ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 52 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 90 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา โสณกชาดก
ว่าด้วย เรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               เมื่อจะทรงประกาศความที่พระองค์มีพระทัยน้อมไปในกาม จึงตรัสว่า

               ข้าแต่ภิกษุ ท่านสรรเสริญความเจริญเป็นอันมากของภิกษุเหล่านั้น ส่วนข้าพเจ้ายังกำหนัดในกามทั้งหลาย จะทำอย่างไร กามทั้งหลายที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ เป็นที่รักของข้าพเจ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักได้โลกทั้งสองด้วยเหตุไรหนอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วณเณน ได้แก่ เหตุ.

               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงทูลกะพระราชานั้นว่า
               นรชนผู้กำหนัดในกาม ยินดีในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม กระทำบาปกรรมแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ
               ส่วนนรชนเหล่าใด ละกามทั้งหลายออกไปแล้ว เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ไหนๆ ย่อมบรรลุถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเกิดขึ้น นรชนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
               ดูก่อนพระเจ้าอรินทมะ อาตมภาพจักแสดงอุปมาถวายมหาบพิตร ขอมหาบพิตรจงทรงสดับข้ออุปมานั้น บัณฑิตบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยข้ออุปมา มีกาตัวหนึ่งเป็นสัตว์มีปัญญาน้อย ไม่มีความคิด เห็นซากศพช้างลอยอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ในแม่น้ำคงคา จึงคิดว่า เราได้ยานนี้แล้วหนอ และซากศพช้างนี้จักเป็นอาหารจำนวนมิใช่น้อย ใจของกาตัวนั้นยินดีแล้วในซากศพช้างนั้น ตลอดทั้งคืนทั้งวัน
               เมื่อกาจิกกินเนื้อช้าง ดื่มน้ำมีรสเหมาะส่วน เห็นต้นไม้อันใหญ่ในป่า ก็ไม่ย่อมบินไป แม่น้ำคงคามีปกติไหลลงสู่มหาสมุทร พัดเอากาตัวนั้นตัวประมาท ยินดีในซากศพช้างไปสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นที่ไปไม่ได้แห่งนกทั้งหลาย
               กานั้นหมดอาหารแล้ว ตกลงในน้ำไปข้างหลัง ข้างหน้า ข้างซ้าย ข้างขวาไม่ได้ ไปไม่ถึงเกาะ สิ้นกำลังจมลงในท่ามกลางทะเล อันเป็นที่ไปไม่ได้แห่งนกทั้งหลาย
               ฝูงปลา จระเข้ มังกร และปลาร้ายที่เกิดในมหาสมุทร ก็ข่มเหงรุมกินกานั้นตัวมีปีกอันใช้การไม่ได้ดิ้นรนอยู่ ฉันใด
               ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ก็ดี ชนเหล่าอื่นผู้ยังบริโภคก็ดี ถ้ายังกำหนัดในกามอยู่ ไม่ละทิ้งกามเสีย นักปราชญ์ทั้งหลายรู้ว่า ชนเหล่านั้นเป็นอยู่ด้วยปัญญาเสมอกับกา ฉันนั้นเหมือนกันแล
               ดูก่อนมหาบพิตร อุปมาข้อนี้ อาตมภาพแสดงอรรถอย่างชัดแจ้ง ถวายมหาบพิตรแล้ว พระองค์จักทรงทำหรือไม่ ก็จะปรากฏด้วยเหตุนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาปานิ ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์และนรชนทั้งหลายผู้ยินดีในการอาศัยกามทั้งหลาย ทำแต่บาปกรรม มีการประพฤติชั่วด้วยกายเป็นต้น ย่อมเข้าถึงทุคติ เพราะกามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ แลเป็นของมนุษย์ ย่อมไม่ได้แม้ในความฝัน. บทว่า ปหนตวาน ได้แก่ ละกามเสียได้ ดุจบ้วนก้อนเขฬะทิ้งฉะนั้น. บทว่า อกุโตภยา ได้แก่ ไม่มีภัยมาจากที่ไหนๆ ในบรรดากิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า เอโกทิภาวาชิคตา ได้แก่ ถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือความเป็นผู้มีธรรม เครื่องอยู่อย่างเอก. บทว่า น เต ความว่า บุคคลเหล่านั้น คือบรรพชิตเหล่านี้ ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ.
               บทว่า อุปมนฺเต ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจักทำการเปรียบเทียบสักตัวอย่างหนึ่ง ถวายแด่พระองค์ผู้มีความปรารถนาในกามที่เป็นทิพย์ และเป็นของมนุษย์ ที่ไม่ต่างอะไรกับกาตัวมีใจผูกพันอยู่ในซากศพช้าง ฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงสดับข้ออุปมานั้นเถิด.
               บทว่า กุณปํ แปลว่า ซากศพของช้าง.
               บทว่า มหณฺณเว ได้แก่ ในน้ำทั้งลึกทั้งกว้าง.
               คำว่า กุณปํ นั้นท่านกล่าวหมายถึงว่า มีช้างใหญ่ตัวหนึ่งเที่ยวอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคา ตกลงไปในแม่น้ำคงคา ไม่สามารถจะขึ้นได้ ถูกกระแสแม่น้ำพัด ตายไปในแม่น้ำนั้นนั่นแล.
               บทว่า วายโส ได้แก่ มีกาตัวหนึ่งบินมาโดยอากาศ.
               บทว่า ยานณฺจ วติทํ ความว่า กาตัวนั้น ครั้นคิดดีอย่างนี้แล้ว จึงจับอยู่ที่ศพช้างนั้น ได้กระทำความตกลงใจว่า เราได้ยาน คือช้างนี้ แล้วเราจับอยู่บนยาน คือช้างนี้ จักเที่ยวไปได้อย่างสบาย อนึ่ง ช้างนี้แหละจักเป็นอาหารได้อย่างมากมาย บัดนี้เราไม่ควรที่จะไปในที่อื่น.
               บทว่า ตตฺถ รตฺตึ ความว่า กาตัวนั้นมีใจยินดียิ่งในศพช้างนั้นนั่นแล ตลอดทั้งคืนและวัน. บทว่า น ปเลตฺถ ความว่า กาตัวนั้น ไม่ยอมบินหลีกไป.
               บทว่า โอตรณี ได้แก่ แม่น้ำคงคานั้นมีปกติไหลลงสู่มหาสมุทร.
               บาลีว่า โอหาริณี ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า แม่น้ำคงคามีปกติไหลลงพัดพาเอากานั้นไปสู่มหาสมุทร.
               บทว่า อคติ ยตฺถ นั้น ท่านกล่าวหมายถึงท่ามกลางมหาสมุทร.
               บทว่า ภกฺขปริกฺขีโณ ได้แก่ หมดอาหาร.
               บทว่า อุปฺปติตฺวา ความว่า เมื่อหนังและเนื้อของช้างนั้นหมดไปแล้ว โครงกระดูกก็ถูกกำลังคลื่นพัดจนหักจมลงในน้ำ.
               อธิบายว่า ลำดับนั้น กาตัวนั้น เมื่อไม่สามารถจะอยู่ในน้ำได้ จึงกระโดดบินขึ้นไป ครั้นบินไปอย่างนี้แล้ว.
               บทว่า อคติ ยตฺถ ปกขินํ ความว่า ก็กาตัวนั้นบินไปยังทิศประจิม เมื่อไม่ได้ที่จับในทิศนั้น บินจากทิศประจิมนั้นไปยังทิศบูรพา บินจากทิศบูรพานั้นไปยังทิศอุดร บินจากทิศอุดรนั้นไปยังทิศทักษิณ บินไปยังทิศทั้ง ๔ ด้วยอาการอย่างนี้ ก็ยังไม่บรรลุถึงที่สำหรับจับของตนในท่ามกลางมหาสมุทร อันเป็นสถานที่ไปไม่ถึงแห่งพวกนกทั้งหลายนั้น.
               บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ทีเดียวว่า
               ลำดับนั้น กาบินไปอย่างนี้แล้ว ได้บินไปแต่ละทิศในบรรดาทิศมีทิศประจิมเป็นต้น แต่ก็บินไปไม่ถึงเกาะ.
               บทว่า ปาปตฺถ คือ จมลงแล้ว. บทว่า ยถา ทุพฺพลโก ได้แก่ จมลง เหมือนอย่างคนหมดกำลังจมลง ฉะนั้น. บทว่า สุสู ได้แก่ เหล่าปลาร้ายชนิดที่มีชื่อว่า สุสุ.
               บทว่า ปสยฺหการา ความว่า ฮุบกินกาตัวนั้น ซึ่งไม่ปรารถนาอยู่นั่นแหละโดยพลการ. บทว่า วิปกฺขิกํ ได้แก่ กาตัวที่มีขนปีกฉิบหายใช้การไม่ได้.
               บทว่า คิทฺธี เจ น วมิสฺสนฺติ ความว่า พระองค์ก็ดี ชนเหล่าอื่นก็ดี ถ้ายังเป็นผู้ยินดีในกาม ไม่ยอมสละละทิ้งกามเสียให้ได้.
               บทว่า กากปญิญาย เต ความว่า นักปราชญ์ทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมรู้แจ้ง ย่อมรู้ชัดว่า ชนเหล่านั้นมีปัญญาเสมอกับปัญญาของกา ฉะนั้น. บทว่า อตฺถสนฺทสฺสนี กตา ได้แก่ อาตมภาพได้ประกาศเนื้อความให้ชัดแจ้งแล้ว.
               บทว่า ตฺวญฺจ ปญฺญายเส ได้แก่ พระองค์จักทรงรู้แจ้งเอง.
               มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
               ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูล จึงได้ถวายโอวาทแด่พระองค์ ก็ถ้าพระองค์จักทรงทำตามโอวาทนั้นไซร้ พระองค์ก็จักทรงบังเกิดในเทวโลก หากพระองค์จักไม่ทรงทำตามโอวาทนั้น พระองค์จักจมอยู่ในเปือกตม คือกาม ในกาลที่สุดแห่งพระชนมชีพจักบังเกิดในนรก. พระองค์เองจักทรงทราบสวรรค์หรือนรก ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้ ส่วนอาตมภาพพ้นแล้วจากภพทั้งปวง ไม่ต้องถือปฏิสนธิอีกต่อไป.

               ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ถวายโอวาทนี้แด่พระราชาพระองค์นั้นได้แสดงถึงแม่น้ำแล้ว แสดงถึงซากศพช้างที่ถูกน้ำพัดพาลอยไปในแม่น้ำคงคา แสดงถึงกาตัวจิกกินซากศพ แสดงถึงการที่จิกกินซากศพแล้วดื่มน้ำของกาตัวนั้น แสดงถึงการที่มองดูไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์ใจ แสดงถึงการเข้าไปสู่มหาสมุทรของซากศพที่ลอยไปในแม่น้ำ แสดงถึงการที่ไม่ได้ที่จับอาศัยบนซากช้างแล้ว ถึงความพินาศไปในท่ามกลางมหาสมุทรของกา.
               บรรดาสิ่งเหล่านั้น สงสารอันหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเปรียบเหมือนแม่น้ำ. กามคุณ ๕ อย่างในสงสาร เปรียบเหมือนซากศพช้างที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ. ปุถุชนที่เป็นคนพาล เปรียบเหมือนกา. กาลแห่งปุถุชนผู้บริโภคกามคุณแล้วเกิดโสมนัส เปรียบเหมือนกาลที่กาจิกกินซากศพแล้วดื่มน้ำ. การเห็นอารมณ์ ๓๘ ประการด้วยอำนาจการสดับฟังของปุถุชนผู้ติดข้องอยู่ในกามคุณทั้งหลาย เปรียบเหมือนการเห็นไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์ใจของกา ตัวติดข้องอยู่ในซากศพนั่นแล. ท่านผู้เป็นบัณฑิตพึงเห็นการถึงความพินาศในมหานรกของปุถุชนผู้เป็นคนพาล ผู้ยินดีในกามคุณ มีความชั่วเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไม่สามารถจะได้ที่ตั้งอาศัยในกุศลธรรมว่า เปรียบเหมือนกาลที่กา เมื่อซากศพเข้าไปสู่มหาสมุทรแล้ว ไม่สามารถจะได้ที่จับอาศัย ก็ถึงความพินาศไปฉะนั้น.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าถวายโอวาทแด่พระราชาพระองค์นั้น ด้วยข้ออุปมานี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้หวังจะทำโอวาทนั่นแหละให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคง.
               จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               บุคคลผู้อนุเคราะห์พึงกล่าวเพียงคำเดียว หรือสองคำ ไม่พึงกล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้น เปรียบเหมือนทาสที่อยู่ในสำนักแห่งเจ้านาย ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ภาเสยย ความว่า บุคคลผู้กล่าวให้ยิ่งไปกว่าประโยชน์เกื้อกูล แก่บุคคลผู้ไม่เชื่อถือถ้อยคำ ย่อมเป็นเหมือนทาสในสำนักของเจ้านายฉะนั้น. ด้วยว่า ทาส แม้เจ้านายจะเชื่อถือถ้อยคำ หรือไม่เชื่อถือก็ตาม ต้องกล่าวอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตตุตตรึ น ภาเสยย ไม่พึงกล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้น ดังนี้.

               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเหาะขึ้นไปด้วยฤทธิ์ แล้วสั่งสอนพระราชาว่า ถ้าพระองค์จักทรงผนวช หรือไม่ทรงผนวชก็ตาม อาตมภาพก็ได้ถวายโอวาทแด่พระองค์แล้ว ดูก่อนมหาบพิตร ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด. ดังนี้แล้วจึงไปสู่เงื้อมภูเขาชื่อนันทมูลกะ ตามเดิม.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาอันบุคคลนับไม่ได้ ครั้นทูลดังนี้แล้วพร่ำสอนบรมกษัตริย์ในอากาศ แล้วหลีกไป.


               คาถานี้จัดเป็นอภิสัมพุทธคาถา
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ วตวาน อธิบายว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีปัญญา อันบุคคลนับไม่ได้ด้วยปัญญา เป็นเครื่องตรัสรู้ อันเป็นโลกุตระ ที่ใครๆ นับไม่ได้ พอท่านกล่าวคำนี้แล้ว ก็เหาะขึ้นไปด้วยฤทธิ์ พร่ำสอนบรมกษัตริย์อย่างนี้ว่า ถ้าพระองค์จักทรงผนวช ก็เป็นเรื่องของพระองค์ผู้เดียว หรือถ้าพระองค์จักไม่ทรงผนวช ก็เป็นเรื่องของพระองค์อีกเช่นกัน อาตมภาพถวายโอวาทแด่พระองค์แล้ว ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้วหลีกไป.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ประทับยืน ทอดพระเนตรดูพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นผู้ไปอยู่โดยอากาศ เพียงเท่าที่จะมองเห็นได้ ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นลับสายพระเนตรไปแล้ว จึงกลับได้ความสลดพระทัย ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้มีชาติต่ำ โปรยธุลีละอองเท้าลงบนศีรษะของเรา ผู้เกิดแล้วในวงศ์กษัตริย์อันมิได้ปะปนระคนด้วยวงศ์อื่น เขาเหาะขึ้นสู่อากาศไปแล้ว แม้ตัวเราก็ควรจะออกบวชให้ได้ในวันนี้ทีเดียว.
               ท้าวเธอทรงปรารถนาที่จะมอบราชสมบัติแล้วทรงผนวช.
               จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
               บุคคลผู้อภิเษก ท่านผู้สมควรให้เป็นกษัตริย์ เป็นรัชทายาท และบุคคลผู้ถึงความฉลาด เหล่านี้อยู่ที่ไหน เราจักมอบราชสมบัติ เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ เราจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ เราจะไม่โง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุเม ได้แก่ ท่านเหล่านี้อยู่ที่ไหน.
               บทว่า ราชกตตาโร ความว่า บุคคลผู้อภิเษก ท่านผู้สมควรเป็นพระราชาแล้ว ทำให้เป็นพระราชาอย่างสมบูรณ์. บทว่า สูตา เวยยตติมาคตา ความว่า รัชทายาท และบุคคลผู้ถึงความเป็นผู้ฉลาด คือ รอบรู้มงคลโดยคล่องปากเหล่าอื่น.
               บทว่า รชเชน มตถิโก คือความต้องการด้วยราชสมบัติ.
               บทว่า โก ชญญา มรณํ สุเว ความว่า เพราะว่าใครที่จะมีความสามารถรู้ถึงเหตุนี้ได้ว่า ความตายจักมีมาในวันนี้ หรือพรุ่งนี้กันแน่.

               เมื่อพระราชาทรงมอบราชสมบัติอยู่อย่างนี้
               พวกอำมาตย์ได้สดับแล้ว จึงกราบทูลว่า
               พระโอรสหนุ่มของพระองค์ ทรงพระนามว่า ทีฆาวุ จะทรงบำรุงรัฐให้เจริญได้มีอยู่ ขอพระองค์จงทรงอภิเษกพระโอรสนั้นไว้ในพระราชสมบัติ พระโอรสนั้นจักได้เป็นพระราชาของข้าพระบาททั้งหลาย.


               เบื้องหน้าแต่นั้น บัณฑิตพึงทำคาถาที่พระราชาตรัสแล้วให้เป็นตัวอย่างแล้ว พึงทราบคาถาสัมพันธ์ด้วยอุทานโดยนัยพระบาลีนั้นแล.

               พระราชาตรัสว่า
               ท่านทั้งหลาย จงรีบเชิญทีฆาวุกุมาร ผู้บำรุงรัฐให้เจริญมาเถิด เราจักอภิเษกเธอไว้ในราชสมบัติ เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย.


               พวกอำมาตย์สดับพระดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงพากันไปเชิญเสด็จทีฆาวุราชกุมารมา. แม้พระราชาก็ทรงมอบพระราชสมบัติแก่พระราชกุมารนั้นแล้ว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

               ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ไปเชิญทีฆาวุราชกุมาร ผู้บำรุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นเอกอัครโอรส ผู้น่าปลื้มพระทัยนั้น จึงตรัสว่า ลูกรักเอ๋ย คามเขตของเราหกหมื่น บริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ลูกจงบำรุงเขา พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ถึงความตาย ในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย เหมือนกับกา.
               ช้างหกหมื่นเชือกประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีสายรัดล้วนทองคำ เป็นช้างใหญ่มีร่างกายปกปิด ด้วยเครื่องคลุมล้วนทองคำ อันนายควาญช้างผู้ถือโตมร และขอขึ้นกำกับ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงช้างเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตาย ในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย เหมือนกับกา.
               ม้าหกหมื่นตัวประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เป็นม้าสินธพ เป็นม้าอาชาไนยโดยกำเนิด เป็นพาหนะเร็ว อันนายสารถีผู้ถือแส้และธนูขึ้นกำกับ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงม้าเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก
               พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ถึงความตาย ในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย เหมือนกับกา.
               รถหกหมื่นคัน หุ้มเกราะไว้ดีแล้ว มีธงอันยกขึ้นแล้ว หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองก็มี หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งก็มี ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีถือแล่งธนูสวมเกราะขึ้นประจำ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงรถเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ถึงความตาย ในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย เหมือนกับกา.
               แม่โคนมหกหมื่นตัวมีสีแดง ประกอบด้วยโคจ่าฝูงตัวประเสริฐ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงโคเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ถึงความตาย ในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย เหมือนกับกา.
               สตรีหมื่นหกพันนาง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงสตรีเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ถึงความตาย ในวันพรุ่งนี้ พ่อจักไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย เหมือนกับกา.

               ลำดับนั้น พระกุมารจึงกราบทูลพระองค์ว่า
               ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันได้สดับว่า เมื่อหม่อมฉันเป็นเด็กๆ พระชนนีทิวงคต หม่อมฉันไม่อาจจะเป็นอยู่ห่างพระบิดาได้ ลูกช้างย่อมติดตามหลังช้างป่า ตัวเที่ยวอยู่ในที่มีภูเขา เดินลำบาก เสมอบ้าง ไม่เสมอบ้าง ฉันใด หม่อมฉันจะอุ้มบุตรธิดา ติดตามพระบิดาไปข้างหลัง จักเป็นผู้อันพระบิดาเลี้ยงง่าย จักไม่เป็นผู้อันพระบิดาเลี้ยงยาก ฉันนั้น.


               พระราชาตรัสตอบว่า
               อันตรายทำเรือที่แล่น อยู่ในมหาสมุทรของพวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ ให้จมลงในมหาสมุทรนั้น พวกพ่อค้าพึงถึงความพินาศ ฉันใด ลูกรักเอ๋ย เจ้านี้เป็นผู้กระทำอันตรายให้แก่พ่อ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.


               พระราชกุมารไม่อาจจะกราบทูลถ้อยคำอะไรๆ อีกได้.
               ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะทรงบังคับพวกอำมาตย์ จึงตรัสว่า
               ท่านทั้งหลายจงพาราชกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาท อันยังความยินดีให้เจริญเถิด พวกนางกัญญาผู้มีมือประดับด้วยทองคำ จักยังกุมารให้รื่นรมย์ในปราสาทนั้น เหมือนนางเทพอัปสรยังท้าวสักกะให้รื่นรมย์ ฉะนั้น และกุมารนี้จักรื่นรมย์ด้วยนางกัญญาเหล่านั้น

               ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญพระราชกุมารไปยังปราสาทอันยังความยินดีให้เจริญ พวกนางกัญญาเห็นทีฆาวุกุมารผู้ยังรัฐให้เจริญนั้นแล้ว จึงพากันทูลว่า พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือว่าเป็นท้าวสักกปุรินททะ พระองค์เป็นใคร หรือเป็นพระราชโอรสของใคร หม่อมฉันทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร.


               ทีฆาวุราชกุมารจึงตรัสตอบว่า
               เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ เราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสี ชื่อทีฆาวุ ผู้ยังรัฐให้เจริญ เธอทั้งหลายจงบำเรอเรา ขอความเจริญจงมีแก่เธอทั้งหลาย เราจะเป็นสามีของเธอทั้งหลาย.

               พวกนางกัญญาในปราสาทนั้น ได้ทูลถามพระเจ้าทีฆาวุผู้บำรุงรัฐนั้นว่า พระราชาเสด็จไปถึงไหนแล้ว พระราชาเสด็จจากที่นี้ไปไหนแล้ว.


               ทีฆาวุราชกุมาร จึงตรัสตอบว่า
               พระราชาทรงก้าวล่วงเสียซึ่งเปือกตม ประดิษฐานอยู่บนบก เสด็จดำเนินไปสู่ทางใหญ่ อันไม่มีหนาม ไม่มีรกชัฏ ส่วนเรายังเป็นผู้ดำเนินไปสู่ทาง อันให้ถึงทุคติ มีหนาม รกชัฏ เป็นเครื่องไปสู่ทุคติแห่งชนทั้งหลาย.


               นารีทั้งหลายจึงกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระราชา พระองค์เสด็จมาดีแล้วดุจราชสีห์มาสู่ถ้ำ ฉะนั้น ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงอนุศาสน์พวกหม่อมฉัน ขอพระองค์ทรงเป็นอิสราธิบดีของพวกหม่อมฉันทั้งปวง เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขิปฺปํ ความว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงรีบนำมาเถิด. บทว่า อาลปิ ความว่า พระราชาตรัสพระดำรัสเป็นต้นว่า คามเขตของเรามีหกหมื่น ดังนี้ จึงค่อยทรงทักทายแล้ว. บทว่า สพฺพาลงฺการภูสิตา อธิบายว่า ช้างเหล่านั้นตกแต่งแล้วด้วยเครื่องอลังการมีเครื่องประดับสำหรับสวมหัวเป็นต้นทั้งปวง. บทว่า เหมกปฺปนวาสสา ความว่า มีสรีระอันปกปิดด้วยเครื่องคลุมที่ขจิตด้วยทองคำ. บทว่า คามณีเยภิ คือพวกนายหัตถาจารย์. บทว่า อาชานียา จ ได้แก่ เป็นม้าที่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุมาตั้งแต่เกิดทีเดียว. ม้าที่เกิดริมฝั่งแม่น้ำสินธพ ในแคว้นสินธพเรียกว่า ม้าสินธพ. บทว่า คามณีเยภิ คือ อัสสาจารย์. บทว่า อินฺทิยาจาปธาริภิ คือ ทรงไว้ซึ่งอาวุธคือเขน และอาวุธ คือแล่งธนู. บทว่า ทีปา อโถปิ เวยฺยคฺฆา ได้แก่ มีหนังเสือเหลือง และหนังเสือโคร่งเป็นเครื่องปกคลุม. บทว่า คามณีเยภิ หมายเอาผู้ขับรถ. บทว่า จมฺมิภิ คือ มีเกราะอันสวมสอดไว้แล้ว. บทว่า โรหญฺญา คือ มีสีตัวแดง. บทว่า ปุงฺควูสภา ได้แก่ ประกอบด้วยโคเพศผู้ตัวประเสริฐ กล่าวคือโคอุสภะ.
               บทว่า ทหรสฺเสว เม อธิบายว่า ลำดับนั้น พระราชกุมารกราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ หม่อมฉันได้สดับว่า พระชนนีสิ้นพระชนม์แล้ว หม่อมฉันนั้นจักไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ โดยปราศจากพระองค์ได้.
               บทว่า โปโต ได้แก่ ลูกช้างรุ่นๆ. บทว่า เชสฺสนฺตํ คือเที่ยวสัญจรไปอยู่.
               บทว่า สามุทฺทิกํ ได้แก่ เรือที่แล่นไปในมหาสมุทร. บทว่า ธเนสินํ ได้แก่ ผู้แสวงหาอยู่ซึ่งทรัพย์. บทว่า โวหาโร ความว่า ปลาร้ายก็ดี ผีเสื้อน้ำก็ดี น้ำวนก็ดี อันคอยฉุดคร่าอยู่ภายใต้ ชื่อว่าอันตรายเครื่องนำลงอย่างวิจิตร. บทว่า ตตฺถ คือ ในมหาสมุทรนั้น. บทว่า พาณิชา พฺยสนี สิยา ความว่า ลำดับนั้น พ่อค้าเหล่านั้น ก็จะฉิบหาย คือ พึงถึงความพินาศ. อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า สิยํ ก็มี.
               บทว่า ปุตฺตกลิ ได้แก่ ลูกเลว คือลูกกาลกรรณี. พระกุมารไม่อาจที่จะกราบทูลอะไรๆ อีกต่อไป. ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะทรงบังคับพวกอำมาตย์ จึงตรัสพระดำรัสเป็นต้นว่า กุมารนี้ ดังนี้.
               บทว่า ตตฺถ กมฺพุสหตฺถาโย ความว่า สุวรรณเรียกกันว่า ทองคำ. อธิบายว่า มีมือตกแต่งด้วยเครื่องอาภรณ์ทองคำ. คำว่า ยถา ความว่า นารีเหล่านั้นย่อมกระทำตามที่ตนปรารถนา.

               พระมหาสัตว์ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงรับสั่งให้อภิเษกทีฆาวุราชกุมารนั้นในที่นั้นนั่นเอง แล้วให้กลับเข้าไปสู่พระนคร. ส่วนพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นเสด็จออกจากพระราชอุทยาน เข้าไปป่าหิมวันต์ สร้างบรรณศาลาที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ แล้วทรงผนวชเป็นฤๅษี มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ยังอัตภาพให้เป็นไป.
               ฝ่ายมหาชนก็เชิญเสด็จพระกุมารไปยังกรุงพาราณสี. พระกุมารนั้นทรงกระทำประทักษิณพระนคร แล้วเสด็จขึ้นสู่ปราสาท.

               บทว่า ตํ ทิสฺวา อวจํ กญฺญา ความว่า พวกนางฟ้อนเหล่านั้นเห็นพระกุมารนั้น เสด็จมาแล้วด้วยสิริโสภาค มีบริวารเป็นอันมาก ยังไม่รู้จักว่า พระกุมารนี้มีพระนามชื่อโน้น จึงได้พากันทูลถาม. บทว่า มมํ ภรถ ความว่า นางทั้งหลายจงปรารถนาเฉพาะเรา. บทว่า ปงฺกํ ได้แก่ เปือกตม คือกิเลส มีราคะเป็นต้น. บทว่า ถเล ได้แก่ การบรรพชา. บทว่า อกณฺฏกํ ได้แก่ ปราศจากหนามคือราคะเป็นต้น. ชื่อว่าไม่รกชัฏ เพราะเครื่องรกชัฏ คือกิเลสเหล่านั้นแล. บทว่า มหาปถํ ได้แก่ ดำเนินไปสู่ทางใหญ่ อันจะเข้าถึงสวรรค์และนิพพาน. บทว่า เยน พระกุมารตรัสว่า ชนทั้งหลายย่อมดำเนินไปสู่ทุคติ โดยทางผิดอันใด เราดำเนินไปแล้วสู่ทางผิดอันนั้น.
               ลำดับนั้น พวกนางฟ้อนเหล่านั้นจึงพากันคิดว่า พระราชาทรงละทิ้งพวกเรา เสด็จออกบรรพชาเสียก่อนแล้ว ถึงพระกุมารนี้เล่าก็เป็นผู้มีพระหฤทัยกำหนัดในกามทั้งหลาย ถ้าพวกเราจักไม่ยอมอภิรมย์กับพระองค์ พระองค์ก็จะพึงเสด็จออกบรรพชาเสียอีก พวกเราจักกระทำอาการ คือการอภิรมย์แก่พระองค์. ลำดับนั้น พวกนางฟ้อน เมื่อจะให้พระกุมารรื่นรมย์ด้วย จึงได้กราบทูลคาถาสุดท้ายแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คิริพฺพชํ ความว่า การเสด็จมาของพระองค์นั้น นับว่าเป็นการเสด็จมาดีแล้ว ดุจการที่พระยาไกรสรราชสีห์มาสู่ถ้ำทองอันเป็นสถานที่อยู่ของราชสีห์ตัวลูกน้อย ฉะนั้น.
               บทว่า บทว่า ตฺนํ โน ความว่า ขอพระองค์จงเป็นพระสวามีผู้เป็นใหญ่ของพวกหม่อมฉัน แม้ทั้งหมด.
               พวกนารีเหล่านั้น ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ประโคมดุริยดนตรีทั้งปวงขึ้น ทำการฟ้อนรำขับร้องมีประการต่างๆ ให้เป็นไปแล้ว เกียรติยศได้ยิ่งใหญ่ขึ้นแล้ว. ทีฆาวุราชกุมารนั้นเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยเกียรติยศ ก็มิได้ทรงระลึกถึงพระบิดาเลย ได้เสวยราชสมบัติโดยธรรมเป็นไปตามยถากรรมแล้ว.
               แม้พระโพธิสัตว์ได้ทรงกระทำฌานและอภิญญา ให้บังเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดแห่งพระชนมชีพก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์ แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เคยออกมหาภิเนษกรมณ์แล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว
               จึงได้ทรงประชุมชาดกว่า
               พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว ในกาลนั้น
               ทีฆาวุกุมาร ในกาลนั้น ได้เป็น ราหุลกุมาร
               บริษัทที่เหลือ ในกาลนั้น ได้เป็นพุทธบริษัท
               ส่วนพระเจ้าอรินทมะ ในกาลนั้น ก็คือ เราตถาคต แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โสณกชาดก ว่าด้วย เรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 52 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 90 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=452&Z=594
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=1637
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=1637
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :