ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 268อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 321อ่านอรรถกถา 29 / 374อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

               อรรถกถามาคันทิยสุตตนิทเทสที่ ๙               
               ในมาคันทิยสุตตนิทเทสที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               พึงทราบความในคาถาแรกก่อนว่า แม้เพียงความพอใจในเมถุนก็มิได้มี เพราะเห็นธิดามารคือนางตัณหา นางอรดีและนางราคา ผู้เนรมิตรูปต่างๆ มาอย่างใคร่จัดที่โคนไม้อชปาลนิโครธ แล้วเหตุไรความพอใจในเมถุนจักมีเพราะเห็นรูปนี้ที่เต็มไปด้วยมูตรและกรีสของทาริกานี้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องรูปนั้นด้วยประการทั้งปวงแม้ด้วยเท้า การอยู่ร่วมกับรูปนั้นจักมีแต่ไหน.
               บทว่า มุตฺตปุณฺณํ ความว่า เต็มด้วยมูตรที่ตั้งอยู่เต็มภายในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยสามารถแห่งอาหารและฤดู.
               บทว่า กรีสปุณฺณํ ความว่า เต็มด้วยวัจจะที่ตั้งอยู่ปลายไส้ใหญ่สูงขึ้นไปประมาณ ๘ องคุลี ระหว่างนาภีกับกระดูกสันหลังส่วนล่าง กล่าวคือกระเพาะอาหารเก่า.
               บทว่า เสมฺหปุณฺณํ ความว่า เต็มด้วยเสมหะประมาณแล่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่พื้นห้อง.
               บทว่า รุหิรปุณฺณํ ความว่า เต็มด้วยเลือด ๒ อย่าง กล่าวคือเลือดที่สั่งสมไว้ประมาณเต็มบาตรใบ ๑ เต็มส่วนล่างของตับแล้วค่อยๆ ไหลไปบนหัวใจม้ามและปอด ทำม้ามหัวใจตับและปอดให้ชุ่มตั้งอยู่อย่างหนึ่งกล่าวคือเลือดเครื่องแล่นไป ซึ่งแผ่ไปทั่วร่างที่มีใจครอง โดยแล่นไปตามเส้นเลือด เว้นที่ผม ขน เล็บ ฟันพ้นจากเนื้อและหนังด้านหนังแห้ง ตั้งอยู่อย่างหนึ่ง.
               บทว่า อ.ฏฺฐิสงฺฆาตํ ความว่า เบื้องต่ำในสรีระทั้งสิ้นมีกระดูกกว่าสามร้อยท่อนอยู่เบื้องบนกระดูกทั้งหลาย กระดูกเหล่านั้นติดต่อกัน
               บทว่า นหารุสมฺพนฺธํ ความว่า ในสรีระทั้งสิ้นมีเส้นเอ็น ๙๐๐ ผูกพันกระดูกทั้งหลายไว้ ผูกพัน คือผูกรัดด้วยเส้นเอ็นเหล่านั้น.
               บทว่า รุหิรมํสเลปนํ ความว่า สรีระที่ฉาบด้วยเลือดเครื่องแล่นไป และด้วยชิ้นเนื้อเก้าร้อยชิ้นซึ่งตั้งฉาบทาบกระดูกกว่า ๓๐๐ ท่อนไว้.
               บทว่า จมฺมวินทฺธํ ความว่า หนังซึ่งตั้งอยู่ใต้ผิว บนพังผืดที่ปรากฏปกปิดสรีระทั้งสิ้น อันหนังนั้นหุ้มห่อไว้คือปกปิดไว้. บาลีว่า จมฺมาวนทฺธํ ก็มี.
               บทว่า ฉวิยา ปฏิจฺฉนฺนํ ความว่า อันผิวหนังที่ละเอียดยิ่งปิดบังคือปกปิดไว้.
               บทว่า ฉิทฺทาวฉิทฺทํ ความว่า มีช่องไม่น้อย.
               บทว่า อุคฺฆรึ ความว่า ไหลเข้าทางตาและปากเป็นต้น.
               บทว่า ปคฺฆรึ ความว่า ไหลออกทางส่วนเบื้องต่ำ.
               บทว่า กิมิสํฆนิเสวิตํ ความว่า อันหมู่สัตว์ที่มีชาติเดียวกันต่างๆ มีพวกปากเข็มเป็นต้นอาศัยแล้ว.
               บทว่า นานากลิมลปริปูรํ ความว่า เต็มไปด้วยส่วนที่ไม่สะอาดหลายอย่าง.
               ลำดับนั้น มาคันทิยพราหมณ์กล่าวคาถาที่ ๒ เพื่อจะทูลถามว่า
               ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายละกามที่เป็นของมนุษย์แล้ว ย่อมบวชเพื่อต้องการกามอันเป็นทิพย์ ก็สมณะนี้ไม่ปรารถนากามแม้เป็นทิพย์ แม้นี้ก็เป็นอิตถีรัตน์ สมณะนี้มีทิฏฐิอย่างไรหนอ?
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตาทิสญฺจ รตนํ พราหมณ์มาคันทิยะกล่าวหมายเอาอิตถีรัตน์ที่เป็นทิพย์.
               บทว่า นารึ หมายเอาธิดาของตน.
               บทว่า ทิฏฺฐิคตํ สีลพฺพตํ นุชีวิตํ ความว่าทิฏฐิ ศีล วัตรและชีวิต.
               บทว่า ภวูปปตฺติญฺจ วเทสิ กีทิสํ ความว่า หรือท่านกล่าวอุบัติภพของตนว่าเป็นเช่นไร?
               คาถา ๒ คาถาต่อจากนี้มีความเกี่ยวเนื่องปรากฏแล้วทีเดียว เพราะเป็นไปโดยนัยแห่งการวิสัชนาและปุจฉา.
               บรรดาคาถา ๒ คาถาเหล่านั้น คาถาแรกมีเนื้อความย่อว่า
               ดูก่อนมาคันทิยะ การตกลงในธรรมคือทิฏฐิ ๖๒ แล้วถือมั่นว่า เรากล่าวสิ่งนี้อย่างนี้ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ มีอยู่หามิได้คือย่อมไม่มี ไม่ประสบแก่เรานั้น เพราะเหตุไร? เพราะเมื่อเราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย ไม่ถือมั่นทิฏฐิอะไรๆ เมื่อเลือกเฟ้นสัจจะทั้งหลายอยู่ ได้เห็นนิพพานกล่าวคือความสงบภายใน เพราะความที่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นในภายในสงบแล้ว.
               บทว่า อาทีนวํ ได้แก่ อันตราย.
               บทว่า สทุกฺขํ ความว่า มีทุกข์ ด้วยทุกข์ทางกาย.
               บทว่า สวิฆาตํ ความว่า มีทุกข์ด้วยทุกข์ทางใจ.
               บทว่า สอุปายสํ ความว่า ประกอบด้วยความคับแค้น.
               บทว่า สปริฬาหํ ความว่า เป็นไปด้วยความกระวนกระวาย.
               บทว่า น นิพฺพิทาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อต้องการความเบื่อหน่ายในวัฏฏะ.
               บทว่า น วิราคาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อต้องการความคลายกำหนัดในวัฏฏะ.
               บทว่า น นิโรธาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อดับวัฏฏะ.
               บทว่า น อุปสมาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อเข้าไปสงบวัฏฏะ.
               บทว่า น อภิญฺญาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งพระนิพพาน.
               บทว่า น สมฺโพธาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อรู้แจ้งวัฏฏะด้วยบรรลุถึงความดับกิเลส.
               บทว่า น นิพฺพานาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์คืออมตนิพพาน.
               ก็บทว่า นิพฺพิทาย ในที่นี้ได้แก่ วิปัสสนา.
               บทว่า วิราคาย ได้แก่มรรค.
               บทว่า นิโรธาย อุปสมาย ได้แก่นิพพาน.
               บทว่า อภิญฺญาย สมฺโพธาย ได้แก่ มรรค.
               บทว่า นิพฺพานาย ได้แก่ นิพพานนั่นเอง.
               วิปัสสนาท่านกล่าวในฐานะเดียว มรรคท่านกล่าวในฐานะ ๓ นิพพานท่านกล่าวในฐานะ ๓ ด้วยประการอย่างนี้แล. พึงทราบกถาว่าด้วยการกำหนดด้วยประการฉะนี้.
               ก็โดยปริยาย บทเหล่านี้แม้ทั้งหมดย่อมเป็นไวพจน์ของมรรคบ้าง เป็นไวพจน์ของนิพพานบ้างนั่นแล.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ราคสฺส สนฺตึ ความว่า ได้เห็นนิพพานกล่าวคือความสงบภายในเพราะความที่ราคะภายในสงบแล้วดับแล้ว แม้ในบทว่า โทสสฺส สนฺตึ เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า ปจินํ เป็นบทอุทเทสของบทที่จะต้องชี้แจง.
               บทว่า วิจินนฺโต ความว่า ยังสัจจะทั้งหลายให้เจริญคือให้เป็นแจ้ง.
               บทว่า ปวิจินนฺโต ความว่า ยังสัจจะเหล่านั้นนั่นแลให้เป็นแจ้งเฉพาะอย่าง. อาจารย์บางพวกพรรณนาว่า แสวงหาอยู่.
               บทว่า อทฺทสํ ความว่า แลดูแล้ว.
               บทว่า อทฺทกฺขึ ความว่า แทงตลอดแล้ว.
               บทว่า อผุสึ ความว่า ถูกต้องด้วยปัญญา.
               บทว่า ปฏิวิชฺฌึ ความว่า ได้กระทำให้ประจักษ์ด้วยญาณ.
               คาถาที่ ๒ มีเนื้อความย่อว่า
               ทิฏฐิเหล่านี้ใดที่มาคันทิยพราหมณ์กล่าวว่า วินิจฺฉยา เพราะเหล่าสัตว์นั้นๆ ตกลงใจถือเอาแล้ว. และว่า ปกปฺปิตานิ โดยนัยมีภาวะอันปัจจัยทั้งหลายของตนปรุงแต่งเป็นต้น ท่านเป็นมุนีไม่ถือธรรมคือทิฏฐิเหล่านั้นเลย กล่าวคือบอกอรรถนั้นใดว่า ความสงบภายใน มาคันทิยพราหมณ์กล่าวแก่เราว่า ธีรชนทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ คืออรรถนั้น ธีรชนทั้งหลายประกาศไว้อย่างไร นิทเทสแห่งคาถานี้มีเนื้อความง่าย นอกจากบทที่เป็นปรมัตถ์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปรมตฺถํ ได้แก่ นิพพานอันสูงสุดใด.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงอุบายที่ธีรชนทั้งหลายใช้เป็นเครื่องประกาศอรรถนั้น พร้อมทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสพระคาถาว่า น ทิฏฺฐิยา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธศีลและพรตภายนอกจากญาณที่ได้แต่สมาบัติ ด้วยพระดำรัสว่า น ทิฏฺฐิยา เป็นต้น บัณฑิตพึงนำ ๓ บทแรกไปประกอบ อาหศัพท์ที่ตรัสไว้ในบทนี้ว่า สุทฺธิมาห กับ อักษร ในที่ทุกแห่งแล้วพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ไม่กล่าว คือไม่บอกความหมดจดด้วยทิฏฐิ. ก็ในบทนี้ฉันใด แม้ในบทต่อๆ ไปก็ฉันนั้น และในบทเหล่านั้น.
               บทว่า อทิฏฺฐิยา นาห ความว่า ไม่กล่าวเว้นสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐.
               บทว่า อสฺสุติยา ก็เหมือนกัน ความว่า ไม่กล่าวเว้นการฟัง.
               บทว่า อญาณา ความว่า เว้นกัมมัสสกตาญาณและสัจจานุโลมิกญาณ.
               บทว่า อสีลตา ความว่า เว้นปาติโมกขสังวร.
               บทว่า อพฺพตา ความว่า เว้นธุดงควัตร.
               บทว่า โน ปิ เตน พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า เราไม่กล่าวแม้ด้วยธรรมสักว่าทิฏฐิเป็นต้นแต่ละอย่างในบรรดาธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า เอเต จ นิสฺสชฺช อนุคฺคหาย ความว่า สละธรรมฝ่ายดำชนิดเป็นทิฏฐิเก่าเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยกระทำการถอนขึ้น และไม่ถือมั่น. แม้ธรรมฝ่ายขาวชนิดทิฏฐิเป็นต้นที่มีภายหลัง ด้วยการถึงความไม่ต้องถอนขึ้น.
               บทว่า สนฺโต อนิสฺสาย ภวํ น ชปฺเป ความว่า เป็นผู้สงบด้วยความเข้าไปสงบราคะเป็นต้น ด้วยการปฏิบัตินี้ ไม่อาศัยธรรมอะไรๆ ในจักษุเป็นต้น ไม่พึงหวังแม้ภพเดียว คือพึงเป็นผู้ไม่เริ่มตั้งใกล้เหตุ. อธิบายว่า นี้เป็นความสงบภายในของเขา.
               บทว่า สวนมฺปิ อิจฺฉิตพฺพํ ความว่า แม้การฟังด้วยสามารถแห่งสุตตะเป็นต้นก็พึงหวัง.
               บทว่า สมฺภารา อิเม ธมฺมา ความว่า ธรรมเหล่านี้มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นสัมภาระ ด้วยอรรถว่าเป็นอุปการะ.
               บทว่า กณฺหปกฺขิกานํ ความว่า ไปในฝ่ายอกุศล.
               บทว่า สมุคฺฆาตโต ปหานํ อิจฺฉิตพฺพํ ความว่า พึงหวังการละโดยการกำจัดคือการถอนขึ้นโดยชอบ.
               บทว่า เตธาตุเกสุ กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความว่า ที่เกิดแต่ความฉลาด เป็นไปในภูมิ ๓ กล่าวคือ กามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิ.
               บทว่า อตมฺมยตา ได้แก่ ความปราศจากตัณหา.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว มาคันทิยพราหมณ์มิได้กำหนดเนื้อความของพระดำรัสจึงกล่าวคาถาว่า โน เจ กิร เป็นต้น
               อนึ่งพึงประกอบ อาห ศัพท์กับ โน เจ กิร ศัพท์. เห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ถ้าบัณฑิตไม่กล่าว คือ ได้ยินว่า ถ้าบัณฑิตไม่พูด ดังนี้.
               บทว่า โมมุหํ ได้แก่ ความหลงยิ่ง หรือความหลง.
               บทว่า ปจฺเจนฺติ ความว่า ย่อมรู้. นิทเทสของคาถาแม้นี้ง่าย.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงอาศัยทิฏฐินั้นปฏิเสธคำถามของพราหมณ์นั้น จึงตรัสคาถาว่า ทิฏฺฐึ สุนิสฺสาย เป็นต้น
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า
               ดูก่อนมาคันทิยะ ท่านอาศัยทิฏฐิถามอยู่บ่อยๆ ทิฏฐิเหล่าใดที่ท่านถอนขึ้นแล้ว ท่านมาสู่ความลุ่มหลงในทิฏฐิที่ท่านถอนขึ้นเหล่านั้นนั่นแหละ ท่านไม่เห็นสัญญาที่ควรแม้น้อย แต่ธรรมนี้คือแต่ความสงบภายในที่เรากล่าวแล้ว หรือแต่การปฏิบัติ หรือแต่ธรรมเทศนา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเห็นธรรมนี้แต่ความหลง.
               บทว่า ลคฺคนํ นิสฺสาย ลคฺคนํ ความว่า ติดแน่นความเกี่ยวข้องทิฏฐิ.
               บทว่า พนฺธนํ ได้แก่ ความผูกพันทิฏฐิ.
               บทว่า ปลิโพธํ ได้แก่ ความกังวลทิฏฐิ.
               บทว่า อนุธการํ ปกฺขนฺโตสิ ความว่า ท่านเป็นผู้เข้าไปแล้วสู่ความมืดตื้อ.
               บทว่า ยุตฺตสญฺญํ ความว่า สัญญาอันควรในสมณธรรม.
               บทว่า ปตฺตสญฺญํ ความว่า สัญญาที่ได้เฉพาะแล้วในสมณธรรม.
               บทว่า ลกฺขณสญฺญํ ความว่า สัญญาที่ให้รู้จัก.
               บทว่า การณสญฺญํ ความว่า สัญญาในเหตุ.
               บทว่า ฐานสญฺญํ ความว่า สัญญาในการณ์.
               บทว่า น ปฏิลภสิ ความว่า ย่อมไม่ประสบ.
               บทว่า กุโต ญาณํ ความว่า ก็ท่านจักได้มรรคญาณด้วยเหตุอะไร.
               บทว่า อนิจฺจํ วา ความว่า เบญจขันธ์ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วไม่มี.
               บทว่า อนิจฺจสญฺญานุโลมํ วา ความว่า สัญญาที่เกิดขึ้นว่าเบญจขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง ชื่อว่าอนิจจสัญญา ญาณที่อนุโลม คือไม่ปฏิกูลแก่สัญญานั้น ชื่อว่าญาณอันอนุโลมแก่อนิจจสัญญา ญาณนั้นคืออะไร? คือวิปัสสนาญาณ.
               แม้ญาณที่อนุโลมแก่ทุกขสัญญาและอนัตตสัญญา ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็และครั้นทรงแสดงการถึงความวิวาทด้วยความหลงใหลในทิฏฐิที่ยึดถือไว้แก่มาคันทิพราหมณ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความที่พระองค์ผู้ปราศจากความลุ่มหลงในธรรมเหล่านั้นและเหล่าอื่น เป็นผู้ไม่มีความวิวาท จึงตรัสคาถาว่า สโม วิเสสี เป็นต้น
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า
               ผู้ใดย่อมสำคัญด้วยความถือตัวก็ตาม ด้วยทิฏฐิก็ตามด้วยบุคคลก็ตาม โดยส่วน ๓ อย่างนั้น ผู้นั้นพึงวิวาทด้วยความถือตัวนั้นด้วยทิฏฐินั้น หรือด้วยบุคคลนั้น แต่ผู้ใด อย่างตถาคต ไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราดีกว่าเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ย่อมไม่มีแก่ผู้นั้น.
               ปาฐะที่เหลือว่า น จ หีโน นิทเทสของคาถาแม้นี้ก็ง่ายเหมือนกัน จะมีอะไรยิ่งขึ้นไป.
               คาถาว่า สจฺจนฺติ โส เป็นต้นนั้นมีเนื้อความว่า
               บุคคลผู้เป็นพราหมณ์โดยนัยมีความเป็นผู้ลอยบาปแล้วเป็นต้นนั้นคือเห็นปานนั้น คือละมานะและทิฏฐิได้แล้ว เช่น ตถาคต จะพึงกล่าวสิ่งอะไร คือจะพึงพูดเรื่องอะไร หรือจะพึงพูดด้วยเหตุอะไรว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง หรือจะพึงวิวาท ด้วยมานะ ด้วยทิฏฐิ หรือด้วยบุคคลอะไรว่า ของเราจริง ของท่านเท็จ ความสำคัญว่าเสมอเขา โดยเป็นไปว่าเราเสมอเขา หรือความสำคัญว่าไม่เสมอเขา โดยเป็นไปด้วยความเป็น ๒ อย่างคือดีกว่าเขาและเลวกว่าเขา นอกนี้ย่อมไม่มีในพระขีณาสพใด คือเช่นตถาคต พระขีณาสพนั้นจะพึงโต้ตอบวาทะด้วยเหตุมีความเป็นผู้ถือตัวเป็นต้นอะไรเล่า.
               นิทเทสของคาถาแม้นี้ก็ง่าย.
               บุคคลเห็นปานนี้ พึงทราบอย่างแน่ชัดทีเดียวมิใช่หรือ คาถาว่า โอกมฺปหาย เป็นต้น พึงทราบดังต่อไปนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกมฺปหาย ความว่า รูปธาตุเป็นต้นเป็นที่อยู่ของวิญญาณ ละทิ้งด้วยการละฉันทราคะในรูปธาตุเป็นต้นนั้น.
               บทว่า อนิเกตสารี ความว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่คือรูปนิมิตเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งตัณหา.
               บทว่า กาเม อกุพฺพํ มุนิ สนฺถวานี ความว่า ไม่กระทำความเชยชิดอย่างคฤหัสถ์ในกาม.
               บทว่า กาเมหิ ริตฺโต ความว่า เป็นผู้ว่างจากกามทั้งปวง เพราะไม่มีฉันทราคะในกามทั้งหลาย.
               บทว่า อปุเรกฺขราโน ความว่า ไม่ยังอัตภาพให้บังเกิดยิ่งต่อไป.
               บทว่า กถนฺนุ วิคฺคยฺห ชเนน กยิรา ความว่า พึงกล่าวคำแก่งแย่งกับด้วยชน.
               บทว่า หลิทฺทกานิ ความว่า คหบดีผู้มีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า เยน ในประโยคว่า เยนายสฺมา มหากจฺจาโน เตนูปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า พระมหากัจจานะอยู่ในที่ใด คหบดีเข้าไปหาในที่นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเข้าไปหาพระมหากัจจานะด้วยเหตุใด คหบดีก็เข้าไปหาด้วยเหตุนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง คหบดีเข้าไปหาพระมหากัจจานะด้วยเหตุอะไร ด้วยความประสงค์บรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ผลิตดอกผลเป็นนิจ อันฝูงนกทั้งหลายเข้าไปหาด้วยความประสงค์กินผลที่ดี.
               บทว่า อุปสงฺกมิ มีอธิบายว่า เข้าไปใกล้.
               บทว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นบทแสดงความสิ้นสุดแห่งการเข้าไปหา.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ไปอย่างนั้น จากนั้นไปสู่ที่ระหว่างอาสนะ กล่าวคือที่ใกล้พระมหากัจจานะ.
               บทว่า อภิวาเทตฺวา ความว่า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ บัดนี้ คหบดีประสงค์จะถามถึงประโยชน์ที่เป็นเหตุให้ตนมาสู่ที่บำรุงพระมหากัจจานะ จึงนั่งประคองอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยประชุมสิบนิ้วไว้เหนือศีรษะอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง.
               บทว่า เอกมนฺตํ เป็นภาวนปุงสกนิทเทส เหมือนในประโยคว่า พระจันทร์พระอาทิตย์เวียนไปไม่พร้อมกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า นั่งอย่างไร? นั่งที่แห่งหนึ่ง คือนั่งอย่างนี้
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า นิสีทิ ความว่า สำเร็จการนั่ง จริงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต เข้าไปหาผู้ที่เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ย่อมนั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอาสนะ และคหบดีนี้ก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่เป็นบัณฑิตเหล่านั้น ฉะนั้นจึงนั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง.
               ก็นั่งอย่างไร ชื่อว่า นั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง.
               เว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่าง คือ ไกลเกินไป ๑ ใกล้เกินไป ๑ เหนือลม ๑ ที่สูง ๑ ตรงหน้าเกินไป ๑ ข้างหลังเกินไป ๑.
               นั่งไกลเกินไป ถ้าต้องการจะถาม จะต้องถามด้วยเสียงดัง, นั่งใกล้เกินไป จะทำการเสียดสี, นั่งเหนือลม จะเบียดเบียนหรือกลิ่นตัว, นั่งที่สูง ประกาศความไม่เคารพ, นั่งตรงหน้าเกินไป ถ้าต้องการจะดู ก็จะต้องสวนตากัน, นั่งหลังเกินไป ถ้าต้องการจะดูก็จะต้องยื่นคอดู, เพราะฉะนั้น คหบดีแม้นี้จึงนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่าง เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ นั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า ได้กล่าวคำนี้ว่า วุตฺตมิทํ ภนฺเต กจฺจาน ภควตา อฏฺฐกวคฺคิเย มาคนฺทิยปญฺเห ดังนี้ มาคันทิยปัญหามีอยู่ในปัญหานั้น อันมีมาในอัฏฐกวรรค.
               บทว่า รูปธาตุ ประสงค์เอารูปขันธ์.
               บทว่า รูปธาตุราควินิพนฺธํ ความว่า ผูกพันไว้ด้วยราคะในรูปธาตุ.
               บทว่า วิญฺญาณํ ได้แก่ กัมมวิญญาณ.
               บทว่า โอกสารี ความว่า ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่มีเรือนเป็นต้น.
               ถามว่า ก็เหตุไรพระมหากัจจานะจึงไม่กล่าวในที่นี้ว่า วิญฺญาณธาตุ โข คหปติ ตอบว่า เพื่อกำจัดความหลงใหล.
               ก็บทว่า โอโก โดยอรรถท่านกล่าวถึงปัจจัย กัมมวิญญาณที่เกิดก่อน ย่อมเป็นปัจจัยทั้งแก่กรรมวิญญาณ ทั้งแก่วิปากวิญญาณที่เกิดที่หลัง และวิปากวิญญาณที่เกิดก่อน ย่อมเป็นปัจจัยทั้งแก่วิปากวิญญาณ ทั้งแก่กัมมวิญญาณที่เกิดทีหลัง ฉะนั้น พึงมีความหลงใหลว่า วิญญาณในที่นี้ ดวงไหนหนอ เพื่อกำจัดความหลงใหลนั้น พระมหากัจจานะจึงไม่ถือเอาวิญญาณนั้นกระทำการแสดงไม่ให้ปนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวอภิสังขารและวิญญาณฐิติ ๔ ด้วยสามารถเป็นอารมณ์ของวิบาก แม้เพื่อแสดงอภิสังขารและวิญญาณฐิติเหล่านั้น จึงไม่เอาวิญญาณในที่นี้.
               บทว่า อุปายุปาทานา ความว่า อุบาย ๒ ด้วยสามารถแห่งตัณหาอุบายและทิฏฐิอุบาย อุปาทาน ๔ มีกามุปาทานเป็นต้น.
               บทว่า เจตโส อธิฏฺฐานาภินิเวสานุสยา ความว่า เป็นเหตุยึดมั่น เป็นเหตุถือมั่น และเป็นเหตุนอนเนื่อง แห่งอกุศลจิต.
               บทว่า ตถาคตสฺส ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               จริงอยู่ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระขีณาสพทั้งหลายแม้ทั้งปวงละได้แล้วทีเดียว แต่ความเป็นขีณาสพของพระศาสดาปรากฏยิ่งในโลก ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า ตถาคต นี้โดยที่สุดเบื้องบน.
               เพราะเหตุไร? ท่านจึงถือเอาวิญญาณ ในบทว่า วิญฺญาณธาตุยา นี้
               เพื่อแสดงการละกิเลส เพราะในขันธ์ ๔ หรือขันธ์ ๕ ยังละกิเลสไม่ได้หมดที่เดียว ฉะนั้น ท่านจึงถือเอาเพื่อแสดงการละกิเลส.
               บทว่า เอวํ โข คหปติ อโนกสารี โหติ ความว่า พระตถาคตไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ด้วยกัมมวิญญาณ จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า รูปนิมิตฺตนิเกตสารวินิพนฺธา ความว่า รูปนั่นแลชื่อว่านิมิต ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยของกิเลสทั้งหลาย ชื่อว่าที่อยู่ ด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่ กล่าวคือเป็นกิริยาแห่งอารมณ์ ฉะนั้นจึงชื่อว่าที่อยู่คือรูปนิมิต ความท่องเที่ยวไปด้วย ความผูกพันด้วย ชื่อว่าความท่องเที่ยวไปและความผูกพัน ท่านกล่าวความที่กิเลสทั้งหลายแผ่ไปและความผูกพันของกิเลสทั้งหลาย แม้ด้วยบททั้งหลาย ความท่องเที่ยวไปและความผูกพันในที่อยู่คือรูปนิมิต ชื่อว่าความท่องเที่ยวไปและความผูกพันในที่อยู่คือรูปนิมิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นความท่องเที่ยวไปและความผูกพันในที่อยู่คือรูปนิมิต. อธิบายว่า ด้วยความท่องเที่ยวไปของกิเลส และด้วยความผูกพันของกิเลส ที่เกิดขึ้นในที่อยู่คือรูปนิมิต.
               บทว่า นิเกตสารีติ วุจฺจติ ความว่า เรียกว่า ความท่องเที่ยวไปในที่อยู่ ด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัย ด้วยสามารถแห่งการกระทำอารมณ์.
               บทว่า ปหีนา ความว่า ความท่องเที่ยวไปและผูกพันของกิเลสในที่อยู่คือรูปนิมิตเหล่านั้น พระตถาคตละได้แล้ว.
               ก็เหตุไรในที่นี้ ท่านจึงเรียกเบญจขันธ์ว่า โอก เรียกอารมณ์ ๖ ว่า นิเกต.
               ก็ในเพราะความวิเสสด้วยอรรถว่าอาลัย ของเบญจขันธ์และอารมณ์เหล่านั้นแม้ที่มีอยู่เพราะฉันทราคะมีกำลังและมีกำลังน้อย ท่านจึงเรียกเรือนล้วนๆ นั่นแหละว่า โอก โดยตรง.
               บทว่า นิเกตํ ได้แก่ อุทยานเป็นที่อยู่อาศัยเป็นต้นของผู้ที่กำหนดหมายกันไว้ว่า วันนี้พวกเราจักเล่นในที่โน้น ในข้อนั้นฉันทราคะในเรือนที่ประกอบด้วยบุตร ภรรยาและข้าวเปลือก ย่อมมีกำลังฉันใด ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นไปในภายในก็ฉันนั้น เหมือนอย่างว่า ฉันทราคะในที่อุทยานเป็นต้นมีกำลังน้อยกว่าฉันทราคะในเรือนนั้นฉันใด ในอารมณ์ ๖ ภายนอกก็ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ท่านแสดงเทศนาอย่างนี้เพราะความที่ฉันทราคะมีกำลังและมีกำลังน้อย.
               บทว่า สุขิเตสุ สุขิโต ความว่า เมื่อพวกอุปัฏฐากมีความสุขด้วยสามารถแห่งทรัพย์ ข้าวเปลือกและลาภเป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีความสุขด้วยความสุขอาศัยเรือนว่า บัดนี้ เราจักได้จีวรที่ชอบใจ โภชนะที่ชอบใจ เที่ยวเสวยสมบัติที่ถึงแล้วด้วยตนกับด้วยอุปัฏฐากเหล่านั้น.
               บทว่า ทุกฺขิเตสุ ทุกฺขิโต ความว่า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแก่อุปัฏฐากเหล่านั้นด้วยเหตุอะไรๆ ก็ตาม ตนเองย่อมมีความทุกข์ถึง ๒ เท่า.
               บทว่า กิจฺจกรณีเยสุ ได้แก่ กรณียะกล่าวคือหน้าที่การงาน.
               บทว่า โวโยคํ อาปชฺชติ ความว่า ตนเองย่อมถึงการบำเพ็ญประโยชน์ คือความที่กิจเหล่านั้นอันตนพึงทำ.
               บทว่า กาเมสุ ได้แก่ วัตถุกาม.
               บทว่า เอวํ โข คหปติ กาเมหิ อริตฺโต โหติ ความว่า เป็นผู้ไม่เปล่าจากกิเลสกามทั้งหลาย คือไม่ว่าง เพราะมีกิเลสภายในอย่างนี้. ในฝ่ายขาว พึงทราบว่า เป็นผู้เปล่าคือว่าง เพราะไม่มีกิเลสเหล่านั้น.
               บทว่า ปุเรกฺขราโน ความว่า กระทำวัฏฏะไว้เบื้องหน้า.
               บทว่า เอวรูโป สิยํ เป็นต้น ความว่า ย่อมปรารถนาในรูปทั้งหลายมีรูปสูงต่ำ ดำขาวเป็นต้นว่าขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ ย่อมปรารถนาในเวทนาทั้งหลายมีสุขเวทนาเป็นต้นว่าขอเราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ย่อมปรารถนาในสัญญาทั้งหลายมีนีลสัญญาเป็นต้นว่าขอเราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ย่อมปรารถนาในสังขารทั้งหลายมีปุญญาภิสังขารเป็นต้นว่าขอเราพึงมีสังขารอย่างนี้ ย่อมปรารถนาในวิญญาณทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้นว่าขอเราพึงมีวิญญาณอย่างนี้.
               บทว่า อปุเรกฺขราโน ความว่า ไม่กระทำวัฏฏะไว้เบื้องหน้า.
               บทว่า สหิตมฺเม อสหิตนฺเต ความว่า คำของท่านไม่มีประโยชน์ ไม่สละสลวย คำของข้าพเจ้ามีประโยชน์ สละสลวย หวานเหมือนน้ำผึ้ง.
               บทว่า อธิจิณฺณนฺเต วิปราวตฺตํ ความว่า คำใดที่ท่านสะสม ฝีกฝนเป็นเวลานานคล่องแคล่วดี คำนั้นทั้งหมดเปลี่ยนแปลงกลับไปชั่วขณะ เพราะอาศัยวาทะของเรา.
               บทว่า อาโรปิโต เต วาโท ความว่า เรายกโทษของท่านขึ้นแล้ว.
               บทว่า จร วาทปฺปโมกฺขาย ความว่า ท่านจงเข้าไปหาอาจารย์นั้นๆ แสวงหาที่เก่งๆ เดินทางเที่ยวไปเพื่อเปลื้องวาทะนี้.
               บทว่า นิพฺเพเธหิ วา สเจ ปโหสิ ความว่า ถ้าท่านสามารถเองทีเดียว ก็จงแก้ไขเสียในที่นี้นั่นแหละ คนแบบนี้นั้นน่าศึกษา.
               คาถาว่า เยหิ วิวิตฺโต เป็นต้น พึงทราบดังต่อไปนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยหิ ความว่า จากทิฏฐิเป็นต้นเหล่าใด.
               บทว่า วิวิตฺโต วิจเรยฺย ความว่า ว่างแล้วพึงเที่ยวไป.
               บทว่า น ตานิ อุคฺคยฺห วเทยฺย นาโค ความว่า บุคคลชื่อว่านาค ไม่พึงยึดถือทิฏฐิเหล่านั้นกล่าวโดยนัยว่า ไม่กระทำความชั่วเป็นต้น.
               บทว่า เอลมฺพุชํ ความว่า เกิดในน้ำกล่าวคือเอละ.
               บทว่า กณฺฏกวาริชํ ความว่า ดอกบัวมีก้านเป็นหนาม. มีอธิบายว่า ปทุม.
               บทว่า ยถา ชเลน ปงฺเกน จ นูปลิตฺตํ ความว่า ดอกบัวนั้นอันน้ำเปือกตมไม่เข้าไปติดฉันใด.
               บทว่า เอวํ มุนิ สนฺติวโท อคิทฺโธ ความว่า มุนีผู้กล่าวความสงบภายใน ไม่ติดพัน เพราะไม่มีความติดพัน.
               บทว่า กาเม จ โลเก จ อนูปลิตฺโต ความว่า เป็นผู้ไม่เข้าไปติดในกามแม้ ๒ อย่าง และในโลกมีอบายเป็นต้นด้วยกิเลสทั้งหลาย ๒.
               บทว่า อาคุํ น กโรติ ความว่า ไม่กระทำโทษมีอกุศลเป็นต้น.
               บทว่า น คจฺฉติ ความว่า ย่อมไม่ถึงโทษด้วยอำนาจอคติ.
               บทว่า นาคจฺฉติ ความว่า ไม่เข้าถึงกิเลสที่ละแล้ว.
               บทว่า ปาปกา แปลว่า ลามก.
               บทว่า อกุสลา ความว่า เกิดแต่ความเป็นผู้ไม่ฉลาด.
               บทว่า เต กิเลเส น ปุเนติ ความว่า กิเลสเหล่าใดอันบุคคลนั้นละได้แล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่มาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก.
               บทว่า น ปจฺเจติ ความว่า ไม่กลับเข้าถึง.
               บทว่า น ปจฺจาคจฺฉติ ความว่า ไม่กลับมาอีก.
               บทว่า ขรทณฺโฑ ความว่า ก้านของใบขรุขระ คือก้านหยาบ.
               บทว่า จตฺตเคโธ ความว่า สละความติดพัน.
               บทว่า วนฺตเคโธ ความว่า คายความติดพัน.
               บทว่า มุตฺตเคโธ ความว่า ตัดความติดพันที่เป็นเครื่องผูกพัน.
               บทว่า ปหีนเคโธ ความว่า ละความติดพัน.
               บทว่า ปฏินิสฺสฏฺฐเคโธ ความว่า สละคืนความติดพันด้วยประการที่ไม่งอกขึ้นสู่จิตอีก แม้ในบทว่าเป็นผู้มีความกำหนัดอันสละคืนแล้วเป็นต้นต่อไปก็นัยนี้เหมือนกัน. บทเหล่านี้ทั้งหมดนั่นแลเป็นไวพจน์แสดงภาวะที่คุ้นเคยแห่ง คหิตศัพท์ จะมีอะไรยิ่งขึ้นไป.
               คาถาว่า น เวทคู เป็นต้น พึงทราบดังต่อไปนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เวทคู ทิฏฺฐิยา ความว่า มุนีผู้ถึงเวทคือมรรค ๔ เช่นเราย่อมเป็นผู้ไม่ไปด้วยทิฏฐิ คือย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ หรือไม่ย้อนมาสู่ทิฏฐินั้นโดยสาระ ในคำเหล่านั้นมีเนื้อความของคำ ดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าทิฏฺฐิยายก เพราะอรรถว่าด้วยทิฏฐิ เป็นตติยาวิภัตติ.
               ชื่อว่าทิฏฺฐิยายก เพราะอรรถว่าไปสู่ทิฏฐิ เป็นทุติยาวิภัตติ.
               แม้ที่เป็นฉัฏฐีวิภัตติ เป็นทิฏฺฐิยา เพราะอรรถว่าการไปของทิฏฐิก็มี.
               บทว่า น มุติยา ส มานเมติ ความว่า มุนีนั้นย่อมไม่ถึงความถือตัวแม้ด้วยอารมณ์ที่ทราบ ชนิดมีรูปที่เขาทราบเป็นต้น.
               บทว่า น หิ ตมฺมโย โส ความว่า เป็นผู้ไม่มีตัณหา คือเป็นผู้ไม่มีตัณหานั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ด้วยสามารถแห่งตัณหาและทิฏฐิ แต่ผู้นี้ไม่เป็นเช่นนั้น.
               บทว่า น กมฺมุนา นาปิ สุเตน เนยฺโย ความว่า มุนีนั้นย่อมไม่เป็นผู้อันกรรมมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น หรือเสียงที่ได้ยินมีความหมดจดที่ได้ยินเป็นต้น นำไปได้.
               บทว่า อนูปนีโต ส นิเวสเนสุ ความว่า มุนีนั้นเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่นำเข้าไปแล้วในที่อาศัยคือตัณหาและทิฏฐิทั้งปวง เพราะละความนำเข้าไปทั้งสองได้แล้ว.
               กลิ่น รสและโผฏฐัพพะชื่อว่ารูปที่เขาทราบแล้ว ในบทว่า มุตรูเปน วา นี้.
               บทว่า มานํ เนติ ความว่า ย่อมไม่ถึงอัสมิมานะการถือเราถือเขา.
               บทว่า น อุเปติ ความว่า ย่อมไม่มาสู่ที่ใกล้.
               บทว่า น อุปคจฺฉติ ความว่า ย่อมไม่เข้าไปตั้งอยู่.
               บทว่า ตมฺมโย ได้แก่ กระทำความอิ่มใจ และแก่มุนีนั้นผู้เป็นอย่างนี้.
               คาถาว่า สญฺญาวิรตฺตสฺส เป็นต้น พึงทราบดังต่อไปนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สญฺญาวิรตฺตสฺส ความว่า แก่มุนีผู้ละกามสัญญาเป็นต้นด้วยภาวนาซึ่งมีเนกขัมมสัญญาเป็นสภาพถึงก่อน ด้วยบทนี้ ท่านประสงค์เอาผู้มีสมถะเป็นยานซึ่งเป็นอุภโตภาควิมุต.
               บทว่า ปญฺญาวิมุตฺตสฺส ความว่า แก่มุนีผู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงด้วยภาวนาซึ่งมีวิปัสสนาเป็นสภาพถึงก่อน ด้วยบทนี้ ท่านประสงค์เอาผู้เป็นสุกขวิปัสสก.
               บทว่า สญฺญญฺจ ทิฏฺฐิญฺจ เย อคฺคเหสุํ เต ฆฏฺฏมานา วิวทนฺติ โลเก ความว่า ก็ชนเหล่าใดยังถือสัญญามีกามสัญญาเป็นต้น ชนเหล่านั้นโดยเฉพาะพวกคฤหัสถ์ยังถือทิฏฐิซึ่งมีกามเป็นเหตุนั่นแหละ ชนเหล่านั้นโดยเฉพาะพวกบรรพชิต ย่อมกระทบกระทั่งวิวาทกันและกันมีธรรมเป็นเหตุ.
               บทว่า โย สมถปุพฺพงฺคมํ อริยมคฺคํ ภาเวติ ความว่า บุคคลใดกระทำสมถะให้เป็นสภาพถึงก่อน คือให้เป็นปุเรจาริก เจริญอริยมรรคพร้อมวิปัสสนา ยังสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน ยังอริยมรรคพร้อมวิปัสสนาให้เกิดขึ้นภายหลัง.
               บทว่า ตสฺส อาทิโต ความว่า อันบุคคลนั้นข่มเสียแล้วแต่ปฐมฌานเป็นต้น.
               บทว่า อุปาทาย ความว่า อิงแล้ว อาศัยแล้ว.
               บทว่า คนฺถา วิกฺขมฺภิตา โหนฺติ ความว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด ย่อมเป็นของอันบุคคลนั้นกระทำให้ไกลแล้ว.
               บทว่า อรหตฺตปฺปตฺเต ความว่า บรรลุอรหัตตผล.
               บทว่า อรหโต ความว่า ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล กิเลสทั้งปวงมีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดและโมหะเป็นต้น ย่อมเป็นสภาพอันพระอรหันต์ละเสียแล้ว.
               บทว่า โย วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ อริยมคฺคํ ภาเวติ ความว่า บุคคลใดกระทำวิปัสสนาให้เป็นสภาพถึงก่อนคือให้เป็นปุเรจาริก เจริญอริยมรรค ยังวิปัสสนาให้เกิดขึ้นก่อน เจริญสมาธิอันสัมปยุตด้วยอริยมรรคภายหลัง.
               บทว่า ตสฺส อาทิโต อุปาทาย ความว่า อันบุคคลนั้นอาศัยวิปัสสนาจำเดิมแต่เห็นแจ้ง.
               บทว่า วิกฺขมฺภิตา ในบทว่า โมหา วิกฺขมฺภิตา โหนฺติ นี้ ความว่า ให้ถึงที่ไกล.
               บทว่า สญฺญาวเสน ฆฏฺเฏนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดยังถือกามสัญญาเป็นต้น ชนเหล่านั้นย่อมเบียดเบียนกันด้วยสามารถแห่งสัญญา.
               บทว่า สงฺฆฏฺเฏนฺติ ความว่า ย่อมเบียดเบียนกันกว่านั้นๆ.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงเหล่าชนที่เบียดเบียนกัน ท่านจึงกล่าวความพิสดาร โดยนัยว่า ราชาโนปิ ราชูหิ วิวทนฺติ เป็นต้น.
               ในบทว่า อญฺญมญฺญํ ปาณีหิปิ อุปกฺกมนฺติ ความว่า ย่อมประหารกันและกันด้วยมือทั้งสอง.
               บทว่า เลฑฺฑูหิ ได้แก่ ด้วยก้อนดิน.
               บทว่า ทณฺเฑหิ ได้แก่ ด้วยไม้พอง.
               บทว่า สตฺเถหิ ได้แก่ ด้วยศัสตราสองคม.
               บทว่า อภิสงฺขารานํ อปฺปหีนตฺตา ความว่า เพราะความที่ยังละปุญญาภิสังขารเป็นต้นไม่ได้.
               บทว่า คติยา ฆฏฺเฏนฺติ ความว่า ย่อมเบียดเบียนกัน คือย่อมถึงความกระทบกระทั่งกันในคติอันเป็นที่พึ่งซึ่งจะต้องไป แม้ในนรกเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               คำที่เหลือในที่นี้ง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้ว.

               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส               
               อรรถกถามาคันทิยสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 268อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 321อ่านอรรถกถา 29 / 374อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=4023&Z=4611
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=6967
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=6967
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :