ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๖.

               พระสารีบุตรเถระแสดงวัตถุกามอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงกิเลสกาม จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กตเม กิเลสกามา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ ความกำหนัดอย่างอ่อนๆ.
               บทว่า ราโค ได้แก่ ความกำหนัดที่มีกำลังแรงกว่าความพอใจนั้น. ความกำหนัดทั้งสามเบื้องบน มีกำลังแรงกว่าความกำหนัดเหล่านี้.
               บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ในกามคุณ ๕.
               บทว่า กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจ กล่าวคือความใคร่ ไม่ใช่ใคร่เพื่อจะทำงาน ไม่ใช่ใคร่ในธรรม.
               ความกำหนัดคือความใคร่ ด้วยอรรถว่าใคร่ และด้วยอรรถว่ายินดี ชื่อว่ากามราคะ ความกำหนัดคือความใคร่.
               ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ด้วยสามารถแห่งความใคร่ และด้วยสามารถแห่งความเพลิดเพลิน ฉะนั้นจึงชื่อว่า กามนนฺทิ ความเพลิดเพลินคือความใคร่.
               ในบททั้งปวงพึงทราบอย่างนี้.
               ชื่อว่า กามตัณหา เพราะอรรถว่ารู้ประโยชน์ของกาม แล้วจึงปรารถนา.
               ชื่อว่า กามสิเนหะ เพราะอรรถว่าเสน่หา.
               ชื่อว่า กามปริฬาหะ เพราะอรรถว่าเร่าร้อน.
               ชื่อว่า กามุจฉา เพราะอรรถว่าหลง
               ชื่อว่า กามัชโฌสานะ เพราะอรรถว่ากลืนกินสำเร็จ.
               ชื่อว่า กาโมฆะ เพราะอรรถว่าท่วมทับ คือให้จมลงในวัฏฏะ.
               ชื่อว่า กามโยคะ เพราะอรรถว่าประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ
               ความยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิอย่างมั่น ชื่อว่า อุปาทาน.
               ชื่อว่า นีวรณะ เพราะอรรถว่ากั้นจิต คือหุ้มห่อจิตไว้.
               บทว่า อทฺทสํ ได้แก่ ได้เห็นแล้ว.
               บทว่า กาม เป็นอาลปนะ.
               บทว่า เต แปลว่า ของท่าน.
               บทว่า มูลํ ได้แก่ ที่ตั้ง.
               บทว่า สงฺกปฺปา ได้แก่ เพราะความดำริ.
               บทว่า น ตํ กปฺปยิสฺสามิ ความว่า จักไม่ทำความดำริถึงท่าน.
               บทว่า น เหหิสิ แปลว่า จักไม่มี.
               บทว่า อิจฺฉมานสฺส ได้แก่ หวังเฉพาะอยู่.
               บทว่า สาทิยมานสฺส ได้แก่ ยินดีอยู่.
               บทว่า ปฏฺฐยมานสฺส ได้แก่ ยังความปรารถนาให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ปิหยมานสฺส ได้แก่ ยังความอยากเพื่อจะถึงให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อภิชปฺปมานสฺส ได้แก่ ไม่ให้เกิดความอิ่มด้วยอำนาจตัณหา.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระสารีบุตรเถระกล่าว ท่านกล่าวบทว่า ขตฺติยสฺส วา เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งชาติ ๔. กล่าวบทว่า คหฏฺฐสฺส วา ปพฺพชิตสฺส วา ด้วยสามารถแห่งเพศ. กล่าวบทว่า เทวสฺส วา มนุสฺสสฺส วา ด้วยสามารถแห่งการเกิด.
               บทว่า อิชฺฌติ ได้แก่ ย่อมสำเร็จ.
               บทว่า สมิชฺฌติ ได้แก่ ย่อมสำเร็จโดยชอบ คือย่อมสำเร็จด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะซึ่งรูปวิเศษ ย่อมได้ด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะซึ่งรูปที่น่าดู ย่อมได้เฉพาะด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะซึ่งรูปที่น่าเลื่อมใส ย่อมบรรลุด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะซึ่งรูปมีสัณฐานดี ย่อมประสบด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะซึ่งรูปที่มีผิวพรรณน่าเลื่อมใส.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จด้วยความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความงามเลิศ ย่อมได้ด้วยความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยชาติ ย่อมได้เฉพาะด้วยความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความเป็นใหญ่ ย่อมบรรลุด้วยความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความสุข ย่อมประสบด้วยความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยสมบัติ ดังนี้แล.
               บทว่า เอกํสวจนํ ได้แก่ เป็นคำกล่าวโดยส่วนเดียว ห้ามการถือเอาหลายส่วน ดุจในประโยคเป็นต้นว่า ห่มจีวรเฉวียงบ่า พยากรณ์ปัญหาอย่างแน่ชัด ดังนี้.
               บทว่า นิสฺสํสยวจนํ ได้แก่ เป็นคำเว้นจากความสงสัย.
               อธิบายว่า เป็นคำห้ามความสนเท่ห์
               บทว่า นิกฺกงฺขวจนํ ได้แก่ เป็นคำห้ามความเคลือบแคลงว่า นี้อย่างไร นี้อย่างไร.
               บทว่า อเทฺวชฺฌวจนํ ได้แก่ เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองส่วนเพราะไม่มีความเป็นสองส่วนนั้น คือเว้นจากความเป็นส่วนสอง ห้ามความสงสัย ดุจในประโยคเป็นต้นว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวาจาไม่เป็นสอง ดังนี้.
               บทว่า อเทฺวฬฺหกวจนํ ได้แก่ เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เพราะไม่มีหทัยสอง เป็นคำกล่าวห้ามความเป็นสองอย่างว่าร่าเริงด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า นิโยควจนํ ความว่า ชื่อว่าเป็นคำกล่าวไม่รวมกัน เพราะอรรถว่าไม่ประกอบสองเรื่องไว้ในข้อความเดียวกันห้ามคำสองแง่ ก็เพราะไม่ประกอบในเรื่องอื่น จึงเป็นคำที่มาว่าไม่มีอารมณ์อนาคต.
               บทว่า อปณฺณกวจนํ ได้แก่ เป็นคำกล่าวที่มีสาระ เว้นจากการพูดพร่ำ เป็นคำกล่าวที่มีเหตุการณ์ไม่ผิด จึงชื่อว่าไม่ผิด ดุจในประโยคเป็นต้นว่า ฐานเมเก ดังนี้ เป็นคำกล่าวที่มีหลักฐาน ดุจเหตุแห่งการกระทำที่ไม่ผิด.
               บทว่า อวฏฺฐาปนวจนเมตํ ความว่า คำนี้เป็นคำหยั่งลงตั้งไว้ คือเป็นคำกำหนดแน่ตั้งไว้.
               บทเหล่าใดอันพระสารีบุตรเถระยกขึ้นจำแนกไว้ในมหานิทเทสนี้ บทเหล่านั้นเมื่อถึงการจำแนกย่อมถึงการจำแนกด้วยเหตุ ๓ ประการ. เมื่อเป็นต่างๆ กัน ย่อมเป็นต่างๆ กันด้วยเหตุ ๔ ประการ. ก็การแสดงอีกอย่างหนึ่งในมหานิทเทสนี้ ย่อมถึงฐานะ ๒ ประการ.
               คือ บทเหล่านั้นย่อมถึงการจำแนกด้วยเหตุ ๓ ประการเหล่านี้ คือ พยัญนะ ๑ อุปสัค ๑ อรรถ ๑.
               ในเหตุ ๓ ประการนั้น พึงทราบการถึงการจำแนกด้วยพยัญชนะอย่างนี้ว่า ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็นผู้โกรธ ความประทุษร้าย กิริยาที่ประทุษร้าย ความเป็นผู้ประทุษร้าย.
               ก็ในมหานิทเทสนี้ ความโกรธอย่างเดียวเท่านั้น ถึงการจำแนกเป็นอย่างเดียวด้วยพยัญชนะ.
               อนึ่ง พึงทราบการถึงการจำแนกด้วยอุปสัคอย่างนี้ว่า อิชฺฌติ สำเร็จ สมิชฺฌติ สำเร็จโดยชอบ ลภติ ได้ ปฏิลภติ ได้เฉพาะ อธิคจฺฉติ ประสบ.
               พึงทราบการถึงการจำแนกด้วยอรรถอย่างนี้ว่า ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้ฉลาดความไร้ปัญญา ความปลอดภัย ความคิดการสอบสวน.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในนิทเทสแห่งปีติบท ย่อมได้การจำแนก ๓ อย่างเหล่านี้ก่อน ก็บทว่า ความอิ่ม ความปราโมทย์ เป็นบทถึงการจำแนกด้วยพยัญชนะ.
               บทว่า ความเบิกบาน ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง เป็นบทถึงการจำแนกด้วยอุปสัค. [อาโมทนา ปโมทนา หาโส ปหาโสติ อุปสคฺควเสน ฯ]
               บทว่า ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจ เป็นบทถึงการจำแนกด้วยอรรถ.
               พึงทราบการถึงการจำแนกในนิทเทสแห่งบททั้งหมดโดยนัยนี้.
               บททั้งหลายแม้เมื่อเป็นต่างๆ กัน ก็เป็นต่างๆ กันด้วยเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ คือ ด้วยความต่างกันโดยชื่อ ด้วยความต่างกันโดยลักษณะ ด้วยความต่างกันโดยกิจ ด้วยความต่างกันโดยการปฏิเสธ.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า พยาบาทเป็นไฉน? คือในสมัยนั้นมีความประทุษร้าย กิริยาที่ประทุษร้ายนี้ พึงทราบความต่างกันด้วยความต่างกันโดยชื่ออย่างนี้ว่า ก็ความโกรธอย่างเดียวนั่นแหละ ถึงความต่างกันโดยชื่อเป็นสองอย่าง คือ ความพยาบาท หรือความประทุษร้าย.
               แม้ขันธ์ ๕ ก็เป็นขันธ์เดียวนั่นแล ด้วยอรรถว่ากอง แต่ในที่นี้ ขันธ์ ๕ ย่อมต่างกันโดยลักษณะนี้ คือรูปมีความสลายไปเป็นลักษณะ เวทนามีความเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ เจตนามีความจงใจเป็นลักษณะ วิญญาณมีความรู้แจ้งเป็นลักษณะ พึงทราบความต่างกันด้วยความต่างกันโดยลักษณะอย่างนี้.
               ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น มาในฐานะ ๔ อย่างด้วยความต่างกันโดยกิจว่า สัมมัปปธาน ๔ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมประคอง ย่อมเริ่มตั้งจิต เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น พึงทราบความต่างกันด้วยความต่างกันโดยกิจอย่างนี้.
               พึงทราบความต่างกันด้วยความต่างกันโดยการปฏิเสธ ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า อสัทธรรม ๔ ประการ คือความเป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่หนักในพระสัทธรรม ความเป็นผู้หนักในการลบหลู่ ไม่หนักในพระสัทธรรม ความเป็นผู้หนักในลาภ ไม่หนักในพระสัทธรรม ความเป็นผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในพระสัทธรรม ดังนี้.
               ก็ความต่างกัน ๔ อย่างเหล่านี้ ย่อมไม่ได้ด้วยปีติเลย ย่อมได้ตามแต่จะได้แม้ในบททั้งปวง.
               ก็คำว่า ปีติ เป็นชื่อของปีติ. คำว่า จิตตํ เป็นชื่อของจิต, ก็ปีติมีความแผ่ไปเป็นลักษณะ. เวทนา มีความเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ. สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ. เจตนา มีความตั้งใจในอารมณ์เป็นลักษณะ. วิญญาณมีความรู้แจ้งเป็นลักษณะ.
               อนึ่ง ปีติมีความแผ่ไปเป็นกิจ. เวทนามีความเสวยอารมณ์เป็นกิจ. สัญญามีความจำได้เป็นกิจ. เจตนามีความจงใจเป็นกิจ. วิญญาณมีความรู้แจ้งเป็นกิจ.
               พึงทราบความต่างกันด้วยความต่างกันโดยกิจอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ความต่างกันโดยการปฏิเสธ ไม่มีในบทปีติ แต่พึงทราบความต่างกันด้วยความต่างกันโดยการปฏิเสธอย่างนี้ว่า ในนิทเทสแห่งอโลภะเป็นต้น ย่อมได้โดยนัยมีอาทิว่า ความไม่โลภ กิริยาที่ไม่โลภ ความเป็นผู้ไม่โลภ ดังนี้ พึงทราบความต่างกันทั้ง ๔ อย่าง ด้วยบทที่ได้ในนิทเทสแห่งบททั้งปวงด้วยอาการอย่างนี้.
               การแสดงอีกอย่างหนึ่งย่อมถึงฐานะ ๒ อย่างนี้ คือ ยกย่องบทหรือทำให้มั่น.
               ด้วยว่าเมื่อกล่าวบทว่า ปีติ ครั้งเดียวเท่านั้น ดุจเขี่ยด้วยปลายไม้เท้า บทนั้นย่อมไม่ชื่อว่าบานขยายแล้ว ประดับแล้ว ตกแต่งแล้วด้วยอาการอย่างนี้
               เมื่อกล่าวว่า ความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบาน ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ดังนี้ ด้วยพยัญชนะ ด้วยอุปสรรค ด้วยอรรถ บ่อยๆ บทนั้นย่อมชื่อว่าบานขยายแล้ว ประดับแล้ว ตกแต่งแล้ว เหมือนอย่างว่า ให้เด็กเล็กอาบน้ำ ให้นุ่งห่มผ้าที่ชอบใจ ให้ประดับดอกไม้ทั้งหลาย หยอดตาให้ ต่อจากนั้นก็ทำจุดมโนศิลาบนหน้าผากของเขารอยเดียวเท่านั้น เขายังไม่ชื่อว่ามีรอยเจิมอันงดงามด้วยเหตุ เพียงเท่านี้ แต่เมื่อทำจุดหลายๆ จุดล้อมด้วยสีต่างๆ ย่อมชื่อว่ามีรอยเจิมงดงามฉันใด อุปไมยเครื่องยังอุปมาให้ถึงพร้อม ก็พึงทราบฉันนั้น.
               นี้ชื่อว่ายกย่องบท.
               การกล่าวบ่อยๆ นั่นแลด้วยพยัญชนะ ด้วยอุปสัค และด้วยบทอีกชื่อว่าทำให้มั่น เหมือนอย่างว่า เมื่อกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุก็ตาม ข้าแต่ท่านผู้เจริญก็ตาม ว่ายักษ์ก็ตาม ว่างูก็ตาม ย่อมไม่ชื่อว่าทำให้มั่น.
               แต่เมื่อกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ดูก่อนท่านผู้มีอายุ, ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ยักษ์ยักษ์, งูงู, ย่อมชื่อว่าทำให้มั่นฉันใด เมื่อเพียงกล่าวว่า ปีติ ครั้งเดียวเท่านั้น ดุจเขี่ยด้วยปลายไม้เท้า ย่อมไม่ชื่อว่าทำให้มั่น เมื่อกล่าวว่าความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบาน ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ดังนี้ ด้วยพยัญชนะ ด้วยอุปสัค ด้วยอรรถ บ่อยๆ นั่นแล จึงชื่อว่าทำให้มั่นแล.
               การแสดงอีกอย่างหนึ่งย่อมถึงฐานะ ๒ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงในนิทเทสแห่งบทที่ได้ด้วยสามารถแห่งการแสดงอีกอย่างหนึ่งแม้นี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ที่ชื่อว่าปีติ เพราะอรรถว่าอิ่ม. ปีตินั้นมีการแสดงความรักเป็นลักษณะ มีความอิ่มกายอิ่มใจเป็นรสก็ตาม มีการแผ่ซ่านเป็นรสก็ตาม พึงมีความชื่นใจเป็นปัจจุปัฏฐาน พึงประกอบด้วยกามคุณ ๕ เป็นปีติที่ประกอบด้วยส่วนแห่งกาม ๕ มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ปีติ นั้นชื่อว่าปีติ เพราะอรรถว่าอิ่ม นี้เป็นบทแสดงสภาวะ. ความเป็นผู้เบิกบานชื่อว่าความปราโมทย์. อาการที่เบิกบานชื่อว่า ความเบิกบาน. อาการที่บันเทิงชื่อว่าความบันเทิง.
               อีกอย่างหนึ่ง การเอาเภสัชหรือน้ำมันหรือน้ำร้อนน้ำเย็นรวมกัน เรียกว่าระคนกันฉันใด แม้ข้อนี้ก็ฉันนั้น เรียกว่าระคนกัน เพราะรวมธรรมทั้งหลายไว้ด้วยกัน.
               ก็ที่กล่าวว่า อาโมทนา ปโมทนา ความเบิกบาน ความบันเทิง เพราะประดับด้วยอุปสัค.
               ชื่อว่า หาสะ เพราะอรรถว่าร่าเริง, ชื่อว่า ปหาสะ เพราะอรรถว่ารื่นเริง.
               สองบทนี้เป็นชื่อของอาการที่ร่าเริงแล้ว. รื่นเริงแล้ว.
               ชื่อว่า วิตตะ เพราะอรรถว่า ปลื้มใจบทนี้เป็นชื่อของทรัพย์.
               ก็ทรัพย์ชื่อว่า วิตฺติ เพราะเป็นปัจจัยแห่งโสมนัสเพราะความเป็นของอันบุคคลเห็นเสมอด้วยความปลื้มใจ เหมือนอย่างว่าความโสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่คนมีทรัพย์ เพราะอาศัยทรัพย์ฉันใด ความโสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่คนมีปีติ เพราะอาศัยปีติ ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความปลื้มใจ.
               บทนี้เป็นชื่อของปีติ ที่ตั้งอยู่โดยสภาวะแห่งความยินดี.
               ก็บุคคลผู้มีปีติ ท่านเรียกว่ามีความชื่นใจ เพราะมีกายและจิตเป็นที่ชื่นใจ. ภาวะแห่งความชื่นใจ ชื่อโอทัคยะ. ความเป็นผู้มีใจเป็นของตน ชื่อว่าความชอบใจ.
               ก็ใจของผู้ไม่ชอบใจ ย่อมไม่ชื่อว่ามีใจเป็นของตน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ดังนั้น ความเป็นผู้มีใจเป็นของตนจึงชื่อว่าความชอบใจ.
               อธิบายว่า ภาวะแห่งใจของตนก็เพราะความชอบใจนั้น มิใช่เป็นความชอบใจของใครๆ อื่น แต่เป็นเจตสิกธรรมที่เป็นความงามแห่งจิตเท่านั้น ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า อตฺตมนตา จิตฺตสฺส ดังนี้.
               ชื่อว่าจิต เพราะมีจิตวิจิตร. ชื่อว่ามโน เพราะรู้อารมณ์. มโนนั่นแหละ ชื่อว่ามานัส.
               ก็ธรรมที่สัมปยุตกับมโน ท่านกล่าวว่า มานัส. ในที่นี้ว่า มานัสซึ่งเป็นบ่วงที่เที่ยวไปในอากาศนี้นั้น ย่อมเที่ยวไป.
               พระอรหัตต์ ท่านกล่าวว่า มานัส ในคาถานี้ว่า :-๑-
                         กถํ หิ ภควา ตุยฺหํ        สาวโก สาสเน รโต
                         อปฺปตฺตมานโส เสกฺโข๒-    กาลํ กยิรา ชเนสุตาติ
                               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงขวนขวาย เพื่อ
                         ประชาชน อย่างไรเล่า สาวกของพระองค์ยินดีแล้ว
                         ในพระศาสนา ยังไม่บรรลุพระอรหัตต์ เป็นเสขะอยู่
                         จึงทำกาลกิริยา.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๔๙๐ โคธิกสูตร
๒- สี. เสโข

               แต่ในที่นี้ มานัสก็คือใจนั่นแหละ เพราะท่านขยายบทนี้ด้วยพยัญชนะ.
               บทว่า หทยํ ความว่า อุระ ท่านกล่าวหทัย ในประโยคนี้ว่า เราจักขยี้จิตของท่าน หรือจักผ่าอุระของท่านเสีย ดังนี้. จิต ท่านกล่าวว่าหทัย ในประโยคนี้ว่า จิตไปจากจิต คนอื่นไปจากคนอื่น ดังนี้. หทัยวัตถุ ท่านกล่าวว่า หทัย ในประโยคนี้ว่า ม้าม หัวใจ ดังนี้. แต่ในที่นี้ จิตนั่นแล ท่านกล่าวว่าหทัย เพราะอรรถว่าอยู่ภายใน.
               จิตนั้นแล ชื่อว่าบัณฑระ เพราะอรรถว่าบริสุทธิ์ จิตนั้นท่านกล่าวหมายเอาภวังคจิต. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง ก็จิตนั้นแลอันอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมาทำให้เศร้าหมองแล้ว ดังนี้.
               ก็แม้กุศลจิต ท่านก็กล่าวว่าบัณฑระเหมือนกัน เพราะออกจากจิตนั้น ดุจน้ำคงคาไหลจากแม่น้ำคงคา และดุจน้ำโคธาวรีไหลจากแม่น้ำโคธาวรี ฉะนั้น.
               แต่ศัพท์ว่า มโน ในที่นี้ว่า มโน มนายตนํ ดังนี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงความเป็นอายตนะแห่งใจเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแสดงความนี้ว่า จิตนี้มิใช่มนายตนะเพราะเป็นอายตนะแห่งใจเหมือนเทวายตนะ ที่แท้อายตนะคือใจนั่นเอง เป็นมนายตนะ ดังนี้.
                         มโน มนายตนนฺติ อิธ ปน มโนคหณํ มนโสว (๔)
               อายตนภาวทีปนตฺถํ ฯ
                         เตเนตํ ทีเปติ นยิทํ เทวายตนํ วิย มนสฺส อายตนตฺตา
               มนายตนํ อถ โข มโน เอว อายตนํ มนายตนนฺติ ฯ

(๔) ม. มนสฺเสว ฯ

               ในบทนี้พึงทราบอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัย. โดยอรรถว่าเป็นบ่อเกิด, โดยอรรถว่าเป็นที่ประชุม, โดยอรรถว่าเป็นแดนเกิด และโดยอรรถว่าเป็นเหตุ.
               ตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัยท่านกล่าวว่า อายตนะ ในประโยคนี้มีอาทิว่า ที่อยู่อาศัยของผู้เป็นใหญ่ในโลก ชื่อ เทวายตนะ ดังนี้.
               บ่อเกิดท่านกล่าวว่า อายตนะ ในประโยคมีอาทิว่า สุวรรณายตนะ บ่อทอง รชตายตนะ บ่อเงิน ดังนี้.
               ที่ประชุมท่านกล่าวว่า อายตนะ ในประโยคมีอาทิว่า ก็นกทั้งหลายย่อมเสพต้นไม้ในป่าอันเป็นที่ประชุมที่น่ารื่นรมย์ใจ ดังนี้.
               แดนเกิดท่านกล่าวว่า อายตนะ ในประโยคมีอาทิว่า ทักษิณาบถเป็นแดนเกิดของโคทั้งหลาย ดังนี้.
               เหตุท่านก็กล่าวว่า อายตนะ ในประโยคมีอาทิว่า ย่อมถึงความเป็นผู้พึงศึกษาในเรื่องนั้นๆ แล ในเมื่อเหตุมีอยู่ ดังนี้.
               ก็ในที่นี้ควรด้วยอรรถทั้ง ๓ คือด้วยอรรถว่าเป็นแดนเกิด ด้วยอรรถว่าเป็นที่ประชุม ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุ.
               จิตนี้เป็นอายตนะ แม้ด้วยอรรถว่าเป็นแดนเกิด ในประโยคว่า ก็ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นย่อมเกิดในจิตนี้ ดังนี้.
               เป็นอายตนะ แม้ด้วยอรรถว่าเป็นที่ประชุมลง ได้ในประโยคว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอกย่อมประชุมลงในจิตนี้ โดยความเป็นอารมณ์.
               ก็จิตบัณฑิตพึงทราบว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ เพราะความที่เจตสิกธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นเป็นเหตุ เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัย มีสหชาตปัจจัยเป็นต้น.
               จิตนั้นแล ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าสร้างความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการรู้ อินทรีย์คือมโน ชื่อว่ามนินทรีย์. ชื่อว่าวิญญาณ เพราะอรรถว่ารู้อารมณ์ต่างๆ. ขันธ์คือวิญญาณ ชื่อว่าวิญญาณขันธ์.
               พึงทราบเนื้อความแห่งวิญญาณขันธ์นั้นว่าเป็นกองเป็นต้น.
               จริงอยู่ ขันธ์ ท่านกล่าวแล้ว ด้วยอรรถว่าเป็นกอง ได้ในประโยคนี้ว่า ย่อมถึงการนับว่ามหาอุทกขันธ์ - ลำน้ำใหญ่ดังนี้. ท่านกล่าวว่าขันธ์ ด้วยอรรถว่าคุณ ได้ในคำว่า สีลขันธ์ - คุณคือศีล สมาธิขันธ์ - คุณคือสมาธิเป็นต้น. ท่านกล่าวว่าขันธ์ ด้วยอรรถว่าเป็นเพียงบัญญัติเท่านั้น ได้ในประโยคนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นกองไม้ใหญ่แล้วแล.
               แต่ในที่นี้ท่านกล่าวขันธ์อันเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นต้นให้เกิดขึ้นแล้ว.
               ก็เอกเทสแห่งวิญญาณขันธ์ ชื่อว่าวิญญาณอันหนึ่ง เพราะอรรถว่าเป็นกอง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าววิญญาณแม้อันหนึ่งอันเป็นเอกเทสแห่งวิญญาณขันธ์ว่า วิญญาณขันธ์อันเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นต้นให้เกิดขึ้นแล้ว ดุจคนตัดเอกเทสแห่งต้นไม้ ก็เรียกว่าตัดต้นไม้ฉะนั้น.
               บทว่า ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ ได้แก่ มโนวิญญาณธาตุอันสมควรแก่ธรรมเหล่านั้นมีผัสสะเป็นต้น.
               ในบทนี้ จิตอย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวโดยชื่อแห่งมโนไว้ ๓ คำคือ ชื่อว่ามโน เพราะอรรถว่ารู้ ๑. ชื่อว่าวิญญาณ เพราะอรรถว่ารู้อารมณ์ต่างๆ ๑. ชื่อว่าธาตุ เพราะอรรถว่าเป็นเพียงสภาวะ หรือเพราะอรรถว่ามิใช่สัตว์ ๑.
               ไม่ละแล้ว ชื่อว่า สหคโต. เข้าไปกับ ชื่อว่า สหชาโต. ระคนกันสถิตอยู่ ชื่อว่า สํสฏฺโฐ. ประกอบพร้อมแล้วด้วยประการทั้งหลาย ชื่อว่า สมฺปยุตฺโต.
               ประกอบด้วยประการทั้งหลาย เป็นไฉน? ประกอบด้วยประการทั้งหลายมี เอกุปฺปาทตา - การเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้น.
               ธรรมบางเหล่าประกอบกับธรรมบางเหล่า ไม่มีมิใช่หรือ?
               ใช่ ด้วยการปฏิเสธปัญหานี้ด้วยประการฉะนี้ ท่านจึงกล่าวอรรถว่า
               สัมปโยคะ - การประกอบด้วยสามารถแห่งลักขณะมีเอกุปปาทตา - การเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้นไว้อย่างนี้ว่า
               ธรรมบางเหล่าเป็น สหคตะ - เกิดร่วมกัน, เป็นสหชาตะ - เกิดพร้อมกัน, เป็นสังสัฏฐะ - ระคนกัน, เป็นเอกุปปาทะ - เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน, เป็นเอกนิโรธะ - ดับในขณะเดียวกัน, เป็นเอกวัตถุกะ - มีที่อาศัยเดียวกัน, เป็นเอการัมมณะ - มีอารมณ์เดียวกันกับด้วยธรรมบางเหล่ามีอยู่มิใช่หรือ? ธรรมที่ประกอบพร้อมด้วยประการทั้งหลายมีเอกุปปาทตา เป็นต้นเหล่านี้ ชื่อว่าสัมปยุตตะ ประกอบพร้อมแล้วด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เอกุปฺปาโท ได้แก่ เกิดขึ้นโดยความเป็นอันเดียวกัน. อธิบายว่าไม่พรากจากกัน.
               บทว่า เอกนิโรโธ ได้แก่ ดับพร้อมกัน.
               บทว่า เอกวตฺถุโก ได้แก่ มีวัตถุที่อาศัยเดียวกัน ด้วยสามารถแห่งหทยวัตถุ.
               บทว่า เอการมฺมโณ ได้แก่ มีอารมณ์เดียวกัน ด้วยสามารถแห่งรูปารมณ์ เป็นต้น.
               ในที่นี้ สหคตศัพท์ปรากฏในอรรถ ๕ ประการคือ ตพฺภาเว - ในอรรถเดิมนั้น, โวกิณฺเณ - ในอรรถว่าเจือแล้ว, อารมฺมเณ - ในอรรถว่าอารมณ์, นิสฺสเย - ในอรรถว่าอาศัย. สํสฏฺเฐ - ในอรรถว่าระคนแล้ว.
               ความในตัพภาวะ - อรรถเดิมนั้น พึงทราบในคำนี้อันเป็นพุทธวจนะว่า ตัณหานี้ใดนำเกิดในภพใหม่อีก ตัณหานี้นั้นชื่อว่านันทิราคสหคตา. อธิบายว่า เป็นความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน.
               อรรถว่าโวกิณณะ - เจือแล้ว พึงทราบในคำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไตร่ตรองอันใดเจือด้วยโกสัชชะ, ความไตร่ตรองอันนั้นชื่อว่าประกอบด้วยโกสัชชะ. อธิบายว่า เจือแล้วด้วยโกสัชชะอันเกิดในระหว่าง.
               อรรถว่าอารัมมณะ - อารมณ์ พึงทราบในคำนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์ หรือสมาบัติมีอรูปเป็นอารมณ์. อธิบายว่า สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์-รูปฌานสมาบัติ, มีอรูปเป็นอารมณ์-อรูปฌานสมาบัติ.
               อรรถว่านิสสยะ - อาศัย พึงทราบในคำนี้ว่า พระโยคาวจรเจริญสติสัมโพชฌงค์มีอัฏฐิกสัญญาเป็นที่อาศัย. อธิบายว่า สติสัมโพชฌงค์อันพระโยคาวจรเจริญแล้ว ได้อัฏฐิกสัญญา เพราะอาศัยความสำคัญในอสุภนิมิตที่มีอัฏฐิเป็นอารมณ์.
               อรรถว่าสังสัฏฐะ - ระคนแล้ว พึงทราบในคำนี้ว่า สุขนี้สหรคตคือเกิดร่วม ได้แก่สัมปยุตด้วยปีตินี้. อธิบายว่า เจือปน.
               ถึงในที่นี้ สังสัฏฐะศัพท์ก็มาในอรรถว่าเจือปน.
               สหชาตศัพท์ในอรรถว่าเกิดร่วม ดุจในคำนี้ว่า สหชาตํ - เกิดร่วม. ปุเรชาตํ - เกิดก่อน, ปจฺฉาชาตํ - เกิดหลัง.
               สังสัฏฐะศัพท์ในอรรถว่าเกี่ยวข้อง พึงทราบดุจในคำเหล่านี้มีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเกี่ยวข้องอย่างนี้ ชื่อว่าความเกี่ยวข้องของคฤหัสถ์.
               ในอรรถว่าสทิสะ - เหมือนกัน ได้ในคำว่า เว้นม้าผอมม้าอ้วนเสียแล้ว ก็เทียมด้วยม้าเหมือนกัน.
               ในความเกี่ยวพัน ได้ในคาถานี้ว่า :-
                                   ดูก่อนท่านทธิวาหนะ ต้นมะม่วงของท่าน มี
                         ต้นสะเดาล้อมรอบ รากกับรากเกี่ยวพันกัน กิ่งกับกิ่ง
                         ก็ติดต่อกัน.

               ในธรรมอันสัมปยุตกับจิต ได้ในคำนี้ว่า เจตสิกธรรมทั้งหลายประกอบกับจิต. แต่ในที่นี้ ธรรมใดเป็นธรรมมีเอกุปปาทลักขณะเป็นต้น เพราะไม่แยกจากกัน ธรรมนั้นท่านเรียกว่า สัมปยุตตะ - ประกอบพร้อมแล้ว ดุจธรรมที่เป็นเหตุไม่แยกในการให้ผล.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า สหคตะ - เกิดร่วม แล้วกล่าวคำว่า สหชาตะ - เกิดกับ ในภายหลังก็เพื่อจะแสดงว่า มโนนั้นไม่มี ดุจกล่าวด้วยอาคตศัพท์.
               ท่านกล่าวคำว่า สังสัฏฐะ - เกี่ยวข้อง ก็เพื่อแสดงว่า มโนนั้นไม่มี ดุจรูปและนามที่เกิดขึ้นพร้อมกัน.
               ท่านกล่าวคำว่า สัมปยุตตะ - ประกอบพร้อมแล้ว เพื่อแสดงว่ามโนแม้นั้นก็ไม่มี ดุจน้ำนมกับน้ำ.
               ก็ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน แม้เป็นธรรมที่ประกอบกันพร้อมแล้วมีอยู่ เพราะอรรถว่าไม่อาจทำให้แยกจากกันได้ ดุจน้ำนมกับน้ำมัน.
               แม้ธรรมที่เป็นวิปปยุตตะ - ไม่ประกอบกัน ก็อย่างนั้น ดุจเนยข้นที่ออกจากน้ำนม ธรรมที่ถึงลักษณะอย่างนี้ คือมีการเกิดพร้อมกันเป็นลักษณะนั่นเอง ท่านกล่าวคำเป็นต้นว่า เอกุปปาทะ - เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็เพื่อแสดงดังนี้.
               ในนิทเทสนี้ ธรรมที่เกิดพร้อมกันและที่เกิดร่วมกัน มีความต่างกันอย่างไร?
               ธรรมที่เว้นจากระหว่างในอุปปาทขณะเสียแล้ว ชื่อว่าเอกุปปาทะ - เกิดพร้อมกัน.
               ธรรมที่เป็นอุปปาทะนั้น ย่อมไม่เป็นเหมือนเนยข้นที่ปรากฏ ในเมื่อนมส้มที่พ้นจากกาลเป็นน้ำนมไหลไปๆ ย่อมไม่เป็นเหมือนเกิดในวันเดียวกันนั่นเอง ด้วยสามารถแห่งเวลาก่อนอาหารและเวลาหลังอาหาร.
               ชื่อว่าสหชาโต เพราะอรรถว่าเกิดในขณะเดียวกัน.
               บทว่า เอกวตฺถุโก - มีที่อาศัยเดียวกัน ความว่า มีวัตถุเดียวกัน เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง โดยกำหนดที่ตั้งอันเดียวกัน เป็นที่ตั้งเว้นระหว่างที่ตั้ง ดุจภิกษุ ๒ รูปมีที่อาศัยแห่งเดียวกัน.
               บทว่า เอการมฺมโณ ความว่า มีอารมณ์เดียวกันโดยไม่แน่นอน ไม่เหมือนจักขุวิญญาณ.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า มจฺโจ เป็นมูลบท คือบทเดิม. ชื่อว่าสัตว์ เพราะอรรถว่าข้อง เกี่ยวข้อง ข้องแล้วในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า สัตว์ สัตว์ นั้น ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแลจึงเรียกว่า สัตว์ พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนราธะ ฉันทะอันใด ราคะอันใด ในรูปแล, ผู้ข้องในฉันทะนั้น ข้องวิเศษแล้วในราคะนั้น ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า สัตว์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสัตว์ เพราะประกอบด้วยความข้อง.
               ชื่อว่า นระ เพราะอรรถว่านำไปสู่สุคติแลทุคคติ.
               ชื่อว่า มาณพ เพราะอรรถว่าเป็นลูก คือเป็นบุตรของพระมนู.
               ชื่อว่า โปส เพราะอรรถว่าอันบุคคลอื่นเลี้ยงดูด้วยเครื่องใช้. นรก ท่านเรียกว่า ปุํ .
               ชื่อว่า ปุคคล เพราะอรรถว่ากลืนกินนรกนั้น.
               ชื่อว่า ชีว เพราะอรรถว่าทรงไว้ซึ่งชีวิตินทรีย์.
               ชื่อว่า ชาตุ - ผู้เกิด เพราะอรรถว่าไปสู่การเกิดจากจุติ.
               ชื่อว่า ชนฺตุ เพราะอรรถว่าย่อมเสื่อมโทรม.
               ชื่อว่า อินฺทคู เพราะอรรถว่าถึงโดยความเป็นใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อินฺทคู เพราะอรรถว่าไปด้วยกรรมเป็นใหญ่.
               บาลีว่า หินฺทคู ก็มี.
               บทว่า หินฺทํ ได้แก่ ความตาย.
               ชื่อว่า หินฺทคู เพราะอรรถว่าไปสู่ความตายนั้น.
               ชื่อว่า มนุชะ เพราะอรรถว่าเกิดแต่พระมนู.
               บทว่า ยํ สาทิยติ ความว่า ยินดีอารมณ์มีรูปเป็นต้นใด.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ต่อแต่นี้ไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสรุปความที่ตรัสแล้วให้เข้าใจง่าย จึงตรัสว่า กามํ กามยมานสฺส ฯลฯ ยทิจฺฉติ ดังนี้. ต่อแต่นี้ ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวถึงเพียงนี้ จักกล่าวแต่ที่แปลกเท่านั้น.
               บทว่า ตสฺส เจ กามยมานสฺส ความว่า เมื่อบุคคลนั้นปรารถนากามอยู่ หรือไปอยู่ด้วยกาม.
               บทว่า ฉนฺทชาตสฺส ได้แก่ มีตัณหาเกิดแล้ว.
               บทว่า ชนฺตุโน ได้แก่ สัตว์.
               บทว่า เต กามา ปริหายนฺติ ความว่า ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป.
               บทว่า สลฺลวิทฺโธว รุปฺปติ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรอันทำด้วยเหล็กเป็นต้นแทงแล้ว. ต่อแต่นี้ข้าพเจ้าจักเว้นบทที่กล่าวไว้แล้ว จักกล่าวแต่บทที่ยากๆ ในบรรดาบทที่ยังไม่ได้กล่าวไว้เท่านั้น.
               สัตว์ย่อมไปคือย่อมถึง ด้วยสามารถถึงอารมณ์อันเป็นความอิ่มใจ เพราะจักษุ.
               ชื่อว่า ออกไป เพราะอรรถว่ายังจิตให้ถึงพร้อมด้วยสามารถแห่งอารมณ์ แม้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ที่น่าทัศนา.
               ชื่อว่า ลอยไป เพราะอรรถว่ากำหนดความอิ่มใจเพราะได้ยินด้วยหูด้วยสามารถแห่งอารมณ์ที่น่าเสพ.
               ชื่อว่า แล่นไป เพราะอรรถว่าเข้าไปยึดความอิ่มจิตแล่นไปด้วยสามารถแห่งอารมณ์ที่น่าเที่ยวไป.
               บทว่า ยถา เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งอุปมา.
               ชื่อว่า ด้วยยานช้างบ้าง เพราะอรรถว่าไปคือถึงด้วยช้าง. วาศัพท์ลงในอรรถวิกัป.
               ชื่อว่า ด้วยยานม้าบ้าง เพราะอรรถว่าไปคือถึงด้วยม้า.
               ยานมียานเทียมด้วยโคเป็นต้น ชื่อว่ายานโค คือถึงด้วยยานโคนั้น แม้ในยานแกะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ
               ความพอใจในกามที่เกิดด้วยสามารถอารมณ์ที่ปรารถนา ชื่อว่าเกิดพร้อม, ที่เกิดด้วยความเป็นอารมณ์ที่รัก ชื่อว่าเกิดขึ้น เกิดเฉพาะ. ที่เกิดด้วยความเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ ชื่อว่าปรากฏ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความพอใจในกามที่เกิดด้วยกามราคะ ชื่อว่าเกิดพร้อม, ที่เกิดด้วยกามนันทิ ชื่อว่าเกิดขึ้น เกิดเฉพาะ, ที่เกิดด้วย กามตัณหา ด้วยกามสิเนหา ด้วยกามฉันทะ และด้วยกามปริฬาหะ พึงทราบว่าปรากฏ.
               บทว่า เต วา กามา ปริหายนฺติ ความว่า กามเหล่านั้นคือวัตถุกามเป็นต้นเสื่อมไป คือจากไป.
               บทว่า โส วา กาเมหิ ปริหายติ ความว่า สัตว์นั้น คือบุคคลมีกษัตริย์เป็นต้น ย่อมเสื่อมคือจากไป จากกามทั้งหลายมีวัตถุกามเป็นต้น
               ดุจในคาถามีอาทิอย่างนี้ว่า :-
                         โภคะทั้งหลายย่อมละสัตว์ไปในก่อนแล
                         สัตว์ย่อมสละทรัพย์ทั้งหลายก่อนกว่าดังนี้.

               บทว่า กถํ ได้แก่ ด้วยประการไร.
               บทว่า ติฏฺฐนฺตสฺเสว ได้แก่ ดำรงอยู่นั่นแหละ.
               บทว่า เต โภเค ได้แก่ โภคะทั้งหลายเหล่านั้นมีวัตถุกามเป็นต้น.
               บทว่า ราชาโน วา ได้แก่ พวกพระราชาในแผ่นดินเป็นต้น.
               บทว่า หรนฺติ ได้แก่ ยึดเอาไป หรือริบเอาไป.
               บทว่า โจรา วา ได้แก่ พวกตัดช่องย่องเบาเป็นต้น.
               บทว่า อคฺคิ วา ได้แก่ ไฟป่าเป็นต้น.
               บทว่า ฑหติ ได้แก่ ให้ย่อยยับ คือทำให้เป็นเถ้า.
               บทว่า อุทกํ วา ได้แก่ น้ำมีน้ำหลากเป็นต้น.
               บทว่า วหติ ได้แก่ พัดเอาไปลงทะเล.
               บทว่า อปฺปิยา วา ได้แก่ ผู้ไม่รักใคร่ ไม่ชอบใจ.
               บทว่า ทายาทา หรนฺติ ความว่า ผู้มิใช่เจ้าของ เว้นจากความเป็นทายาท นำไป.
               บทว่า นิหิตํ วา ได้แก่ ที่เก็บฝังไว้.
               บทว่า นาธิคจฺฉติ ได้แก่ ไม่ประสบ คือไม่ได้คืน. อธิบายว่าไม่ได้เห็น.
               บทว่า ทุปฺปยุตฺตา ได้แก่ การงานมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ที่ประกอบดำเนินการไม่เรียบร้อย.
               บทว่า ภิชฺชนฺติ ได้แก่ ถึงความทำลาย. อธิบายว่า ดำเนินการไปไม่ได้. พึงทราบความเกิดในคาถามีอาทิว่า ผู้ไม่รู้ย่อมทำลายการงานนั้นดังนี้.
               บทว่า กุเล วา กุลชฺฌาปโก อุปฺปชฺชติ ความว่า คนผลาญสกุลคือคนสุดท้ายในสกุล เกิดในสกุลกษัตริย์เป็นต้น. บาลีว่า กุเล วา กุลงฺคาโร ดังนี้ก็มี.
               บทว่า โยเต โภเค วิกิรติ ความว่า ผู้เป็นคนสุดท้ายในสกุลนี้ ยังโภคะมีเงินเป็นต้นเหล่านั้นให้สิ้นไป.
               บทว่า วิธเมติ ได้แก่แยกเป็นส่วนๆ ขว้างทิ้งไปไกล.
               บทว่า วิทฺธํเสติ ได้แก่ ให้พินาศ คือให้ดูไม่ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นนักเลงหญิงเรี่ยราย, เป็นนักเลงสุรากระจัดกระจาย, เป็นนักเลงการพนันทำลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้นี้เรี่ยรายโภคะที่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้, กระจัดกระจายโภคะที่เกิดขึ้นเพราะไม่รู้หลักการใช้จ่าย, ทำลายโภคะที่เกิดขึ้น เพราะปราศจากวิธีอารักขาในสถานที่เก็บไว้.
               บทว่า อนิจฺจตาเยว อฏฺฐมี ความว่า ความพินาศนั่นแลเป็นที่แปด.
               บทว่า หายนฺติ ได้แก่ ถึงการดูไม่ได้.
               บทว่า ปริหายนฺติ ได้แก่ ไม่ปรากฏอีก.
               บทว่า ปริทฺธํเสนฺติ ได้แก่ เคลื่อนจากที่.
               บทว่า ปริจฺจชนฺติ ได้แก่ รั่วไหล.
               บทว่า อนฺตรธายนฺติ ได้แก่ ถึงความอันตรธาน คือดูไม่เห็น.
               บทว่า วิปฺปลุชฺชนฺติ ได้แก่ แหลกละเอียดหมดไป.
               บทว่า ติฏฺฐนฺเตว เต โภคา ความว่า ในเวลาที่โภคะเหล่านั้นตั้งอยู่ เหมือนในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ดำรงอยู่ก็ตาม, บังเกิดแล้วก็ตามดังนี้.
               บทว่า โส ได้แก่ บุคคลนั้นคือผู้เป็นเจ้าของโภคะ จุติจากเทวโลก, ตายจากมนุษยโลก, สูญหายจากโลกแห่งนาคและครุฑเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เสื่อมด้วยสามารถแห่งเรือนคลังข้าวเปลือก, เสียหายด้วยสามารถแห่งเรือนคลังทรัพย์, กระจัดกระจายด้วยสามารถแห่งโคงานและช้างม้าเป็นต้น. รั่วไหลด้วยสามารถแห่งทาสีและทาส อันตรธานด้วยสามารถแห่งทาระและอาภรณ์, สูญหายด้วยสามารถแห่งน้ำเป็นต้น. อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้ดังนี้.
               บทว่า อโยมเยน ได้แก่ ที่เกิดแต่โลหะดำเป็นต้น.
               บทว่า สลฺเลน ได้แก่ ด้วยลูกธนู.
               บทว่า อฏฺฐิมเยน ได้แก่ ด้วยกระดูกที่เหลือเว้นกระดูกมนุษย์.
               บทว่า ทนฺตมเยน ได้แก่ ด้วยงาช้างเป็นต้น.
               บทว่า วิสาณมเยน ได้แก่ ด้วยเขาโคเป็นต้น.
               บทว่า กฏฺฐมเยน ได้แก่ ด้วยไม้ไผ่เป็นต้น.
               บทว่า วิทฺโธ ได้แก่ แทงด้วยลูกศรมีประการดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า รุปฺปติ ได้แก่ กระสับกระส่าย คือถึงวิการ.
               บทว่า กุปฺปติ ได้แก่ หวั่นไหว คือยังความโกรธให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ฆฏิยติ ได้แก่ เป็นผู้ดิ้นรน.
               บทว่า ปีฬิยติ ได้แก่ เป็นผู้จุกเสียด.
               ผู้ถูกประหารย่อมหวั่นไหว ย่อมดิ้นรนในเวลาใส่เส้นหญ้าเข้าไปล้างแผลในวันที่สาม ย่อมจุกเสียดเมื่อให้น้ำด่าง หรือย่อมกระสับกระส่ายเมื่อล้างแผลที่ถูกแทง ย่อมหวั่นไหวเพราะเกิดทุกข์นั้น ย่อมจุกเสียดเพราะใส่เส้นหญ้าเข้าไป ย่อมดิ้นรนเมื่อให้น้ำด่าง. อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า พฺยาธิโต ได้แก่ เป็นผู้ถูกประหารแล้วเจ็บตัว.
               บทว่า โทมนสฺสิโต ได้แก่ ถึงความโทมนัส.
               บทว่า วิปริณามญฺญถาภาเวน ได้แก่ เพราะละความเป็นปกติเข้าถึงความเป็นอย่างอื่น.
               ความเหี่ยวแห้งภายในใจ ชื่อว่าโศก, ความบ่นเพ้อด้วยวาจา ชื่อว่าปริเทวะ, ความบีบคั้นทางกายเป็นต้น ชื่อว่าทุกข์, ความบีบคั้นทางใจ ชื่อว่าโทมนัส, และความคับแค้นใจอย่างแรง ชื่อว่าอุปายาส. ความโศกเป็นต้นมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้น คือย่อมถึงความปรากฏ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :