ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 775 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา ภูริทัตชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี

หน้าต่างที่ ๒ / ๕.

               เมื่อจะบอกว่า ตนเป็นพระยานาค จึงกล่าวว่า
               เราเป็นนาคผู้มีฤทธิ์เดช ยากที่ใครๆ จะล่วงได้. ถ้าแม้เราโกรธแล้ว พึงขบกัดชนบทที่เจริญ ให้แหลกได้ด้วยเดช. มารดาของเราชื่อ สมุททชา บิดาของเราชื่อ ธตรฐ เราเป็นน้องของสุทัสสนะ คนทั้งหลายเรียกเราว่า ภูริทัต.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตชสี ความว่า ชื่อว่า ผู้มีเดชด้วยเดชเพียงดังยาพิษ.
               บทว่า ทุรติกฺกโม ความว่า ใครๆ อื่นไม่สามารถเพื่อจะล่วงได้.
               บทว่า ฑํเสยฺยํ ความว่า ถ้าเราโกรธแล้ว พึงขบกัดแม้ชนบทที่กว้างขวางได้ เมื่อเขี้ยวของเราเพียงตกไปในแผ่นดิน ด้วยเดชของเรา ชาวชนบททั้งหมดพร้อมด้วยแผ่นดิน พึงไหม้เป็นขี้เถ้าไป.
               บทว่า สุทสฺสนกนิฏฺโฐสฺมิ ความว่า เราเป็นน้องชายของสุทัสสนะผู้เป็นพี่ชายเรา. อธิบายว่า ความว่า ชนทั้งหมดย่อมรู้จักเราในนาคพิภพระยะทาง ๕๐๐ โยชน์อย่างนี้ว่า วิทูผู้รู้วิเศษ.

               ก็แลพระมหาสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงคิดว่า พราหมณ์นี้ เป็นผู้ดุร้ายหยาบคาย. ถ้าเขาจะไปบอกแก่หมองูแล้ว พึงทำแม้อันตรายแก่อุโบสถกรรมของเรา. ไฉนหนอ เราจะนำพราหมณ์ผู้นี้ไปยังนาคพิภพ พึงให้ยศแก่ท่านเสียให้ใหญ่โตแล้ว. จะพึงทำอุโบสถกรรมของเรา ให้ยืนยาวนานไปได้. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราจะให้ยศแก่ท่านให้ใหญ่โต. นาคพิภพเป็นสถานอันน่ารื่นรมย์นัก มาไปกันเถิด ไปในนาคพิภพนั้นด้วยกัน. พราหมณ์กล่าวว่า ข้าแต่นาย บุตรของข้าพเจ้ามีอยู่คนหนึ่ง. เมื่อบุตรนั้นมา ข้าพเจ้าก็จักไป. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไปนำบุตรของท่านมาเถิด.
               เมื่อจะบอกที่อยู่ของพระองค์ จึงกล่าวว่า
               ท่านเพ่งดูห้วงน้ำลึกวนอยู่ทุกเมื่อ น่ากลัวใด ห้วงน้ำนั้น เป็นที่อยู่อันรุ่งเรืองของเรา ลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ. ท่านอย่ากลัวเลย จงเข้าไปยังแม่น้ำยมุนา เป็นแม่น้ำที่มีสีเขียวไหลจากกลางป่า กึกก้องด้วยเสียงนกยูงและนกกระเรียน เป็นที่เกษมสำราญของผู้มีอาจารวัตร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทาวฏฺฏํ แปลว่า วนเวียนเป็นไปอยู่ทุกเมื่อ.
               บทว่า เภสฺมึ แปลว่า น่าสะพรึงกลัว.
               บทว่า อเปกฺขสิ ความว่า ท่านเพ่งดูห้วงน้ำเห็นปานนี้นั้นใด.
               บทว่า มยูรโกญฺจาภิรุทํ ความว่า กึกก้องด้วยเสียงร้องของนกยูง และนกกระเรียนที่อยู่ในกลุ่มป่า ที่ฝั่งทั้ง ๒ ของแม่น้ำยมุนา.
               บทว่า นีโลทกํ แปลว่า น้ำมีสีเขียว.
               บทว่า วนมชฺฌโต ได้แก่ ไหลมาจากท่ามกลางป่า.
               บทว่า ปวิส มา ภีโต ความว่า ท่านอย่ากลัวเลย จงเข้าไปยังแม่น้ำยมุนา.
               บทว่า วตฺตวตํ ความว่า จงเข้าไปสู่ภูมิเป็นที่อยู่ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร ผู้มีอาจารวัตร.

               ก็แลพระมหาสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวว่า ไปเถิดพราหมณ์ไปนำบุตรมา. พราหมณ์จึงไปบอกความนั้นแก่บุตร แล้วพาบุตรนั้นมา. พระมหาสัตว์พาพราหมณ์กับบุตรทั้งสอง ไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแล้วกล่าวว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพร้อมด้วยบุตรและภรรยาไปถึงนาคพิภพแล้ว เราจะบูชาท่านด้วยกามทั้งหลาย ท่านจักอยู่เป็นสุข.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปตฺโต ความว่า ท่านถึงนาคพิภพของเราแล้ว.
               บทว่า สานุจโร แปลว่า พร้อมด้วยภรรยา.
               บทว่า มยฺหํ ความว่า เราจะบูชาด้วยกามทั้งหลายอันเป็นของๆ เรา.
               บทว่า วจฺฉสิ ความว่า ท่านจักอยู่เป็นสุขในนาคพิภพนั้น.

               ก็แลพระมหาสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงนำบิดาและบุตรทั้งสอง ไปยังนาคพิภพด้วยอานุภาพของตน. เมื่อบิดาและบุตรทั้งสอง ไปถึงนาคพิภพ อัตภาพก็ปรากฏเป็นทิพย์. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ก็ยกสมบัติทิพย์ให้แก่ บิดาและบุตรทั้งสองนั้นมากมาย และได้ให้นางนาคกัญญาคนละ ๔๐๐. ทั้งสองคนนั้นก็บริโภคสมบัติใหญ่ อยู่ในนาคพิภพนั้น.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็มิได้ประมาท ไปกระทำอุปัฏฐากพระชนกและชนนี ทุกกึ่งเดือน แสดงธรรมกถาถวาย และต่อแต่นั้นก็ไปยังสำนักของพราหมณ์ ถามถึงความไม่มีโรคแล้วกล่าวว่า ท่านต้องการสิ่งใด ก็พึงบอกไปเถิด อย่าเบื่อหน่าย จงรื่นเริง. ดังนี้แล้ว ได้กระทำปฏิสันถาร กับท่านโสมทัตแล้วไปยังนิเวศน์ของพระองค์ พราหมณ์อยู่นาคพิภพได้หนึ่งปี. เพราะเหตุที่ตนมีบุญน้อย ก็เกิดเบื่อหน่ายใคร่จะไปโลกมนุษย์. เห็นนาคพิภพปรากฏเหมือนโลกันตนรก ปราสาทอันประดับงดงาม ก็ปรากฏเหมือนเรือนจำ นางนาคกัญญาที่ตกแต่งสวย ปรากฏเหมือนนางยักษิณี. พราหมณ์จึงคิดว่า เราเบื่อหน่ายเป็นอันดับแรก เราจักรู้ความคิดของโสมทัตบ้าง. ดังนี้แล้วจึงไปยังสำนักของท่านโสมทัตแล้ว ถามว่า ดูก่อนพ่อโสมทัต ท่านเบื่อหน่ายหรือไม่. ท่านโสมทัตย้อนถามว่า ข้าแต่พ่อ ข้าจักเบื่อหน่าย เพราะเหตุอะไร ข้าไม่เบื่อหน่าย ก็พ่อเบื่อหน่ายหรือ. พราหมณ์ตอบว่า เออ เราเบื่อหน่ายอยู่. โสมทัตถามว่า เบื่อหน่ายเพราะเหตุไร. พราหมณ์ตอบว่า ดูก่อนเจ้า พ่อเบื่อหน่ายด้วยมิได้เห็นมารดา และพี่น้องของเจ้า พ่อโสมทัตจงมาไปด้วยกันเถิด. โสมทัตแม้กล่าวว่า จะไม่ไป. แต่เมื่อบิดาอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่าก็รับคำ. พราหมณ์คิดว่า เราได้ความตกลงใจของบุตรเป็นอันดับแรก แต่ถ้าจะบอกพระภูริทัตว่า เราเบื่อหน่าย. พระภูริทัตก็จักให้ยศแก่เรายิ่งๆ ขึ้นไป. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะไม่ได้ไป เราจะต้องพรรณนายกย่องสมบัติของภูริทัต ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง. จึงถามว่า ที่พระภูริทัตละสมบัติถึงเพียงนี้. ไปทำอุโบสถกรรมที่มนุษย์โลกนั้น เพราะเหตุใด ถ้าตอบว่า ต้องการจะไปสวรรค์. เราก็จักทูลให้ทราบความหมายของเราว่า สมบัติมีถึงอย่างนี้แล้ว ท่านยังละไปทำอุโบสถกรรม เพื่อต้องการจะไปสวรรค์ เพราะเหตุไรเล่า คนอย่างเราจะมาเลี้ยงชีวิตอยู่ ด้วยทรัพย์ของผู้อื่น. เราจักไปมนุษย์โลกเยี่ยมญาติ แล้วบวชบำเพ็ญสมณธรรม. ดังนี้ พระภูริทัตคงจักอนุญาตให้ไป. ครั้นพราหมณ์คิดดังนี้ ครั้นต่อมาวันหนึ่ง พอพระโพธิสัตว์มาเยี่ยมและถามว่า เบื่อหรือไม่. ก็ตอบว่า ข้าพเจ้าจักเบื่อหน่ายเพราะเหตุอะไร สิ่งของเครื่องบริโภคที่ได้ แต่สำนักของพระองค์ มิได้บกพร่องสักอย่างหนึ่ง. ในระยะนี้ พราหมณ์มิได้แสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวแก่การจะไป. ตั้งต้นก็กล่าวพรรณนา ถึงสมบัติของพระโพธิสัตว์ว่า
               แผ่นดินมีพื้นอันราบเรียบ ประกอบด้วยต้นกฤษณาเป็นอันมาก ดารดาษด้วยหมู่แมลงค่อมทอง มีหญ้าเขียวชะอุ่มงามอุดม หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่สร้างไว้สวยงาม ระงมด้วยเสียงหงส์ มีดอกปทุมร่วงหล่นอยู่เกลื่อนกลาด มีปราสาท ๘ มุม มีเสา ๑,๐๐๐ เสา สำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ เรืองจรูญด้วยเหล่านางนาคกัญญา. พระองค์เป็นผู้บังเกิดในวิมานทิพย์อันกว้างใหญ่ เป็นวิมานเกษมสำราญรื่นรมย์ มีความสุขหาสิ่งใดจะเปรียบปานมิได้ ด้วยบุญของพระองค์. พระองค์เห็นจะไม่ทรงหวังวิมานของพระอินทร์ เพราะฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ไพบูลย์ของพระองค์นี้ เหมือนของท้าวสักกเทวราชผู้รุ่งเรือง ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมา สมนฺตปริโต ความว่า แผ่นดินในนาคพิภพของท่านนี้ ในทิสาภาคทั้งปวง มีพื้นอันราบเรียบ เกลื่อนกล่น ไปด้วยทองคำ เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา และทราย.
               บทว่า สมา ได้แก่ แผ่นดินมีพื้นเสมอ.
               บทว่า ปหุตครา มหี ความว่า ประกอบด้วยต้นกฤษณาเป็นอันมาก.
               บทว่า อินฺทโคปกสญฉนฺนา ความว่า ดารดาษไปด้วยหมู่แมลงค่อมทอง.
               บทว่า โสภติ หริตุตฺตมา ความว่า ดารดาษไปด้วยหญ้าแพรก มีสีเขียวชะอุ่มดูงดงาม.
               บทว่า วนเจตฺยานิ ได้แก่ หมู่ไม้ในป่า.
               บทว่า โอปุปฺผปทุมา ความว่า บนหลังน้ำดารดาษไปด้วยดอกปทุมที่ร่วงหล่น.
               บทว่า สุนิมฺมิตา ความว่า สร้างขึ้นด้วยดีด้วยบุญสมบัติของท่าน.
               บทว่า อฏฺฐํสา ความว่า ในปราสาทอันเป็นที่อยู่ของท่าน มีเสาแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ สร้างไว้ดีทั้ง ๘ มุม ปราสาทของท่านมีเสา ๑,๐๐๐ บริบูรณ์รุ่งโรจน์ โชติช่วงด้วยนางนาคกัญญา.
               บทว่า อุปปนฺโนสิ ความว่า ท่านบังเกิดในวิมานเห็นปานนี้.
               บทว่า สหสฺสเนตฺตสฺส วิมานํ ได้แก่ เวชยันตปราสาท.
               บทว่า อิทฺธิ หิ ตยายํ วิปุลา ความว่า เพราะเหตุที่ ฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ไพบูลย์ของท่านนี้ ด้วยอุโบสถกรรมนั้น ท่านจึงไม่ปรารถนา วิมานแม้ของท้าวสักกเทวราช. ข้าพเจ้าสำคัญว่า ท่านปรารถนาตำแหน่งอื่น ยิ่งกว่านั้น.

               พระมหาสัตว์ ครั้นได้ฟังดังนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านอย่าพูดอย่างนั้นเลย. ยศศักดิ์ของเราหากเทียบกับ ยศศักดิ์ของท้าวสักกเทวราชแล้ว นับว่าต่ำมาก ปรากฏเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดใกล้ภูเขาสิเนรุ. พวกเราก็มีค่าไม่ถึง แม้ด้วยคนบำเรอของท่าน ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
               อานุภาพของคนบำรุงบำเรอชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่ในอำนาจของท้าวสักกเทวราชผู้รุ่งเรือง ซึ่งใครๆ ไม่พึงถึงด้วยใจ.


               ความแห่งคำเป็นคาถานั้นมีดังนี้ ดูก่อนพราหมณ์ ใครๆ ไม่พึงถึงด้วยใจ คือแม้ด้วยจิตว่า ชื่อว่า ยศศักดิ์ของท้าวสักกเทวราช จะมีเพียงเท่านี้ คือ ๑-๒-๓-๔ วันเท่านั้น ยศศักดิ์ของสัตว์เดรัจฉานของเรายังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งยศศักดิ์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ดี ของท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ผู้บำรุงบำเรอ เที่ยวทำให้เป็นผู้ใหญ่ผู้นำก็ดี.

               ก็แล ครั้นพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า เราได้ยินท่านพูดว่า นี้เป็นวิมานของท่านผู้มีพระเนตร ตั้ง ๑,๐๐๐ เราก็ระลึกได้เพราะว่า เราปรารถนาเวชยันตปราสาท จึงกระทำอุโบสถกรรม.
               เมื่อจะบอกความปรารถนาของตนแก่พราหมณ์ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               เราปรารถนาวิมานของเทวดาทั้งหลาย ผู้ตั้งอยู่ในความสุขนั้น จึงเข้าจำอุโบสถ อยู่บนจอมปลวก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาย แปลว่า ปรารถนา.
               บทว่า อมรานํ ได้แก่ เทพผู้มีอายุยืนนาน.
               บทว่า สุเขสินํ ได้แก่ ผู้แสวงหาความสุข คือผู้ปรารถนาความสุข.

               พราหมณ์ครั้นได้ฟังดังนั้นแล้ว ถึงความโสมนัสว่า บัดนี้เราได้โอกาสแล้ว เมื่อจะลาไป จึงกล่าว ๒ คาถาว่า
               ข้าพระองค์กับทั้งบุตร เข้าไปสู่ป่าแสวงหามฤค มานานวัน. พวกญาติทางบ้านเหล่านั้นไม่รู้ว่าข้าพระองค์ตาย หรือเป็น. ข้าพระองค์จะขอทูลลา พระภูริทัตผู้ทรงยศเป็นโอรสแห่งกษัตริย์กาสี กลับไปยังมนุษยโลก. พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ข้าพระองค์ก็จะไปเยี่ยมหมู่ญาติ พระเจ้าข้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาภิเวเทนฺติ แปลว่า ย่อมไม่รู้ความว่า แม้เมื่อกล่าวถึงพวกเขาเหล่านั้น ก็ไม่มีใครรู้เลย.
               บทว่า มิคเมสาโน ตัดเป็น มิคํ เอสาโน แปลว่า ผู้แสวงหามฤค.
               บทว่า อามนฺตเย แปลว่า ข้าพระองค์ขอทูลลา.
               บทว่า กาสิปุตฺตํ ได้แก่ เป็นโอรสแห่งราชธิดาของกษัตริย์กาสี.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าว ๒ คาถาว่า
               การที่ท่านได้มาอยู่ในสำนักของเรานี้ เป็นความพอใจของเราหนอ แต่ว่ากามารมณ์เช่นนี้ เป็นของไม่ได้ง่ายในมนุษย์. ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะอยู่ เราจะบูชาท่านด้วยกามารมณ์ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ท่านไปเยี่ยมญาติได้โดยสวัสดี.


               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ ครั้นกล่าว ๒ คาถาแล้ว จึงคิดว่า พราหมณ์นี้ เมื่อได้อาศัยเราเลี้ยงชีพเป็นสุข คงจะไม่บอกแก่ใครๆ เราจักให้แก้วมณีอันให้ความใคร่ทุกอย่างแก่พราหมณ์นี้.
               ลำดับนั้น เมื่อจะให้แก้วมณีแก่พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงรับเอาทิพยมณีนี้ไป เมื่อท่านทรงทิพยมณีนี้ไป จะต้องการปศุสัตว์ก็ดี บุตรก็ดี หรือปรารถนาอะไรอื่นก็ดี ก็จะได้สมประสงค์ทุกประการ ท่านจงปราศจากโรคภัยเป็นสุขเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสุ ปุตฺเต จ วินฺทสิ ความว่า เมื่อท่านทรงแก้วมณีนี้ ด้วยอานุภาพของแก้วมณีนี้. ท่านย่อมได้ สิ่งที่ท่านปรารถนาทั้งหมด คือจะเป็นปศุสัตว์ บุตร และสิ่งอื่นก็จะได้สมประสงค์.

               ลำดับนั้น พราหมณ์จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์หาโทษมิได้ ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก ข้าพระองค์แก่แล้วจักบวช ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย.


               คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนภูริทัต พระดำรัสของท่านเป็นกุศล ไม่มีโทษ. ข้าพระองค์ยินดีพระดำรัสนั้นยิ่งนักไม่ปฏิเสธ. แต่ข้าพระองค์แก่แล้ว เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จักบวช.
               บทว่า น กาเม อภิปตฺถเย ความว่า ข้าพระองค์ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย ข้าพระองค์จะประโยชน์อะไรด้วยแก้วมณี.

               พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
               หากว่าพรหมจรรย์มีการต้องละเลิกไซร้ กิจที่พึงทำด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายเกิดขึ้น. ท่านอย่าได้มีความหวั่นใจเลยควรมาหาเรา เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมากๆ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เจ ภงฺโค ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ชื่อว่าการอยู่พรหมจรรย์ เป็นการทำได้ยากยิ่ง. ถ้าหากในกาลใด พรหมจรรย์ที่เราไม่ยินดี มีการต้องละเลิก. ในกาลนั้น กิจที่ต้องทำด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลาย ของผู้เป็นคฤหัสถ์มีอยู่. ในกาลเช่นนี้ ท่านอย่าได้หวาดหวั่นใจไปเลย ควรมาสำนักเรา เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมากๆ.

               พราหมณ์กล่าวว่า
               ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์หาโทษมิได้. ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก ข้าพระองค์จะกลับมาอีก ถ้าจักมีความต้องการ.


               ศัพท์ว่า ปุนาปิ ในคาถานั้นแก้เป็นปุนปิ. อนึ่ง นี้ก็เป็นบาลีเช่นกัน
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์รู้ว่า พราหมณ์นั้นไม่ปรารถนาจะอยู่ในที่นั้น จึงให้เรียกนาคมาณพทั้งหลายมา แล้วส่งไปว่า พวกท่านจงนำพราหมณ์ไปให้ถึงมนุษย์โลก.

               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
               พระภูริทัตตรัสดำรัสนี้แล้ว จึงใช้ให้นาคมาณพ ๔ ตนไปส่งว่า ท่านทั้งหลายจงมา เตรียมตัวพา พราหมณ์ไปส่งให้ถึงโดยเร็ว. นาคมาณพทั้ง ๔ ตนที่ภูริทัตตรัสใช้ให้ไปส่ง ฟังรับสั่งของภูริทัต เตรียมตัวแล้วพาพราหมณ์ไปส่งให้ถึงโดยเร็ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเปสุ ความว่า นาคมาณพทั้ง ๔ ขึ้นจากแม่น้ำยมุนา ส่งให้ถึงทางไปกรุงพาราณสี. ก็แลครั้นส่งให้ถึงแล้วจึงกล่าวว่า ไปเถิดท่าน ดังนี้แล้วก็กลับมายังนาคพิภพตามเดิม.

               ฝ่ายพราหมณ์ เมื่อบอกแก่บุตรว่า ดูก่อนพ่อโสมทัต เรายิงมฤคในที่นี้ สุกรในที่นี้. ดังนี้แล้วจึงเดินไป เห็นสระโบกขรณีในระหว่างทางแล้ว กล่าวว่า พ่อโสมทัต อาบน้ำกันเถิด. เมื่อท่านโสมทัตกล่าวว่า ดีละพ่อ ทั้งสองคนจึงเปลื้องเครื่องอาภรณ์อันเป็นทิพย์ และผ้าทิพย์ แล้วห่อวางไว้ริมฝั่งสระโบกขรณีแล้วลงไปอาบน้ำ. ขณะนั้น เครื่องอาภรณ์และผ้าทิพย์เหล่านั้น ได้หายไปยังนาคพิภพตามเดิม ผ้านุ่งห่มผืนเก่า กลับสวมใส่ในร่างของคนทั้งสองนั้นก่อน แม้ธนูศรและหอกได้ปรากฏตามเดิม. ฝ่ายท่านโสมทัตร้องว่า ท่านทำเราให้ฉิบหายแล้วพ่อ. ลำดับนั้น บิดาจึงปลอบท่าน โสมทัตว่า อย่าวิตกไปเลยลูกพ่อ. เมื่อมฤคมีอยู่เราฆ่ามฤคในป่าเลี้ยงชีวิต. มารดาท่านโสมทัตทราบการมาของคนทั้งสอง. จึงต้อนรับนำไปสู่เรือน จัดข้าวน้ำเลี้ยง ดูให้อิ่มหนำสำราญ. พราหมณ์บริโภคอาหารเสร็จแล้วก็หลับไป. ฝ่ายนางจึงถามบุตรว่า พ่อโสมทัต ทั้ง ๒ คนหายไปไหนมานานจนถึงป่านนี้. โสมทัตตอบว่า ข้าแต่แม่ พระภูริทัตนาคราชพาข้ากับบิดาไปยังนาคพิภพ เพราะเหตุนั้น เราทั้งสองคิดถึงแม่ จึงกลับมาถึงบัดนี้. มารดาถามว่า ได้แก้วแหวนอะไรๆ มาบ้างเล่า. โสมทัตตอบว่า ไม่ได้มาเลยแม่. มารดาถามว่า ทำไมพระภูริทัตไม่ให้อะไรบ้างหรือ. โสมทัตตอบว่า พระภูริทัตให้แก้วสารพัดนึกแก่พ่อ พ่อไม่รับเอามา. มารดาถามว่า เหตุไรพ่อเจ้าจึงไม่รับ. โสมทัตตอบว่า ข้าแต่แม่ ข่าวว่าพ่อจักบวช. นางพราหมณีนั้นโกรธว่า บิดาทิ้งทารกให้เป็นภาระแก่เรา ตลอดกาลประมาณเท่านี้ ไปอยู่เสียในนาคพิภพ ข่าวว่าเดี๋ยวนี้จะบวช. ดังนี้แล้วจึงตีหลังพราหมณ์ด้วยพลั่วสาดข้าว. แล้วขู่คำรามว่า อ้ายพราหมณ์ผู้ชั่วร้าย ข่าวว่าจักบวช. ภูริทัตให้แก้วมณีก็ไม่รับ ทำไมไม่บวช กลับมาที่นี้ทำไมอีกเล่า จงรีบออกไปให้พ้นเรือนกู. ลำดับนั้น พราหมณ์จึงปลอบนางพราหมณีว่า เจ้าอย่าโกรธข้าเลย. เมื่อมฤคในป่ายังมีอยู่ข้าจะไปฆ่ามาเลี้ยงเจ้า. ดังนี้แล้วก็จากที่นั้นไปป่าพร้อมด้วยบุตร หาเลี้ยงชีวิตโดยทำนองในก่อนแล.
               จบเนสาทกัณฑ์

               ในกาลนั้น ยังมีครุฑตนหนึ่ง อยู่ที่ต้นงิ้ว ทางมหาสมุทรภาคใต้ กระพือลมปีก แหวกน้ำในมหาสมุทรลงไป จับศีรษะนาคราชได้ตัวหนึ่ง. แท้จริงในกาลนั้น ครุฑทั้งหลาย ยังไม่รู้จักวิธีจับนาค ครั้นภายหลัง จึงรู้จักวิธีจับนาคอย่างในปัณฑรกชาดก(๑. ขุ. ชา. ๒๗/๒๓๘๗). แต่ครุฑตัวนั้น เมื่อจับนาคทางศีรษะ ยังไม่ทันน้ำจะท่วมมาถึง ก็หิ้วนาคขึ้นได้ ปล่อยให้นาคห้อยหางลง พาบินไปเบื้องบนป่าหิมพานต์. ก็ในกาลนั้นมีพราหมณ์ชาวกาสิกรัฐผู้หนึ่ง ออกบวชเป็นฤาษี สร้างบรรณศาลาอาศัย อยู่ในหิมวันตประเทศ. ที่สุดจงกรมของฤาษีนั้น มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง. ฤาษีนั้นทำที่พักผ่อนหย่อนใจ ในกลางวันที่โคนต้นไทรนั้น ครุฑหิ้วนาคผ่านไปถึงตรงยอดไทร. นาคปล่อยหางห้อยอยู่ก็เอาหางพันคาคบ ต้นไทรด้วยหมายใจจะให้พ้น. ครุฑมิทันรู้ก็รีบไปทางอากาศ เพราะมันมีกำลังมาก. ต้นไทรพร้อมทั้งรากติดหางนาคไปด้วย. เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้ว ก็จิกด้วยจะงอยปาก ฉีกท้องนาคกินมันเหลวของนาค. ทิ้งร่างลงไปในท้องมหาสมุทร ต้นไทรก็ตกลงเสียงดังสนั่นหวั่นไหว. ครุฑสงสัยว่า เสียงอะไร ก็มองไปดูเบื้องต่ำ แลเห็นต้นไทร. จึงคิดในใจว่า ต้นไทรนี้เราถอนมาแต่ไหน ก็นึกได้โดยถ่องแท้ว่า ต้นไทรนั้นอยู่ท้ายที่จงกรมของพระดาบส. ตัวเราจะปรากฏว่า ทำอกุศลหรือไม่หนอ เราจักไปถามดาบสนั้นดูก็จะรู้ได้. ดังนี้แล้วก็แปลงเพศ เป็นมาณพน้อยไปสู่สำนักพระดาบส. ขณะนั้นพระดาบสกำลังทำที่นั้นให้สม่ำเสมอ. พระยาสุบรรณไหว้พระดาบสแล้วก็นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ทำทีประหนึ่งว่า ไม่รู้แกล้งถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่อยู่ของอะไร. ดาบสตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สุบรรณตนหนึ่งนำนาคมา เพื่อเป็นภักษาหาร. เมื่อนาคเอาหางพัน คาคบต้นไทรด้วยหมายจะให้พ้น สุบรรณนั้นมิทันรู้บินไปโดยเร็ว เพราะความที่ตนมีกำลังมาก. เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นไม้ในที่นี้ ก็ถูกถอนขึ้นทันที ที่ตรงนี้แหละเป็นที่แห่งต้นไทรนั้นถอนขึ้น. สุบรรณถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อกุศลกรรมจะมีแก่สุบรรณหรือไม่. ดาบสตอบว่า ถ้าหากว่า สุบรรณนั้นไม่รู้อกุศลกรรมก็ไม่มี เพราะไม่มีเจตนา. สุบรรณถามว่า ก็อกุศลกรรมจะมีแก่นาคนั้นหรือไม่เล่าเจ้าข้า. ดาบสตอบว่า นาคก็มิได้จับเหนี่ยวไว้เพื่อจะให้ต้นไทรเสียหาย จับเหนี่ยวไว้เพื่อจะให้พ้นภัย เพราะเหตุนั้นอกุศลกรรมก็ไม่มีแก่นาคแม้นั้นเหมือนกัน.
               สุบรรณได้ฟังคำของดาบสก็ยินดีจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้แหละ คือสุบรรณนั้น. ข้าพเจ้ายินดีด้วยพระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหา ข้าพเจ้ารู้มนต์ชื่อว่า อาลัมพายน์ บทหนึ่งหาค่ามิได้. ข้าพเจ้าจะถวายมนต์นั้นแก่พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นส่วนบูชาอาจารย์. พระผู้เป็นเจ้าจงรับไว้เถิด. ดาบสกล่าวว่า พอละ เราไม่ต้องการด้วยมนต์ ท่านจงไปเถิด. สุบรรณวิงวอนอยู่บ่อยๆ จนพระดาบสรับแล้วจึงถวายมนต์. แล้วบอกยาแก่ดาบสแล้วก็หลีกไป.
               จบครุฑกัณฑ์

               ในกาลนั้น ยังมีพราหมณ์คนหนึ่งในกรุงพาราณสี กู้ยืมหนี้สินไว้มากมาย ถูกเจ้าหนี้ทั้งหลายทวงถามก็คิดว่า เราจะอยู่ในเมืองนี้ไปทำไมอีก เข้าไปตายเสียในป่ายังประเสริฐกว่า. ดังนี้แล้วจึงออกจากบ้านเข้าไปในป่า จึงบรรลุถึงอาศรมแห่งพระฤาษี ปฏิบัติพระดาบสให้ยินดีด้วยวัตตสัมปทาคุณ. พระดาบสคิดว่า พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีอุปการะแก่เรายิ่งนัก เราจักให้ทิพยมนต์ ซึ่งสุบรรณราชให้เราไว้แก่พราหมณ์ผู้นี้ ดังนี้แล้วก็บอกพราหมณ์ว่า ดูก่อนพราหมณ์ เรารู้มนต์ชื่อว่า อาลัมพายน์ จักให้มนต์นั้นแก่ท่าน ท่านจงเรียนมนต์นั้นไว้. แม้เมื่อพราหมณ์นั้นห้ามว่า อย่าเลย ข้าพเจ้าไม่ต้องการมนต์ ก็อ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า จนพราหมณ์รับถ้อยคำ แล้วจึงให้มนต์ และบอกยาอันประกอบกับมนต์และอุปจารแห่งมนต์. พราหมณ์นั้นคิดว่า เราได้อุบายที่จะเลี้ยงชีพแล้ว ก็พักอยู่ ๒-๓ วัน แล้วอ้างเหตุว่า โรคลมเบียดเบียน จนพระดาบสยอมปล่อยไป. จึงกราบไหว้พระดาบส ขอขมาโทษแล้วก็ออกจากป่าไป จนถึงฝั่งแม่น้ำยมุนาโดยลำดับ. เดินสาธยายมนต์นั้นไปตามหนทางใหญ่.
               ขณะนั้น นางนาคมาณวิกาบาทบริจาริกาของพระภูริทัต ประมาณ ๑,๐๐๐ ตน ต่างถือเอาแก้วมณีที่ให้ ความปรารถนาทุกอย่างนั้น ออกจากนาคพิภพ แล้ววางแก้วนั้นไว้บนกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา แล้วพากันเล่นน้ำตลอดคืน ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณีนั้น. ครั้นอรุณขึ้น จึงพากันตกแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง นั่งล้อมแก้วมณีให้สิริเข้าสู่กาย. ฝ่ายพราหมณ์ก็เดินสาธยายมนต์มาถึงที่นั้น เหล่านางนาคมาณวิกาได้ยินเสียงมนต์ สำคัญว่า เสียงพราหมณ์นั้นเป็นสุบรรณ ก็สะดุ้งกลัวเพราะมรณภัย ไม่ทันหยิบแก้วมณี ก็พากันแทรกปฐพีไปยังนาคพิภพ. พราหมณ์เห็นแก้วมณีก็ดีใจว่า มนต์ของเราสำเร็จผลเดี๋ยวนี้แล้ว ก็หยิบเอาแก้วมณีนั้นไป.
               ขณะนั้น พราหมณ์เนสาท พร้อมโสมทัต เข้าไปสู่ป่า เพื่อล่าเนื้อ เห็นแก้วมณีนั้น ในมือของพราหมณ์นั้น. จึงกล่าวกะบุตรว่า ดูก่อนโสมทัต แก้วมณีดวงนี้ ที่พระภูริทัตให้แก่เรา มิใช่หรือ.
               โสมทัต. ใช่แล้วพ่อ
               บิดา. ถ้าเช่นนั้นเราจะกล่าวโทษแก้วมณีดวงนั้น หลอกพราหมณ์เอาแก้วมณีนี้เสีย.
               โสมทัต. ข้าแต่พ่อ เมื่อพระภูริทัตให้ครั้งก่อนพ่อไม่รับ แต่บัดนี้ กลับจะไปหลอกพราหมณ์เล่า นิ่งเสียเถิด.
               พราหมณ์เนสาทจึงกล่าวว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อน เจ้าคอยดู เราหลอกตานั่นเถิด. ว่าแล้วเมื่อจะปราศรัยกับอาลัมพายน์ จึงกล่าวว่า
               แก้วมณีที่สมมติว่าเป็นมงคล เป็นของดี เป็นเครื่องปลื้มรื่นรมย์ใจเกิดแต่หิน สมบูรณ์ด้วยลักษณะที่ท่านถืออยู่นี้ ใครได้มาไว้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มงฺคลฺยํ ความว่า แก้วมณีที่สมมติว่า เป็นมงคล ให้ซึ่งสมบัติอันน่าใคร่ทั้งปวง.

               ลำดับนั้น อาลัมพายน์กล่าวคาถาว่า
               แก้วมณีนี้ พวกนางนาคมาณวิกาประมาณ ๑,๐๐๐ ตน ล้วนมีตาแดงแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในกาลวันนี้ เราเดินทางไปได้แก้วมณีนั้นมา.


               คำเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า
               วันนี้เราเดินไปตามทาง แต่เวลาเช้าตรู่ เดินไปตามหนทางใหญ่ได้พบแก้วมณี แวดล้อมโดยรอบ ด้วยนางนาคมาณวิกา ผู้มีตาแดงประมาณ ๑,๐๐๐ ตน. ก็นางนาคมาณวิกาทั้งหมดนั้นเห็นเราเข้า สะดุ้งตกใจแล้ว พากันทิ้งแก้วมณีนี้หนีไป.

               พราหมณ์เนสาทประสงค์จะลวงอาลัมพายน์นั้น จึงประกาศโทษแห่งแก้วมณี ประสงค์จะยึดเอาเป็นของตน จึงกล่าวคาถาว่า
               แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่สั่งสมมาได้ด้วยดี อันบุคคลเคารพบูชา ประดับประดา เก็บรักษาไว้ดี ทุกเมื่อยังประโยชน์ทั้งปวงให้สำเร็จได้. เมื่อบุคคลปราศจาก การระวังในการเก็บรักษา หรือในการประดับประดา แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่บุคคลหามาได้โดยไม่แยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ คนผู้ไม่มีกุศล ไม่ควรประดับแก้วมณี อันเป็นทิพย์นี้. เราจักให้ทองคำร้อยแท่ง. ขอท่านจงให้แก้วมณีนี้แก่เราเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพตฺถํ ความว่า ผู้ใดจักเก็บประดับ สั่งสมแก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ คือทรงไว้เก็บไว้ด้วยดี โดยยึดถือว่าของๆ เรา เหมือนชีวิตของตน อันผู้นั้นนั่นเก็บสั่งสมด้วยดี บูชาทรงไว้ เก็บรักษาไว้ด้วยดี ย่อมยังประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จ.
               บทว่า อุปจารวิปนฺนสฺส ความว่า ก็บุคคลผู้ปราศจากการเก็บรักษาไว้ โดยอุบายอันไม่แยบคาย ท่านกล่าวว่า ย่อมนำมาแต่ความพินาศเท่านั้น.
               บทว่า ธาเรตุมารโห แปลว่า ไม่ควรเพื่อจะประดับประดา.
               บทว่า ปฏิปชฺช สตํ นิกฺขํ ความว่า พวกเรารู้เพื่อจะเก็บแก้วมณี ไว้ให้มากในเรือนของเรา. เราจะให้แท่งทอง ๑๐๐ แท่งแก่ท่าน ท่านจงปกครองแท่งทองนั้น แล้วจงให้แก้วมณีแก่เรา. แม้แท่งทองในเรือนของท่าน เพียงแท่งเดียวก็ไม่มี. ผู้นั้นย่อมรู้ว่า แก้วมณีนั้นให้สิ่งสารพัดนึก เราจะอาบน้ำดำศีรษะแล้ว เอาน้ำประพรมแก้วมณี จึงกล่าวว่า ท่านจงให้แท่งทอง ๑๐๐ แท่งแก่เรา. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักให้แก้วมณีที่ปรากฏว่า เป็นของเราแก่ท่าน เพราะเหตุนั้นผู้กล้าหาญจึงกล่าวอย่างนี้.

               ลำดับนั้น อาลัมพายน์ กล่าวคาถาว่า
               แก้วมณีของเรานี้ ไม่ควรแลกเปลี่ยน ด้วยโคหรือรัตนะ เพราะแก้วมณีอันเกิดแต่หิน บริบูรณ์ด้วยลักษณะเราจึงไม่ขาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนวมายํ ความว่า แก้วมณีของเรานี้ชื่อว่า ควรแลกเปลี่ยนด้วยวัตถุอะไร.
               บทว่า เนว เกยฺโย ความว่า และแก้วมณีของเรานี้ สมบูรณ์ด้วยลักษณะชื่อว่า เป็นของไม่ควรซื้อและควรขาย ด้วยวัตถุอะไรๆ.

               พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า
               ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะแลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร.
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เรา.
               อาลัมพายน์กล่าวว่า
               ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดช ยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้ เราจะให้แก้วมณีอันเกิดแต่หิน อันรุ่งเรืองด้วยรัศมี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชลนฺตริว เตชสา แปลว่า เหมือนรุ่งเรืองด้วยรัศมี

               พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า
               ครุฑผู้ประเสริฐหรือใครหนอ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค ประสงค์จะนำไปเป็นอาหารของตน.


               คำว่า โก นุ นี้ในคาถานั้น พราหมณ์เนสาทคิดว่า ชะรอยว่าผู้นั้นเป็นครุฑติดตามอาหารของตน จึงกล่าวอย่างนั้น

               อาลัมพายน์กล่าวว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ เรามิได้เป็นครุฑ เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า เป็นหมองู.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มํ วิทู ความว่า ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า ผู้นี้เป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ เป็นหมองู ชื่อว่า อาลัมพายน์.

               พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า
               ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปอะไร ท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผลอันพิเศษในอะไร จึงไม่ยำเกรงนาค.


               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยคำว่า กิสฺมึ วา ตฺวํ ปรตฺถทฺโธ ท่านถามว่า ท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผลอันพิเศษในอะไร กระทำอะไรให้เป็นที่อาศัย จึงไม่ยำเกรงนาค คืออสรพิษ คือดูหมิ่น ไม่ทำความยำเกรง ให้เป็นผู้ประเสริฐ.

               อาลัมพายน์นั้น เมื่อแสดงกำลังของตน จึงกล่าวว่า
               ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างสูงแก่ฤาษีโกสิยโคตร ผู้อยู่ในป่าประพฤติตบะอยู่สิ้นกาลนาน. เราเข้าไปหาฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งนับเข้าในพวกฤาษีผู้บำเพ็ญตน อาศัยอยู่ในระหว่างภูเขา ได้บำรุงท่านโดยเคารพ มิได้เกียจคร้าน ทั้งกลางคืนกลางวัน. ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์ เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก. เราทรงไว้ซึ่งผลอันวิเศษในมนต์นั้น จึงไม่กลัวต่อนาค เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอผู้ฆ่าอสรพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า อาลัมพายน์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกสิยสฺสกฺขา ความว่า ครุฑมาบอกแก่ ฤาษีโกสิยโคตร ก็เหตุที่ครุฑนั้นบอกทั้งหมดพึงกล่าวให้พิศดาร.
               บทว่า ภาวิตตฺตญฺญตรํ ความว่า เราเข้าไปหาฤาษีตนหนึ่ง บรรดาผู้บำเพ็ญตน.
               บทว่า สมฺมนฺตํ แปลว่า อาศัยอยู่.
               บทว่า กามสา ได้แก่ ด้วยความปรารถนาของตน.
               บทว่า มนํ ความว่า ย่อมประกาศมนต์นั้นแก่เรา.
               บทว่า ตฺยาหํ มนฺเต ปรตฺถทฺโธ ความว่า เราทรงไว้ซึ่งผลอันวิเศษ คืออาศัยมนต์เหล่านั้น.
               บทว่า โภคินํ ได้แก่ นาคทั้งหลาย.
               บทว่า วิสฆาฏานํ ความว่า เป็นอาจารย์ของพวกหมอฆ่าอสรพิษ.

               พราหมณ์เนสาทได้ฟังดังนั้นแล้วจึงคิดว่า อาลัมพายน์นี้ให้แก้วมณีแก่บุคคล ผู้แสดงที่อยู่ของพระภูริทัตแก่เขา. ครั้นแสดงพระภูริทัตแก่เขาแล้ว จึงจักรับเอาแก้วมณี.
               แต่นั้นเมื่อจะปรึกษากับบุตร จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนลูกโสมทัต เราควรรับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงรู้ไว้ เราอย่าละสิริ อันมาถึงตนด้วยท่อนไม้ตามชอบใจสิ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คณฺหามฺหเส แปลว่า ควรรับเอา.
               บทว่า กามสา ความว่า อย่าตีด้วยท่อนไม้แล้ว ละสิริตามชอบใจของตน.

               โสมทัตกล่าวว่า
               ข้าแต่พ่อผู้เป็นพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน. เพราะเหตุไร คุณพ่อจะปรารถนาประทุษร้าย ต่อผู้กระทำดี เพราะความหลงอย่างนี้. ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้. คุณพ่อไปขอท่านเถิด ภูริทัตนาคราชคงจักให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปูชยิ ความว่า บูชาแล้วด้วยกามอันเป็นทิพย์.
               บทว่า ทุพฺภิมิจฺฉสิ ความว่า ดูก่อนพ่อ ท่านปรารถนาเพื่อกระทำกรรม คือการประทุษร้ายต่อมิตร เห็นปานนั้นหรือ.

               พราหมณ์กล่าวว่า
               ดูก่อนโสมทัต การกินของที่ถึงมือ ที่อยู่ในภาชนะ หรือที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เป็นความประเสริฐ. ประโยชน์ที่อยู่เบื้องหน้าเรา อย่าได้ล่วงเราไปเสียเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถคตํ ความว่า ดูก่อนพ่อโสมทัต ท่านเป็นหนุ่มไม่รู้ความเป็นไปของโลกอะไร เพราะจะเคี้ยวกินสิ่งที่อยู่ในมือ อยู่ในบาตร หรือที่ตั้งเก็บไว้ตรงหน้านั้น นั่นแลประเสริฐ คือตั้งอยู่ในที่ไม่ไกล

               โสมทัตกล่าวว่า
               คนประทุษร้ายต่อมิตร สละความเกื้อกูล จะตกหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง. แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือเมื่อผู้นั้นมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด. ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้. ลูกเข้าใจว่า คุณพ่อจักต้องประสบเวรที่ตนทำไว้ในไม่ช้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหิมสฺส วินฺทฺรียติ ความว่า ดูก่อนพ่อ ปฐพีย่อมแยกให้ช่องแก่ผู้ประทุษร้ายต่อมิตร ทั้งที่ยังเป็นอยู่นั่นแล.
               บทว่า หิตจฺจาคี ได้แก่ ผู้สละประโยชน์เกื้อกูลของตน.
               บทว่า ชีวเร วาปิ สุสฺสติ ความว่า ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็ย่อมซูบซีดเป็นมนุษย์ เพียงดังเปรต ฉะนั้น.
               บทว่า อตฺตกตํ เวรํ ได้แก่ บาปที่ตนทำ.
               บทว่า น จิรํ ความว่า ลูกเข้าใจว่า ไม่นานเขาจักประสบเวร.

               พราหมณ์กล่าวว่า
               พราหมณ์ทั้งหลายบูชามหายัญแล้ว ย่อมบริสุทธิ์ได้ เราจักบูชามหายัญ ก็จักพ้นจากบาป ด้วยการบูชายัญอย่างนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สุชฺฌนฺติ แสดงว่า ลูกโสมทัต ลูกยังเป็นหนุ่มไม่รู้อะไร ธรรมดาว่า พราหมณ์ทั้งหลาย ครั้นกระทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยยัญ จึงได้กล่าวอย่างนี้

               โสมทัตกล่าวว่า
               เชิญเถิด ลูกจะขอแยกไป ณ บัดนี้ วันนี้ลูกจะไม่ขออยู่ร่วมกับคุณพ่อ จะไม่ขอเดินทางร่วมกับคุณพ่อ ผู้ทำกรรมหยาบอย่างนี้สักก้าวเดียว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปายามิ ความว่า เชิญเถิด ลูกจะขอแยกไป คือหนีไป. ก็แลบัณฑิตมาณพ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อไม่อาจให้ บิดาเชื่อฟังคำของตน จึงโพนทนาให้เทวดาทราบ ด้วยเสียงอันดังว่า ข้าพเจ้าจะไม่ไปกับคนทำบาปเห็นปานนี้ละ. ครั้นประกาศแล้ว ก็หนีไปทั้งๆ ที่บิดาเห็นอยู่นั่นแลเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว มิให้เสื่อมฌานแล้วเกิดในพรหมโลก.

               เมื่อพระศาสดาจะประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
               โสมทัตผู้ได้ยินได้ฟังมามาก ได้กล่าวคำนี้กะบิดาแล้ว ได้ประกาศให้เทวดาทั้งหลายทราบแล้ว ก็ได้หลีกไปจากที่นั้น.

               จบโสมทัตกัณฑ์

.. อรรถกถา ภูริทัตชาดก ว่าด้วย พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 775 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=4328&Z=4760
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :