ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาชนกชาดก
ว่าด้วย พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               พระราชาตรัสตอบว่า
               ประชุมชนนี้ตามข้าพเจ้า ผู้ละพวกเขาไปในที่นี้ ข้าพเจ้าผู้ล่วงสีมาคือกิเลสไปเพื่อถึงมโนธรรม กล่าวคือญาณของมุนีผู้ไม่เกื้อกูลแก่เหย้าเรือน ผู้เจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ อยู่ ท่านรู้อยู่ จะถามทำไม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มมํ ความว่า ข้าพเจ้าละชนไป ซึ่งข้าพเจ้านั้นผู้ละไป. บทว่า เอตฺถ ความว่า มหาชนนี้ห้อมล้อมแล้ว คือติดตามมาในที่นี้. บทว่า สีมาติกฺกมนํ ยนฺตํ ความว่า ทำไมท่านจึงถามข้าพเจ้าผู้ล่วงสีมา คือกิเลสไป คือบวชเพื่อถึงมโนธรรม กล่าวคือญาณของมุนีผู้ไม่เกื้อกูลแก่เหย้าเรือน.
               บทว่า มิสฺสํ นนฺทีหิ คจฺฉนฺตํ ความว่า ท่านรู้หรือว่าไม่รู้ว่าข้าพเจ้าบวชแล้ว จึงถามข้าพเจ้าผู้ยังไม่ละความเพลิดเพลิน เจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ไปอยู่ คือท่านไม่ได้ฟังข่าวบ้างหรือว่า ได้ยินว่า พระมหาชนกทิ้งวิเทหรัฐบวช.

               ลำดับนั้น นารทดาบสกล่าวคาถาอีก เพื่อต้องการให้พระมหาสัตว์สมาทานมั่นว่า
               พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระนี้ จะสำคัญว่า เราข้ามพ้นกิเลสแล้วหาได้ไม่ กรรมคือกิเลสนี้ จะพึงข้ามได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หาได้ไม่ เพราะยังมีอันตรายอยู่มาก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาสฺสุ ติณฺโณ อมญฺญิตฺโถ ความว่า ท่านทรงสรีระนี้ คือ ครองบรรพชิตบริขารและผ้ากาสาวะ อย่าได้เข้าใจว่าเราข้ามแล้ว คือก้าวล่วงแล้วซึ่งแดน คือกิเลสด้วยเหตุเพียงถือเพศบรรพชิตนี้. บทว่า อติรเณยฺยมิทํ ความว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ ไม่ใช่จะข้ามได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. บทว่า พหู หิ ปริปนฺถโย ความว่า เพราะว่าอันตราย คือกิเลสของท่าน ที่ตั้งกั้นทางสวรรค์ ยังมีอยู่มาก

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
               ข้าพเจ้าใดปรารถนาเฉพาะซึ่งกามทั้งหลาย ในมนุษยโลกอันบุคคลเห็นแล้ว ก็หาไม่เลย ในเทวโลกอันบุคคลไม่เห็นแล้ว ก็หาไม่. อันตรายอะไรหนอจะพึงมีแก่ข้าพเจ้านั้นซึ่งมีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เนว ทิฏฺเฐ นาทิฏฺเฐ ความว่า ข้าพเจ้าใดปรารถนาเฉพาะซึ่งกามทั้งหลาย ในมนุษยโลกอันบุคคลเห็นแล้ว ก็หามิได้เลย ในเทวโลกอันบุคคลไม่เห็นแล้ว ก็หามิได้เลย อันตรายอะไรหนอจะพึงมีแก่ข้าพเจ้านั้น ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ พระมหาสัตว์ตรัสดังนี้.

               ลำดับนั้น นารทดาบสเมื่อจะแสดงอันตรายทั้งหลายแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               อันตรายมากทีเดียว คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความไม่ชอบใจ ความเมาอาหาร ตั้งอยู่ในสรีระ อาศัยอยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิทฺทา ได้แก่ หลับอย่างลิง. บทว่า ตนฺทิ ได้แก่ ความเกียจคร้าน. บทว่า อรติ ได้แก่ ความกระสัน.
               บทว่า ภตฺตสมฺมโท ได้แก่ ความกระวนกระวายเพราะภัตตาหาร ท่านอธิบายไว้ดังนี้ ดูก่อนสมณะ พระองค์เป็นผู้มีพระรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดุจทองคำ เมื่อพระองค์รับสั่งว่า อาตมาละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจักถวายบิณฑบาตอันโอชาประณีตแก่พระองค์. พระองค์ทรงรับพอเต็มบาตร เสวยพอควรแล้วเข้าสู่บรรณศาลาบรรทม ณ ที่ลาดไม้ หลับกรนอยู่ตื่นในระหว่างพลิกกลับไปกลับมา ทรงเหยียดพระหัตถ์และพระบาท ลุกขึ้นจับราวจีวร เกียจคร้านไม่จับไม้กวาดกวาดอาศรม ไม่นำน้ำดื่มมา บรรทมหลับอีก ตรึกถึงกามวิตก. กาลนั้นก็ไม่พอพระทัยในบรรพชา ความกระวนกระวายเพราะภัตตาหารจักมีแด่พระองค์ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า อาวสนฺติ สรีรฏฺฐา ความว่า อันตรายเหล่านี้มีประมาณเท่านี้ ตั้งอยู่ในสรีระของท่านอาศัยอยู่ คือบังเกิดในสรีระของท่านนี่แหละ นารทดาบสแสดงดังนี้.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะตรัสชมนารทดาบสนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               ข้าแต่พราหมณ์ ท่านผู้เจริญพร่ำสอนข้าพเจ้าดีนักหนา ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์นี่แหละ ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมณ อนุสาสสิ ความว่า ข้าแต่พราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีนักหนา.

               ลำดับนั้น นารทดาบสกล่าวว่า
               ชนทั้งหลายรู้จักอาตมาโดยนามว่า นารทะ โดยโคตรว่า กัสสปะ ดังนี้ อาตมามาในสถานใกล้พระองค์ผู้เจริญ ด้วยรู้สึกว่า การสมาคมด้วยสัตบุรุษทั้งหลาย ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ พระองค์จงทรงยินดีในบรรพชานี้ วิหารธรรมจงเกิดแก่พระองค์ กิจอันใดยังพร่องด้วยศีล การบริกรรมและฌาน พระองค์จงทรงบำเพ็ญกิจอันนั้นให้บริบูรณ์ จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบระงับ อย่าถือพระองค์ว่า เป็นกษัตริย์ จงทรงคลายออกเสีย ซึ่งความยุบลงและความฟูขึ้น จงทรงกระทำโดยเคารพซึ่งกุศลกรรมบถ วิชชาและสมณธรรม แล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิทู ความว่า ชนทั้งหลายรู้จักอาตมาโดยชื่อและโคตรว่า กัสสปะ. บทว่า สพฺภิ ความว่า ขึ้นชื่อว่าการสมาคมกับด้วยบัณฑิตทั้งหลาย เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงมา. บทว่า อานนฺโท ความว่า ความเพลิดเพลิน คือความยินดี ความชอบใจ ในบรรพชานี้ จงมีแก่ท่านนั้น อย่าเบื่อหน่าย. บทว่า วิหาโร ได้แก่ พรหมวิหารธรรมสี่อย่าง. บทว่า อุปวตฺตตุ ได้แก่ จงบังเกิด. บทว่า ยทูนํ ความว่า กิจด้วยศีล ด้วยกสิณบริกรรม ด้วยฌานนั้นใดยังหย่อน พระองค์จงยังกิจนั้นให้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้นเหล่านี้. บทว่า ขนฺตยา อุปสเมน จ ความว่า ท่านอย่ามีมานะว่า เราเป็นพระราชาบวช จงเป็นผู้ประกอบด้วย อธิวาสนขันติและความสงบระงับกิเลส. บทว่า ปสารย ความว่า อย่ายกตน อย่าถือพระองค์. บทว่า สนฺนตฺตญฺจ อุนฺนตฺตญฺจ ความว่า จงคลายอวมานะที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า เรามีชาติตระกูลหรือ และอติมานะที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ. บทว่า กมฺมํ ได้แก่ กุศลกรรมบถสิบ. บทว่า วิชฺชํ ได้แก่ ญาณที่เป็นไปในอภิญญาห้าและสมาบัติแปด. บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ สมณธรรมกล่าวคือ กสิณบริกรรม. บทว่า สกฺกตฺวาน ปริพฺพช ความว่า จงทำโดยเคารพซึ่งคุณธรรมเหล่านั้นเป็นไป หรือจงทำโดยเคารพซึ่งคุณธรรมเหล่านี้ สมาทานให้มั่นบำเพ็ญพรหมจรรย์ คือจงรักษาบรรพชา อย่าเบื่อหน่าย.

               นารทดาบสนั้นถวายโอวาทพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว กลับไปที่อยู่ของตนทางอากาศ.
               เมื่อนารทดาบสไปแล้ว มีดาบสอีกรูปหนึ่งชื่อ มิคาชินะ ออกจากสมาบัติตรวจดูโลกเห็นพระมหาสัตว์ จึงมาแล้วดุจกัน ด้วยคิดว่า เราจักถวายโอวาทพระมหาสัตว์ เพื่อประโยชน์ให้มหาชนกลับพระนคร จึงสถิตอยู่ ณ อัมพรวิถี สำแดงตนให้ปรากฏแล้วกล่าวว่า
               พระองค์ทรงละช้างม้าชาวนครและชาวชนบทเป็นอันมาก ผนวชแล้วทรงยินดีในบาตร ชาวชนบทมิตรอมาตย์และพระญาติเหล่านั้น ได้กระทำความผิดระหว่างพระองค์ละกระมัง เหตุไร พระองค์จึงละอิสริยสุขมาชอบพระทัยซึ่งบาตรนั้น.


               บทว่า กปลฺเล ในคาถานั้น ท่านกล่าวหมายถึงบาตรดิน มีคำอธิบายว่า เมื่อมิคาชินดาบสถามถึงเหตุแห่งบรรพชา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนมหาชนก ท่านละความเป็นใหญ่เห็นปานนี้ผนวชแล้ว ท่านยินดีในบาตรดินนี้.
               บทว่า ทูภึ ความว่า พวกเขาเหล่านั้นได้กระทำความผิดอะไรๆ ในระหว่างต่อท่านบ้างหรือ เพราะเหตุไร ท่านจึงละอิสริยสุขเห็นปานนี้ มาชอบพระทัยบาตรดินใบนี้เท่านั้น.

               แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
               ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้ามิได้ผจญซึ่งญาติไรๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหนๆ โดยอธรรม. แม้ญาติทั้งหลายก็มิได้ผจญซึ่งข้าพเจ้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มิคาชิน ได้แก่ ข้าแต่ท่านมิคาชินะผู้เจริญ. บทว่า ชาตุจฺเฉ แปลว่า โดยส่วนเดียวนั่นเทียว. บทว่า อหํ กิญฺจิ กุทาจนํ ความว่า ข้าพเจ้ามิได้ผจญซึ่งญาติไรๆ ในกาลไรๆ โดยอธรรม. แม้ญาติเหล่านั้นก็มิได้ผจญซึ่งข้าพเจ้าโดยอธรรม. อธิบายว่า ไม่มีญาติคนไหนได้กระทำความผิดในข้าพเจ้า ด้วยประการฉะนี้.

               พระมหาสัตว์ทรงห้ามปัญหาแห่งมิคาชินดาบสนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งการทรงผนวชจึงตรัสว่า
               ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้าเห็นประเพณีของโลก เห็นโลกถูกกิเลสขบกัด ถูกกิเลสทำให้เป็นดังเปือกตม จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่แล้วในกิเลสวัตถุใด สัตว์เป็นอันมากย่อมถูกประหาร และถูกฆ่าในเพราะกิเลสวัตถุนั้น ดังนี้จึงได้บวชเป็นภิกษุ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกวตฺตนฺตํ ความว่า ข้าพเจ้าได้เห็นวัตร คือประเพณีของสัตวโลกผู้โง่เขลา ผู้ไปตามวัฏฏะ เพราะเห็นดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบวช พระมหาสัตว์ทรงแสดงดังนี้. บทว่า ขชฺชนฺตํ กทฺทมีกตํ ความว่า เห็นสัตวโลกถูกกิเลสขบกัด และถูกกิเลสเหล่านั้นแหละทำให้เป็นดังเปือกตม.
               บทว่า ยตฺถ สนฺโน ความว่า ปุถุชนจม คือข้อง คือจมลงในกิเลสวัตถุใด สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากข้องอยู่ในกิเลสวัตถุนั้น ย่อมถูกฆ่าบ้าง ย่อมติดอยู่ในเครื่องผูกมีโซ่และเรือนจำเป็นต้นบ้าง.
               บทว่า เอตาหํ ความว่า หากแม้ข้าพเจ้าจักติดอยู่ในกิเลสวัตถุนี้ ข้าพเจ้าก็จักถูกฆ่า และถูกจองจำเหมือนสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นจึงทำเหตุการณ์นั่นแหละ เป็นอุปมาแห่งตนแล้วบวชเป็นภิกษุ. พระมหาสัตว์เรียกดาบสนั้นว่า มิคาชินะ พระมหาสัตว์ทรงทราบชื่อของดาบสนั้นได้อย่างไร. ทรงทราบ เพราะทรงถามไว้ก่อนในเวลาปฏิสันถาร.

               ดาบสใคร่จะฟังเหตุการณ์นั้นโดยพิสดาร จึงกล่าวคาถาว่า
               ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกอรรถสั่งสอนพระองค์ คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร. ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เพราะพระองค์มิได้ตรัสบอก สมณะผู้มีวัตรปฏิบัติก้าวล่วงทุกข์ นอกจากกัปปสมณะหรือวิชชสมณะ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสฺเสตํ ความว่า คำอันสะอาดนี้ คือที่ท่านกล่าวเป็นคำของใคร.
               บทว่า กปฺปํ ได้แก่ ดาบสผู้เป็นกรรมวาที ผู้ได้อภิญญาสมาบัติอันสำเร็จเป็นไปแล้ว.
               บทว่า วิชฺชํ ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา คืออาสวักขยญาณ. ท่านอธิบายไว้ดังนี้ มิคาชินดาบสเรียกพระเจ้ามหาชนกราชว่า รเถสภ เพราะพระเจ้ามหาชนกราชมิได้ตรัสบอก สมณะผู้มีวัตรปฏิบัติโดยประการที่ก้าวล่วงทุกข์ได้ นอกจากกัปปสมณะหรือวิชชสมณะ คือเว้นโอวาทของท่านเสีย ใครๆได้ฟังคำของท่านเหล่านั้น แล้วสามารถที่จะปฏิบัติได้อย่างนั้น. ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกอรรถ สั่งสอนพระองค์.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะดาบสนั้นว่า
               ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ถึงข้าพเจ้าจะเคารพสมณะ หรือพราหมณ์โดยส่วนเดียวก็จริง แต่ก็ไม่เคยเข้าใกล้ไต่ถามอะไรๆ ในกาลไหนๆ เลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกตฺวา ได้แก่ บูชาเพื่อต้องการจะถามคุณแห่งการบรรพชา.
               บทว่า อนุปาวิสึ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าใกล้ใครๆ ไม่ถามสมณะไรๆ เลย เพราะพระมหาสัตว์นี้แม้ฟังธรรมในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ไม่ถามคุณแห่งการบรรพชาโดยเฉพาะในกาลไหนๆ เลย ฉะนั้นท่านจึงตรัสอย่างนี้.

               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงตรัสคาถาเพื่อทรงแสดงเหตุที่ทรงผนวชตั้งแต่ต้นว่า
               ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้านั้นรุ่งเรืองด้วยสิริ ไปยังพระราชอุทยานด้วยอานุภาพใหญ่ เมื่อเจ้าพนักงานกำลังขับเพลงขับและประโคมดนตรีกันอยู่. ข้าพเจ้าได้เห็นมะม่วงมีผลภายนอกกำแพงพระราชอุทยาน อันกึกก้องด้วยเสียงดนตรี พร้อมแล้วด้วยคนร้องและคนประโคม.
               ข้าพเจ้าละต้นมะม่วงอันมีสิรินั้น ซึ่งเหล่ามนุษย์ผู้ต้องการผลฟาดตีอยู่ ลงจากคอช้างเข้าไปโคนต้นมะม่วง ซึ่งมีผลและไม่มีผล เห็นต้นมะม่วงที่มีผลถูกคนเบียดเบียนกำจัดแล้ว ปราศจากใบและก้าน แต่มะม่วงอีกต้นหนึ่งมีใบเขียวชอุ่มน่ารื่นรมย์ ศัตรูทั้งหลายจักฆ่าพวกเราผู้มีอิสระ มีศัตรูดุจหนามเป็นอันมาก เหมือนต้นมะม่วงมีผล ถูกคนหักโค่นฉะนั้น.
               เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์ ใครเล่าจักฆ่าผู้ไม่มีเหย้าเรือน ผู้ไม่มีสันถวะ คือตัณหา มะม่วงต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทั้งสองต้นนั้นเป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคุสุ ความว่า เมื่อดนตรีมีเสียงไพเราะอันบุคคลประโคมอยู่. บทว่า ตุริยตาลิตสํฆุฏฺเฐ ความว่า ในพระราชอุทยานที่กึกก้องด้วยเสียงดนตรีทั้งหลาย. บทว่า สมฺมาตาลสมาหิเต ความว่า ประกอบด้วยคนขับร้องและคนประโคมทั้งหลาย. บทว่า สมิคาชิน ความว่า ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้านั้นได้เห็นแล้ว. บทว่า ผลึ อมฺพํ ความว่า มะม่วงมีผลคือต้นมะม่วงที่ผลิตผล. บทว่า ติโรจฺฉทํ ความว่า ได้เห็นต้นมะม่วงภายนอกกำแพง คือ เกิดอาศัยอยู่นอกกำแพงซึ่งตั้งอยู่ในภายในพระราชอุทยานนั่นแหละ. บทว่า ตุทมานํ แปลว่า ถูกฟาดอยู่. บทว่า โอโรหิตฺวา ความว่า ลงจากคอช้าง.
               บทว่า วินลีกตํ แปลว่า ทำให้ปราศจากใบไร้ก้าน. บทว่า เอวเมว แปลว่า ฉันนั้นนั่นเทียว. บทว่า ผโล แปลว่า สมบูรณ์ด้วยผล. บทว่า อชินมฺหิ ได้แก่ เพื่อต้องการหนัง คือ มีหนังเป็นเหตุ. บทว่า ทนฺเตสุ ความว่า ถูกฆ่าเพราะงาทั้งสองของตน คือถูกฆ่าเพราะงาเป็นเหตุ. บทว่า หนฺติ แปลว่า ถูกฆ่า. บทว่า อนิเกตมสนฺถวํ ความว่า ก็ผู้ใดชื่อว่าอนิเกตะ เพราะละเหย้าเรือนบวช ชื่อว่าอสันถวะ เพราะไม่มีสันถวะ คือตัณหาซึ่งเป็นวัตถุแห่งสังขารทั้งปวง อธิบายว่า ใครจักฆ่าผู้นั้นซึ่งไม่มีเหย้าเรือนไม่มีสันถวะ. บทว่า เตสตฺถาโร ความว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า ต้นไม้สองต้นเหล่านั้นเป็นผู้สั่งสอนเรา.

               มิคาชินดาบสได้ฟังดังนั้นแล้วจึงถวายโอวาทแด่พระราชาว่า ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาบพิตร. แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตนทีเดียว.
               เมื่อมิคาชินดาบสไปแล้ว พระนางสีวลีเทวีหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระราชา กราบทูลว่า
               ชนทั้งปวงคือกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ตกใจว่าพระราชาทรงผนวชเสียแล้ว. ขอพระองค์โปรดทำให้ชุมชนอุ่นใจ ตั้งความคุ้มครองไว้ อภิเษกพระโอรสในราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชต่อภายหลังเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺยถิโต ได้แก่ กลัว คือ หวาดสะดุ้ง. บทว่า ปฏิจฺฉทํ ความว่า ตั้งกองอารักขาไว้คุ้มครองมหาชนที่สะดุ้งกลัวว่า พระราชามิได้ทรงเหลียวแลพวกเราที่ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกปล้นบ้าง. บทว่า ปุตฺตํ ความว่า ขอพระองค์ได้อภิเษกพระโอรส คือทีฆาวุกุมาร ไว้ในราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชต่อภายหลังเถิด.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า
               ดูก่อนปชาบดี ชาวชนบท มิตรอมาตย์และพระประยูรญาติทั้งหลาย เราสละแล้ว ทีฆาวุราชกุมารผู้ยังแว่นแคว้นให้เจริญเป็นบุตรของชาววิเทหรัฐ ชาววิเทหรัฐเหล่านั้นจักให้ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ ปุตฺตา ความว่า ดูก่อนพระเทวีสีวลี ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมไม่มีบุตร แต่ทีฆาวุกุมารเป็นบุตรของชาววิเทหรัฐ ชาววิเทหรัฐเหล่านั้นจักให้ครองราชสมบัติ. พระมหาสัตว์ตรัสเรียกพระเทวีว่า ปชาปติ.

               ลำดับนั้น พระนางสีวลีเทวีกราบทูลพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์ทรงผนวชเสียก่อนแล้ว ก็หม่อมฉันจะกระทำอย่างไร. พระมหาสัตว์จึงตรัสกะพระนางว่า ดูก่อนพระเทวี อาตมาจะให้เธอสำเหนียกตาม เธอจงทำตามคำของอาตมา แล้วตรัสว่า
               มาเถิด อาตมาจะให้เธอศึกษาตามคำที่อาตมาชอบ เมื่อเธอให้พระโอรสครองราชสมบัติ ก็จักกระทำบาปทุจริตเป็นอันมากด้วยกายวาจาใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เธอไปสู่ทุคติ. การที่เรายังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ซึ่งสำเร็จแต่ผู้อื่น นี้เป็นธรรมของนักปราชญ์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุวํ ความว่า เธอให้ยกเศวตฉัตรขึ้นแก่พระโอรส พร่ำสอนเรื่องราชสมบัติ ด้วยคิดว่า ลูกของเราเป็นพระราชาจักกระทำบาปเป็นอันมาก. บทว่า คจฺฉสิ ความว่า เธอจักไปสู่ทุคติด้วยบาป เป็นอันมากที่กระทำด้วยกายเป็นต้นใด. บทว่า สธีรธมฺโม ความว่า ความประพฤติที่ว่าพึงยังชีวิตให้เป็นไปด้วย คำข้าวที่ได้มาด้วยลำแข้งนี้ เป็นธรรมของนักปราชญ์ทั้งหลาย.

               พระมหาสัตว์ได้ประทานโอวาทแก่พระนางนั้นด้วยประการฉะนี้ เมื่อกษัตริย์ทั้งสองตรัสโต้ตอบกันและกัน และเสด็จดำเนินไป. พระอาทิตย์ก็อัสดงคต พระเทวีมีพระเสาวนีย์ให้ตั้งค่ายในที่อันสมควร. พระมหาสัตว์เสด็จประทับแรม ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ประทับอยู่ ณ ที่นั้นตลอดราตรี. รุ่งขึ้นทรงทำสรีรกิจแล้ว เสด็จไปตามมรรคา. ฝ่ายพระเทวีตรัสสั่งให้เสนาตามมาภายหลัง แล้วเสด็จไปเบื้องหลังแห่งพระมหาสัตว์. ทั้งสองพระองค์นั้นเสด็จถึงถูนนครในเวลาภิกขาจาร ขณะนั้นมีบุรุษคนหนึ่งภายในเมือง ซื้อเนื้อก้อนใหญ่มาแต่เขียงขายเนื้อ เสียบหลาวย่างบนถ่านเพลิงให้สุก แล้ววางไว้ที่กระดานเพื่อให้เย็นได้ยืนอยู่. เมื่อบุรุษนั้นส่งใจไปที่อื่น สุนัขตัวหนึ่งคาบก้อนเนื้อนั้นหนีไป บุรุษนั้นรู้แล้วไล่ตามสุนัขนั้นไปเพียงนอกประตูด้านทักษิณ เบื่อหน่ายหมดอาลัยก็กลับบ้าน. พระราชากับพระเทวีเสด็จมาข้างหน้าสุนัขตามทางสองแพร่ง สุนัขนั้นทิ้งก้อนเนื้อหนีไปด้วยความกลัว. พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก้อนเนื้อนั้น ทรงจินตนาการว่า สุนัขนี้ทิ้งก้อนเนื้อนี้ไม่เหลียวแลเลยหนีไปแล้ว แม้คนอื่นผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรากฏ อาหารเห็นปานนี้หาโทษมิได้ ชื่อว่าบังสุกุลบิณฑบาต เราจักบริโภคก้อนเนื้อนั้น. พระองค์จึงนำบาตรดินออก ถือเอาเนื้อก้อนนั้นปัดฝุ่นแล้วใส่ลงในบาตร เสด็จไปยังที่มีน้ำบริบูรณ์ ทรงพิจารณาแล้วเริ่มเสวยเนื้อก้อนนั้น. ลำดับนั้น พระเทวีทรงดำริว่า ถ้าพระราชานี้มีพระราชประสงค์ราชสมบัติ จะไม่พึงเสวยก้อนเนื้อเห็นปานนี้ ซึ่งน่าเกลียด เปื้อนฝุ่น เป็นเดนสุนัข. บัดนี้ พระองค์จักมิใช่พระราชสวามีของเราทรงดำริฉะนี้แล้ว กราบทูลพระองค์ว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ช่างเสวยเนื้อที่น่าเกลียดเห็นปานนี้ได้. พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี เธอไม่รู้จักความวิเศษของบิณฑบาตนี้เพราะเขลา. ตรัสฉะนี้แล้วทรงพิจารณาสถานที่ก้อนเนื้อนั้นตั้งอยู่ เสวยก้อนเนื้อนั้นดุจเสวยอมตรส บ้วนพระโอฐล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้ว.
               ขณะนั้น พระเทวี เมื่อจะทรงตำหนิพระราชา จึงตรัสว่า
               คนที่ฉลาดแม้ไม่ได้บริโภคอาหารสี่มื้อ ราวกะว่าจะตายด้วยความอด ก็ยอมตายเสียด้วยความอด เขาจะไม่ยอมบริโภคก้อนเนื้อคลุกฝุ่นไม่สะอาดเลย. ข้าแต่พระมหาชนก พระองค์สิเสวยได้ซึ่งก้อนเนื้ออันเป็นเดนสุนัข ไม่สะอาดน่าเกลียดนัก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌุฏฺฐมาริว ความว่า เหมือนใกล้จะตาย. บทว่า ลุลิตํ ได้แก่ คลุกฝุ่น. บทว่า อนริยํ ได้แก่ ไม่ดี. นุอักษรในบทว่า นุ เสเว เป็นนิบาตลงในอรรถถามโต้ตอบ มีคำอธิบายว่า แม้ถ้าจะไม่ได้บริโภคอาหารสี่มื้อ หรือจะตายเสียด้วยความอด แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น คนฉลาดก็ไม่ย่อมบริโภคอาหารเห็นปานนี้เลย คือไม่บริโภคอย่างพระองค์. บทว่า ตยิทํ แปลว่า นี้นั้น.

               พระมหาสัตว์ ตรัสตอบว่า
               ดูก่อนพระนางสีวลี ก้อนเนื้อนั้นไม่ชื่อว่าเป็นอาหารของอาตมา หามิได้ เพราะถึงจะเป็นของคนครองเรือนหรือของสุนัข ก็สละแล้ว. ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่บุคคลได้มาแล้วโดยชอบธรรม ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภกฺโข ความว่า บิณฑบาตนั้นจะไม่ชื่อว่าเป็นภักษาหารของอาตมาหามิได้. บทว่า ยํ โหติ ความว่า ของสิ่งใดที่คฤหัสถ์ หรือสุนัขสละแล้ว ของสิ่งนั้นชื่อว่าบังสุกุล เป็นของไม่มีโทษเพราะไม่มีเจ้าของ. บทว่า เย เกจิ ความว่า เพราะฉะนั้น โภคะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่ได้มาโดยชอบธรรม. บทว่า สพฺโพ โส ภกฺ โข อนวโย ความว่า ไม่มีโทษ คือแม้จะมีคนดูอยู่บ่อยๆ ก็ไม่บกพร่อง บริบูรณ์ด้วยคุณไม่มีโทษ แต่ลาภที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ถึงจะมีค่าตั้งแสน ก็น่าเกลียดอยู่นั่นเอง.

               เมื่อกษัตริย์สององค์ตรัสสนทนากะกันอยู่อย่างนี้ พลางเสด็จดำเนินไป ก็ลุถึงประตูถูนนคร. เมื่อทารกทั้งหลายในนครนั้นกำลังเล่นกันอยู่ มีนางกุมาริกาคนหนึ่งเอากระด้งน้อยฝัดทรายเล่นอยู่ กำไลอันหนึ่งสวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่งของนาง กำไลสองอันสวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่ง กำไลสองอันนั้นกระทบกันมีเสียง กำไลอีกอันหนึ่งไม่มีเสียง. พระราชาทรงทราบเหตุนั้น มีพระดำริว่า บัดนี้ พระนางสีวลีตามหลังเรามา ขึ้นชื่อว่า สตรีย่อมเป็นมลทินของบรรพชิต. ชนทั้งหลายเห็นนางตามเรามา จักติเตียนเราว่า บรรพชิตนี้แม้บวชแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะละภรรยาได้. ถ้านางกุมารีนี้ฉลาด จักพูดถึงเหตุให้นางสีวลีกลับ. เราจักฟังถ้อยคำของนางกุมารีนี้แล้วส่งนางสีวลีกลับ. มีพระดำริฉะนี้แล้ว เสด็จเข้าไปใกล้นางกุมารีนั้น.
               เมื่อจะตรัสถามจึงตรัสคาถาว่า
               แน่ะนางกุมาริกาผู้ยังนอนกับแม่ ผู้ประดับกำไลมือเป็นนิตย์ กำไลมือของเจ้าข้างหนึ่งมีเสียงดัง อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง เพราะเหตุไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปเสนิเย ความว่า เข้าไปนอนใกล้มารดา. บทว่า นิคฺคลมณฺฑิเต ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า มีปกติประดับด้วยเครื่องประดับชั้นยอด. บทว่า สุณติ ได้แก่ ทำเสียง.

               นางกุมาริกากล่าวว่า
               ข้าแต่พระสมณะ เสียงเกิดแต่กำไลสองอัน ที่สวมอยู่ในข้อมือของข้าพเจ้านี้กระทบกัน. ความที่กำไลทั้งสองกระทบกันนั้นเป็นเหตุแห่งเสียง. กำไลอันหนึ่งที่สวมอยู่ในข้อมือของข้าพเจ้านี้นั้น ไม่มีอันที่สอง จึงไม่ส่งเสียง. เป็นเหมือนนักปราชญ์สงบนิ่งอยู่ บุคคลสองคนก็วิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า. ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุนีวารา แปลว่า กำไลสองอัน. บทว่า สํฆฏา ความว่า เพราะกระทบกัน คือเสียดสีกัน. บทว่า คติ ได้แก่ ความสำเร็จ ด้วยว่า กำไลอันที่สองย่อมมีความสำเร็จเห็นปานนี้. บทว่า โส ได้แก่ กำไลนั้น. บทว่า มุนิภูโตว ความว่า ราวกะว่าพระอริยบุคคลผู้ละกิเลสได้หมดแล้ว ดำรงอยู่. บทว่า วิวาทปฺปตฺโต ความว่า ข้าแต่พระสมณะ ขึ้นชื่อว่าคนที่สองย่อมวิวาทกัน คือทะเลาะกัน ถือไปต่างๆ กัน. บทว่า เกเนโก ความว่า ก็คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า. บทว่า เอกตฺตมุปโรจตํ ความว่า ท่านจงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางกุมาริกานั้นได้กล่าวอย่างนี้อีก คือกล่าวสอนพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลย แต่เหตุไร ท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเห็นปานนี้เที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด.

               พระมหาสัตว์ได้สดับคำของกุมาริกาสาวนั้นแล้ว ทรงได้ปัจจัย เมื่อจะตรัสกับพระเทวี จึงตรัสว่า
               แน่ะสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ นางกุมาริกาเป็นเพียงชั้นสาวใช้มาติเตียนเรา. ความที่เราทั้งสองประพฤติ คืออาตมาเป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุแห่งครหา. มรรคาสองแพร่งนี้ อันเราทั้งสองผู้เดินทางจงแยกกันไป. เธอจงถือเอาทางหนึ่งไป อาตมาก็จะถือเอาทางอื่นอีกทางหนึ่งไป. เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอ และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของอาตมาอีก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมาริยา ได้แก่ ที่นางกุมาริกากล่าวแล้ว. บทว่า เปสิยา ความว่า ถ้าเรายังครองราชสมบัติอยู่ กุมาริกาคนนี้ก็เป็นคนใช้ คือทำตามรับสั่งของเรา แม้แต่จะแลดูเรา เธอก็ไม่อาจ แต่บัดนี้เธอติเตียน คือกล่าวสอนเราเหมือนคนใช้ และเหมือนทาสของตนว่า ทุติยสฺเสว สา คติ ดังนี้. บทว่า อนุจิณฺโณ ได้แก่ เดินตามกันไป. บทว่า ปถาวิหิ แปลว่า ผู้เดินทาง. บทว่า เอกํ ความว่า เธอจงถือเอาทางหนึ่งซึ่งเป็นที่ชอบใจของเธอ ส่วนอาตมาก็จักถือเอาอีกทางหนึ่งที่เหลือลงจากที่เธอถือเอา. บทว่า มา จ มํ ตวํ ความว่า แน่ะสีวลี ตั้งแต่นี้ไป เธออย่าเรียกอาตมาว่าเป็นพระสวามีของเราอีก และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของเรา.

               พระนางสีวลีเทวีได้ทรงฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์สูงสุด จงถือเอาทางเบื้องขวา ส่วนข้าพระองค์เป็นสตรีชาติต่ำ จักถือเอาทางเบื้องซ้าย กราบทูลฉะนี้แล้ว ถวายบังคมพระมหาสัตว์แล้วเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูรไว้ได้ก็เสด็จมาอีก โดยเสด็จไปกับพระราชาเข้าถูนนครด้วยกัน.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสครึ่งคาถาว่า
               กษัตริย์ทั้งสองกำลังตรัสข้อความนี้อยู่ ได้เสด็จเข้าไปยังถูนนคร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นครมุปาคมุํ ความว่า เสด็จเข้าไปแล้วสู่นคร.

               ก็แลครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของช่างศร. แม้พระนางสีวลีเทวีก็เสด็จตามไปเบื้องหลัง ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. สมัยนั้น ช่างศรกำลังลนลูกศรบนกระเบื้องถ่านเพลิง เอาน้ำข้าวทาลูกศร หลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูด้วยตาข้างหนึ่ง ดัดลูกศรให้ตรง. พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระดำริว่า ถ้าช่างศรผู้นี้จักเป็นคนฉลาด จักกล่าวเหตุอย่างหนึ่งแก่เรา เราจักถามเขาดู จึงเสด็จเข้าไปหาช่างศรแล้วตรัสถาม.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เมื่อใกล้เวลาฉัน พระมหาสัตว์ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของช่างศร ช่างศรนั้นหลับตาข้างหนึ่ง ใช้ตาอีกข้างหนึ่งเล็งลูกศรอันหนึ่ง ซึ่งคดอยู่ดัดให้ตรงที่ซุ้มประตูนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกฏฺฐเก ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระราชาพระองค์นั้น เมื่อใกล้เวลาเสวยของพระองค์ ได้ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูของช่างศร. บทว่า ตตฺร จ ได้แก่ ที่ซุ้มประตูนั้น. บทว่า นิคฺคยฺห แปลว่า หลับแล้ว. บทว่า ชิมฺหเมเกน ความว่า ใช้จักษุข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คด.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ตรัสกะช่างศรนั้นว่า
               ดูก่อนช่างศร ท่านจงฟังอาตมา ท่านหลับจักษุข้างหนึ่ง เล็งดูลูกศรอันคดด้วยจักษุข้างหนึ่ง ด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ ด้วยประการนั้นหรือหนอ.


               คำที่เป็นคาถานั้นมีเนื้อความว่า แน่ะเพื่อนช่างศร ท่านหลับตาข้างหนึ่งเล็งดูลูกศร ที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง ด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ ด้วยประการนั้นหรือหนอ.

               ลำดับนั้น เมื่อช่างศรจะทูลแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า
               ข้าแต่พระสมณะ การเล็งด้วยจักษุทั้งสอง ปรากฏว่าเหมือนพร่าไปไม่ถึงที่คดข้างหน้า ย่อมไม่สำเร็จความดัดให้ตรง ถ้าหลับจักษุข้างหนึ่ง เล็งดูที่คดด้วยจักษุอีกข้างหนึ่ง เล็งได้ถึงที่คดเบื้องหน้าย่อมสำเร็จความดัดให้ตรง. บุคคลสองคนก็วิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสาลํ วิย ความว่า ย่อมปรากฏเหมือนพร่าไป. บทว่า อปฺปตฺวา ปรมํ ลิงฺคํ ความว่า ไม่ถึงที่คดข้างหน้า. บทว่า นุชฺชุภาวาย ได้แก่ ไม่สำเร็จความดัดให้ตรง มีคำอธิบายว่า เมื่อความพร่าปรากฏ ก็จักไม่ถึงที่ตรงข้างหน้า เมื่อไม่ถึง คือไม่ปรากฏ กิจด้วยความตรงจักไม่สำเร็จ คือไม่ถึงพร้อม. บทว่า สมฺปตฺวา ความว่า ถึงคือเห็นด้วยจักษุ. บทว่า วิวาทปฺปตฺโต ความว่า เมื่อลืมตาที่สอง ที่คดย่อมไม่ปรากฏ คือแม้ที่คดก็ปรากฏว่าตรง แม้ที่ตรงก็ปรากฏว่าคด. ความวิวาทย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฉันใด แม้สมณะมีสองรูปก็ฉันนั้น ย่อมวิวาทกันคือ ทะเลาะกัน ถือเอาต่างๆ กัน. บทว่า เกเนโก ความว่า คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า.
               บทว่า เอกตฺตมุปโรจตํ ความว่า ท่านจงชอบใจความเป็นผู้อยู่คนเดียว. ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลย. แต่เหตุไรท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด. ช่างศรกล่าวสอนพระมหาสัตว์ ด้วยประการฉะนี้ ช่างศรถวายโอวาทแด่พระมหาสัตว์อย่างนี้แล้วก็นิ่งอยู่. พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ได้ภัตตาหารที่เจือปนแล้วเสด็จออกจากพระนคร ประทับนั่งเสวยในที่มีน้ำสมบูรณ์. พระองค์เสร็จเสวยพระกระยาหารแล้ว บ้วนพระโอฐ ล้างบาตรนำเข้าถุงแล้ว ตรัสเรียกพระนางสีวลีมาตรัสว่า
               ดูก่อนนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่ช่างศรกล่าวหรือยัง ช่างศรเป็นเพียงคนใช้ยังติเตียนเราได้ ความที่เราทั้งสองประพฤตินั้นเป็นเหตุแห่งความครหา. ดูก่อนนางผู้เจริญ ทางสองแพร่งนี้อันเราทั้งสองผู้เดินทางมาจงแยกกันไป เธอจงถือเอาทางหนึ่งไป อาตมาก็จะถือเอาทางอื่นอีกทางหนึ่งไป. เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอ และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของอาตมาอีก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุณสิ ความว่า เธอฟังคาถาหรือ ก็พระมหาสัตว์ตรัสพระดำรัสว่า เปสิโย มํ นี้ ทรงหมายถึงโอวาทของช่างศรนั่นเอง.

               ได้ยินว่า พระนางสีวลีเทวีนั้น แม้ถูกพระมหาสัตว์ตรัสว่า เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอดังนี้ ก็ยังเสด็จติดตามพระมหาสัตว์อยู่นั่นเอง พระราชาก็ไม่สามารถให้พระนางสีวลีนั้นเสด็จกลับได้ แม้มหาชนก็ตามเสด็จพระองค์อยู่นั่นเอง. ก็แต่ที่นั้นมีดงแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นแนวป่าเขียวชอุ่ม มีพระราชประสงค์จะให้พระนางเสด็จกลับ. เมื่อดำเนินไปได้ทอดพระเนตรเห็นหญ้ามุงกระต่ายในที่ใกล้ทาง พระองค์จึงทรงถอนหญ้ามุงกระต่ายนั้น ตรัสเรียกพระเทวีมาตรัสว่า แน่ะสีวลีผู้เจริญ เธอจงดูหญ้ามุงกระต่ายนี้ ก็หญ้ามุงกระต่ายนี้จะไม่อาจสืบต่อในกอนี้ได้อีก ฉันใด ความอยู่ร่วมกับเธอของอาตมา ก็ไม่อาจจะสืบต่อกันได้อีก ฉันนั้น แล้วได้ตรัสกึ่งคาถาว่า
               หญ้ามุงกระต่ายที่ติดกันอยู่แต่เดิม ซึ่งอาตมาถอนแล้วนี้ ไม่อาจสืบต่อกันไปได้อีก ฉันใด ความอยู่ร่วมกันระหว่างเธอกับอาตมา ก็ไม่อาจสืบต่อได้อีก ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น เธอจงอยู่ผู้เดียว อาตมาก็จะอยู่ผู้เดียวเหมือนกัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกา ความว่า แน่ะสีวลีผู้เจริญ หญ้ามุงกระต่ายที่ติดกันอยู่แต่เดิม อันอาตมาถอนแล้ว ไม่อาจสืบต่อได้อีก ฉันใด การอยู่ร่วมกันระหว่างเธอกับอาตมา ก็ไม่อาจทำได้แม้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เราจักอยู่ผู้เดียวนะสีวลี แม้เธอก็จงอยู่ผู้เดียวเหมือนกัน. พระมหาสัตว์ได้ประทานพระโอวาทแก่พระนางสีวลีเทวี ด้วยประการฉะนี้.

               พระนางได้ฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้วตรัสว่า จำเดิมแต่นี้ไป เราจะไม่ได้อยู่ร่วมกับพระมหาชนกนรินทรราชอีก. พระนางไม่อาจจะทรงกลั้นโศกาดูร ก็ข้อนทรวงด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงปริเทวนาการร่ำไรอยู่เป็นอันมาก ถึงวิสัญญีภาพล้มลงที่หนทางใหญ่. พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า พระนางถึงวิสัญญีภาพ ก็สาวพระบาทเสด็จเข้าสู่ป่า. ขณะนั้น หมู่อมาตย์มาสรงพระสรีระแห่งพระนางนั้น ช่วยกันถวายอยู่งานที่พระหัตถ์และพระบาท พระนางได้สติเสด็จลุกขึ้น ตรัสถามว่า พระราชาเสด็จไปข้างไหน หมู่อมาตย์ย้อนทูลถามว่า พระแม่เจ้าก็ไม่ทรงทราบดอกหรือ พระนางตรัสให้เที่ยวค้นหา พวกนั้นพากันวิ่งไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ก็ไม่พบพระราชา. พระนางทรงปริเทวนาการมากมาย แล้วให้สร้างพระเจดีย์ตรงที่พระราชาประทับยืน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วเสด็จกลับกรุงมิถิลา.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์เสด็จเข้าป่าหิมวันต์ ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดภายในเจ็ดวัน มิได้เสด็จมาสู่ถิ่นมนุษย์อีก.
               ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีเสด็จกลับแล้ว โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์ ณ ที่ที่พระมหาสัตว์ตรัสกับช่างศร. ตรัสกะนางกุมารี. เสวยเนื้อที่สุนัขทิ้ง. ตรัสกับมิคาชินดาบส. และตรัสกับนารทดาบส. ทุกตำบลแล้ว บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทรงแวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกร. ภายหลัง เสด็จไปถึงมิถิลานครทรงอภิเษกพระราชโอรส ณ พระราชอุทยานอัมพวัน ทรงส่งพระราชโอรสอันหมู่เสนาแวดล้อมแล้วเข้าพระนคร. พระองค์เองทรงผนวชเป็นดาบสินี ประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานนั้น ทรงทำกสิณบริกรรมก็ได้บรรลุฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ในที่สุดแห่งพระชนมายุ.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็ไม่เสื่อมจากฌาน ได้เข้าถึงพรหมโลกเหมือนกัน.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์.
               ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอนุรุทธะ ในบัดนี้
               พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ ได้มาเป็น พระกัสสปะ
               นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษาสมุทร ได้มาเป็น อุบลวรรณาภิกษุณี
               นารทดาบส ได้มาเป็น พระสารีบุตร
               มิคาชินดาบส ได้มาเป็น พระโมคคัลลานะ
               นางกุมาริกา ได้มาเป็น นางเขมาภิกษุณี
               ช่างศร ได้มาเป็น พระอานนท์
               ราชบริษัทที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท
               สีวลีเทวี ได้มาเป็น ราหุลมารดา
               ทีฆาวุกุมาร ได้มาเป็น ราหุล
               พระชนกพระชนนี ได้มาเป็น มหาราชศากยสกุล
               ส่วนพระมหาชนกนรินทรราช คือ เราผู้เป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เอง.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาชนกชาดก ว่าด้วย พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2871&Z=3200
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=1078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=1078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :