ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่ ๖ / ๑๒.

               ว่าด้วย มหาอุมมังคกัณฑ์

               จำเดิมแต่กาลนั้นมา มโหสถบัณฑิตถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระเจ้ากรุงมิถิลา มโหสถคิดว่า ก็เราดูแลเศวตฉัตรอันเป็นราชสมบัติของพระราชา ควรที่เราจะไม่ประมาท ดำริฉะนี้ จึงให้ทำกำแพงใหญ่ในพระนครและให้ทำกำแพงน้อยอย่างนั้น ทั้งหอรบที่ประตูและที่ระหว่างๆ ให้ขุดคู ๓ คู คือคูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง ให้ซ่อมแซมเรือนเก่าๆ ภายในพระนคร ให้ขุดสระโบกขรณีใหญ่ ให้ฝังท่อน้ำในสระนั้น ทำฉางทั้งปวงในพระนครให้เต็มด้วยธัญญาหาร ให้นำพืชหญ้ากับแก้และกุมุทจากพวกดาบสผู้คุ้นเคยในสกุล ผู้มาแต่หิมวันตประเทศมาปลูกไว้ ให้ชำระล้างท่อน้ำให้น้ำไหลเข้าออกสะดวก ให้ซ่อมแซมสถานที่ทั้งหลาย มีศาลาเก่าภายนอกพระนครเป็นต้น เพราะเหตุการณ์อะไร มโหสถจึงให้ตกแต่งบ้านเมืองดังนั้น เพราะจะป้องกันภัยอันจะมาถึงในกาลข้างหน้า.
               มโหสถไต่ถามพวกพาณิชผู้มาแต่ประเทศนั้นๆ ว่ามาแต่ไหน. เมื่อได้รับตอบว่า มาแต่สถานที่โน้น. จึงซักถามว่า อะไรเป็นที่ชอบพระราชหฤทัยของพระราชาแห่งพวกท่าน. ได้ความแล้วก็ทำความนับถือต่อพวกนั้นแล้วส่งกลับไป. แล้วเรียกโยธาร้อยเอ็ดของตนมากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเครื่องบรรณาการที่เราจะให้ แล้วไปสู่ราชธานีร้อยเอ็ด ถวายบรรณาการเหล่านี้แด่พระราชาเหล่านั้น เพื่อต้องการให้พระราชาเหล่านั้นรักตน แล้วอยู่บำรุงพระราชาเหล่านั้น ดูกิริยาหรือความคิดแห่งพระราชาเหล่านั้น ส่งข่าวมาให้เรารู้ แล้วอยู่ในที่นั้น เราจะเลี้ยงบุตรและภรรยาของเหล่าท่าน สั่งดังนี้แล้วจารึกกุณฑล ฉลองพระบาทพระขรรค์และสุวรรณมาลา ให้เป็นอักษรในราชาภรณ์นั้นๆ เพื่อพระราชาเหล่านั้นๆ แล้ว ตั้งสัตยาธิษฐานว่า กิจของเราย่อมมีเมื่อใด อักษรเหล่านี้จงปรากฏเมื่อนั้น. แล้วมอบให้โยธาร้อยเอ็ดเหล่านั้นไป. โยธาเหล่านั้นไปในประเทศนั้นๆ ถวายบรรณาการแด่พระราชาเหล่านั้น เมื่อพระราชาเหล่านั้นตรัสถามว่า มาธุระอะไร. ก็ทูลว่า มาบำรุงพระองค์. ครั้นตรัสถามว่า มาแต่ไหน. ก็ไม่ทูลตามตรง. ทูลว่า มาจากที่อื่น. เมื่อทรงรับ ก็อยู่รับราชการในภายใน.
               กาลนั้นมีพระราชาองค์หนึ่งพระนามว่า สังขพลกะ ในกัมพลรัฐ ให้เตรียมศัสตราวุธ และเรียกระดมกองทัพ ทหารของมโหสถที่วางให้สดับข่าวและระวังเหตุการณ์ ที่ส่งไปอยู่ ณ ราชสำนักแห่งพระเจ้าสังขพลกราชนั้น ได้ส่งข่าวสาสน์มายังมโหสถว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบประพฤติเหตุในนครนี้ว่า พระเจ้าสังขพลกราชจักทรงทำราชกิจชื่อนี้ ขอท่านจงส่งสุวบัณฑิต (นกแก้วฉลาด) ไปทราบความเองโดยถ่องแท้. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ฟังข่าวนั้น จึงเรียกสุวโปดกลูกนกแก้วมา กล่าวว่า เจ้าจงไปสืบข่าวว่า พระราชาองค์หนึ่งมีพระนามว่าสังขพลกะ ในกัมพลรัฐ ทำราชกิจชื่อนี้ แล้วจงเที่ยวไปในสกลชมพูทวีป นำประพฤติเหตุมาเพื่อเรา กล่าวฉะนี้ แล้วให้สุวโปดกกินข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งให้ดื่มน้ำผึ้ง แล้วเอาน้ำมันหุงร้อยหนหุงพันหนทาขนปีก แล้วให้จับที่หน้าต่าง เบื้องปราจีนทิศปล่อยไป. สุวบัณฑิตนั้นไปในที่นั้น รู้ประพฤติเหตุแห่งพระเจ้าสังขพลกราช แต่สำนักทหารของมโหสถนั้นโดยแน่นอนแล้ว. เมื่อจะตรวจชมพูทวีปทั้งสิ้นถึงอุตรปัญจาลนครในกัปปิลรัฐ.
               กาลนั้น พระราชามีพระนามว่า จุลนีพรหมทัต ครองราชสมบัติในอุตรปัญจาลนครนั้น พราหมณ์ ชื่อเกวัฏ เป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดพร่ำ ถวายอรรถธรรมแก่พระราชานั้น. ในเวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง ปุโรหิตนั้นตื่นขึ้นแลดูห้องประกอบด้วยสิริ อันประดับแล้ว เห็นยศใหญ่ของตนด้วยแสงสว่างแห่งประทีป จึงคิดว่า ยศแห่งเรานี้ ใครๆ ให้เรา ก็คิดได้ว่า ไม่ใช่ของคนอื่น เป็นของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตพระราชทานแก่เรา ควรเราจักจัดแจงให้พระราชาผู้พระราชทานยศ เห็นปานนี้แก่เรา ให้เป็นอัครราชาในสกลชมพูทวีป เราก็จักได้เป็นอัครปุโรหิตของพระองค์ คิดฉะนี้ แล้วเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้า ทูลถามถึงสุขไสยาตามธรรมเนียม แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้อความอันข้าพระบาทจะพึงทูลปรึกษามีอยู่. เมื่อพระราชาทรงอนุญาตให้กราบทูล จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า สถานที่ลับในพระนครไม่มี ขอเสด็จไปพระราชอุทยาน. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงเสด็จไปพระราชอุทยานกับปุโรหิต วางพลนิกายไว้ภายนอกให้รักษา แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยานกับพราหมณ์เท่านั้น ประทับนั่ง ณ แผ่นศิลาเป็นมงคล.
               ครั้งนั้น สุวโปดกเห็นกิริยาของพระราชากับพราหมณ์ จึงคิดว่า อันเหตุการณ์พึงมีในกิริยาของพระราชากับพราหมณ์นี้ วันนี้เราจักได้ฟังอะไรๆ ที่ควรแจ้งแก่มโหสถ คิดฉะนี้ แล้วบินเข้าไปสู่พระราชอุทยาน จับเร้นอยู่ระหว่างใบไม้รังอันเป็นมงคล. พระราชาตรัสให้เกวัฏทูลเรื่อง พราหมณ์จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระองค์ทรงทำไว้ในพระกรรณของพระองค์แต่ที่นี้ ความคิดนี้จักชื่อว่ารู้กัน ๔ หู ถ้าพระองค์ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักทำพระองค์ให้เป็นอัครราชาในสกลชมพูทวีป. พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของเกวัฏ ก็ทรงโสมนัสด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาใหญ่ จึงตรัสว่า กล่าวไปเถิดอาจารย์ เราจักทำตามคำของท่าน. พราหมณ์เกวัฏจึงทูลบรรยายความคิดว่า ข้าแต่สมมติเทพ เราทั้งหลายจักเรียกระดมกองทัพแล้วล้อมเมืองน้อยยึดเอาไว้ก่อน ข้าพระบาทจักเข้าสู่เมืองทางประตูน้อย แล้วแจ้งแก่พระราชานั้นว่า กิจด้วยการรบของพระองค์ไม่มี โภคสมบัติเป็นของพวกข้าพระเจ้าทั้งสิ้น พระองค์จักคงเป็นพระราชาอยู่อย่างนั้น ก็ถ้าพระองค์จักรบ ก็จะพ่ายแพ้โดยส่วนเดียว เพราะความที่พลและพาหนะของพวกข้าพระเจ้ามาก ถ้าพระราชานั้นจักทำตามคำของพวกเรา พวกเราจักจับพระราชานั้นไว้ ถ้าพระราชานั้นจักไม่ทำตามคำของเราไซร้ พวกเราจักรบแล้วให้พระราชานั้นถึงความสิ้นพระชนม์ แล้วถือเอากองทัพนครนั้นเป็น ๒ ไปยึดเอาเมืองอื่นต่อไป ถือเอาราชสมบัติในสกลชมพูทวีปโดยอุบายนี้ แล้วดื่มชัยบาน พวกเรานำพระราชาร้อยเอ็ดมาสู่เมืองเรา แล้วให้ดื่มสุราเจือยาพิษในอุทยาน แล้วยังพระราชาทั้งหมดให้สิ้นพระชนม์ แล้วทิ้งพระศพของพระราชาเหล่านั้นเสียในคงคา ก็จักทำราชสมบัติในราชธานีร้อยเอ็ดอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์จักเป็นอัครราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้. พระราชาทรงยินดีตรัสว่า ดีแล้วอาจารย์ เราจักทำอย่างนั้น. พราหมณ์เกวัฏกราบทูลว่า ความคิดนี้ชื่อว่าความคิดรู้กัน ๔ หู เพราะว่าบุคคลอื่นไม่อาจมาล่วงรู้ เพราะเหตุนั้น ขอพระองค์อย่าชักช้า รีบยกกองทัพออกทีเดียว. พระราชาได้ทรงสดับคำนั้น ก็ทรงโสมนัส รับว่า ดีแล้ว.
               สุวโปดกได้ฟังเรื่องนั้นทั้งหมด ในกาลเมื่อพราหมณ์กับพระราชาคิดการนี้จบลง จึงประหนึ่งบินลงจับกิ่งไม้รังที่ห้อย ยังมูลให้ตกลงบนศีรษะแห่งเกวัฏ แล้วร้องขึ้นว่า นี้อะไรกัน. พอเกวัฏแหงนขึ้นก็ยังมูลให้ตกลงในปาก ร้องกิริๆ บินขึ้นจากกิ่งไม้รังกล่าวว่า แน่ะเกวัฏ ท่านสำคัญว่า ความคิดของท่านรู้กันแต่ ๔ หูหรือ บัดนี้รู้กันเป็น ๖ หูแล้ว จักรู้กันเป็น ๘ หูอีก แล้วจักรู้กันหลายร้อยหูทีเดียว. ในเมื่อชนทั้งหลายกล่าวว่า ช่วยกันจับๆ ให้ได้ ดังนี้ ก็บินไปสู่กรุงมิถิลาโดยกำลังเร็วดุจลม เข้าไปสู่เคหสถานแห่งมโหสถบัณฑิต. ก็ความประพฤตินี้เป็นวัตรของสุวโปดก คือถ้าว่าข่าวมาแต่ที่ไรๆ ควรบอกแก่มโหสถผู้เดียว ทีนั้นสุวโปดกก็ลงจับที่จะงอยบ่าแห่งมโหสถ. ถ้าว่าควรฟังแต่นางอมราเทวี สุวโปดกก็ลงจับที่ตัก. ถ้าว่ามหาชนควรสดับ สุวโปดกก็ลงจับที่พื้น. กาลนั้น สุวโปดกลงจับที่จะงอยบ่าแห่งมโหสถ ด้วยสัญญานั้น มหาชนก็หลีกไปด้วยรู้กันว่า อันความลับพึงมี. มโหสถพาสุวโปดกขึ้นไปสู่พื้นชั้นบนแล้วถามว่า พ่อได้เห็นได้ฟังอะไรมาหรือ. ลำดับนั้น สุวโปดกจึงกล่าวกะมโหสถว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าไม่เห็นภัยอะไรๆ แต่สำนักพระราชาอื่นในสกลชมพูทวีป. ก็แต่พราหมณ์ชื่อเกวัฏ ผู้เป็นปุโรหิตของพระราชาจุลนีพรหมทัต พาพระราชาไปอุทยานแล้วทูลความคิดอันรู้แต่ ๔ หู. ข้าพเจ้าจับอยู่ระหว่างกิ่งไม้รัง ยังมูลให้ตกลงในปากแห่งพราหมณ์เกวัฏแล้วมานี่. กล่าวฉะนี้ แล้วบอกกิจที่ได้เห็นที่ได้ฟังทั้งปวงแก่มโหสถ. ครั้นมโหสถถามว่า ก็พระเจ้าจุลนีรับจะทำตามหรือไม่. สุวโปดกตอบว่า รับจะทำตาม. มโหสถจึงทำกิจที่ควรทำแก่นกนั้น คือ ให้นอนในกรงทองคำ มีเครื่องลาดอันอ่อน. แล้วคิดว่า ชะรอยเกวัฏไม่รู้จักความที่ เราชื่อมโหสถบัณฑิต. เราจักให้ถึงที่สุดแห่งความคิด ที่เขาคิดกันนั้นในบัดนี้. จึงถ่ายสกุลเข็ญใจในเมืองออกอยู่นอกเมือง นำสกุลมีอิสริยยศซึ่งอยู่ใกล้ประตูชนบทในแคว้นเข้ามาอยู่ภายในเมือง ให้สะสมธัญญาหารไว้เป็นอันมาก.
               ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเชื่อคำแห่งเกวัฏ อันหมู่เสนาแวดล้อมแล้ว เสด็จไปล้อมเมืองหนึ่ง ฝ่ายเกวัฏก็เข้าไปในเมืองนั้นโดยนัยที่กล่าวแล้ว ยังพระราชาในเมืองนั้นให้หมายรู้แล้ว ทำเมืองนั้นให้เป็นของตน ทำกองทัพทั้ง ๒ ให้เป็นกองเดียวกันไปล้อมเมืองอื่น ก็ยึดเมืองทั้งปวงได้หมดโดยลำดับ พระเจ้าจุลนีตั้งอยู่ในโอวาทของพราหมณ์เกวัฏ ยกเสียแต่พระเจ้าวิเทหราช นอกนั้นก็ได้พระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีปอันเหลืออยู่ให้เป็นของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้.
               บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งข่าวถึงมโหสถเนืองนิตย์ว่า นครทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตยึดไว้ได้แล้ว. ขอท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ฝ่ายมโหสถบัณฑิตส่งข่าวตอบไปยังบุรุษที่วางไว้เหล่านั้นว่า เราเป็นผู้มิได้ประมาทอยู่ในที่นี้แล้ว. แม้พวกเจ้าทั้งหลายก็อย่าได้วิตกถึงเรา จงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด.
               ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกทัพไปยึดนครนั้นๆ สิ้น ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็ได้ราชสมบัติในสกลชมพูทวีป จึงตรัสกะเกวัฏปุโรหิตว่า นครทั้งหลายเท่านี้ เราได้ไว้แล้วๆ เราจักยึดราชสมบัติของพระเจ้าวิเทหราช ณ กรุงมิถิลา. ปุโรหิตทูลค้านว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกเราไม่ควรจะยึดราชสมบัติในนครที่มโหสถอยู่ เพราะว่า มโหสถนั้นเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยความรู้ และเป็นผู้ฉลาดในอุบายอย่างนี้ๆ. ปุโรหิตทูลห้ามพระเจ้าจุลนี พรรณนาคุณสมบัติของมโหสถ ดุจบุคคลยกมณฑลแห่งดวงจันทร์ขึ้นกล่าว เพราะว่า ปุโรหิตนี้เป็นผู้ฉลาดในอุบายเอง ฉะนั้นจึงยังพระราชาให้กำหนดด้วยอุบายว่า ข้าแต่เทพเจ้า ราชสมบัติในมิถิลานครเป็นของเล็กน้อย ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของพอแก่เราทั้งหลาย ประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติในนครมิถิลาแก่เราทั้งหลายเล่า. ฝ่ายพระราชาทั้งหลายอันเหลือก็กล่าวว่า เราทั้งหลายจักยึดราชสมบัติในกรุงมิถิลาแล้วดื่มชัยบาน. ฝ่ายเกวัฏก็ทูลห้ามพระราชาเหล่านั้น แล้วให้พระราชาเหล่านั้นรู้ด้วยอุบายว่า เราทั้งหลายจักยึดราชสมบัติในวิเทหรัฐทำอะไร พระราชานั้นก็เป็นดุจของเราทั้งหลาย ขอพระองค์ทั้งหลายเสด็จกลับเถิด พระราชาเหล่านั้นได้ฟังคำของเกวัฏ ต่างก็เสด็จกลับนครของตนๆ.
               เหล่าบุรุษที่วางไว้สดับเหตุการณ์ ก็ส่งข่าวแก่มโหสถว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตอันพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมจะมาสู่กรุงมิถิลา แต่ก็กลับสู่เมืองของตน. ฝ่ายมหาสัตว์ก็ส่งข่าวตอบพวกบุรุษที่วางไว้ว่า จำเดิมแต่นี้ พวกเจ้าจงคอยดูกิริยาของพระเจ้าจุลนี. ฝ่ายพระจุลนีทรงปรึกษากับอาจารย์เกวัฎว่า บัดนี้ เราจักทำกิจอย่างไร. ครั้นเกวัฏทูลว่า เราจักดื่มชัยบาน. จึงให้ประดับอุทยานแล้ว ตรัสสั่งพวกราชเสวกว่า พวกเจ้าจงตระเตรียมสุราไว้ในไหสักร้อยไหพันไห ตระเตรียมของบริโภคมีรส คือปลาและเนื้อเป็นต้น มีอย่างต่างๆ ไว้ให้เพียงพอ. กาลนั้น มีบุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ส่งประพฤติเหตุนั้นให้มโหสถทราบ ก็แต่บุรุษที่มโหสถวางไว้เหล่านั้นหารู้ไม่ว่า พระเจ้าจุลนีประกอบสุราด้วยยาพิษ ใคร่จะฆ่าพระราชาร้อยเอ็ดให้สิ้นพระชนม์ชีพ. ฝ่ายพระโพธิสัตว์รู้ความนั้นแต่สุวโปดก จึงส่งข่าวตอบพวกบุรุษที่วางไว้นั้นว่า เจ้าทั้งหลายรู้วันที่จะดื่มสุราแน่นอนแล้วจงบอกแก่เรา. บุรุษที่วางไว้นั้นก็ทำตามสั่ง มโหสถดำริว่า เมื่อบัณฑิตเช่นเรามีอยู่ พระราชามีประมาณเท่านี้ไม่ควรสิ้นพระชนม์ชีพ เราจักเป็นที่พึ่งของพระราชาเหล่านั้น คิดฉะนี้ แล้วเรียกพวกทวยหาญที่เป็นบริวารสหชาตพันคนนั้นมา แจ้งว่า ดูก่อนสหายทั้งหลาย ได้ยินว่า พระราชาจุลนีให้ตกแต่งพระราชอุทยาน แล้วแวดล้อมไปด้วยพระราชาร้อยเอ็ดประสงค์จะดื่มสุรา เจ้าทั้งหลายจงไปในที่นั้น ในเมื่ออาสน์ของพระราชาทั้งหลายเขาแต่งตั้งแล้ว ในเมื่อพระราชาองค์หนึ่งยังไม่นั่ง เจ้าทั้งหลายจงชิงเอาอาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ในลำดับต่อกับอาสน์แห่งพระเจ้าจุลนี ประกาศว่า นี้เป็นราชอาสน์มีค่ามากแห่งพระราชาของพวกเรา ดังนี้. ในเมื่อข้าราชการฝ่ายนั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลายเป็นคนของใคร. พึงกล่าวตอบว่า เป็นข้าราชการของพระเจ้าวิเทหราช. เมื่อพวกข้าราชการฝ่ายนั้นกล่าวกะพวกเจ้าว่า เราทั้งหลายเมื่อไปล้อมยึดเอานครนั้นๆ ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็หาเห็นพระราชาอันมีนามว่าวิเทหะ สักวันหนึ่งไม่. พระราชาที่พวกท่านอ้างนั้น จักชื่อว่าพระราชากระไรได้ ท่านทั้งหลายจงไป จงถือเอาอาสน์ในที่สุดแห่งอาสน์. เมื่อกล่าวฉะนี้แล้วก็จักทุ่มเถียงกัน. พวกเจ้าก็จงเถียงว่า พระราชาอื่นยกพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเสียแล้ว จะยิ่งกว่าพระราชาของเราในที่นี้ไม่มี. กล่าวฉะนี้แล้ว จงทุ่มเถียงให้มากขึ้น แล้วพูดว่า เมื่อพวกเราไม่ได้แม้ซึ่งอาสน์เพื่อพระราชาของพวกเรา พวกเราจักไม่ให้ท่านทั้งหลายดื่มสุราและเคี้ยวกินมัจฉมังสะ ณ บัดนี้. แล้วบันลือโห่ร้อง ยังความสะดุ้งให้เกิดแก่ข้าราชการฝ่ายนั้นด้วยเสียงดัง แล้วต่อยทุบไหสุราทั้งปวงเสียด้วยค้อนใหญ่ แล้วเทสาดมัจฉมังสาหารเสีย ทำให้บริโภคไม่ได้. แล้วเข้าไปสู่ระหว่างแห่งเสนาโดยเร็ว ดุจเหล่าอสูรเข้าไปสู่เทพนคร แล้วทำเสียงให้อึกทึกครึกโครม ประกาศว่า เราทั้งหลายเป็นคนของมโหสถบัณฑิตในกรุงมิถิลา ถ้าท่านทั้งหลายสามารถก็จงจับพวกเรา. ให้ข้าราชการเหล่านั้นรู้ความที่พวกเจ้ามาแล้ว จงมาเถิด. มโหสถแจ้งให้สหชาตโยธาของตนรู้ ฉะนี้แล้วส่งไป.
               ทวยหาญสหชาตบริวารของมโหสถรับคำสั่ง ไหว้มโหสถแล้ว ผูกสอดอาวุธ ๕ ออกจากกรุงมิถิลาไปในราชอุทยานแห่งพระเจ้าจุลนี เข้าไปสู่พระราชอุทยานอันตกแต่งแล้ว ดุจนันทนวันเทพอุทยานฉะนั้น เห็นสิริราชสมบัติอันประดับแล้ว ตั้งแต่พระราชบัลลังก์พระราชาร้อยเอ็ด ซึ่งมีเศวตฉัตรอันยกแล้ว ได้ทำกิจทั้งปวงโดยนัย อันพระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว ยังมหาชนให้เอิกเกริกแล้วบ่ายหน้ากลับกรุงมิถิลา. ฝ่ายราชบริษัทข้างกรุงปัญจาละก็กราบทูลประพฤติเหตุแด่พระราชาเหล่านั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงพิโรธว่า พวกกรุงมิถิลามาทำอันตรายแก่สุราที่ประกอบยาพิษเห็นปานนี้ของเราเสีย. ฝ่ายพระราชาร้อยเอ็ดก็พิโรธว่า พวกกรุงมิถิลามาทำให้พวกเราไม่ได้ดื่มชัยบาน. ส่วนพลนิกายก็ขัดใจว่า เราทั้งหลายไม่ได้ดื่มสุราอันหามูลค่ามิได้. ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสเรียกพระราชาเหล่านั้นมา รับสั่งว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมา เราทั้งหลายจักไปกรุงมิถิลา ตัดเศียรพระเจ้าวิเทหราชเสียด้วยพระขรรค์ แล้วย่ำเหยียบเสียด้วยบาท แล้วประชุมดื่มชัยบาน ท่านทั้งหลายจงเตรียมยกกองทัพไป ตรัสฉะนี้ แล้วเสด็จในที่ลับตรัสข้อความนี้แก่เกวัฏอีกว่า เราทั้งหลายจักจับปัจจามิตรผู้ทำอันตรายแก่มงคลเห็นปานนี้ของพวกเรา พวกเราจักเป็นผู้อันเสนา ๑๘ อักโขภิณี พร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมไป ท่านอาจารย์จงไปด้วย. พราหมณ์เกวัฏดำริด้วยความที่ตนเป็นผู้ฉลาดว่า อันเราไม่อาจจะเอาชนะมโหสถบัณฑิต ความละอายจะมีแก่พวกเราเป็นแน่ เราจักยังพระราชาให้กลับพระดำริ. ลำดับนั้น เกวัฏจึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช นั่นหาใช่กำลังของพระเจ้าวิเทหราชไม่ นั่นเป็นการจัดแจง นั่นเป็นอานุภาพของมโหสถบัณฑิต กรุงมิถิลาอันเขารักษาแล้ว ดุจทำที่ราชสีห์รักษาแล้ว อันใครๆ ไม่อาจยึดเอา ความอายจักมีแก่พวกเราอย่างเดียว ไม่ควรไป ณ กรุงมิถิลา. ฝ่ายพระราชาจุลนีเป็นผู้มัวเมาด้วยความเมาในราชอิสริยยศ ด้วยถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จึงตรัสว่า มโหสถจักทำอะไรเราได้ ตรัสฉะนี้แล้วเป็นผู้อันพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมเสด็จออกไปด้วยเสนากำหนด ๑๘ อักโขภิณี. ฝ่ายอาจารย์เกวัฏ เมื่อไม่อาจจะให้พระเจ้าจุลนีเชื่อคำของตนก็โดยเสด็จไปด้วย ด้วยคิดเห็นว่าเราไม่ควรจะประพฤติให้เป็นข้าศึกต่อพระราชา.
               ฝ่ายสหชาตโยธาของมโหสถกลับถึงกรุงมิถิลาโดยราตรีเดียว แจ้งกิจที่ตนได้ทำแก่มโหสถ. ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งข่าวก่อนว่า พระเจ้าจุลนีเป็นผู้อันพระราชาร้อยเอ็ดห้อมล้อมเป็นราชบริพาร เสด็จมาด้วยทรงมุ่งจะจับพระเจ้าวิเทหราช ขอท่านผู้เป็นบัณฑิตอย่าประมาท. มโหสถได้รับข่าวจากเหล่าบุรุษที่วางไว้เนืองนิตย์ว่า วันนี้พระเจ้าจุลนีเสด็จถึงสถานที่นั้น วันนี้ถึงสถานที่นั้น ก็วันนี้จักเสด็จถึงกรุงมิถิลา. พระมหาสัตว์ได้ทราบข่าวนั้นก็ยิ่งเป็นผู้ไม่ประมาท. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตจักกรีธาทัพมายึดเมืองเรา ก็ได้ทรงฟังเสียงกึกก้องไม่ขาดเสียง. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพร้อมด้วยพลนิกายถือคบเพลิงนับด้วยแสนดวง ส่องมรรคาเสด็จมาถึงแต่หัวค่ำ. แล้วให้ล้อมเมืองมิถิลาไว้ทั้งสิ้น. ลำดับนั้น แม่ทัพก็ให้ตั้งหมู่พลในที่นั้นๆ ล้อมกรุงมิถิลาด้วยปราการคือช้าง ด้วยปราการคือรถ ด้วยปราการคือม้า เหล่าพลนิกายได้ยินบันลือลั่น ปรบมือ ผิวปาก คำรนร้องอยู่. กรุงมิถิลากำหนดทั้งสิ้น ๗ โยชน์ ก็มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยแสงสว่างประทีปและแสงสว่างเครื่องประดับ.
               สมัยนั้น ราวกะว่า เป็นการที่ปฐพีจะแตกสลาย ด้วยศัพย์สำเนียงแห่งม้ารถ และดุริยางค์ดนตรีเป็นต้น นักปราชญ์ทั้ง ๔ คือเสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะ ได้ยินเสียงโห่ร้องโกลาหลไม่รู้เรื่องก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสียงโห่ร้องอื้ออึงมาก ก็แต่ข้าพระองค์ไม่ทราบเสียงนั่นเป็นเสียงอะไร ควรที่จะทรงพิจารณ์ให้ทราบเรื่อง. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของอาจารย์ทั้ง ๔ ก็ทรงคิดว่า พระเจ้าพรหมทัตจักเสด็จมาแล้ว จึงเปิดพระแกลทอดพระเนตร ก็ทรงทราบว่า เสด็จมาแล้ว ทั้งกลัวทั้งตกพระหฤทัย ทรงเห็นชัดว่า ชีวิตของเราไม่มีละ พรุ่งนี้พระเจ้าพรหมทัตจักยังพวกเราทั้งมวลให้สิ้นชีวิต ทรงเห็นฉะนี้ ก็ประทับนั่งตรัสอยู่กับอาจารย์ทั้ง ๔. ส่วนพระโพธิสัตว์รู้ว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเสด็จมาถึงแล้ว เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดุจราชสีห์ จัดการรักษาในพระนครทั้งสิ้นแล้ว คิดว่า เราจักเล้าโลมพระราชา จึงขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ถวายบังคมพระราชา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร เห็นมโหสถมาเฝ้าก็ค่อยสบายพระหฤทัย ทรงดำริว่า คนอื่นยกมโหสถบัณฑิตผู้บุตรของเรา จะชื่อว่าสามารถเปลื้องเราจากทุกข์ ย่อมไม่มี.
               เมื่อจะรับสั่งกับมโหสถ ได้ตรัสคาถาแรกในมหาอุมมังคชาดก นี้ว่า
               ดูก่อนพ่อมโหสถ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเจ้ากรุงปัญจาละเสด็จยาตราทัพมา พร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า. กองทัพของพระเจ้ากรุงปัญจาละนี้นั้นพึงประมาณไม่ได้ มีกองช่างโยธา กองราบ ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทั้งปวง. สามารถจะนำข้าศึกมาได้ มีเสียงอื้ออึง ยังกันและกันให้รู้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์.
               มีวิทยาทางโลหธาตุ มีเครื่องประดับ มีธงเกลื่อนกล่นด้วยช้างม้า สมบูรณ์ด้วยเหล่าคนมีศิลป์ ตั้งมั่นด้วยดีด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า. กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีราชบุรุษ ๑๐ คนเป็นผู้ฉลาด มีปัญญา ประชุมปรึกษากันในที่ลับ. พระชนนีของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นที่ ๑๑ ย่อมทรงสั่งสอนชาวปัญจาลนคร.
               ที่นั้น บรรดาชนเหล่านี้ พระราชาร้อยเอ็ดผู้เรืองยศ ตามเสด็จพระเจ้าปัญจาลราช ถูกชิงแว่นแคว้น กลัวมรณภัย ตกอยู่ในอำนาจของชาวปัญจาลนคร. เป็นผู้ทำตามพระราชกระแสที่ดำรัส ไม่มีความปรารถนาก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก. ตามเสด็จพระเจ้าปัญจาลราช เป็นผู้มีอำนาจมาก่อน ไม่มีความปรารถนา ก็ต้องอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาลราช.
               กรุงมิถิลาถูกกองทัพนั้นแวดล้อมเป็น ๓ ชั้น ราชธานีของชาววิเทหรัฐถูกขุดเป็นคูโดยรอบ. กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลาโดยรอบนั้น ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า. ดูก่อนพ่อมโหสถ พ่อจงรู้ว่า พวกเราจักพ้นทุกข์ได้อย่างไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพเสนาย ความว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า. นับได้ ๑๘ อักโขภิณี มีพระราชาร้อยเอ็ดเป็นผู้นำ. บทว่า ปญฺจาลิยา ได้แก่ เป็นของมีอยู่ของพระเจ้าปัญจาลราช. บทว่า วิทฺธิมตี ความว่า ประกอบด้วยกำลังของช่างไม้ ผู้เที่ยวแบกทัพสัมภาระที่นำมาเพื่อการช่าง. บทว่า ปตฺติมตี ได้แก่ อันบุรุษผู้ถือเอาสิ่งประเสริฐน้อยใหญ่รักษาแล้ว. บทว่า สพฺพสงฺคามโกวิทา ได้แก่ ผู้ฉลาดในสงครามทั้งปวง. บทว่า โอหารินี ความว่า สามารถแอบเข้าไปในกองทัพไม่มีใครเห็น ตัดศีรษะข้าศึกนำมาได้. บทว่า สทฺทวตี ได้แก่ ไม่สงัดจากเสียง ๑๐ ประการ. บทว่า เภริสงฺขปฺปโพธนา ความว่า ในที่นั้นไม่สามารถจะให้รู้ด้วยคำสั่งว่า จงมา จงรุก จงรบ จงอย่าไปเป็นต้น. แต่กิจเช่นนั้นจะให้รู้กันได้ในที่นี้ ด้วยเสียงกลองและด้วยเสียงสังข์ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ยังกันและกันให้รู้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์. บทว่า โลหวิชฺชา ในบาทคาถาว่า โลหวิชฺชา อลงฺการา นี้นั้น เป็นชื่อของโล่ เช่นเสื้อเกราะหมวกเกราะเป็นต้น ซึ่งประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นศิลปโลหะ. บทว่า อลงฺการา ได้แก่ เป็นเครื่องประดับของพระราชา และมหาอมาตย์ของพระราชาเป็นต้น. เพราะฉะนั้น ในบาทคาถานี้ จึงมีเนื้อความดังนี้ว่า ชื่อว่ามีวิทยาทางโลหธาตุ มีเครื่องประดับ เพราะสว่างไสวไปด้วยวิทยาทางโลหธาตุและด้วยเครื่องประดับ. บทว่า ธชนี ความว่า ประกอบด้วยธงทั้งหลายที่ยกขึ้นบนรถเป็นต้น ซึ่งประดับด้วยทอง เป็นต้น รุ่งเรืองด้วยวัตถุต่างๆ.
               บทว่า วามโรหินี ความว่า ทหารเหล่านั้นท่านเรียกว่า วามโรหินี เพราะเมื่อขึ้นช้างขึ้นม้า ย่อมขึ้นข้างซ้าย. ประกอบด้วยทหารเหล่านั้น คือเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างและม้าซึ่งประมาณมิได้. บทว่า สิปฺปิเยหิ ความว่า สมบูรณ์ด้วยดี คือเกลื่อนกล่นด้วยเหล่าทหารที่ถึงความสำเร็จในศิลปะ ๑๘ อย่าง มีหัตถีศิลปะและอัศวศิลปะเป็นต้น. บทว่า สูเรหิ ความว่า แน่ะพ่อ ได้ยินว่า กองทัพนี้ตั้งมั่นด้วยดี ด้วยเหล่าทหารผู้มีความบากบั่นเสมอด้วยราชสีห์. บทว่า อาหุ ความว่า กล่าวกันว่าในกองทัพนี้มีบัณฑิต ๑๐ คน. บทว่า รโหคตา ความว่า มีปกติไปในที่ลับ คือมีปกตินั่งปรึกษากันในที่ลับ เล่ากันว่า บัณฑิตเหล่านั้นเมื่อได้คิดกันวันสองวัน ก็สามารถจะกลับเอาแผ่นดินขึ้นตั้งไว้ในอากาศได้. บทว่า เอกาทสี ความว่า ได้ยินว่า พระชนนีของพระเจ้าจุลนีนั้น ประกอบด้วยปัญญายิ่งกว่าบัณฑิต ๑๐ คนนั้น. พระชนนีนั้นเป็นคนฉลาดที่ ๑๑ ของบัณฑิตเหล่านั้น สั่งสอนพร่ำสอนกองทหารปัญจาละ.
               เล่ากันมาว่า วันหนึ่งมีบุรุษคนหนึ่งถือข้าวสารหนึ่งทะนาน ข้าวสุกหนึ่งห่อ และกหาปณะหนึ่งพัน คิดจะข้ามแม่น้ำ ก็ลงถึงท่ามกลางแม่น้ำ ไม่อาจจะข้ามได้ จึงกล่าวกะชนทั้งหลายผู้ยืนอยู่ริมฝั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าวสารหนึ่งทะนาน ข้าวสุกหนึ่งห่อ และกหาปณะหนึ่งพันของข้าพเจ้ามีอยู่ในมือ บุคคลผู้สามารถยังข้าพเจ้าให้ได้ข้ามจากฝั่งนี้ ข้าพเจ้าจักให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจซึ่งมีอยู่ในมือ. ลำดับนั้น มีบุรุษหนึ่งถึงพร้อมด้วยกำลัง นุ่งผ้ามั่นแล้วข้ามลงสู่แม่น้ำ จับแขนบุรุษนั้นให้ข้ามลงไป แล้วกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งที่ควรให้แก่ข้าพเจ้า. บุรุษนั้นกล่าวตอบว่า ท่านจงถือเอาข้าวสารหนึ่ง ทะนานหรือข้าวสุกหนึ่งห่อ. บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่คิดชีวิตพาท่านข้ามฟาก ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยของสองสิ่งนั้น ท่านจงให้กหาปณะแก่ข้าพเจ้า. บุรุษผู้ว่าจะให้ของชอบใจนั้นจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้พูดว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างแก่ท่าน. บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจแก่ท่าน ท่านอยากได้ก็จงถือเอา. บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงพูดแก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ยืนอยู่ใกล้. บุคคลผู้นั้นก็กล่าวตอบว่า บุรุษผู้ว่าจะให้ของชอบใจให้ของที่ชอบใจแก่ท่าน ท่านรับเอาเถิด. บุรุษผู้พาข้ามฟากกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เอา. แล้วพาบุรุษผู้จะให้ของชอบใจไปสู่ที่วินิจฉัย แจ้งแก่อมาตย์ผู้วินิจฉัยทั้งหลาย. ฝ่ายอมาตย์ผู้วินิจฉัยเหล่านั้นได้ฟังข้อความทั้งปวงก็วินิจฉัยอย่างนั้น. บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่ยินดีด้วยวินิจฉัยแห่งอมาตย์เหล่านั้น จึงกราบทูลพระราชา. ฝ่ายพระราชาจุลนีให้เรียกอมาตย์ผู้วินิจฉัยเหล่านั้นมา ทรงฟังคำของชนทั้ง ๒ แต่สำนักอมาตย์ผู้วินิจฉัย. เมื่อไม่ทรงทราบจะวินิจฉัยอย่างอื่น จึงทรงวินิจฉัยทับสัตย์. บุรุษผู้พาข้ามฟากได้ฟังพระราชวินิจฉัยดังนั้น ก็พูดขึ้นหน้าพระที่นั่งว่า พระองค์ทำข้าพระองค์ผู้สละชีวิตลงสู่แม่น้ำให้มีโทษ.
               ขณะนั้น พระชนนีแห่งพระเจ้าจุลนีมีพระนามว่า สลากเทวี ประทับนั่งอยู่ใกล้ ทรงทราบความที่พระราชาวินิจฉัยผิด. จึงตรัสว่า พ่อวินิจฉัยคดีที่วินิจฉัยผิด ดีแล้วหรือ. พระเจ้าจุลนีทูลพระราชมารดาว่า ข้าพระเจ้าทราบเท่านี้ ถ้าว่าพระมารดาทรงทราบยิ่งกว่านี้ไซร้ ขอได้ทรงวินิจฉัยอีกเถิด. พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งว่า ดีล่ะพ่อ แม่จะวินิจฉัย. จึงรับสั่งให้เรียกบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจมาแล้วตรัสว่า เจ้าจงมา จงวางของ ๓ อย่างที่เจ้าถืออยู่ไว้ที่ภาคพื้น. แล้วตรัสถามว่า เมื่อเจ้าลอยอยู่ในน้ำ เจ้าพูดว่ากระไรกะบุรุษผู้พาเจ้าข้ามฟากคนนี้. ครั้นบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจทูลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงถือเอาของที่เจ้าชอบใจของเจ้า ณ บัดนี้. บุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจจึงถือเอาถุงกหาปณะหนึ่งพัน. ลำดับนั้น พระนางจึงให้เรียกบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจมา ในกาลเมื่อเดินไปได้หน่อยหนึ่ง. ตรัสถามว่า เจ้าชอบกหาปณะหนึ่งพันหรือ. ครั้นได้ทรงฟังทูลตอบว่า ชอบกหาปณะหนึ่งพัน พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า เจ้าพูดกะบุรุษผู้พาข้ามฟากนี้ว่า เราจักให้ของที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างนี้แก่เขาหรือไม่ได้พูด. ครั้นได้ทรงฟังตอบว่า ได้พูด. จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงให้กหาปณะหนึ่งพันแก่บุรุษผู้พาเจ้าข้ามฟากนี้ นั่นแล. บุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจได้ฟังพระวินิจฉัย ฉะนั้น. ก็ร้องไห้คร่ำครวญได้ให้กหาปณะหนึ่งพัน แก่บุรุษผู้พาตนข้ามฟากนั้น. ขณะนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตและอมาตย์ทั้งหลาย ยินดีในพระวินิจฉัยนั้นต่างแซ่ซ้องสาธุการ. จำเดิมแต่นั้น ความที่พระนางเจ้าสลากเทวีพระราชชนนีของพระเจ้าจุลนีเป็นผู้เป็นไปด้วยพระปัญญา ก็บังเกิดปรากฏในที่ทั้งปวง. พระเจ้าวิเทหราชทรงหมายเอาพระนางเจ้าองค์นี้ จึงตรัสว่า มาตาเอกาทสี เป็นต้น.
               บทว่า ขตฺยา ได้แก่ กษัตริย์ทั้งหลาย. บทว่า อจฺฉินฺนรฏฐา ความว่า ถูกพระเจ้าจุลนีพรหมทัตชิงแว่นแคว้นยึดครอง. บทว่า พฺยถิตา ความว่า กลัวแต่มรณภัย ไม่ทรงเห็นสิ่งอื่นที่จะพึงถือเอา. บทว่า ปญฺจาลีนํ วสํ คตา ความว่า ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาลราชนี้ ก็บทนี้เป็น ทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ. บทว่า ยํ วทา ตกฺกรา ความว่า อาจกระทำตามพระราชกระแสที่ตรัส. บทว่า วสิโน คตา ความว่า เมื่อก่อนมีอำนาจเอง แต่เดี๋ยวนี้อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจุลนี. บทว่า ติสนฺธิ ความว่า ถูกล้อมด้วยกำแพง ๔ เหล่านี้คือ ถูกล้อมด้วยกำแพง คือช้างเป็นชั้นแรก ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพง คือรถ ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพง คือม้า ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพง คือพลราบ ชื่อว่าล้อม ๓ ชั้น คือระหว่างกองช้างกับกองรถเป็นชั้น ๑ ระหว่างกองรถกับกองม้าเป็นชั้น ๑ ระหว่างกองม้ากับกองพลราบเป็นชั้น ๑. บทว่า ปริกฺขญฺญติ ความว่า บัดนี้ นครนี้ถูกขุดโดยรอบเหมือนเขาประสงค์จะยกขึ้นถือไป. บทว่า อุทฺธํ ตารกชาตาว ความว่า กองทัพที่ล้อมรอบกรุงมิถิลานั้น ปรากฎด้วยอาวุธทั้งหลายมีท่อนไม้เป็นต้น หลายร้อยหลายพัน เหมือนดาวบนท้องฟ้า. บทว่า วิชานาหิ ความว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตผู้ฉลาดในอุบายเช่นเจ้าไม่มี. อนึ่ง ชื่อว่าความเป็นบัณฑิต ย่อมรู้กันได้ในฐานะเห็นปานนี้ เพราะคนอื่นเช่นเจ้าไม่มี. ฉะนั้น เจ้าเท่านั้นจงรู้ว่า พวกเราจักพ้นความทุกข์นี้ได้อย่างไร.
               พระมหาสัตว์ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชดังนี้แล้ว ดำริว่า พระราชานี้ทรงกลัวมรณภัยเหลือเกิน ก็แพทย์เป็นที่พึ่งอาศัยของคนไข้ โภชนาหารเป็นที่พึ่งอาศัยของคนหิว น้ำดื่มเป็นที่พึ่งอาศัยของคนระหาย เว้นเราเสีย คนอื่นที่เป็นที่พึ่งอาศัยของพระราชานี้ไม่มี เราจักปลอบโยนพระองค์ให้เบาพระหฤทัย. ครั้งนั้น พระมหาสัตว์มิได้ครั่นคร้ามดุจราชสีห์บันลือสีหนาท ณ พื้นมโนศิลา กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงกลัวเลย จงเสวยราชสมบัติให้เป็นสุขเถิด ข้าพระองค์จักทำกองทัพซึ่งนับได้ ๑๘ อักโขภิณีนี้ ให้เป็นผู้มิใช่เจ้าของ แม้แห่งผ้าสาฎกที่พันท้องอยู่ให้หนีไป ดุจบุคคลเงื้อก้อนดินให้กาหนีไป และดุจบุคคลขึ้นธนูให้ลิงหนีไป ฉะนั้น.
               กราบทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงเหยียดพระยุคลบาทให้ผาสุก เชิญเสวยและรื่นรมย์ในกามสมบัติเถิด พระเจ้าจุลนีพรหมทัตจะละกองทัพชาวปัญจาละ หนีไป.

               เนื้อความของคาถานั้นมีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงเหยียดพระยุคลบาท กล่าวคือเสวยราชย์ของพระองค์ตามสบายเถิด และเมื่อทรงเหยียด อย่าได้คิดเรื่องการสงคราม. โปรดเสวยและรื่นรมย์ในกามสมบัติเถิด พระเจ้าจุลนีพรหมทัตนี้ จักทรงทิ้งกองทัพนี้หนีไป.
               มโหสถบัณฑิตยังพระราชาให้อุ่นพระหฤทัย แล้วออกมาให้ยังกลองแจ้ง เรื่องเล่นมหรสพเที่ยวป่าวร้องในพระนคร. กล่าวกะชาวพระนครว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้วิตกเลย จงยังวัตถุทั้งหลายมีดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ น้ำดื่มและโภชนะเป็นต้น ให้ถึงพร้อมแล้วเริ่มเล่นมหรสพ. มโหสถกล่าวกะชาวพระนครว่า ชนทั้งหลายในที่นั้นๆ จงดื่มใหญ่ จงเล่นดีดสีตีเป่า จงประโคมดนตรี จงฟ้อนรำ จงโห่ร้อง จงเฮฮา จงบันลือเสียงให้เอิกเกริก จงตบมือให้สนุก จงขับร้องตามสบาย ค่าใช้จ่ายสำหรับพวกท่านทั้งหลาย เป็นของเราจัดให้ทั้งนั้น. เราผู้มีนามว่ามโหสถบัณฑิต พวกท่านจักได้เห็นอานุภาพของเรา ยังชาวพระนครให้เบาใจแล้ว. ชาวพระนครได้ทำตามนั้น. ชนทั้งหลายอยู่นอกเมืองย่อมได้ยินเสียง มีเสียงขับประโคมเป็นต้น ก็พากันเข้าสู่ภายในเมืองทางประตูน้อย. ผู้รักษาทั้งหลายย่อมไม่จับกุมบุคคลที่ตนเห็นแล้วๆ นอกจากพวกศัตรู. เพราะฉะนั้น คนเดินเข้าออกมิได้ขาด บุคคลเข้าไปในเมืองย่อมเห็นคนเล่นมหรสพ.
               ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงสดับเสียงโกลาหลในกรุงมิถิลา จึงตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ในเมื่อพวกเราล้อมเมือง ด้วยกองทัพนับด้วยอักโขภิณีตั้งอยู่แล้ว ความกลัวหรือเพียงความพรั่นพรึง ย่อมไม่มีแก่ชาวเมือง. ชาวเมืองร่าเริงปีติโสมนัส ประโคมฟ้อนรำขับโห่ร้องเกรียวกราว ตบมือ คุกคาม มีเหตุการณ์เป็นไฉน. ลำดับนั้น บุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ทูลมุสาแด่พระราชาว่า ข้าแต่เทพเจ้า พวกเรามีกิจอันหนึ่งเข้าไปในเมืองทางประตูน้อย เห็นประชาชนชาวเมืองเล่นการมหรสพ ได้ซักถามว่า พระราชาในสกลชมพูทวีปมาล้อมเมืองของท่านทั้งหลายตั้งอยู่แล้ว แต่พวกท่านเป็นผู้ประมาทเหลือเกิน เหตุการณ์เป็นอย่างไร. ชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวตอบว่า พระราชาของเราทั้งหลายทรงปรารถนาอย่างหนึ่ง. ได้มีในกาลเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า ในเมื่อเมืองเราอันพระราชาในสกลชมพูทวีปล้อมแล้ว พวกเราจักเล่นมหรสพ วันนี้ความปรารถนาของพระราชาแห่งพวกเราถึงที่สุด. เพราะฉะนั้น ทางราชการจึงป่าวร้องให้ชาวเมืองเล่นมหรสพ ดื่มใหญ่ในที่ของตนๆ. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงฟัง ถ้อยคำของพวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ทรงขัดเคือง. ตรัสสั่งเสนาว่า ท่านทั้งหลายจงไป จงรีบถมเมืองข้างนี้ด้วยข้างนี้ด้วย จงทำลายคู จงทำลายกำแพง จงทำลายประตูหอรบ เข้าไปในเมือง เอาศีรษะชาวเมืองมาด้วยเกวียนร้อยเล่ม ดุจเอาฟักเขียวมา ฉะนั้น. จงตัดเศียรพระเจ้าวิเทหราชนำมา.
               โยธาผู้กล้าหาญทั้งหลายได้ฟังพระราชดำรัสสั่ง ก็กุมอาวุธมีประการต่างๆ ไปสู่ที่ใกล้ประตูหอรบ. ถูกทวยหาญของมโหสถประทุษร้าย ด้วยการเทสาดเปือกตม ระคนด้วยก้อนกรวดและเลน ระคนด้วยทราย และการทิ้งก้อนศิลา ก็ถอยกลับลงสู่คูด้วยคิดจะทำลายกำแพง. เหล่าโยธาที่ตั้งอยู่บนประตูเชิงเทินภายใน ก็ทำให้ข้าศึกถึงความพินาศใหญ่ ด้วยเครื่องสังหารมีลูกศรหอกและโตมรเป็นต้น. โยธาของมโหสถย่อมเบียดเบียนโยธาของพระเจ้าจุลนี สำแดงวิการแห่งมือเป็นต้น และด่าบริภาษขู่ด้วยประการต่างๆ พูดยั่วให้โกรธว่า พวกเจ้ามีร่างกายเหน็ดเหนื่อย จงมาดื่มเคี้ยวกินสักหน่อยซิ แล้วสาดสุราทิ้งภาชนะสุราและโยนมัจฉมังสะ กับทั้งไม้เสียบมัจฉมังสะลงไป. ส่วนพวกสัตว์ก็ดื่มเคี้ยวกินเดินไปมาบนกำแพง โยธากรุงปัญจาละไม่อาจจะทำอะไรได้. ก็ไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุคคลเหล่าอื่นยก ท่านผู้มีอานุภาพแล้ว ไม่สามารถจะเอาชัยชนะได้. พระเจ้าจุลนีประทับแรมอยู่ ๔-๕ ราตรี เมื่อไม่ทรงเห็นอุบายที่จะหักเอาเมืองมิถิลาได้ จึงตรัสถามเกวัฏว่า อาจารย์ พวกเราไม่สามารถจะยึดพระนครได้ แม้คนคนหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะเข้าใกล้ จะควรทำอย่างไร. เกวัฎกราบทูลสนองว่า ช่างก่อนเถอะ พระเจ้าข้า. ธรรมดาเมืองมีน้ำภายนอก เราจักเอาเมืองได้ด้วยสิ้นน้ำ พวกในเมืองลำบากด้วยน้ำ จักเปิดประตูเมืองออกมา. พระราชาทรงเห็นชอบด้วยว่า อุบายนี้ดี จำเดิมแต่นั้นมา. พวกข้างกองทัพก็มิให้ใครนำน้ำเข้าไปในเมือง. บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็เขียนหนังสือผูกปลายลูกศรยิงส่งข่าวเข้าไปในเมือง. เพราะมโหสถตั้งอาณัติไว้ว่า ใครพบหนังสือที่ปลายลูกศรจงนำมาให้เราดังนี้.
               ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งเห็นหนังสือที่ปลายลูกศรก็เอาไปแสดงแก่มโหสถ มโหสถรู้ข่าวนั้น จึงนึกว่า พระเจ้าจุลนีไม่รู้จักความที่เราเป็นมโหสถบัณฑิต จึงให้ผ่าไม้ไผ่ยาว ๖๐ ศอกออกเป็น ๒ ซีก รานปล้องออกหมด แล้วประกบกันเข้าอีก รัดด้วยหนัง ทาโคลนข้างบน ให้หว่านโตนดสายบัวและพืชบัวขาว ซึ่งได้มาแต่ดาบสผู้มีฤทธิ์นำมาแต่หิมวันตประเทศ ในเลนใกล้ฝั่งสระโบกขรณี วางไม้ไผ่ไว้ข้างบนกรอกน้ำลงไป คืนเดียวเท่านั้นเกิดดอกขึ้นไปๆ ถึงปลายไม้ไผ่สูงพันราว ๑ ศอก. ลำดับนั้น มโหสถยังบุรุษทั้งหลายของตนให้ถอนสายบัวนั้น โยนให้พวกข้าศึก ด้วยคำว่า พวกท่านจงถวายสายบัวนี้แก่พระเจ้าจุลนี. เหล่าบุรุษของมโหสถทำสายบัวนั้นให้เป็นวลัย แล้วร้องบอกว่า แน่ะท่านทั้งหลาย ผู้เป็นข้าบาทของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เหล่าท่านอย่าตายด้วยความหิวเลย จงรับเอาดอกอุบลนี้ประดับ เคี้ยวกินสายบัวให้อิ่มหนำ. ร้องบอกฉะนี้ แล้วโยนลงไป บุรุษคนหนึ่งที่มโหสถวางไว้ จึงถือเอาสายบัวนั้นนำไปถวายพระเจ้าจุลนี. กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอได้ทอดพระเนตรสายบัวนี้ สายบัวยาวเท่านี้ เราทั้งหลายไม่เคยเห็นมาแต่ก่อนจนบัดนี้. ครั้นเมื่อพระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงวัดดู. ก็วัดสายบัวอันยาว ๖๐ ศอก ทูลว่า ๘๐ ศอก. ในเมื่อพระราชาตรัสถามอีกว่า บัวนั่นเกิดในที่ไหน. บุรุษคนหนึ่งที่มโหสถวางไว้กราบทูลเท็จว่า วันหนึ่ง ข้าพระเจ้ากระหายน้ำเข้าไปในเมืองทางประตูน้อย ด้วยคิดจะดื่มสุรา ได้เห็นสระโบกขรณีใหญ่ทั้งหลายที่ขุดไว้ เพื่อประโยชน์แห่งชาวเมืองเล่นน้ำ. มหาชนนั่งในเรือเก็บดอกบัว ดอกบัวนี้เกิดริมฝั่งสระโบกขรณีนั้น ก็แต่สายบัวอันเกิดในที่ลึกยาวราว ๑๐๐ ศอก. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้สดับข้อความนั้น จึงตรัสแก่เกวัฏว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ พวกเราไม่อาจจะยึดเอาเมืองนี้ด้วยให้สิ้นน้ำ ท่านเลิกความคิดนี้เสียเถิด.
               พราหมณ์เกวัฏกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จักยึดเอาเมืองนี้ด้วยให้สิ้นข้าว เพราะธรรมดาว่า นครต้องมีข้าวภายนอก. พระราชาตรัสให้ทำอย่างนั้น. มโหสถบันฑิตรู้ข่าวนั้นโดยนัยหนหลัง จึงนึกว่า พราหมณ์เกวัฏไม่รู้จักความที่เราเป็นมโหสถบัณฑิต จึงให้เทโคลนตามบนกำแพงเมือง แล้วให้หว่านข้าวเปลือกในที่นั้น. ธรรมดา ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายย่อมสำเร็จราตรีเดียวเท่านั้น. ข้าวเปลือกก็งอกขึ้นบนกำแพงเมือง. พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นต้นข้าวนั้น จึงตรัสถามว่า นั่นอะไรปรากฏเขียวอยู่บนกำแพงเมือง. บุรุษที่มโหสถวางไว้ได้ฟังพระราชกระแส ก็เป็นเหมือนคอยชิงมาแต่พระโอฐสนองพระราชดำรัส จึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ได้ยินว่า บุตรแห่งคฤหบดีอันมีนามว่ามโหสถบัณฑิต คิดเห็นภัยในอนาคตกาล จึงให้ขนข้าวเปลือก แต่แคว้นขึ้นฉางหลวงไว้ แล้วเก็บงำข้าวเปลือกที่เหลือไว้ริมกำแพง. ได้ยินว่า ข้าวเปลือกเหล่านั้น แห้งไปด้วยแดด ชุ่มไปด้วยฝน และข้าวกล้าทั้งหลายก็เกิดขึ้นพร้อมในที่นั้น. วันหนึ่งข้าพเจ้าเข้าไปโดยประตูน้อยด้วยกิจอันหนึ่ง เห็นกองข้าวเปลือกริมกำแพง ก็หยิบข้าวเปลือกมาจากกองนั้น ทิ้งไว้ริมทาง. ทีนั้นหมู่ชนเมื่อจะพูดกับข้าพระเจ้าว่าชะรอยท่านจะหิว จึงบอกว่า ท่านจงเอาชายผ้าห่อข้าวเปลือกไปเรือนของท่านให้ตำหุงกินซิ. พระเจ้ากรุงปัญจาละได้สดับดังนั้น จึงตรัสกะพราหมณ์เกวัฏว่า เราไม่อาจจะยึดเอาเมืองด้วยให้สิ้นธัญญาหาร อุบายอื่นมีหรือ.
               เกวัฏกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น เราจักยึดเอาด้วยสิ้นฟืน ขึ้นชื่อว่า เมืองย่อมมีฟืนภายนอก. พระราชาตรัสให้ดำเนินการอย่างนั้น. ฝ่ายมโหสถรู้ข่าวนั้นดังหนหลัง ให้ทำกองฟืนประมาณเท่าภูเขา ให้ปรากฏล่วงพ้นข้าวเปลือกบนกำแพง. พวกคนของมโหสถ เมื่อกล่าวเยาะเย้ยเล่นกับโยธาของพระเจ้าจุลนี จึงกล่าวว่า ถ้าพวกท่านหิวจงหุงข้าวกินเสีย แล้วโยนฟืนใหญ่ๆ ลงไปให้. ฝ่ายพระราชาจุลนีทอดพระเนตร เห็นฟืนเป็นอันมากกองพ้นกำแพงเมือง. จึงตรัสถามว่า นั่นอะไร. บุรุษที่มโหสถวางไว้จึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ได้ยินว่า บุตรคฤหบดีผู้มีนามว่ามโหสถเห็นภัยในอนาคต จึงให้ขนฟืนมากองไว้หลังเรือนแห่งเหล่าสกุล และให้กองไว้ริมกำแพงเมืองก็มิใช่น้อย. พระเจ้ากรุงปัญจาละได้สดับดังนั้น จึงตรัสกะอาจารย์เกวัฏว่า เราไม่อาจจะยึดเอาเมืองด้วยสิ้นฟืน ท่านจงเลิกอุบายนี้เสีย. พราหมณ์เกวัฏทูลว่า ขอพระองค์อย่าได้ทรงวิตก อุบายอื่นยังมี. พระเจ้าจุลนีตรัสถามว่า อุบายอย่างไรอีก เรายังไม่เห็นที่สุดอุบายของท่าน. เราไม่สามารถจะยึดเอาวิเทหรัฐได้ เราจักกลับเมืองของเรา. เกวัฏจึงทูลว่า ความอายว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตกับพระราชาร้อยเอ็ด ไม่สามารถจะยึดเอาวิเทหรัฐได้ จักมีแก่พวกเรา. มโหสถจักเป็นบัณฑิตอย่างไร แม้ข้าพระองค์ก็เป็นบัณฑิตแท้จริง. พวกเราจักทำเลสอันหนึ่ง พระราชาตรัสว่า เลสอะไร.
               เกวัฏจึงทูลสนองว่า พวกเราจักทำธรรมยุทธ์. พระราชาตรัสถามว่า อะไรเรียกว่าธรรมยุทธ์. เกวัฏทูลตอบว่า เสนาจักไม่ต้องรบ. ก็แต่บัณฑิตทั้งสองของพระราชาทั้งสองจักอยู่ในที่เดียวกัน. ในบัณฑิตทั้งสองนั้น บัณฑิตใดจักไหว้ บัณฑิตนั้นจักแพ้. ก็มโหสถไม่รู้ความคิดนี้ และข้าพระองค์ก็เป็นผู้แก่กว่า มโหสถยังเป็นหนุ่ม เห็นข้าพระองค์ก็จักไหว้. มโหสถไหว้ข้าพระองค์ เมื่อใด. ชาวแคว้นวิเทหะก็จักชื่อว่า อันพวกเราชนะแล้ว. ทีนั้น พวกเราจักยังวิเทหรัฐให้ปราชัยแล้วยึดไว้เป็นเมืองของตน. ความอายจักไม่มีแก่พวกเรา ด้วยประการฉะนี้. รบด้วยเลสนี้ชื่อว่าธรรมยุทธ์. ฝ่ายมโหสถได้ทราบรหัสเหตุเหมือนหนหลัง จึงคิดว่า ถ้าเราแพ้เกวัฏ เราก็ไม่ใช่บัณฑิต. ส่วนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสว่า อุบายนี้งามละอาจารย์. ให้เขียนราชสาสน์ความว่า พรุ่งนี้ธรรมยุทธ์จักมี ชนะหรือปราชัยโดยธรรมโดยเสมอจักมีแก่บัณฑิตทั้งสอง. ผู้ใดไม่ทำธรรมยุทธ์ ผู้นั้นชื่อว่าพ่ายแพ้. ดังนี้แล้ว ส่งไปถวายพระเจ้าวิเทหรัฐทางประตูน้อย. พระเจ้ากรุงมิถิลาได้ทรงสดับราชสาสน์นั้น ให้เรียกมโหสถมาแจ้งเนื้อความนั้น. มโหสถกราบทูลว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า ขอสมมติเทพ พระราชทานราชสาสน์ตอบไปว่า ชาวกรุงมิถิลาจักเตรียมจัดสนามธรรมยุทธ์ไว้ ทางประตูด้านปัศจิมทิศ. กองทัพกรุงปัญจาละจงมาสู่สนามธรรมยุทธ์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของมโหสถ จึงพระราชทานราชสาสน์ ตอบแก่ทูตผู้มาแล้ว นั่นเอง.
               มโหสถให้เตรียมจัดสนามธรรมยุทธ์ทางประตูด้านปัศจิมทิศ ด้วยคิดว่า ปราชัยจักมีแก่เกวัฏวันพรุ่งนี้. ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ร้อยเอ็ดคน ก็ล้อมเกวัฏไว้เพื่อประโยชน์แก่การรักษามโหสถด้วยคิดว่า ใครจะรู้เหตุการณ์ เหตุการณ์อะไรจักเกิดมี. ส่วนพระราชาร้อยเอ็ดก็ไปสู่สนามธรรมยุทธ์ ยืนคอยดูทางปราจีนทิศ พราหมณ์เกวัฏก็ไปเช่นนั้นเหมือนกัน. ฝ่ายมโหสถบรมโพธิสัตว์สนานน้ำหอมแต่เช้าทีเดียวแล้ว นุ่งผ้ามาแต่แคว้นกาสีราคานับด้วยแสนกหาปณะ แล้วประดับเครื่องอลังการทั้งปวง บริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ไปสู่พระทวารด้วยบริวารใหญ่. ครั้นได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าว่า บุตรของเราจงเข้ามา ดังนี้ ก็เข้าไปถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ครั้นได้สดับพระราชดำรัสถามถึงเหตุที่มาเฝ้า จึงกราบทูลว่า จักไปสนามธรรมยุทธ์. ครั้นตรัสถามว่า จะต้องการอะไร. จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ประสงค์จะลวงเกวัฏด้วยแก้วมณี ควรที่ข้าพระองค์จะได้มณีรัตนะ ๘ คด พระราชาก็ทรงอนุญาต. มโหสถรับมณีรัตนะนั้นแล้ว ถวายบังคมพระราชาลงจากพระราชนิเวศน์ มีโยธาสหชาตพันหนึ่งแวดล้อม. ขึ้นสู่รถอันประเสริฐเทียม ด้วยม้าเศวตสินธพอันควรค่าเก้าแสนกหาปณะ ถึงริมประตูเวลากินอาหารเช้า. ฝ่ายเกวัฏยืนคอยดูทางมาแห่งมโหสถ ด้วยคิดว่า มโหสถจักมาถึงบัดนี้ๆ เป็นเสมือนยื่นคอด้วยแลหา เหงื่อไหลโซมด้วยความร้อนแห่งดวงอาทิตย์.
               ฝ่ายมโหสถเต็มไปด้วยความเป็นผู้มีบริวารมาก ดุจมหาสมุทรท่วมทับ เป็นผู้มิได้สยดสยองมิได้พองขนดุจไกรสรสีหราช ให้เปิดประตูออกจากพระนคร ลงจากรถดำเนินไปโดยว่องไวองอาจดุจพระยาราชสีห์. พระราชาร้อยเอ็ดเห็นสิริรูปแห่งพระโพธิสัตว์ ก็ยังศัพท์สำเนียงเอิกเกริก สรรเสริญเกียรติพระโพธิสัตว์ให้เป็นไปว่า ได้ยินว่า บุตรสิริวัฒกเศรษฐีผู้มีนามว่า มโหสถบัณฑิต เป็นผู้ไม่มีสอง ไม่มีใครเปรียบด้วยความปรีชาในสกลชมพูทวีป. ฝ่ายมโหสถมีสิริสมบัติหาที่เปรียบมิได้ คือมณีรัตนะ เดินตรงไปหาพราหมณ์เกวัฏ. ส่วนปุโรหิตเกวัฏเห็นมโหสถบรมโพธิสัตว์ ก็ไม่อาจจะทรงกายอยู่ได้ ลุกขึ้นต้อนรับกล่าวว่า ท่านมโหสถบัณฑิต เราทั้งสองเป็นบัณฑิตเหมือนกัน เมื่อพวกข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี้นานเพราะท่าน ท่านไม่สั่งสักว่าเครื่องบรรณาการมาบ้าง เพราะเหตุไร ท่านจึงได้ทำอย่างนี้. ลำดับนั้น มโหสถกล่าวตอบเกวัฏว่า ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าหาบรรณาการที่สมควรแก่ท่าน พึ่งได้มณีวันนี้เอง ท่านจงรับเอามณีรัตนะนี้ มณีรัตนะอื่นอย่างนี้ หาไม่ได้ทีเดียว เกวัฏเห็นมณีรัตนะอันรุ่งเรืองอยู่ในมือมโหสถ ก็คิดว่า มโหสถจักประสงค์ให้เรา จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงให้ แล้วเหยียดมือคอยรับ. มโหสถจึงกล่าวว่า ท่านคอยรับเถิดแล้วโยนไปให้ตก ณ นิ้วมือที่เหยียดรับ. ลำดับนั้น เกวัฏไม่อาจทานแก้วมณีอันมีน้ำหนักด้วยนิ้วมือ แก้วมณีก็พลาดตกใกล้เท้ามโหสถ เกวัฏก็น้อมกายลงแทบเท้าแห่งมโหสถด้วยใคร่จะถือเอา เพราะความโลภ. ลำดับนั้น มโหสถก็ไม่ให้เกวัฏลุกขึ้นได้ จับคอเกวัฏไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง จับชายกระเบนไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง กล่าวว่า ลุกขึ้นซิ ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าเป็นเด็กเท่ากับหลานของท่าน ท่านอย่าไหว้ข้าพเจ้าเลย. แล้วยังหน้าของเกวัฏให้สีลงที่พื้นกลับไปกลับมา จนหน้าเปื้อนด้วยโลหิตแล้วกล่าวว่า ดูก่อนคนอันธพาล เจ้าหวังการไหว้แต่เราหรือ. กล่าวฉะนี้ แล้วจับคอซัดไป เกวัฏไปตกลงในที่ราวหนึ่งอุสุภ ลุกขึ้นหนีไป. โยธาของมโหสถก็หยิบเอาแก้วมณีไว้.
               เสียงมโหสถร้องว่า ลุกขึ้นเถิดๆ อย่าไหว้เราเลย ดังนี้ ได้ยินทั่วบริษัท ส่วนบริษัทของมโหสถก็กล่าวว่า เกวัฏไหว้เท้ามโหสถ. แล้วโห่ร้องแซ่เป็นเสียงเดียวกัน. พระราชาร้อยเอ็ด ตลอดพระเจ้าจุลนีก็ได้เห็น เกวัฏน้อมกายลงแทบเท้ามโหสถ พระราชาเหล่านั้นคิดว่า บัณฑิตของพวกเราไหว้มโหสถบัณฑิตแล้ว บัดนี้ พวกเราเป็นอันพ่ายแพ้ มโหสถจักไม่ให้ชีวิตแก่พวกเรา คิดฉะนี้ แล้วต่างก็ขึ้นม้าของตน ปรารภเพื่อหนีตรงไปอุตตรปัญจาละ บริษัทของพระโพธิสัตว์เห็นพระราชาเหล่านั้นหนีไปแล้ว จึงบอกกันว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพาพระราชาร้อยเอ็ดหนีไปแล้ว แล้วโห่ร้องกันอีก พระราชาทั้งปวงได้สดับเสียงนั้น กลัวแต่มรณภัยก็พากันแตกกองทัพหนีไป บริษัทของพระโพธิสัตว์ก็บันลือสำเนียงเกรียวกราวโกลาหลใหญ่.
               พระมหาสัตว์เป็นผู้เสนางคนิกรแวดล้อม กลับเข้าสู่กรุงมิถิลา.

.. อรรถกถา มโหสถชาดก ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=4561
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=4561
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :