ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 109อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 29 / 181อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

               อรรถกถาปรมัฏฐกสูตรที่ ๕               
               ในปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปรมนฺติ ทิฏฺฐีสุ ปริพฺพสาโน ความว่า ยึดถืออยู่ในทิฏฐิของตนๆ ว่าสิ่งนี้ยอดเยี่ยม.
               บทว่า ยทุตฺตรึ กุรุเต ความว่า ย่อมทำสิ่งใด มีศาสดาของตนเป็นต้นให้ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า หีนาติ อญฺเญ ตโต สพฺพมาห ความว่า ชันตุชนนั้นกล่าวสิ่งทั้งปวง เว้นศาสดาของตนเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอื่นจากสิ่งนั้น ชื่อว่าเหล่านี้เลวทั้งหมด.
               บทว่า ตสฺมา วิวาทานิ อวีติวตฺโต ความว่า เพราะเหตุนั้น ชันตุชนนั้นย่อมเป็นผู้ไม่ล่วงเลยการทะเลาะเพราะทิฏฐิได้เลย.
               บทว่า วสนฺติ ความว่า อยู่ด้วยสามารถทิฏฐิที่เกิดขึ้นครั้งแรก.
               บทว่า สํวสนฺติ ความว่า เข้าไปอยู่.
               บทว่า อาวสนฺติ ความว่า อยู่โดยวิเศษ.
               บทว่า ปริวสนฺติ ความว่า อยู่โดยภาวะทุกอย่าง.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะยังบทนั้นให้สำเร็จด้วยอุปมา จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ยถา อาคาริกา วา ดังนี้.
               บทว่า อาคาริกา วา ได้แก่ พวกเจ้าของเรือน.
               บทว่า ฆเรสุ วสนฺติ ความว่า เป็นผู้ปราศจากความหวาดหวั่นอยู่อาศัยในเรือนของตน.
               บทว่า สาปตฺติกา วา ได้แก่ ผู้มากด้วยอาบัติ.
               บทว่า สกิเลสา ได้แก่ ผู้มากด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า อุตฺตรึ กโรติ ความว่า กระทำให้ยิ่งเกิน.
               บทว่า อยํ สตฺถา สพฺพญฺญู ความว่า พระศาสดาของพวกเรานี้รู้ธรรมทั้งปวง.
               บทว่า สพฺเพ ปรปฺปวาเท ขิปติ ความว่า ทิ้งลัทธิอื่นทั้งหมด.
               บทว่า อุกฺขิปติ ความว่า นำออก.
               บทว่า ปริกฺขิปติ ความว่า ทำลับหลัง.
               บทว่า ทิฏฺฐิเมธคานิ ได้แก่ ความมุ่งร้ายเพราะทิฏฐิ.
               คาถาที่ ๒ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ผู้ไม่ล่วงเลยไปได้อย่างนี้ เห็นอานิสงส์ใดคือมีประการดังกล่าวแล้วในก่อน ในตนกล่าวคือทิฏฐิที่เกิดขึ้นในวัตถุ ๔ เหล่านี้ คือ ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและพรต ในอารมณ์ที่ทราบ ผู้ไม่ล่วงเลยไปได้นั้นยึดมั่นอานิสงส์ในทิฏฐิของตนนั้นว่าสิ่งนี้ประเสริฐที่สุด เห็นสิ่งอื่นทั้งปวงมีศาสดาอื่นเป็นต้นโดยความเป็นของเลว.
               บทว่า เทฺว อานิสงฺเส ปสฺสติ ความว่า แลดูคุณ ๒ ประการ.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมิกญฺจ ได้แก่ คุณที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในอัตภาพที่ประจักษ์.
               บทว่า สมฺปรายิกญฺจ ได้แก่ คุณที่พึงได้เฉพาะในโลกหน้า.
               บทว่า ยํทิฏฺฐิโก สตฺถา ความว่า เป็นผู้มีลัทธิอย่างใด คือเป็นเจ้าลัทธิเดียรถีย์.
               บทว่า อลํ นาคตฺตาย วา ความว่า ต้องการเพื่อความเป็นนาค. แม้ในความเป็นครุฑก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า เทวตฺตาย วา ได้แก่ เพื่อความเป็นสมมติเทพเป็นต้น
               บทว่า อายตึ ผลปฏิกงฺขี โหติ ความว่า ย่อมปรารถนาผลอันเป็นวิบากในอนาคต.
               บทว่า ทิฏฺฐวิสุทฺธิยาปิ เทฺว อานิสงฺเส ปสฺสติ ความว่า แลดูคุณ ๒ ประการ ด้วยการยึดถือสิ่งที่ตนยึดถือ แม้เพราะความเป็นเหตุแห่งความหมดจด ด้วยสามารถแห่งรูปายตนะที่เห็นด้วยจักขุวิญญาณ.
               แม้ในความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยินเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               คาถาที่ ๓ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าวทัศนะที่ตนแม้เห็นอยู่อย่างนี้ อาศัยศาสดาของตนเป็นต้น เห็นผู้อื่นมีศาสดาอื่นเป็นต้นว่าเลว นั้นว่าเป็นเครื่องร้อยรัดนั่นเทียว. มีอธิบายว่า เครื่องผูกพัน เพราะข้อนั้นแหละ ฉะนั้นภิกษุจึงไม่อาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ หรือศีลและพรต. มีอธิบายว่า ไม่ยึดมั่น.
               บทว่า กุสลา ได้แก่ ผู้ฉลาดในเพราะรู้ธรรมมีขันธ์เป็นต้น.
               บทว่า ขนฺธกุสลา ได้แก่ ผู้ฉลาดในขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น.
               แม้ในธาตุอายตนะ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค ผลและนิพพาน ก็นัยนี้แหละ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มคฺคกุสลา ได้แก่ ฉลาด ในมรรค ๔.
               บทว่า ผลกุสลา ได้แก่ ฉลาดในผล ๔.
               บทว่า นิพฺพานกุสลา ได้แก่ ฉลาดในนิพพาน ๒ อย่าง.
               บทว่า เต กุสลา ได้แก่ ผู้ฉลาดเหล่านั้นเป็นผู้ฉลาดในประการที่กล่าวแล้วเหล่านี้.
               บทว่า เอวํ วทนฺติ ความว่า กล่าวอย่างนี้.
               บทว่า คณฺโฐ เอโส ความว่า ผู้ฉลาดย่อมกล่าวทัศนะที่อาศัยศาสดาของตนผู้เห็นอยู่เป็นต้น และทัศนะอื่นมีศาสดาอื่นเป็นต้น โดยความเป็นของเลวว่า นี้เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัดคือผูกพัน.
               บทว่า ลมฺพนํ เอตํ ความว่า ทัศนะนั้นคือมีประการดังกล่าวแล้ว เป็นกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวลงต่ำ ดุจคล้องไว้ที่หลักที่แขวนหมวก.
               บทว่า พนฺธนํ เอตํ ความว่า ชื่อว่าเป็นกิเลสเครื่องผูกพัน ดุจเครื่องผูกพันมีโซ่เป็นต้น เพราะอรรถว่ายากที่จะตัดออก.
               บทว่า ปลิโพโธ เอโส ความว่า นี้ชื่อว่าเป็นกิเลสเครื่องผูกพัน เพราะอรรถว่าไม่ยอมให้ออกจากสงสาร.
               คาถาที่ ๔ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุไม่พึงอาศัยรูปที่เห็นและเสียงที่ได้ยินเป็นต้นอย่างเดียวก็หามิได้. ก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่พึงกำหนดแม้ทิฏฐิสูงๆ ขึ้นไป ซึ่งมิได้เกิดในโลก. มีอธิบายว่า ไม่พึงให้เกิดเช่นไร? ไม่พึงกำหนดทิฏฐิที่ตนจักกำหนดด้วยญาณหรือแม้ด้วยศีลและวัตร คือด้วยญาณมีญาณในสมาบัติเป็นต้น หรือด้วยศีลและวัตรนั้น ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิอย่างเดียวก็หามิได้ ก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่พึงนำเข้าไปซึ่งตนว่าเป็นผู้เสมอเขา ด้วยเหตุมีชาติเป็นต้น หรือไม่พึงสำคัญว่าเลวกว่าเขา หรือแม้ว่าวิเศษกว่าเขา แม้เพราะมานะ.
               บทว่า อฏฺฐสมาปตฺติญาเณน วา ความว่า ด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘.
               บทว่า ปญฺจาภิญฺญาญาเณน วา ความว่า ด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยอภิญญา ๕ อันเป็นโลกิยะ.
               บทว่า มิจฺฉาญาเณน วา ความว่า ด้วยปัญญาที่เป็นไปโดยสภาพวิปริต หรือด้วยมิจฉาญาณที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ในสิ่งที่ยังไม่พ้นว่า พวกเราพ้นแล้ว.
               คาถาที่ ๕ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               ก็นรชนนั้นไม่กำหนดและไม่สำคัญทิฏฐิอย่างนี้ ละตนแล้วไม่ถือมั่น คือละตนที่เคยยึดถือแล้วไม่ยึดถือตนอื่นอีก ย่อมไม่กระทำนิสัย ๒ อย่างในเพราะญาณแม้นั้นคือแม้ในญาณที่มีประการดังกล่าวแล้ว และเมื่อไม่กระทำ นรชนนั้นแล เมื่อเหล่าสัตว์แยกกันคือแตกกันด้วยสามารถแห่งทิฏฐิต่างๆ เป็นผู้แล่นไปกับพวก คือเป็นผู้มีอันไม่ไปด้วยสามารถความพอใจเป็นต้นเป็นธรรมดา ย่อมไม่ถึงเฉพาะซึ่งทิฏฐิอะไรๆ ในบรรดาทิฏฐิ ๖๒ มีอธิบายว่า ย่อมไม่กลับมา.
               บทว่า จตูหิ อุปาทาเนหิ ได้แก่ ด้วยความยึดมั่น ๔ อย่าง มีกามุปาทานเป็นต้น.
               บทว่า ส เว ววฏฺฐิเตสุ ความว่า บุคคลนั้น เมื่อคนทั้งหลายไม่ปรารถนากันและกัน.
               บทว่า ภินฺเนสุ ความว่า แตกกันเป็น ๒ พวก.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระ เพื่อจะกล่าวสรรเสริญพระขีณาสพที่กล่าวไว้ในคาถานี้นั้น จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า ยสฺสูภยนฺเต เป็นต้น.
               บรรดาคาถา ๓ คาถานั้น คาถาแรกมีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ยสฺสูภยนฺเต ความว่า ต่างโดยผัสสะที่กล่าวแล้วในก่อนเป็นต้น.
               บทว่า ปณิธิ ได้แก่ ตัณหา.
               บทว่า ภวาภวาย ได้แก่ เพื่อเกิดบ่อยๆ.
               บทว่า อิธ วา หุรํ วา ได้แก่ ในโลกนี้ต่างโดยอัตภาพของตนเป็นต้น หรือในโลกหน้าต่างโดยอัตภาพของผู้อื่นเป็นต้น.
               บทว่า ผสฺโส เอโก อนฺโต ความว่า จักขุสัมผัสเป็นต้นเป็นส่วนที่ ๑.
               บทว่า ผสฺสสมุทโย ความว่า มีวัตถุเป็นอารมณ์ เพราะตั้งขึ้นคือเกิดขึ้น ผัสสะนั้นจึงชื่อสมุทัย.
               บทว่า ทุติโย อนฺโต ความว่า เป็นส่วนที่ ๒.
               บทว่า อตีตํ ความว่า เป็นไปล่วงแล้ว ชื่อว่าอดีต. มีอธิบายว่าก้าวล่วง.
               บทว่า อนาคตํ ความว่า ยังไม่มาถึง ชื่อว่าอนาคต. มีอธิบายว่า ยังไม่เกิดขึ้น.
               สุขเวทนาเป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถเป็นวิสภาคกัน หมวด ๒ แห่งนามรูป ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการนอบน้อมและการเปลี่ยนแปลง อายตนะภายในเป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก กายของตนเป็นต้น พึงทราบว่าท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งความเป็นไป และความเกิดขึ้นแห่งขันธปัญจกทั้งหลาย.
               บทว่า สกตฺตภาโว ได้แก่ อัตภาพของตน.
               บทว่า ปรตฺตภาโว ได้แก่ อัตภาพของผู้อื่น.
               คาถาที่ ๒ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทิฏฺเฐ วา ได้แก่ ในความหมดจดเพราะรูปที่เห็นบ้าง.
               ในเสียงที่ได้ยินเป็นต้นก็นัยนี้.
               บทว่า สญฺญา ได้แก่ ทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อปรามสนฺตํ ความว่า ไม่ถือมั่นด้วยตัณหามานะและทิฏฐิ.
               บทว่า อภินิวิสนฺตํ ความว่า ไม่ยึดมั่นด้วยตัณหามานะและทิฏฐิเหล่านั้น.
               บทว่า วินิพนฺโธติ วา ความว่า หรือว่า ผูกพันด้วยมานะ.
               บทว่า ปรามฏฺโฐติ วา ความว่า หรือว่า ถือมั่นด้วยความเที่ยงความสุขและความงามเป็นต้นแต่ผู้อื่น.
               บทว่า วิกฺเขปคโต ท่านกล่าวด้วยสามารถอุทธัจจะ.
               บทว่า อนิฏฺฐงฺคโต ท่านกล่าวด้วยสามารถวิจิกิจฉา.
               บทว่า ถามคโต ท่านกล่าวด้วยสามารถอนุสัย.
               บทว่า คติยา ท่านกล่าวด้วยสามารถ ภพที่จะพึงไป.
               คาถาที่ ๓ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ธมฺมาปิ เตสํ น ปฏิจฺฉิตา เส ความว่า แม้ธรรมคือทิฏฐิ ๖๒ อันพระอรหันต์เหล่านั้นไม่ปรารถนาเฉพาะอย่างนี้ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ.
               บทว่า ปารงฺคโต น ปจฺเจติ ตาทิ ความว่า พระอรหันต์ผู้ถึงฝั่งคือนิพพาน ย่อมไม่มาสู่กิเลสทั้งหลายที่ละได้แล้วด้วยมรรคนั้นๆ อีกและเป็นผู้คงที่ด้วยอาการ ๕ บทที่เหลือปรากฏแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า วีสติวตฺถุกา สกฺกายทิฏฺฐิ ได้แก่ ทิฏฐิในวิชชมานกายซึ่งกระทำขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้ง เป็นไปโดยอาการสี่ๆ ในขันธ์หนึ่งๆ โดยนัยเป็นต้นว่า พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน.
               บทว่า ทสวตฺถุกา มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ทิฏฐิที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล.
               บทว่า อนฺตคฺคาหิกา ทิฏฺฐิ ทิฏฐิที่ถือเอาว่า ส่วนสุดหนึ่งๆ มีอยู่ ซึ่งเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ.
               บทว่า ยา เอวรูปา ทิฏฺฐิ เป็นบทตั้ง ซึ่งทั่วไปแก่บท ๑๙ บทที่กล่าวอยู่ในบัดนี้ พึงเชื่อมความแม้ทั้งหมดว่า ทิฏฐิอันใด ความไปคือทิฏฐิก็อันนั้นแหละ ทิฏฐิอันใดรกเรี้ยวคือทิฏฐิก็อันนั้นแหละ.
               อันใดชื่อว่าทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็นไม่แน่นอน อันนั้นแหละชื่อว่าทิฏฐิคตะ เพราะอรรถว่าไป คือเห็นในทิฏฐิทั้งหลาย เพราะหยั่งลงภายในทิฏฐิ ๖๒. เนื้อความของบทนั้นกล่าวไว้แล้วทีเดียวแม้ในหนหลัง ชื่อว่าทิฏฐิคตะ เพราะไปแล้วโดยส่วนเดียวของส่วนสุดทั้ง ๒.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สสฺสโต ได้แก่ เที่ยง.
               บทว่า โลโก ได้แก่ ตน.
               สรีระในโลกนี้เท่านั้นพินาศไป แต่ตนคงเป็นตนนั่นแหละทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เข้าใจกันดังนี้. ก็ตนนั้น เข้าใจกันว่าโลก เพราะวิเคราะห์ว่าแลดูเป็นสามัญทั้งนั้น.
               บทว่า อสสฺสโต ได้แก่ ไม่เที่ยง ตนย่อมพินาศไปพร้อมกับสรีระเข้าใจกันดังนี้.
               บทว่า อนฺตวา ความว่า ทำฌานให้เกิดขึ้นในกสิณเล็กน้อยแล้ว เข้าใจเจตนาที่มีกสิณเล็กน้อยเป็นอารมณ์นั้นว่าเป็นตนที่มีในที่สุดรอบ.
               บทว่า อนนฺตวา ความว่า มีที่สุดหามิได้ คือทำฌานให้เกิดขึ้น ในกสิณหาประมาณมิได้แล้วเข้าใจเจตนาที่มีกสิณหาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ นั้น ว่าเป็นตนที่มีที่สุดรอบหามิได้.
               บทว่า ตํ ชีวํ ตํ สรีรํ ความว่า ทั้งชีพทั้งสรีระก็อันนั้นแหละ.
               บทว่า ชีโว ได้แก่ ตน ท่านกล่าวเป็นนปุงสกลิงค์ด้วยลิงควิปลาส.
               บทว่า สรีรํ ความว่า ชื่อว่าขันธปัญจกะ ด้วยอรรถว่ายินดี.
               บทว่า อญฺญํ ชีวํ อญฺญํ สรีรํ ความว่า ชีพเป็นอย่างหนึ่ง ขันธปัญกะเป็นอีกอย่างหนึ่ง.
               บทว่า โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา ความว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่มรณะ ย่อมมีคือมีอยู่ ไม่พินาศไป.
               ก็บทว่า ตถาคโต นี้ เป็นชื่อของสัตว์ แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า ตถาคโต ได้แก่ พระอรหันต์.
               บทว่า อิเม น โหติ ความว่า เห็นโทษในฝ่ายหนึ่ง แล้วถือเอาอย่างนี้.
               บทว่า น โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา ความว่า แม้ขันธ์ทั้งหลายย่อมพินาศในโลกนี้เท่านั้น และสัตว์เบื้องหน้าแต่มรณะย่อมไม่มี คือขาดสูญ.
               บทว่า อิเม โหติ ความว่าเห็นโทษในฝ่ายหนึ่งแล้วถือเอาอย่างนี้
               บทว่า โหติ จ น จ โหติ ความว่า พระอรหันต์เหล่านี้เห็นโทษในการยึดถือฝ่ายหนึ่งๆ แล้วถือเอาทั้งสองฝ่าย.
               บทว่า เนว โหติ น น โหติ ความว่า พระอรหันต์เหล่านี้เห็นการต้องโทษ ๒ อย่างในการยึดถือทั้ง ๒ ฝ่าย จึงถือฝ่ายที่ดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี.
               ก็ในข้อนี้มีนัยแห่งอรรถกถาดังต่อไปนี้ :
               ท่านกล่าวประเภทแห่งทิฏฐิโดยอาการ ๑๐ อย่างว่า สสฺสโต โลโก วา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สสฺสโต โลโก ความว่า ทิฏฐิที่เป็นไปโดยอาการยึดถือว่าเที่ยง ของผู้ที่ยึดถือว่าขันธปัญจกะชื่อว่าโลก แล้วยึดถือว่า โลกนี้เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปทุกกาล.
               บทว่า อสสฺสโต ความว่า ทิฏฐิที่เป็นไปโดยอาการยึดถือว่าขาดสูญของผู้ที่ยึดถือโลกนั้นนั่นแหละว่า ขาดสูญ คือพินาศ.
               บทว่า อนฺตวา ความว่า ทิฏฐิที่เป็นไปโดยอาการยึดถือว่าโลกมีที่สุด ของผู้ได้กสิณเล็กน้อย ผู้เข้ากสิณเพียงกระด้งหรือเพียงถ้วย ยึดถือรูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปภายในสมาบัติ ว่าโลกด้วย ว่ามีที่สุด โดยที่กำหนดด้วยกสิณด้วย ทิฏฐินั้นย่อมเป็นทั้งสัสสตทิฏฐิทั้งอุจเฉททิฏฐิ แต่ผู้ได้กสิณไพบูลย์ เข้ากสิณนั้น ยึดถือรูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปภายในสมาบัติ ว่าโลกด้วย ว่าไม่มีที่สุดโดยที่สุดที่กำหนดด้วยกสิณด้วย ย่อมมีทิฏฐิที่เป็นไปโดยอาการยึดถือว่าโลกไม่มีที่สุด ทิฏฐินั้นก็เป็นทั้งสัสสตทิฏฐิทั้งอุจเฉททิฏฐิ.
               บทว่า ตํ ชีวํ ตํ สรีรํ ความว่า ทิฏฐิที่เป็นไปโดยอาการยึดถือว่าขาดสูญ ว่าเมื่อสรีระขาดสูญ แม้ชีพก็ขาดสูญ เพราะยึดถือว่า เป็นชีพของสรีระซึ่งมีการแตกไปเป็นธรรมดานั่นเองด้วยบทที่ ๒ ท่านกล่าวทิฏฐิที่เป็นไปโดยอาการยึดถือว่าเที่ยง ว่าแม้เมื่อสรีระขาดสูญ ชีพก็ไม่ขาดสูญ เพราะถือว่าชีพเป็นอื่นจากสรีระ.
               ในบทว่า โหติ ตถาคโต เป็นต้นมีความว่า ทิฏฐิ ๑ ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ เพราะยึดถือว่า สัตว์ชื่อว่าตถาคต สัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่มรณะ มีอยู่. ทิฏฐิที่ ๒ ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะยึดถือว่าไม่มีอยู่. ทิฏฐิที่ ๓ ชื่อว่าเอกัจจสัสสต เพราะยึดถือว่ามีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี. ทิฏฐิที่ ๔ ชื่อว่าอมราวิกเขปทิฏฐิ เพราะยึดถือว่า มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้.
               ทิฏฐิ ๑๐ อย่างมีประการดังกล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ทิฏฐิมี ๒ อย่างตามกิเลส คือภวทิฏฐิ ๑ วิภวทิฏฐิ ๑ ในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น แม้สักอย่างหนึ่ง พระขีณาสพเหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา.
               บทว่า เย กิเลสา ความว่า กิเลสเหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยโสดาปัตติมรรค อริยบุคคลนั้นย่อมไม่กลับถึงกิเลสเหล่านั้นอีก คือไม่ยังกิเลสเหล่านั้นให้กลับบังเกิดอีก.
               บทว่า น ปจฺจาคจฺฉติ ความว่า ไม่มาภายหลัง.
               บทว่า ปญฺจหากาเรหิ ตาทิ ความว่า เป็นผู้เช่นกับด้วยเหตุหรือส่วน ๕ อย่าง.
               บทว่า อิฏฺฐานิฏฺเฐ ตาทิ ความว่า เป็นผู้เช่นกับในเหตุ ๒ อย่าง คืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เพราะเปลื้องความยินดีและยินร้ายได้ ตั้งอยู่.
               บทว่า จตฺตาวี ได้แก่ สละกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า ติณฺณาวี ได้แก่ ก้าวล่วงสงสาร.
               บทว่า มุตฺตาวี ได้แก่ พ้นจากราคะเป็นต้น.
               บทว่า ตํ นิทฺเทสา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้เช่นกัน เพราะแสดงออกคือกล่าวชี้แจงด้วยคุณมีศีลและศรัทธาเป็นต้นนั้นๆ.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะกล่าวอาการ ๕ อย่างนั้นให้พิสดาร จึงกล่าวว่า กถํ อรหา อิฏฐานิฏฺเฐ ตาทิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลาเภปิ ความว่า แม้ในการได้ปัจจัย ๔.
               บทว่า อลาเภปิ ความว่า แม้ในการเสื่อมปัจจัย ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า ยเสปิ ได้แก่ แม้ในบริวาร.
               บทว่า อยเสปิ ได้แก่ แม้ในคราวเสื่อมบริวาร.
               บทว่า ปสํสายปิ ได้แก่ แม้ในการกล่าวสรรเสริญ.
               บทว่า นินฺทายปิ ได้แก่ แม้ในการติเตียน.
               บทว่า สุเขปิ ได้แก่ แม้ในความสุขทางกาย.
               บทว่า ทุกฺเขปิ ได้แก่ แม้ในความทุกข์ทางกาย.
               บทว่า เอกํ เจ พาหํ คนฺเธน ลิมฺเปยฺยุํ ความว่า หากชนทั้งหลายพึงให้การลูบไล้เบื้องบนๆ แขนข้างหนึ่ง ด้วยของหอมที่ปรุงด้วยจตุรชาติ.
               บทว่า วาสิยา ตจฺเฉยฺยํ ความว่า หากนายช่างเอามีดถากแขนข้างหนึ่งทำให้บาง.
               บทว่า อมุสฺมึ นตฺถิ ราโค ความว่า ความเสน่หาในการลูบไล้ด้วยของหอมโน้นไม่มี คือมีอยู่หามิได้.
               บทว่า อมุสฺมึ นตฺถิ ปฏิฆํ ความว่า ความยินร้ายกล่าวคือการกระทบ ได้แก่ความโกรธ ในการถากด้วยมีดโน้นไม่มี คือมีอยู่หามิได้.
               บทว่า อนุนยปฏิฆวิปฺปหีโน ความว่า ละความเสน่หาและความโกรธตั้งอยู่.
               บทว่า อุคฺฆาตินิคฺฆาติ วีติวตฺโต ความว่า ก้าวล่วงการช่วยเหลือด้วยสามารถแห่งความยินดี และการข่มขี่ด้วยสามารถแห่งความยินร้ายตั้งอยู่.
               บทว่า อนุโรธวิโรธสมติกฺกนฺโต ความว่า ก้าวล่วงโดยชอบซึ่งความยินดีและความยินร้าย.
               บทว่า สีเล สติ ความว่า เมื่อศีลมีอยู่.
               บทว่า สีลวา ความว่า ถึงพร้อมด้วยศีล.
               พระอรหันต์ย่อมได้การแสดงออกคือการกล่าวด้วยศีลนั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้คงที่.
               แม้ในบทอย่างนี้ว่า สทฺธาย สติ สทฺโธ เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.

               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส               
               อรรถกถาปรมัฏฐกสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 109อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 29 / 181อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=2240&Z=2585
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=5510
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=5510
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :