ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 70อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 109อ่านอรรถกถา 29 / 146อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

               อรรถกถาสุทธัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๔               
               ในสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ พึงทราบเนื้อความในคาถาแรกก่อน :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหมดจดย่อมมีเพราะความเห็น เห็นปานนี้หามิได้ อีกอย่างหนึ่งแล คนพาลผู้มีทิฏฐิเห็นพราหมณ์จันทาภะ หรือคนเห็นปานนี้อื่น ผู้ไม่หมดจดเพราะขุ่นมัวด้วยกิเลส ผู้มีโรคเพราะถูกโรคคือกิเลสถึงทับ ย่อมรู้เฉพาะ ย่อมเห็นผู้หมดจดว่าเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ก็ความหมดจดดีย่อมมีแก่นรชน เพราะความเห็นกล่าวคือทิฏฐินั้นดังนี้.
               คนพาลนั้นรู้เฉพาะอยู่อย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นเป็นเยี่ยม เป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจดในความเห็นนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นมรรคญาณ แต่ความเห็นนั้นมิได้เป็นมรรคญาณ.
               บทว่า ปรมํ อาโรคฺยํ ปตฺตํ ความว่า ถึงความไร้พยาธิอันอุดมตั้งอยู่.
               บทว่า ตาณปฺปตฺตํ ความว่า ถึงธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองอย่างนั้น.
               บทว่า เลณปฺปตฺตํ ความว่า ถึงธรรมเป็นที่แอบแฝง.
               บทว่า สรณปฺปตฺตํ ความว่า ถึงธรรมเป็นที่พึ่ง หรือถึงธรรมเครื่องยังทุกข์ให้พินาศ.
               บทว่า อภยปฺปตฺตํ ความว่า ถึงความปลอดภัย.
               บทว่า อจฺจุตปฺปตฺตํ ความว่า ถึงภาวะเที่ยง.
               บทว่า อมตปฺปตฺตํ ความว่า ถึงธรรมไม่ตาย คือมหานิพพาน.
               บทว่า นิพฺพานปฺปตฺตํ ความว่า ถึงธรรมที่เว้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัด.
               บทว่า อภิชานนฺโต ความว่า รู้โดยวิเศษ.
               บทว่า อาชานนฺโต ความว่า รู้ทั่ว.
               บทว่า วิชานนฺโต ความว่า รู้หลายอย่าง.
               บทว่า ปฏิวิชานนฺโต ความว่า รู้แจ้งเพราะอาศัยความเห็นนั้นๆ .
               บทว่า ปฏิวิชฺฌนฺโต ความว่า กระทำไว้ในหทัย.
               บทว่า จกฺขุวิญฺญาเณน รูปทสฺสนํ ความว่า ความเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ.
               บทว่า ญาณนฺติ ปจฺเจติ ความว่า ย่อมเชื่อว่าเป็นปัญญา.
               บทว่า มคฺโคติ ปจฺเจติ ความว่า ย่อมเชื่อว่าเป็นอุบาย.
               บทว่า ปโถ ความว่า เป็นที่สัญจร.
               บทว่า นียานํ ความว่า เครื่องถือไป. ปาฐะว่า นิยฺยานํ ก็มี.
               คาถาที่ ๒ ว่า ทิฏฺเฐน เจ สุทฺธิ เป็นต้น เนื้อความของคาถานั้นว่า
               ถ้าความหมดจดจากกิเลสย่อมมีแก่นรชน ด้วยความเห็น กล่าวคือความเห็นรูปนั้น. หรือว่า ถ้านรชนนั้นย่อมละทุกข์มีชาติเป็นต้น ด้วยญาณนั้นไซร้ เมื่อเป็นอย่างนั้น นรชนนั้นย่อมหมดจดด้วยมรรคอันไม่หมดจดอื่นจากอริยมรรคนั่นแล. คือย่อมถึงความเป็นผู้ที่จะพึงกล่าวว่า เป็นผู้ยังมีอุปธิด้วยอุปธิมีราคะเป็นต้นอยู่นั่นแลหมดจด และไม่เป็นอย่างนั้นหมดจด เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่าเป็นผู้พูดอย่างนั้น คือทิฏฐินั้นแหละย่อมบอกว่า ผู้นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่บอกอย่างนั้นๆ โดยนัยว่า โลกเที่ยงเป็นต้น สมควรแก่ทิฏฐิ.
               ชื่อว่ายังมีราคะ เพราะอรรถว่าเป็นไปกับด้วยราคะ ความว่า มีราคะ.
               แม้ในบทว่า สโทโส เป็นต้นก็นัยนี้แล.
               คาถาที่ ๓ ว่า น พฺราหฺมโณ เป็นต้น เนื้อความของคาถานั้นว่า
               ก็ผู้ใดชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยคือย่างบาปเสียแล้ว ผู้นั้นถึงความสิ้นอาสวะ เป็นพราหมณ์ขีณาสพด้วยมรรค ไม่กล่าวความหมดจดด้วยมิจฉาญาณที่เกิดขึ้นในอารมณ์ที่เห็น กล่าวคือรูปที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง ในอารมณ์ที่ได้ยินกล่าวคือเสียงอย่างนั้น ในศีลกล่าวคือความไม่ก้าวล่วงในวัตรต่างโดยหัตถีวัตรเป็นต้น และในอารมณ์ที่ทราบต่างโดยปถพีเป็นต้นซึ่งอื่นจากอริยมรรคญาณ. คำนี้ท่านกล่าวด้วยการกล่าวสรรเสริญพราหมณ์ขีณาสพ.
               ก็พราหมณ์นั้นเป็นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญที่เป็นไปในธาตุสามและในบาปทั้งปวง เป็นผู้ละเสียซึ่งตน เพราะเหตุไร? เพราะละตนนั้นได้ คือเพราะละความเห็นว่าตนหรือความยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่ง. ท่านกล่าวว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้ เพราะไม่กระทำปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงทราบการเชื่อมบทนั้นทั้งหมดนั้นแล ด้วยบทแรกว่า พราหมณ์ผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ผู้ละเสียซึ่งตน ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้ ไม่กล่าวความหมดจดโดยมรรคอื่น.
               บทว่า นาติ ปฏิกฺเขโป ความว่า ศัพท์เป็นศัพท์ปฏิเสธ.
               คาถาว่า พาเหตฺวา สพฺพปาปกานิ เป็นต้น มีความว่า บุคคลใดลอยบาปทั้งปวงเสียแล้วด้วยมรรคที่ ๔ (อรหัตตมรรค) ชื่อว่ามีตนตั้งอยู่แล้ว เพราะทิฏฐิตั้งอยู่ไม่ได้ และเพราะลอยบาปเสียแล้วนั่นแล. ชื่อว่าปราศจากมลทิน คือถึงความเป็นผู้ปราศจากมลทินคือความเป็นพรหม ความเป็นผู้ประเสริฐ. ชื่อว่ามีจิตตั้งมั่นด้วยดี ด้วยมรรคสมาธิและผลสมาธิ ซึ่งสละมลทินคือกิเลสที่กระทำความฟุ้งซ่านแก่สมาธิ. ท่านเรียกว่าเป็นผู้สำเร็จกิจ เพราะความเป็นผู้มีกิจอันสำเร็จแล้ว เพราะล่วงสงสารได้แล้ว เพราะก้าวล่วงเหตุแห่งสงสาร ว่าเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย เพราะความเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว. และว่าเป็นผู้คงที่ เพราะไม่มีพิการด้วยโลกธรรม บุคคลนั้นควรชมเชยอย่างนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐคือเป็นพราหมณ์.
               บทว่า อญฺญตฺร สติปฏฺฐาเนหิ ความว่า พ้นสติปัฏฐาน ๔.
               แม้ในสัมมัปปธานเป็นต้นก็นัยนี้แล.
               บทว่า สนฺเตเก สมณพฺราหฺมณา ความว่า สมณพราหมณ์บางพวกได้โวหารว่าสมณพราหมณ์ ด้วยการกำหนดของโลก มีอยู่.
               บทว่า ทิฏฺฐสุทฺธิกา ความว่า ปรารถนาความหมดจด ด้วยการเห็นรูป.
               บทว่า เต เอกจฺจานํ รูปานํ ทสฺสนํ ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นปรารถนาความหมดจดด้วยการเห็นรูป ย่อมเชื่อการแลดูรูปารมณ์เหล่านั้น.
               บทว่า มงฺคลํ ปจฺเจนฺติ ความว่า ย่อมให้ตั้งไว้ซึ่งเหตุแห่งความสำเร็จ เหตุแห่งความเจริญ เหตุแห่งสมบัติทั้งปวง.
               บทว่า อมงฺคลํ ปจฺเจนฺติ ความว่า ย่อมให้ตั้งไว้ซึ่งเหตุแห่งความสำเร็จ หามิได้, ซึ่งเหตุแห่งความเจริญ หามิได้. ซึ่งเหตุแห่งสมบัติทั้งปวง หามิได้.
               บทว่า เต กาลโต วุฏฺฐหิตฺวา ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นคือพวกเชื่อถือสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่าเป็นมงคล ลุกขึ้นก่อนกว่าทีเดียว.
               บทว่า อภิมงฺคลคตานิ ความว่า ที่ถึงเหตุแห่งความเจริญโดยพิเศษ.
               บทว่า รูปานิ ปสฺสนฺติ ความว่า ย่อมเห็นรูปารมณ์มีอย่างต่างๆ.
               บทว่า วาตสกุณํ ความว่า นกมีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า ปุสฺสเวฬุวลฏฺฐํ ความว่า ผลมะตูมอ่อนที่เกิดขึ้นโดยบุษยฤกษ์.
               บทว่า คพฺภินิตฺถึ ความว่า หญิงมีครรภ์.
               บทว่า กุมารกํ ขนฺเธ อาโรเปตฺวา คจฺฉนฺตํ ความว่า คนที่ยกเด็กรุ่นๆ ขึ้นบ่าเดินไป.
               บทว่า ปุณฺณฆฏํ ความว่า หม้อเต็มด้วยน้ำ.
               บทว่า โรหิตมจฺฉํ ความว่า ปลาตะเพียนแดง.
               บทว่า อาชญฺญรถํ ความว่า รถเทียมม้าสินธพ.
               บทว่า อุสภํ ความว่า โคตัวผู้เป็นมงคล.
               บทว่า โคกปิลํ ความว่า แม่โคดำแดง.
               บทว่า ปลาลปุญฺชํ ความว่า กองข้าวเปลือก.
               บทว่า ตกฺกฆฏํ ความว่า ถาดที่เต็มไปด้วยเปรียงโคเป็นต้น.
               บทว่า ริตฺตฆฏํ ความว่า หม้อเปล่า
               บทว่า นฏํ ความว่า การฟ้อนรำของนักฟ้อนเป็นต้น.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กิริยาของนักเลง.
               บทว่า นคฺคสมณกํ ความว่า สมณะไม่นุ่งผ้า.
               บทว่า ขรํ ความว่า ลา.
               บทว่า ขรยานํ ความว่า ยวดยานเป็นต้นที่เทียมลา.
               บทว่า เอกยุตฺตยานํ ความว่า ยานที่เทียมด้วยสัตว์พาหนะตัวเดียว.
               บทว่า กาณํ ความว่า คนตาบอดข้างเดียวและสองข้าง.
               บทว่า กุณึ ความว่า คนมือง่อย.
               บทว่า ขญฺชํ ความว่า คนเท้ากระจอก คือมีเท้าไปขวาง.
               บทว่า ปกฺขหตํ ความว่า คนพิการ.
               บทว่า ชิณฺณกํ ความว่า คนแก่เพราะชรา.
               บทว่า พฺยาธิกํ ความว่า คนถูกพยาธิเบียดเบียน.
               บทว่า มตํ ความว่า คนตาย.
               บทว่า สุตสทฺธิกา ความว่า ปรารถนาความหมดจดด้วยการได้ยินเสียงด้วยโสตวิญญาณ.
               บทว่า สทฺทานํ สวนํ ความว่า การได้ยินสัททารมณ์.
               บทว่า วฑฺฒาติ วา เป็นต้น ท่านกล่าวถือเอาสักว่าเป็นเสียงที่เป็นไปในโลก แต่เสียงที่กล่าวโดยชื่อนั้นๆ ว่า กาโณ เป็นต้นนั่นแลไม่เป็นมงคล.
               บทว่า ฉินฺนนฺติ วา ความว่า เสียงว่าถูกตัดมือและเท้าเป็นต้น.
               บทว่า ภินฺนนฺติ วา ความว่า เสียงว่าถูกตีศีรษะเป็นต้น.
               บทว่า ทฑฺฒนฺติ วา ความว่า เสียงว่าถูกไฟไหม้.
               บทว่า นฏฺฐนฺติ วา ความว่า เสียงว่าพินาศเพราะพวกโจรเป็นต้น.
               บทว่า นตฺถีติ วา ความว่า หรือเสียงว่าของไม่มี.
               บทว่า สีลสุทฺธิกา ความว่า ผู้ปรารถนาความหมดจดด้วยศีล.
               บทว่า สีลมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุสังวร.
               บทว่า สญฺญมมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุสักว่าเข้าไปยินดี.
               บทว่า สํวรมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุสักว่ากั้นทวาร.
               บทว่า อวีติกฺกมมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุสักว่าไม่ก้าวล่วงศีล.
               บทว่า สมณมุณฺฑิกาปุตฺโต เป็นชื่อที่ได้มาทางฝ่ายมารดา.
               บทว่า สมฺปนฺนกุสลํ ความว่า มีกุศลบริบูรณ์.
               บทว่า ปรมกุสลํ ความว่า มีกุศลสูงสุด.
               บทว่า อุตฺตมปตฺติปฺปตฺตํ ความว่า ผู้ถึงพระอรหันต์อันอุดมที่พึงตั้งอยู่.
               บทว่า อโยชฺฌํ ความว่า สมณะผู้อันใครๆ ไม่อาจให้แพ้.
               บทว่า วตฺตสุทฺธิกา ความว่า ผู้ปรารถนาความหมดจดด้วยวัตรคือการสมาทาน.
               บทว่า หตฺถิวตฺติกา วา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติหัตถีวัตร เพราะอรรถว่ามีหัตถีวัตรที่สมาทานไว้.
               อธิบายว่า กระทำกิริยาอย่างช้างทั้งปวง ทำอย่างไร? สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า จำเดิมแต่วันนี้ไป เราจักกระทำสิ่งที่ช้างทั้งหลายทำ จึงกระทำอาการเดิน ยืน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอย่างช้างทั้งหลายและอาการที่เห็นช้างอื่นๆ แล้วชูงวงเดินไปทุกอย่าง ดังนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติหัตถีวัตร.
               แม้ในบทว่า เป็นผู้ประพฤติอัสสวัตรเป็นต้น ก็พึงประกอบบทตามที่ควรประกอบ ด้วยสามารถบทที่ได้มา.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า ทิสาวตฺติกา วา ซึ่งเป็นบทสุดท้ายมีความว่า
               เป็นผู้ประพฤติทิสวัตรที่สมาทาน ด้วยสามารถนมัสการทิศมีทิศบูรพาเป็นต้น. การสมาทานวัตรของสมณพราหมณ์มีประการดังกล่าวแล้วเหล่านั้น เมื่อสำเร็จย่อมนำเข้าไปถึงความเป็นเพื่อนกับช้างเป็นต้น. แต่ถ้ามิจฉาทิฏฐิมีแก่เขาผู้คิดอยู่ว่า เราย่อมเป็นเทวดาหรือเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งด้วยการสมาทานศีลและวัตร และความประพฤติอันประเสริฐนี้ พึงทราบว่า นรกและกำเนิดดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมมี.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญวัตรสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย, บำเพ็ญศีลสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย. บำเพ็ญสมาธิสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย บำเพ็ญอากัปปะสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย. บุคคลนั้นบำเพ็ญวัตรสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย, บำเพ็ญศีลสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย. บำเพ็ญสมาธิสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย. บำเพ็ญอากัปปะสุนัขบริบูรณ์ไม่วุ่นวาย.
               ครั้นแตกกายตายไปแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นเพื่อนกับสุนัขทั้งหลาย,
               ก็ถ้าเขามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เราจักเป็นเทวดาหรือเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีล วัตรหรือพรหมจรรย์นี้ ทิฏฐิของเขานั้นย่อมเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนปุณณะเรากล่าวว่าคนมิจฉาทิฏฐิมีคติ ๒ อย่างคือนรก หรือกำเนิดดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ดูก่อนปุณณะ วัตรสุนัขเมื่อสำเร็จ ย่อมนำเข้าถึงความเป็นเพื่อนกับสุนัขทั้งหลาย. เมื่อไม่สำเร็จย่อมนำเข้าสู่นรก.
               ไม่พึงถือเอาเนื้อความว่า ผู้ประพฤติคันธัพพวัตรเป็นต้นย่อมเข้าถึงความเป็นเพื่อนกับคนธรรพ์เป็นต้น. แต่พึงถือเอาว่าย่อมเข้าถึงนรกและกำเนิดดิรัจฉานนั่นแล เพราะถือเอาด้วยมิจฉาทิฏฐิ.
               บทว่า มุตสุทฺธิกา ความว่า ผู้ปรารถนาความหมดจด ด้วยอารมณ์ที่ถูกต้อง.
               บทว่า ปฐวึ อามสนฺติ ความว่า ย่อมถูกต้องแผ่นดินใหญ่ที่มีสัมภาระด้วยกาย.
               บทว่า หริตํ ความว่า หญ้าแพรกเขียวสด.
               บทว่า โคมยํ ความว่า โคมัยของโคเป็นต้น.
               บทว่า กจฺฉปํ ความว่า เต่าหลายชนิดมีเต่ากระดูกเป็นต้น.
               บทว่า ชาลํ อกฺกมนฺติ ความว่า ย่ำเหยียบข่ายเหล็ก.
               บทว่า ติลวาหํ ความว่า เกวียนบรรทุกงา หรือกองงา.
               บทว่า ปุสฺสติลํ ขาทนฺติ ความว่า เคี้ยวกินงาที่ประกอบด้วยมงคล.
               บทว่า ปสฺสเตลํ มกฺเขนฺติ ความว่า ทำน้ำมันงาอย่างนั้นเป็นเครื่องพรมสรีระ.
               บทว่า ทนฺตวฏฐํ ความว่า ไม้สีฟัน.
               บทว่า มตฺติกาย นหายนฺติ ความว่า ถูสรีระด้วยดินอ่อน มีดินสอพองเป็นต้นแล้วอาบน้ำ.
               บทว่า สาฏกํ นิวาเสนฺติ ความว่า นุ่งห่มผ้าที่ประกอบด้วยมงคล.
               บทว่า เวฏฺฐนํ เวฏฺฐนฺติ ความว่า วาง คือสวมผ้าโพกศีรษะซึ่งเป็นผ้าไหมเป็นต้นบนศีรษะ.
               บทว่า เตธาตุกํ กุสลาภิสงฺขารํ ความว่า ปัจจยาภิสังขารซึ่งเกิดแต่ความฉลาด ให้ปฏิสนธิในกามธาตุ รูปธาตุและอรูปธาตุ.
               บทว่า สพฺพํ อกุสลํ ความว่า อกุศลซึ่งเกิดแต่ความไม่ฉลาด ๑๒.
               บทว่า ยโต ได้แก่ ในกาลใด.
               ปุญญาภิสังขาร ๑๓ อปุญญาภิสังขาร ๑๒ และอาเนญชาภิสังขาร ๔ เป็นอันละได้แล้ว ด้วยสมุจเฉทปหานตามสมควร.
               บทว่า อตฺตทิฏฺฐิญฺชโห ความว่า ละทิฏฐิที่ถือว่า นั่นเป็นตัวตนของเรา.
               บทว่า คาหญฺชโห ความว่า ละความยึดถือที่สัมปยุตด้วยมานะว่า เราเป็นนั่น.
               บทว่า อตฺตญฺชโห มีความอีกว่า บทเป็นต้นว่า ความถือลูบคลำ ความจับต้องแต่ข้างหน้า ความถือมั่นในอัตตานั้น ความติดใจกลืนด้วยสามารถตัณหามีกำลัง และความปรารถนามีกำลัง ด้วยสามารถความยึดถือด้วยตัณหาและด้วยสามารถความยึดถือด้วยทิฏฐิ ว่านั่นของเรา ความถือเป็นต้นทั้งปวงนั้นย่อมเป็นอันพราหมณ์นั้นสละแล้ว ดังนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ครั้นกล่าวว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดโดยมรรคอื่น อย่างนี้แล้ว บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงความที่ทิฏฐินั้นของพวกมีทิฏฐิที่กล่าวความหมดจดโดยมรรคอื่นเหล่านั้น เป็นทิฏฐินำทุกข์ออกไม่ได้ จึงกล่าวคาถา ปุริมํ ปหาย ดังนี้ เป็นต้น.
               คาถานั้นมีความว่า
               สมณพราหมณ์เหล่านั้นแม้เป็นผู้กล่าวความหมดจดโดยมรรคอื่น ละศาสดาต้นเป็นต้น อาศัยศาสดาหลัง เพราะถูกความถือและความปล่อยครอบงำ เพราะละทิฏฐินั้นไม่ได้ ไปตามตัณหากล่าวคือความแสวงหา คือถูกตัณหาครอบงำ ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องต่างโดยราคะเป็นต้น และเมื่อไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ย่อมเรียนด้วย ย่อมละด้วยซึ่งธรรมนั้นๆ เหมือนลิงเกาะกิ่งไม้.
               บทว่า ปุริมํ สตฺถารํ ปหาย ความว่า เว้นปฏิญญาของศาสดาที่ถือไว้ในก่อน.
               บทว่า อปรํ สตฺถารํ นิสฺสิตา ความว่า อาศัย คือติดแน่น ปฏิญญาของศาสดาอื่น.
               แม้ในบทว่า ปุริมํ ธมฺมกฺขานํ ปหาย เป็นต้นก็นัยนี้แล.
               บทว่า เอชานุคา ความว่า ไปตามตัณหา.
               บทว่า เอชานุคตา ความว่า ไปตามตัณหาแล้ว.
               บทว่า เอชานุสุฏา ความว่า ซ่านไปตาม หรือแล่นไปตามตัณหา.
               บทว่า เอชาย ปนฺนา ปติตา ความว่า จมลงในตัณหา และอันตัณหาเก็บเสียแล้ว.
               บทว่า มกฺกโฏ ได้แก่ ลิง.
               บทว่า อรญฺเญ ความว่า ในทุ่ง.
               บทว่า ปวเน ความว่า ในป่าใหญ่.
               บทว่า จรมาโน ความว่า ไปอยู่.
               บทว่า เอวเมว เป็นบทอุปไมย เครื่องยังบทอุปมาให้ถึงพร้อม.
               บทว่า ปุถุ ความว่า ต่างๆ.
               บทว่า ปุถุทิฏฺฐิคตานิ ความว่า ทิฏฐิมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า คณฺหนฺติ จ มุญฺจนฺติ จ ความว่า ย่อมจับด้วยสามารถแห่งการถือ และย่อมปล่อยด้วยสามารถแห่งการสละ.
               บทว่า อาทิยนฺติ จ นิรสฺสชนฺติ จ ความว่า ย่อมกระทำความกังวล ย่อมสละ และย่อมซัดไป.
               เนื้อความที่ตรัสไว้ว่า เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่าเป็นผู้พูดอย่างนั้น นั้นเชื่อมความในคาถาที่ ๕ ว่า สยํ สมาทาย สมาทานวัตรทั้งหลายเองเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สยํ แปลว่า เอง.
               บทว่า สมาทาย ความว่า ถือเอา.
               บทว่า วตฺตานิ ความว่า วัตรทั้งหลายมีหัตถีวัตรเป็นต้น.
               บทว่า อุจฺจาวจํ ความว่า กลับไปกลับมา หรือเลวและประณีต คือจากศาสดาสู่ศาสดาเป็นต้น.
               บทว่า สญฺญสตฺโต ความว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในกามสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า วิทฺธา จ เวเทหิ สเมจฺจ ธมฺมํ ความว่า ส่วนผู้มีความรู้ คือพระอรหันต์ตรัสรู้สัจจธรรม ๔ อันเป็นปรมัตถ์ ด้วยความรู้คือมรรคญาณ ๔.
               บทที่เหลือปรากฏแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า สยํ สมาทาย ความว่า ถือเองทีเดียว.
               บทว่า อาทาย ความว่า ถือเอาแล้ว คือรับเอาแล้ว.
               บทว่า สมาทาย ความว่า ถือเอาแล้วโดยชอบ.
               บทว่า อาทิยิตฺวา ความว่า กระทำความกังวล.
               บทว่า สมาทิยิตฺวา ความว่า กระทำความกังวลโดยชอบ.
               บทว่า คณฺหิตฺวา ความว่า ไม่สละ.
               บทว่า ปรามสิตฺวา ความว่า แสดงแล้ว.
               บทว่า อภินิวิสิตฺวา ความว่า ตั้งมั่นแล้ว.
               บทว่า กามสัญญา เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า วิทฺธา แปลว่า ผู้มีปัญญา.
               บทว่า วิชฺชาคโต ความว่า ผู้ถึงความรู้แจ้ง.
               บทว่า ญาณี ความว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.
               บทว่า วิภาวี ความว่า ผู้พิจารณาด้วยญาณ.
               บทว่า เมธาวี ความว่า ผู้มีญาณตรึกตรองโดยอนิจจลักขณะเป็นต้น.
               บทว่า ปญฺญา เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า จตุสจฺจธมฺมํ วิจินาติ ความว่า ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์.
               เนื้อความของโพชฌงค์ กล่าวไว้แล้วในหนหลังเทียว.
               บทว่า วีมํสา ความว่า ปัญญาเครื่องค้นคว้าสัจจธรรม ๔ นั่นแล. ท่านอธิบายว่า วิมังสา คือการคิดธรรม.
               บทว่า วิปสฺสนา ความว่า ปัญญาเครื่องเห็นโดยอาการต่างๆ ที่สัมปยุตด้วยมรรคนั่นแล.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิ ความว่า สัมมาทิฏฐิที่งาม บัณฑิตสรรเสริญ ดี สัมปยุตด้วยมรรค.
               บทว่า เตหิ เวเทหิ ความว่า ด้วยมรรคญาณ ๔ เหล่านั้นนั่นแล.
               บทว่า อนฺตคโต ความว่า ถึงที่สุดชาติ ชรา และมรณะ.
               บทว่า โกฏิคโต เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า เวทานํ วา อนฺตคโต ความว่า ถึงที่สุดแห่งทุกข์ที่พึงรู้.
               บทว่า เวเทหิ วา อนฺตคโต ความว่า ถึงพระนิพพานกล่าวคือที่สุด โดยเป็นที่สุดรอบแห่งทุกข์ในวัฏฏะ ด้วยปัญญาคือมรรคญาณ ๔.
               บทว่า วิทิตตฺตา ความว่า เพราะความเป็นผู้รู้แจ้ง คือเพราะความเป็นผู้รู้.
               คาถาว่า เวทานิ วิเจยฺย เกวลานิ เป็นต้นมีความว่า ผู้ใดกระทำความสิ้นกิเลสด้วยเวทคือมรรคญาณ ๔ ถึงแล้ว ผู้นั้นชื่อว่าถึงเวทโดยปรมัตถ์.
               อนึ่ง ผู้ใดเลือกเฟ้นเวททั้งหลายที่เรียกกันว่าศาสตร์ของสมณพราหมณ์ทั้งปวง ด้วยสามารถอนิจจลักษณะเป็นต้นโดยกิจ ด้วยมรรคภาวนานั้นแล. ก้าวล่วงเวททั้งปวงนั้นนั่นแล ด้วยการละฉันทราคะในเวทนั้น เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวงที่เกิดขึ้นเพราะเวทเป็นปัจจัยหรือโดยประการอื่น. เพราะเหตุนั้น เมื่อทรงแสดงเนื้อความนั้น ถูกทูลถามว่า ผู้ถึงเวทกล่าวถึงการบรรลุอะไร? มิได้ตรัสตอบว่า การบรรลุนี้ ตรัสว่า บุคคลเลือกเฟ้นเวททั้งหลาย ฯลฯ ชื่อว่าเป็นเวทคู ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะผู้ใดเลือกเฟ้นเวททั้งหลายด้วยปัญญาเครื่องเลือกเฟ้น ย่อมเป็นไปก้าวล่วงเวททั้งปวงด้วยการละฉันทราคะในเวทนั้น. ผู้นั้นถึงคือรู้ คือก้าวล่วงเวททั้งหลายที่เรียกกันว่าศาสตร์. ผู้ใดปราศจากราคะในเวทนาทั้งหลาย แม้ผู้นั้นก็ถึง คือก้าวล่วงเวททั้งหลายที่เรียกกันว่าเวทนา คือถึงเวทนายิ่ง. แม้ดังนั้นก็ชื่อว่าเวทคู ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความว่า จึงมิได้ตรัสว่า การบรรลุนี้ แต่ตรัสว่า บุคคลเลือกเฟ้นเวททั้งหลาย ฯลฯ ชื่อว่าเป็นเวทคู ดังนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 70อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 109อ่านอรรถกถา 29 / 146อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1822&Z=2239
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=4910
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=4910
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :