง การข่ม การให้ร่าเริง ควรกระทำการวางเฉยอย่างเดียวในขณะนั้น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงย่อคาถาที่พระองค์ตรัสถามว่า กิมฺหิ กาลมฺหิ ปคฺคาโห ความประคองจิตควรมีในกาลไหน จึงตรัสพระดำรัส มีอาทิว่า เอวํ กาลวิทู ธีโร ธีรชนผู้รู้แจ้งกาลอย่างนี้ ดังนี้.
               บทว่า กาเลน กาลํ จิตฺตสฺส นิมิตฺตมุปลกฺขเย พึงกำหนดอารมณ์อันเป็นนิมิตของจิตตลอดกาลตามกาล. ความว่า พึงกำหนดเข้าไปกำหนดอารมณ์ของจิตอันสัมปยุตด้วยสมาธิตามกาลอันสมควร.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.


               จบอรรถกถาสารีปุตตนิทเทสที่ ๑๖               
               จบอรรถกถาอัฏฐกวรรคในมหานิทเทส               
               อรรถกถามหานิทเทส จบบริบูรณ์               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๖. สาริปุตตสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 788อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=10137&Z=11777
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=10208
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=10208
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :