ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 788อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๖. สาริปุตตสุตตนิทเทส

               อรรถกถาสารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในสารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ มีคำเริ่มต้นว่า น เม ทิฏฺโฐ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อิโต ปุพฺเพ ก่อนแต่นี้ คือก่อนแต่พระศาสดาเสด็จหยั่งลงที่สังกัสสนครนี้.
               บทว่า วคฺคุวโท คือ มีกระแสเสียงอันไพเราะ.
               บทว่า ตุสิตา คณิมาคโต พระศาสดาเสด็จจากดุสิตมาสู่ความเป็นคณาจารย์ คือเสด็จมาจากดุสิต เพราะเคลื่อนจากดุสิตมาสู่ครรภ์พระมารดา.
               ชื่อว่า คณี เพราะเป็นคณาจารย์ หรือว่าเสด็จมาจากเทวโลก
               ชื่อว่า ดุสิต เพราะเป็นที่ยินดี แล้วมาเป็นคณาจารย์. หรือว่าเสด็จมาเป็นคณาจารย์ของพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ยินดีแล้ว.
               บทว่า อิมินา จกฺขุนา ด้วยจักษุนี้ คือด้วยมังสจักษุตามปกติอันเนื่องอยู่ในอัตภาพนี้.
               บทว่า อิมินา อตฺตภาเวน คือ ด้วยอัตภาพครั้งสุดท้ายนี้.
               บทว่า ตาวตึสภวเน คือ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               บทว่า ปาริจฺฉตฺตกมูเล ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ คือภายใต้ไม้ทองหลาง.
               บทว่า ปณฺฑุกมฺพลสิลายํ บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ คือหลังแผ่นหินเช่นกับผ้ากัมพลสีแดง.
               บทว่า วสฺสํ วุฏฺโฐ คือ ประทับจำพรรษา.
               บทว่า เทวคณปริวุโต อันหมู่เทวดาห้อมล้อมแล้ว.
               บทว่า โอติณฺโณ คือ เสด็จลงแล้ว.
               บทว่า อิมํ ทสฺสนํ ปุพฺเพ คือ เว้นการเห็นครั้งนี้ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย.
               บทว่า น ทิฏฺโฐ คือ ไม่เคยเห็นในกาลอื่น.
               บทว่า ขตฺติยสฺส วา คือ ไม่เคยได้ยินต่อกษัตริย์ตรัสบอก.
               แม้ในพราหมณ์เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า มธุรวโท มีพระกระแสเสียงอันเสนาะ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่ามีพระกระแสเสียงอันเสนาะ เพราะพระศาสดาตรัสไพเราะ สมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ.
               ชื่อว่ามีกระแสเสียงเป็นที่ตั้งแห่งความรัก เพราะพระองค์ตรัสชวนให้เกิดความรัก ควรแก่ความรัก.
               ชื่อว่ามีพระกระแสเสียงดูดดื่มหทัย เพราะพระองค์ตรัสดูดดื่มหทัยซึ้งเข้าไปในดวงจิต.
               ชื่อว่ามีพระกระแสเสียงเพราะดุจนกการเวก เพราะพระองค์มีพระกระแสเสียงไพเราะดุจนกการเวก.
               บทว่า วิสฺสฏฺโฐ จ เป็นเสียงไม่ขัดข้อง คือไม่แหบเครือ ไม่ติดขัด.
               บทว่า วิญฺเญยฺโย จ เป็นเสียงที่ผู้ฟังรู้ได้ง่าย คือชัดเจน.
               บทว่า มญฺชุ จ เป็นเสียงไพเราะ คืออ่อนหวาน.
               บทว่า สวนีโย จ เป็นเสียงน่าฟังคือเสนาะ.
               บทว่า พินฺทุ จ คือ เป็นเสียงกลมกล่อม.
               บทว่า อวิสารี จ เป็นเสียงไม่แปร่ง คือไม่พร่า.
               บทว่า คมฺภีโร จ เป็นเสียงลึก คือซึ้ง.
               บทว่า นินฺนาทิ จ เป็นเสียงก้องคือมีกังวาน.
               บทว่า อสฺส คือ ของพระศาสดาพระองค์นั้น.
               บทว่า พหิทฺธา ปริสาย คือ ภายนอกบริษัท.
               บทว่า น นิจฺฉรติ คือ ไม่ออกไป. เพราะอะไร. เพราะพระผู้มีพระสุรเสียงเสนาะเห็นปานนี้ จงอย่าหายไปโดยไม่มีเหตุผล.
               บทว่า พฺรหฺมสโร มีพระสุรเสียงเหมือนพรหม คือชนเหล่าอื่นมีเสียงขาดไปบ้าง มีเสียงแตกไปบ้าง มีเสียงเหมือนกาบ้าง. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้มีพระสุรเสียงเช่นกับเสียงของมหาพรหม. เพราะเสียงของมหาพรหมแจ่มใส เพราะไม่แหบเครือด้วยดีและเสมหะ. แม้กรรมที่พระองค์ทรงกระทำไว้ ก็ทำให้ที่ตั้งของเสียงบริสุทธิ์. เสียงตั้งขึ้นตั้งแต่พระนาภี เพราะเป็นที่ตั้งบริสุทธิ์จึงแจ่มใส ตั้งขึ้นประกอบด้วยองค์ ๘.
               ชื่อว่ามีพระกระแสเสียงดุจเสียงนกการเวก เพราะตรัสดุจเสียงนกการเวก. อธิบายว่า มีพระสุรเสียงไพเราะเหมือนเสียงร้องของนกการเวก.
               บทว่า ตาเรติ ให้ข้าม คือให้พ้นที่อันไม่ปลอดภัย.
               บทว่า อุตฺตาเรติ ข้ามขึ้น คือข้ามให้ถึงพื้นที่อันปลอดภัย.
               บทว่า นิตฺตาเรติ ข้ามออก คือข้ามให้เลยที่อันไม่ปลอดภัย.
               บทว่า ปตฺตาเรติ ข้ามพ้น คือกำหนดข้าม. อธิบายว่า ข้ามเหมือนเอามือจับ.
               การข้ามการข้ามขึ้นเป็นต้นทั้งหมดนี้ เป็นที่ตั้งในที่อันปลอดภัยนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ให้ถึงพื้นที่อันเป็นที่ปลอดภัย.
               บทว่า สตฺเต ได้แก่ เวไนยสัตว์. ความกันดารคือชาตินั่นแล ชื่อว่าชาติกันดาร เพราะรกชัฏมาก เพราะไม่มีประโยชน์มาก และเพราะข้ามไปได้ยาก. ซึ่งชาติกันดารนั้น.
               บทว่า คณสฺส สุสฺสูสติ คือ คณะย่อมตั้งใจฟังพระองค์.
               บทว่า โสตํ โอทหติ เงี่ยหูฟัง คือเงี่ยหูประสงค์จะฟัง.
               บทว่า อญฺญาจิตฺตํ อุปฏฺฐเปติ คือ เข้าไปตั้งใจเพื่อประสงค์จะรู้.
               บทว่า คณํ อกุสลา วุฏฺฐาเปตฺวา พระองค์ยังคณะให้ออกจากอกุศล คือยังหมู่ชนให้ออกจากอกุศล คือความไม่ฉลาด.
               บทว่า กุสเล ปติฏฺฐาเปติ คือ ให้ตั้งอยู่ในกุศลอันเป็นความฉลาด.
               บทว่า สงฺฆี ชื่อว่าสังฆี เพราะมีหมู่โดยเป็นชุมนุมใหญ่. ชื่อว่า คณี เพราะมีคณะโดยมีบริษัท. ชื่อว่า คณาจริโย เพราะเป็นอาจารย์ของคณะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สองต่อไป.
               บทว่า สเทวกสฺส โลกสฺส ยถา ทิสฺสติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมปรากฏแม้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ดุจปรากฏแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก. หรือปรากฏโดยแท้จริง โดยไม่วิปริต ดุจปรากฏแก่โลกพร้อมด้วยเทวโลก.
               บทว่า จกฺขุมา ผู้มีพระจักษุอุดม.
               บทว่า เอโก คือ เป็นบุคคลเอกด้วยคุณธรรมอันได้แก่บรรพชาเป็นต้น.
               บทว่า รตึ คือ มีความยินดีต่อเนกขัมมะเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิรูปโก คือ กุณฑลที่ทำด้วยทองคำ.
               บทว่า มตฺติกากุณฺฑโล คือ ดุจกุณฑลที่ทำด้วยดิน.
               บทว่า โลหมาโสว สุวณฺณจฺฉนฺโน คือ เหมือนเหรียญมาสกโลหะหุ้มด้วยทองคำ.
               บทว่า ปริวารจฺฉนฺนา คือ อันบริวารห้อมล้อม.
               บทว่า อนฺโต อสุทฺธา คือ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ ณ ภายใน ด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า พหิ โสภมานา คือ งามแต่ภายนอกด้วยจีวรเป็นต้น.
               บทว่า อกปฺปิตอิริยาปถา จ มีพระอิริยาบถมิได้กำเริบ คือมีพระอิริยาบถมิได้สละออกไปแล้ว.
               บทว่า ปณิธิสมฺปนฺนา ความว่า มีความปรารถนาบริบูรณ์.
               บทว่า วิสุทฺธสทฺโท ความว่า มีพระกิตติศัพท์บริสุทธิ์. อธิบายว่า มีชื่อเสียงยกย่องตามความเป็นจริง.
               บทว่า ภฏกิตฺติสทฺทสิโลโก ทรงเพียบพร้อมด้วยพระเกียรติยศและชื่อเสียง คือทรงได้รับพระเกียรติยศและความสรรเสริญเป็นปกติ.
               หากถามว่า มีพระกิตติศัพท์ในที่ไหน.
               ตอบว่า ในที่ที่กล่าวไว้พิสดารแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ในนาคพิภพและสุบรรณพิภพ.
               บทว่า ตโต จ ภิยฺโย และยิ่งกว่านั้น คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรากฏยิ่งกว่านั้น คือยิ่งกว่าที่กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจของเวไนยสัตว์.
               บทว่า สพฺพํ ราคตมํ คือ ความมืด เพราะราคะทั้งสิ้น. แม้ในความมืด เพราะโทสะก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อนฺธกรณํ อันทำให้คนบอด คือทำการปิดกั้นโลกด้วยปัญญา.
               บทว่า อจกฺขุกรณํ ทำให้ไม่มีจักษุ คือทำให้ไม่มีปัญญาจักษุ.
               บทว่า อญาณกรณํ คือ ทำให้ไม่รู้ด้วยญาณ.
               บทว่า ปญฺญานิโรธิกํ คือ ทำให้ดวงตา คือปัญญาเสียไป.
               บทว่า วิฆาตปกฺขิกํ อันเป็นไปในฝ่ายแห่งความลำบาก คือความเบียดเบียน.
               บทว่า อนิพฺพานสํวตฺตนิกํ ไม่ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน คือไม่ให้เป็นไปเพื่อนิพพานอันเป็นอมตะไม่มีปัจจัย.
               บทว่า สพฺพนฺตํ เตน โพธิญาเณน พุชฺฌิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้ทั้งปวงด้วยพระโพธิญาณ คือตรัสรู้ธรรมทั้งสิ้นนั้นด้วยอำนาจแห่งมรรคญาณ ๔. ทรงรู้ ตรัสรู้ตามด้วยอำนาจแห่งปฐมมรรค ได้ทรงรู้ทั่ว ทรงแทงตลอดด้วยทุติยมรรค ทรงบรรลุ ตรัสรู้พร้อมซึ่งปฏิเวธด้วยอำนาจแห่งตติยมรรค ตรัสรู้โดยชอบด้วยแทงตลอดไม่มีส่วนเหลือด้วยอำนาจแห่งจตุตถมรรค.
               ควรประกอบ ๓ บทนี้ คือ อธิคจฺฉิ ทรงบรรลุเฉพาะ ๑ ผุเสสิ ทรงถูกต้อง ๑ สจฺฉิกาสิ ทรงทำให้แจ้ง ๑ ด้วยอำนาจแห่งผล. ทรงได้เฉพาะ ด้วยอำนาจแห่งปฐมมรรคและทุติยมรรค ทรงถูกต้องแล้วด้วยอำนาจแห่งตติยมรรค ทรงได้กระทำให้ประจักษ์ด้วยอำนาจแห่งจตุตถมรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้ทั้ง ๓ บทนั้น ย่อมได้ผลอย่างหนึ่งๆ นั่นเอง.
               บทว่า เนกฺขมฺมรตึ ความยินดีในเนกขัมมะ คือความยินดีเกิดขึ้น เพราะอาศัยบรรพชาเป็นต้น.
               บทว่า ปวิเวกรตึ ความยินดีในความสงัด คือความยินดีเกิดขึ้นในความสงัดกายเป็นต้น.
               บทว่า อุปสมรตึ ความยินดีในความสงบ คือความยินดีในความสงบกิเลส.
               บทว่า สมฺโพธิรตึ ความยินดีในสัมโพธิญาณ คือความยินดีเกิดขึ้นแก่ผู้พิจารณามรรค.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๓ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า พหูนมิธ ปฏฺฐานํ๑- ของคนหมู่มากอันเนื่องในศาสนานี้คือของคนหมู่มากมีกษัตริย์เป็นต้น ผู้เที่ยวปรารถนาอยู่ในโลกนี้. เพราะว่าศิษย์ทั้งหลายท่านเรียกว่า พทฺธ ผู้เนื่อง เพราะมีความประพฤติเนื่องด้วยอาจารย์.
____________________________
๑- บาลีเป็น พทฺธานํ.

               บทว่า อตฺถี ปญฺเหน อาคมํ คือ เรามีความต้องการปัญหาจึงมา. หรือมาด้วยปัญหาของผู้มีความต้องการ หรือมีปัญหาจึงมา.
               ท่านกล่าวว่า พุทฺโธ ด้วยประสงค์จะแสดงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ในบทว่า ตํ พุทฺธํ แม้ไม่มีบทว่า พุทฺโธ.
               บทว่า สยมฺภู ผู้เป็นพระสยัมภู คือเป็นเองไม่มีผู้แนะนำสั่งสอน.
               บทว่า อนาจริโย ไม่มีใครเป็นอาจารย์ เป็นคำขยายความของบทว่า สยมฺภู. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ไม่มีอาจารย์ ทรงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจด้วยพระองค์เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงชื่อว่า สยมฺภู พระผู้เป็นเอง.
               บทว่า ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ในธรรมทั้งหลายอันพระองค์ไม่เคยสดับมาก่อนเป็นต้น เป็นบทประกาศความของความที่พระองค์เป็นผู้ไม่เคยมีอาจารย์.
               บทว่า อนนุสฺสุเตสุ คือ ไม่เคยสดับมาแต่อาจารย์.
               บทว่า สามํ คือ พระองค์เอง.
               บทว่า อภิสมฺพุชฺฌิ ตรัสรู้ยิ่ง คือตรัสรู้ธรรมอันยิ่งด้วยพระองค์เอง.
               บทว่า ตตฺถ จ สพฺพญฺญุตํ ปาปุณิ คือ ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในอริยสัจนั้น.
               ท่านกล่าวอย่างนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อริยสัจ เหมือนพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้อริยสัจ ทรงเป็นพระสัพพัญญู ปาฐะว่า สพฺพญฺญุตํ ปตฺโต บ้าง.
               บทว่า พเลสุ จ วสีภาวํ ทรงถึงความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย คือทรงถึงความเป็นใหญ่ในพลญาณของพระตถาคต ๑๐ ประการ. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ท่านเรียกว่า พุทฺโธ. พระพุทธเจ้าเป็นสัตว์วิเศษ เป็นการบัญญัติขึ้นเพราะอาศัยพระญาณอันอะไรๆ กำจัดไม่ได้ พระนิมิตอันยอดเยี่ยม การบรรลุพระนิพพาน และพระขันธสันดานอบรมมาแล้วในธรรมทั้งปวง หรือเป็นบัญญัติขึ้น เพราะอาศัยการตรัสรู้อริยสัจ อันเป็นปทัฏฐานแห่งพระสัพพัญญุตญาณ. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันประกาศความเป็นพุทธะแจ่มแจ้งแล้วโดยอรรถ.
               บัดนี้ พระสารีบุตร เมื่อจะให้แจ่มแจ้งโดยพยัญชนะ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า พุทฺโธติ เกนตฺเถน พุทฺโธ.
               บทว่า พุทฺโธ ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะอรรถว่าอะไร.
               ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้อริยสัจ เหมือนอย่างพระผู้ตรัสรู้ ตรัสรู้แล้วในโลก. ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะยังหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้ เหมือนพูดกันว่า ใบไม้แห้ง เพราะลมพัดให้ใบไม้แห้ง.
               สองบทว่า สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าด้วยปัญญาสามารถตรัสรู้ธรรมทั้งปวง.
               ชื่อว่า พุทฺโธ เพราะทรงเห็นธรรมทั้งปวง. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงเห็นธรรมทั้งปวงด้วยญาณจักษุ. ชื่อว่า พุทฺโธ เพราะไม่มีผู้อื่นแนะนำ. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง มิใช่ผู้อื่นทำให้ตรัสรู้. ชื่อว่า พุทฺโธ เพราะเป็นผู้เบิกบาน. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้เบิกบานดุจปทุมจากสวนชนิดที่มีคุณต่างๆ.
               ชื่อว่า พุทฺโธ เพราะเป็นผู้สิ้นอาสวะ. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้ตื่นจากหลับคือกิเลสทุกชนิด ด้วยละธรรมอันนำให้จิตกำเริบโดยปริยาย ๖ เป็นอาทิ เหมือนบุรุษตื่นจากสิ้นสุดการนอนหลับ.
               บทว่า สงฺขา สงฺขาตํ โดยอรรถมีความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า สงฺขาเตน ความว่า โดยส่วนของคำพูด. ท่านกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว ทำให้วิเศษด้วยคำว่าโดยส่วนเดียว เพราะละกิเลสทั้งปวงพร้อมด้วยวาสนา กล่าวคือไม่มีกิเลสเข้าไปฉาบทา เพราะไม่มีเครื่องฉาบทาคือตัณหาและทิฏฐิ. เป็นผู้ไม่มีกิเลสด้วยกิเลสทั้งปวงอันเหลือ คือราคะ โทสะและโมหะ. เพราะเป็นผู้เสด็จไปตามเอกามรรค (ทางทางเดียว) คือธาตุทั้งหลายเป็นประโยชน์ในการไป แม้เพราะตรัสรู้ เพราะรู้ธาตุอันเป็นประโยชน์ในการไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าว ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเสด็จไปสู่เอกายนมรรค.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวเอกายนมรรคโดย ชื่อว่า มคฺค ที่กล่าวโดยชื่อว่า อยน ในหลายชื่อของทาง คือ
                         มคฺโค ปนฺโถ ปโถ ปชฺโช อญฺชสํ วฏุมายนํ
                         นานา อุตฺตรเสตุ จ กุลฺโล จ ภิสิ สงฺกโม.

               คำทั้งหมดนี้เป็นชื่อของทาง.
               เพราะฉะนั้น ทางจึงเป็นทางเดียว. อธิบายว่า ไม่ใช่สองทาง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเอกายนมรรค เพราะเป็นทางอันบุคคลเดียวพึงดำเนินไป.
               บทว่า เอเกน คือ สงัดเพราะละการคลุกคลีด้วยหมู่.
               บทว่า อยิตพฺโพ คือ พึงดำเนินไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยโน เพราะเป็นเหตุไป. อธิบายว่า ไปสู่นิพพานจากสังสารวัฏ.
               ชื่อว่า เอกายโน เพราะเป็นทางไปของคนประเสริฐ.
               บทว่า เอเกสํ คือ คนประเสริฐ.
               ด้วยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าสัตว์ทั้งปวง. เพราะฉะนั้น ท่านอธิบายไว้ว่า มรรคเป็นทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นทางไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยโน เพราะไปถึง. อธิบายว่า ไป คือเป็นไป.
               ชื่อว่า เอกายนมคฺโค เพราะเป็นทางไปในที่เดียว. ท่านอธิบายว่า มรรคเป็นไปในพระพุทธศาสนาแห่งเดียวเท่านั้น ไม่เป็นไปในที่อื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เอกายโน เพราะไปทางเดียว. ท่านอธิบายว่า ในเบื้องต้นแม้เป็นไปโดยมุขภาวนาและนัยต่างๆ ในเบื้องปลายก็ไปนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเอกายนมรรค. อธิบายว่า เป็นทางไปสู่นิพพานอย่างเดียว.
               ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้เดียวตรัสรู้ซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม มิใช่ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าเพราะตรัสรู้ด้วยผู้อื่น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร
               ท่านอธิบายไว้ว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมด้วยพระองค์เองเท่านั้น. คำว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเว้นจากความไม่รู้ เพราะได้เฉพาะความรู้ นี้เป็นปริยายของบทว่า พุทฺธิ พุทฺธํ โพโธ. ท่านอธิบายเพื่อให้รู้ว่า ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงประกอบด้วยคุณของพระพุทธเจ้า เหมือนอย่างพูดว่า ผ้าเขียว ผ้าแดง เพราะประกอบด้วยมีสีเขียวสีแดง.
               นอกจากนั้นศัพท์ว่า พุทฺโธ ในบทมีอาทิว่า พุทฺโธติ เนตํ นามํ พระมารดาเป็นต้นมิได้เฉลิมให้ นี้ท่านกล่าวไว้เพื่อให้รู้ว่านี้เป็นบัญญัติตามอรรถ.
               ในบทว่า พุทฺโธ พระมารดาเป็นต้นมิได้เฉลิมให้นั้น คือมิตร สหาย อำมาตย์ คนเลี้ยงดู ญาติฝ่ายบิดา สาโลหิตฝ่ายมารดา สมณะ ผู้เข้าถึงบรรพชา โภวาทีพราหมณ์ ผู้สงบบาป ผู้ลอยบาป หรือเทวดามีท้าวสักกะเป็นต้นและพรหม ก็มิได้เฉลิมให้.
               บทว่า วิโมกฺขนฺติกํ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลและในลำดับแห่งอรหัตมรรค) คืออรหัตมรรคอันเป็นวิโมกข์. ที่สุดแห่งวิโมกข์ คืออรหัตผล. ความมีในที่สุดแห่งวิโมกข์นั้น ชื่อว่าวิโมกขันติกะ. เพราะว่าความเป็นพระสัพพัญญูย่อมสำเร็จด้วยอรหัตมรรค. ความสำเร็จย่อมมีได้ในความเกิดขึ้นของพระอรหัตผล. เพราะฉะนั้น ความเป็นพระสัพพัญญู จึงมีในที่สุดแห่งวิโมกข์. แม้เนมิตตกนามนั้นก็เป็นชื่อมีในที่สุดแห่งวิโมกข์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิโมกฺขนฺติกเมตํ พุทฺธานํ ภควนฺตานํ.
               บทว่า พุทฺโธ นี้เป็นวิโมกขันติกนามของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า โพธิยา มูเล สห สพฺพญฺญุตญาณสฺส ปฏิลาภา ความว่า พร้อมกับได้พระสัพพัญญุตญาณ ในขณะตามที่กล่าวแล้ว ณ ควงไม้มหาโพธิ.
               บทว่า สจฺฉิกา ปญฺญตฺติ คือ บัญญัติเกิดขึ้นด้วยการทำให้แจ้งพระอรหัตผล หรือด้วยการทำให้แจ้งธรรมทั้งปวง คือบัญญัติว่า พุทฺโธ.
               บทว่า พุทฺโธ นี้ โดยพยัญชนะ ได้แก่การประกาศความเป็นพระพุทธเจ้า.
               ต่อจากนี้ บทสุดท้ายว่า วหสฺเสตํ ภารํ ข้อนี้จงเป็นภาระของพระองค์ ย่อมดำเนินไปตามบาลี เพราะมีนัยดังได้กล่าวแล้วในที่นั้นๆ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิชิคุจฺฉโต เมื่อภิกษุเกลียดอยู่ คืออึดอัดด้วยชาติเป็นต้น.
               บทว่า ริตฺตมาสนํ ที่นั่งอันว่างเปล่า คือเตียงและตั่งอันสงัด.
               บทว่า ปพฺพตานํ คุหาสุ วา คือ ในถ้ำแห่งภูเขาทั้งหลาย.
               ควรเชื่อมบทว่า ริตฺตมาสนํ ภชโต เสพที่นั่งอันว่างเปล่า.
               บทว่า ชาติยา วิชิคุจฺฉโต คือ เกลียดชาติ.
               แม้ในบทว่า ชราย พฺยาธินา เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัย ในบทว่า เสวโต เป็นต้นต่อไป.
               บทว่า เสวโต คือ เสพ.
               บทว่า นิเสวโต คือ เสพเสมอ.
               บทว่า สํเสวโต คือ เสพบ่อยๆ.
               บทว่า ปฏิเสวโต คือ เข้าไปเสพ.
               บทว่า ภชโต คือ เสพที่นั่งอันว่างเปล่า.
               บทว่า ปพฺพตปพฺภรา คือ ท้องภูเขา.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๕ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุจฺจาวเจสุ ในที่นอนสูงและต่ำ คือเลวและประณีต.
               บทว่า อาสเนสุ คือ เสนาสนะมีวิหารเป็นต้น.
               บทว่า คีวนฺโต คือ ร้องอยู่. ปาฐะว่า กีวนฺโต บ้าง. อธิบายว่า เพราะเหตุแห่งความกลัวในที่นั้นมีประมาณเท่าไร.
               บทว่า คฺรีวนฺโต คือ ส่งเสียงอยู่.
               บทว่า กุชนฺโต คือ เรียกอยู่ ได้แก่ทำเสียงเบาๆ.
               บทว่า นทนฺโต บันลืออยู่ คือทำเสียงดัง.
               บทว่า สทฺทํ กโรนฺโต คือ ออกเสียง.
               บทว่า กติ มีเท่าไร เป็นคำถาม.
               บทว่า กิตฺตกา มีประมาณเท่าไร เป็นคำถามโดยประมาณ.
               บทว่า กีวตกา มีกำหนดเท่าไร เป็นคำถามกำหนด.
               บทว่า กีวพหุกา มีประมาณเพียงไร เป็นคำถามกำหนดประมาณ.
               บทว่า เต เภรวา อารมณ์น่ากลัวเหล่านั้น คืออันตรายเกิดแต่ความน่ากลัวเหล่านั้น คืออารมณ์น่ากลัว.
               บทว่า กีวพหุกา มีมากเท่าไร.
               พระสารีบุตร เพื่อแสดงอารมณ์ที่ถาม จึงแก้ด้วยบทมีอาทิว่า สีหา พฺยคฺฆา ทีปิ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๖ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า กตี ปริสฺสายา คือ อันตรายมีเท่าไร.
               บทว่า อคตํ ทิสํ ทิศที่ไม่เคยไป คือนิพพาน.
               จริงอยู่ นิพพานนั้นชื่อว่า อคตํ เพราะไม่เคยไป ชื่อว่า ทิสา เพราะควรชี้แจง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อคตํ ทิสํ ดังนี้. บาลีว่า อมตํ ทิสํ ก็มี.
               บทว่า อภิสมฺภเว ความว่า พึงบรรลุ.
               บทว่า ปนฺตมฺหิ สงัด คือสุดเขต. ทิศที่ไม่เคยไป แม้แต่ฝันชื่อว่า อคตปุพฺพา. ทิศนั้นไม่เคยไป เพราะเหตุนั้น ทิศนั้นจึงชื่อว่า อคตปุพฺพา โดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อิมินา ทีเฆน อทฺธุนา คือ โดยกาลยาวนานนี้.
               บทว่า สมติตฺติกํ คือ ภาชนะน้ำมันเต็มถึงขอบปากภายใน.
               บทว่า อนวเสกํ คือ มิให้ไหลรด ได้แก่ ภาชนะน้ำมันที่ใส่น้ำมันลงไปจนเต็มทำมิให้ไหลรด.
               บทว่า ปริหเรยฺย พึงประคอง คือพึงนำไป พึงถือเอาไป.
               บทว่า เอวํ สจิตฺตมนุรกฺเข พึงรักษาจิตของตนเนืองๆ ฉันนั้น คือภิกษุวางจิตของตนดุจภาชนะเต็มด้วยน้ำมันนั้นไว้ในระหว่างธรรมทั้งสองอย่าง คือด้วยกายคตาสติและด้วยสติอันสัมปยุตในโคจร แล้วไม่ฟุ้งซ่านไปในโคจรภายนอกแม้ครู่เดียวฉันใด พระโยคาวจรผู้ฉลาดพึงรักษา คุ้มครองฉันนั้น.
               เพราะอะไร. เพราะ
                                   การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เบา มักตกไปในอารมณ์ใคร่
                         เป็นความดี จิตที่ฝึกแล้ว จะนำความสุขมาให้.

               เพราะฉะนั้น
                                   นักปราชญ์พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก
                         มักตกไปในอารมณ์ใคร่ จิตที่คุ้มครองแล้ว จะนำความ
                         สุขมาให้.

               เพราะจิตนี้
                                   ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็น
                         ที่อาศัย ผู้ใดสำรวมจิตไว้ได้ ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงมาร.
                                   ปัญญาของผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้สัทธรรม มีความ
                         เลื่อมใสเลื่อนลอย ย่อมไม่บริบูรณ์.
                                   อนึ่ง ภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ตื่นอยู่ ผู้มีกรรมฐานมั่นคง
                         เป็นสหาย มีจิตไม่ขวนขวาย มีจิตไม่ถูกกำจัด ละบุญ
                         และบาปได้แล้ว.

               เพราะฉะนั้น
                                   นักปราชญ์ย่อมทำจิตนั้นซึ่งดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษา
                         ยาก ห้ามยาก ให้ตรง เหมือนช่างศรดัดศรให้ตรงฉะนั้น.
                         เมื่อทำจิตให้ตรงอย่างนี้ พึงตามรักษาจิตของตน.

               บทว่า ปตฺถยาโน ทิสํ อคตปุพฺพํ พระโยคาวจรเมื่อปรารถนาทิศที่ไม่เคยไป ความว่า เมื่อปรารถนาทิศที่ไม่เคยไปในสงสารอันไม่มีเบื้องต้นและที่สุด เพราะปรารถนากรรมในกรรมฐานคือกายคตาสตินี้ พึงรักษาจิตของตนโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               ก็อะไรชื่อว่าทิศนั้น ท่านกล่าวมารดาบิดาเป็นต้น ชื่อว่าทิศใน คาถานี้ว่า
                         มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
               บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้อง
               ซ้าย ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง สมณพราหมณ์เป็นทิศ
               เบื้องบน คฤหัสถ์ผู้มีตนสมควรพึงนมัสการทิศเหล่านี้ ดังนี้.

               ทิศมีทิศบูรพาเป็นต้นท่านกล่าวว่าทิศ ในคาถานี้ว่า
                         ทิศทั้งหลาย ๑๐ เหล่านี้ คือทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔
               ทิศเบื้องบน ๑ ทิศเบื้องล่าง ๑ พระยานาคประดิษฐาน
               อยู่ทิศไหน จึงได้เห็นเขาสัตว์ทั้ง ๖ ในความฝัน ดังนี้.

               ท่านกล่าวนิพพานว่าเป็นทิศ ในคาถานี้ว่า
                         ผู้ครองเรือนให้ข้าวน้ำและผ้าแก่ผู้มีชื่อทั้งหลาย ย่อม
               กล่าวถึงทิศ ผู้มีความทุกข์ทั้งหลาย ถึงทิศอันมีธงขาวอย่าง
               ยิ่ง ย่อมมีความสุข ดังนี้.

               พระนิพพานนั้นแลท่านประสงค์เอาในที่นี้. พระนิพพานนั้นจักปรากฏ จักยืนยันได้ด้วยบทมีอาทิว่า ตณฺหกฺขยํ วิราคํ นิพพานเป็นที่สิ้นตัณหา สำรอกกิเลส ดังนี้ เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเรียกว่าทิศ. นิพพานท่านเรียกชื่อว่าทิศไม่เคยไป เพราะพาลปุถุชนไรๆ แม้แต่ฝันถึงก็ไม่เคย. ผู้ปรารถนานิพพานนั้น ควรทำความเพียรด้วยกายคตาสติ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า วชโต ดังนี้
               เมื่อภิกษุไปสู่ที่ใกล้แต่การเกิดแห่งมรรค ดำเนินไปในขณะดำรงอยู่ ก้าวไปแต่การเห็นมรรค.
               บทว่า อนฺเต คือ ตั้งอยู่ในที่สุด.
               บทว่า ปนฺเต คือ ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในป่าชัฏ.
               บทว่า ปริยนฺเต คือ ตั้งอยู่ในที่สุดรอบเพราะความไกล.
               บทว่า เสลนฺเต คือ ส่วนสุดแห่งภูเขาหิน.
               บทว่า วนนฺเต คือ ส่วนสุดแห่งป่าทึบ.
               บทว่า นทนฺเต คือ ส่วนสุดแห่งแม่น้ำ.
               บทว่า อุทกนฺเต คือ ในที่สุดสายน้ำ.
               บทว่า น กสิยติ น วปิยติ คือ เป็นที่ที่เขาไม่ไถไม่หว่าน.
               บทว่า ชนนฺตํ อติกฺกมิตฺวา ฐิเต มนุสฺสานํ อนูปจารํ ไม่เป็นอุปจารแห่งมนุษย์ล่วงเลยหมู่ชน คือเสนาสนะที่มนุษย์ทั้งหลายไม่เข้าไปทำมาหากินด้วยการไถและการหว่าน.
               พึงทราบวินิจฉัยใน คาถาที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า กฺยาสฺส พฺยปฺปถโย อสฺสุ ภิกษุพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำเช่นไร คือคำพูดของภิกษุนั้นพึงเป็นเช่นไร.
               บทว่า มุสา ในบทนี้ว่า มุสาวาทํ ปหาย ละมุสาวาท คือวจีประโยคหรือกายประโยคอันหักเสียซึ่งประโยชน์ของผู้มุ่งจะพูดให้ผิด.
               อนึ่ง เจตนาอันยังกายประโยคและวจีประโยคของผู้พูดให้คนอื่นเข้าใจผิดตั้งขึ้นแก่เขาด้วยประสงค์จะพูดให้ผิด ชื่อว่ามุสาวาท.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า มุสา คือ วัตถุไม่จริง ไม่แท้.
               บทว่า วาโท คือ พูดให้เขารู้โดยเป็นความจริง โดยเป็นความแท้.
               อนึ่ง เจตนาอันยังการบอกกล่าวอย่างนั้นให้ตั้งขึ้นแก่ผู้ประสงค์จะให้คนอื่นรู้วัตถุอันไม่เป็นจริง โดยเป็นความจริง ชื่อว่ามุสาวาท.
               มุสาวาทนั้นหักเสียซึ่งประโยชน์ใด เพราะประโยชน์นั้นน้อยจึงมีโทษน้อย เพราะประโยชน์มากจึงมีโทษมาก
               อีกอย่างหนึ่ง มุสาวาทมีโทษน้อยแก่คฤหัสถ์เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ไม่เป็นมุสาวาท เพราะประสงค์จะไม่ให้ของของตน. ผู้เป็นพยานพูดเพื่อหักเสียซึ่งประโยชน์มีโทษมาก มีโทษน้อยแก่บรรพชิตเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ด้วยประสงค์จะให้ขบขัน เพราะได้น้ำมันหรือเนยใสน้อยว่าวันนี้น้ำมันไหลเข้าไปในบ้านเหมือนแม่น้ำ. มีโทษมากแก่บรรพชิตผู้พูดโดยนัยมีอาทิว่า สิ่งที่ไม่เห็นได้เห็นแล้ว.
               มุสาวาทนั้นมีองค์ ๔ คือ เรื่องไม่จริง ๑ จิตคิดจะพูดให้ผิด ๑ พยายามจะพูดเรื่องนั้น ๑ ผู้อื่นรู้ความนั้น ๑.
               มุสาวาทเป็นสาหัตถิประโยค (ด้วยน้ำมือของตนเอง) เท่านั้น. พึงเห็นสาหัตถิประโยคนั้น ในการกระทำกิริยาให้ผู้อื่นสำคัญผิด ด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี. หากผู้อื่นรู้ความนั้นด้วยกิริยานั้น เจตนาอันตั้งขึ้นด้วยกิริยานี้ ย่อมสำเร็จเป็นกรรมคือมุสาวาทในขณะนั้นเอง.
               ชื่อว่า สจฺจวาที เพราะพูดจริง.
               ชื่อว่า สจฺจสนฺโธ ดำรงความจริง เพราะติดต่อ สืบต่อ ความจริงด้วยความจริง. อธิบายว่า ไม่พูดเท็จในระหว่างๆ. คนใดบางครั้งพูดเท็จ บางครั้งพูดจริง ความจริงกับความจริงไม่ต่อเนื่องกัน เพราะความจริงนั้นเป็นไปในระหว่างด้วยมุสาวาท เพราะฉะนั้น คนนั้นไม่ชื่อว่า สจฺจสนฺโธ ผู้ดำรงความจริง.
               อนึ่ง คนนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่พูดเท็จ แม้เพราะเหตุชีวิต ความจริงกับความจริงติดต่อกันไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า สจฺจสนฺโธ.
               บทว่า เถโต คือ ผู้มั่นคง. อธิบายว่า มีถ้อยคำมั่นคง.
               บุคคลคนหนึ่งมีถ้อยคำไม่มั่นคง ดุจผ้าย้อมด้วยขมิ้น ดุจตอไม้ปักที่กองแกลบและดุจลูกฟักวางไว้บนหลังม้า. บุคคลคนหนึ่งมีถ้อยคำมั่นคง ดุจจารึกบนแผ่นหิน และดุจเสาเขื่อน แม้จะเอาดาบตัดศีรษะก็ไม่พูดเป็นคำสอง บุคคลนี้เรียกว่าผู้มีถ้อยคำมั่น.
               บทว่า ปจฺจยิโก คือ มีถ้อยคำเชื่อถือได้.
               อธิบายว่า เชื่อได้. เพราะบุคคลบางคนเชื่อถือไม่ได้. ถามว่า คำนี้ใครพูด เมื่อเขาตอบว่า คนโน้นพูด ควรจะพูดว่า พวกท่านอย่าเชื่อถ้อยคำของคนนั้น. บุคคลหนึ่งเป็นผู้เชื่อถือได้. ถามว่า คำนี้ใครพูด. ตอบว่า คนโน้นพูด ผิว่า คนนั้นพูด ถ้อยคำนี้เป็นประมาณได้ ไม่มีข้อควรสอบสวน ในบัดนี้ ควรจะพูดว่าถ้อยคำนี้เป็นอย่างนั้นทีเดียว. บุคคลนี้เรียกว่ามีถ้อยคำควรเชื่อถือได้.
               บทว่า อวิสํวาทโก โลกสฺส ไม่พูดให้คลาดเคลื่อนแก่โลก. ความว่า ไม่ให้ชาวโลกเข้าใจผิด เพราะคำพูดจริงนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ปิสุณํ วาจํ ปหาย ละวาจาส่อเสียดต่อไป.
               กล่าววาจาของตนที่ทำความน่ารักในหัวใจ ของบุคคลนั้นและส่อเสียดบุคคลอื่น ชื่อว่าปิสุณวาจา วาจาส่อเสียด. วาจาที่ทำตนบ้าง ผู้อื่นบ้างให้หยาบ หรือวาจาที่หยาบเองไม่เพราะหู ไม่สุขใจ ชื่อว่าผรุสวาจา วาจาหยาบ. คำพูดเพ้อเจ้อไม่มีประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ. แม้เจตนาอันเป็นมูลเหตุของคำพูดเหล่านั้น ก็ได้ชื่อว่าปิสุณวาจา เป็นต้นนั่นเอง. ในที่นี้ท่านประสงค์เอาปิสุณวาจานั่นเอง.
               ในวาจาเหล่านั้น เจตนาอันยังกายประโยคและวจีประโยคให้ตั้งขึ้นของผู้มีจิตเศร้าหมอง เพื่อทำลายผู้อื่นหรือเพราะประสงค์จะให้เขารักตน ชื่อว่าปิสุณวาจา. ปิสุณวาจานั้นชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะผู้ที่ถูกทำความแตกกันมีคุณน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะผู้ที่ถูกทำความแตกกันมีคุณมาก.
               ปิสุณวาจานั้นมีองค์ ๔ คนอื่นที่ควรให้แตกกันมุ่งจะให้แตกกัน ด้วยคิดว่าคนเหล่านี้จักแตกกันอย่างนี้ ๑ ใคร่ให้เป็นที่รัก ด้วยคิดว่าเราจักเป็นที่รักเป็นผู้คุ้นเคยอย่างนี้ ๑ พยายามจะทำให้เขาแตกกัน ๑ ผู้นั้นรู้ความนั้น ๑.
               บทว่า อิเมสํ เภทาย เพื่อทำลายคนหมู่นี้ คือเพื่อทำลายคนที่ฟังในสำนักของผู้ที่กล่าวว่า ฟังจากข้างนี้ดังนี้.
               บทว่า ภินฺนานํ วา สนฺธาตา เป็นผู้สมานคนที่แตกกัน คือเมื่อมิตรสองคนหรือผู้ร่วมอุปัชฌาย์เดียวกัน แตกกันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เข้าไปหาคนหนึ่งๆ แล้วกล่าวว่า การแตกกันนี้ไม่สมควรแก่พวกท่านผู้เกิดในตระกูลเช่นนี้ ผู้เป็นพหูสูตอย่างนี้ แล้วทำความสมานกัน.
               บทว่า อนุปฺปทาตา คือ ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกัน ความว่า เห็นคนสองคนสามัคคีกัน แล้วกล่าวคำมีอาทิว่า เมื่อเกิดในตระกูลเห็นปานนี้ ประกอบด้วยคุณเห็นปานนี้ ข้อนี้เป็นความสมควร แล้วทำให้มั่นคง.
               ชื่อว่า สมคฺคาราโม เพราะมีความพร้อมเพรียงกัน เป็นที่มายินดี. อธิบายว่า ความพร้อมเพรียงกันไม่มีในที่ใด ไม่ปรารถนาแม้จะอยู่ในที่นั้น.
               บาลีว่า สมคฺคราโม บ้าง. ความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า สมคฺครโต คือ ยินดีแล้วในความพร้อมเพรียง. อธิบายว่า ไม่ปรารถนาจะละความพร้อมเพรียงเหล่านั้นไปอยู่ที่อื่น. ชื่อว่า สมคฺคนนฺที เพราะเห็นบ้าง ฟังบ้าง คนที่พร้อมเพรียงกันย่อมเพลิดเพลิน.
               บทว่า สมคฺคกรณึ วาจํ ภาสิตา กล่าววาจาทำให้เขาพร้อมเพรียงกัน คือกล่าววาจาแสดงคุณของความพร้อมเพรียงกันอันทำให้สัตว์ทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ไม่กล่าวคำนอกไปจากนี้.
               เจตนาหยาบโดยส่วนเดียว ยังกายประโยคและวจีประโยคตัดส่วนสำคัญของร่างกายของคนอื่น ชื่อว่าผรุสวาจา. วจีประโยค แม้ตัดส่วนสำคัญของร่างกาย ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะจิตละเอียดอ่อน.
               จริงอยู่ มารดาบิดา บางครั้งพูดกะบุตรอย่างนี้ว่า ขอให้โจรฟาดฟันพวกเจ้าให้เป็นชิ้นๆ ทีเถิด ดังนี้ ทั้งๆ ที่มารดาบิดาไม่ปรารถนาแม้ใบบัวตกบนศีรษะของพวกลูกๆ เหล่านั้น.
               อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์บางครั้งกล่าวกะศิษย์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า อะไรพวกนี้ไม่มีหิริโอตตัปปะเสียเลย พวกเจ้าจงไล่เขาออกไป. ที่แท้อาจารย์และอุปัชฌาย์ปรารถนาให้ศิษย์ทั้งหลายถึงพร้อมด้วยอาคมและอธิคม.
               อนึ่ง เพราะจิตละเอียดอ่อนย่อมไม่เป็นผรุสวาจาฉันใด เพราะคำพูดละเอียดอ่อนไม่เป็นผรุสวาจาหามิได้ฉันนั้น. คำพูดของผู้ประสงค์จะให้เขาตายว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบายเถิดดังนี้ ไม่เป็นผรุสวาจาหามิได้ เพราะจิตหยาบคาย คำพูดนั้นจึงเป็นผรุสวาจาแท้. วาจามีโทษน้อย เพราะผู้ที่พูดหมายถึงมีคุณน้อย มีโทษมาก เพราะผู้ที่พูดหมายถึงมีคุณมาก.
               ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือคนอื่นที่พึงด่า ๑ จิตโกรธ ๑ การด่า ๑.
               บทว่า เนลา โทษ ท่านเรียกว่า เอลา. ชื่อว่าเนลา เพราะวาจาไม่มีโทษ. ดุจคำว่า เนล ที่ท่านกล่าวไว้ในบทนี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท ราชรถไม่มีโทษคลุมด้วยสีขาว.
               บทว่า กณฺณสุขา ไพเราะหู คือวาจาเป็นสุขแก่หู เพราะไพเราะด้วยพยัญชนะ ไม่ทำให้เกิดเสียดแทงหูดุจแทงด้วยเข็ม.
               วาจาชื่อว่า เปมนียา เพราะมิให้เกิดความโกรธแล้ว ให้เกิดความรักในสกลกาย เพราะไพเราะด้วยอรรถ.
               วาจาชื่อว่า หทยงฺคมา เพราะหยั่งลงถึงหทัย เข้าไปถึงจิตได้โดยง่ายไม่ติดขัด.
               วาจาชื่อว่า โปรี เพราะเป็นถ้อยคำของชาวเมืองบริบูรณ์ด้วยคุณธรรม. เพราะเป็นถ้อยคำดีดุจนารีเจริญแล้วในเมือง. เพราะเป็นถ้อยคำของชาวเมือง.
               จริงอยู่ ชาวเมืองย่อมเป็นผู้กล่าวถ้อยคำเหมาะสม กล่าวกะคนปูนพ่อว่าพ่อ คนปูนพี่ว่าพี่.
               วาจาชื่อว่า พหุชนกนฺตา เพราะถ้อยคำเห็นปานนั้น ชนหมู่มากพอใจ.
               ชื่อว่า พหุชนมนาปา เพราะชนหมู่มากชอบใจ ทำความเจริญแก่ใจด้วยความเป็นผู้พอใจ.
               อกุศลเจตนาอันยังกายประโยคและวจีประโยคที่จะให้เขารู้ไม่มีประโยชน์ตั้งขึ้น ชื่อว่า สมฺผปฺปลาโป.
               สัมผัปปลาปะนั้นมีโทษน้อย เพราะอาเสวนะ (การคบหา การเสพ) น้อย, มีโทษมาก เพราะอาเสวนะมาก.
               สัมผัปปลาปะมีองค์ ๒ คือมุ่งกล่าวคำไม่มีประโยชน์ มีเรื่องภารตยุทธ์และเรื่องชิงสีดาเป็นต้น ๑ กล่าวถ้อยคำแบบนั้น ๑.
               ชื่อว่า กาลวาที เพราะพูดโดยกาลอันควร. อธิบายว่า พูดกำหนดกาลที่ควรพูด.
               ชื่อว่า ภูตวาที เพราะพูดคำจริงแท้ ที่เป็นตามสภาวะ.
               ชื่อว่า อตฺถวาที เพราะพูดอิงประโยชน์ในปัจจุบันและภพหน้า.
               ชื่อว่า ธมฺมวาที เพราะพูดอิงโลกุตรธรรม ๙.
               ชื่อว่า วินยวาที เพราะพูดอิงสังวรวินัย (การสำรวม) และปหานวินัย (การละ).
               วาจาเป็นหลักฐานเรียกว่า นิธาน. ชื่อว่า นิธานวาที เพราะพูดมีหลักฐานอ้างอิง. อธิบายว่า กล่าววาจาอันควรจำไว้ในหทัย.
               บทว่า กาเลน โดยกาลอันควร คือแม้กล่าววาจาเห็นปานนี้ว่า เราจักพูดวาจามีหลักฐานดังนี้ ก็ชื่อว่าไม่กล่าวในกาลอันไม่ควร. อธิบายว่า พิจารณากาลอันควรแล้วจึงพูด.
               บทว่า สาปเทสํ มีที่อ้างอิง. ความว่า มีเปรียบเทียบ และมีเหตุผล.
               บทว่า ปริยนฺตวตึ มีส่วนสุด. อธิบายว่า แสดงหัวข้อแล้วกล่าวโดยอาการที่หัวข้อของวาจานั้นปรากฏ.
               บทว่า อตฺถสญฺหิตํ ประกอบด้วยประโยชน์ คือถึงพร้อมด้วยประโยชน์ เพราะอันผู้จำแนกโดยนัยไม่น้อยไม่สามารถจะถือเอาได้.
               บุคคลผู้กล่าวประโยชน์นั้นย่อมกล่าวถึงประโยชน์ใด ย่อมกล่าววาจาอันประกอบด้วยประโยชน์ เพราะตั้งอยู่ด้วยประโยชน์นั้น ท่านอธิบายว่า ไม่ยกอย่างอื่นแล้วกล่าวอย่างอื่น.
               บทว่า จตูหิ วจีสุจริเตหิ คือ ด้วยการประพฤติดี อันประกอบแล้วด้วยวาจา ๔ อย่างดังกล่าวแล้วโดยนัยมีอาทิว่า มุสาวาทํ ปหาย ละการพูดเท็จดังนี้.
               บทว่า สมนฺนาคโต ประกอบแล้ว คือไม่เสื่อม.
               บทว่า จตุทฺโทสาปคตํ วาจํ ภาสติ คือ กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ อย่าง มีไม่เป็นที่รักเป็นต้น.
               บทว่า อตฺถิ โคจโร พระเถระประสงค์จะกล่าวถึงสมณโคจรโดยแท้จึงยกบทว่า อโคจโร มีอยู่ โคจร ก็มีอยู่ ดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ฉลาดหนทาง เมื่อบอกหนทางย่อมบอกทางมีภัยอันเป็นทางมีอันตรายที่ควรเว้นก่อนว่า ท่านจงเว้นทางซ้าย ถือเอาทางขวา ดังนี้ ภายหลังจึงบอกทางตรงอันเป็นทางปลอดภัยที่ควรถือเอาฉันใด พระธรรมเสนาบดีเช่นกับบุรุษผู้ฉลาดในทางก็ฉันนั้นเหมือนกัน บอกอโคจรที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ควรละก่อน แล้วประสงค์จะบอกโคจรในภายหลัง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตโม อโคจโร อโคจรเป็นไฉน.
               ทางที่บุรุษบอกจะถูกก็ได้ ผิดก็ได้. แต่ทางที่พระตถาคตตรัสบอกไม่ผิดหวัง ย่อมประชุมลงสู่นครคือนิพพานนั่นเอง ดุจวชิระที่พระอินทร์ขว้างออกไปฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า บุรุษผู้ฉลาดในทาง คำนั้นเป็นชื่อของพระตถาคต ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. หรือเพราะการบำเพ็ญกัลยาณธรรมของผู้ละบาปธรรมได้แล้ว ดุจวิธีการตกแต่งเครื่องประดับมีดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้น ของบุคคลผู้ชำระเหงื่อมลทินและสะเก็ด ด้วยการอาบน้ำตลอดศีรษะ ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระบอกอโคจรที่ควรละก่อน ดุจเหงื่อมลทินและสะเก็ด แล้วประสงค์จะบอกโคจรในภายหลัง ดุจวิธีตกแต่งเครื่องประดับมีดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้น ของบุคคลผู้ชำระเหงื่อมลทินและสะเก็ด ฉะนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตโม อโคจโร ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โคจโร ได้แก่ ที่สมควรเข้าไปเพื่อบิณฑบาตเป็นต้น.
               อโคจร คือที่ไม่ควรเข้าไป.
               ชื่อว่า เวสิยโคจโร เพราะมีหญิงแพศยาเป็นโคจร. อธิบายว่า ไม่เป็นที่ควรเข้าไปด้วยอำนาจความคุ้นเคยฉันมิตร. หญิงอาศัยรูปเลี้ยงชีพชื่อว่า เวสิยะ. เข้าไปหาหญิงเหล่านั้นร่วมประเวณีได้ง่ายด้วยอำนาจมิตรสันถวสิเนหา ชื่อว่าเป็น เวสิยโคจร. เพราะฉะนั้น ไม่ควรเข้าไปอย่างนั้น. เพราะอะไร. เพราะวิบัติด้วยการอารักขา.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุเข้าไปอย่างนั้น สมณธรรมที่รักษาคุ้มครองมาเป็นเวลานานย่อมฉิบหายไปด้วยวันเล็กน้อยนั่นเอง แม้หากไม่ฉิบหายก็ได้รับความติเตียน. เมื่อเข้าไปเกี่ยวกับทักษิณา ควรตั้งสติเข้าไป. หญิงผัวตายหรือผัวทิ้ง ชื่อว่า วิธวา หญิงหม้าย.
               บทว่า ถูลกุมาริโย สาวเทื้อ คือหญิงแก่ คือไม่มีความเป็นหญิงสาวเหลืออยู่.
               บทว่า ปณฺฑกา บัณเฑาะก์ คือพวกนปุงสกะ (กะเทย) มากไปด้วยคำพูดอิงโลก มีกิเลสหนา เร่าร้อนไม่หาย. โทษในการเข้าไปหากะเทยเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               แม้ในภิกษุณีทั้งหลายก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ธรรมดาภิกษุทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีพรหมจรรย์สูง. ภิกษุณีก็เหมือนกัน. ภิกษุเหล่านั้นยังสมณธรรมที่รักษาคุ้มครองแล้วให้ฉิบหายไปโดยวันเล็กน้อย ด้วยการทำสันถวะกะกันและกัน. แต่การไปถามเรื่องเจ็บป่วยควร. ได้ดอกไม้แล้วไป เพื่อบูชาบ้าง เพื่อโอวาทบ้าง ควรเหมือนกัน.
               บทว่า ปานาคารํ คือ โรงเหล้า โรงเหล้านั้นย่อมทำอันตรายแก่พรหมจรรย์ เป็นที่ไม่สงัดจากพวกนักเลงเหล้า.
               การเข้าไปในที่นั้นด้วยความชอบพอกับพวกนักเลงเหล้าเหล่านั้นไม่ควร. ย่อมเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า สํสฏฺโฐ วิหรติ วาชูหิ อยู่คลุกคลีด้วยพระราชา ต่อไป.
               บทว่า ราชาโน ได้แก่ ปกครองราชสมบัติ จะอภิเษกแล้วหรือยังไม่อภิเษกก็ตาม เรียกว่าพระราชา. ผู้ประกอบด้วยความเป็นอิสระอันใหญ่ เช่นเดียวกับความเป็นอิสระของพระราชาทั้งหลาย เรียกว่ามหาอำมาตย์ของพระราชา. นักบวชนอกศาสนามีความเห็นวิปริต เรียกว่าเดียรถีย์. ผู้ให้ปัจจัยแก่เดียรถีย์เหล่านั้นด้วยความภักดีเรียกว่าสาวกของเดียรถีย์.
               อธิบายว่า เป็นผู้คลุกคลีกับสาวกเดียรถีย์เหล่านั้น.
               บทว่า อนนุโลมิเกน คิหิสํสคฺเคน ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร คือภิกษุได้รับอันตรายของพรหมจรรย์ การล่วงบัญญัติและความเสื่อมสัลเลขปฏิบัติ ด้วยความคลุกคลีอันเป็นข้าศึกไม่สมควรแก่ไตรสิกขา ชื่อว่าความคลุกคลีอันไม่สมควร.
               เหมือนอย่างว่า ความเศร้าโศกร่วมกัน ความยินดีร่วมกัน ความมีสุขทุกข์ร่วมกัน กับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา เมื่อกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ถึงความขวนขวายด้วยตน ความเป็นผู้มีอาจารย์ร่วมกันด้วยความพอใจความชอบใจเป็นอันเดียวกันกับสาวกของเดียรถีย์. การนำมาซึ่งความเป็นผู้มีอาจาระเสมอกันด้วยความพอใจชอบใจเป็นอันเดียวกัน หรือความชื่นชมมีมากด้วยความเสน่หา. การคลุกคลีกับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา เป็นการกระทำอันตรายแก่พรหมจรรย์.
               การคลุกคลีกับเดียรถีย์นอกนี้เป็นการถือลัทธิ. อันผู้สามารถทำลายวาทะของเดียรถีย์เหล่านั้นแล้วให้ถือลัทธิของตน เข้าไปหาควร.
               บัดนี้พระสารีบุตรเพื่อจะแสดงอโคจรโดยปริยายอื่น จึงเริ่มคำมีอาทิว่า ยานิ วา ปน ตานิ กุลานิ อนึ่ง ตระกูลบางตระกูล ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสทฺธานิ ไม่มีศรัทธา คือเว้นจากศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นต้น. ตระกูลทั้งหลายย่อมไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู พระธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี ดังนี้.
               บทว่า อปฺปสนฺนานิ ไม่เลื่อมใส คือไม่สามารถทำจิตให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัวได้.
               บทว่า อกฺโกสกปริภาสกานิ คือ มักด่ามักบริภาษ. อธิบายว่า ย่อมด่าด้วยอักโกสวัตถุ (เรื่องที่ด่า) ๑๐ อย่าง อย่างนี้คือ ท่านเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นอูฐ เป็นโค เป็นลา เป็นคนตกในอบาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดียรัจฉาน ท่านไม่มีสุคติ ท่านหวังทุคติอย่างเดียว และบริภาษด้วยการแสดงภัยอย่างนี้ว่า ช่างเถิด ประเดี๋ยวเราจักประหารจักจองจำ จักฆ่าท่าน.
               บทว่า อนตฺถกามานิ มุ่งความเสื่อม คือไม่ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความเสื่อมอย่างเดียว.
               บทว่า อหิตกามานิ มุ่งสิ่งไม่มีประโยชน์เกื้อกูล คือปรารถนาความไม่มีประโยชน์เกื้อกูลอย่างเดียว ไม่ปรารถนาความมีประโยชน์เกื้อกูล.
               บทว่า อผาสุกามานิ มุ่งความไม่สบาย คือไม่ปรารถนาความสบาย ปรารถนาความไม่สบายอย่างเดียว.
               บทว่า อโยคกฺเขมกามานิ มุ่งความไม่ปลอดโปร่งจากกิเลส คือไม่ปรารถนาความปลอดโปร่งจากโยคะ ๔ คือความไม่มีภัย ปรารถนาความมีภัยอย่างเดียว.
               แม้สามเณรทั้งหลายก็สงเคราะห์เข้าในบทนี้ว่า ภิกฺขูนํ ดังนี้.
               สิกขมานาก็ดี สามเณรีก็ดี สงเคราะห์เข้าในบทว่า ภิกฺขุนีนํ ดังนี้นี้.
               การมุ่งความเสื่อมเหล่านั้นแก่บริษัท ๔ ทั้งปวง ผู้บวชและถึงความเป็นสมณะ อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ตถารูปานิ กุลานิ คือ ตระกูลทั้งหลายมีตระกูลกษัตริย์เป็นต้นเห็นปานนั้น.
               บทว่า เสวติ คือ อาศัยเป็นอยู่.
               บทว่า ภชติ คบหา คือเข้าไปใกล้.
               บทว่า ปยิรุปาสติ ติดต่อ คือเข้าไปใกล้บ่อยๆ.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ พึงทราบว่า นี้เรียกว่าอโคจร เป็นโคจรอันไม่สมควร ๓ ประการ คืออโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น ของผู้เที่ยวหาหญิงแพศยาเป็นต้น อโคจรมีพระราชาเป็นต้น ของผู้คลุกคลีกับพระราชาเป็นต้น อโคจรมีตระกูลไม่มีศรัทธาเป็นต้น ของผู้คบตระกูลไม่มีศรัทธาเป็นต้น.
               พึงทราบความเป็นอโคจรของภิกษุนั้นโดยปริยายแม้นี้.
               พึงทราบอโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น ชื่อว่าอโคจร เพราะอาศัยในกามคุณ ๕ ก่อน.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อะไรเป็นแดนอื่น ซึ่งเป็นอโคจรของภิกษุ คือกามคุณ ๕.
               พึงทราบอโคจรด้วยทำให้เกิดกิเลส ๔ อย่าง คืออโคจรมีพระราชาเป็นต้น ชื่อว่าอโคจร เพราะไม่เป็นอุปนิสัยแห่งการประกอบเนืองๆ ในฌาน และเพราะเหตุแห่งการบีบด้วยวิตกอันข้องอยู่ในลาภสักการะและเป็นเหตุให้ทิฏฐิวิบัติ ๑ อโคจรมีตระกูลไม่มีศรัทธาเป็นต้น.
               ชื่อว่าอโคจร เพราะนำความเสื่อมศรัทธาและความประทุษร้ายทางจิตมาให้ ๑ อโคจรมีการเข้าไปตามละแวกเรือนเป็นต้น. ชื่อว่าอโคจร เพราะเห็นรูปด้วยจักษุแล้วถือเป็นนิมิต และบริโภคโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วขวนขวายในการดูสิ่งอันเป็นข้าศึกแห่งกุศล ๑ กามคุณห้า ๑.
               บทว่า มา ภิกฺขเว อโคจเร จรถ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไปในอโคจร คืออย่าเที่ยวไปในที่ที่ไม่ควรเที่ยวไป.
               บทว่า ปรวิสเย ในแดนอื่น คือแดนศัตรู.
               บทว่า อโคจเร ภิกฺขเว จรตํ คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอเที่ยวไปในอโคจรอันเป็นที่ไม่สมควร.
               บทว่า ลจฺฉติ คือ จักได้ จักเห็น.
               บทว่า มาโร ได้แก่ เทวบุตรมารบ้าง มัจจุมารบ้าง.
               บทว่า โอตารํ ได้แก่ ช่องโอกาส.
               พึงทราบวินิจฉัยใน โคจรนิทเทส ดังต่อไปนี้.
               บทมีอาทิว่า น เวสิยโคจโร โหติ ภิกษุไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจรดังนี้ พึงทราบโดยตรงกันข้ามกับที่กล่าวไว้แล้ว. แต่ความต่างกันมีดังนี้.
               บทว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา โคจโร คือ สติปัฏฐาน ๔ เป็นโคจร ด้วยเป็นที่สมควรประพฤติ.
               บทว่า สเก คือ เป็นของของตน.
               บทว่า เปตฺติเก วิสเย คือ เป็นแดนอันมาแล้วแต่บิดา.
               บทว่า อารทฺธวิริยสฺส ปรารภความเพียร คือมีความเพียรอันได้แก่สัมมัปปธาน ๔ เข้าไปตั้งไว้แล้วโดยชอบ.
               บทว่า ถามวโต คือ มีกำลัง.
               บทว่า ทฬฺหปรกฺกมสฺส คือ มีความเพียรมั่น.
               บทว่า ยสฺสตฺตา เปสิโต ตนอันภิกษุส่งไปแล้ว คือสละอัตภาพเพื่อพระอรหัต.
               บทว่า อตฺตตฺเถ จ คือ ในอรหัตผลอันเป็นประโยชน์ของตน.
               บทว่า ญาเย จ คือ ในมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะ.
               บทว่า ลกฺขเณ จ คือ ในการแทงตลอดลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้น.
               บทว่า การเณ จ คือ ในเหตุ.
               บทว่า ฐานาฐาเน จ คือ ในฐานะและอฐานะ. อธิบายว่า ในเหตุและมิใช่เหตุ.
               บัดนี้พระสารีบุตรเพื่อแสดงให้พิสดาร จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยใน คาถาที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เอโกทิ นิปโก เป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น คือเป็นบัณฑิตมีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               บทว่า ชาตรูปสฺส โอฬาริกมฺปิ มลํ ธมติ ช่างทองกำจัดมลทินแม้อย่างหยาบของทอง คือนำมลทินหยาบของทองออกด้วยใช้ไฟ.
               บทว่า สนฺธมติ คือ นำออกโดยชอบ.
               บทว่า นิทฺธมติ กำจัด คือนำออกไป ทำไม่ให้เกิดอีก.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ฌาเปติ คือ เผา.
               บทว่า มชฺฌิมกมฺปิ อย่างกลางบ้าง คือละเอียดกว่านั้นบ้าง.
               บทว่า สุขุมกมฺปิ ละเอียดบ้าง คือละเอียดยิ่งบ้าง.
               บทว่า เอวเมว เป็นบทแสดงเปรียบเทียบ.
               บทว่า อตฺตโน โอฬาริเกปิ กิเลเส ธมติ กำจัดกิเลสอย่างหยาบของตน คือนำกิเลสหยาบมีกายทุจริตเป็นต้นออกไปด้วยความเพียรเผากิเลส.
               บทว่า มชฺฌิมเกปิ กิเลเส กำจัดกิเลสอย่างกลาง คือกิเลสอย่างกลางระหว่างกิเลสอย่างหยาบและอย่างละเอียด มีกามวิตกเป็นต้น.
               บทว่า สุขุมเกปิ กิเลสอย่างละเอียด คือกิเลสอย่างละเอียดยิ่งมีวิตกถึงญาติเป็นต้น.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิยา มิจฺฉาทิฏฺฐึ ธมติ กำจัดมิจฉาทิฏฐิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ คือนำออกซึ่งมิจฉาทิฏฐิอันวิปริตด้วยสัมมาทิฏฐิ ที่สัมปยุตด้วยมรรคพร้อมกับวิปัสสนา. แม้ในสัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๖. สาริปุตตสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 788อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=10137&Z=11777
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=10208
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=10208
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :