ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 90 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 94 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา สังกิจจชาดก
ว่าด้วย สังกิจจฤาษีแสดงธรรมและอธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตต์

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะเมื่อพระมหาสัตว์แสดงถึงนรกที่ตรัสถามนั้นก่อน พระราชาพึงมีพระหฤทัยแตกสวรรคตเสียในที่นั้นเป็นแน่แท้ ก็พระราชาทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้ไหม้อยู่ในนรกเหล่านี้ ย่อมจะถือเอาไว้เป็นตัวอย่าง ทรงมีอุปัตถัมภกกรรมอันเกิดพร้อมแล้ว ด้วยทรงเข้าพระทัยว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นก็มีกรรมอันชั่วช้าเลวทรามมากเหมือนกับตัวเรา เราจักต้องหมกไหม้ในระหว่างแห่งนรกเหล่านี้ ดังนี้แล้ว ก็จักเป็นผู้หาพระโรคคือความกลัวมิได้.
               ก็เมื่อพระมหาสัตว์แสดงนรกเหล่านั้น ทำแผ่นดินให้แยกออกเป็น ๒ ภาค ด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ก่อนแล้ว จึงแสดงภายหลัง.
               เนื้อความแห่งคำเหล่านั้น มีดังต่อไปนี้
               สัตว์นรกทั้งหลายอันนายนิรยบาลถืออาวุธต่างๆ อันลุกโพลงแล้วตัดให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ย่อมมีชีวิตอยู่บ่อยๆ (คือตายแล้วก็เกิดมารับกรรมอีก) ในนรกนี้ เหตุนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่าสัญชีวะ.
               นายนิรยบาลทั้งหลายพากันบันลือโห่ร้อง ติดกันไม่ขาดระยะ ถืออาวุธต่างชนิดที่ไฟลุกโพลง ติดตามไล่ฆ่าสัตว์นรกทั้งหลาย ผู้กำลังวิ่งหนีไปๆ มาๆ อยู่บนเหนือแผ่นดินโลหะอันลุกโพลงด้วยไฟ เมื่อสัตว์ล้มลงบนแผ่นดินที่ลุกเป็นไฟแล้ว จึงขึงสายบรรทัดอันลุกโชนด้วยไฟ แล้วถือขวานที่ไฟกำลังติด พากันโห่ร้องทำสัตว์นรกผู้คร่ำครวญอยู่ ด้วยเสียงอันน่าเวทนาเป็นอย่างมากให้เป็น ๘ ส่วนบ้าง ๑๖ ส่วนบ้าง เป็นไปอยู่ในนรกนี้ เหตุนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่ากาฬสุตตะ.
               ภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟทั้งหลายลูกใหญ่ๆ หลายลูกกระทบสัตว์อยู่ในนรกนี้ เหตุนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่าสังฆาฏะ.
               ได้ยินว่า นายนิรยบาลทั้งหลายให้ สัตว์นรกเข้าไปในแผ่นดินเหล็กที่ลุกโพลงได้ ๙ โยชน์เพียงเอว แล้วกระทำไม่ให้หวั่นไหวในนรกนั้น.
               ลำดับนั้น ภูเขาเหล็กอันลุกโพลง ลูกใหญ่ๆ เกิดขึ้นแต่ด้านทิศบูรพา ครางกระหึ่มอยู่ เหมือนเสียงอสนีบาต กลิ้งมาบดสัตว์เหล่านั้น ราวกะว่าบดงากระทำให้เป็นผง แล้วไปตั้งอยู่ในทิศปัจฉิม แม้ภูเขาเหล็กที่ตั้งขึ้นแต่ทิศปัจฉิม ก็กลิ้งไปเหมือนอย่างนั้นนั่นแลแล้ว ตั้งอยู่ในทิศบูรพา
               อนึ่ง ภูเขาทั้ง ๒ ลูกนั้นได้กลิ้งมาปะทะกันแล้ว บดขยี้สัตว์นรก ดุจบีบลำอ้อยในเครื่องยนตร์สำหรับบีบอ้อย ฉะนั้น สัตว์นรกทั้งหลายย่อมเสวยทุกข์ในสังฆาฏนรกนั้น ตลอดหลายแสนปีเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เทฺว จ โรรุวา ความว่า โรรุวนรก ๒ คือ ชาลโรรุวะธูมโรรุวะ ๑.
               บรรดาโรรุวนรกทั้ง ๒ นั้น ชาลโรรุวะเต็มไปด้วยเปลวไฟอันแดงคล้ายเลือด ดำรงอยู่ตลอดกัป. ธูมโรรุวะเต็มไปด้วยควันอันแสบ.
               ในโรรุวนรกทั้ง ๒ นั้น เปลวไฟจะแทรกเข้าไปตามปากแผลทั้ง ๙ ของพวกสัตว์นรกผู้หมกไหม้อยู่ในชาลโรรุวะแล้ว จึงเผาสรีระ. ควันแสบแทรกเข้าไปตามปากแผลทั้ง ๙ ของเหล่าสัตว์นรกผู้ไหม้อยู่ในธูมโรรุวะ แล้วจึงค่อยทำสรีระให้เป็นผงไหลออกมาคล้ายดังแป้ง ฉะนั้น. สัตว์นรกผู้หมกไหม้อยู่ในนรก แม้ทั้ง ๒ นั้นย่อมร้องดัง ท่านจึงเรียกนรกแม้ทั้ง ๒ นั้นว่า โรรุวะ.
               ความว่างเปล่า คือระหว่างคั่นของเปลวไฟ สัตว์ผู้หมกไหม้อยู่ และทุกข์ของสัตว์เหล่านั้น ย่อมไม่มีในนรกนี้ เหตุนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่าอวิจิ. อวีจินรกเป็นสถานที่ใหญ่จึงได้ชื่อว่ามหาอวีจิ.
               จริงอยู่ ในมหาอวีจินรกนั้น เปลวไฟทั้งหลายตั้งขึ้นแต่ฝาด้านทิศบูรพาเป็นต้นแล้ว กลับมากระทบในฝาด้านทิศปัจฉิมเป็นต้น ทะลุฝาก่อนแล้วจับข้างหน้าได้ ๑๐๐ โยชน์ เปลวไฟที่ตั้งขึ้นในเบื้องต่ำย่อมกระทบเบื้องบน เปลวไฟที่ตั้งขึ้นเบื้องบนย่อมกระทบในเบื้องต่ำ ขึ้นชื่อว่าเปลวไฟทั้งหลายในอวีจิมหานรกนี้ ย่อมไม่มีระหว่างอย่างนี้นั่นแหละ ก็สถานที่มีประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ภายในมหานรกนั้นเต็มไปด้วยสัตว์ทั้งหลาย หาระหว่างคั่นไม่ได้เลย ประดุจดังทะนานเต็มไปด้วยน้ำนมและแป้ง ฉะนั้น ประมาณของเหล่าสัตว์ผู้หมกไหม้อยู่ ย่อมไม่มีด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ และสัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ย่อมไหม้อยู่ในที่เฉพาะของตนเท่านั้น. ขึ้นชื่อว่า ระหว่างแห่งสัตว์ทั้งหลายในมหานรกนี้ ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้.
               อุเบกขาอันเป็นอกุศลวิบาก ๖ อย่างที่เหลือ ย่อมเป็นอัพโภหาริก เพราะความที่ทุกข์ในมหานรกนั้นมีกำลัง เผาอยู่เนืองๆ เปรียบเหมือนหยาดแห่งน้ำผึ้ง ๖ หยาดในปลายลิ้น ย่อมเป็นอัพโภหาริก เพราะความที่หยาดของทองแดงอันเป็นส่วนที่ ๗ เป็นของมีกำลังเผาอยู่เนืองๆ ฉะนั้น. ทุกข์เท่านั้นย่อมปรากฏ คือ ย่อมปรากฏหาระหว่างมิได้. ขึ้นชื่อว่าระหว่างแห่งความทุกข์ในมหานรกนี้ ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้. อวีจิมหานรกนี้นั้นรวมทั้งฝาทั้งหลาย วัดโดยผ่ากลางได้ ๓๑๘ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๕๔ โยชน์ รวมทั้งอุสสทนรกด้วยเป็นหมื่นโยชน์.
               บัณฑิตพึงทราบความที่อวีจิมหานรกนั้น เป็นสถานที่ใหญ่ถึงเพียงนี้.
               นรกใดเผาสัตว์ทั้งหลายไม่ให้กระดิกได้ เพราะฉะนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่าตาปนะ. นรกใดย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้เร่าร้อนอย่างเหลือเกิน เพราะฉะนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่าปตาปนะ. นายนิรยบาลทั้งหลายย่อมให้สัตว์นั่งบนหลาวเหล็กที่ลุกโพลง มีประมาณเท่าลำตาล ในตาปนนรกนั้น แผ่นดินภายใต้แต่ที่นั้น ย่อมลุกโพลง ส่วนหลาวไม่ติดไฟ สัตว์ทั้งหลายย่อมลุกเป็นเปลวเพลิง นรกนั้นย่อมเผาสัตว์ไม่ให้กระดิกได้ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง นายนิรยบาลย่อมประหารสัตว์ผู้เกิดในนรกนอกนี้ ด้วยอาวุธทั้งหลายที่กำลังลุกโชน แล้วให้ขึ้นสู่ภูเขาเหล็กมีไฟโพลง. ในเวลาที่สัตว์เหล่านั้นยืนอยู่บนยอดภูเขา ลมอันมีกรรมเป็นปัจจัย ย่อมประหารสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นไม่อาจจะทรงตัวอยู่ได้บนภูเขานั้น ก็มีเท้าในเบื้องบน มีศีรษะในเบื้องต่ำตกลงมา.
               ลำดับนั้น หลาวเหล็กลุกเป็นไฟย่อมตั้งขึ้นแต่แผ่นดินเหล็กเบื้องต่ำ. สัตว์นรกเหล่านั้นก็เอาศีรษะกระแทกหลาวเหล็กเหล่านั้นทีเดียว มีร่างกายทะลุเข้าไปในหลาวเหล็กเหล่านั้นลุกโพลงไหม้อยู่. นรกนั้นย่อมเผาสัตว์ให้เร่าร้อนเหลือเกิน ด้วยประการฉะนี้แล.
               ก็พระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงนรกเหล่านี้ให้ปรากฏ จึงแสดงถึงสัญชีวนรกก่อน เพราะได้เห็นสัตว์นรกทั้งหลายผู้หมกไหม้อยู่ในสัญชีวนรกนั้น มหาชนจึงเกิดความหวาดกลัวขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว จึงให้สัญชีวนรกนั้นอันตรธานหายไป ทำแผ่นดินให้แยกออกเป็น ๒ ส่วนอีกครั้งหนึ่งแล้ว จึงแสดงกาฬสุตตนรก. พอเมื่อความหวาดกลัวเป็นอย่างมากเกิดขึ้นแก่มหาชน เพราะได้เห็นสัตว์ทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกเช่นนั้น จึงบันดาลให้กาฬสุตตนรกนั้นอันตรธานหายไป.
               พระโพธิสัตว์แสดงนรกโดยลำดับอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงเชิญเสด็จพระราชามาแล้ว ทูลว่า ขอถวายพระพร พระองค์ควรจะได้ทอดพระเนตรสัตว์ทั้งหลายผู้หมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้ง ๘ ขุมเหล่านี้บ้าง จะได้ทรงบำเพ็ญความไม่ประมาท ดังนี้แล้ว หวังจะกล่าวถึงหน้าที่แห่งมหานรกเหล่านั้นซ้ำอีกครั้ง จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า นรก ๘ ขุม ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺขาตา ความว่า นรกทั้ง ๘ ขุมที่อาตมภาพทูลแล้วแก่พระองค์นี้ บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ก็ได้เคยกล่าวไว้แล้วเหมือนกันนะ.
               บทว่า อากิณฺณา คือ บริบูรณ์.
               บทว่า ปจฺเจกา โสฬสุสฺสทา ความว่า มหานรกทั้ง ๘ ขุมเหล่านี้ แต่ละขุมๆ มีประตูอยู่ ๔ ประตู แต่ละประตูมีอุสสทนรกประตูละ ๔ มหานรกแห่งหนึ่งๆ จึงได้มีอุสสทนรกแห่งละ ๑๖ ขุม รวมอุสสทนรกทั้งหมดเป็น ๑๒๘ (เป็นนรกย่อย) รวมกับมหานรกอีก ๘ ขุม จึงเรียกว่านรก ๑๓๖ ขุม ด้วยประการฉะนี้ (๘x๔ = ๓๒x๔ = ๑๒๘+๘ = ๑๓๖).
               บทว่า กทริยตาปนา ความว่า นรกเหล่านี้แม้ทั้งหมด เป็นสถานที่ทำคนผู้แข็งกระด้างให้เร่าร้อน น่ากลัว เพราะมีความทุกข์เป็นกำลัง มีเปลวไฟ เพราะมีเปลวไฟเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ตลอดกัป มีภัยมากมาย เพราะมีความน่ากลัวอยู่อย่างมาก มีรูปร่างน่าขนลุกขนพอง เพราะพอบุคคลเห็นเข้าก็ขนลุกขนพอง ดูพิลึก เพราะน่าเกลียดน่ากลัว มีภัยรอบด้าน เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภัย มีความลำบาก เพราะหาความสุขไม่ได้เลย.
               บทว่า จตุกฺโกณา ได้แก่ นรกแม้ทั้งหมดก็เป็นเช่นกับหีบ ๔ เหลี่ยม.
               บทว่า วิภตฺตา คือ แบ่งไว้เป็นประตูทั้ง ๔ ด้าน.
               บทว่า ภาคโส มิตา คือ นับตั้งไว้เป็นส่วนๆ ด้วยสามารถทางประตูทั้งหลาย.
               บทว่า อยสา ปฏิกุชฺชิตา ความว่า นรกแม้ทั้งหมดถูกปิดแล้วด้วยกระเบื้องเหล็กประมาณ ๙ โยชน์.
               บทว่า ผุฏา ติฏฺฐนฺติ ความว่า นรกแม้ทั้งหมด แผ่ไปตั้งอยู่ตลอดเนื้อที่ประมาณเพียงเท่านี้.
               บทว่า อุทฺธํปาทา อวํสิรา อธิบายว่า พระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้ หมายถึงสัตว์ผู้กลิ้งเกลือกตกไปอยู่ ในนรกนั้นบ่อยๆ.
               บทว่า อติวตฺตาโร ความว่า สัตว์ที่กล่าวล่วงเกินด้วยวาจาหยาบคายทั้งหลาย. ได้ยินมาว่า สัตว์ทั้งหลายผู้กระทำความผิดในสมณพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในธรรม ย่อมหมกไหม้อยู่ในมหานรกโดยมาก เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า เต ภูนหนา อธิบายว่า สัตว์ผู้กล่าวล่วงเกินพระฤๅษีเหล่านั้น เป็นผู้มีความเจริญอันถูกกำจัดแล้ว เพราะกำจัดความเจริญของตนเอง ย่อมหมกไหม้อยู่ คล้ายกับปลาที่เขาทำให้เป็นชิ้นๆ.
               บทว่า อสงฺเขยฺย ความว่า ใครๆ ไม่สามารถจะนับได้.
               บทว่า กิพฺพิสการิโน คือ ผู้มีปกติกระทำกรรมอันทารุณโหดร้าย.
               บทว่า นิกฺขมเนสิโน ความว่า สัตว์เหล่านั้นแม้จะค้นหาแสวงหาหนทางออกจากนรก ก็มิได้ถึงประตูทางออกเลย.
               บทว่า ปุรตฺถิเมน ความว่า ในเวลาที่ประตูยังไม่ปิด สัตว์เหล่านั้นก็จะพากันมุ่งหน้าวิ่งไปยังประตูนั้น. อวัยวะมีผิวพรรณเป็นต้นของสัตว์เหล่านั้น ก็จะถูกไหม้ไฟในที่นั้นเอง. พอเมื่อสัตว์เหล่านั้นวิ่งไปใกล้จะถึงประตู ประตูก็ปิดเสีย ประตูข้างหลังก็ปรากฏ คล้ายเหมือนว่าถูกเปิดแล้ว. แม้ในประตูด้านอื่นๆ ทั้งหมดก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า น สาธุรูเป ความว่า บุคคล (อย่า) พึงเข้าไปเบียดเบียนพระฤๅษี ผู้มีรูปดีดุจดังงูมีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยที่นั่ง ด้วยคำหยาบ หรือด้วยกายกรรม.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะจะต้องได้เสวยความทุกข์อย่างใหญ่หลวงในมหานรกทั้ง ๘ ขุม เหตุกระทบกระทั่งท่านผู้สำรวมแล้ว และมีตบธรรม.
               บัดนี้ พระโพธิสัตว์หวังจะแสดงถึงพระราชาผู้ทรงกระทบกระเทียบพระฤๅษีเห็นปานนั้นแล้ว ประสบความทุกข์นั้นๆ จึงได้กล่าวคำเป็นต้นว่า อติกาโย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติกาโย ได้แก่ มีพระวรกายใหญ่โต สมบูรณ์ด้วยกำลัง.
               บทว่า มหิสฺสาโส ได้แก่ ผู้ถือธนู.
               บทว่า สหสฺสพาหุ ความว่า มีแขนพันหนึ่ง เพราะสามารถยกธนูได้ด้วยแขนพันแขนที่ต้องใช้บุคคลผู้ถือธนู ๕๐๐ คน ถึงจะยกขึ้นได้.
               บทว่า เกกกาธิโป คือ ผู้เป็นใหญ่ในเกกกรัฐ.
               บทว่า วิภวงฺคโต ได้แก่ ถึงความพินาศ.
               เรื่องทั้งหลายมีพิสดารแล้วในสรภังคชาดก.
               บทว่า อุปหจฺจ มนํ ได้แก่ ทำจิตของตนให้ประทุษร้าย.
               บทว่า มาตงฺคสฺมึ คือ ในมาตังคบัณฑิต. เรื่องได้เล่าไว้แล้วในมาตังคชาดก.
               บทว่า กณฺหทีปายนาสชฺช คือ ทำร้ายพระดาบสผู้มีชื่อว่า กัณหทีปายนะ.
               บทว่า ยมสาธนํ ได้แก่ นรก. เรื่องมีพิสดารแล้วในฆฏชาดก.
               บทว่า อิสินา ได้แก่ พระดาบสชื่อว่า กปิละ.
               บทว่า ปาเวกฺขี ได้แก่ เข้าไปแล้ว.
               บทว่า เจจฺโจ ได้แก่ พระเจ้าเจติยราช.
               บทว่า หีนตฺโต ได้แก่ มีอัตภาพอันเสื่อมไปรอบแล้ว คือ หมดฤทธิ์.
               บทว่า กาลปริยายํ ได้แก่ ถึงเวลาตายโดยปริยาย. เรื่องกล่าวไว้แล้วในเจติยราชชาดก.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่บุคคลผู้เป็นไปในอำนาจแห่งจิต ผิดในฤาษีทั้งหลายแล้ว ย่อมหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้ง ๘.
               บทว่า ตสฺมา หิ ฉนฺทาคมนํ ความว่า บัณฑิตย่อมไม่สรรเสริญการถึงอคติแม้ทั้ง ๔ อย่างมีฉันทาคติเป็นต้น.
               บทว่า ปทุฏเฐน คือ โกรธแล้ว.
               บทว่า คนฺตฺวา โส นิรยํ อโธ ความว่า บุคคลผู้นั้นย่อมไปสู่นรกเบื้องต่ำนั้นแล ด้วยผลกรรมที่ตนควรไปสู่เบื้องต่ำนั้น. แต่ในพระบาลีท่านเขียนไว้เป็น นิรยุสฺสทํ ดังนี้. ความข้อนั้นหมายถึงว่า ย่อมไปสู่อุสสทนรก.
               บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ท่านผู้เจริญโดยวัย และท่านผู้เจริญโดยคุณ.
               บทว่า อนปจฺจา ความว่า คนเหล่านั้นย่อมไม่ได้ เหล่ากอหรือทายาท แม้ในระหว่างแห่งภพ.
               บทว่า ตาลวตฺถุ ความว่า คนเหล่านั้นย่อมถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง แม้ในทิฏฐธรรม คล้ายต้นตาลที่มีรากอันขาดแล้ว ฉะนั้น แล้วไปบังเกิดในนรกทั้งหลาย.
               บทว่า หนฺติ ได้แก่ ทำให้ตาย.
               บทว่า จิรํ รตฺตาย ได้แก่ ตลอดกาลยาวนาน.
               พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงนรกที่พวกคนผู้เบียดเบียนฤๅษีทั้งหลาย หมกไหม้อยู่อย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงนรกที่พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมหมกไหม้อยู่ต่อไป จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า โย จ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รฏฺฐํ วิทฺธํสโน ได้แก่ เป็นผู้ถึงอคติ ด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้นแล้ว กำจัดชาวแว่นแคว้นเสีย.
               บทว่า อจฺจิสงฺฆปเรโต โส ได้แก่ พระราชาพระองค์นั้นเป็นผู้อันกลุ่มแห่งเปลวไฟโหมล้อมแล้ว.
               บทว่า เตโชภกฺขสฺส ได้แก่ เคี้ยวกินไฟอยู่ทีเดียว.
               บทว่า คตฺตานิ ได้แก่ องค์อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหมดในสรีระ ในที่ประมาณ ๓ คาวุต คือ เปลวไฟเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด มีพร้อมกับอวัยวะเหล่านี้ คือ ปลายขนและเล็บ.
               บทว่า ตุณฺฑทฺทิโต ความว่า สัตว์นรกนั้นย่อมคร่ำครวญ คล้ายช้างที่นายหัตถาจารย์แทงแล้วด้วยขอ กระทำให้มีอาการไม่หวั่นไหว.
               พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงนรกที่พวกพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม หมกไหม้อยู่อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงถึงนรกที่พวกบุคคลผู้ฆ่าบิดาเป็นต้น หมกไหม้อยู่ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า โย โลภา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลภา ได้แก่ เพราะความโลภในยศและในทรัพย์.
               บทว่า โทสา ได้แก่ เพราะตนมีจิตอันโทสะประทุษร้ายแล้ว.
               บทว่า นิตฺตจํ ความว่า นายนิรยบาลนำคนผู้ฆ่าบิดานั้น ซึ่งหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีตลอดหลายพันปี ออกมาแล้ว ทำสรีระซึ่งสูง ๓ คาวุตของสัตว์นั้นไม่ให้มีหนัง (ลอกหนังออก) แล้วผลักให้ล้มลงบน แผ่นดินโลหะอันไฟลุกโพลง ทิ่มแทงด้วยหลาวเหล็กอันคม จนละเอียดเป็นผุยผง.
               บทว่า อนฺธํ กริตฺวา ความว่า พระโพธิสัตว์ทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร นายนิรยบาลทั้งหลายทรมานคนผู้ฆ่าบิดานั้น ให้ล้มหงายลงบนแผ่นดินโลหะที่ไฟกำลังลุกโพลง แล้วเอาหลาวเหล็กที่ติดไฟลุกโพลง ทิ่มแทงนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างให้บอดสนิท แล้วเอามูตร และกรีสอันร้อนยัดใส่เข้าไปในปาก แล้วหมุนเวียนสัตว์นั้นไป คล้ายตั่งที่ทำด้วยฟาง แล้วกดให้จมลงในน้ำโลหะอันแสบ ซึ่งตั้งอยู่โดยตลอดกัป.
               บทว่า ตตฺตํ ปกฺกุฏฺฐิตมโยคุฬยฺจ ความว่า นายนิรยบาลทั้งหลายให้ สัตว์นรกนั้นเคี้ยวกินเปือกตม คือคูถอันเดือดพล่านแล้ว และก้อนเหล็กอันลุกโชนอีกด้วย ก็สัตว์นรกนั้นพอเห็นคูถและก้อนเหล็กที่ นายนิรยบาลนำมาอยู่นั้นแล้ว ก็ปิดปากเสีย
               ลำดับนั้น นายนิรยบาลจึงเอาผาลไถยาวมีปลายร้อนยิ่งนัก ลุกเป็นเปลวไฟ งัดปากของสัตว์นรกนั้นให้อ้าออกแล้ว ใส่เบ็ดเหล็กที่ผูกสายเชือก เข้าไปเกี่ยวเอาลิ้นออกมา แล้วยัดใส่ก้อนเหล็กนั้นลงไปในปากที่อ้าอยู่นั้น.
               บทว่า รกฺขสา ได้แก่ นายนิรยบาล.
               บทว่า สามา จ ความว่า พระโพธิสัตว์ทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร ฝูงสุนัขแดง ฝูงสุนัขมีสีด่าง ฝูงแร้งมีปากเป็นโลหะ ฝูงกาป่า และฝูงนกนานาชนิด เหล่าอื่น ก็พากันมาชุมนุมฉุดกระชาก ลากเอาลิ้นของบุคคลผู้ฆ่าบิดานั้นออกมาด้วยเบ็ด แล้วกัดลิ้นที่นำออกไว้บนแผ่นดิน ด้วยขอเหล็กหลายอัน คล้ายกะเอาอาวุธมาตัดทำให้เป็นส่วนๆ โดยอาการเหมือนกากบาท.
               บทว่า วิปฺผนฺทมานํ ความว่า ฝูงสัตว์เหล่านั้นย่อมพากันเคี้ยวกินสัตว์นรกทั้งหลาย เหมือนเคี้ยวกินของอันเป็นเดนที่มีเลือดออก ฉะนั้น.
               บทว่า ตํ ทฑฺฒกาฬํ ความว่า นายนิรยบาลเที่ยวเดินทุบตีสัตว์นรกผู้ฆ่าบิดานั้น ซึ่งมีสรีระอันไฟไหม้แล้วลุกโพลงอยู่ ประดุจดังผลกะเบาอันไฟไหม้อยู่ ฉะนั้น.
               บทว่า ปริภินฺนคตฺตํ ได้แก่ มีตัวอันแตกแล้วในที่นั้นๆ.
               บทว่า นิปฺโปถยนฺตา ได้แก่ เอาค้อนเหล็กที่ไฟลุกโพลงทุบตี.
               บทว่า รตี หิ เตสํ ความว่า ความยินดีนั้นย่อมเป็นความสนุกสนานของพวกนายนิรยบาลเหล่านั้น.
               บทว่า ทุกฺขิโน ปนีตเร ความว่า ส่วนสัตว์นรกนอกนี้ ย่อมเป็นผู้ได้รับความทุกข์.
               บทว่า เปตฺติฆาฏิโน คือ ผู้ฆ่าบิดา.
               พระราชา ครั้นทอดพระเนตรเห็นนรกที่บุคคลผู้ฆ่าบิดาทั้งหลายหมกไหม้อยู่นี้ ได้เป็นผู้สะดุ้งกลัวแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ ครั้นได้ปลอบพระราชาพระองค์นั้นแล้ว จึงแสดงนรกที่บุคคลผู้ฆ่ามารดาทั้งหลายหมกไหม้อยู่.
               บทว่า ยมกฺขยํ คือ ที่อยู่ของพระยายม ได้แก่ นรก.
               บทว่า อตฺตกมฺมผลูปโค ได้แก่ เข้าถึงแล้วด้วยผลกรรมของตน.
               บทว่า อมนุสฺสา ได้แก่ พวกนายนิรยบาล.
               บทว่า หนฺตารํ ชนยนฺติยา คือ ผู้ฆ่ามารดา.
               บทว่า พาเลหิ ความว่า นายนิรยบาลพันด้วยผาลผูกด้วยขอเหล็ก และบีบคั้นอยู่ด้วยยนต์เหล็ก.
               บทว่า ตํ คือ บุคคลผู้ฆ่ามารดานั้น.
               บทว่า ปาเยนฺตี ความว่า ก็เมื่อสัตว์นรกนั้นถูกบีบคั้นอยู่ โลหิตย่อมไหลออกจนเต็มกระเบื้องเหล็ก ลำดับนั้น พวกนายนิรยบาลย่อมนำสัตว์นรกนั้นออกมาจากเครื่องยนต์ สรีระของสัตว์นรกนั้นย่อมกลับเป็นปกติตามเดิม ในขณะนั้นทีเดียว พวกนายนิรยบาลจึงให้สัตว์นรกนั้นนอนหงายบนแผ่นดิน แล้วให้ดื่มโลหิตที่กำลังเดือดพล่าน ดุจทองแดงที่กำลังละลายอยู่ ฉะนั้น.
               บทว่า โอคฺคยฺห ติฏฺฐติ ความว่า นายนิรยบาลทั้งหลายบีบสัตว์นรกนั้นด้วยยนต์เหล็ก แล้วโยนลงในบ่อตม คือคูถอันมากมายน่าเกลียด และปฏิกูลด้วยกลิ่นเหม็นฟุ้งตลอดหลายพันปี. สัตว์นรกนั้นดิ่งลงสู่ห้วงน้ำนั้นอยู่.
               บทว่า อติกายา คือ มีสรีระประมาณเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง.
               บทว่า อโยมุขา คือ มีปากเป็นเหล็กแหลม.
               บทว่า ฉวึ เภตฺวาน ความว่า ทำลายตั้งแต่ผิวหนังไปจนกระทั่งกระดูก บางทีก็กินเข้าไปถึงเยื่อในกระดูก.
               บทว่า ปคิทฺธา คือ เลื้อยไต่ไป.
               ก็หมู่หนอนเหล่านั้น ย่อมกัดกินอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ ยังจะได้เข้าไปทางปากล่างเป็นต้น ออกทางปากบนเป็นต้น เข้าไปทางข้างเบื้องซ้ายเป็นต้นแล้ว ออกจากทางข้างเบื้องขวาเป็นต้น ย่อมทำสรีระทุกส่วนให้เป็นช่องน้อยช่องใหญ่ สัตว์นรกนั้นได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง ร้องไห้คร่ำครวญหมกไหม้อยู่ในนรกนั้น.
               บทว่า โส จ ความว่า บุคคลผู้ฆ่ามารดานั้น ตกสู่นรกมีประมาณลึกได้ร้อยชั่วบุรุษนั้นแล้ว ย่อมจมลงไปจนมิดศีรษะทีเดียว ก็ซากศพนั้น ย่อมเน่าเปื่อยส่งกลิ่นฟุ้งตลบไปจนตลอดที่ร้อยโยชน์โดยรอบ.
               บทว่า มาตุฆาฎี คือ ผู้ฆ่ามารดา.
               พระมหาสัตว์ ครั้นได้แสดงนรกที่บุคคลผู้ฆ่ามารดาหมกไหม้อยู่อย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงถึงนรกที่พวกหญิงผู้ทำสัตว์เกิดในครรภ์ ให้ตกไปไหม้อยู่ จึงกล่าวคาถาต่อไปอีก.
               บทว่า บุรธารมนุกฺกมฺมา ได้แก่ ก้าวล่วงนรกที่มีคมประดุจมีดโกน.
               ได้ยินว่า นายนิรยบาลทั้งหลายในนรกนั้น ย่อมถือเอามีดโกนที่คมเล่มใหญ่ๆ แล้ววางไว้เบื้องบน แต่นั้น หญิงเหล่าใดดื่มกินยาร้อนที่ทำครรภ์ให้ตกไปเป็นต้นแล้ว ทำครรภ์ให้ตกไป นายนิรยบาลก็ติดตามโบยตี หญิงผู้ที่ทำครรภ์ให้ตกไปเหล่านั้นด้วยอาวุธทั้งหลายที่มีไฟลุกโพลง หญิงเหล่านั้นก็ขาดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บนคมแห่งมีดโกนที่คมกริบ ลุกขึ้นบ่อยๆ ก้าวล่วงซึ่งนรกมีคมแห่งมีดโกนอันก้าวล่วงได้ยากอย่างยิ่งนั้น ครั้นล่วงพ้นไปแล้วก็ยังถูกนายนิรยบาลไล่ติดตาม ย่อมตกลงไปสู่แม่น้ำเวตรณี อันไม่เสมอข้ามไปได้ยาก เหตุแห่งกรรมในนรกนั้นๆ จักมีแจ้งในเนมิราชชาดก.
               พระมหาสัตว์ ครั้นได้แสดงนรกแห่งพวกหญิงผู้ทำครรภ์ให้ตกไปอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงถึงนรกไม้งิ้วมีหนามแหลมที่พวกบุรุษผู้ผิดในภริยาของคนอื่น และพวกหญิงผู้ประพฤตินอกใจสามี หมกไหม้อยู่นั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อโยมยา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภโต มภิลมฺพนฺติ ความว่า กิ่งของไม้งิ้วเหล่านั้นห้อยลงมา ริมฝั่งแห่งแม่น้ำเวตรณีทั้ง ๒ ฟาก สัตว์ทั้งหลายผู้มีสรีระที่ไฟลุกโพลงอยู่เหล่านั้น เป็นผู้มีเปลวไฟตั้งอยู่.
               บทว่า โยชนํ ความว่า สัตว์เหล่านั้นมีสรีระสูง ๓ คาวุต แต่ย่อมเป็นผู้สูงถึงโยชน์หนึ่ง กับเปลวไฟที่ตั้งขึ้นแต่สรีระ.
               บทว่า เอเต สชนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ผิดในภริยาของคนเหล่าอื่นนั้น ถูกนายนิรยบาลทิ่มแทงด้วยอาวุธนานาชนิด ต้องขึ้นอยู่ในนรกไม้งิ้วเหล่านี้.
               บทว่า เต ปตนฺติ ความว่า สัตว์นรกเหล่านั้น ติดอยู่ที่ค่าคบแห่งต้นไม้ ไหม้อยู่หลายพันปี ถูกนายนิรยบาลเอาอาวุธทิ่มแทงเข้าอีก ก็กลิ้งเอาศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกลงมา.
               บทว่า ปุถู คือ มากมาย.
               บทว่า วินิวทฺธงฺคา ความว่า ในเวลาที่สัตว์นรกเหล่านั้น ตกลงจากต้นงิ้วนั้น หลาวทั้งหลายแทงขึ้นแต่แผ่นดินเหล็กในภายใต้ คอยรับศีรษะของสัตว์เหล่านั้นพอดี หลาวเหล่านั้นย่อมแทงทะลุออกทางเบื้องต่ำของสัตว์เหล่านั้น. สัตว์นรกเหล่านั้นถูกหลาวอันเป็นอาวุธทิ่มแทงเอาแล้วอย่างนี้ ย่อมนอนอยู่ตลอดกาลนาน.
               บทว่า ทีฆํ ความว่า เมื่อไม่ได้การนอนหลับ จึงตื่นอยู่ตลอดกาลยืดยาว.
               บทว่า ตโต รตฺยา วิวสเน ความว่า โดยล่วงกาลนานในเวลาที่ล่วงไปแห่งราตรีทั้งหลาย.
               บทว่า ปวชฺชนฺติ ความว่า สัตว์นรกเหล่านั้นถูกนายนิรยบาล จับโยนเข้าไปยังโลหกุมภี อันไฟลุกโพลงมีเนื้อที่ประมาณ ๖๐ โยชน์ คือโลหกุมภีที่เต็มไปด้วยน้ำทองแดง อันไฟลุกโพลงอยู่ ตั้งอยู่ตลอดกัปแล้ว ไหม้อยู่ในโลหกุมภีนั้น.
               บทว่า ทุสฺสีลา ได้แก่ ผู้ประพฤติผิดในภริยาของคนอื่น.
               พระมหาสัตว์ ครั้นได้แสดงนรกไม้งิ้วที่พวกบุรุษผู้ปรารถนาผิดในภริยาของคนอื่นและพวกหญิงผู้ประพฤตินอกใจสามี หมกไหม้อยู่อย่างนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่นี้ไป เมื่อจะประกาศถึงสถานที่ของพวกหญิงผู้ไม่บำเพ็ญวัตรในสามีและวัตรในพ่อผัวเป็นต้น พากันหมกไหม้อยู่ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ยา จ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติมญฺญติ ความว่า หญิงผู้ทำซึ่งสามิกวัตร ดังที่กล่าวไว้แล้วในภิงสชาดก ล่วงละเมิดดูหมิ่นสามี.
               บทว่า เชฏฐํ วา ได้แก่ พี่ชายของสามี.
               บทว่า นนนฺทนํ ได้แก่ น้องสาวของสามี.
               จริงอยู่ ภริยาไม่บำเพ็ญวัตรต่างๆ ชนิดเป็นต้นว่า การนวดมือ นวดเท้า นวดหลัง ให้อาบน้ำ ให้บริโภคอาหารแก่ชนเหล่านี้แม้แต่คนใดคนหนึ่งให้บริบูรณ์ ไม่ตั้งหิริและโอตตัปปะในชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมดูหมิ่นชนเหล่านั้น แม้หญิงนั้นก็ไปบังเกิดในนรก.
               บทว่า วงฺเกน ความว่า ก็เมื่อหญิงนั้นไม่บำเพ็ญสามิกวัตรเป็นต้นให้บริบูรณ์ ด่าบริภาษสามีเป็นต้น บังเกิดในนรก นายนิรยบาลทั้งหลายจับหญิงนั้น ให้นอนลงบนแผ่นดินโลหะแล้วเอาขอเหล็กงัดปากให้อ้าแล้ว เอาเบ็ดเกี่ยวปลายลิ้น ฉุดกระชากลากออกมาพร้อมทั้งสายเชือกที่ผูกไว้.
               บทว่า กิมินํ คือเต็มไปด้วยหมู่หนอน.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนมหาบพิตร สัตว์นรกนั้นถูกกระชากมาแล้วอย่างนี้ ย่อมมองเห็นปลายลิ้นยาวประมาณวาหนึ่ง โดยวาของตนนั้น เต็มไปด้วยหนอนทั้งหลาย ตัวโตประมาณเท่าเรือโกลนลำใหญ่ อันเกิดขึ้นในที่ที่ถูกทุบด้วยอาวุธ.
               บทว่า วิญฺญาเปตํ น สกฺโกติ ความว่า แม้ต้องการจะอ้อนวอนนายนิรยบาล ก็ไม่อาจจะกล่าวถ้อยคำอะไรๆ ได้.
               บทว่า ตาปเน ความว่า หญิงนั้นไหม้อยู่ในตาปนนรกนั้นตั้งหลายพันปีอย่างนี้แล้ว ยังจะต้องถูกหมกไหม้อยู่ในมหานรกชื่อตาปนะอีก.
               พระมหาสัตว์ ครั้นได้แสดงถึงมหานรกที่พวกหญิงผู้ไม่บำเพ็ญวัตรในสามี และวัตรในแม่ผัวพ่อผัวเป็นต้นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงถึงนรกที่พวกคนผู้ฆ่าสุกรเป็นต้น หมกไหม้อยู่ในบัดนี้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า โอรพฺภิกา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวณฺเณ วณฺณการกา ได้แก่ ผู้ทำการส่อเสียด.
               บทว่า ขารนทึ ความว่า บุคคลผู้ฆ่าแกะเป็นต้นเหล่านี้ ถูกเบียดเบียนด้วยอาวุธทั้งหลายเหล่านี้มีหอกเป็นต้น ย่อมตกลงไปสู่แม่น้ำเวตรณี. สถานที่ที่พวกฆ่าแกะเป็นต้นหมกไหม้ที่เหลือ จักมีแจ้งในเนมิราชชาดก.
               บทว่า กูฏการี ท่านกล่าวหมายถึงบุคคลผู้ทำการตัดสินคดีโกง และผู้ทำการโกงด้วยตราชั่งเป็นต้น. ในข้อนั้น นรกที่พวกผู้ตัดสินคดีโกง พิจารณาคดีโกงและโกงด้วยราคา หมกไหม้อยู่ จักมีแจ้งในเนมิชาดก.
               บทว่า วนฺตํ คือ สิ่งที่สำรอกออกมา.
               บทว่า ทุรตฺตานํ ได้แก่ มีอัตภาพอันเป็นไปได้ยาก.
               ข้อนี้ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ดูก่อนมหาบพิตร สัตว์ผู้มีอัตภาพอันถึงความลำบากเหล่านั้น เมื่อศีรษะถูกทุบด้วยค้อนเหล็ก ก็ย่อมอาเจียนออกมา แต่นั้น ย่อมใส่สิ่งอาเจียนออกมานั้นเข้าไปในปากของสัตว์บางพวกในบรรดาสัตว์เหล่านั้น ด้วยกระเบื้องเหล็กอันไฟลุกโพลง. สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคสิ่งที่สัตว์เหล่าอื่นอาเจียนออกมา ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เภรณฺฑกา ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก.
               บทว่า วิปฺผนฺทมานํ ความว่า ถูกจับให้นอนคว่ำหน้า และดึงเอาลิ้นออกมา ดิ้นรนไปมาข้างโน้นข้างนี้.
               บทว่า มิเคน คือ เนื้อที่เที่ยวหากินน้ำ.
               บทว่า ปกฺขินา คือ นกชนิดนั้นนั่นเอง.
               บทว่า คนฺตฺวา เต ได้แก่ คนเหล่านั้นไปแล้ว.
               บทว่า นิรยุสฺสทํ ได้แก่ อุสสทนรก แต่ในบาลีท่านเขียนไว้ว่า นรกเบื้องต่ำ. ก็นรกนั้นจักมีแจ้งในเนมิชาดกแล.
               พระมหาสัตว์ ครั้นได้แสดงถึงนรกมีประมาณเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว.
               บัดนี้ เมื่อจะทำการเปิดเทวโลกแด่พระราชาแล้ว แสดงเทวโลกแด่พระราชา จึงทูลว่า
               สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เบื้องบน เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว ในโลกนี้ ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พระพรหมมีอยู่
               ดูก่อนมหาบพิตรผู้เป็นอธิบดีแห่งรัฐ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอทูลมหาบพิตร ขอมหาบพิตรจงทรงประพฤติธรรม ดูก่อนพระราชา ขอเชิญพระองค์ทรงประพฤติธรรม เหมือนอย่างธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺโต ได้แก่ ผู้เข้าไปสงบระงับทวาร ๓ มีกายทวารเป็นต้น.
               บทว่า อุทฺธํ ได้แก่ เทวโลก.
               บทว่า สหินฺทา ได้แก่ พร้อมด้วยพระอินทร์ทั้งหลายในเทวโลกนั้นๆ.
               จริงอยู่ พระมหาสัตว์ เมื่อจะแสดงถึงหมู่เทวดาทั้งหลายอันประกอบด้วยเทวดาชั้นจาตุมหาราช แด่พระราชาพระองค์นั้น จึงทูลว่า ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทอดพระเนตรเทวดาชั้นจาตุมหาราชทั้งหลาย จงทอดพระเนตรท้าวมหาราชทั้ง ๔ จงทอดพระเนตรเทวดาชั้นดาวดึงส์ จงทอดพระเนตรท้าวสักกะเถิด ดังนี้ เมื่อจะแสดงเทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม แม้ทั้งหมดเหล่านั้นอย่างนี้ จึงแสดงต่อไปว่า นี้เป็นผลของกรรมที่ประพฤติดีแล้ว แม้นี้ก็เป็นผลของกรรมที่ประพฤติดีแล้วเช่นเดียวกัน.
               บทว่า ตนฺตํ พฺรูมิ ความว่า เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจะขอทูลกะพระองค์.
               บทว่า ธมฺมํ ความว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอพระองค์จงงดเว้นเวรทั้ง ๕ มีปาณาติบาตเป็นต้นแล้วจงบำเพ็ญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้นเถิด.
               บทว่า ยถา ตํ สุจิณฺณํ นานุตปฺเปยฺย ความว่า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมนั้นให้เป็นอันประพฤติดีแล้ว คือ จงทำบุญให้มาก โดยประการที่บุญกรรมมีทานเป็นต้นนั้น อันบุคคลประพฤติดีแล้ว กรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนั้น ย่อมไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง เพราะสามารถปกปิดเสียได้ ซึ่งความเดือดร้อนมีปิตุฆาตกรรมเป็นต้นเหตุ.
               พระราชาพระองค์นั้น ครั้นได้ทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงได้รับความปลอดโปร่งพระหฤทัย. ฝ่ายพระโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานนั้นสิ้นกาลเล็กน้อยแล้ว ก็กลับไปยังสถานที่อยู่ของตนตามเดิมแล.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จะใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน พระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์นี้ ก็ได้เราตถาคตทำให้ทรงสบายพระหฤทัยแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว.
               ทรงประชุมชาดกว่า
               พระราชาในกาลครั้งนั้น ได้เป็น พระเจ้าอชาตศัตรู
               หมู่ฤๅษี ได้เป็นพุทธบริษัท
               ส่วนสังกิจจบัณฑิต ก็คือ เราตถาคต นั่นแล.

               จบอรรถกถาสังกิจจชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมชาดกในสัฏฐินิบาตนั้น
               เชิญท่านทั้งหลายฟังภาษิตของข้าพเจ้าในสัฏฐินิบาต (ในนิบาตนี้) มี ๒ ชาดก คือ
               ๑. โสณกชาดก ว่าด้วยเรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
               ๒. สังกิจจชาดก ว่าด้วยสังกิจจฤาษีแสดงธรรมและอธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตต์
               จบ สัฏฐินิบาตชาดก.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังกิจจชาดก ว่าด้วย สังกิจจฤาษีแสดงธรรมและอธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตต์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 90 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 94 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=595&Z=732
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=2118
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=2118
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :