ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา สุธาโภชนชาดก
ว่าด้วย ของกินอันเป็นทิพย์

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               ลำดับนั้น นางเทพกัญญาทั้ง ๔ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลาย อนุมัติส่งไปแล้ว ได้ไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบสนั้น โกสิยดาบสได้เห็นนางเทพกัญญาทั้งปวงนั้น มีผิวพรรณอันงามประดุจเปลวเพลิง เป็นผู้บันเทิงอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวกับนางเทพกัญญาทั้ง ๔ ในทิศทั้ง ๔ ต่อหน้ามาตลีว่า ดูก่อนเทวดาในบูรพาทิศ ท่านมีชื่อว่าอย่างไร จงบอกไป ท่านเป็นผู้มีสรีระอันประดับแล้ว งดงามดุจดาวประกายพรึก อันประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย ดูก่อนท่านผู้มีร่างกายคล้ายกับรูปทองคำ เราถามท่าน ท่านจงบอกแก่เราว่า ท่านเป็นเทวดาอะไร.


               นางสิริได้สดับคำดังนั้นแล้ว เมื่อจะกระทำตนให้ปรากฏ จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้ามีชื่อว่า นางสิริเทวี เป็นผู้ไม่เสพคบหาสัตว์ลามก อันหมู่มนุษย์บูชาแล้วทุกเมื่อ มาสู่สำนักของท่าน เพราะความทะเลาะกันด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ข้าพเจ้าบ้าง.
               ข้าแต่มหามุนีผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ข้าพเจ้าปรารถนาความสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นบันเทิงอยู่ด้วยสรรพกามสมบัติทั้งหลาย ท่านจงรู้จักข้าพเจ้าว่า สิริ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์ให้ข้าพเจ้าบ้างเถิด.


               ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ลำดับนั้น คือ ในกาลนั้น. คำว่า อนุมัติ คือ รับรู้แล้ว อธิบายว่า เป็นผู้อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลาย อนุมัติแล้วด้วย ส่งไปแล้วด้วย ในกาลนั้น. คำว่า เป็นผู้บันเทิงอย่างยิ่ง อธิบายว่า เป็นผู้รื่นเริงอย่างยิ่ง ทุกนางมิได้มีเหลือเลย. พระบาลีบางฉบับเป็น สามํ แปลว่า เอง. อธิบายว่า ก็โกสิยดาบสนั้นเห็นนางเทพกัญญาเหล่านั้นเองทีเดียว. คำว่า หมายเอานางเทพกัญญาทั้ง ๔ อีกอย่างหนึ่ง พระบาลีเป็นจตุราก็มี อธิบายว่า ประกอบพร้อมด้วยทิศทั้ง ๔. คำว่า ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย คือ ประเสริฐกว่าดวงดาราทั้งหมด. คำว่า มีร่างกายคล้ายรูปทองคำ คือ มีสรีระเหมือนกับรูปเปรียบทองคำ. คำว่า ข้าพเจ้ามีชื่อว่า นางสิรี คือ ข้าพเจ้ามีนามว่า สิรี. คำว่า มาสู่สำนักของท่าน คือมายังสำนักของพระผู้เป็นเจ้า. คำว่า จงแบ่ง คือ แบ่งให้ข้าพเจ้าได้ด้วยประการใด ขอท่านจงทำด้วยประการนั้นเถิด อธิบายว่า จงให้สุธาโภชน์แก่ข้าพเจ้าบ้าง. คำว่า จงรู้ คือจงรู้จัก. คำว่า สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย คือเป็นผู้อุดมกว่าผู้บูชาอยู่ซึ่งไฟ.

               โกสิยดาบสสดับคำนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               นรชนทั้งหลายผู้มีความเพียร ประกอบด้วยศิลปะวิทยา และความประพฤติดี ความรู้และการงานของตน เป็นผู้ท่านละทิ้งเสียแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร กิจที่มีความขาดแคลนอันใดที่ท่านทำแล้ว กิจนั้นไม่ดีเลย. เราเห็นนรชนผู้เป็นบุรุษเกียจคร้าน บริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำมีรูปแปลก ดูก่อนนางสิรี นรชนที่ท่านรักษาไว้แม้สมบูรณ์ด้วยชาติ ผู้มีโภคทรัพย์ มีความสุข ย่อมใช้เหมือนทาส เพราะฉะนั้น เรารู้จักท่านเป็นผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรแล้ว และเสพคบหาเป็นผู้หลง นำผู้รู้ให้ตกไปตาม นางเทพธิดาเช่นท่านย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ไหนเล่า จงไปเสียเถิด ท่านไม่ชอบใจแก่เรา.


               ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า ศิลป คือ ประกอบด้วยศิลปะ มีศิลปะที่เกี่ยวกับช้างม้ารถและธนูเป็นต้น. คำว่า วิทยาและความประพฤติดี หมายเอาวิชาที่นับเอาพระเวททั้ง ๓ และศีล. คำว่า ความรู้และการงานของตน คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรแห่งบุรุษของตน. คำว่า อะไร คือว่า ย่อมไม่ได้ยศ หรือความสุข แม้มีประมาณเล็กน้อย. คำว่า กิจนั้น คือ ความกังวลอันใดที่ท่านกระทำแล้ว แก่บุคคลผู้เรียนศิลปะทั้งหลายแล้วเที่ยวไป เมื่อต้องการความเป็นใหญ่ กิจนั้นไม่ดีเลย. คำว่า มีรูปแปลก คือ มีรูปผิดปกติ. คำว่า ที่ท่านรักษาไว้ คือ ที่ท่านตามรักษาไว้แล้ว. คำว่า สมบูรณ์ด้วยชาติ คือ ถึงพร้อมแล้วด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมแล้วด้วยศิลปะวิทยา ความประพฤติและการงาน อันประกอบด้วยปัญญาบ้าง. คำว่า ย่อมใช้ คือย่อมกระทำการใช้สอย. คำว่า เพราะฉะนั้น คือเหตุนั้น. คำว่า ไม่มีสัจจะ คือ ท่านไม่มีสัจจะ เพราะไม่ประพฤติอยู่ในสัจจะที่นับว่า สภาวะ คือ เว้นจากความเป็นผู้สูงสุด. คำว่า ไม่รู้และเสพคบหา คือ ไม่แบ่งไม่รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร เสพอยู่ซึ่งนรชนนอกนี้ แม้ถึงพร้อมแล้วด้วยศิลปะเป็นต้น. คำว่า ทำผู้รู้ให้ตกไปตาม คือ ทำบัณฑิตให้ตกไปตาม คือทำบัณฑิตให้ตกไปแล้วเที่ยวเบียดเบียนอยู่. คำว่า สุธาโภชน์จักมีแต่ที่ไหนเล่า อธิบายว่า สุธาโภชน์ของท่านผู้มีคุณเลวทรามเช่นนั้น จะมีแต่ที่ไหน ท่านย่อมไม่ชอบใจเรา ท่านจงกลับไปเสีย อย่าอยู่ในที่นี้เลย.

               นางสิรีเทพธิดานั้น ครั้นถูกโกสิยดาบสนั้นห้ามแล้ว ก็อันตรธานหายไปในที่นั้นนั่นเอง. ลำดับนั้น โกสิยดาบสนั้น เมื่อจะเจรจากับนางอาสาเทพธิดา จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า
               ใครนั่นเป็นผู้มีฟันขาว สวมกุณฑลมีร่างกายอันวิจิตร ทรงเครื่องประดับเกลี้ยงเกลา ทำด้วยทองคำ นุ่งห่มผ้ามีสีดังสายน้ำหยด ย่อมงดงามเหมือนดัง ประดับช่อดอกไม้มีสีแดง ดุจเปลวไฟไหม้หญ้าคา ฉะนั้น. ท่านเป็นเหมือนนางเนื้อทรายคะนอง ที่นายขมังธนูยิงผิดแล้ว มองดูอยู่ดุจทำเขลา ฉะนั้น ดูก่อนนางเทพธิดาผู้มีดวงตาอันขาว ในที่นี้ ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่าใหญ่ แต่ผู้เดียวไม่กลัวหรือ.


               ในคาถานั้นมีอธิบายว่า คำว่า มีร่างกายอันวิจิตร คือ ประกอบด้วยองค์อวัยวะอันวิจิตร. คำว่า ทรงเครื่องประดับเกลี้ยงเกลาทำด้วยทองคำ คือทรงเครื่องอลังการทองคำอันเกลี้ยงเกลา อันสำเร็จขึ้นจากการกระทำ. คำว่า มีสีดังสายน้ำหยด คือ นุ่งห่มผ้าทุกูลพัสตร์อันเป็นทิพย์ มีสีดุจสายน้ำที่หยดลงแล้ว. คำว่า นุ่งห่ม คือ ทั้งนุ่งแล้วด้วย ห่มแล้วด้วย. คำว่า แดงดุจเปลวไฟไหม้หญ้าคา คือ มีสีแดงเหมือนเปลวแห่งไฟที่กำลังไหม้หญ้าคา. คำว่า ประดับช่อดอกไม้ มีคำอธิบายว่า ประดับช่อดอกไม้ เช่นช่อดอกอโศกที่หูทั้งสองข้าง. คำว่า นายขมังธนู หมายเอานายพราน. คำว่า ยิงผิด คือ ยิงพลาดไป. คำว่า ดุจทำเขลา อธิบายว่า นางเนื้อนั้นกลัวแล้ว จึงยืนอยู่ในระหว่างป่า มองดูนายพรานนั้นดุจทำเป็นเขลา ฉันใด ท่านก็แลดูเราฉันนั้นเหมือนกัน.

               ในลำดับนั้น นางอาสาจึงตอบว่า
               ข้าแต่โกสิยดาบส ในที่นี้ สหายของข้าพเจ้าย่อมไม่มี ข้าพเจ้าเป็นเทวดา มีชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงส์พิภพ มาสู่สำนักของท่าน เพราะหวังสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้แก่ข้าพเจ้าบ้าง.


               คำว่า เกิดในดาวดึงส์พิภพ ในคาถานั้น หมายความว่า เป็นผู้เกิดพร้อมแล้วในพิภพชั้นดาวดึงส์.

               โกสิยดาบสสดับคำนั้น เมื่อจะแสดงว่า ท่านให้ความหวังด้วยความสำเร็จผลแห่งความหวังแก่บุคคลที่ท่านชอบใจ หาให้แก่ผู้ที่ท่านไม่ชอบใจไม่ ความพินาศแห่งความปรารถนาที่ท่านตั้งใจไว้โดยชอบ มิได้มี ดังนี้ ได้กล่าวเป็นคาถาว่า
               พ่อค้าทั้งหลาย มีความหวังแสวงหาทรัพย์ ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในทะเล อนึ่ง พ่อค้าเหล่านั้น ย่อมจมในท่ามกลางมหาสมุทรนั้น ในกาลบางครั้ง เขามีทรัพย์สิ้นไป ทั้งทรัพย์อันเป็นต้นทุน ก็สูญหายไปแล้ว ก็กลับมา
               ชาวนาทั้งหลาย ย่อมไถนาด้วยความหวัง หว่านพืชก็กระทำโดยแยบคาย เขาไม่ได้ประสบผลอะไรๆ จากข้าวกล้านั้น เพราะเพลี้ยตกลงบ้าง เพราะฝนแล้งบ้าง ในภายหลัง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข ทำความหวังข้างหน้า ย่อมทำการงานของตนเพื่อนาย นรชนเหล่านั้นถูกศัตรูเบียดเบียนแล้ว ไม่ได้ประโยชน์อะไรๆ ย่อมหนีไปสู่ทิศทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่นายอีก
               สัตว์ผู้แสวงหาความสุขเหล่านี้ เป็นผู้ใคร่จะไปสวรรค์ ละทิ้งธัญชาติทรัพย์และหมู่ญาติเสียแล้ว ย่อมทำความเพียรอันเศร้าหมองตลอดกาลนาน เดินทางผิด ย่อมไปสู่ทุคติ เพราะความหวัง เพราะฉะนั้น ท่านชื่อว่า อาสา ที่เขาสมมติว่า เป็นผู้มักกล่าวให้เคลื่อนคลาดจากความจริง
               ดูก่อนนางอาสา ท่านจงนำความหวังในสุธาโภชน์ในตนออกเสีย นางเทพธิดาเช่นท่าน ยังไม่สมควรอาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ที่ไหนเล่า ท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา.


               ในคาถานั้นมีอธิบายว่า คำว่า แล่นไป คือ แล่นเรือไป. คำว่า มีทรัพย์สิ้นไป คือ ทรัพย์สูญไปแล้ว โกสิยดาบสกล่าวอธิบายไว้ว่า ชนเหล่าหนึ่งย่อมอิ่มเอิบด้วยอำนาจของท่าน และชนอีกพวกหนึ่งก็เสื่อมโทรมด้วยอำนาจของท่าน ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น คนที่มีธรรมอันลามกเหมือนอย่างท่านจึงไม่มี. คำว่า ทำโดยแยบคาย คือ ย่อมกระทำกิจนั้นๆ โดยอุบาย. คำว่า เพราะเพลี้ยตกลงบ้าง อธิบายว่า เพราะอันตรายที่เกิดแก่ข้าวกล้าทั้งหลาย มีฝนตกไม่เสมอกัน และสัตว์จำพวกหนู มอด หมู และสัตว์พวกแมลงต่างๆ และโรคเกิดจากข้าวสาลีเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งตกลง. คำว่า นั้น อธิบายว่า โกสิยดาบสกล่าวว่า ชาวนาเหล่านั้นย่อมไม่ประสบผลอะไรๆ จากข้าวกล้านั้น ท่านผู้เดียวย่อมกระทำกรรม คือการตัดความหวังของชาวนาแม้เหล่านั้น. คำว่า ในภายหลัง กระทำการงานของตน อธิบายว่า กระทำความบากบั่นของบุรุษในยุทธภูมิทั้งหลาย. คำว่า กระทำความหวังข้างหน้า คือ กระทำความหวังที่จะเป็นใหญ่ข้างหน้า. คำว่า เพื่อประโยชน์แก่นาย คือ เพื่อความต้องการของนาย. คำว่า ถูกศัตรูเบียดเบียน คือ เป็นผู้ถูกข้าศึกทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว มีทรัพย์สมบัติก็ถูกยื้อแย่งแล้ว มีเสนาและพาหนะถูกกำจัดแล้ว. คำว่า หนีไป คือ ย่อมหนีไป. คำว่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรๆ คือ ไม่ได้ความเป็นใหญ่ โกสิยดาบสกล่าวว่า ท่านผู้เดียวย่อมกระทำให้ ชนแม้เหล่านี้ไม่ได้ความเป็นใหญ่ ด้วยประการฉะนี้. คำว่า ผู้ใคร่จะไปสวรรค์ คือ เป็นผู้ปรารถนาจะไปยังสวรรค์. คำว่า เศร้าหมอง หมายเอาความลำบากกายมีความเพียร ๕ อย่าง ซึ่งหมดโอชะแล้วเป็นต้น. คำว่า ตลอดกาลนาน ได้แก่ สิ้นกาลนานยิ่งนัก. คำว่า ท่านชื่อ อาสา ที่เขาสมมติว่าเป็นผู้มักกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง. อธิบายว่า สัตว์เหล่านี้ย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวังอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านมีชื่อว่า อาสา เป็นผู้ที่เขาสมมติแล้วว่า เป็นผู้มักกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง คือถึงการนับว่า เป็นผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง โกสิยดาบสย่อมเรียกนางเทพธิดานั้นว่า ดูก่อนอาสา ดังนี้.

               แม้นางอาสานั้น ครั้นถูกโกสิยดาบสห้ามเสียแล้ว จึงอันตรธานหายไป. ในลำดับนั้น โกสิยดาบส เมื่อจะเจรจากับนางศรัทธา จึงกล่าวคาถาว่า
               ท่านผู้มียศ รุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ ยืนอยู่เป็นเจ้าในทิศ เราเรียกโดยชื่ออันน่าเกลียด ดูก่อนนางผู้มีร่างกายคล้ายทองคำ เราขอถามท่าน ท่านจงบอกเราว่า ท่านเป็นเทวดาอะไร.


               ในคาถานั้นคำว่า รุ่งเรือง คือ รุ่งโรจน์อยู่. คำว่า เราเรียกโดยชื่ออันน่าเกลียด อธิบายว่า เราเรียกอยู่โดยชื่ออันน่าเกลียดคือลามกอย่างนี้ว่า นางอื่นอีกบ้าง นางคนหลังบ้าง. คำว่า เป็นเจ้าในทิศ ได้แก่ ท่านยืนรุ่งเรืองอยู่.

               ลำดับนั้น นางศรัทธาจึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้ามีชื่อว่า ศรัทธาเทวี ที่มนุษย์บูชาแล้ว เป็นผู้ไม่เสพคบสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อ มาสู่สำนักของท่าน เพราะวิวาทด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ข้าพเจ้าบ้างเถิด.


               ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ศรัทธา ได้แก่ การเชื่อถ้อยคำของบุคคลคนใดคนหนึ่ง มีโทษก็มี ไม่มีโทษก็มี. คำว่า บูชา คือ บูชาแล้วด้วยอำนาจแห่งส่วนอันไม่มีโทษ. คำว่า ไม่เสพคบสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อ อธิบายว่า เป็นผู้มีศรัทธาอันหาโทษมิได้ จริงอยู่ คำว่า ศรัทธา นี้เป็นชื่อของเทวดาผู้สามารถตบแต่งจัดแจง แม้ในบุคคลอื่นมีการจัดแจงโดยส่วนเดียวเป็นสภาพ.

               ลำดับนั้น โกสิยดาบสจึงกล่าวกะนางศรัทธานั้นว่า
               ก็บางคราวมนุษย์ทั้งหลาย ถืออาการให้บ้าง การฝึกฝนบ้าง การบริจาคบ้าง การสำรวมบ้าง ย่อมกระทำด้วยความเชื่อ แต่มนุษย์พวกหนึ่งกระทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวงบ้าง กล่าวส่อเสียดบ้าง ท่านอย่าประกอบต่อไปเลย.
               บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งในภรรยาทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการปฏิบัติสามีดีแล้ว และเป็นผู้เสมอกัน ย่อมนำความพอใจในนางกุลธิดาออกเสีย เพราะเขาทำความเชื่อตามคำของนางกุมภทาสีอีก ดูก่อนนางศรัทธา ตัวท่านนั่นแล ให้ชนอื่นเสพคบภรรยาของผู้อื่น ท่านย่อมทำบาป ละทิ้งกุศลเสีย นางเช่นท่านไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ไหนเล่า ท่านจงไปเสีย ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา.


               ก็ดาบสนั้นกล่าวกะนางเทพธิดา ผู้มีชื่อว่า ศรัทธา นั้นว่า สัตว์เหล่านี้เชื่อถ้อยคำของผู้ใดผู้หนึ่งแล้ว ย่อมกระทำกรรมนั้นๆ เขาย่อมทำกรรมซึ่งไม่สมควรกระทำ ให้มากกว่ากรรมที่ควรกระทำเสียอีก กรรมนั้นทั้งหมด ย่อมชื่อว่า เป็นกรรมที่ท่านใช้ให้เขาทำแล้วทุกอย่าง ดังนี้ กล่าวไว้แล้ว ด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้.
               ในคาถานั้น มีคำอธิบายว่า
               ก็การให้ที่ประกอบด้วยเจตนามีวัตถุ ๑๐ ประการชื่อว่าทาน การฝึกอินทรีย์ ชื่อว่าการฝึกฝน การบริจาคไทยธรรม ชื่อว่าการบริจาค ศีล ชื่อว่าการสำรวม.
               คำว่า ถือเอาด้วยความเชื่อ อธิบายว่า แม้ถือเอาแล้ว ก็ย่อมกระทำตามคำของบุคคลผู้กล่าวอยู่ว่า การให้ทานเป็นต้นเหล่านี้ มีอานิสงส์มาก ท่านพึงกระทำเถิด ดังนี้ เพราะความเชื่อ.
               คำว่า ล่อลวง ความว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมกระทำกรรมมีการโกงด้วยตาชั่งเป็นต้น หรือกรรมมีการโกงชาวบ้านเป็นต้น.
               คำว่า แต่มนุษย์พวกหนึ่ง มีอธิบายว่า ฝ่ายมนุษย์อีกพวกหนึ่ง เชื่อถ้อยคำของชนบางพวกว่า ท่านพึงกระทำโจรกรรมเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่คนเหล่านั้นด้วย เหล่านี้ด้วยในกาลทั้งหลาย ชื่อเห็นปานนี้ ดังนี้ แล้วกระทำกรรมแม้เหล่านี้. คำว่า ท่านอย่าประกอบต่อไป อธิบายว่า แม้ชนเหล่าอื่นไม่เชื่อถ้อยคำของบุคคลผู้กล่าวอยู่ว่า กรรมเหล่านั้น เต็มไปด้วยโทษมีทุกข์เป็นผล ท่านไม่ควรทำดังนี้ ก็ยังขืนกระทำ กรรมนั้น ท่านอย่าได้ชักชวนต่อไป เพราะกรรมที่บุคคลกระทำด้วยอำนาจของท่านนั้น มีโทษก็มี ไม่มีโทษก็มี ด้วยประการฉะนี้. คำว่า เสมอกัน คือเป็นผู้เสมอกันด้วยชาติ โคตรและศีลเป็นต้น. คำว่า เพ่งเล็ง อธิบายว่า ตัณหา ท่านกล่าวว่าความเพ่งเล็ง อธิบายว่า เป็นผู้มีความห่วงใยยังมีตัณหา. คำว่า ความพอใจ ได้แก่ เป็นผู้มีจิตรักใคร่แล้ว ย่อมกระทำความกำหนดด้วยสามารถแห่งความพอใจ.
               คำว่า ความเชื่อ ได้แก่ ย่อมกระทำความเชื่อตามถ้อยคำ แม้ของนางกุมภทาสี.
               จริงอยู่ เมื่อนางกุมภทาสีนั้นกล่าวอยู่ว่า ดิฉันจักกระทำอุปการะชื่อนี้แก่ท่าน ดังนี้ บุรุษนั้นเชื่อแล้วก็ทิ้งแม้หญิงผู้มีตระกูลเสีย กลับมาเห็นกับนางทาสีนั้นแล.
               อนึ่ง บุรุษกระทำความเชื่อตามถ้อยคำของนางกุมภทาสีว่า หญิงมีชื่อนั้นมีจิตรักใคร่ในตัวท่าน ดังนี้แล้ว ย่อมเสพภรรยาของชนอื่น.
               คำว่า ดูก่อนนางศรัทธา ตัวท่านนั่นแลให้ชนอื่นเสพในภรรยาของผู้อื่น มีอธิบายว่า เพราะเหตุที่ชนทั้งหลายเชื่อฟังคำนั้นๆ จึงเสพภรรยาของชนอื่น กระทำกรรมอันเป็นบาปละกุศลเสีย เพราะอำนาจของท่าน เพราะฉะนั้น ตัวท่านนั่นแล ชื่อว่าเป็นผู้เสพซึ่งภรรยาของชนอื่น ท่านย่อมกระทำกรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย ย่อมละทิ้งกุศลเสีย บุคคลที่มีธรรมอันลามก ผู้ทำโลกให้ฉิบหายเหมือนกับท่านไม่มีอีกแล้ว ท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรา.

               นางศรัทธานั้น ก็ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง. ฝ่ายโกสิยดาบส เมื่อจะเจรจากับนางหิรีผู้ยืนอยู่ด้านทิศอุดร จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               เมื่ออรุณขึ้นไปในที่สุดแห่งราตรี นางเทพธิดาใดเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งรูปอันงดงามปรากฏอยู่ ดูก่อนเทวดา ท่านเปรียบเหมือนนางเทพธิดานั้น จะพูดกะเราหรือ ท่านจงบอกแก่เราว่า ท่านเป็นนางอัปสรอะไร ท่านมีชื่อว่าอย่างไร ยืนอยู่ประดุจเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน และประดุจเปลวไฟที่ห้อมล้อมอยู่ด้วยใบไม้สีแดง ถูกลมพัดแล้วดูงาม ฉะนั้น ท่านเป็นผู้ราวกะว่าจะพูด แต่มิได้เปล่งวาจาออกมา แลดูอยู่เหมือนนางเนื้อเขลา ฉะนั้น.


               ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ในที่สุดแห่งราตรี หมายถึง ราตรีอันเป็นที่สุดท้าย. อธิบายว่า กาลเป็นที่สุดแห่งกลางคืน. คำว่า ขึ้นไป คือ เมื่ออรุณขึ้นไปแล้ว. คำว่า ใด อธิบายว่า นางเทพธิดาใดเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอันงดงาม เพราะมีผิวพรรณดังทองคำ ปรากฏอยู่ทางด้านทิศบูรพาในเวลากลางคืน. คำว่า ประดุจเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน คือ ประหนึ่งว่า เถาวัลย์มีสีดำในสมัยแห่งฤดูร้อน ฉะนั้น. คำว่า ประดุจเปลวไฟ ได้แก่ ประดุจเปลวเพลิง แม้นางเทพธิดานั้น ยืนอยู่ประดุจเถาวัลย์ดำที่งอกขึ้นอ่อนๆ มีสีแดงดีในนาที่ไฟไหม้แล้วใหม่ๆ. คำว่า ห้อมล้อมอยู่ด้วยใบไม้สีแดง คือมีใบไม้ต่างๆ ซึ่งมีสีแดงแวดล้อมแล้ว. คำว่า ท่านมีชื่อว่าอย่างไรยืนอยู่ อธิบายว่า เถาวัลย์ดำอ่อนนั้น ถูกลมพัดแล้วไหวไปมาอยู่ดูงดงาม ตั้งอยู่ด้วยประการใด ท่านมีชื่อว่าอย่างไร ยืนอยู่ด้วยประการนั้น. คำว่า ราวกะว่าจะพูด อธิบายว่า ท่านได้เป็นผู้ราวกะว่า ปรารถนาจะพูดกับเรา แต่หาเปล่งถ้อยคำไม่.

               ลำดับนั้น นางหิรีเทพธิดานั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้ามีชื่อว่านางหิรีเทวี ได้รับการบูชาแล้วในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่เสพสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อ มายังสำนักของท่าน เพราะวิวาทกัน ด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าพเจ้านั้น มิอาจที่จะขอสุธาโภชน์กะท่านได้ เพราะการขอของหญิง ดูเหมือนจะเป็นของน่าละอาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิราห คือ ข้าพเจ้าชื่อหิรี.
               บทว่า สุธํปิ ความว่า ข้าพเจ้านั้นไม่อาจแม้เพื่อขอสุธาโภชน์กะท่าน เพราะเหตุไร.
               บทว่า โกปินรูปาวิย ยาจนิตฺถิยา ความว่า เพราะการขอของหญิง ดูเหมือนจะเป็นของน่าละอาย เป็นเช่นกับการเปิดเผยอวัยวะลับ เป็นเหมือนปราศจากความละอาย.

               โกสิยดาบสได้สดับคำนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               ดูก่อนนางผู้มีกายงดงาม ท่านจักได้ตามธรรม ตามอุบายที่ชอบ นี้เป็นธรรมดาทีเดียว ก็สุธาโภชน์นั้น ท่านจะได้เพราะการขอ ก็หาไม่ เพราะฉะนั้น เราพึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุธาโภชน์นั้น ท่านต้องการสุธาโภชน์ใดๆ เราจะให้สุธาโภชน์นั้นๆ แก่ท่าน. ดูก่อนนางผู้มีสรีระคล้ายทองคำ วันนี้ เราขอเชิญท่านไปในอาศรมของเรา เราจะบูชาท่านด้วยสรรพรส ครั้นบูชาท่านแล้ว จึงจักบริโภคสุธาโภชน์.


               ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ตามธรรม คือ ตามสภาพ. คำว่า ตามอุบายที่ชอบ คือ ตามเหตุ. คำว่า สุธาโภชน์นั้น ท่านจะได้ เพราะการขอก็หาไม่ อธิบายว่า สุธาโภชน์นี้ ท่านจะไม่ได้เพราะการขอเลย นางเทพธิดาทั้ง ๓ นอกนี้ ไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้นแล. คำว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะเหตุนั้น. คำว่า ท่านต้องการสุธาโภชน์ใดๆ อธิบายว่า เรามิได้เชื้อเชิญท่านแต่อย่างเดียวเท่านั้น ก็ท่านปรารถนาสุธาโภชน์ชนิดใด เราจะให้สุธาโภชน์แม้นั้นแก่ท่าน. คำว่า นางผู้มีสรีระคล้ายทองคำ คือ นางผู้มีสรีระเต็มไปด้วยสิริ ประดุจกองแห่งทองคำ. คำว่า บูชาแล้ว อธิบายว่า เรามิได้บูชาท่านด้วยสุธาโภชน์อย่างเดียวเท่านั้น ท่านยังเป็นผู้สมควรที่เราควรจะบูชาด้วยสรรพรส แม้เหล่าอื่นอีกด้วย. คำว่า จักบริโภค อธิบายว่า เราบูชาท่านแล้ว ส่วนที่เหลือของสุธาโภชน์จักมี เราจักบริโภคส่วนที่เหลือนั้น.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ในกาลนั้น นางหิรีเทพธิดา ผู้ไม่ข้องเกี่ยวกับสัตว์ผู้ลามก ในกาลทุกเมื่อนั้น เป็นผู้อันดาบสชื่อโกสิยะ ผู้มีความรุ่งเรืองยอมให้เข้าไปสู่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ มีน้ำและผลไม้สมบูรณ์ อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว ณ ที่ใกล้อาศรมสถานนั้น มากไปด้วยหมู่รุกขชาตินานาชนิด อันผลิดอกออกผล มีทั้งมะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม อีกทั้งต้นโลท และบัวบก การะเกด จันทน์กะพ้อ และหมากหอมแก่ ล้วนกำลังออกดอกบานสะพรั่ง
               ในที่นั้นมากไปด้วยต้นไม้ชนิดใหญ่ๆ คือต้นรัง ต้นกุ่ม ต้นหว้า ต้นโพธิ์ ต้นไทร อีกทั้งมะซาง ราชพฤกษ์ แคฝอย ไม้ย่างทราย ไม้จิก และลำเจียก ต่างก็มีกิ่งอันห้อยย้อยลงมา กำลังส่งกลิ่นหอมฟุ้งน่ายวนใจนัก ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า ตะโก ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วขาวเล็ก กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด และข้าวสารอันเกิดเอง ก็มีอยู่ในอาศรมนั้นมากมาย
               ก็เบื้องหน้าด้านทิศอุดรแห่งอาศรมสถานนั้น มีสระโบกขรณีอันงามราบรื่น มีพื้นท่าขึ้นลงเรียบเสมอกัน มีน้ำใสจืดสนิท ไม่มีกลิ่นเหม็น อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้นมีปลาต่างชนิด คือ ปลาดุก ปลากะทุงเหว ปลากราย กุ้ง ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากา ว่ายเกลื่อนกลาดไปในสระโบกขรณีที่มีขอบคัน พากันแหวกว่ายอย่างสบายทั้งเหยื่อก็มาก
               และที่ใกล้เคียงสระโบกขรณีนั้น มีนกต่างชนิด คือหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก นกออก กระเหว่าลาย นกยูงทอง นกพริกและนกโพระดกมากมาย ล้วนมีขนปีกอันงดงาม พากันจับอยู่อย่างสบาย ทั้งอาหารก็มีมาก
               ในที่ใกล้เคียงสระโบกขรณีนั้น มีปาณชาติและหมู่เนื้อต่างๆ มากมาย คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี เสือปลา เสือดาว แรดและโคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน กวางทอง แมว กระต่าย วัวกระทิง เป็นอันมากล้วนงามวิจิตรหลากหลาย พื้นดินและหินเขาดารดาษงามวิจิตรไปด้วยดอกไม้ ทั้งฝูงนกก็ส่งเสียงร้องกึกก้อง เป็นที่อาศัยของหมู่ปักษี.


               ในคาถาเหล่านั้น มีอรรถาธิบายว่า คำว่า ผู้มีความรุ่งเรือง คือเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอานุภาพ. คำว่า ให้เข้าไปสู่อาศรม คือ เชิญให้เข้าไปยังอาศรมบท. ย อักษรเป็นพยัญชนะสนธิ. คำว่า มีน้ำ คือ สมบูรณ์ด้วยน้ำในที่นั้นๆ ผลไม้ คือ สมบูรณ์ด้วยผลไม้มากมาย. คำว่า พระอริยะบูชาแล้ว คือ พระอริยะทั้งหลาย ผู้มีปกติได้ฌาน ผู้เว้นแล้วจากโทษ คือนิวรณ์ บูชาแล้ว คือสรรเสริญแล้ว. คำว่า หมู่รุกขชาติ หมายถึง หมู่ไม้ที่กำลังผลิดอกออกผล. คำว่า มะรุม ก็คือต้นมะรุม. คำว่า อีกทั้งต้นโลทและบัวบก คือ ต้นโลทด้วย ต้นบัวบกด้วย. คำว่า การะเกด และจันทน์กะพ้อ คือ ต้นไม้ที่มีชื่ออย่างนั้นทีเดียว. คำว่า กุ่ม ก็คือต้นกุ่มนั่นแล. คำว่า ราชพฤกษ์ คือ ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน). คำว่า ไม้จิกและลำเจียก ได้แก่ ต้นจิกและลำเจียก ๕ ชนิด. คำว่า ถั่วแระ หมายถึง อปรัณชาติชนิดหนึ่ง. คำว่า อ้อยแขม ได้แก่ ต้นอ้อย. คำว่า ถั่วป่า ก็คือถั่วราชมาษ. กล้วยมีเมล็ดเรียกว่า โมจะ. คำว่า ข้าวสาลี คือ ข้าวสาลีต่างๆ ชนิด ซึ่งอาศัยชาตสระเกิดแล้วมีประการต่างๆ. คำว่า ข้าวเปลือก ได้แก่ ข้าวเปลือกต่างชนิด. คำว่า ราชดัด คือต้นราชดัด (ต้นสมอ). คำว่า ข้าวสาร หมายถึง รวงข้าวสารอันเกิดขึ้นเอง ไม่มีรำและแกลบ. คำว่า อาศรมสถานนั้น อธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในส่วนแห่งทิศอุดรของอาศรมนั้น. คำว่า สระโบกขรณี หมายถึงสระโบกขรณีที่เกิดขึ้นเอง ดารดาษไปด้วยดอกบัว ๕ ชนิด. คำว่า ราบรื่น คือ เว้นจากของโสโครกมีดีปลา และสาหร่ายเป็นต้น. คำว่า มีท่าเรียบ คือ มีท่าเรียบเสมอกัน มีพื้นที่มิได้ขาด. คำว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น คือ ประกอบด้วยน้ำ มีกลิ่นอันไม่น่ารังเกียจ คือมีกลิ่นหอม. คำว่า นั้น หมายถึงในสระโบกขรณีนั้น. คำว่า สบาย คือไม่มีภัย. คำว่า ปลาดุก นี้เป็นชื่อของปลาจำพวกนั้น. คำว่า กระเหว่าลาย หมายถึง จำพวกนกดุเหว่า. คำว่า งดงาม คือมีขนปีกอันงดงาม. คำว่า นกยูงทอง ได้แก่ นกยูงที่มีหงอนตั้งขึ้น อีกอย่างหนึ่ง แม้นกเหล่าอื่นที่มีหงอนงอกขึ้นบนหัว ก็เรียกว่า สิขิณฑะเหมือนกัน. คำว่า มีปาณชาติ คือเหล่าสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายพากันมา. คำว่า แรด หมายถึง พวกแรดต่างๆ. คำว่า โคลาน ได้แก่ พวกโคลานทั้งหลาย. คำว่า ระมาด หมายถึง สัตว์ที่มีหูเหมือนโค. คำว่า วัวกระทิง หมายถึง เนื้อที่มีเขาแหลม. คำว่า พื้นดินและหินเขา อธิบายว่า หลังแผ่นหินมีพื้นเรียบเสมอพื้นดิน ดารดาษด้วยดอกไม้อันงามวิจิตร. คำว่า ทั้งฝูงนกก็ส่งเสียงร้องกึกก้อง อธิบายว่า ภาคพื้นและภูเขาในที่นั้นมีรูปเห็นปานนี้ อันฝูงนกทั้งหลายร้องกึกก้องไปทั่วแล้ว.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพรรณนาอาศรมของโกสิยดาบสอย่างนี้แล้ว บัดนี้ พระองค์หวังจะทรงแสดง อาการที่นางหิรีเข้าไปในอาศรมนั้นเป็นต้น จึงตรัสว่า
               นางหิรีเทพธิดานั้นมีผิวพรรณงามทัดดอกไม้เขียว เดินเข้าไปยังอาศรม ประหนึ่งมหาเมฆขณะเมื่อฟ้าแลบสว่าง ฉะนั้น โกสิยดาบสได้พูดคำนี้ กะนางหิรีเทพธิดา ผู้ผูกข้องผมเรียบร้อยดีแล้ว ด้วยหญ้าคาอันสะอาด มีกลิ่นหอม มีเก้าอี้นั่งตั้งไว้ที่ประตูบรรณศาลา ใช้ลาดด้วยหนังเสืออชินะ เพื่อนางหิรีนั้นว่า ดูก่อนนางงาม เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ตามสบายเถิด ในกาลนั้น เมื่อนางนั่งเก้าอี้แล้ว โกสิยดาบสมหามุนี ผู้ทรงชฎาอันรุ่งเรืองได้รีบนำสุธาโภชน์มาพร้อมกับน้ำ ด้วยใบบัวใหม่เอง เพื่อจะให้เพียงพอตามความประสงค์
               นางหิรีเทพธิดานั้น เป็นผู้มีใจเบิกบาน รับสุธาโภชน์นั้น ด้วยมือทั้งสองแล้ว จึงกล่าวกะโกสิยฤาษีผู้ทรงชฎาว่า ข้าแต่มุนีผู้ประเสริฐ เอาเถิด ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ชัยชนะ ที่พระผู้เป็นเจ้าบูชาแล้ว จะพึงไปสู่ไตรทิพยสถานในบัดนี้
               นางหิรีเทพธิดานั้น เป็นผู้มัวเมาแล้ว ด้วยความเมาในผิวพรรณ เป็นผู้อันโกสิยดาบส ผู้มีความรุ่งเรือง กล่าวอนุมัติแล้ว กลับไป ณ สำนักของท้าวสหัสนัยน์ ทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ สุธาโภชน์นี้โกสิยดาบสให้แล้ว ขอพระบิดาจงประทานความชำนะให้แก่หม่อมฉันเถิด
               แม้ท้าวสักกะ ก็ได้ทรงบูชานางหิรีนั้น ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลาย พร้อมด้วยพระอินทร์ ได้พากันบูชานางสุรกัญญาผู้สูงสุด นางหิรีเทพธิดานั้น ท้าวสักกะให้นั่งบนเก้าอี้ทองคำอันใหม่ ในกาลใด เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ด้วยการประนมหัตถ์ ในกาลนั้น.


               ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า มีผิวพรรณงาม คือมีผิวดี. คำว่า ทัดดอกไม้เขียว ความว่า ห้อยดอกไม้สีเขียว ลูบคลำกิ่งไม้เขียวนั้นๆ. คำว่า ประหนึ่งมหาเมฆ อธิบายว่า นางหิรีเทพธิดานั้น เป็นผู้อันโกสิยดาบสนั้นเชื้อเชิญแล้ว จึงเดินเข้าไปสู่อาศรมของท่าน ประหนึ่งสายฟ้าแลบ ในระหว่างมหาเมฆ ฉะนั้น. คำว่า นั้น คือ เพื่อนางหิรีเทพธิดานั้น. คำว่า ผู้ผูกช้องผมเรียบร้อยดีแล้ว คือ ผู้มีศีรษะอันผูกไว้ดีแล้ว. คำว่า หญ้าคา คือ สำเร็จด้วยหญ้าคา เจือด้วยหญ้าไทรเป็นต้น. คำว่า มีกลิ่นหอม คือ มีกลิ่นหอม เพราะเจือด้วยหญ้าไทร และหญ้าที่มีกลิ่นหอมอย่างอื่น. คำว่า ลาดด้วยหนังเสือ ได้แก่ ใช้หนังเสืออชินะปูไว้ข้างบน. คำว่า มีเก้าอี้นั่ง คือ ลาดเก้าอี้เห็นปานนี้ ไว้ที่ประตูบรรณศาลา. คำว่า นั่งบนอาสนะนี้ตามสบาย มีอธิบายว่า ท่านจงนั่งบนอาสนะนี้ตามความสุขสบายเถิด. คำว่า เพื่อจะให้เพียงพอตามความประสงค์ อธิบายว่า นางปรารถนาอยู่ซึ่งสุธาโภชน์พออิ่ม. คำว่า ด้วยใบบัวใหม่ ได้แก่ ด้วยใบบัวอันสดที่นำมาจากสระโบกขรณีในขณะนั้นเอง. คำว่า เอง คือ ด้วยมือของตนเอง. คำว่า พร้อมกับน้ำ คือ ประกอบด้วยน้ำทักษิณา. คำว่า นำสุธาโภชน์มา คือ นำสุธาโภชน์มาเฉพาะแล้ว. คำว่า รีบ คือ รีบนำมาด้วยกำลังแห่งความโสมนัส. คำว่า เอาเถิด นี้เป็นนิบาตใช้ในข้อความเป็นอุปสรรค. คำว่า ผู้ได้ชัยชนะ คือ เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความชนะ. คำว่า อนุมัติแล้ว คือ อนุญาตแล้วว่า ท่านจงไปตามความพอใจ ณ บัดนี้เถิด. คำว่า ทูล ความว่า นางหิรีนั้นกลับไปยังไตรทศบุรีแล้ว กล่าวในสำนักของท้าวสักกะว่า สุธาโภชน์นี้โกสิยดาบสให้แล้ว. คำว่า นางสุรกัญญา หมายถึง นางเทพธิดา. คำว่า สูงสุด คือ ประเสริฐ. คำว่า นางเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้วด้วยประนมหัตถ์ อธิบายว่า เป็นผู้อันเทวดาทั้งหลายด้วย อันมนุษย์ทั้งหลายด้วย บูชาแล้วด้วยยกมือประนม. คำว่า ในกาลนั้น อธิบายว่า นางเข้าไปยังเก้าอี้ กล่าวคือ ตั่งทองคำใหม่ที่ท้าวสักกะประทานแล้ว เพื่อต้องการนั่งในกาลใด ในกาลนั้น ท้าวสักกะและเทวดาที่เหลือ จึงพากันบูชานางผู้นั่งบนตั่งนั้น ด้วยดอกปาริฉัตตกะเป็นต้น

               ท้าวสักกะ ครั้นบูชานางอย่างนี้แล้ว จึงทรงดำริว่า เพราะเหตุอะไร เล่าหนอ โกสิยดาบสจึงไม่ให้แก่นางเทพธิดาที่เหลือ ได้ให้สุธาโภชน์แก่นางหิรีนี้ผู้เดียว ท้าวเธอจึงส่งมาตลีเทพสารถีไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการจะรู้เหตุนั้น.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ท้าวสหัสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งชาวไตรทศ ได้ตรัสกะมาตลีนั้นต่อไปอีกว่า ท่านจงไปถามโกสิยดาบสตามคำของเราว่า ข้าแต่โกสิยดาบส เว้นนางอาสา นางศรัทธา และนางสิรีเสีย นางหิรีผู้เดียวได้สุธาโภชน์แล้ว เพราะเหตุอะไร.


               ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ตรัส คือ ได้ตรัสไว้แล้ว. คำว่า ตามคำของเรา คือ ท่านจงกล่าวคำพูดของเรากะโกสิยดาบส. คำว่า นางอาสา นางศรัทธา และนางสิรี ความว่า เว้นจากนางอาสา นางศรัทธาและนางสิรีเสีย นางหิริผู้เดียวเท่านั้นได้สุธาโภชน์แล้ว เพราะเหตุอะไร.

               มาตลีเทพสารถีนั้น รับคำของท้าวสักกะนั้นแล้ว จึงได้ขึ้นรถไพชยนต์ไป.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               มาตลีขึ้นรถนั้นเลื่อนลอยไปตามสบายรุ่งเรืองอยู่ เช่นกับด้วยเครื่องใช้สอย มีงอนรถสำเร็จไปด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงคล้ายทองวิเศษ มีเครื่องลาดวิจิตร ด้วยทองคำอันประดับแล้ว รูปทั้งหลายมีอยู่มากมายในรถนั้น คือ รูปพระจันทร์ ช้าง โค ม้า กินนร เสือโคร่ง เสือเหลือง เนื้อทราย ล้วนสำเร็จด้วยทองคำ นกทั้งหลายในรถนั้น ทำด้วยรัตนะต่างๆ ดุจกระโดดโลดเต้นอยู่ หมู่มฤคในรถนั้น จัดไว้ตามฝูง ล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ พวกเทพบุตรได้เทียมพระยาม้าอัศวราช ซึ่งมีสีดังทองคำในรถนั้น คล้ายช้างหนุ่มมีกำลัง ประมาณพันตัว อันประดับแล้ว มีเครื่องประดับทับทรวง อันทำด้วยข่ายทองคำ ทั้งห้อยเครื่องประดับหู ไปโดยเสียงปกติไม่ขัดข้อง มาตลีขึ้นสู่ยานอันประเสริฐนั้น บันลือแล้วตลอดทิศทั้งสิบเหล่านี้ ให้ท้องฟ้าภูเขาและต้นไม้ใหญ่ อันเป็นเจ้าแห่งไพร พร้อมทั้งสาคร ตลอดทั้งเมทนีดล ให้สนั่นหวั่นไหวทั่วไป.
               มาตลีนั้นเข้าไปยังอาศรมโดยเร็วพลันอย่างนี้ กระทำผ้าทิพยปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กระทำอัญชลีแล้ว กล่าวกะโกสิยดาบสผู้เป็นพราหมณ์ ประเสริฐกว่าหมู่เทวดา ผู้เป็นพหูสูตผู้เจริญ ผู้มีวัตรอันฝึกหัดดีแล้วว่า ข้าแต่โกสิยดาบส ท่านจงฟังถ้อยคำของพระอินทร์ ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททเทวราชตรัสถามท่านว่า ข้าแต่โกสิยดาบส ยกเว้นนางอาสา นางศรัทธา นางสิรีเสีย เพราะเหตุไร นางหิรีจึงได้สุธาโภชน์แต่ผู้เดียว.


               ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า เลื่อนลอยไปตามสบาย ความว่า มาตลีขึ้นรถไพชยนต์นั้นเลื่อยลอยไปตามสบาย. คำว่า ขึ้น คือ ขึ้นสู่รถนั้น ได้แก่ ได้กระทำการตระเตรียมจะเหาะไป. คำว่า เช่นกับด้วยเครื่องใช้สอย คือ เช่นกับด้วยภัณฑะเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย. คำว่า รุ่งเรือง อธิบายว่า รถนี้รุ่งเรืองแล้วเหมือนเครื่องอุปกรณ์ อันมีสีเสมอด้วยเปลวไฟของมาตลีนั้นรุ่งเรืองอยู่ฉะนั้น. คำว่า แล้วไปด้วยทองคำชมพูนุท อธิบายว่า มีงอนรถสำเร็จไปด้วยทองคำมีสีแดง กล่าวคือทองชมพูนุท. คำว่า มีเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยทองคำ คือ ประกอบแล้วด้วยเครื่องลาดอันเป็นมงคล อันวิจิตรด้วยรัตนะ ๗ ประการ สำเร็จด้วยทอง. คำว่า รูปพระจันทร์ อธิบายว่า รูปพระจันทร์อันสำเร็จไปด้วยทองคำมีอยู่ในรถนั้น. คำว่า ช้าง คือ รูปช้างอันสำเร็จด้วยทองคำ สำเร็จด้วยเงินและสำเร็จด้วยแก้วมณี แม้ในคำว่า โค เป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันทีเดียว. คำว่า นกทั้งหลายในรถนั้นดุจกระโดดโลดเต้นอยู่ อธิบายว่า แม้ฝูงนกอันสำเร็จด้วยรัตนะต่างๆ กำลังกระโดดโลดเต้นอยู่ในรถนั้นตามลำดับทีเดียว. คำว่า จัดไว้ตามฝูง อธิบายว่า ประกอบแล้วกับฝูงของตนๆ แสดงไว้แล้ว. คำว่า พระยาม้าอัศวราชมีสีดังทองคำ ได้แก่ พระยาม้าอัศวราชมโนมัยมีสีทองคำ. คำว่า คล้ายช้างหนุ่มมีกำลัง คือ เช่นกับช้างรุ่นหนุ่มอันถึงพร้อมด้วยกำลัง. คำว่า มีเครื่องประดับทับทรวงอันกระทำด้วยข่ายทองคำ คือประกอบด้วยเครื่องอลังการทับทรวง อันแล้วด้วยข่ายทองคำ. คำว่า ห้อยเครื่องประดับหู ได้แก่ ประกอบด้วยเครื่องประดับหู กล่าวคือพวงระย้า. คำว่า ไปโดยเสียงปกติ คือ มีการวิ่งไปเป็นปกติ ด้วยอาการสักว่าเสียงเท่านั้น ปราศจากการประหารด้วยปฏัก. คำว่า ไม่ขัดข้อง อธิบายว่า พวกเทพบุตรเทียมพระยาม้าอัศวราชเห็นปานนี้ จึงไม่มีความขัดข้องวิ่งไปเร็วในรถนั้น. คำว่า บันลือ มีอธิบายว่า มาตลีได้กระทำการบันลือเป็นอันเดียวกัน ด้วยเสียงแห่งยาน. คำว่า เจ้าแห่งไพร อธิบายว่า เป็นเจ้าแห่งป่า และชัฏป่า. คำว่า ให้สนั่นหวั่นไหว คือ ให้สะเทือนสะท้านทั่วไป บัณฑิตพึงทราบความหวั่นไหว ด้วยความหวั่นไหวแห่งวิมาน อันตั้งอยู่ในอากาศในรถนั้น. คำว่า กระทำผ้าทิพยปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง อธิบายว่า มีผ้าทิพยปาวารกระทำเฉลียงบ่าไว้ข้างหนึ่ง. คำว่า ผู้เจริญ คือ เจริญด้วยคุณ. คำว่า มีวัตรอันฝึกหัดดีแล้ว คือ ประกอบด้วยวัตร ได้แก่ มารยาทอันฝึกหัดไว้ดีแล้ว. คำว่า กล่าว ความว่า มาตลีหยุดรถนั้นในอากาศแล้ว จึงลงไปกล่าวอย่างนี้. คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ประเสริฐกว่าหมู่เทวดา อธิบายว่า ผู้เป็นพราหมณ์ประเสริฐแก่เทวดาทั้งหลาย.

               โกสิยดาบสสดับคำของมาตลีนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนมาตลีเทพสารถี นางสิรีเทพธิดากล่าวตอบข้าพเจ้าว่า แน่ ส่วนนางศรัทธากล่าวตอบข้าพเจ้าว่า ไม่เที่ยง แต่นางอาสาเราสมมติว่า เป็นผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ส่วนนางหิรีเป็นผู้ตั้งอยู่ในคุณอันประเสริฐ.


               ในคาถานั้น มีคำอธิบายว่า นางสิรีตอบกะเราว่า แน่ เพราะคบชนที่ถึงพร้อมแล้ว ด้วยศิลปศาสตร์เป็นต้นบ้าง ชนที่ไร้จากคุณเช่นนั้นบ้าง ส่วนนางศรัทธาตอบกะเราว่า ไม่เที่ยง เพราะบุคคลละวัตถุนั้นๆ แล้วจึงไปบังเกิดขึ้นในที่อื่น เพราะอาการที่มีแล้วกลับไม่มี ฝ่ายนางอาสาพูดตอบกะเราว่า พวกชนผู้มีความต้องการด้วยทรัพย์ แล่นเรือไปยังมหาสมุทร พอขาดทุนหมดแล้วจึงกลับ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้พูดให้ผิด ส่วนนางหิรีเป็นผู้ตั้งอยู่ในคุณอันบริสุทธิ์ และในคุณอันประเสริฐ กล่าวคือ เป็นผู้มีหิรีและโอตตัปปะเป็นปกติ.

               เมื่อโกสิยดาบสจะพรรณนาคุณของนางหิรีนั้นในบัดนี้ จึงกล่าวคาถาว่า
               นางกุมารีก็ดี หญิงที่สกุลรักษาแล้วก็ดี หญิงแก่ที่ไม่มีสามีก็ดี หญิงมีสามีก็ดี เหล่านี้ได้รู้ฉันทราคะที่เกิดขึ้นแรงกล้าในบุรุษทั้งหลายแล้ว ห้ามกันจิตของตนเสียได้ด้วยความละอายใจ เปรียบเหมือนนักรบเหล่าใดที่ต้องสละชีวิตในสนามรบ อันกำลังต่อสู้ด้วยลูกศรและหอก เมื่อพวกนักรบแพ้แล้วในระหว่างผู้ที่ล้มไปอยู่และหนีไป ย่อมกลับมาด้วยความละอายใจ พวกนักที่แพ้สงครามเหล่านั้น เป็นผู้มีใจละอาย ย่อมมารับนายอีกฉะนั้น.
               นางหิรีนี้เป็นผู้มีปกติห้ามชนเสียจากบาป เหมือนทำนบเป็นสถานที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้ ฉะนั้น ดูก่อนเทพสารถี เพราะฉะนั้น ท่านจงทูลตามคำที่เรากล่าวแล้วนั้นแด่พระอินทร์ว่า นางหิรีนั้น อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวง ฉะนั้น.


               ในคาถาเหล่านั้น มีคำอธิบายว่า คำว่า หญิงแก่ หมายถึง หญิงหม้าย. คำว่า หญิงมีสามี หมายถึง หญิงรุ่นสาวที่มีสามี. คำว่า ของตน อธิบายว่า หญิงเหล่านั้นแม้ทั้งหมด รู้สึกมีความกำหนัด ด้วยสามารถแห่งความพอใจของตน บังเกิดขึ้นแล้วในบุรุษอื่น ย่อมห้ามกันจิตของตนเสียได้ คือไม่กระทำกรรมอันลามก เพราะความละอายว่า กรรมนี้ไม่สมควรแก่เรา. คำว่า ล้มไปอยู่และหนีไป อธิบายว่า ในระหว่างแห่งผู้ที่ล้มไปอยู่ด้วย ผู้หนีไปอยู่ด้วย. คำว่า สละชีวิต อธิบายว่า นักรบเหล่าใดย่อมเป็นผู้มีใจละอาย ยอมสละชีวิตของตนแล้ว กลับมาด้วยความละอาย ก็แลครั้นกลับมาแล้วอย่างนี้ นักรบเหล่านั้น จึงเป็นผู้มีใจละอาย ย่อมรับนายของตนอีก คือแก้ไขนายให้พ้นจากเงื้อมมือของศัตรูแล้วรับเอาไป. คำว่า ห้ามชนเสียจากบาป อธิบายว่า นางหิรีนั้นเป็นผู้มีปกติห้ามชนเสียจากกรรมอันลามก อีกอย่างหนึ่ง พระบาลีเป็น ปาปโต ชนํ นิวาริณี ดังนี้ก็มี. คำว่า นั้น หมายถึงนางหิรีนั้น. คำว่า อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว อธิบายว่า อันท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นบูชาแล้ว. คำว่า ท่านจงทูลตามคำที่เรากล่าวแล้วนั้นแด่พระอินทร์ อธิบายว่า เพราะเหตุที่นางหิรีมีคุณมาก มีเพศที่ท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจงไปบอกแก่พระอินทร์ว่า นางหิรีนั้นมีเพศอันสูงสุดอย่างนี้.

               มาตลีสดับคำนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่โกสิยะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหม ท้าวมหินทรเทวราชหรือท้าวปชาบดี ใครเล่าจะเข้าใจความเห็นข้อนี้ของท่าน นางหิรีนี้ เป็นธิดาของท้าวมหินทรเทวราช ย่อมได้สมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด แม้ในหมู่เทวดาทั้งหลาย.


               ในคาถานั้น มีคำอธิบายว่า คำว่า ความเห็น ได้แก่ ใครเล่าจะเข้าใจความเห็นว่า ขึ้นชื่อว่า นางหิรีนี้เป็นผู้มีคุณมาก อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว. คำว่า เข้าใจ คือให้เข้าไปในน้ำใจ. คำว่า สมมติว่าประเสริฐที่สุด อธิบายว่า นางหิรีนั้น นับจำเดิมแต่ได้สุธาโภชน์ในสำนักของท่านแล้ว ก็ได้เสนาสนะทองคำในสำนักของพระอินทร์อีก เป็นผู้เทพดาทั้งปวงบูชาอยู่ ย่อมได้รับสมมติว่า เป็นผู้สูงสุด.

               เมื่อมาตลีกำลังกล่าวอยู่อย่างนี้ทีเดียว ธรรม คือความเสื่อม ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่โกสิยดาบสในขณะนั้นนั่นเอง. ลำดับนั้น มาตลีจึงกล่าวว่า ข้าแต่โกสิยะ ท่านปลงอายุสังขารเสียได้แล้ว แม้ธรรม คือการเคลื่อน ก็ถึงพร้อมแก่ท่านแล้ว ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยมนุษยโลก เราจะไปยังเทวโลกด้วยกันเถิด ดังนี้ เป็นผู้ปรารถนาจะนำโกสิยดาบสนั้นไปในเทวโลกนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               เชิญเถิด ท่านจงมา จงขึ้นรถคันนี้อันเป็นของข้าพเจ้าไปสู่ไตรทิพย์ ในกาลบัดนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ ทั้งพระอินทร์ก็ทรงหวังท่านอยู่ ท่านจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันทีเดียว.


               ในคาถานั้น มีอธิบายว่า คำว่า เป็นของข้าพเจ้า คือ เป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ. คำว่า ผู้มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ อธิบายว่า ผู้มีโคตรเสมอกับพระอินทร์ในภพก่อน. คำว่า หวัง ได้แก่ ทั้งพระอินทร์ ก็ทรงปรารถนาหวังให้ท่านมาอยู่.

               เมื่อมาตลีนั้นกำลังพูดอยู่กับโกสิยดาบสด้วยประการฉะนี้ทีเดียว โกสิยดาบสก็จุติจากอัตภาพนั้น บังเกิดเป็นอุปปาติกเทพบุตรขึ้นยืนอยู่บนทิพยรถ ลำดับนั้น มาตลีจึงนำท่านไปยังสำนักของท้าวสักกะ ท้าวสักกะพอเห็นท่าน ก็มีพระทัยยินดี ได้ประทานนางหิรีเทวี ซึ่งเป็นธิดาของพระองค์ ให้เป็นอัครมเหสีของท่านแล้ว โกสิยเทพบุตรนั้น ได้มีอิสริยยศมากมายหาประมาณมิได้.

               พระศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ขึ้นชื่อว่า กรรมของสัตว์ผู้มีคุณไม่ทราม ย่อมหมดจดได้อย่างนี้ แล้วจึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
               สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาป ย่อมหมดจดได้ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมไม่เสื่อมสูญไป สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เห็นสุธาโภชน์แล้ว สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์แล้ว.


               ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ได้กระทำกรรมอันลามก ย่อมบริสุทธิ์อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เห็นสุธาโภชน์ที่โกสิยดาบสให้แก่ นางหิรีเทพธิดาในประเทศหิมวันต์นั้น ในกาลนั้น สัตว์เหล่านั้น แม้ทั้งหมดอนุโมทนาทานนั้นแล้ว กระทำจิตให้เลื่อมใสในทานนั้นแล้ว ถึงความเป็นสหายของพระอินทร์.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ถึงเมื่อก่อน ตถาคตก็ได้ทรมาน ภิกษุผู้ไม่ยินดียิ่งแล้วในการให้ทาน ผู้มีความตระหนี่อันกระด้างนี้ แล้วเหมือนกัน
               แล้วทรงประมวลชาดก ว่า
                         นางเทพธิดาชื่อว่า หิรี ในกาลนั้น ได้เป็น นางอุบลวรรณา
                         โกสิยดาบส ได้เป็น ภิกษุเจ้าของทาน
                         ปัญจสิขเทพบุตร เป็น อนุรุทธะ
                         มาตลีเทพสารถี เป็น อานนท์
                         สุริยเทพบุตร เป็น กัสสป
                         จันทเทพบุตร เป็น โมคคัลลานะ
                         นารทดาบส ได้เป็น สารีบุตร
                         ส่วนท้าวสักกเทวราช ได้เป็น เราตถาคตเอง ด้วยประการฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สุธาโภชนชาดก ว่าด้วย ของกินอันเป็นทิพย์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1598&Z=1896
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=5778
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=5778
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :