ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 181อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 29 / 268อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส

               อรรถกถาติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗               
               ในติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เมถุนมนุยุตฺตสฺส ความว่า ผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม.
               บทว่า อิติ ความว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลอย่างนี้.
               บทว่า อายสฺมา เป็นคำแสดงความรัก.
               บทว่า ติสฺโส เป็นชื่อของพระเถระนั้น พระเถระแม้นั้นก็ปรากฏโดยชื่อว่า ติสสะ พระเถระนี้ได้ปรากฏด้วยสามารถแห่งโคตรนั่นแลว่า เมตเตยยะ เพราะฉะนั้น ในอัตถุปปัตติกถาท่านจึงกล่าวว่า มีสหาย ๒ คนชื่อติสสเมตเตยะ.
               บทว่า วิฆาตํ ได้แก่ ความเข้าไปกระทบ.
               บทว่า พฺรูหิ แปลว่า โปรดบอก.
               บทว่า มาริส เป็นคำแสดงความรัก. ท่านอธิบายว่า ท่านผู้นิรทุกข์.
               บทว่า สุตฺวาน ตว สาสนํ ความว่า ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว.
               ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมปรารภสหาย ก็พระเถระนั้นเป็นผู้มีการศึกษาดีทีเดียว.
               บทว่า เมถุนธมฺโม นาม นี้เป็นบทอุทเทสเมถุนธรรมที่พึงชี้แจง.
               บทว่า อสทฺธมฺโม ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษคือชนชั้นต่ำ.
               บทว่า คามธมฺโม ได้แก่ ธรรมที่พวกชาวบ้านประพฤติ.
               บทว่า วสลธมฺโม ได้แก่ ธรรมของคนถ่อย.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวสลธรรม เพราะอรรถว่าเป็นธรรมชั่ว ดุจฝน เพราะกิเลสรั่วรด.
               บทว่า ทุฏฐุลฺโล ความว่า ชื่อว่าชั่วหยาบ เพราะอรรถว่า ชื่อว่าชั่ว เพราะกิเลสประทุษร้าย ชื่อว่าหยาบเพราะไม่ละเอียด ก็เพราะความเห็นก็ดี ความยึดถือก็ดี ความลูบคลำก็ดี ความถูกต้องก็ดี ความกระทบก็ดีที่เป็นบริวารของธรรมนั้นชั่วหยาบ ฉะนั้น ธรรมที่ชั่วหยาบนั้นจึงเป็นเมถุนธรรม.
               บทว่า โอทกนฺติโก ความว่า ชื่อว่ามีน้ำเป็นที่สุด เพราะอรรถว่าถือเอาน้ำ เพื่อความบริสุทธิ์ในที่สุดแห่งธรรมนั้น อุทกันตะนั่นแหละเป็นโอทกันติกะ. ชื่อว่าเป็นธรรมอันพึงทำในที่ลับ เพราะเป็นธรรมที่พึงทำในที่ลับ คือในโอกาสที่ปกปิด.
               ปาฐะว่า วินเย ปน ทุฏฐุลฺลํ โอทกนฺติกํ รหสฺสํ ดังนี้ก็มี.
               ในบท ๓ บทเหล่านั้น พึงเปลี่ยนบท โย โส ประกอบเป็น ยํ ตํ ความว่า อันใดชั่วหยาบ อันนั้นเป็นเมถุนธรรม, อันใดมีน้ำเป็นที่สุด อันนั้นเป็นเมถุนธรรม, อันใดพึงทำในที่ลับ อันนั้นเป็นเมถุนธรรม. แต่ในที่นี้ พึงทราบการประกอบบทอย่างนี้ว่า ธรรมใดเป็นธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมนั้นเป็นเมถุนธรรม ฯลฯ ธรรมใดเป็นธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมนั้นเป็นเมถุนธรรม ชื่อว่าธรรมคือความถึงพร้อมด้วยธรรมของคนคู่กัน เพราะเป็นธรรมอันคนคู่ๆ กันพึงถึงพร้อม. ประกอบความในบทนั้นว่า ความถึงพร้อมด้วยธรรมของคนคู่กันนั้น ชื่อว่าเมถุนธรรม.
               บทว่า กึการณา วุจฺจติ เมถุนธมฺโม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม ด้วยเหตุอะไร ด้วยปริยายอะไร.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงเหตุนั้นซึ่งท่านกล่าวด้วยประการฉะนี้ จึงกล่าวว่า อุภินฺนํ รตฺตานํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภินฺนํ รตฺตานํ ความว่า แห่งหญิงและชาย ๒ คนอันราคะย้อมแล้ว.
               บทว่า อวสฺสุตานํ ความว่า ชุ่มแล้วด้วยกิเลส.
               บทว่า ปริยุฏฺฐิตานํ ความว่า กำจัดและย่ำยีอาจาระที่เป็นกุศลตั้งอยู่ ดุจในประโยคว่า โจรปล้นในหนทาง เป็นต้น.
               บทว่า ปริยาทินฺนจิตฺตานํ ความว่า ผู้มีจิตกำจัดกุศลจิต คือทำให้สิ้นไปตั้งอยู่.
               บทว่า อุภินฺนํ สทิสานํ ความว่า ทั้ง ๒ คนมีกิเลสพอกัน.
               บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาวะ.
               บทว่า ตํ การณา ความว่า เพราะเหตุนั้น.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะยังความข้อนั้นให้สำเร็จด้วยอุปมา จึงกล่าวว่า อุโภ กลหการกา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโภ กลหการกา ความว่า ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น คน ๒ คนทำความทะเลาะกัน.
               บทว่า เมถุนกาติ วุจฺจนฺติ ความว่า เรียกว่า คนเป็นเช่นเดียวกัน.
               บทว่า ภณฺฑนการกา ความว่า ไปกระทำความมุ่งร้ายกันในที่นั้นๆ.
               บทว่า ภสฺสการกา ความว่า ทำความทะเลาะกันด้วยวาจา.
               บทว่า วิวาทการกา ความว่า กระทำคำพูดต่างๆ.
               บทว่า อธิกรณการกา ความว่า กระทำเหตุพิเศษที่ถึงการวินิจฉัย.
               บทว่า วาทิโน ความว่า กล่าวและกล่าวตอบกัน.
               บทว่า สลฺลาปกา ความว่า กล่าวเจรจา.
               บทว่า เอวเมวํ เป็นคำเปรียบเทียบด้วยอุปมา.
               บทว่า ยุตฺตสฺส ความว่า ประกอบพร้อม.
               บทว่า ปยุตฺตสฺส ความว่า ประกอบโดยเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า อายุตฺตสฺส ความว่า ประกอบเป็นพิเศษ.
               บทว่า สมายุตฺตสฺส ความว่า ประกอบโดยความเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า ตญฺจริตสฺส ความว่า กระทำเมถุนธรรมนั้น.
               บทว่า ตพฺพหุลสฺส ความว่า กระทำเมถุนธรรมนั้นให้มาก.
               บทว่า ตคฺครุกสฺส ความว่า กระทำเมถุนธรรมนั้นให้หนัก.
               บทว่า ตนฺนินฺนสฺส ความว่า มีจิตน้อมไปในเมถุนธรรมนั้น.
               บทว่า ตปฺโปณสฺส ความว่า มีกายน้อมไปในเมถุนธรรมนั้น.
               บทว่า ตปฺปพฺภารสฺส ความว่า มีกายมุ่งหน้าไปในเมถุนธรรมนั้น.
               บทว่า ตทธิมุตฺตสฺส ความว่า มีใจเที่ยวไปในเมถุนธรรมนั้น.
               บทว่า ตทาธิปเตยฺยสฺส ความว่า กระทำเมถุนธรรมนั้นให้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าเป็นไป.
               บทว่า วิฆาตํ เป็นบทอุทเทสแห่งบทที่จะพึงชี้แจง.
               บทว่า วิฆาตํ ความว่า ความเบียดเบียน.
               บทว่า อุปฆาตํ ความว่า ความเบียดเบียนทำใกล้ๆ.
               บทว่า ปีฬนํ ความว่า ความกระทบกระทั่ง.
               บทว่า ฆฏฺฏนํ ความว่า ความบีบคั้น.
               บททุกบทเป็นไวพจน์กันและกันทั้งนั้น.
               บทว่า อุปทฺทวํ ความว่า ความเบียดเบียน.
               บทว่า อุปสคฺคํ ความว่า อาการที่เข้าไปเบียดเบียนในที่นั้นๆ.
               บทว่า พฺรูหิ แปลว่า โปรดตรัสบอก.
               บทว่า อาจิกฺข แปลว่า โปรดวิสัชนา.
               บทว่า เทเสหิ แปลว่า โปรดแสดง.
               บทว่า ปญฺญาเปหิ แปลว่า โปรดให้ทราบ.
               บทว่า ปฏฺฐเปหิ แปลว่า โปรดตั้งไว้.
               บทว่า วิวร แปลว่า โปรดทำให้ปรากฏ.
               บทว่า วิภช แปลว่า โปรดจำแนก.
               บทว่า อุตฺตานีกโรหิ แปลว่า โปรดให้ถึง.
               บทว่า ปกาเสหิ แปลว่า โปรดทำให้ปรากฏ.
               บทว่า ตุยฺหํ วจนํ แปลว่า พระดำรัสของพระองค์.
               บทว่า พฺยปถํ แปลว่า พระดำรัส.
               บทว่า เทสนํ แปลว่า พระดำรัสบอก.
               บทว่า อนุสาสนํ แปลว่า พระโอวาท.
               บทว่า อนุสิฏฺฐึ แปลว่า พระดำรัสพร่ำสอน.
               บทว่า สุตฺวา ความว่า ฟังแล้วด้วยโสตวิญญาณ.
               บทว่า สุณิตฺวา เป็นไวพจน์ของบทว่า สุตฺวา นั่นแหละ.
               บทว่า อุคฺคเหตฺวา ความว่า ถือเอาโดยชอบ.
               บทว่า อุปธารยิตฺวา ความว่า ไม่ให้ลืม.
               บทว่า อุปลกฺขยิตฺวา ความว่า กำหนดไว้.
               บทว่า มุสฺสเต วาปิ สาสนํ ความว่า คำสั่งสอนทั้งสองอย่างคือปริยัติและปฏิบัติ ย่อมเสียหาย.
               บทว่า วาปิ สักว่าเป็นปทปูรณะ,
               บทว่า เอตํ ตสฺมึ อนาริยํ ความว่า นี้คือมิจฉาปฏิปทา เป็นธรรมอันไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น.
               บทว่า คารวาธิวจนํ เป็นคำกล่าวถึงความเคารพต่อครูผู้สูงสุดของสัตว์ผู้ประเสริฐด้วยคุณ เพราะเหตุนั้น โบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า :-
               คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงควรแก่ความเคารพโดยฐานป็นครู ฉะนั้นจึงทรงพระนามว่า ภควา.
               จริงอยู่ นามมี ๔ อย่าง คือ อาวัตถิกนาม ๑ ลิงคิกนาม ๑ เนมิตตกนาม ๑ อธิจจสมุปปันนนาม ๑. มีคำอธิบายว่า นามที่ตั้งขึ้นตามความปรารถนา ตามโวหารของชาวโลก ชื่อว่าอธิจสมุปปันนาม.
               บรรดานามเหล่านั้น นามเป็นต้นว่า ลูกโค โคถึก โคงาน อย่างนี้ชื่อว่าอาวัตถิกนาม.
               นามเป็นต้นว่า คนมีไม้เท้า คนมีร่ม สัตว์มีหงอน สัตว์มีงวง อย่างนี้ชื่อว่าลิงคิกนาม.
               นามเป็นต้นว่า ผู้ได้วิชา ๓ ผู้ได้อภิญญา ๖ อย่างนี้ชื่อว่าเนมิตตกนาม.
               นามเป็นต้นว่า เจริญศรี เจริญทรัพย์ ซึ่งตั้งขึ้นโดยมิได้เพ่งเนื้อความของถ้อยคำ อย่างนี้ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนนาม.
               ก็พระนามว่า ภควา นี้เป็นเนมิตตกนาม พระนางสิริมหามายาก็มิได้ทรงขนาน พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็มิได้ทรงขนาน พระญาติแปดหมื่นก็มิได้ทรงขนาน เทวดาวิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกเทวราชและท้าวสันดุสิตเทวราชเป็นต้นก็มิได้ทรงขนาน.
               จริงอยู่ พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดาก็มิได้ทรงขนาน ฯลฯ พระนามว่า ภควา นี้เกิดในที่สุดแห่งวิโมกข์ เป็นสัจฉิกาบัญญัติแก่พระผู้มีพระภาคผู้พุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการได้เฉพาะซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้โพธิ.
               อีกนัยหนึ่งว่า :-
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีโชค ทรงหักกิเลส ทรง
                         ประกอบด้วยภคธรรม ทรงจำแนกแจกธรรม ทรงคบธรรม
                         และทรงคายกิเลสเป็นเครื่องไปในภพทั้งหลายได้แล้ว
                         เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า ภควา.

               ในคาถานั้น ท่านกล่าวนิรุตติศาสตร์ไว้ ๕ อย่าง คือ การลงอักษรใหม่ ๑ การเปลี่ยนอักษร ๑ การแปลงอักษร ๑ การลบอักษร ๑ และการประกอบด้วยความสมบูรณ์แห่งเนื้อความของธาตุทั้งหลาย ๑ บัณฑิตพึงถือเอาลักษณะแห่งนิรุตติศาสตร์ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ทราบความสำเร็จแห่งบทด้วยประการฉะนี้.
               บรรดานิรุตติศาสตร์ ๕ อย่างนั้น การลงอักษรซึ่งไม่มีอยู่ ดุจการลง อักษรในประโยคนี้ว่า นกฺขตฺตราชาริว ตารกานํ ดังนี้ ชื่อว่าการลงอักษรใหม่.
               การเปลี่ยนอักษรที่มีอยู่ โดยเอาข้างหน้าไว้ข้างหลังดุจเมื่อควรจะกล่าวว่า หึสนา หึโส ก็กล่าวเสียว่า สีโห ดังนี้ ชื่อว่าการเปลี่ยนอักษร.
               การแปลงอักษรให้เป็นอักษรอื่น ดุจการแปลง อักษรเป็น เอ อักษร ในประโยคนี้ว่า นวิจฺฉนฺทเก ทาเน ทิยติ ดังนี้ ชื่อว่าการแปลงอักษร.
               การลบอักษรที่มีอยู่ ดุจเมื่อควรจะกล่าวว่า ชีวนสฺส มุโต ชีวนมุโต ก็ลบ อักษร และ อักษรเสีย เป็น ชีมุโต ดังนี้ ชื่อว่าการลบอักษร.
               การประกอบเนื้อความเป็นพิเศษตามที่ประกอบในที่นั้นๆ ดุจการทำบทว่า ปกฺรุพฺพมาโน ในประโยคนี้ ว่า ผรุสาหิ วาจาหิ ปกฺรุพฺพ มาโน อาสชฺช มํ ตฺวํ วทสิ กุมาร ให้สำเร็จเนื้อความว่า อติภวมาโน ดังนี้ ชื่อว่าการประกอบด้วยความสมบูรณ์แห่งเนื้อความของธาตุทั้งหลาย.
               เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีภาคยะที่ถึงฝั่งมีทานและศีลเป็นต้น ซึ่งให้บังเกิดโลกิยสุขและโลกุตตรสุข ฉะนั้น เมื่อควรจะถวายพระนามว่า ภาคฺยวา พึงทราบว่า ท่านถือเอาลักษณะแห่งนิรุตติศาสตร์อย่างนี้หรือถือเอาลักษณะคือการเพิ่มศัพท์มีปิโสทรศัพท์เป็นต้น๑- โดยนัยแห่งศัพทศาสตร์ ถวายพระนามว่า ภควา.
____________________________
๑- ปิโสทร - ที่ท้องมีรอยจุด.

               อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงหักกิเลส เครื่องกระวนกระวาย เครื่องเร่าร้อนทุกอย่างนับแสนมีประเภทคือ โลภะ โทสะ โมหะ มนสิการวิปริต อหิริกะ อโนตตัปปะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ ตัณหา อวิชชา อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ สังกิเลส ๓ วิสมสัญญา ๓ วิตก ๓ ปปัญจะ ๓ วิปริเยสะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อคติ ๔ ตัณหา ๔ อุปาทาน ๔ เจโตขีละ ๕ วินิพันธะ ๕ นิวรณ์ ๕ อภินันทนะ ๕ วิวาทมูล ๖ กองตัณหา ๖ อนุสัย ๗ มิจฉัตตะ ๘ ตัณหามูล ๙ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทิฏฐิ ๖๒ ตัณหาวิปริต ๑๐๘ หรือโดยย่อ ซึ่งมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวบุตรมาร ฉะนั้น เมื่อควรจะถวายพระนามว่า ภคฺควา เพราะทรงหักอันตรายเหล่านี้ได้แล้ว แต่ถวายพระนามว่า ภควา.
               อนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ว่า :-
                         พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงหักราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
                         ทรงหาอาสวะมิได้ ธรรมอันลามกทั้งหลาย พระองค์ก็ทรง
                         หักเสียแล้ว เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า ภควา.

               อนึ่ง สมบัติแห่งรูปกายของพระองค์ผู้ทรงบุญลักษณะตั้งร้อย เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่พระองค์ทรงมีภาคยะ สมบัติแห่งธรรมกายของพระองค์ เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่พระองค์ทรงหักโทสะเสียได้.
               อนึ่ง ความที่พระองค์เป็นผู้อันโลกิยชนและอริยบุคคลทั้งหลายนับถือแล้วมาก ความเป็นผู้อันคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายพึงเข้าเฝ้า ความเป็นผู้สามารถกำจัดทุกข์กายทุกข์ใจ ของคนผู้เข้าเฝ้าเหล่านั้น ความเป็นผู้มีอุปการะด้วยอามิสทานและธรรมทาน ความเป็นผู้สามารถประกอบคนเหล่านั้นไว้ด้วยโลกิยสุขและโลกุตตรสุข เป็นต้นท่านแสดงแล้ว.
               อนึ่ง เพราะ ภคศัพท์เป็นไปในธรรม ๖ ประการในโลก คืออิสสริยะ ธรรม ยศ สิริ กามและความขวนขวาย.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีอิสสริยะในพระทัยของพระองค์อย่างยิ่ง หรือทรงมีอิสสริยะบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ที่ชาวโลกรู้กันแล้วมีหายตัวและล่องหนเป็นต้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีโลกุตตรธรรม ทรงมีพระยศบริสุทธิ์ยิ่งนัก ที่ทรงบรรลุด้วยพระคุณตามที่เป็นจริง อันระบือไปในโลกทั้ง ๓ มีพระสิริแห่งอังคาพยพน้อยใหญ่ทุกส่วน บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง สามารถยังความเลื่อมใสให้เกิดแก่ตาและใจของชนผู้ขวนขวายในการชมพระรูปกาย ทรงมีความปรารถนาที่รู้กันแล้วว่า ความสำเร็จประโยชน์ที่ทรงปรารถนา เพราะไม่ว่าประโยชน์ใดๆ ที่พระองค์ทรงมุ่งหมายปรารถนา จะเป็นประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ประโยชน์นั้นๆ สำเร็จได้ดังนั้นทีเดียว.
               อนึ่ง พระองค์ทรงมีความขวนขวาย กล่าวคือความพยายามชอบ อันเป็นตัวเหตุให้เกิดความเป็นครูของโลกทั้งปวง เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า ภควา ด้วยอรรถนี้ว่า เพราะพระองค์ทรงมีภคธรรม แม้เพราะทรงประกอบด้วยภคธรรมเหล่านี้.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ทรงแจก คือจำแนก เปิดเผย. มีอธิบายว่า แสดงซึ่งธรรมทั้งปวงโดยประเภทมีกุศลเป็นต้น. หรือซึ่งธรรมมีกุศลเป็นต้น โดยประเภทเป็นต้นว่า ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์และปฏิจจสมุปบาท. หรือซึ่งทุกขอริยสัจ ด้วยอรรถว่าบีบคั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง ทำให้เร่าร้อนและแปรปรวน. ซึ่งสมุทยอริยสัจ ด้วยอรรถว่าเหตุประมวลมา เป็นเหตุมอบให้ซึ่งผล เป็นเหตุประกอบและเป็นเหตุกังวล. ซึ่งนิโรธอริยสัจ ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องสลัดออก เป็นความสงัด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งและเป็นธรรมไม่ตาย. ซึ่งมรรคอริยสัจ ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องนำออก เป็นเหตุ เป็นทัศนะและเป็นใหญ่. ฉะนั้น เมื่อควรถวายพระนามว่า วิภตฺตวา แต่ถวายพระนามว่า ภควา.
               อนึ่ง พระองค์ทรงคบคือทรงเสพ ทรงกระทำให้มากซึ่งทิพยวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร ซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุษยธรรมเหล่าอื่นทั้งที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็นโลกุตตระ ฉะนั้น เมื่อควรถวายพระนามว่า ภตฺตวา แต่ถวายพระนามว่า ภควา.
               อนึ่ง เพราะพระองค์ทรงคายการไป กล่าวคือตัณหาในภพ ๓ เสียแล้ว ฉะนั้น เมื่อควรถวายพระนามว่า ภเวสุ วนฺตคมโน ทรงคายการไปในภพทั้งหลาย. ท่านถือเอา อักษรจาก ภว ศัพท์, อักษรจาก คมน ศัพท์. อักษรจาก วนฺต ศัพท์ ทำให้เป็นทีฆะแล้วถวายพระนามว่า ภควา เหมือนในทางโลก เมื่อควรจะกล่าวว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา เครื่องประดับของลับ ก็กล่าวว่า เมขลา เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระสารีบุตรเถระเมื่อจะชี้แจงปริยายแม้อื่นอีก จึงกล่าวว่า ภคฺคราโคติ ภควา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ภัคคราคะ เพราะพระองค์ทรงทำลายราคะได้แล้ว.
               แม้ในบท ภคฺคโทโส เป็นต้น ก็นัยนี้นั่นเอง.
               บทว่า กณฺฏโก ได้แก่ กิเลสนั่นแล ด้วยอรรถว่าแทงตลอด.
               บทว่า ภชิ ความว่า ทรงจำแนกเป็นส่วนด้วยสามารถแห่งอุทเทส.
               บทว่า วิภชิ ความว่า ทรงจำแนกเป็นอย่างๆ ด้วยสามารถแห่งนิทเทส.
               บทว่า ปฏิภชิ ความว่า ทรงจำแนกวิเศษโดยประการด้วยสามารถแห่งปฏินิทเทส. ทรงจำแนกด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้เป็นอุคฆติตัญญู, ทรงจำแนกวิเศษด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้เป็นวิปจิตัญญู, ทรงจำแนกวิเศษเฉพาะด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้เป็นเนยยะ.
               บทว่า ธมฺมรตนํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกเป็น ๓ อย่าง ซึ่งธรรมรัตนะที่ทรงสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า :-
               เครื่องใช้สอยของสัตว์อย่างเยี่ยม ทำไว้งดงามและมีค่ามาก ไม่มีที่เปรียบ หาดูได้ยาก เรียกว่ารัตนะนั่นแล
               บทว่า ภวานํ อนฺตกโร ความว่า ทรงกระทำกำหนด คือที่สุดรอบ ทางรอบแห่งภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น.
               บทว่า ภาวิตกาโย ความว่า มีพระกายอันเจริญแล้ว. แม้ในบทนอกนี้ก็เหมือนกัน.
               บทว่า ภชิ ได้แก่ ทรงเสพแล้ว.
               บทว่า อรญฺญวนปตฺถานิ ความว่า นอกเสาเขื่อนของบ้านก็ตาม ของเมืองก็ตาม ชื่อว่าป่าละเมาะ ไพรสณฑ์ที่เลยบริเวณรอบๆ ถิ่นมนุษย์ ชื่อว่าป่าทึบ.
               บทว่า ปนฺตานิ ความว่า เสนาสนะไกล ไม่เป็นที่ไถหว่านของพวกมนุษย์.
               แต่อาจารย์บางท่านกล่าวว่า :-
               บทว่า วนปตฺถานิ ความว่า เพราะเสือโคร่งเป็นต้นมีอยู่ในป่าใด เสือโคร่งเป็นต้นเหล่านั้นย่อมคุ้มครองรักษาป่านั้น ฉะนั้น เสนาสนะเหล่านั้นชื่อว่าวนปัตถะ เพราะเสือโคร่งเป็นต้นเหล่านั้นรักษา.
               บทว่า เสนาสนานิ ความว่า ชื่อว่าเสนาสนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่นอนและที่นั่ง.
               บทว่า อปฺปสทฺทานิ ความว่า มีเสียงน้อย ด้วยเสียงของคำพูด.
               บทว่า อปฺปนิคโฆสานิ ความว่า ปราศจากเสียงกึกก้อง ด้วยเสียงกึกก้องในบ้านและเมืองเป็นต้น.
               บทว่า วิชนวาตานิ ความว่า เว้นจากลมสรีระของชนผู้สัญจรภายใน.
               ปาฐะว่า วิชนวาทานิ ก็มี ความว่า เว้นจากวาทะของชนภายใน.
               ปาฐะว่า วีชนวาตานิ ก็มี ความว่า เว้นจากคนสัญจร.
               บทว่า มนุสฺสราหเสยฺยกานิ ความว่า เป็นที่กระทำกรรมลับของพวกมนุษย์.
               บทว่า ปฏิสลฺลานสารุปฺปานิ ความว่า เหมาะแก่วิเวก.
               บทว่า ภาคี วา ความว่า ชื่อว่าทรงมีส่วน เพราะอรรถว่าพระองค์ทรงมีส่วน คือส่วนมีจีวรเป็นต้น ชื่อว่าทรงมีส่วน เพราะอรรถว่าพระองค์ทรงมีส่วนแห่งอรรถรสเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะ.
               บทว่า อตฺถรสสฺส ได้แก่ อรรถรสกล่าวคือความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ.
               บทว่า ธมฺมรสสฺส ได้แก่ ธรรมรสกล่าวคือความถึงพร้อมแห่งเหตุ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ญาณในผลของเหตุ ชื่อว่าอรรถปฏิสัมภิทา. ญาณในเหตุ ชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา.
               บทว่า วิมุตฺติรสสฺส ได้แก่ วิมุตติรสกล่าวคือความถึงพร้อมแห่งผล.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า เรียกว่า รส ด้วยอรรถว่าความถึงพร้อมแห่งกิจ.
               บทว่า จตุนฺนํ ฌานานํ ได้แก่ ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น.
               บทว่า จตุนฺนํ อปฺปมญฺญานํ ได้แก่ พรหมวิหาร ๔ มีเมตตาเป็นต้นที่เว้นจากประมาณในการแผ่ คือแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ.
               บทว่า จตุนฺนํ อรูปสมาปตฺตีนํ ได้แก่ อรูปฌาน ๔ มีอากาสานัญจายตนฌานเป็นต้น.
               บทว่า อฏฺฐนฺนํ วิโมกฺขานํ ได้แก่ วิโมกข์ ๘ ที่พ้นจากอารมณ์ซึ่งท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลายดังนี้.
               ฌานทั้งหลายชื่อว่า อภิภายตนะ ในบทว่า อภิภายตนานํ นี้เพราะอรรถว่า ฌานเหล่านั้นมีอายตนะเป็นยิ่ง.
               บทว่า อายตนานิ ได้แก่ ฌานมีกสิณเป็นอารมณ์ กล่าวคืออายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งอารมณ์อย่างมั่นคง.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ยิ่งด้วยฌาน มีฌานบริสุทธิ์ ย่อมเข้าสมาบัติครอบงำอารมณ์เหล่านั้นว่า เราจะพึงเข้าสมาบัติในอารมณ์นี้ทำไม ภาระในการกระทำเอกัคคตาจิตไม่มีในเรา.
               อธิบายว่า ทำอัปปนาให้บังเกิดในอารมณ์นี้พร้อมกับความเกิดขึ้นแห่งนิมิตนั่นเอง ฌานที่ให้เกิดขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า อภิภายตนะ แห่งอภิภายตนะ ๘ เหล่านั้น.
               บทว่า นวนฺนํ อนุปุพฺพวิหารสมาปตฺตีนํ ความว่า ชื่อว่าอนุปุพพวิหารสมาบัติ เพราะพึงอยู่ คือพึงเข้าถึงตามก่อนๆ คือตามลำดับ. อธิบายว่า พึงเข้าถึงตามลำดับแห่งอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เหล่านั้น.
               บทว่า ทสนฺนํ สญฺญาภาวนานํ ได้แก่ สัญญาภาวนา ๑๐ มีอนิจจสัญญาเป็นต้น ที่มาในคิริมานนทสูตร.
               บทว่า ทสนฺนํ กสิณสมาปตฺตีนํ ได้แก่ ฌาน ๑๐ มีปถวีกสิณฌานเป็นต้น กล่าวคือกสิณ ด้วยอรรถว่าทั่วไป.
               บทว่า อานาปานสฺสติสมาปตฺติยา ได้แก่ สมาธิที่สัมปยุตด้วยอานาปานสติ.
               บทว่า อสุภสมาปตฺติยา ได้แก่ การเข้าฌานมีอสุภะเป็นอารมณ์.
               บทว่า ทสนฺนํ ตถาคตพลานํ ได้แก่ ญาณอันเป็นกำลังของพระทศพล ๑๐ ประการ.
               บทว่า จตุนฺนํ เวสารชฺชานํ ได้แก่ เวสารัชชธรรม ๔ ซึ่งเป็นความแกล้วกล้า.
               บทว่า จตุนฺนํ ปฏิสมฺภิทานํ ได้แก่ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔.
               บทว่า ฉนฺนํ อภิญฺญานํ ได้แก่ อภิญญา ๖ มีอิทธิวิธเป็นต้น.
               บทว่า ฉนฺนํ พุทฺธธมฺมานํ ได้แก่ พุทธธรรม ๖ ที่มาในเบื้องบนโดยนัยเป็นต้นว่า กายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามญาณ. จีวรเป็นต้น ในบทนั้นท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งภาคยสมบัติ. อรรถรสติกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งปฏิเวธ. อธิสีลติกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งปฏิบัติ. ฌานติกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งรูปฌานและอรูปฌาน. วิโมกขติกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งสมาบัติ. สัญญาจตุกกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอุปจาระและอัปปนา. สติปัฏฐานเป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ.
               บทว่า ตถาคตพลานํ เป็นต้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งธรรมพิเศษ.
               บทว่า ภควาติ เนตํ นามํ เป็นต้น ต่อจากนี้ ท่านกล่าวเพื่อให้ทราบว่า บัญญัตินี้ไปตามเนื้อความ.
               ในบทว่า สมณพฺราหฺมเณหิ นั้น ได้แก่ พวกสมณะ พวกพราหมณ์ที่เข้าบรรพชา มีวาทะว่าเจริญ สงบบาปหรือลอยบาปแล้ว เทวดามีท้าวสักกะเป็นต้น และพรหมทั้งหลาย.
               บทว่า วิโมกฺขนฺติกํ ได้แก่ วิโมกข์ คืออรหัตตมรรค ที่สุดแห่งวิโมกข์ คืออรหัตผล มีในที่สุดแห่งวิโมกข์นั้น ชื่อว่าวิโมกขันติกะ ด้วยว่า ความเป็นพระสัพพัญญูย่อมสำเร็จด้วยอรหัตมรรค คือเป็นอันสำเร็จแล้วด้วยการบรรลุอรหัตผล ฉะนั้น ความเป็นสัพพัญญูจึงมีในที่สุดแห่งวิโมกข์ แม้เนมิตตกนามนั้นก็เป็นนามที่มีในที่สุดแห่งวิโมกข์ เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า วิโมกฺขนฺติกเมตํ พุทฺธานํ ภควนฺตานํ ดังนี้.
               บทว่า โพธิยา มูเล สห สพฺพญฺญุตญาณสฺส ปฏิลาภา ความว่า กับการได้เฉพาะพระสัพพัญญุตญาณ ในขณะตามที่กล่าวแล้ว ณ โคนต้นมหาโพธิ.
               บทว่า สจฺฉิกา ปญฺญตฺติ ความว่า เป็นบัญญัติที่เกิดด้วยการทำให้แจ้งพระอรหัตตผล หรือด้วยการทำให้แจ้งธรรมทั้งปวง.
               บทว่า ยทิทํ ภควา ความว่า บัญญัติว่า ภควา นี้.
               บทว่า ทฺวีหิ การเณหิ ได้แก่ ด้วยส่วน ๒.
               บทว่า ปริยตฺติสาสนํ ได้แก่ พุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก.
               บทว่า ปฏิปตฺติ ความว่า ชื่อว่าปฏิบัติ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องถึงเฉพาะ.
               บทว่า ยํ ตสฺส ปริยาปุตํ ความว่า คำสั่งสอนใดอันบุคคลนั้นศึกษาแล้ว คือสาธยายแล้ว.
               คำว่า ตสฺส นั้นเป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ. ปาฐะว่า ปริยาปุฏํ ก็มี.
               บทว่า สุตฺตํ ความว่า คัมภีร์อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร มงคลสูตร รตนสูตร ตุวสูตรในสุตตนิบาต และพระดำรัสของพระตถาคตที่ได้นามว่าสูตรแม้อื่น พึงทราบว่าสุตตะ พระสูตรที่มีคาถาแม้ทั้งหมด.
               พึงทราบบทว่า เคยยะ สคาถวรรคแม้ทั้งสิ้นในสังยุต. พึงทราบว่าเคยยะ เป็นพิเศษ.
               บทว่า เวยฺยากรณํ ความว่า พระอภิธรรมปิฎกทั้งสิ้น พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์ที่มิได้สงเคราะห์ด้วยองค์ ๘ นั้น พึงทราบว่าเวยยากรณะ.
               บทว่า คาถา ความว่า คาถาธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถาและคาถาล้วนๆ ที่มิได้ชื่อว่าพระสูตร ในสุตตนิบาต พึงทราบว่าคาถา.
               บทว่า อุทานํ ความว่า พระสูตร ๘๒ สูตรที่ปฏิสังยุตด้วยคาถาเจือด้วยโสมนัสญาณ พึงทราบว่าอุทาน.
               บทว่า อิติวุตฺตกํ ความว่า พระสูตร ๑๑๐ สูตรที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา ดังนี้ พึงทราบว่าอิติวุตตกะ.
               บทว่า ชาตกํ ความว่า ชาดก ๕๕๐ เรื่องมีอปัณณกชาดกเป็นต้น พึงทราบว่าชาดก.
               บทว่า อพฺภูตธมฺมํ ความว่า พระสูตรที่ปฏิสังยุตด้วยอัพภูตธรรม น่าอัศจรรย์ทั้งปวงที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อจฺฉริยา อพฺภูตธมฺมา อานนฺเท ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ อย่างนี้หาได้ในอานนท์ ดังนี้ พึงทราบว่าอัพภูตธรรม.
               บทว่า เวทลฺลํ ความว่า พระสูตรแบบถามตอบซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพอใจ ถามต่อไป แม้ทั้งหมด มีจูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตรเป็นต้น พึงทราบว่า เวทัลละ.
               บทว่า อิทํ ปริยตฺติสาสนํ ความว่า พระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนี้ ชื่อว่าคำสั่งสอนทางปริยัติ เพราะทำวิเคราะห์ว่า ชื่อว่าปริยัติ เพราะอรรถว่าพึงเล่าเรียน. ชื่อว่าคำสั่งสอน เพราะอรรถว่าพร่ำสอน.
               บทว่า ตมฺปิ มุสฺสติ ความว่า คำสั่งสอนทางปริยัติแม้นั้น ย่อมสูญหาย.
               บทว่า ปริมุสฺสติ ความว่า ย่อมสูญหายแต่ต้น.
               บทว่า ปริพาหิโร โหติ ความว่า ต่อหน้า.
               บทว่า กตมํ ปฏิปตฺติสาสนํ ความว่า ส่วนเบื้องต้นแต่โลกุตตรธรรม ชื่อว่าปฏิบัติ เพราะอรรถว่าอันบุคคลปฏิบัติอรรถนั้น ชื่อว่าคำสั่งสอน เพราะอรรถว่าอันศาสดาสั่งสอนเหล่าเวไนยทั้งหลายในอรรถนี้.
               บทว่า สมฺมาปฏิปทา เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า ปาณมฺปิ หนติ ความว่า ฆ่าอินทรีย์คือชีวิตบ้าง.
               บทว่า อทินฺนมฺปิ อาทิยติ ความว่า ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนบ้าง.
               บทว่า สนฺธิมฺปิ ฉินฺทติ ความว่า ตัดที่ต่อของเรือนบ้าง.
               บทว่า นิลฺโลปมฺปิ หรติ ความว่า ประหารชาวบ้านทั้งหลายทำการปล้นใหญ่บ้าง.
               บทว่า เอกาคาริกมฺปิ กโรติ ความว่า ล้อมจับเป็นเรียกค่าไถ่ด้วยทรัพย์ประมาณ ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง.
               บทว่า ปริปนฺเถปิ ติฏฺฐติ ความว่า ทำการรีดเงินที่หนทางเปลี่ยว.
               บทว่า ปรทารมฺปิ คจฺฉติ ความว่า ถึงความประพฤติในภรรยาของผู้อื่น.
               บทว่า มุสาปิ ภณติ ความว่า กล่าวเท็จหักประโยชน์.
               บทว่า อนริยธมฺโม ความว่า มิใช่สภาวะที่ประเสริฐ.
               บทว่า เอโก ปุพฺเพ จริตฺวาน ความว่า เทียวไปในเบื้องต้นคือในโลก ด้วยส่วนบรรพชาก็ตาม ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่ก็ตาม.
               บทว่า ยานํ ภนฺตํว ตํ โลเก หีนมาหุ ปุถุชฺชนํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นคือผู้หมุนไปผิด ว่าเป็นปุถุชนคนเลว เหมือนยวดยานที่หมุนไปฉะนั้น ด้วยการขึ้นสู่ทางที่ไม่เรียบมีกายทุจริตเป็นต้น ด้วยการทำลายตนในนรกเป็นต้น และด้วยการตกลงในเหวคือชาติเป็นต้น เหมือนยวดยานมียานช้างเป็นต้นที่ไม่ได้ฝึกย่อมขึ้นสู่ทางที่ไม่เรียบบ้าง ทำลายคนขี่เสียบ้าง ตกลงในเหวบ้าง ฉะนั้น.
               บทว่า ปพฺพชฺชาสงฺขาเตน วา ความว่า ด้วยส่วนบรรพชาก็ตาม คือด้วยการขึ้นสู่การนับว่าเป็นบรรพชิต ว่าเป็นสมณะ ก็ตาม.
               บทว่า คณาววสฺสคฺคฏเฐน วา ความว่า ด้วยการสละความยินดีในความคลุกคลีด้วยหมู่เทียวไปก็ตาม.
               บทว่า เอโก ปฏิกฺกมติ ความว่า ผู้เดียวเท่านั้นกลับจากบ้าน.
               บทว่า โย นิเสวติ เป็นบทอุทเทสของบทที่จะต้องชี้แจง.
               บทว่า อเปเรน สมเยน ความว่า ในกาลอื่น คือในกาลอันเป็นส่วนอื่นอีก.
               บทว่า พุทฺธํ ได้แก่ พระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ พระธรรมซึ่งประกอบด้วยคุณมีความเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วเป็นต้น.
               บทว่า สงฺฆํ ได้แก่ พระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยคุณมีความเป็นผู้ปฏิบัติดีเป็นต้น.
               บทว่า สิกฺขํ ได้แก่ สิกขาที่ต้องศึกษามีอธิสีลสิกขาเป็นต้น.
               บทว่า ปจฺจกฺขาย ความว่า ห้ามพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บทว่า หีนาย ความว่า เพื่อความเป็นคนเลว คือเพื่อความเป็นคฤหัสถ์.
               บทว่า อาวตฺติตฺวา ความว่า กลับ.
               บทว่า เสวติ ความว่า เสพครั้งเดียว.
               บทว่า นิเสวติ ความว่า เสพหลายวิธี.
               บทว่า สํเสวติ ความว่า เสพชุ่ม.
               บทว่า ปฏิเสวติ ความว่า เสพบ่อยๆ.
               บทว่า ภนฺตํ ความว่า หมุนไปผิด.
               บทว่า อทนฺตํ ความว่า มิได้นำเข้าไปสู่ความเป็นสัตว์อันเขาฝึกแล้ว.
               บทว่า อการิตํ ความว่า ไม่ได้รับการศึกษากิริยาที่ศึกษาดีแล้ว.
               บทว่า อวินีตํ ความว่า ไม่ได้ศึกษาด้วยอาจารสมบัติ.
               บทว่า อุปฺปถํ คณฺหาติ ความว่า ยานมีประการดังกล่าวแล้วประกอบด้วยความเป็นสัตว์อันเขามิได้ฝึกเป็นต้นหมุนไป ย่อมเข้าถึงทางที่ไม่เรียบ.
               บทว่า วิสมํ ขาณุมฺปิ ปาสาณมฺปิ อภิรูหติ ความว่า ย่อมขึ้นบนตอไม้ตะเคียนเป็นต้นตั้งอยู่ไม่เรียบบ้าง กองหินบนภูเขาที่ตั้งอยู่ไม่เรียบอย่างนั้นบ้าง.
               บทว่า ยานมฺปิ อาโรหกมฺปิ ภญฺชติ ความว่า ย่อมทำลายยานมีวอเป็นต้นบ้าง ทำลายมือเท้าเป็นต้นของผู้ที่ขึ้นขี่ขับไปบ้าง.
               บทว่า ปปาเตปิ ปปตติ ความว่า ย่อมตกไปในเหวแห่งเงื้อมผาที่ขาดด้านเดียวบ้าง.
               บทว่า โส วิพฺภนฺตโก ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ถอยกลับ.
               บทว่า ภนฺตยานปาฏิภาโค ความว่า เช่นกับยานที่ไม่ตั้งมั่น.
               บทว่า อุปฺปถํ คณฺหาติ ความว่า ถอยกลับจากกุศลกรรมบถเข้าไปนอกทางคือทางผิด ซึ่งเป็นทางแห่งอบาย.
               บทว่า วิสมํ กายกมฺมํ อภิรูหติ ความว่า ย่อมขึ้นสู่กายกรรมอันไม่เสมอ กล่าวคือกายทุจริตอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความเสมอ.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า นิรเย อตฺตานํ ภญฺชติ ความว่า กระทำอัตภาพให้แหลกละเอียดในนรก กล่าวคือที่หาความยินดีมิได้.
               บทว่า มนุสฺสโลเก อตฺตานํ ภญฺชติ ความว่า ย่อมทำลายด้วยสามารถแห่งการกระทำกรรมมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า เทวโลเก อตฺตานํ ภญฺชติ ความว่า ด้วยสามารถแห่งทุกข์ มีทุกข์เกิดแต่ความพลัดพรากจากของรักเป็นต้น.
               บทว่า ชาติปปาตมฺปิ ปปตติ ความว่า ตกไปในเหวคือชาติบ้าง.
               แม้ในบทว่า ชราปปาต เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               พระสารีบุตรเถระแสดงโลกที่ประสงค์ในที่นี้นั่นแล ด้วยบทว่า มนุสฺสโลเก.
               บทว่า ปุถุชฺชนา เป็นบทอุทเทสแห่งบทที่จะต้องชี้แจง บรรดาบทที่จะต้องชี้แจง บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุถุชฺชนา ความว่า :-
                                   ชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุทั้งหลายมีการยังกิเลสหนา
                         ให้เกิดเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ชนนี้ชื่อว่ามีกิเลสหนา
                         เพราะหยั่งลงภายในชนที่มีกิเลสหนา ดังนี้แล.

               ก็ชนนั้นชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุทั้งหลายมีการยังกิเลสเป็นต้นที่หนา คือมีประการต่างๆ ให้เกิดเป็นต้น เพื่อจะแสดงปุถุชนนั้นโดยวิภาค พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ปุถู กิเลเส ชเนนฺติ ดังนี้ ชื่อว่าปุถุชนในนิทเทสนั้น เพราะอรรถว่ายังสักกายทิฏฐิเหล่านั้นให้เกิด หรืออันสักกายทิฏฐิเหล่านั้นให้เกิด เพราะยังกำจัดสักกายทิฏฐิมีประการต่างๆ เป็นอันมากไม่ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชนศัพท์ ย่อมกล่าวถึงว่ายังกำจัดไม่ได้นั่นเอง.
               ในบทว่า ปุถุ สตฺถารานํ มุขุลฺโลกิกา นี้มีเนื้อความของคำว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ามีปฏิญญาต่อศาสดาทั้งหลายมากคือต่างๆ.
               ในบทว่า ปุถุ สพฺพคตีหิ อวุฏฺฐิตา นี้ชื่อว่าเกิดคติ เพราะอรรถว่าพึงให้เกิด หรือเป็นที่เกิด ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ามีกิเลสเกิดมาก ชื่อว่าเกิดอภิสังขารเป็นต้น เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเกิดกิเลสนอกนี้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ามีอภิสังขารเหล่านี้ พึงเห็นว่า ชนศัพท์มีเนื้อความว่าปรุงแต่งเป็นต้นนั่นเอง.
               บทว่า นานาสนฺตาเปหิ สนฺตปฺปนฺติ ความว่า ความเดือดร้อนทั้งหลายมีไฟคือราคะเป็นต้นเหล่านั้นแหละ หรือแม้ทั้งหมด ชื่อว่ากิเลสเครื่องเร่าร้อน.
               ในบทว่า ปุถุ ปญฺจสุ กามคุเณสุ นี้ชื่อว่าชน เพราะอรรถว่าเกิด. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ามีการเกิด มีอาทิอย่างนี้ว่า ความกำหนัด ความต้องการมาก.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นว่า ชนศัพท์ลงในอรรถว่า กำหนัดเป็นต้นนั่นเอง อย่างนี้ว่า เกิดแล้ว กำหนัดแล้ว มาก.
               บทว่า ปลิพุทฺธา ความว่า พัวพัน.
               บทว่า อาวุฏา ความว่า ร้อยรัด.
               บทว่า นิวุฏา ความว่า กั้น.
               บทว่า โอผุฏา ความว่า ปิดเบื้องบน.
               บทว่า ปิหิตา ความว่า ปิดเบื้องล่าง.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนา ความว่า ไม่ปรากฏ.
               บทว่า ปฏิกุชฺชิตา ความว่า ครอบไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน แม้เพราะหยั่งลงภายในของพวกกิเลสหนา หรือของเหล่าชนผู้หันหลังให้อริยธรรม ประพฤติเอื้อเฟื้อธรรมต่ำทราม ซึ่งเหลือที่จะนับได้. ชื่อว่าปุถุชน แม้เพราะอรรถว่าบุคคลนี้มีกิเลสหนาบ้าง เป็นชนผู้ถึงการนับ คือคลุกคลีด้วยอริยชนผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้นบ้าง ปุถุชนอย่างนี้ ได้แก่ปุถุชน ๒ พวกที่ท่านกล่าวว่า :-
               พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ตรัสปุถุชน ๒ จำพวก คืออันธพาลปุถุชน ๑ กัลยาณปุถุชน ๑. ใน ๒ จำพวกนั้น อันธพาลปุถุชนพึงทราบว่า เป็นผู้ที่ท่านกล่าวถึง.
               บทว่า ยโส กิตฺตี จ ได้แก่ลาภสักการะและความสรรเสริญ.
               บทว่า ปุพฺเพ ได้แก่ ในความเป็นบรรพชิต.
               บทว่า หายเต วาปิ ตสฺส สา ความว่า ยศนั้นด้วย เกียรตินั้นด้วย ของภิกษุนั้นคือผู้หมุนไปผิด ย่อมเสื่อมไป.
               บทว่า เอตมฺปิ ทิสฺวา ความว่า เห็นการได้ยศและเกียรติในกาลก่อน และความเสื่อมในภายหลังแม้นั้น.
               บทว่า สิกฺเขถ เมถุนํ วิปฺปหาตเว ความว่า พึงศึกษาสิกขา ๓ เพื่อเหตุอะไร เพื่อละเมถุนธรรม. มีอธิบายว่า เพื่อต้องการละเมถุนธรรม.
               บทว่า กิตฺติวณฺณภโต ความว่า ภิกษุผู้ได้รับสรรเสริญเกียรติคุณ ย่อมเป็นผู้ยกเสียงสรรเสริญ และคุณที่พรรณนาขึ้นกล่าว ชื่อว่ามีถ้อยคำไพเราะ เพราะอรรถว่ามีการกล่าวโดยนัยต่างๆ ไพเราะ.
               บทว่า กลฺยาณปฏิภาโณ ความว่า มีปัญญาดี.
               บทว่า หายติ เป็นบทอุทเทสแห่งบทที่ต้องชี้แจง.
               บทว่า ปริหายติ ความว่า ย่อมเสื่อมไปโดยรอบ.
               บทว่า ปริธํสติ ความว่า ย่อมตกไปเบื้องต่ำ.
               บทว่า ปริปตฺติ ความว่า ย่อมไปปราศโดยรอบ.
               บทว่า อนฺตรธายติ ความว่า ย่อมถึงการเห็นไม่ได้.
               บทว่า วิปฺปลุชฺชติ ความว่า ย่อมทำลาย.
               บทว่า ขุทฺทโก สีลกฺขนฺโธ ได้แก่ ถุลลัจจัยเป็นต้น
               บทว่า มหนฺโต สีลกฺขนฺโธ ได้แก่ ปาราชิกและสังฆาทิเสส.
               บทว่า เมถุนธมฺมสฺส ปหานาย ความว่า เพื่อต้องการละด้วยตทังคปหานเป็นต้น.
               บทว่า วูปสมาย ความว่า เพื่อต้องการเข้าไปสงบมลทินทั้งหลาย.
               บทว่า ปฏินิสฺสคฺคาย ความว่า เพื่อต้องการแล่นไป สละขาดและสละคืน.
               บทว่า ปฏิปสฺสทฺธิยา ความว่า เพื่อต้องการผล กล่าวคือความสงบระงับ.
               ก็ภิกษุใดไม่ละเมถุนธรรม ภิกษุนั้นถึงพร้อมด้วยความดำริ ย่อมซบเซา เหมือนคนกำพร้าได้ยินเสียงติเตียนของชนเหล่าอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้นแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเรโต ความว่า ประกอบ.
               บทว่า ปเรสํ นิคฺโฆสํ ความว่า คำติเตียนของอุปัชฌาย์เป็นต้น.
               บทว่า มงฺกุ โหติ ความว่า เป็นผู้เสียใจ.
               บทว่า กามสงฺกปฺเปน ความว่า อันวิตกที่ปฏิสังยุตด้วยกาม.
               แม้ในบทที่ตั้งอยู่เหนือๆ ขึ้นไป ก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า ผุฏฺโฐ ความว่า อันวิตกทั้งหลายถูกต้องแล้ว.
               บทว่า ปเรโต ความว่า ไม่เสื่อมรอบ.
               บทว่า สโมหิโต ความว่า ปลงคือเข้าไปในภายในโดยชอบ.
               บทว่า กปโณ วิย ความว่า เหมือนคนตกยาก.
               บทว่า มนฺโท วิย ความว่า เหมือนคนไม่มีความรู้.
               บทว่า โมมูโห วิย ความว่า เหมือนคนลุ่มหลง.
               บทว่า ฌายติ ความว่า ย่อมคิด.
               บทว่า ปชฺฌายติ ความว่า ย่อมคิดหนัก.
               บทว่า นิชฺฌายติ ความว่า ย่อมคิดหลายอย่าง.
               บทว่า อวชฺฌายติ ความว่า ย่อมคิดนอกไปจากนั้น.
               บทว่า อุลูโก ได้แก่ นกเค้าแมว.
               บทว่า รุกฺขสาขายํ ความว่า ที่กิ่งซึ่งตั้งขึ้นบนต้นไม้ หรือที่ค่าคบ.
               บทว่า มูสิกํ คมยมาโน ความว่า แสวงหาหนู, อาจารย์บางท่านกล่าวว่า มคฺคยมาโน ดังนี้ก็มี.
               บทว่า โกตฺถุ ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก.
               บทว่า วิลาโร ได้แก่ แมว.
               บทว่า สนฺธิสมลสปงฺกตีเร ความว่า ในระหว่างเรือน ๒ หลังที่ท่อน้ำ เปือกตม ที่ทิ้งหยากเยื่อและที่เนินค่าย.
               บทว่า วหจฺฉินฺโน ความว่า มีเนื้อหลังและคอขาดไป คาถาต่อจากนี้ปรากฏความเกี่ยวเนื่องกันแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า สตฺถานิ ในคาถานั้น ได้แก่ กายทุจริตเป็นต้น. ก็กายทุจริตเป็นต้นเหล่านั้น ท่านเรียกว่าศัสตรา เพราะอรรถว่าตัดทั้งตนและผู้อื่น. ก็ภิกษุนี้ เมื่อกล่าวว่า ข้าพเจ้าสึกเพราะเหตุนี้ ชื่อว่าย่อมกระทำศัสตรา คือกล่าวเท็จแต่ต้นก่อนโดยวิเสส ในบรรดาศัสตราเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เอส ขฺวสฺส มหา เคโธ โมสวชฺชํ ปคาหติ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอส ขฺวสฺส ตัดบทเป็น เอโส โข อสฺส.
               บทว่า มหาเคโธ ได้แก่ เครื่องผูกพันใหญ่หากจะถามว่า เป็นไฉน? ก็ได้แก่ การหยั่งลงสู่มุสาวาท พึงทราบว่า เป็นเครื่องผูกพันของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นย่อมหยั่งลงสู่ความเป็นผู้พูดเท็จ.
               บทว่า ตีณิ สตฺถานิ ได้แก่ เครื่องตัด ๓ อย่าง กายทุจริตทั้งหลายชื่อว่าศัสตราทางกาย แม้ในศัสตราทางวาจาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกันเพื่อจะแสดงศัสตรานั้นเป็นส่วนๆ พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ติวิธํ กายทุจฺจริตํ กายสตฺถํ ดังนี้.
               บทว่า สมฺปชานมุสา ภาสติ ความว่า รู้อยู่กล่าววาจาไร้ประโยชน์.
               บทว่า อภิรโต อหํ ภนฺเต อโหสึ ปพฺพชฺชาย ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มิได้เว้นจากความยินดียิ่งต่อการบรรพชาในพระศาสนา.
               บทว่า มาตา เม โปเสตพฺพา ความว่า ข้าพเจ้าเลี้ยงดูมารดา.
               บทว่า เตนฺมหิ วิพฺภนฺโตติ ภณติ ความว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ก้าวกลับคือลาสิกขา.
               แม้ในบทว่า ปิตา มยา โปเสตพฺโพ ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงบิดาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เอโส ตสฺส มหาเคโธ ความว่า การกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่นั้นเป็นเครื่องผูกพันใหญ่ของบุคคลนั้น.
               บทว่า มหาวนํ ได้แก่ ป่าใหญ่.
               บทว่า คหณํ ได้แก่ ก้าวล่วงได้ยาก.
               บทว่า กนฺตาโร ความว่า เช่นกับกันดารเพราะโจรเป็นต้น.
               บทว่า วิสโม ความว่า ไม่เสมอเพราะหนาม.
               บทว่า กุฏิโล ความว่า เช่นกับโค้ง.
               บทว่า ปงฺโก ความว่า เช่นกับสระน้อย.
               บทว่า ปลิโป ความว่า เช่นกับเปือกตม.
               บทว่า ปลิโพโธ ความว่า เข้าถึงได้ยากมาก.
               บทว่า มหาพนฺธนํ ความว่า เครื่องผูกรัดใหญ่เปลื้องได้ยาก.
               บทว่า ยทิทํ สมฺปชานมุสาวาโท ความว่า การกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่นี้ใด.
               บทว่า สภคฺคโต วา ความว่า อยู่ในสภาก็ดี.
               บทว่า ปริสคฺคโต วา ความว่า อยู่ในที่ประชุมชาวบ้านก็ดี.
               บทว่า ญาติมชฺฌคโต วา ความว่า อยู่ท่ามกลางทายาททั้งหลายก็ดี.
               บทว่า ปูคมชฺฌคโต วา ความว่า อยู่ท่ามกลางกองทหารก็ดี.
               บทว่า ราชกุลมชฺฌคโต วา ความว่า อยู่ในที่วินิจฉัยใหญ่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี.
               บทว่า อภินีโต ความว่า ถูกนำไปเพื่อต้องการถาม.
               บทว่า สกฺขิปุฏฺโฐ ความว่า ถูกถามเป็นพยาน.
               บทว่า เอหิ โภ ปุริส นี้เป็นคำร้องเรียก.
               บทว่า อตฺตเหตุ วา ปรเหตุ วา ความว่า เพราะเหตุแห่งอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นบ้าง เพราะเหตุแห่งทรัพย์บ้าง ของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง.
               บทว่า อามิส ในบทว่า อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ วา นี้ ท่านประสงค์เอาลาภ.
               บทว่า กิญฺจิกฺขํ ความว่า อามิสอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีประมาณน้อยโดยที่สุดเพียงนกกระทา นกกระจาบ ก้อนเนยใสและก้อนเนยข้นเป็นต้น. อธิบายว่า เพราะเหตุแห่งลาภบางอย่าง.
               บทว่า สมฺปชานมุสา ภาสติ ความว่า รู้อยู่นั่นแลทำมุสาวาท.
               อนึ่ง พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงปริยายอื่นอีก จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ตีหากาเรหิ มุสาวาโท โหติ ปุพฺเพวสฺส โหติ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตีหากาเรหิ ความว่า ด้วยเหตุ ๓ อย่างซึ่งเป็นองค์ของสัมชานมุสาวาท.
               บทว่า ปุพฺเพวสฺส โหติ ความว่า ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นนั่นแล บุคคลนั้นมีความรู้อย่างนี้ว่า เราจักพูดเท็จ.
               บทว่า ภณนฺตสฺส โหติ ความว่า เมื่อกำลังพูดก็รู้.
               บทว่า ภณิตสฺส โหติ ความว่า เมื่อพูดแล้วบุคคลนั้นก็รู้.
               อธิบายว่า เมื่อกล่าวคำที่พึงกล่าวนั้นแล้ว ก็รู้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภณิตสฺส ความว่า เมื่อกล่าวออกไปแล้ว คือพูดจบแล้ว ก็รู้.
               ในข้อนี้ท่านแสดงเนื้อความดังนี้ว่า บุคคลใดย่อมรู้แม้ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น คือแม้กำลังกล่าวอยู่ก็รู้ แม้ภายหลังก็รู้ ว่าเรากล่าวเท็จแล้ว บุคคลนั้นเมื่อกล่าวอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกมัดด้วยกรรมคือกล่าวเท็จ.
               ในข้อนี้ท่านแสดงเนื้อความไว้แล้วก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีเนื้อความพิเศษดังต่อไปนี้ :-
               ถามก่อนว่า กาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นว่าเราจักกล่าวเท็จ มีอยู่. กาลอันเป็นส่วนภายหลังว่า เรากล่าวเท็จแล้ว ไม่มี. เพียงคำที่กล่าวเท่านั้น ใครๆ ก็ลืมได้ จะเป็นมุสาวาทแก่บุคคลนั้นหรือไม่?
               คำถามนั้นท่านวิสัชนาไว้แล้วในอรรถกถาทั้งหลายอย่างนี้ ในตอนแรกรู้ว่าเราจักกล่าวเท็จ และเมื่อกล่าวอยู่ ก็รู้ว่าเรากำลังกล่าวเท็จ, ในตอนหลัง รู้ว่าเรากล่าวเท็จแล้ว ใครๆ ไม่อาจที่จะไม่เป็น แม้หากจะไม่เป็นก็คงเป็นมุสาวาทอยู่นั่นเอง ด้วยว่า ๒ องค์แรกนั่นแลเป็นประมาณ. แม้ผู้ใดในตอนแรกไม่ตั้งใจว่าเราจักกล่าวเท็จ แต่เมื่อกล่าว รู้ว่าเรากำลังกล่าวเท็จ แม้เมื่อกล่าวแล้วก็รู้ว่าเรากล่าวเท็จแล้ว ไม่พึงปรับผู้นั้นด้วยมุสาวาท เพราะตอนแรกเป็นประมาณกว่า เมื่อไม่เป็นมุสาวาท ย่อมเป็นการกล่าวเล่นหรือกล่าวเสียงร้องเท่านั้น.
               อนึ่ง พึงสละภาวะคือญาณในมุสาวาทนั้นและการประชุมแห่งญาณในข้อนี้เสีย.
               บทว่า ตญฺญาณตา ปริจฺจชิตพฺพา ความว่า บุคคลย่อมรู้ว่าเราจักกล่าวเท็จด้วยจิตดวงใด ย่อมรู้ว่าเรากล่าวเท็จ และว่าเรากล่าวเท็จแล้ว ด้วยจิตดวงนั้นนั่นเอง ย่อมรู้ในขณะ ๓ ด้วยจิตดวงเดียวนั่นแหละอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ ฉะนั้นจึงควรสละภาวะคือญาณในมุสาวาทนั้นอันนี้เสีย ด้วยว่าบุคคลไม่อาจจะรู้จิตดวงนั้นด้วยจิตดวงนั้นนั่นเองได้ เหมือนไม่อาจจะใช้ดาบเล่มนั้นนั่นเองฟันดาบเล่มนั้นได้ ก็จิตดวงแรกๆ เป็นปัจจัยตามที่เกิดขึ้นของจิตดวงหลังๆ แล้วดับไป เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า :-
                                   กาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นแลเป็นประมาณ เมื่อกาล
                         อันเป็นส่วนเบื้องต้นนั้นมีอยู่ กาลทั้ง ๒ นั้นจึงไม่มี วาจา
                         ประกอบด้วยองค์ ๓ ด้วยประการฉะนี้.

               บทว่า ญาณสโมธานํ ปริจฺจชิตพฺพํ ความว่า จิต ๓ ดวงเหล่านี้ไม่พึงถือเอาว่า ย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ก็ชื่อว่าจิตนี้ :-
               เมื่อดวงแรกยังไม่ดับ ดวงหลังย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเกิดขึ้นติดๆ กัน จึงปรากฏเหมือนดวงเดียว.
               ต่อแต่นี้ บุคคลนี้ใดไม่รู้อยู่เลย กล่าวเท็จทั้งรู้โดยนัยเป็นต้นว่า เรารู้เพราะบุคคลนั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่านี้ไม่จริง บุคคลนั้นก็มีลัทธิอยู่ดังนี้เท่านั้น.
               อนึ่ง บุคคลนั้นเห็นด้วยและชอบใจอย่างนี้ว่านี้ไม่จริง บุคคลนั้นมีความสำคัญอย่างนี้ มีสภาวะอย่างนี้เท่านั้น และมีจิตว่านี้ไม่จริง. แต่เมื่อใดประสงค์จะกล่าวเท็จ เมื่อนั้นเขาปิดบังคือทอดทิ้ง ปกปิดซึ่งทิฏฐินั้นบ้าง, ซึ่งความควรกับทิฏฐิบ้าง, ซึ่งความชอบใจกับทิฏฐิและความควรบ้าง, ซึ่งความสำคัญกับทิฏฐิความควรและความชอบใจบ้าง, ซึ่งความจริงกับทิฏฐิควรความชอบใจและความสำคัญบ้าง, ย่อมกล่าวไม่เด่นชัด ฉะนั้นเพื่อจะแสดงประเภทขององค์ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิเป็นต้นแม้เหล่านั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า อปิจ จตูหากาเรหิ เป็นต้น.
               บทว่า วินิธาย ทิฏฺฐึ ในที่นี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการปิดบังธรรมที่มีกำลัง.
               บทว่า วินิธาย ขนฺตึ เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการปิดบังธรรมที่ทุรพลกว่านั้น.
               แต่บทว่า วินิธาย สญฺญํ นี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการปิดบังธรรมที่ทุรพลทั้งหมดในที่นี้. ข้อว่าบุคคลไม่ปิดบังชื่อแม้เพียงความสำคัญ จักกล่าวเท็จทั้งรู้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้แล.
               บทว่า มนฺโทว ปริกิสฺสติ ความว่า กระทำการฆ่าสัตว์เป็นต้น เสวยทุกข์ซึ่งมีเหตุเกิดแต่การฆ่าสัตว์เป็นต้นนั้น กระทำการแสวงหาและการรักษาโภคสมบัติ ย่อมเศร้าหมองเหมือนคนหลงใหล.
               บทว่า ตเมนํ ราชาโน คเหตฺวา วิวิธา กมฺมกรณา กาเรนฺติ ความว่า พระราชาทั้งหลายมิได้ทรงกระทำเอง พวกบุรุษผู้จัดแจงของพระราชากระทำกรรมกรณ์มีอย่างต่างๆ.
               บทว่า กสาหิปิ ตาเฬนฺติ ความว่า คุกคามด้วยท่อนแส้บ้าง.
               บทว่า เวตฺเตหิ ได้แก่ เส้นหวาย.
               บทว่า อฑฺฒทณฺฑเกหิ ได้แก่ ไม้ค้อนหรือไม้พลองที่ตัดท่อนละ ๔ ศอก ๒ ท่อน ถือเอาเพื่อให้สำเร็จการประหาร.
               บทว่า พิลงฺคถาลิกํ ได้แก่ กรรมกรณ์แบบหม้อข้าวต้ม เมื่อกระทำกรรมกรณ์นั้น เปิดกระโหลกศีรษะ เอาคีมจับก้อนเหล็กแดงที่ร้อนใส่เข้าในกะโหลกศีรษะนั้น มันสมองเดือดล้นออกเพราะเหตุนั้น.
               บทว่า สงฺขมุณฺฑิกํ ได้แก่ กรรมกรณ์แบบทำให้เกลี้ยง เหมือนสังข์เมื่อกระทำกรรมกรณ์นั้น เฉือนหนัง กำหนดเหนือริมฝีปากถึงจอนหูสองข้างวงไปรอบคอ แล้วรวบเส้นผมทั้งหมดเป็นขมวดพันท่อนไม้เพิกขึ้นหนังกับผมทั้งหลายจะตั้งขึ้น ต่อนั้นเอาก้อนกรวดหยาบๆ ขัดกะโหลกศีรษะ ล้างทำให้มีสีเหมือนสังข์.
               บทว่า ราหุมุขํ ได้แก่ กรรมกรณ์แบบหน้าราหู เมื่อกระทำกรรมกรณ์นั้น เปิดปากด้วยหอกแล้วเอาไฟลุกโพลงใส่ภายในปาก หรือเอาสิ่วเจาะตั้งแต่จอนหูทั้งสองข้างจนถึงปาก เลือดไหลออกเต็มปาก.
               บทว่า โชติมาลิกํ ความว่า เอาผ้าชุบน้ำมันพันสรีระทั้งสิ้นแล้วเอาไฟเผา.
               บทว่า หตฺถปชฺโชติกํ ความว่า เอาผ้าชุบน้ำมันพันมือทั้งสอง แล้วจุดไฟให้ลุกโพลงต่างประทีป.
               บทว่า เอรกวตฺติกํ ได้แก่ กรรมกรณ์แบบเป็นไปบนตะไคร่น้ำ เมื่อกระทำกรรมกรณ์นั้น ถลกหนังหุ้มตัวตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้า ลำดับนั้นเอาเชือกผูกเขาแล้วฉุดไป เขาเหยียบๆ หนังหุ้มตัวของตนล้มลง.
               บทว่า จิรกวาสิกํ ได้แก่ กรรมกรณ์แบบนุ่งผ้าคากรอง เมื่อกระทำกรรมกรณ์นั้น ถลกหนังหุ้มตัวเหมือนอย่างนั้นแลลงไปแค่สะเอว แล้วถลกหนังตั้งแต่สะเอวลงไปถึงข้อเท้า หนังตอนบนหุ้มห่อสรีระตอนล่างเหมือนนุ่งผ้าคากรอง.
               บทว่า เอเณยฺยกํ ได้แก่ กรรมกรณ์แบบเนื้อทราย เมื่อกระทำกรรมกรณ์นั้น สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกสองข้าง และเข่าสองข้างแล้วเสียบหลาวเหล็ก เขาอยู่บนพื้นดินด้วยหลาวเหล็ก ๔ เล่ม ลำดับนั้น คนทั้งหลายใส่ไฟรอบตัวเขา เขาเหมือนเนื้อทรายที่ไฟติดโชติช่วง แม้ในอาคตสถานท่านก็กล่าวดังนี้แหละ ด้วยประการฉะนี้ คนทั้งหลายถอนหลาวออกจากที่เสียบแล้ววางเขาไว้ด้วยปลายกระดูก ๔ ท่อนเท่านั้น นอกจากเหตุเห็นปานนี้ไม่มีอะไรเหลือ.
               บทว่า พฬิสมํสิกํ ความว่า เอาเบ็ดสองหน้าเกี่ยวหนังเนื้อเอ็นออกมา.
               บทว่า กหาปณกํ ความว่า เอามีดคมๆ เฉือนสรีระทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีรษะออกเป็นแว่นๆ เท่าเหรียญกษาปณ์.
               บทว่า ขาราปตจฺฉิกํ ความว่า ใช้อาวุธต่างๆ ทิ่มแทงสรีระตามที่นั้นๆ แล้วเอาขี้เถ้าขัดถูด้วยแปรงหวายจนหนังเนื้อเอ็นหลุดไหลออก เหลือตั้งอยู่แต่โครงกระดูกเท่านั้น.
               บทว่า ปลิฆปริวตฺติกํ ความว่า ให้นอนตะแคงข้างหนึ่งแล้วเสียบหลาวเหล็กในช่องหูทะลุลงติดแผ่นดิน ต่อนั้นก็จับเท้าเขาหมุนไปรอบๆ.
               บทว่า ปลาลปีฐกํ ความว่า ผู้รู้เหตุการณ์ที่ฉลาดถลกหนังออก แล้วใช้ที่รองหินลับมีดทุบกระดูกทั้งหลาย จับที่ผมยกขึ้นเป็นกองเนื้อที่เดียว ต่อนั้นก็หุ้มห่อเขาด้วยผมทั้งหลายนั่นแหละจับไว้ พันทำเป็นเหมือนดั่งใบไม้.
               บทว่า สุนเขหิปิ ความว่า ให้สุนัขที่หิวเพราะไม่ให้อาหารมา ๒-๓ วันกัดกิน ครู่เดียวพวกสุนัขเหล่านั้นก็กัดกินเหลือแต่โครงกระดูกเท่านั้น.
               บทว่า เอวมฺปิ กิสฺสติ ความว่า ย่อมถึงความพิฆาตแม้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ปริกิสฺสติ ความว่า ย่อมถึงความพิฆาตโดยส่วนทั้งปวง.
               บทว่า ปริกิลิสฺสติ ความว่า ย่อมถึงความหวาดเสียว.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงเหตุการณ์อย่างอื่นอีก จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อถวา กามตณฺหาย อภิภูโต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามตณฺหาย ได้แก่ ความโลภที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕.
               บทว่า อภิภูโต ความว่า ย่ำยีแล้ว.
               บทว่า ปริยาทินฺนจิตฺโต ความว่า มีจิตถูกกามตัณหายึดไว้ยังอาจาระที่เป็นกุศลให้สิ้นไป.
               บทว่า โภเคปริเยสนฺโต ความว่า แสวงหาทรัพย์.
               บทว่า นาวาย มหาสมุทฺทํ ปกฺขนฺทติ ความว่า เข้าไปสู่สาครที่มีเกลือด้วยเรือกล่าวคือเรือกำปั่น.
               บทว่า สีตสฺส ปุรกฺขโต ความว่า ผจญหนาว.
               บทว่า อุณฺหสฺส ปุรกฺขโต ความว่า ผจญร้อน.
               บทว่า ฑํสา ได้แก่ แมลงวันเหลืองอ่อน.
               บทว่า มกสา ได้แก่ ยุงนั่นเอง.
               บทว่า ริสฺสมาโน ความว่า ถูกสัมผัสแห่งเหลือบเป็นต้นเบียดเบียน.
               บทว่า ขุปฺปิปาสาย ปีฬิยมาโน ความว่า ถูกความหิวความกระหายย่ำยี.
               บท ๒๔ บทมีบทว่า คุมฺพํ คจฺฉติ เป็นต้น มีบทว่า มรุกนฺตารํ คจฺฉติ เป็นที่สุด ท่านกล่าวโดยนามของรัฐ.
               บทว่า มรุกนฺตารํ คจฺฉติ ความว่า เดินทางทะเลทรายโดยใช้ดาวเป็นสำคัญ.
               บทว่า ชณฺณุปถํ ได้แก่ ทางที่ต้องไปด้วยเข่า.
               บทว่า อชปถํ ได้แก่ ทางที่ต้องไปด้วยแพะ แม้ในทางที่ต้องไปด้วยแกะ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สงฺกุปถํ ได้แก่ ทางที่ต้องไปด้วยหลัก ซึ่งต้องตอกหลักทั้งหลายแล้วก้าวลงไปตามหลักเหล่านั้น เมื่อจะไปทางนั้น ยืนที่เชิงเขาเอาเชือกผูกกระจับเหล็กโยนขึ้นไปให้คล้องภูเขาแล้วโหนเชือกขึ้นไป แล้วเอาเหล็กสกัดซึ่งมีปลายแข็งเหมือนเพชรเจาะภูเขาตอกหลัก ยืนบนหลักนั้นแขวนเชือกหนังไว้ ถือเชือกหนังนั้นลงไปผูกที่หลักอันล่าง มือซ้ายจับเชือก มือขวาถือค้อน แก้เชือกถอนหลักออกแล้วขึ้นสูงขึ้นไปอีก คือตอกทอย โดยอุบายนี้ เขาขึ้นถึงยอดเขาข้ามลงไปเบื้องหน้า ตอกหลักบนยอดเขาก่อนโดยนัยแรกนั่นแหละ ผูกเชือกที่กระเช้าหนัง พันหลักไว้ ตัวเองนั่งภายในกระเช้า โรยเชือกลงโดยอาการแมงมุมชักใย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทางที่ต้องตอกหลักทั้งหลายแล้วก้าวลงไปตามหลักเหล่านั้น.
               บทว่า ฉตฺตปถํ ได้แก่ ทางที่ต้องถือร่มหนังอุ้มลมร่อนไปเหมือนนกทั้งหลาย.
               บทว่า วํสปถํ ความว่า บทว่า วํสปถํ คจฺฉติ พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาทางที่บุคคลเมื่อทำทางใช้มีดสำหรับตัดตัดกอไผ่ ใช้ขวานผ่าต้นไม้ ทำบันไดในป่าไผ่ ขึ้นบนกอไผ่ ตัดไม้ไผ่ให้ล้มทับไผ่กออื่น แล้วเดินไปตามยอดกอไผ่นั่นแหละ.
               บทว่า คเวสนฺโต น วินฺทติ อลาภมูลกมฺปิ ทุกฺขํ โทมนสฺสํ ปฏิสํเวเทติ ความว่า ย่อมได้รับทุกข์กายทุกข์ใจแม้มีความไม่ได้เป็นมูล.
               บทว่า ลทฺธา แปลว่า ครั้นได้แล้ว.
               บทว่า อารกฺขมูลกํ ความว่า แม้มีการรักษาเป็นมูล.
               บทว่า กินฺติ เม โภเค ความว่า ด้วยวิตกอยู่ว่า ด้วยอุบายอะไร พระราชาจึงจะไม่ริบโภคทรัพย์ของเรา พวกโจรจะไม่ลักไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดไป พวกทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่ขนเอาไป.
               บทว่า โคปยโต ความว่า คุ้มครองด้วยหีบเป็นต้น.
               บทว่า วิปฺปลุชฺชนฺติ ความว่า พินาศ.
               บทว่า เอตมาทีนวํ ญตฺวา มุนิ ปพฺพาปเร อิธ ความว่า มุนีทราบโทษนั้น คือความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็นสมณะก่อน ที่กล่าวไว้จำเดิมแต่นี้ว่า ยศและเกียรติที่เสื่อมไปในกาลก่อนนั้นของภิกษุนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็นสมณะก่อน คือในความเป็นผู้สึกจากความเป็นสมณะในศาสนานี้.
               บทว่า ทฬฺหํ กเรยฺย เป็นบทอุทเทสของบทที่จะต้องชี้แจง.
               บทว่า ถิรํ กเรยฺย ความว่า พึงกระทำให้ไม่ย่อหย่อน.
               บทว่า ทฬฺหสมาทาโน อสฺส ความว่า พึงเป็นผู้มีปฏิญญามั่นคง.
               บทว่า อวฏฺฐิตสมาทาโน ความว่า มีปฏิญญาตั้งลงพร้อม.
               บทว่า เอตทริยานมุตฺตมํ ความว่า ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. อธิบายว่า เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาวิเวกทีเดียว.
               บทว่า น เตน เสฏฺโฐ มญฺเญถ ความว่า ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยความสงัดนั้น. ท่านอธิบายว่า ไม่พึงเป็นผู้กระด้างเพราะมานะด้วยความสงัดนั้น.
               บทว่า อุณฺณตึ ได้แก่ การยกขึ้น
               บทว่า อุณฺณมํ ได้แก่ การตั้งตนขึ้นไว้สูง.
               บทว่า มานํ ได้แก่ ความก้าวร้าวด้วยความถือดี.
               บทว่า ถมฺภํ ได้แก่ ทำตามอำเภอใจ.
               บทว่า พนฺติ ได้แก่ เหตุผูกพัน.
               บทว่า ถทฺโธ ได้แก่ ไม่อ่อนโยน.
               บทว่า ปตฺถทฺโธ ได้แก่ ไม่อ่อนโยนโดยพิเศษ.
               บทว่า ปคฺคหิตสิโร ได้แก่ หัวสูง.
               บทว่า สมนฺตา ได้แก่ ไม่ห่าง.
               บทว่า อาสนฺเน ได้แก่ ไม่ไกล.
               บทว่า อวิทูเร ได้แก่ ใกล้.
               บทว่า อุปกฏฺเฐ ได้แก่ ในสำนัก.
               บทว่า ริตฺตสฺส ความว่า ว่าง คือเว้นจากกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า โอฆติณฺณสฺส ปิหยนฺติ กาเมสุ คธิตา ปชา ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ข้องอยู่ในวัตถุกามย่อมรักใคร่ต่อมุนีนั้น ผู้ข้ามโอฆะ ๔ ได้แล้ว เหมือนคนเป็นหนี้รักใคร่ต่อคนไม่เป็นหนี้ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยยอดคือพระอรหัตต์ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ริตฺตสฺส ได้แก่ ว่างจากกิเลสทุกอย่าง.
               บทว่า วิวิตฺตสฺส ได้แก่ เปล่า.
               บทว่า ปวิวิตฺตสฺส ได้แก่ ผู้เดียว
               บัดนี้พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงกิเลสทั้งหลายที่มุนีว่างเว้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กายทุจฺจริเตน ริตฺตสฺส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบความว่าง ๒ อย่างคือ ตามลำดับกิเลสอย่าง ๑ ตามลำดับมรรคอย่าง ๑ พึงทราบตามลำดับกิเลสก่อน มุนีเป็นผู้ว่างจากกิเลส ๖ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โมหะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ มทะ ด้วยอรหัตตมรรค. เป็นผู้ว่างจากกิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ โทสะ โกธะ อุปนาหะ ปมาทะ ด้วยอนาคามิมรรค. เป็นผู้ว่างจากกิเลส ๗ อย่างเหล่านี้ คือ อติมานะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ส่วนตามลำดับมรรค พึงทราบดังต่อไปนี้
               มุนีเป็นผู้ว่างจากกิเลส ๗ อย่างเหล่านี้ คือ อติมานะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ด้วยโสดาปัตติมรรค. เป็นผู้ว่างจากกิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ โทสะ โกธะ อุปนาหะ ปมาทะ ด้วยอนาคามิมรรค. เป็นผู้ว่างจากกิเลส ๖ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โมหะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ มทะ ด้วยอรหัตตมรรค. แม้กิเลสที่เหลือลงทั้งหลาย ก็พึงประกอบตามที่ประกอบไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ตีณิ ทุจฺจริตานิ สพฺพกิเลเสหิ ดังนี้.
               บทว่า วตฺถุกาเม ปริชานิตฺวา ความว่า รู้วัตถุกามทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ ๓ ด้วยสามารถเข้าถึงแล้วด้วยญาณปริญญาและตีรณปริญญา.
               บทว่า กิเลสกาเม ปหาย ความว่า กิเลสกามทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น ด้วยปหานปริญญา.
               บทว่า พฺยนฺตีกริตฺวา ความว่า กระทำให้มีที่สุดไปปราศแล้ว คือให้ปราศจากที่สุด.
               บทว่า กาโมฆํ ติณฺณสฺส ความว่า ข้ามกาโมฆะกล่าวคือการวนเวียนตั้งอยู่ ด้วยอนาคามิมรรค.
               บทว่า ภโวฆํ ความว่า ข้ามภโวฆะ ด้วยอรหัตตมรรค.
               บทว่า ทิฏฺโฐฆํ ความว่า ข้ามทิฏโฐฆะ ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               บทว่า อวิชฺโชฆํ ความว่า ข้ามอวิชโชฆะ ด้วยอรหัตตมรรค.
               บทว่า สพฺพสงฺขารปถํ ความว่า ข้ามทาง กล่าวคือลำดับแห่งขันธ์ ธาตุและอายตนะทั้งปวงตั้งอยู่ ด้วยอรหัตตมรรคนั่นแหละ. ข้ามขึ้นโดยโสดาปัตติมรรค, ข้ามพ้นด้วยสกทาคามิมรรค, ก้าวล่วงกามธาตุด้วยอนาคามิมรรค, ล่วงเลยภพทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค, เป็นไปล่วงด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติ.
               บทว่า ปารํ คตสฺส เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งพระนิพพาน.
               บทว่า ยถา อิณายิกา อานณฺยํ ความว่า พวกกู้หนี้ที่มีดอกเบี้ย ย่อมปรารถนาความหมดหนี้.
               บทว่า ปฏฺเฐนฺติ ความว่า ยังความปรารถนาให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อาพาธิกา อาโรคฺยํ ความว่า ผู้กระสับกระส่ายเพราะโรคดีพิการเป็นต้น ย่อมปรารถนาความสงบโรคคือความไม่มีโรค ด้วยประกอบเภสัช.
               บทว่า ยถา พนฺธนฺพนฺธา ความว่า ในวันนักขัตฤกษ์ พวกที่ติดอยู่ในเรือนจำ ย่อมปรารถนาความพ้นจากเรือนจำ.
               บทว่า ยถา ทาสา ภุชิสฺสํ ความว่า เพราะคนที่เป็นไทย่อมทำอะไรๆ ได้ตามปรารถนา ไม่มีใครจะให้เขากลับจากการกระทำนั้นได้ด้วยพลการ ฉะนั้น ทาสทั้งหลายจึงปรารถนาความเป็นไท.
               บทว่า ยถา กนฺตารทฺธานํ ปกฺขนฺนา ความว่า เพราะพวกคนที่มีกำลัง จับช้างสาร ตระเตรียมอาวุธ พร้อมด้วยบริวาร เดินทางกันดาร พวกโจรเห็นเขาแล้วย่อมหนีไปแต่ไกลทีเดียว พวกเขาพ้นทางกันดาร ถึงแดนเกษมด้วยความสวัสดี ย่อมร่าเริงยินดี ฉะนั้น พวกเดินทางกันดาร จึงปรารถนาภาคพื้นที่เกษม.
               เวลาจบเทศนา พระติสสเถระบรรลุโสดาปัตติผล ภายหลังบวชได้กระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตต์ดังนี้แล.

               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส               
               อรรถกถาติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 181อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 29 / 268อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=3084&Z=3567
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=5998
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=5998
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :