ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 70อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 109อ่านอรรถกถา 29 / 146อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               บทว่า ภูริปญฺโญ ความว่า ปัญญาชื่อว่าภูริ เพราะอรรถว่าเหมือนแผ่นดิน ผู้ประกอบด้วยปัญญาเหมือนแผ่นดินนั้น ชื่อว่าผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน.
               ในบทว่า มหาปญฺโญ เป็นต้น ความว่า ประกอบด้วยปัญญาใหญ่เป็นต้น.
               ความต่างกันแห่งผู้มีปัญญาใหญ่เป็นต้น ในบทเหล่านั้นมีดังต่อไปนี้.
               ปัญญาใหญ่เป็นไฉน? ชื่อว่าปัญญาใหญ่ เพราะอรรถว่ากำหนดอรรถใหญ่, ชื่อว่าปัญญาใหญ่ เพราะอรรถว่ากำหนดธรรมใหญ่. นิรุตติใหญ่, ปฏิภาณใหญ่. ชื่อว่าปัญญาใหญ่ เพราะอรรถว่ากำหนดสีลขันธ์ใหญ่.
               ชื่อว่าปัญญาใหญ่ เพราะอรรถว่ากำหนดสมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่.
               ชื่อว่าปัญญาใหญ่ เพราะอรรถว่ากำหนดฐานาฐานญาณใหญ่ วิหารสมาบัติใหญ่ อริยสัจใหญ่ สติปัฏฐานใหญ่ สัมมัปปธานใหญ่ อิทธิบาทใหญ่ อินทรีย์ใหญ่ พละใหญ่ โพชฌงค์ใหญ่ อริยมรรคใหญ่ สามัญญผลใหญ่ อภิญญาใหญ่ และนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถ์ใหญ่.
               ปัญญามากเป็นไฉน? ชื่อว่าปัญญามาก เพราะอรรถว่าญาณเป็นไปในขันธ์ต่างๆ มาก. ชื่อว่าปัญญามาก เพราะอรรถว่าญาณเป็นไปในธาตุต่างๆ มาก, ในอายตนะต่างๆ มาก, ในปฏิจสมุปบาทต่างๆ มาก, ในการไม่รับความว่างเปล่าต่างๆ มาก, ในอรรถต่างๆ มาก, ในธรรม ในนิรุตติ ในปฏิภาณ ในสีลขันธ์ต่างๆ มาก, ในสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่างๆ มาก. ในฐานาฐานญาณต่างๆ มาก, ในวิหารสมาบัติต่างๆ มาก, ในอริยสัจจ์ต่างๆ มาก, ในสติปัฏฐานต่างๆ มาก, ในสัมมัปปธาน ในอิทธิบาท ในอินทรีย์ ในพละ ในโพชฌงค์ ในอริยมรรคต่างๆ มาก, ในสามัญญผล ในอภิญญา ในนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถ์ ล่วงเลยธรรมที่สาธารณะแก่ชนต่างๆ มาก.
               ปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริงเป็นไฉน? ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความปราโมทย์ ยังศีลให้บริบูรณ์ ยังอินทรีย์สังวรให้บริบูรณ์, ยังโภชเนมัตตัญญุตาให้บริบูรณ์, ยังชาคริยานุโยค, ยังสีลขันธ์, ยังสมาธิขันธ์, ยังปัญญาขันธ์, ยังวิมุตติขันธ์, ยังวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ให้บริบูรณ์. ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยความปราโมทย์ แทงตลอดฐานาฐานญาณ.
               ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าผู้มากด้วยความรื่นเริงย่อมยังวิหารสมาบัติให้บริบูรณ์. ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าผู้มากด้วยความรื่นเริง แทงตลอดอริยสัจ, เพราะอรรถว่าเจริญสติปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเจริญสัมมัปธาน, อิทธิบาท, อินทรีย์, พละ, โพชฌงค์, อริยมรรค.
               ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าผู้มากด้วยความรื่นเริงย่อมทำให้แจ้งซึ่งสามัญผล.
               ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าแทงตลอดอภิญญา.
               ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง เพราะอรรถว่าผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท ความยินดี ความปราโมทย์ กระทำให้แจ้งนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถ์.
               ปัญญาไวเป็นไฉน? ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าแล่นไปสู่รูปอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม โอฬารก็ตาม สุขุมก็ตาม เลวก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลก็ตาม ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดโดยเป็นอนิจจังได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าแล่นไป โดยเป็นทุกขังเป็นอนัตตาได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะว่าแล่นไปสู่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ฯลฯ ไกลก็ตาม ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดโดยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าแล่นไปสู่จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะซึ่งเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าตรึกตรอง พิจารณา ไตร่ตรอง คือทำให้แจ้งซึ่งรูปที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันว่าเป็นอนิจจัง, เพราะอรรถว่าสิ้นไป ว่าเป็นทุกขัง เพราะอรรถว่าน่ากลัว ว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าหาสาระมิได้ แล่นไปในนิพพานซึ่งเป็นที่ดับรูปได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าตรึกตรอง พิจารณา ไตร่ตรอง คือทำให้แจ้งซึ่งรูปที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันว่าเป็นอนิจจัง เพราะอรรถว่าสิ้นไป, ว่าเป็นทุกขัง เพราะอรรถว่าน่ากลัว, ว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าหาสาระมิได้, แล่นไปในนิพพานซึ่งเป็นที่ดับรูปได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าตรึกตรอง พิจารณา ไตร่ตรอง คือทำให้แจ้งซึ่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันว่าเป็นอนิจจัง เพราะอรรถว่าสิ้นไป, ว่าเป็นทุกขัง เพราะอรรถว่าน่ากลัว, ว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าหาสาระมิได้, แล่นไปในนิพพานซึ่งเป็นที่ดับชราและมรณะได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าตรึกตรอง พิจารณา ไตร่ตรอง คือทำให้แจ้งซึ่งรูปที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ว่าเป็นอนิจจัง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้นมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีความคลายกำหนัดเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา แล่นไปในนิพพานซึ่งเป็นที่ดับรูปได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาไว เพราะอรรถว่าตรึกตรอง พิจารณา ไตร่ตรอง คือทำให้แจ้งซึ่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ว่าเป็นอนิจจัง ฯลฯ มีความดับเป็นธรรมดา แล่นไปในนิพพานซึ่งเป็นที่ดับรูปได้ไว.
               ปัญญาคมกล้าเป็นไฉน? ชื่อว่าปัญญาคมกล้า เพราะอรรถว่าตัดกิเลสทั้งหลายได้ไว.
               ชื่อว่าปัญญาคมกล้า เพราะอรรถว่ายังกามวิตกที่เกิดขึ้นให้อยู่ทับไม่ได้ ยังพยาปาทวิตกที่เกิดขึ้น วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นๆ ราคะที่เกิดขึ้น โทสะ โมหะ ความโกรธ ผูกโกรธไว้ ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มารยา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่นท่าน มัวเมา เลินเล่อที่เกิดขึ้น กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมเครื่องไปสู่ภพทั้งปวงให้อยู่ทับไม่ได้ คือละบรรเทาทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี.
               ชื่อว่าปัญญาคมกล้า เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องบรรลุคือทำให้แจ้ง ถูกต้องอริยมรรค ๔ สามัญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ได้ในอาสนะเดียว.
               ปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลสเป็นไฉน? ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลส เพราะอรรถว่าบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากด้วยความตื่นเต้น มากด้วยความสะดุ้ง, มากด้วยความกระสัน, มากด้วยความไม่ยินดี, มากด้วยความไม่ยินดียิ่ง, เบือนหน้าไม่ยินดีในสังขารทั้งปวง, ย่อมแทงตลอด ย่อมทำลายกองโลภะที่ไม่เคยแทงตลอด ไม่เคยทำลายในสังขารทั้งปวง.
               ชื่อว่าปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลส เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องแทงตลอด, เป็นเครื่องทำลาย กองโทสะ, กองโมหะ, ความโกรธ, ผูกโกรธไว้ ฯลฯ กรรมเครื่องไปสู่ภพทั้งปวงที่ไม่เคยแทงตลอด ไม่เคยทำลาย.
               บทว่า ส สพฺพธมฺเมสุ วิเสนิภูโต ยํกิญฺจิ ทิฏฺฐํว สุตํ มุตํ วา ความว่า ผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น คือพระขีณาสพชื่อว่าเป็นผู้กำจัดเสนา เพราะความเป็นผู้ยังเสนามารในธรรมทั้งปวงเหล่านั้น รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบอย่างใดอย่างหนึ่งให้พินาศตั้งอยู่.
               บทว่า ตเมว ทสฺสึ ความว่า ซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็นความหมดจด.
               บทว่า วิวฏํ จรนฺตํ ความว่า ผู้ประพฤติเปิดเผย เพราะปราศจากเครื่องปกปิดคือตัณหาเป็นต้น.
               บทว่า เกนีธ โลกสฺมึ วิกปฺปเยยฺย ความว่า ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนด ด้วยกิเลสอะไรเล่า? คือด้วยความกำหนดด้วยตัณหา หรือด้วยความกำหนดด้วยทิฏฐิ หรือด้วยกิเลสที่กล่าวแล้วในก่อนมีราคะเป็นต้น เพราะละกิเลสเหล่านั้นได้แล้ว.
               ในคาถา ๔ คาถาว่า กามา เต ปฐมา เสนา เป็นต้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้
               เพราะกิเลสกามทั้งหลายทำเหล่าสัตว์ผู้ครองเรือนให้หลงอยู่ในวัตถุกามทั้งหลายแต่ต้นเทียว ความไม่ยินดีในเสนาสนะที่สงัด หรือในธรรมที่เป็นกุศลอันยิ่งอื่นๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์ผู้ครอบงำกิเลสเหล่านั้นเข้าถึงความเป็นบรรพชิต,
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส บรรพชิตแลทำความยินดียิ่งได้ยาก. ฉะนั้น ความหิวและความกระหายย่อมเบียดเบียนบรรพชิตเหล่านั้น เพราะมีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น เมื่อถูกความหิวและความกระหายเบียดเบียน ตัณหาในการแสวงหาย่อมทำจิตให้ลำบาก.
               ลำดับนั้น ความหดหู่และความง่วงเหงาย่อมเยี่ยมกรายผู้มีใจลำบากเหล่านั้น. ต่อนั้น ความกลัวที่รู้กันว่าความหวาดสะดุ้ง ย่อมเกิดแก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุคุณวิเศษ. ผู้อยู่ในเสนาสนะในป่าและหมู่ไม้ที่เกิดกลิ่นเหม็น เมื่อเขาเหล่านั้นไม่ไว้ใจหวาดระแวง ทำใจให้ยินดีรสวิเวกอยู่ ย่อมเกิดความสงสัยในปริยัติว่า ทางนี้จะพึงมีหรือหนอ. เมื่อบรรเทาความสงสัยนั้นได้ ความถือตัว ลบหลู่คุณท่านและหัวดื้อ ย่อมเกิด. เพราะบรรลุคุณวิเศษมีประมาณน้อย. เมื่อบรรเทาความถือตัว ลบหลู่คุณท่านและหัวดื้อแม้เหล่านั้นได้. ลาภสักการะและความสรรเสริญย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งกว่านั้น. ผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในลาภเป็นต้น ประกาศธรรมปฏิรูปได้รับยศที่ผิดแล้วดำรงอยู่ในยศนั้น ย่อมยกตนข่มท่านด้วยชาติเป็นต้น.
                         เอวเมตํ ทสวิธํ เสนํ อุทฺทิสิตฺวา ยถา (๔) สา กณฺหธมฺม-
               สมนฺนาคตตฺตา กณฺหสฺส นมุจิโน อุปการาย สํวตฺตติ ตสฺมา [๕]
               นํ ตว เสนาติ นิทฺทิสนฺโต อาห เอสา นมุจิ เต เสนา กณฺหสฺสาภิปฺ-
               ปหารินีติ ฯ
# ๔. ม. ยสฺมา ฯ ๕. ม. เอตฺถนฺตเร นนฺติ ทิสฺสติ ฯ

               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงกองทัพ ๑๐ อย่างนี้ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงชี้แจงว่า เหมือนความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดำนั้น ย่อมเป็นไปเพื่ออุปการะแก่ผู้กำจัดผู้มีธรรมดำ ฉะนั้นจึงเป็นกองทัพของท่าน ดังนี้จึงตรัสว่า เอสา นมุจิ เต เสนา กณฺหสฺสาภิปฺปหาริณี ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิปฺปหาริณี ความว่า เป็นผู้ฆ่าคือบดขยี้ กระทำอันตรายสมณพราหมณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า น นํ อสูโร ชินาติ เชตฺวา จ ลภเต สุขํ ความว่า คนไม่กล้าคือคนผู้เพ่งเล็งกายและชีวิต ย่อมชนะกองทัพมารอย่างนี้ไม่ได้ แต่คนกล้าย่อมชนะได้ และครั้นชนะแล้วย่อมได้สุขเกิดแต่มรรคและสุขเกิดแต่ผล.
               บทว่า ยโต จตูหิ อริยมคฺเคหิ ความว่า ด้วยมรรค ๔ กล่าวคือเครื่องถึงพระนิพพาน ซึ่งไม่มีโทษในกาลใด.
               บทว่า มารเสนา ความว่า กองทัพของมารผู้ทำตามคำสั่ง ได้แก่กิเลส.
               บทว่า ปฏิเสนิกรา ความว่า กระทำความเป็นปฏิปักษ์.
               บทว่า ชิตา จ ความว่า ให้ถึงซึ่งความปราชัย.
               บทว่า ปราชิตา จ ความว่า ข่มขี่.
               บทว่า ภคฺคา ความว่า ทำลาย.
               บทว่า วิปฺปลุตฺตา ความว่า ทำให้แหลกละเอียด.
               บทว่า ปรมฺมุขา ความว่า ให้ถึงความหลบหน้า.
               บทว่า วิเสนิภูโต ความว่า เป็นผู้ปราศจากกิเลสตั้งอยู่.
               บทว่า โวทานทสฺสี ความว่า ผู้เห็นพระนิพพานอันเป็นอารมณ์ของโวทาน.
               บทว่า ตานิ ฉทนานิ ความว่า เครื่องปิดบังคือกิเลสมีตัณหาเป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า วิวฏานิ ความว่า ทำให้ปรากฏ.
               บทว่า วิทฺธํสิตานิ ความว่า นำออกไปจากฐานที่ตั้งอยู่.
               บทว่า อุคฺฆาติตานิ ความว่า เพิกขึ้น.
               บทว่า สมุคฺฆาติตานิ ความว่า เพิกขึ้นเป็นพิเศษ.
               คาถาว่า น กปฺปยนฺติ เป็นต้น มีการเชื่อมความและเนื้อความดังต่อไปนี้.
               จะกล่าวบางอย่างโดยยิ่ง ก็สัตบุรุษเหล่านั้นคือเช่นนั้น ย่อมไม่กำหนดด้วยความกำหนด ๒ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง และย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า ด้วยการทำไว้ในเบื้องหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง สัตบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวอกิริยทิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ ซึ่งมิใช่ ความหมดจดส่วนเดียวกัน ว่าเป็นความหมดจดส่วนเดียว เพราะเป็นผู้บรรลุความหมดจดส่วนเดียวซึ่งเป็นปรมัตถ์.
               บทว่า อาทานคนฺถํ คถิตํ วิสชฺช ความว่า ละคือตัดคันถะ เป็นเครื่องยึดมั่น ๔ อย่าง คือเกี่ยวเนื่องในจิตตสันดานของตน เพราะเป็นผู้ยึดมั่นธรรมมีรูปเป็นต้น ด้วยศัสตราคืออริยมรรค.
               บทที่เหลือปรากฏแล้วนั้นเทียว.
               บทว่า อจฺจนฺตสุทฺธึ ความว่า ความหมดจดส่วนเดียวคืออย่างยิ่ง.
               บทว่า สํสารสุทฺธึ ความว่า ความหมดจดจากสงสาร.
               บทว่า อกิริทิฏฺฐิ ความว่า อกิริยทิฏฐิว่า ผู้กระทำบาป ชื่อว่าไม่เป็นอันกระทำ.
               บทว่า สสฺสตวาทํ ความว่า ไม่กล่าว คือไม่พูดว่า เที่ยง ยั่งยืน แน่นอน.
               บทว่า คนฺถา ความว่า ชื่อว่าผูกพัน เพราะอรรถว่าผูกพันนามกาย คือสืบต่อในวัฏฏะด้วยสามารถจุติและปฏิสนธิ. อภิชฌานั้นด้วย เป็นเครื่องผูกพันด้วยสามารถการสืบต่อนามกายด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่าเครื่องผูกพันทางกายคืออภิชฌา. ชื่อว่าพยาบาท เพราะอรรถว่ายังประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้ถึงความพินาศ. พยาบาทนั้นด้วย เป็นเครื่องผูกพันโดยนัยที่กล่าวแล้วด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่า เครื่องผูกพันทางกายคือพยาบาท.
               บทว่า สีลพฺพตปรามาโส ความว่า ความลูบคลำโดยประการอื่นว่า หมดจดด้วยศีล หมดจดด้วยวัตร ของเหล่าสมณพราหมณ์นอกศาสนานี้.
               บทว่า อิทํสจฺจาภินิเวโส ความว่า การห้ามแม้ภาษิตของพระสัพพัญญูเสียแล้ว ยึดมั่นโดยอาการนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ ชื่อว่าความยึดมั่นว่าสิ่งนี้จริง.
               บทว่า อตฺตโน ทิฏฺฐิยา ราโค ความว่า ฉันทราคะด้วยทิฏฐิที่ตนยึดมั่นถือเอา.
               บทว่า ปรวาเทสุ อาฆาโต ความว่า ความโกรธในเพราะคำของคนอื่น.
               บทว่า อปฺปจฺจโย ความว่า อาการที่ไม่ยินดี.
               บทว่า อตฺตโน สีลํ วา ความว่า ศีลมีโคศีลเป็นต้นที่ตนสมาทานแล้วก็ดี.
               บทว่า อตฺตโน ทิฏฺฐิ ความว่า ทิฏฐิที่ตนถือคือลูบคลำ.
               บทว่า เตหิ คนฺเถหิ ความว่า ด้วยกิเลสเครื่องสืบต่อนามกายที่กล่าวแล้วเหล่านี้.
               บทว่า รูปํ อาทิยนฺติ ความว่า ย่อมถือ คือจับรูปารมณ์ซึ่งมีสมุฏฐาน ๔.
               บทว่า อุปาทิยนฺติ ความว่า เข้าไปถือ จับด้วยตัณหา ถือมั่นด้วยทิฏฐิ ยึดมั่นด้วยมานะ.
               บทว่า วฏฺฏํ ความว่า วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า คนฺเถ ความว่า กิเลสเครื่องผูกพัน.
               บทว่า โวสฺสชฺชิตฺวา ความว่า สละโดยชอบ.
               บทว่า คถิเต ความว่า กิเลสเครื่องผูกพัน.
               บทว่า คนฺถิเต ความว่า ที่ผูกพันด้วยกิเลสเครื่องผูกพัน.
               บทว่า วิพนฺเธ ความว่า ที่ผูกพันเป็นพิเศษ.
               บทว่า อาพนฺเธ ความว่า ที่ผูกพันหลายอย่าง.
               บทว่า ปลิพุทฺเธ ความว่า กิเลสเครื่องผูกพันที่พ้นไม่ได้.
               บทว่า โผฏยิตฺวา ความว่า ทำลายเครื่องผูกพัน คือตัณหามานะทิฏฐิ.
               บทว่า วิสชฺช ความว่า สละ.
               ก็การนำกิเลสเครื่องผูกพัน ๔ อย่างเหล่านี้มาตามลำดับกิเลสก็ดี ตามลำดับมรรคก็ดี ย่อมควรตามลำดับกิเลส. กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคืออภิชฌา ละได้ด้วยอรหัตมรรค. กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคือพยาบาท ละได้ด้วยอนาคามิมรรค. กิเลสเครื่องผูกพันทางกาย คือสีลัพพตปรามาส กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคือความยึดมั่นว่าสิ่งนี้จริง ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ตามลำดับมรรค.
               กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคือสีลัพพตปรามาส กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคือความยึดมั่นว่าสิ่งนี้จริง ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค. กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคือพยาบาท ละได้ด้วยอนาคามิมรรค. กิเลสเครื่องผูกพันทางกายคืออภิชฌา ละได้ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้แล.
               กิเลสเครื่องผูกพัน ๔ อย่างเหล่านี้มีอยู่แก่ผู้ใด ย่อมผูกพันคือสืบต่อผู้นั้นไว้ในวัฏฏะ ด้วยสามารถจุติและปฏิสนธิ ดังนั้นจึงชื่อว่ากิเลสเครื่องผูกพัน. กิเลสเครื่องผูกพันเหล่านั้นมี ๔ ประเภท สัตว์ทั้งหลายย่อมเพ่งเล็งด้วยอภิชฌานี้คือตัวอภิชฌาเองเพ่งเล็งก็ตาม อภิชฌานี้เป็นเพียงความเพ่งเล็งเท่านั้นก็ตาม ดังนั้นจึงชื่อว่าอภิชฌา คือความโลภนั่นเอง. ชื่อว่ากิเลสเครื่องผูกพันทางกาย เพราะอรรถว่าผูกพันนามกาย คือสืบต่อไว้ในวัฏฏะด้วยสามารถจุติและปฏิสนธิ.
               ชื่อว่าพยาบาท เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องที่จิตถึงความพินาศ คือถึงความเป็นจิตเสีย หรือทำอาจาระคือวินัย รูปสมบัติ ประโยชน์เกื้อกูลและความสุขเป็นต้น ให้ถึงความพินาศ.
               ความลูบคลำว่าหมดจดด้วยศีล หมดจดด้วยวัตรของเหล่าสมณพราหมณ์นอกศาสนานี้ ชื่อว่าสีลัพพตปรามาส. ชื่อว่าความยึดมั่นว่าสิ่งนี้จริง เพราะอรรถว่าห้ามแม้ภาษิตของพระสัพพัญญูเสียแล้วยึดมั่นโดยอาการเป็นต้นว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะแสดงสิ่งที่ปรุงแต่งมีวอเป็นต้น เป็นเครื่องเปรียบเทียบในการแยกแยะกิเลสเครื่องผูกพันทั้งหลาย จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ยถา วยฺหํ วา ดังนี้.
               บทว่า น ชเนนฺติ ความว่า ไม่ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า น สญฺชเนนฺติ ความว่า ไม่ให้บังเกิด. ท่านขยายบทว่า นาภินิพฺพตฺเตนฺติ ด้วยอุปสรรค.
               บทว่า น สญฺชเนนฺติ ความว่า ไม่ยังลักษณะที่เกิดขึ้นให้บังเกิด.
               บทว่า นาภินิพฺพตฺเตนฺติ ท่านกล่าวหมายเอาลักษณะที่เป็นไป.
               พระอรหันต์ชื่อว่าล่วงแดนแล้ว เพราะล่วงแดนคือกิเลส ๔, และชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยบาปเสียแล้ว และพระอรหันต์นั้นผู้เป็นอย่างนี้ รู้ด้วยปรจิตตญาณและปุพเพนิวาสญาณ หรือเห็นด้วยมังสจักษุและทิพยจักษุ จึงไม่มีความยึดถืออะไรๆ. ท่านอธิบายว่า ตั้งมั่น.
               อนึ่ง พระอรหันต์นั้น ชื่อว่ามิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด เพราะไม่มีกามราคะ. ชื่อว่ามิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด เพราะไม่มีรูปราคะและอรูปราคะ. เพราะพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างนี้ จึงไม่มีความนับถืออะไรๆ ในที่นี้ว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยเอกคือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า จตสฺโส สีมาโย ความว่า เขตที่กำหนด ๔ อย่าง.
               บทว่า ทิฏฺฐานุสโย ความว่า ทิฏฐินั้นด้วย เป็นอนุสัยเพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ด้วย ดังนี้จึงชื่อว่าทิฏฐานุสัย แม้ในอนุสัยคือวิจิกิจฉาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ชื่อว่าอนุสัย ด้วยอรรถว่าอะไร? ด้วยอรรถว่านอนเนื่อง.
               ชื่อว่ามีอรรถว่านอนเนื่องนี้ เป็นอย่างไร? มีอรรถว่าละไม่ได้. เพราะกิเลสเหล่านี้ ชื่อว่าย่อมนอนเนื่องในสันดานของสัตว์นั้นๆ เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ จึงเรียกว่าอนุสัย.
               บทว่า อนุเสนฺติ ความว่า ได้เหตุที่สมควรย่อมเกิดขึ้น.
               หากจะมีคำถามว่า อาการที่ละไม่ได้ ชื่อว่ามีอรรถว่านอนเนื่อง ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า อาการที่ละไม่ได้ เกิดขึ้น ฉะนั้น อนุสัยทั้งหลายจึงไม่เกิดขึ้น.
               ในข้อนั้นมีคำตอบดังนี้ อาการที่ยังละไม่ได้ ไม่ใช่อนุสัย แต่กิเลสที่มีกำลัง ท่านเรียกว่า อนุสัย เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ อนุสัยที่เป็นจิตตสัมปยุต เป็นไปกับด้วยอารมณ์ เป็นไปกับด้วยเหตุเพราะอรรถว่าเป็นไปกับด้วยปัจจัย เป็นอกุศลโดยส่วนเดียว เป็นอดีตบ้าง เป็นอนาคตบ้าง เป็นปัจจุบันบ้าง ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่าเกิดขึ้น นี้เป็นประมาณในข้อนั้น.
               ในอภิสมยกถา คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ท่านถามก่อนว่า ละกิเลสที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างไร ดังนี้แล้วกล่าวว่า ผู้มีกำลังย่อมละอนุสัยได้ เพราะอนุสัยทั้งหลายมีความเป็นปัจจุบัน.
               ในบทภาชนะแห่งโมหะคัมภีร์ธัมมสังคณี ท่านกล่าวความที่โมหะเกิดขึ้นกับอกุศลจิตว่า อนุสัยคืออวิชชา การครอบงำคืออวิชชา ลิ่มคือวิชชา โมหะเป็นอกุศลมูล โมหะนี้มีในสมัยนั้น.
               ในคัมภีร์กถาวัตถุ ท่านปฏิเสธวาทะทั้งหมดว่า อนุสัยเป็นอัพยากฤต อนุสัยเป็นอเหตุกะ อนุสัยเป็นจิตตวิปปยุต. ในอุปปัชชนวาระบางแห่งแห่งมหาวาร ๗ ในอนุสยยมก ท่านกล่าวคำเป็นต้นว่า อนุสัยคือกามราคะเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อนุสัยคือปฏิฆะก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่ไหม? เพราะฉะนั้น คำที่ท่านกล่าวว่า บทว่า อนุเสนฺติ ความว่าได้เหตุที่สมควรย่อมเกิดขึ้นนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวดีแล้ว โดยประมาณที่เป็นแบบแผนนี้.
               คำที่ท่านกล่าวแล้วว่า อนุสัยที่เป็นจิตตสัมปยุตเป็นไปกับด้วยอารมณ์เป็นต้น แม้นั้นก็เป็นอันท่านกล่าวดีแล้วทีเดียว. ในข้อนี้พึงตกลงว่า ก็ชื่อว่าอนุสัยนี้สำเร็จแล้ว เป็นอกุศลธรรมที่สัมปยุตด้วยจิต.
               บรรดาอนุสัยเหล่านั้นทิฏฐานุสัย ท่านกล่าวไว้ในอนุสัยที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ ๔.
               วิจิกิจฉานุสัย กล่าวไว้ในอนุสัยที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา.
               อวิชชานุสัย กล่าวไว้ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง ด้วยสามารถแห่งสหชาตธรรมและด้วยสามารถแห่งอารมณ์. ทิฏฐิวิจิกิจฉาและโมหะแม้ทั้ง ๓ กล่าวไว้ในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               ก็ในที่นี้ กามราคานุสัย กล่าวไว้ในจิตที่สหรคตด้วยโลภะทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งสหชาตธรรมและด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               โลภะที่เกิดขึ้น กล่าวไว้ในธรรมเป็นกามาวจรที่เหลือ ซึ่งเป็นที่ชอบใจด้วยสามารถแห่งอารมณ์นั่นแล.
               ปฏิฆานุสัย กล่าวไว้ในจิตที่สหรคตด้วยโทมนัส ด้วยสามารถแห่งสหชาตธรรมและด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               โทสะที่เกิดขึ้น กล่าวไว้ในธรรมเป็นกามาวจรที่เหลือ ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์นั่นแล.
               มานานุสัย กล่าวไว้ในจิตที่วิปปยุตด้วยทิฏฐิและสหรคตด้วยโลภะ ด้วยสามารถแห่งสหชาตธรรมและด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               มานะที่เกิดขึ้น กล่าวไว้ในธรรมเป็นกามาวจรที่เหลือ และในธรรมเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรซึ่งเว้นจากทุกขเวทนา ด้วยสามารถแห่งอารมณ์นั่นแล.
               ภวราคานุสัย แม้เมื่อเกิดขึ้น ก็กล่าวไว้ในจิตที่วิปปยุตด้วยทิฏฐิ ๔ ด้วยสามารถแห่งสหชาตธรรม.
               แต่โลภะที่เกิดขึ้น กล่าวไว้ในธรรมเป็นรูปารูปาวจระด้วยสามารถแห่งอารมณ์นั่นแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐานุสโย ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ อย่าง.
               บทว่า วิจิกิจฺฉานุสโย ได้แก่ วิจิกิจฉามีวัตถุ ๘.
               บทว่า ตเทกฏฺฐา จ กิเลสา ความว่า ตั้งอยู่โดยความเป็นอันเดียวกัน ด้วยสามารถเกิดร่วมกันและตั้งอยู่แห่งเดียวกัน คือ ด้วยสามารถทิฏฐิและวิจิกิจฉาเกิดร่วมกันและตั้งอยู่แห่งเดียวกัน.
               บทว่า มานานุสโย ได้แก่ มานะ ๙ อย่าง.
               บทว่า ปรจิตฺตญาเณน วา ญตฺวา ความว่า รู้ด้วยปัญญาเครื่องรู้วาระจิตของผู้อื่น. ท่านอธิบายว่า รู้ด้วยเจโตปริยญาณ.
               บทว่า ปุพฺเพ นิวาสานุสฺสติญาเณน วา ความว่า รู้ด้วยญาณเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่อยู่อาศัยในอดีต.
               บทว่า มํสจกฺขุนา วา ได้แก่ ด้วยจักษุปกติ (ตาธรรมดา).
               บทว่า ทิพฺพจกฺขุนา วา ความว่า เห็นด้วยทิพยจักษุ ซึ่งคล้ายทิพย์หรืออาศัยทิพยวิหาร.
               บทว่า ราครตฺตา ความว่า ยินดีด้วยราคะ.
               บทว่า เย ปญฺจสุ กามคุเณสุ ความว่า ชนเหล่าใดกำหนัดในส่วนคือวัตถุกามมีรูปเป็นต้น ๕ อย่าง.
               บทว่า วิราครตฺตา ความว่า กำหนัดยิ่ง คือติดแน่นในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติ กล่าวคือวิราคะ.
               บทว่า ยโต กามราโค จ ความว่า ในกาลใด กามราคะ. แม้ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้แหละ.


               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส               
               อรรถกถาสุทธัฏฐกสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 70อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 109อ่านอรรถกถา 29 / 146อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1822&Z=2239
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=4910
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=4910
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :