ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่ ๔ / ๑๒.

               ว่าด้วย มโหสถแสวงหานางอมราเทวี

               จำเดิมแต่นั้น มโหสถโพธิสัตว์ได้มียศใหญ่ พระนางอุทุมพรเทวีได้ทรงพิจารณาปัญหานั้นทั้งหมด. ในกาลเมื่อมโหสถมีอายุได้ ๑๖ ปี พระนางทรงดำริว่า น้องชายของเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้ยศของเธอก็ใหญ่. เราควรจะทำอาวาหมงคลแก่เธอ. ทรงดำริฉะนี้ แล้วได้กราบทูล เนื้อความนั้นแด่พระเจ้าวิเทหราช. บรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเนื้อความนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่า ดีแล้ว เธอจงให้เจ้าตัวทราบ. พระนางให้มโหสถทราบความ เมื่อมโหสถรับทำอาวาหมงคล จึงมีพระเสาวนีย์ว่า ถ้ากระนั้น เราจะนำนางกุมาริกามาเพื่อเธอ. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า นางกุมาริกาที่พระนางจะนำมา บางทีจะไม่พึงชอบใจเรา. เราจะพิจารณาหาดูเองก่อน. คิดฉะนี้ แล้วจึงทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระองค์อย่าตรัสอะไรแด่พระราชา สักสองสามวัน. ข้าพระบาทจักแสวงหานางกุมาริกานางหนึ่งเองที่ชอบใจ แล้วจักทูลให้ทรงทราบ. พระนางอุทุมพรทรงอนุญาต มโหสถจึงถวายบังคมลาพระเทวีไปเรือนของตน. ให้สัญญาแก่พวกสหายแล้ว แปลงเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก. ถือเครื่องอุปกรณ์แห่งช่างชุนผ้า ออกทางประตูด้านทิศอุดรแต่ผู้เดียว ไปสู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม.
               ก็ในกาลนั้น มีสกุลเศรษฐีสกุลหนึ่งในบ้านนั้น เป็นสกุลเก่าแก่. ธิดาของสกุลนั้นนางหนึ่งชื่ออมราเทวี นางมีรูปงามบริบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง เป็นผู้มีบุญ. วันนั้น นางต้มข้าวต้มแต่เช้า นำข้าวต้มนั้น คิดว่าจักไปสู่ที่บิดาไถนา. จึงออกจากเรือนเดินสวนทางกับมโหสถ. พระมหาสัตว์เห็นนางเดินมา คิดในใจว่า สตรีนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง. ถ้ายังไม่มีสามี นางนี้ก็ควรเป็นภรรยาของเรา. ฝ่ายนางอมราพอเห็นมโหสถ ก็คิดในใจว่า ถ้าเราได้บุรุษนี้เป็นสามีไซร้ เราอาจจะยังทรัพย์สมบัติให้เกิดมั่งคั่ง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า เรายังไม่รู้ความที่สตรีนี้มีสามีหรือยังไม่มี จักถามนางด้วยวิธีใช้ใบ้. ถ้านางฉลาด ก็จักรู้เนื้อความแห่งปัญญาของเรา. คิดฉะนี้แล้ว ยืนอยู่แต่ไกลกำมือเข้า. นางอมรารู้ความว่า บุรุษนี้ถามว่าเรามีสามีหรือยัง. จึงยืนอย่างนั้นเอง แบมือออก. มโหสถรู้เหตุนั้นแล้วจึงเข้าไปใกล้นางถามว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธอชื่ออะไร. นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย สิ่งใดไม่มีในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบัน สิ่งนั้นเป็นชื่อของข้าพเจ้า. มโหสถกล่าวว่า แน่ะ นางผู้เจริญ ชื่อว่าความไม่ตายไม่มีในโลก. ฉะนั้นนางจักชื่อว่า อมรา. นางอมราตอบว่า อย่างนั้น นาย. มโหสถถามว่า เธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อใคร. เมื่อนางอมราตอบว่า ข้าพเจ้านำไปเพื่อบุรพเทวดา. มโหสถจึงกล่าวว่า บิดามารดา ชื่อว่าบุรพเทวดา. ชะรอยเธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อบิดาของเธอ. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. มโหสถถามว่า บิดาของเธอทำงานอะไร. นางอมราตอบว่า บิดาของดิฉันทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง. มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ การไถนา ชื่อว่าการทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง ชะรอยบิดาของเธอไถนา. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. มโหสถถามว่า บิดาของเธอไถนาอยู่ที่ไหน. นางอมราตอบว่า ชนทั้งหลายไปในที่ใด คราวเดียวภายหลังไม่กลับมา. บิดาของดิฉันไถนาในที่นั้นแล. มโหสถกล่าวว่า ป่าช้า ชื่อว่าสถานที่แห่งชนทั้งหลายไปคราวเดียว ภายหลังไม่กลับ. ชะรอยบิดาของเธอจะไถนาในที่ใกล้ป่าช้า. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. มโหสถถามต่อไปว่า แน่ะนางผู้เจริญ วันนี้เธอจะกลับหรือไม่กลับ. นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ถ้าว่ามา ดิฉันจะยังไม่กลับ. ถ้าว่าไม่มา ดิฉันจักกลับ. มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ บิดาของเธอชะรอยจักไถนาใกล้ฝั่งแม่น้ำ. ครั้นเมื่อน้ำมา เธอจักไม่กลับ. ครั้นเมื่อน้ำไม่มา เธอจักกลับ. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. ทั้งสองเจรจาโต้ตอบกันเท่านี้แล้ว.
               ภายหลัง นางอมราเชิญมโหสถให้ดื่มข้าวต้ม. พระมหาสัตว์ดำริว่า การปฏิเสธเป็นอวมงคล. จึงกล่าวรับว่า จักดื่ม. นางจึงปลงหม้อข้าวต้มลง. พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้านางอมราไม่ล้างภาชนะ ไม่ให้น้ำล้างมือ ให้ข้าวต้ม. เราจักละนางเสียในที่นี้ไป. ฝ่ายนางอมราล้างภาชนะแล้ว นำน้ำมาด้วยภาชนะให้น้ำล้างมือ ไม่วางภาชนะเปล่าในมือ. คนหม้อที่วางไว้บนพื้น แล้วตักข้าวต้มใส่เต็มภาชนะ. ก็แต่เมล็ดข้าวในภาชนะนั้นน้อย. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ น้ำข้าวต้มมากเกินหรือ. นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ดิฉันได้น้ำแล้ว. พระมหาสัตว์กล่าวว่า เธอเห็นจักไม่ได้น้ำมาแต่ทุ่งนา. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. แล้วนางแบ่งข้าวต้มไว้ให้บิดา เหลือจากนั้นให้พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ดื่มข้าวต้มนั้นแล้วบ้วนปาก พูดว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราจักไปสู่เรือนของเธอ เธอจงบอกทางแก่เรา. นางอมรากล่าวว่า ดีแล้ว. เมื่อจะบอกทาง จึงกล่าวคาถานี้ ในเอกนิบาตว่า
               ร้านขายข้าวสัตตู ถัดไปร้านขายน้ำส้ม ถัดสองร้าน ต้นทองหลางดอกบานมีใบสองชั้น มีอยู่โดยทางใด. ดิฉันถือภาชนะข้าวต้มด้วยมือขวาใด ดิฉันบอกทางนั้นโดยมือขวานั้น. ดิฉันไม่ได้ถือภาชนะข้าวต้มด้วยมือซ้ายใด ดิฉันไม่ได้บอกทางนั้นโดยมือซ้ายนั้น. ทางนั้นเป็นทางไปเรือนของดิฉัน ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านอุตตรยวมัชฌคาม ขอท่านจงทราบทางอันปกปิดนี้.

               คาถานั้นมีความว่า ข้าแต่นาย ท่านเข้าไปภายในหมู่บ้าน แล้วจะเห็นร้านขายข้าวสัตตูร้านหนึ่ง. ถัดไป ร้านขายน้ำส้ม ข้างหน้าร้านค้าสองร้านนั้น มีต้นทองหลาง มีใบสองชั้นมีดอกบาน. ฉะนั้น ท่านจงไปทางที่มีร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้ม และต้นทองหลางดอกบาน ยืนที่โคนต้นทองหลาง ถือเอาทางขวา ละทางซ้าย. บทว่า เอส มคฺโค ยวมชฺฌกสฺส ความว่า นี้เป็นทางไปเรือนของพวกเรา ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านยวมัชฌคาม. ขอท่านจงทราบทางปกปิด คือทางที่ปกปิด นี้คือที่ข้าพเจ้ากล่าวปกปิดอย่างนี้ หรือทางปิด หรือเหตุที่ปกปิด. บทว่า เยนาทามิ แม้ในคาถานี้ นางกล่าวหมายเอามือขวาที่เราใช้ถือภาชนะข้าวต้ม นอกนี้เป็นมือซ้าย. นางอมราบอกทางแก่มโหสถอย่างนี้แล้ว ถือข้าวต้มไปส่งบิดา.
               จบ ฉันนปถปัญหา

               มโหสถโพธิสัตว์ไปสู่เรือนนั้นตามทางที่นางอมราบอก. ลำดับนั้น มารดาของนางอมราเห็นมโหสถ แล้วจึงให้พระมหาสัตว์นั่ง ณ อาสนะ. แล้วกล่าวว่า จักดื่มข้าวต้มไหมนาย. มโหสถตอบว่า ข้าแต่แม่ น้องหญิงอมราเทวี ได้ให้ข้าวต้มแก่ฉันหน่อยหนึ่งแล้ว. แม้มารดาของนางอมราก็รู้ว่า ชายคนนี้คงมาเพื่อต้องการลูกสาวของเรา. พระมหาสัตว์แม้จะรู้ว่าสกุลนั้นๆ เข็ญใจ ก็ถามว่า ข้าแต่แม่ ฉันเป็นช่างชุนผ้า. มีผ้าอะไรๆ ที่ฉันควรเย็บบ้างไหม. มารดานางอมราตอบว่า นาย ผ้านั้นมี แต่ค่าจ้างไม่มี. มโหสถกล่าวว่า ข้าแต่แม่ ฉันไม่ทำเอาค่าจ้าง แม่จงนำมา ฉันจักเย็บให้. มารดานางอมราจึงนำผ้าเก่าๆ มาให้มโหสถชุน. พระโพธิสัตว์ก็ให้ผ้าที่นำมาๆ แล้วเสร็จทั้งหมด เพราะว่าการทำของท่านผู้มีบุญ ย่อมสำเร็จง่ายดาย. ลำดับนั้น มโหสถแจ้งแก่มารดานางอมราว่า แม่จงบอกกล่าวตามฟากถนน ให้นำผ้ามาจ้างชุน. มารดานางอมราก็บอกแก่ชาวบ้านทั่วไป. พระมหาสัตว์ทำการชุนผ้าวันเดียวเท่านั้น ได้ทรัพย์พันหนึ่ง. ฝ่ายมารดานางอมราหุงข้าวให้ มโหสถกินเวลานั้น. แล้วถามว่า เวลาเย็นข้าจะหุงเท่าไร. มโหสถตอบว่า ชนมีประมาณเท่าใดบริโภคในเรือนนี้. แม่จงหุงโดยประมาณแห่งชนเท่านั้น. นางจึงหุงภัตตาหารเป็นอันมาก ทั้งแกงทั้งกับมิใช่น้อย. ฝ่ายนางอมราเทวี เวลาเย็นเอามัดฟืนทูนศีรษะ และกระเดียดใบไม้มาแต่ป่า บรรจุฟืนที่ประตูด้านตะวันออก แล้วเข้าสู่เรือนทางประตูด้านตะวันตก. ส่วนบิดาของนางอมรากลับบ้านเย็นกว่าธิดากลับ. มโหสถบริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ. นางอมราให้บิดามารดาของตนบริโภค แล้วตนจึงบริโภคภายหลัง แล้วชำระเท้าบิดามารดา และเท้ามโหสถโพธิสัตว์.
               มโหสถกำหนดสังเกต นางอมราอยู่ในบ้านนั้นสองสามวัน. ลำดับนั้น เมื่อจะทดลองนาง. วันหนึ่งจึงกล่าวว่า แน่ะอมราเทวีผู้เจริญ เธอจงเอาข้าวสารกึ่งทะนาน ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงข้าวสวย เพื่อเรา ด้วยข้าวสารกึ่งทะนานนั้น. นางอมรารับคำสั่ง แล้วตำข้าวสารนั้น แล้วเอาข้าวสารต้นอันเป็นตัว ไม่ค่อยมีเมล็ดหักต้มเป็นข้าวต้ม. เอากลางข้าวสารอันมีเมล็ดหักโดยมากหุงเป็นข้าวสวย. เอาปลายข้าวสารอันป่นทำขนม แล้วประกอบกับข้าวให้ควรแก่ข้าวสวยข้าวต้มนั้น ให้ข้าวต้มแก่มโหสถก่อน. พอมโหสถได้ดื่มข้าวต้มถึงปาก ข้าวต้มนั้นก็แผ่ซ่านไปสู่เส้นประสาทเจ็ดพัน ซึ่งเป็นเส้นสำหรับรับรส. มโหสถกล่าวเพื่อทดลองนางอมราว่า นางไม่รู้จักหุงต้ม ทำข้าวสารของเราให้เสียหายเพื่อประโยชน์อะไร. แล้วคายถ่มข้าวต้มพร้อมกับน้ำลายลงยังพื้น. นางอมรามิได้โกรธกล่าวว่า ข้าแต่นาย ถ้าข้าวต้มไม่อร่อย ท่านจงกินขนม. แล้วส่งขนมให้มโหสถ มโหสถก็ทำอาการอย่างนั้น แล้วกล่าวอย่างนั้นอีก. นางอมราจึงกล่าวว่า ถ้าขนมไม่อร่อย ท่านจงกินข้าวสวย. แล้วให้ข้าวสวยแก่มโหสถ มโหสถก็ทำอาการอย่างนั้น และกล่าวดังนั้นอีก. ทำเป็นเหมือนขัดเคือง ขยำข้าวทั้งสามอย่างนั้นเป็นอันเดียวกัน แล้วทาสรีระทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีรษะแห่งนาง แล้วไล่ให้นางไปยืนอยู่ที่ประตู. ฝ่ายนางอมราไม่โกรธเลย ประนมมือกล่าวว่า ดีจ๊ะนาย. แล้วได้ทำตามสั่ง. มโหสถรู้ว่า นางไม่ถือตัว. จึงเรียกกลับมาหา พอได้ยินเรียกคำเดียวเท่านั้น นางก็มานั่งลงที่ใกล้มโหสถ.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์เมื่อมาแต่บ้านตน หาได้มามือเปล่าไม่. เอาผ้าสาฎก ๑ ผืน กับกหาปณะ ๑ พันบรรจุในไถ้น้อยมาด้วย. จึงนำผ้าสาฎกนั้นออกจากไถ้น้อยให้แก่นางอมรา แล้วกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงอาบน้ำกับพวกสหายของนาง แล้วนุ่งผ้าสาฎกนี้มา. นางอมราได้ทำตามคำสั่ง. มโหสถให้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น และทรัพย์ที่นำมาทั้งหมดแก่บิดามารดาของนางอมรา. ยังคนทั้งสามให้ยินดีแล้ว ลาแม่ยายพ่อตา พานางอมรากลับไปบ้าน. ก็พระมหาสัตว์ให้ร่มและรองเท้าแก่นางอมรา แล้วพูดอย่างนี้ว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงเอาร่มกางกันตัว สวมรองเท้าเดินไป. นางอมรารับของสองอย่าง หุบร่มในคราวร้อนดวงอาทิตย์ในที่แจ้งเดินไป. ถอดรองเท้าในที่ดอนถือไป. สวมรองเท้าในเวลาถึงที่มีน้ำเดินไป. มโหสถเห็นเหตุนั้น จึงถามว่า แน่ะนางผู้เจริญ เป็นอย่างไร นางไม่สวมรองเท้าในที่ดอน. สวมในที่มีน้ำเดินไป เพราะเหตุอะไร. นางตอบมโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันเห็นสิ่งประทุษร้ายร่างกาย มีหนามเป็นต้นในที่ดอน. ดิฉันไม่เห็นสิ่งประทุษร้ายร่างกายมีปลา เต่า และหนามเป็นต้นในที่มีน้ำ. ครั้นเครื่องประทุษร้ายเข้าไปสู่เท้า ดิฉันก็พึงเสวยทุกขเวทนาใหญ่. เพราะฉะนั้นจึงสวมรองเท้าในที่มีน้ำ เดินไป. พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของนาง ก็คิดว่า นางทาริกานี้ฉลาดมากหนอ แล้วก็เดินไป. ลำดับนั้น นางอมราเมื่อเข้าภายในป่าก็กั้นร่มเดินไป. มโหสถถามเหตุนั้นว่า แน่ะนางผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นกั้นร่มกันแดดในที่แจ้งเดินไป. แต่นางหาทำอย่างนั้นไม่ เพราะเหตุอะไร นางตอบมโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันชื่อว่าเข้าสู่ภายในป่าก็จริง แต่ทำอย่างนี้เพราะกลัวไม้แห้งท่อนไม้ตกบนศีรษะ. พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำที่นางกล่าวด้วยเหตุ ๒ อย่างก็ยินดี.
               ลำดับนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์เดินไปกับนาง เห็นต้นพุทราถึงพร้อมด้วยผลในที่หนึ่ง ก็หยุดนั่งใต้ต้นพุทรา. ฝ่ายนางอมราเห็นพระมหาสัตว์นั่งใต้ต้นพุทรา ก็พูดขึ้นว่า ข้าแต่นาย ท่านจงขึ้นเก็บผลพุทรากิน ให้ดิฉันบ้าง. มโหสถตอบว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราเหน็ดเหนื่อยไม่อาจขึ้น นางขึ้นเถิด. นางได้ฟังคำของมโหสถก็ขึ้นต้นพุทรานั้นเลือกเก็บผล. ฝ่ายพระโพธิสัตว์กล่าวกะนางว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงให้ผลแก่เราบ้าง. นางคิดว่า เราจักดูบุรุษนี้ฉลาดหรือโง่ จักทดลองเขาดู. จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่นาย ท่านจะกินผลร้อนหรือผลเย็น. พระโพธิสัตว์แม้รู้เหตุที่นางถาม ก็ทำเป็นเหมือนไม่รู้. จึงกล่าวตอบอย่างนี้ เพื่อทดลองว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราต้องการด้วยผลร้อน. นางจึงเก็บผลโยนไปในที่พื้นดินกล่าวว่า ท่านจงกินเถิด นาย. พระโพธิสัตว์ก็เก็บผลมา ปัดเป่าให้หมดผงแล้วเคี้ยวกิน. เมื่อจะทดลองนางอีก จึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงให้ผลเย็นแก่เรา. นางก็เก็บผลพุทราโยนไปบนพื้นหญ้า. พระโพธิสัตว์ก็เก็บผลนั้น ไม่ต้องปัดเป่าเคี้ยวกินทีเดียว. รู้ว่า นางทาริกานี้ฉลาดเหลือเกินก็ยินดี. แล้วบอกให้นางลงจากต้นพุทรา นางอมราได้ฟังคำมโหสถเรียกให้ลง ก็ลงจากต้นพุทรา. ถือหม้อไปแม่น้ำ นำน้ำมาให้มโหสถ. มโหสถก็ดื่มน้ำแล้วบ้วนปาก นางยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง
               เขาทั้งสองลุกขึ้นเดินไปเข้าสู่พระนคร พระมหาสัตว์ให้นางอยู่ที่เรือนคนเฝ้าประตู. แล้วแจ้งแก่ภรรยาแห่งคนเฝ้าประตูให้ทราบ เพื่อทดลองนาง. แล้วเข้าสู่เคหสถานของตน เรียกชายทั้งหลายมาแจ้งว่า เราให้สตรีคนหนึ่งอยู่ที่เรือนโน้นจึงมาบ้านนี้. เจ้าทั้งหลายจงเอาทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะนี้ไปที่เรือนนั้น พูดเกี้ยวพานลองดู. สั่งฉะนี้แล้วให้กหาปณะหนึ่งพัน แล้วส่งไป. บุรุษเหล่านั้นไปสู่สำนักนางอมรา แล้วได้ทำตามมโหสถสั่ง. นางไม่ปรารถนา คิดเห็นว่า ความประพฤติของบุรุษเหล่านี้ ไม่ถึงสักว่าละอองเท้าของสามีแห่งเรา. บุรุษเหล่านั้นก็กลับมาบอกแก่มโหสถ. ลำดับนั้น มโหสถส่งบุรุษเหล่านั้นไปบ่อยๆ ถึง ๓ คราว. ในวาระที่ ๔ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งหลายจงไปจับตัวนางคร่ามา บุรุษเหล่านั้นก็ไปทำดังนั้น. นางก็ได้มาเห็นพระมหาสัตว์ตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมาก ก็จำไม่ได้. แลดูมโหสถแล้ว หัวเราะแล้วร้องไห้. มโหสถซักถามถึง เหตุทั้งสองนั้น. นางก็แจ้งแก่มโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันเห็นสมบัติของท่าน. ก็นึกในใจว่า สมบัตินี้ท่านไม่ได้ด้วยไม่มีเหตุ. ก็แต่ท่านจักทำกุศลไว้ในปางก่อน จึงได้สมบัตินี้. โอ ผลของบุญทั้งหลายน่าอัศจรรย์หนอ. นึกในใจดังนี้ จึงได้หัวเราะ. ก็เมื่อดิฉันร้องไห้ ก็ร้องไห้ด้วยความกรุณาในตัวท่าน. ด้วยสงสารว่า บัดนี้ ท่านมาทำร้ายในวัตถุที่คนอื่นปกครองหวงแหน ก็จักไปสู่นรก. มโหสถทดลองนางอมรารู้ความที่นางเป็นผู้บริสุทธิ์. จึงกล่าวสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไป จงพานางไปอยู่ที่เดิม. แล้วแปลงเพศเป็นช่างชุนผ้าไปแรมอยู่กับนาง. รุ่งเช้าก็เข้าไปสู่ราชสำนัก ทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระนางอุทุมพร. พระนางนำความกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช แล้วประดับนางอมราเทวีด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงให้นั่งในวอใหญ่. นำมายังเคหสถานของมโหสถทำอาวาหมงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่. พระราชาทรงส่งทรัพย์มูลค่าพันกหาปณะ เป็นบรรณาการแก่พระโพธิสัตว์. ชาวพระนครทั้งสิ้นตั้งแต่คนรักษาประตู ก็ได้จัดของขวัญมาให้. ฝ่ายนางอมราเทวีก็แบ่งของที่ได้รับพระราชทานเป็นสองส่วน คืนเข้าพระคลังส่วนหนึ่ง. รับไว้ส่วนหนึ่ง ได้ส่งของช่วยของชาวนครทั้งสิ้นไปสงเคราะห์ชาวนครโดยวิธีนี้. แต่นั้นมา พระมหาสัตว์ก็ได้อยู่ร่วมกับนางอมรา ได้ถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระราชา.
               จบ การแสวงหานางอมราเทวี

               ว่าด้วย โจรลักรัตนะ ๔ คน
               อยู่มาวันหนึ่ง เสนกะเห็นปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะทั้งสามอาจารย์มาสู่สำนักตน. จึงปรึกษาอาจารย์เหล่านั้นกล่าวว่า แน่ะผู้เจริญทั้งสาม เราทั้งสี่คนไม่เทียมทันมโหสถผู้บุตรคฤหบดี. ก็บัดนี้ เขานำภรรยาผู้ฉลาดนักมาเอง. พวกเราพึงทำลายเขาระหว่างพระราชาเสีย อย่างไรดี. อาจารย์ทั้งสามตอบเสนกะว่า ข้าพเจ้าทั้งสามจะรู้อะไร ขอท่านดำริเถิด. เสนกะจึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าวิตก เรามีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง. อาจารย์ทั้งสามถามว่า อุบายอะไร ท่านอาจารย์. เสนกะจึงแจ้งว่า เราจักลักพระจุฬามณีของพระราชามา. ท่านปุกกุสะจงลักสุวรรณมาลามา. ท่านกามินทะจงลักคลุมบรรทมกัมพลมา. ท่านเทวินทะจงลักฉลองพระบาททองคำมา. ก็และครั้นลักราชาภรณ์ทั้งสี่อย่างมาได้ ฉะนี้แล้ว. เราทั้งสี่จงยังราชาภรณ์ทั้งสี่นั้น ให้เข้าไปอยู่ในเรือนของมโหสถ. เราแม้ทั้งสี่จักลักราชาภรณ์ทั้งสี่มาด้วยอุบายแล้ว. แต่นั้น จักให้เข้าไปอยู่ในเรือนมโหสถ ทำมิให้ประชาชนสงสัยพวกเรา. อาจารย์ทั้งสามรับว่า อุบายนี้งามนัก. เสนกะจึงนำพระจุฬามณีลงไว้ในหม้อเปรียงก่อน แล้วส่งให้ทาสีคนหนึ่งนำหม้อเปรียงนั้นไป. สั่งว่า เจ้าจงนำหม้อเปรียงนี้ไปเร่ขาย อย่าขายให้แก่ชนเหล่าอื่นผู้รับซื้อ. ถ้าเมื่อชนในเรือนมโหสถรับซื้อ เจ้าจงให้เปล่าทั้งหม้อ. ทาสีก็ไปสู่ประตูเรือนมโหสถร้องขายว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อเปรียงๆ เดินกลับไปกลับมาที่หน้าประตูเรือนนั้น.
               นางอมราเทวียืนอยู่ที่ประตูเห็นกิริยาของทาสีนั้น. จึงคิดว่า หญิงนี้ไม่ไปอื่น เหตุการณ์จะพึงมีในหญิงนี้. จึงยังทาสีทั้งหลายให้เลี่ยงไป ด้วยสัญญาอันนัดกันไว้. แล้วเรียกทาสีผู้ขายเปรียงนั้นมาว่า มานี่แม่ ฉันจะซื้อเปรียง. แล้วให้สัญญาแก่พวกทาสีของตน. ในกาลเมื่อนางขายเปรียงมา. ครั้นเมื่อพวกทาสีของตนยังไม่มา. จึงให้นางผู้ขายเปรียงนั้นไปเรียกมา นางจึงล้วงมือลงในหม้อ. พบพระจุฬามณีในนั้น ในกาลเมื่อนางขายเปรียงนั้นไป. พอนางขายเปรียงนั้นกลับมา จึงถามว่า แม่มาแต่สำนักใครนะ. นางขายเปรียงนั้นตอบว่า ข้าแต่แม่เจ้า ข้าเป็นทาสีของอาจารย์เสนกะ. แต่นั้น นางอมราจึงซักถามชื่อของนาง และของบิดามารดาแห่งนาง. ได้รับตอบว่า ชื่อโน้นๆ. แล้วถามว่า เปรียงนี้แม่จะขายราคาเท่าไร. ได้รับตอบว่า เท่าราคาข้าว ๔ ทะนาน. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นแม่จงขายแก่ฉัน. ก็ได้รับตอบว่า เมื่อแม่เจ้ารับซื้อ จะต้องการอะไรด้วยราคา จงรับไว้ทั้งหม้อไม่คิดราคา. ก็ว่า ถ้าเช่นนั้นก็ตกลง แล้วให้นางขายเปรียงนั้นกลับไป. ให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถือไว้. มีความว่า เดือนนั้น วันนั้น อาจารย์เสนกะให้ทาสีชื่อนี้ ธิดาของทาสีชื่อนี้ นำพระจุฬามณีของพระราชามาขายไว้. ฝ่ายปุกกุสะวางสุวรรณมาลาในผอบ ซึ่งบรรจุดอกมะลิแล้วปิดสุวรรณมาลานั้น ด้วยดอกมะลิแล้วส่งไป. ฝ่ายกามินทะวางคลุมบรรทมกัมพลในกระเช้า ซึ่งบรรจุผักแล้วปิดด้วยผักแล้วส่งไป. ฝ่ายเทวินทะสอดฉลองพระบาททองคำ ภายในฟ่อนข้าวเหนียวแล้วส่งไป. นางอมรารับสิ่งทั้งปวงนั้นไว้ บันทึกเรื่องไว้โดยนัยหนหลัง. บอกแก่พระมหาสัตว์ แล้วเก็บไว้. ฝ่ายบันฑิตทั้งสี่นั้นไปสู่ราชสำนักทูลว่า พระองค์ไม่ทรงประดับพระจุฬามณีหรือ พระเจ้าข้า. พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า จะประดับ จงไปนำมา. อาจารย์ทั้งสี่นั้นไปดู ไม่เห็นพระจุฬามณีในสถานที่เก็บ และไม่เห็นราชาภรณ์สามอย่างนอกนี้. จึงทูลยุยงว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชาภรณ์ของพระองค์อยู่ในเรือนของมโหสถ. มโหสถใช้ราชาภรณ์เอง ก่อนจะเป็นศัตรูต่อพระองค์.
               ลำดับนั้น คนสอดแนมเนื้อความของมโหสถ นำความมาแจ้งแก่มโหสถ. มโหสถได้ฟังคำของพวกสอดแนมเนื้อความ. จึงคิดว่า เราจักเฝ้าพระราชาจึงจะรู้เรื่อง. จึงไปสู่ที่เฝ้าพระราชา. พระราชากริ้วมโหสถ ไม่ให้มโหสถเห็นพระองค์. ด้วยทรงคิดถึงเหตุที่เกิดว่า เราไม่รู้มโหสถจะมาทำไมในที่นี้. มโหสถรู้ว่า พระราชากริ้ว จึงกลับบ้านของตน. พระราชาตรัสสั่งให้จับมโหสถ. ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของพวกสอดแนมเนื้อความ. จึงคิดว่า ควรเราจะหลบหลีกไป จึงให้สัญญาแก่นางอมรา. แล้วแปลงเพศออกจากเมือง ไปสู่ทักขิณยวมัชฌคาม. ทำหม้อเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านนั้น เกิดโกลาหลในพระนครว่า มโหสถบัณฑิตหนีไปแล้ว.
               อาจารย์ทั้งสี่มีเสนกะเป็นต้นรู้ว่า มโหสถหนีไปแล้ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าวิตก เราทั้งหลายไม่ใช่บัณฑิตหรือ. กล่าวฉะนี้แล้วไม่ยังกันและกันให้รู้ ส่งบรรณาการไปให้นางอมรา. นางอมรารับบรรณาการที่อาจารย์ทั้งสี่ส่งไป แล้วกล่าวว่า จงไปในเวลาโน้น. แล้วคิดว่า เราจักให้ทั้งสี่คนมาหาเราได้อาย. จึงเรียกเหล่าทาสีมา ให้ขุดหลุมหนึ่งล้อมรั้วที่หลุมนั้นเทคูถกับน้ำลงในหลุมนั้น. แล้วให้ปิดแผ่นกระดานยนต์ที่พื้นข้างบนแห่งหลุมคูถ ปกปิดด้วยเสื่อลำแพนมีลิ่มสลักสองข้าง. แล้วแต่งเคหสถานให้ห้อยบุปผชาติ เป็นต้น ให้เป็นเหมือนน่ารื่นรมย์ให้ตั้งน้ำไว้ ยังสิ่งทั้งปวงให้แล้วเสร็จ. เวลาค่ำวันนั้น เสนกะแต่งตัว กินโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ แล้วไปสู่เรือนมโหสถ ยืนอยู่แทบประตู ให้แจ้งการที่ตนมา ยังคนรักษาให้บอกแก่นางอมรา. นางอมราได้ฟังคำแห่งเสนกะนั้น จึงกล่าวว่ามาเถิด. เสนกะก็ไปยืนอยู่ใกล้นางอมรา. นางอมราจึงกล่าวอย่างนี้กะเสนกะว่า ข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของท่าน ในบัดนี้แล้ว. การไม่อาบน้ำแล้วนอนไม่ควร ท่านจงไปอาบน้ำหอมนี้เสียก่อนจึงมา. เสนกะรับคำแล้วไปเหยียบแผ่นกระดานจักอาบ. นางอมราทำเป็นเหมือนรดน้ำให้ ในกาลเมื่อเสนกะขึ้นยืนบนแผ่นกระดาน. นางเหยียบที่แผ่นกระดานกล ยังเสนกะให้ตกลงในหลุมคูถ. นางยังปุกกุสะผู้แต่งกายกินโภชนะเลิศแล้วมาในเวลาเย็น ให้ตกในหลุมคูถนั้น. ปุกกุสะเมื่อถูกเสนกะเข้าจึงถามเสนกะว่า ท่านเป็นคนหรือ. ก็ได้รับตอบว่า กันเป็นอาจารย์เสนกะ. ฝ่ายเสนกะก็ถามปุกกุสะว่า ก็ท่านเล่า เป็นคนหรือ. ก็ได้รับตอบว่า กันเป็นอาจารย์ปุกกุสะ. นางอมรายังกามินทะและเทวินทะทั้งสองผู้มาตามๆ กันให้ตกลงในหลุมคูถ โดยทำนองนั้นเหมือนกัน. อาจารย์ทั้งสี่คนนั้นยืนอยู่ในหลุมคูถเพียงท้อง ศีรษะโดนกันและกัน ต่างถามกันว่า นั่นใครๆ. ลำดับนั้น เสนกะบอกว่า กัน. ครั้นทั้งสามอาจารย์ถามว่า จะทำอย่างไรกัน. ท่านอาจารย์เสนกะจึงห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่าอึงไป. ตั้งแต่นี้ไป ความอายจักมีแก่พวกเรา. บัณฑิตทั้งสี่คนอยู่ในหลุมคูถตลอดคืน. นางอมรายังอาจารย์ทั้งสี่คนให้ตกลงในหลุมคูถ อันสกปรกน่าเกลียดอย่างนี้.
               ครั้นรุ่งสว่าง ให้ทั้งสี่คนนั้นจับเชือกสาวขึ้นมาจากหลุมคูถนั้น ให้อาบน้ำพลัน. ให้เอามีดโกน โกนผมและหนวดทั้งสี่อาจารย์นั้นให้โล้น. แล้วให้สีด้วยแผ่นอิฐจนเลือดออกซิบๆ แล้วให้เอาข้าวสารหนึ่งทะนาน ให้ชุ่มด้วยน้ำตำให้ละเอียด บรรจุในภาชนะกวนให้เป็นเหมือนข้าวยาคูเป็นอันมาก ให้ทาให้ทั่วทั้งตัวของอาจารย์ทั้งสี่ตั้งแต่ศีรษะ. แล้วให้เอานุ่นย่อยๆ โรยลงให้ทั่วตัว ตั้งแต่ศีรษะ. ให้ทั้งสี่คนถึงความลำบากมาก ให้นอนในกระชุกรุเสื่อลำแพน ปิดผูกพันด้วยเชือกให้แน่น ประทับตรา. แล้วให้นำรัตนะ ๔ อย่างกับอาจารย์ทั้งสี่ ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช. ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงรับบรรณาการทั้งหลาย. กราบทูลฉะนี้แล้ว ให้วางเสื่อลำแพนทั้งสี่ แทบพระบาทมูลแห่งพระราชา. ลำดับนั้น พระราชาให้เปิดเสื่อลำแพนนั้นออก ทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตทั้งสี่มีเสนกะเป็นต้น. เหมือนกับวานรเผือก ก็ทรงดุษณีภาพ. ฝ่ายมหาชนเห็นอาจารย์ทั้งสี่นั้น ก็พูดกันว่า โอ วานรเผือกงามมากๆ เราทั้งหลายไม่เคยเห็นมาได้เห็น แล้วพากันสรวลเฮฮาใหญ่. อาจารย์ทั้งสี่ได้ความอายมาก. ลำดับนั้น นางอมราถวายรัตนะ ๔ อย่างกับอาจารย์ทั้ง ๔ แด่พระราชา. เมื่อจะประกาศความที่ มโหสถสามีของตนไม่มีความผิด. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ มโหสถบัณฑิตไม่ได้เป็นโจร. แต่อาจารย์ทั้ง ๔ ของพระองค์เป็นโจร คือเสนกะลักพระจุฬามณีของพระองค์ ปุกกุสะลักสุวรรณมาลา กามินทะลักคลุมบรรทมกัมพล เทวินทะลักฉลองพระบาททองคำ. รัตนะทั้ง ๔ อย่างนี้ อันอาจารย์ทั้ง ๔ ให้ทาสีชื่อนี้ เป็นลูกสาวของทาสีชื่อนี้. ส่งไปขายให้ข้าพระบาทในวันนั้นเดือนนั้น. ขอพระองค์ทอดพระเนตรหนังสือบันทึกสำคัญนี้ แล้วทรงรับไว้เป็นของหลวง และจงทรงรับโจรและรัตนะเหล่านี้ไว้. ยังชนทั้ง ๔ ให้ถึงมหาวิปการอย่างนี้. แล้วถวายบังคมลากลับบ้าน. ลำดับนั้น พระราชาไม่ตรัสอะไรๆ กะชนเหล่านั้น เพราะทรงรังเกียจในพระโพธิสัตว์ เพราะพระโพธิสัตว์หนีไปเสียแล้ว และเพราะความไม่มีชนเหล่าอื่นเป็นมนตรีผู้บัณฑิต. ตรัสสั่งแต่ว่า ท่านทั้ง ๔ จงอาบน้ำกลับไปเคหสถานของตน.
               จบ โจรลักรัตนะ ๔ คน

               ว่าด้วย ปัญหาของเทวดา
               ณ กาลครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่เศวตฉัตรแห่งบรมกษัตริย์ ไม่ได้สดับธรรมเทศนาแห่งพระโพธิสัตว์. จึงพิจารณาดูก็ทราบเหตุนั้น จึงคิดว่า เราจักทำให้พระโพธิสัตว์ได้กลับมาอยู่บ้านตามเดิม. ครั้นเวลาราตรี จึงแหวกกำพูฉัตรออกมาถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราช ๔ ข้อ. มีคำว่า หนฺติ หตฺเถหิ ปาเทหิ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาอันเทวดาถามในจตุกนิบาต. พระราชาได้ทรงสดับเทวปัญหานั้น ยังไม่ทรงทราบ. จึงตรัสตอบเทวดานั้นว่า ข้าพเจ้ายังไม่รู้ จักถามบัณฑิตอื่นๆ ก่อน. แล้วตรัสขอเทพบริหาร อย่าให้ต้องเทวทัณฑ์สักวันหนึ่ง. ครั้นรุ่งขึ้นจึงตรัสเรียกบัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า. ครั้นอาจารย์ทั้ง ๔ ทูลว่า พวกตนศีรษะโล้นด้วยคมมีดโกน เดินตามถนนมีความอาย. จึงโปรดให้ส่งนาฬิกปัฏ ผืนผ้าทำรูปดุจทะนานไปพระราชทาน ให้เอานาฬิกปัฏนั้นๆ สวมศีรษะมาเฝ้า. ได้ยินว่า นาฬิกปัฏเกิดขึ้น แต่กาลนั้นมาจนบัดนี้. อาจารย์ทั้ง ๔ ก็มาเข้าเฝ้า นั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้. ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์เสนกะ. คืนวันนี้เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตร ถามปัญหาเรา ๔ ข้อ. เราขอผลัดว่า ยังไม่รู้ จักถามพวกท่านดูก่อน. ท่านเสนกะจงกล่าวปัญหานั้นแก่เรา. ตรัสฉะนี้แล้ว จึงถามปัญหาเป็นปฐมว่า
               บุคคลประหารร่างกายผู้อื่นด้วยมือทั้งสอง หรือด้วยเท้าทั้งสอง และเอามือประหารปากผู้อื่น. บุคคลนั้นกลับเป็นที่รักแห่งผู้ต้องประหาร. เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ผู้เป็นที่รักนั้นได้แก่ใคร.

               เสนกะได้ฟังเทพปัญหานั้นก็ไม่รู้ความ บ่นปัญหานั้นๆ ว่า ใครประหารอะไรๆ แลไม่เห็นที่สุดและเงื่อนแห่งเทพปัญหานั้น. แม้อาจารย์อีก ๓ คนก็หมดความคิด. พระราชาทรงวิปฏิสาร.
               ครั้นในส่วนแห่งราตรี เทวดาถามอีกว่า ทรงทราบปัญหาแล้วหรือ. ก็ตรัสตอบว่า ข้าพเจ้าได้ถามบัณฑิตทั้ง ๔ แล้ว เขาก็ไม่รู้. เทวดาจึงกล่าวขู่พระราชาว่า อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นจะรู้อะไร เว้นมโหสถบัณฑิตเสีย ใครๆ อื่นจะสามารถกล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้นย่อมไม่มี. ถ้าพระองค์ให้เรียกมโหสถมาให้กล่าวแก้ปัญหานั้น นั่นแหละจะเป็นการดี. ถ้าไม่เรียกมโหสถมาให้กล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้น ข้าพเจ้าจักทำลายเศียรของพระองค์ด้วยค้อนเหล็กอันลุกโพลงนี้ กล่าวขู่ฉะนี้ แล้วทูลเตือนว่า แน่ะมหาราช เมื่อต้องการไฟ ไม่ควรจะเป่าหิ่งห้อย หรือเมื่อต้องการน้ำนม ไม่ควรจะรีดเขาโค. ชักขัชโชปนกปัญหาในปัญจกนิบาตนี้ มากล่าวคาถาว่า
               ใครเล่าเมื่อไฟลุกโพลงมีอยู่ ยังเที่ยวหาไฟอีก โดยมิใช่เหตุ. บุคคลเห็นหิ่งห้อยในราตรี ก็สำคัญว่าไฟ
               เอาจุรณโคมัยอันละเอียด หรือหญ้าทำเชื้อบนหิ่งห้อย แล้วเอามือสีให้เกิดไฟ ก็ไม่สามารถให้ไฟลุกโพลง ด้วยสำคัญวิปริต ฉันใด.
               คนอันธพาลดุจคนใบ้ แม้แสวงหาสิ่งที่ต้องประสงค์โดยไม่ใช่อุบาย ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องประสงค์นั้น ฉันนั้น. นมโคไม่มีที่เขาโค บุคคลรีดนมโคที่เขาโค ก็ไม่ได้นมโค ฉันใด. บุคคลแสวงหาสิ่งที่ต้องการในที่ไม่ใช่ที่จะหาได้ ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ฉันนั้น.
               ชนทั้งหลายลุถึงสิ่งที่ต้องการด้วยอุบายต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายครองแผ่นดินอันชื่อพสุนธรเพราะทรงไว้ซึ่งรัตนะ คือแก้ว ก็ด้วยนิคคหะเหล่าอมิตร ปัคคหะเหล่ามิตร
               ได้เหล่าอมาตย์มีเสนีเป็นประมุข และความแนะนำของอมาตย์ผู้คุ้นเคยเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตมฺหิ ปชฺโชเต ความว่า เมื่อไฟมีอยู่. บทว่า อคฺคิปริเยสนํ จรํ ความว่า เที่ยวโดยมิใช่อุบาย. บทว่า อทฺทกฺขิ แปลว่า เห็นแล้ว ครั้นเห็นแล้วก็สำคัญหิ่งห้อยนั้นอย่างนี้ว่า นี้จักเป็นไฟ ด้วยสำคัญว่ามีแสง. บทว่า สวาสฺส ความว่า เขาเอาจุรณโคมัย อันละเอียดและหญ้าไว้บนหิ่งห้อยนั้น. บทว่า อภิมตฺถํ ความว่า สีด้วยมือ คือบุคคลนี้ชื่ออะไร โรยจุรณโคมัยและหญ้า นั่งคุกเข่าบนพื้นดิน. แม้พยายามด้วยความสำคัญอันวิปริตว่า เราจักเอาปากเป่าให้มันลุกโพลง ก็ไม่อาจให้ลุกโพลงได้. บทว่า มูโค ความว่า คนอันธพาลเช่นกับคนใบ้ แม้แสวงหาด้วยมิใช่อุบายอย่างนี้ ย่อมไม่ได้ประโยชน์นั้น. บทว่า ยตฺถ ความว่า ย่อมไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เหมือนคนรีดนมโคแต่เขาโค ซึ่งไม่มีน้ำนมเลย. บทว่า เสนีโมกฺขูปลาเภน ได้แก่ เพราะได้เหล่าอมาตย์ซึ่งมีเสนีเป็นประมุข. บทว่า วลฺลภานํ นเยน จ ได้แก่ ด้วยความแนะนำของเหล่าอมาตย์ผู้มีความคุ้นเคย ผู้เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ. บทว่า ชคตีปาลา ได้แก่ พระราชาทั้งหลายย่อมครองแผ่นดินนี้แหละ ซึ่งได้ชื่อว่า พสุนธร. เพราะทรงไว้ซึ่งรัตนะทั้งหลาย คือแก้ว.
               เทวดากล่าวขู่พระราชาว่า ชนทั้งหลายเช่นกับพระองค์ ในเมื่อไฟมีอยู่แท้ ก็หาเป่าหิ่งห้อยไม่. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระองค์ตรัสถามอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ก็เป็นเหมือนครั้นเมื่อไฟมีอยู่ ทรงเป่าหิ่งห้อย เหมือนคนทิ้งตราชูเสียแล้วชั่งด้วยมือ และเหมือนเมื่อต้องการน้ำนม ก็รีดเอาแต่เขาโค ฉะนั้น. อาจารย์ทั้ง ๔ เหล่านั้นจะรู้อะไร เพราะเขาเหล่านั้นเช่นกับหิ่งห้อย. มโหสถบัณฑิตเช่นกับกองเพลิงใหญ่ ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยปัญญา. ขอพระองค์โปรดให้หา มโหสถมาตรัสถามเถิด. เมื่อพระองค์ไม่ทรงทราบปัญหาเหล่านี้ พระชนมชีพของพระองค์จะไม่มี. ทูลคุกคามฉะนี้แล้ว ก็อันตรธานหายไป.
               จบ ปัญหาหิ่งห้อย

               พระราชาถูกมรณภัยคุกคาม รุ่งขึ้นให้เรียกอมาตย์ ๔ คนมาตรัสสั่งว่า ท่านทั้ง ๔ คนจงขึ้นรถ ๔ คัน ออกจากประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู. ค้นหามโหสถบุตรเราอยู่ที่ใด จงทำสักการะแก่เธอในที่นั้น แล้วนำตัวมาโดยเร็ว. อมาตย์ทั้ง ๔ คนออกทางประตูคนละประตู อมาตย์ ๓ คนไม่พบมโหสถบัณฑิต. แต่อมาตย์คนหนึ่งออกทางประตูด้านทิศทักษิณ พบพระมหาสัตว์ที่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม. ขนดินเหนียวมา มีร่างกายเปื้อนดินเหนียว นั่งบนตั่งใบไม้หมุนจักรในสำนักอาจารย์. ปั้นดินเหนียวเป็นปั้นๆ บริโภคข้าวเหนียวไม่มีแกง.
               ถามว่า ก็เหตุไร มโหสถจึงทำการอย่างนี้ แก้ว่า ได้ยินว่า พระราชาทรงรังเกียจว่า มโหสถบัณฑิตจะชิงราชสมบัติของพระองค์โดยไม่สงสัย. มโหสถคิดว่า เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มโหสถเลี้ยงชีพอยู่ด้วยการทำหม้อขาย ก็จะทรงหายรังเกียจ จึงได้ทำอย่างนี้.
               มโหสถเห็นอมาตย์ก็รู้ว่าจะมาหาตน จึงดำริว่า วันนี้ยศของเราจักมีเป็นปกติอีก เราจักบริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ที่นางอมราเทวีจัดไว้รับ. คิดฉะนี้ จึงทิ้งก้อนข้าวที่ถือไว้ ลุกขึ้นบ้วนปาก. อมาตย์นั้นเข้าไปหามโหสถ ในขณะนั้น. แต่อมาตย์คนนั้นเป็นฝักฝ่ายเสนกะ. เพราะฉะนั้น เมื่อจะสืบต่อข้อความที่เสนกะกล่าวแต่หนหลัง ว่าทรัพย์ประเสริฐกว่าปัญญานั้น. จึงกล่าวว่า แน่ะท่านบัณฑิต คำของอาจารย์เสนกะเป็นจริง. ในเมื่อยศของท่านเสื่อม ท่านเป็นผู้มีปัญญามากถึงปานนี้ ก็ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งแก่ท่าน. บัดนี้ ท่านมีร่างกายเปรอะเปื้อนด้วยดินเหนียว นั่งที่ตั่งใบไม้กินข้าวเห็นปานนี้ กล่าวฉะนี้แล้ว
               ได้กล่าวคาถาที่หนึ่ง ในภูริปัญหาในทสนิบาตนี้ว่า
               ได้ยินว่า คำที่อาจารย์เสนกะกล่าวเป็นของจริง. แม้ท่านจะมีปัญญาดุจแผ่นดิน มีสิริ มีความเพียร และมีความคิดเช่นนั้น ยังไม่ป้องกันความที่ท่านเข้าถึงอำนาจของความพินาศได้ ท่านจึงต้องกินอาหารไม่มีแกง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจํ กิร ความว่า แน่ะท่านอาจารย์ อาจารย์เสนกะกล่าวคำใด. ได้ยินว่า คำนั้นเป็นคำจริงทีเดียว. บทว่า สิรี ได้แก่ ความเป็นใหญ่. บทว่า ธิติ ได้แก่ มีความเพียรเป็นนิจ. บทว่า น ตายเต ภาววสูปนีตํ ความว่า ไม่รักษา คือไม่คุ้มครอง ท่านผู้เข้าถึงอำนาจของความพินาศ คือความไม่เจริญ คือไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งของท่านได้. บทว่า ยาวกํ ความว่า กินภัตตาหารจากข้าวสารเหนียวเห็นปานนี้.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวตอบอมาตย์นั้นว่า แน่ะอันธพาล เราประสงค์จะทำยศนั้นให้เป็นปกติด้วยปัญญาของตนอีก จึงได้ทำอย่างนี้. แล้วกล่าวสองคาถานี้ว่า
               เรายังความสุขให้เจริญด้วยความทุกข์ เมื่อพิจารณากาลและมิใช่กาล ก็หลบซ่อนอยู่ เปิดช่อง คิดทำให้เป็นประโยชน์แก่ตน. ด้วยเหตุนั้น เราจึงยินดีด้วยการบริโภคข้าวเหนียว.
               ก็เรารู้จักกาลเพื่อองอาจ ทำความเพียร ยังยศของตนให้เจริญอีก ด้วยความคิดของตนองอาจอยู่. ดุจความองอาจแห่งราชสีห์ที่พื้นมโนศิลา ฉะนั้น. ท่านจักเห็นเราด้วยความสำเร็จนั้นอีก.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺเขน ความว่า ยังความสุขเก่าของตนให้งอกงาม คือเจริญด้วยทำให้กลับเป็นปกติ ด้วยความทุกข์ทางกายและทางใจนี้. บทว่า กาลากาลํ ความว่า เราเมื่อพิจารณากาลและมิใช่กาลอย่างนี้ว่า นี้เป็นกาลที่ต้องหลบซ่อนเที่ยวไป นี้ไม่ต้องหลบซ่อน. รู้ว่าในเวลาที่พระราชากริ้ว ต้องหลบซ่อนเที่ยวไป เป็นผู้หลบซ่อน คือปิดบัง ตามความพอใจ คือความชอบใจของตน เลี้ยงชีพด้วยงานช่างหม้อ ไม่ปิด คือเปิดช่องกล่าว คือเหตุแห่งประโยชน์ของตนอยู่. ด้วยเหตุนั้น เราจึงยินดีด้วยการบริโภคข้าวเหนียว. บทว่า อภิชิมฺหตาย ได้แก่ เพื่อองอาจ คือเพื่อกระทำความเพียรยิ่ง. บทว่า มนฺเตหิ อตฺถํ ปริปาจยิตฺวา ความว่า เราจักยังยศของเราให้เจริญอีก ด้วยความรู้ของตน องอาจดุจราชสีห์องอาจที่พื้นมโนศิลา ฉะนั้น. ท่านจักเห็นเราด้วยความสำเร็จนั้นแม้อีก.
               ลำดับนั้น อมาตย์กล่าวกะมโหสถว่า แน่ะพ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตร ถามปัญหาพระราชา พระราชาตรัสถามบัณฑิตทั้ง ๔ ใน ๔ คนนั้น. แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้. เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้ามาหาท่าน. พระมหาสัตว์จึงกล่าวสรรเสริญอานุภาพแห่งปัญญาว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจงเห็นอานุภาพแห่งปัญญาของตน เพราะว่าอิสริยยศย่อมไม่เป็นที่พึ่ง ในกาลเห็นปานดังนี้. บุคคลผู้บริบูรณ์ด้วยปัญญาเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งได้. อมาตย์ได้รับพระราชบัญชามาว่า จงให้มโหสถบัณฑิตอาบน้ำนุ่งห่มในที่ที่พบทีเดียวแล้วนำมา ก็ได้ทำตามรับสั่งแล้วให้กหาปณะพันหนึ่ง และผ้าสำรับหนึ่ง ซึ่งเป็นของพระราชทานแก่พระมหาสัตว์ ได้ยินว่า ช่างหม้อเกิดกลัวขึ้นเอง ด้วยคิดเห็นว่า เราใช้สอยมโหสถผู้เป็นราชบัณฑิต. พระมหาสัตว์เห็นกิริยาแห่งช่างหม้อ จึงพูดเอาใจว่า อย่ากลัวเลยท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่ข้าพเจ้ามาก. กล่าวฉะนี้ แล้วให้กหาปณะพันหนึ่งแก่ช่างหม้อ. แล้วนั่งไปในรถทั้งตัวเปื้อนดินเหนียวเข้าไปสู่พระนคร. อมาตย์ให้ทูลข่าวมาของมโหสถแด่พระราชา รับสั่งถามว่า ท่านพบมโหสถที่ไหน. จึงกราบทูลว่า มโหสถทำหม้อขายเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านทักขิณยวมัชฌคาม. ทราบว่ามีรับสั่งให้มาเฝ้า ก็ยังหาอาบน้ำไม่ มีร่างกายเปื้อนดินเหนียวมาทีเดียว. พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นศัตรูของเรา จะพึงเที่ยวอยู่ด้วยทำอิสริยศักดิ์ มโหสถนี้หาได้เป็นศัตรูของเราไม่. ทรงดำริฉะนี้แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงบอกแก่มโหสถบุตรของเราว่า จงไปเรือนของตนอาบน้ำตกแต่งกาย แล้วมาตามทำนองเกียรติศักดิ์ที่เราให้. มโหสถได้สดับพระราชกระแส ก็ทำอย่างนั้นแล้วมาเฝ้า. ได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าแล้ว ก็ตรงเข้าไปถวายบังคมพระราชาแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทรงปฏิสันถารมโหสถบัณฑิต. เมื่อจะทรงทดลองมโหสถบัณฑิต จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ก็คนพวกหนึ่งไม่ทำความชั่วด้วยคิดว่าเราสบายอยู่แล้ว คนอีกพวกหนึ่งไม่ทำเพราะเกรงเกี่ยวข้องด้วยความติเตียน ก็เจ้าเป็นผู้สามารถมีความคิดเต็มเปี่ยม เหตุไรจึงไม่ทำความทุกข์แก่เรา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขี หิ ความว่า แน่ะบัณฑิต ก็คนบางพวกไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งความเป็นผู้มีอิสระยิ่ง. ด้วยคิดว่า พวกเรามีความสุข สมบูรณ์ด้วยอิสริยยศ พวกเราไม่ควรทำความชั่วด้วยเหตุเท่านี้. คนบางพวกไม่ทำความชั่ว เพราะเกรงเกี่ยวข้องด้วยความติเตียน. ด้วยคิดว่า คนมุ่งร้ายกล่าวติเตียนจักมีแก่เจ้านายผู้ให้ยศแก่เราเห็นปานนี้. บางคนมีปัญญาน้อย แต่ตัวเจ้าเป็นผู้สามารถ มีความคิดเต็มเปี่ยม. ถ้าต้องการ ก็ครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้. เหตุไรจึงไม่ชิงราชสมบัติ ไม่ทำความทุกข์แก่เรา.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า
               บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว เพราะเหตุแห่งความสุขของตน. อันความทุกข์กระทบแล้ว แม้พลาดจากสมบัติก็สงบ ย่อมไม่ละธรรม เพราะรักและเพราะชัง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขลิตาปิ ความว่า แม้เป็นผู้มีสภาพที่พลาดจากสมบัติแล้วตั้งอยู่ในวิบัติ. บทว่า น ชหนฺติ ธมฺมํ ความว่า ย่อมไม่ละแม้ซึ่งธรรม คือประเพณี. แม้ซึ่งธรรม คือสุจริต.
               พระราชา เมื่อจะตรัสขัตติยมายาเพื่อทดลองมโหสถอีก จึงตรัสคาถานี้ว่า
               บุคคลพึงถอนตนที่ต่ำช้าด้วยเพศที่อ่อนหรือทารุณอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ภายหลังจึงประพฤติธรรมก็ได้มิใช่หรือ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีนํ ความว่า พึงถอนตนที่ต่ำช้า คือเข็ญใจขึ้นตั้งไว้ในสมบัติ.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะแสดงอุปมาด้วยต้นไม้แด่พระราชา. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า.

               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนมิใช่ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้ในที่ทั้งปวงว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าว่าบุคคลหักกิ่งต้นไม้ที่ตนได้บริโภค ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรไซร้ จะกล่าวไปทำไม บุคคลผู้นี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ฆ่ามนุษย์ บิดาของข้าพระองค์ พระองค์ให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศโอฬารและข้าพระองค์. พระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์ ด้วยการอนุเคราะห์มาก. เมื่อข้าพระองค์ทำร้ายในพระองค์ จะไม่พึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรได้อย่างไร และเมื่อจะทูลท้วงโทษแห่งพระราชา จึงกล่าวคาถาว่า
               นรชนรู้แจ้งซึ่งธรรมแต่ผู้ใด และสัตบุรุษเหล่าใดบรรเทาเสีย ซึ่งความสงสัยอันเกิดขึ้นแก่นรชนนั้น. กิริยาของท่านผู้นั้นเป็นดังเกาะและเป็นที่พึ่งของนรชนนั้น. ผู้มีปัญญาไม่พึงยังไมตรีกับท่านผู้นั้นให้เสื่อมสิ้นไป.

               คาถานั้นมีเนื้อความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุรุษพึงรู้ธรรม คือเหตุแม้มีประมาณน้อย แต่สำนักของอาจารย์ใด. และสัตบุรุษเหล่าใดบรรเทาเสียซึ่งความสงสัยอันเกิดขึ้นแก่นรชนนั้น. การกระทำของท่านผู้นั้นเป็นดังเกาะและเป็นที่พึ่ง เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งของนรชนนั้น. บัณฑิตไม่พึงละ คือไม่พึงยังมิตรภาพกับอาจารย์เช่นนั้นให้พินาศ.
               บัดนี้ เมื่อจะถวายโอวาทพระราชา มโหสถบัณฑิตจึงกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
               คฤหัสถ์บริโภคกามเป็นคนเกียจคร้านไม่ดี. บรรพชิตเป็นผู้ไม่สำรวมแล้วไม่ดี. พระราชาผู้ไม่ทรงพิจารณาก่อนจึงทรงราชกิจไม่ดี. ความโกรธของบัณฑิตผู้มักโกรธไม่ดี.
               กษัตริย์ควรทรงพิจารณาก่อนทรงราชกิจ พระเจ้าแห่งทิศไม่ทรงพิจารณาก่อนไม่พึงทรงราชกิจ ยศและเกียรติย่อมเจริญแก่พระราชาผู้ทรงพิจารณาก่อน จึงทรงบำเพ็ญราชกรณียกิจเป็นปกติ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สาธุ ได้แก่ ไม่บริสุทธิ์ คือไม่งาม. บทว่า อนิสมฺมการี ได้แก่ ผู้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่พิจารณา คือไม่ทำให้ประจักษ์แก่ตนแล้วกระทำ. บทว่า ตํ น สาธุ ความว่า ความโกรธ กล่าวคือความกำเริบแห่งอาชญา ด้วยอำนาจการยึดสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะของบุคคลผู้เป็นบัณฑิต คือผู้มีปัญญานั้นไม่ดี. บทว่า ยโส กิตฺติญฺจ ความว่า อิสริยยศ ปริวารยศ และเกียรติคุณ ย่อมเจริญโดยส่วนเดียว.
               จบ ภูริปัญหา

.. อรรถกถา มโหสถชาดก ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=4561
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=4561
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :