ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาหังสชาดก
ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               สุมุขหงส์ได้สดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนมิได้เกรงกลัวภัย จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวกาสี ข้าพระองค์เข้ามาสู่บริษัทของพระองค์แล้ว จะกลัวภัยก็หาไม่ ข้าพระองค์จักไม่พูดเพราะกลัวภัยก็หาไม่ แต่เมื่อประโยชน์เช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ข้าพระองค์จึงจักพูด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาทิเส ความว่า ก็แต่ว่า ข้าพระองค์นั่งคอยโอกาสที่จะพูดอยู่ด้วยคิดว่า เมื่อประโยชน์เห็นปานนั้นบังเกิดขึ้น เราจึงจักพูด.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงกระทำความแย้มสรวล เพราะทรงประสงค์จะให้สุมุขหงส์นั้นกล่าวถ้อยคำเพิ่มเติมขึ้นอีก จึงตรัสว่า
               เราไม่เห็นบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ พลรถ พลเดินเท้า เกราะ โล่ และนายขมังธนูผู้สวมเกราะของท่านเลย ดูก่อนสุมุขหงส์ ท่านอาศัยสิ่งใด หรือว่าเข้าไปในสถานที่ใดแล้ว ไม่กลัวสิ่งที่จะพึงกลัว เราไม่เห็นสิ่งนั้น หรือสถานที่นั้น แม้เป็นเงิน ทอง หรือนครที่สร้างไว้อย่างดี ซึ่งมีคูรายรอบ ยากที่จะไปได้ มีหอรบและเชิงเทิน อันมั่นคงเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิสฺสรํ ความว่า เรายังมองไม่เห็นบุคคลผู้ถืออาวุธยืนแวดล้อม เพื่อต้องการรักษาในที่สุดบริษัทของท่านเลย.
               บทว่า อสฺส ในบทว่า นาสฺส นั่นเป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า จมฺมํ ได้แก่ หนังสำหรับป้องกันตัว.
               บทว่า กีตํ วา ได้แก่ แผ่นโลหะ บางทีท่านกล่าวว่า เป็นแผ่นจานกระเบื้องก็มี. พระราชาทรงแสดงว่า แม้ผู้ที่ถือจานกระเบื้องก็ยังไม่มีในสำนักของท่านเลย.
               บทว่า วมฺมิเน ได้แก่ ผูกสอดแล้วด้วยเกราะ.
               บทว่า น หิรญฺญํ ความว่า ท่านอาศัยสิ่งใด จึงไม่มีความกลัวภัย เรายังมองไม่เห็นสิ่งนั้นแม้จะเป็นเงินในสำนักของท่านเลย.

               สุมุขหงส์ เมื่อถูกพระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า อะไรเป็นเหตุที่ท่านไม่กลัว เมื่อจะบอกถึงเหตุนั้น จึงกราบทูลคาถาต่อไปว่า
               ข้าพระองค์ไม่ต้องการด้วยบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ หรือนคร หรือทรัพย์ เพราะข้าพระองค์ไปสู่ทางโดยสถานที่มิใช่ทาง ข้าพระองค์เป็นสัตว์เที่ยวไปในอากาศ ก็พระองค์ทรงสดับข่าวว่า ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ละเอียดคิดข้ออรรถ ถ้าพระองค์ทรงดำรงมันอยู่ในในความสัตย์ไซร้ ข้าพระองค์จะพึงกล่าววาจาอันมีอรรถ ด้วยว่า คำที่ข้าพระองค์กล่าวแล้ว แม้จะเป็นสุภาษิต ก็จักทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้ ผู้ไม่ประเสริฐ มักตรัสคำเท็จ ผู้หยาบช้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิสฺสเรน ได้แก่ บริวารผู้รักษา.
               บทว่า อตฺโถ ความว่า ข้าพระองค์ไม่มีกิจด้วยสิ่งนี้ เพราะอะไร เพราะข้าพระองค์สร้างหนทางไปโดยสถานที่อันมิใช่ทาง คือโดยอันที่ไม่ใช่ทางของบุคคลผู้เช่นกับพระองค์ เพราะว่า ข้าพระองค์เที่ยวไปในอากาศ.
               บทว่า ปณฺฑิตาตฺยมฺหา ความว่า ได้ยินว่า พระองค์ทรงสดับว่า ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต พระองค์มีพระประสงค์จะใคร่สดับธรรม จากสำนักของข้าพระองค์ จึงให้จับข้าพระองค์ทั้งสองมาด้วยเหตุนั้นแล.
               บทว่า สจฺเจ จสสุ ความว่า ก็ถ้าพระองค์เป็นผู้ดำรงอยู่ในความสัตย์ไซร้ ข้าพระองค์จะพึงกล่าววาจาอาศัยเหตุ.
               บทว่า อสจฺจสฺส ความว่า คำที่ข้าพระองค์กล่าว ถึงจะเป็นสุภาษิตก็จะกระทำอะไรแก่พระองค์ ผู้เว้นขาดแล้วจากวจีสัจจะได้ ประดุจเข็มที่ทำด้วยงา ย่อมไม่มีประโยชน์แก่สมณะฉะนั้น.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวกะเราว่า เราเป็นผู้กล่าวเท็จ มิใช่ผู้ประเสริฐ เรากระทำอะไรไว้เล่า. ลำดับนั้น สุมุขหงส์จึงกราบทูลกะพระองค์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าอย่างนั้น พระองค์จงทรงสดับเถิด แล้วกราบทูลว่า
               พระองค์ได้ตรัสสั่งให้ขุดสระชื่อว่าเขมะนี้ ตามถ้อยคำของพวกพราหมณ์ และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทั่วสิบทิศ หงส์เหล่านั้นจึงได้พากันบินลงสู่สระโบกขรณีอันมีน้ำใสสะอาด ในสระโบกขรณีนั้นมีอาหารอย่างเพียงพอ และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายเลย
               พวกข้าพระองค์ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว จึงพากันบินมาในสระของพระองค์ พวกข้าพระองค์นั้นๆ ก็ถูกบ่วงรัดไว้ นี่เป็นคำตรัสเท็จของพระองค์ บุคคลกระทำมุสาวาท และความโลภ คือความอยากได้อันลามกเป็นเบื้องหน้าแล้ว ก้าวล่วงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้งสอง ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่น่าเพลิดเพลิน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ได้แก่ ตวํ ตัวพระองค์เอง.
               บทว่า เขมํ ได้แก่ สระโบกขรณีซึ่งมีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ฆุฏฺฐ ได้แก่ พระองค์รับสั่งให้บุคคลยืนประกาศอยู่ ที่มุมสระทั้ง ๔ มุม.
               บทว่า ทสธา ได้แก่ พระองค์ประกาศอภัยนั้นในทิศทั้งสิบเหล่านี้.
               บทว่า โอคฺคยฺห ได้แก่ จากสำนักของหงส์ที่บินลงแล้ว จึงมาแล้ว.
               บทว่า ปหูตํ ขาทนํ ได้แก่ มีอาหารสำหรับกิน เป็นต้นว่า ดอกปทุม ดอกอุบลและข้าวสาลีอย่างเพียงพอ.
               บทว่า อิทํ สุตฺวา ความว่า ได้ยินอภัยโทษนี้ จากสำนักของหงส์เหล่านั้น ซึ่งบินลงยังสระโบกขรณีของพระองค์แล้ว จึงกลับมาแล้ว.
               บทว่า ตวนฺติเก ความว่า ข้าพระองค์จึงพากันมายังสระโบกขรณีที่พระองค์ได้ขุดขึ้นในสำนักของพระองค์.
               บทว่า เต เต ได้แก่ พวกข้าพระองค์นั้นๆ ก็ได้พากันติดบ่วงของพระองค์.
               บทว่า ปุรกฺขตฺวา ได้แก่ กระทำไว้ข้างหน้า.
               บทว่า อิจฺฉาโลภํ ได้แก่ ความโลภอันลามก กล่าวคือความอยากได้.
               บทว่า อุโภสนฺธึ ความว่า บุคคลผู้ประพฤติธรรมอันลามกเหล่านี้ กระทำไว้ในเบื้องหน้าย่อมก้าวล่วงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่า ย่อมก้าวล่วงปฏิสนธิอันเป็นสุคติ.
               บทว่า อสาตํ ได้แก่ ย่อมเข้าถึงนรก.

               สุมุขหงส์กระทำพระราชาให้ขวยเขินพระทัย ในท่ามกลางบริษัทอย่างนี้ทีเดียว ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามสุมุขหงส์นั้นว่า ดูก่อนสุมุขหงส์ ใช่ว่าเรามีความประสงค์ จะไปจับท่านมาฆ่ากินเนื้อก็หาไม่ แต่เราทราบว่า ท่านเป็นบัณฑิต ประสงค์จะฟังถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต จึงได้ให้จับท่านมา.
               เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ดูก่อนสุมุขหงส์ เรามิได้ทำผิด ทั้งมิได้จับท่านมาด้วยความโลภ ก็เราได้สดับมาว่า ท่านทั้งหลายเป็นบัณฑิต เป็นผู้ละเอียด และคิดข้ออรรถ ทำไฉน ท่านทั้งหลายจึงจะมากล่าววาจาอันอาศัยอรรถในที่นี้ ดูก่อนสุมุขหงส์ผู้สหาย นายพรานผู้นี้เราสั่งไป จึงไปจับเอาท่านมา ด้วยความประสงค์นั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาปรชฺฌาม ความว่า เราฆ่าท่านเสีย จึงจะชื่อว่าประพฤติผิด แต่เรามิได้ฆ่าท่านเลย.
               บทว่า โลภาย มคฺคหึ ความว่า ทั้งเราประสงค์จะกินเนื้อท่าน จึงได้จับท่านมา ด้วยความโลภก็หาไม่.
               บทว่า ปณฺฑิตาตฺยตฺถ ความว่า แต่เราได้ยินว่า ท่านเป็นบัณฑิต.
               บทว่า อตฺถจินฺตถา ได้แก่ จะคิดค้นข้อความอันลี้ลับได้.
               บทว่า อตถวตึ ได้แก่ ถ้อยคำอันอาศัยเหตุ.
               บทว่า ตถา แปลว่า ด้วยเหตุนั้น.
               บทว่า วุตฺโต แปลว่า เป็นผู้อันเรากล่าวแล้ว.
               บทว่า สุมุข มคฺคหิ คือ ร้องเรียกว่า ดูก่อนสุมุขะเอ๋ย อักษร กระทำการเชื่อมบท.
               บทว่า อคฺคหิ ความว่า เราจับมาเพื่อให้แสดงธรรมต่างหาก.

               สุมุขหงส์ได้สดับคำนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์มีประสงค์เพื่อจะทรงสดับคำอันเป็นสุภาษิต ทรงกระทำกิจอันไม่สมควรเสียแล้ว แล้วกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวกาสี เมื่อชีวิตน้อมเข้าไป ใกล้ความตายแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลาย ถึงมรณกาลแล้ว จะไม่พึงกล่าววาจาอันมีเหตุเลย
               ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ ฆ่านกด้วยนกต่อ หรือดักผู้เลื่องลือด้วยเสียงที่เลื่องลือ จะมีอะไรเป็นความเลวทราม ยิ่งกว่าความเลวทรามของผู้นั้น
               ก็ผู้ใดพึงกล่าววาจาอันประเสริฐ แต่ประพฤติธรรมไม่ประเสริฐ ผู้นั้นย่อมพลาดจากโลกทั้งสอง คือโลกนี้และโลกหน้า บุคคลได้รับยศแล้วไม่พึงมัวเมา
               ถึงความทุกข์อันเป็นเหตุสงสัยในชีวิตแล้ว ไม่พึงเดือดร้อน พึงพยายามในกิจทั้งหลายร่ำไป และพึงปิดช่องทั้งหลาย
               ชนเหล่าใดเป็นผู้เจริญ ถึงเวลาใกล้ตาย ไม่ล่วงเลยประโยชน์อย่างยิ่ง ประพฤติธรรมในโลกนี้ ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่ไตรทิพย์ด้วยประการอย่างนี้
               ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวกาสี พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้ว ขอจงทรงรักษาธรรมในพระองค์ และได้ทรงโปรดปล่อยพญาหงส์ธตรฐ ซึ่งประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนีตสมิ ได้แก่ น้อมเข้าไปใกล้ความตาย.
               บทว่า กาลปริยายํ ความว่า พระองค์ถึงวาระใกล้มรณกาลแล้ว จักไม่กล่าวอะไรเลย พระองค์ผูกมัดผู้ที่จะแสดงธรรมกถาแล้ว ขู่ให้กลัวด้วยมรณภัย คิดว่า เราจักฟังธรรมดังนี้ ชื่อว่า กระทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว.
               บทว่า มิเคน ได้แก่ เนื้อที่ได้รับการฝึกหัดไว้เป็นอย่างดีแล้ว.
               บทว่า หนฺติ ก็คือ หนติ (เป็นเอกวจนะ) แปลว่า ย่อมฆ่า.
               บทว่า ปกขินา ได้แก่ นกที่นำมาล่อนั่นแหละ.
               บทว่า สุเตน วา ได้แก่ สระดอกปทุม เช่นเดียวกับเนื้อและนกต่ออันปรากฏเสียงลือกันว่า เขมสระไม่มีภัย.
               บทว่า สุตํ ได้แก่ ผู้แสดงธรรมที่เลื่องลือกันอย่างนี้ว่า ท่านผู้เป็นบัณฑิต มีปกติกล่าวถ้อยคำอันวิจิตร.
               บทว่า กีเลย ความว่า ผู้ใดดักผู้เลื่องลือ คือพึงเบียดเบียนทำให้เดือดร้อน ด้วยเครื่องผูกคือบ่วง ด้วยคิดว่า เราจักฟังธรรม.
               บทว่า ตโต ความว่า สิ่งอะไรอย่างอื่นที่จะเลวทรามของชนเหล่านั้น ยังมีอยู่อีกเล่า.
               บทว่า อริยรุทํ ความว่า ผู้ใดกล่าวคำอันประเสริฐ คือถ้อยคำอันดีแต่ปาก.
               บทว่า ธมฺมวสฺสิโต ได้แก่ อาศัยธรรมอันเลวทรามนั้นด้วยการกระทำ.
               บทว่า อุโภ คือ จากโลกทั้งสองคือเทวโลกและมนุษยโลก.
               บทว่า อิธ เจว ความว่า บุคคลนี้แม้บังเกิดในโลกนี้บังเกิดในโลกหน้า คือบุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่ากำจัดเสียจากโลกแห่งสุคติทั้งสองเสียแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกอย่างเดียว.
               บทว่า ปตฺตสํสยํ ได้แก่ บุคคลแม้ถึงความสงสัยในชีวิต คือถึงความทุกข์แล้วก็ไม่พึงลำบาก.
               บทว่า สํวเร วิวรานิ จ ความว่า พึงปิดพึงกั้นเสีย ซึ่งช่องทะลุของตน.
               บทว่า วุฑฺฒา ได้แก่เป็นบัณฑิตผู้เจริญด้วยคุณ.
               บทว่า สมฺปตฺตา กาลปริยายํ ได้แก่ เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งเวลาใกล้มรณกาล ไม่ล่วงพ้นไปได้แล้ว.
               บทว่า เอเวเต ตัดบทเป็น เอวํ เอเต
               บทว่า อิทํ ได้แก่ ถ้อยคำอันอาศัยเหตุที่ข้าพระองค์กราบทูลไว้แล้วนี้.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ทั้งธรรมที่เป็นประเพณีทั้งธรรมที่เป็นสุจริต.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
               ชาวพนักงานทั้งหลาย จงนำน้ำ น้ำมันทาเท้า และอาสนะอันมีค่ามากมาเถิด เราจะปล่อยพญาหงส์ธตรฐ ซึ่งเรืองยศออกจากกรง และสุมุขหงส์เสนาบดีที่มีปัญญา เป็นผู้ละเอียดคิดอรรถที่ยากได้ง่าย
               ผู้ใด เมื่อพระราชามีสุข ก็สุขด้วย เมื่อพระราชามีทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย ผู้เช่นนี้แลย่อมสมควร เพื่อจะบริโภคก้อนข้าวของนายได้ เหมือนสุมุขหงส์เป็นราชสหายทั่วไปแก่สัตว์มีชีวิต ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทกํ ได้แก่ น้ำสำหรับล้างเท้า.
               บทว่า ปชฺชํ ได้แก่ น้ำมันชโลมเท้า.
               บทว่า สุเข ได้แก่ เมื่อทรงสำราญอยู่.

               พวกชาวพนักงานมีอำมาตย์เป็นต้นได้ฟังรับสั่งของพระราชาแล้ว จึงนำอาสนะมาเพื่อพญาหงส์ทั้งสองนั้น แล้วจึงล้างเท้าของพญาหงส์ทั้งสองนั้น ซึ่งจับอยู่บนอาสนะด้วยน้ำหอม ชโลมด้วยน้ำมันที่เคี่ยวให้เดือดแล้วตั้งร้อยครั้ง.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พญาหงส์ธตรฐเข้าไปเกาะตั่ง อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำมี ๘ เท้า น่ารื่นรมย์ใจ เกลี้ยงเกลา ลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี สุมุขหงส์เข้าไปเกาะเก้าอี้ อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง ในลำดับแห่งพญาหงส์ธตรฐ ชนชาวกาสีเป็นอันมากต่างถือเอาโภชนะ อันเลิศที่เขาส่งไปถวายพระราชา นำเข้าไปให้แก่พญาหงส์ทั้งสองนั้น ด้วยภาชนะทองคำ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏฺฐํ ได้แก่ เป็นตั่งที่สำเร็จขึ้นด้วยการกระทำ.
               บทว่า กาสิกวตฺถินํ ได้แก่ เป็นตั่งที่ปูลาดด้วยผ้าอันมาจากแคว้นกาสี.
               บทว่า โกจฺฉํ ได้แก่ ตั่งที่เขาสานไว้ในท่ามกลาง.
               บทว่า เวยฺยคฺฆปริสิพฺพิตํ ได้แก่ ตั่งสำหรับเป็นที่ประทับนั่งของพระอัครมเหสีในวันมงคล หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง.
               บทว่า กาญฺจนปตฺเตหิ ได้แก่ ภาชนะทองคำ.
               บทว่า ปุถู ได้แก่ เป็นจำนวนมาก.
               บทว่า กาสิโย ได้แก่ ชนผู้อยู่ในแคว้นกาสี.
               บทว่า อภิหาเรสุํ คือ น้อมเข้าไป.
               บทว่า อคฺคํ รญฺโญ ปวาสิตํ ความว่า ชนชาวกาสีเป็นอันมาก นำเอาโภชนะมีรสอันเลิศต่างๆ ที่พวกเขาใส่ไว้ในจานทอง ๑๐๘ ใบ สำหรับส่งไปถวายพระราชา เข้าไปเพื่อประโยชน์เป็นบรรณาการแก่พญาหงส์.

               ก็เมื่ออำมาตย์น้อมนำโภชนะนั้นเข้าไปอย่างนี้แล้ว พระเจ้ากาสิกราชทรงรับภาชนะทองคำจากมือของพวกอำมาตย์เหล่านั้น ด้วยพระหัตถ์แล้ว จึงทรงน้อมนำเข้าไปด้วยพระองค์เอง เพื่อจะทรงยกย่อง พญาหงส์ทั้งสองนั้นจึงจิกกินข้าวตอก อันระคนด้วยน้ำผึ้งจากภาชนะนั้น และจึงดื่มน้ำหวาน
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เห็นอาการที่นำมาล้วนแต่ของดีเลิศ และความเลื่อมใสของพระราชา จึงได้กระทำปฏิสันถาร.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พญาหงส์ธตรฐที่ฉลาด เห็นโภชนะอันเลิศที่เขานำมาให้ อันพระเจ้ากาสีประทานส่งไป จึงได้ถามธรรมเนียม เครื่องปฏิสันถารในกาลเป็นลำดับนั้นว่า
               พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธแลหรือ ทรงสำราญดีอยู่หรือ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ..

               พระราชาตรัสว่า
               ดูก่อนพญาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ อนึ่ง เรามีความสำราญดี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม.

               พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
               โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์แลหรือ.

               พระราชาตรัสตอบว่า
               โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา.

               พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
               พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ.

               พระราชาตรัสตอบว่า
               พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉม และพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา.

               พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
               พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ทรงปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอแลหรือ.

               พระราชาตรัสตอบว่า
               เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ.

               พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
               พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษแลหรือ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมแลหรือ.

               พระราชาตรัสตอบว่า
               เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรม ละทิ้งอธรรม.

               พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ.

               พระราชาตรัสตอบว่า
               ดูก่อนพญาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก
               เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือ ทาน ศีล การบริจาคความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความไม่พิโรธ แต่นั้นมีปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อย ย่อมเกิดแก่เรา
               ก็สุมุขหงส์นี้ ไม่ทันคิดถึงคุณสมบัติของเรา ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิต จึงเปล่งวาจาอันหยาบคาย ย่อมกล่าวถึงโทษที่ไม่มีอยู่ในเรา
               คำของสุมุขหงส์นี้ ย่อมไม่เป็นเหมือนคำของคนมีปัญญา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ มองเห็นเครื่องดื่มและเครื่องบริโภคอันเลิศมากมายเหล่านั้น.
               บทว่า เปสิตํ ได้แก่ ที่พระราชาให้นำมาแล้วทรงน้อมเข้าไปให้.
               บทว่า ขตฺตธมฺมานํ ได้แก่ ธรรมสำหรับกระทำปฏิสันถาร ในบุคคลผู้กระทำคราวแรก.
               บทว่า ตโต ปุจฺฉิ อนนฺตรา คือ ในกาลนั้น.
               บทว่า กจฺจิ นุ โภโต ความว่า คาถา ๖ คาถาที่พญาหงส์ธตรฐทูลถามตามลำดับ ล้วนมีเนื้อความกล่าวไว้แล้วแต่หนหลังทีเดียว.
               บทว่า อนุปฺปีฬํ ได้แก่ พญาหงส์ธตรฐทูลถามว่า พระองค์มิได้ทรงบีบคั้นชาวเมือง เหมือนบุคคลบีบอ้อยด้วยเครื่องยนต์บ้างหรือ.
               บทว่า อกุโตจิอุปทฺทวํ ได้แก่ หาอันตรายจากที่ไหนๆ มิได้เลย.
               บทว่า สเมน อนุสาสสิ ได้แก่ พระองค์ทรงปกครองแคว้นนี้ โดยธรรม โดยสม่ำเสมออยู่หรือ.
               บทว่า สนฺโต ได้แก่ ท่านผู้เป็นสัปบุรุษซึ่งประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น.
               บทว่า นิรงฺกตฺวา คือ ไม่ละทิ้งธรรม.
               บทว่า อนาคตํ ทีฆํ ได้แก่ พระองค์ทรงเห็นชัดพระชนมายุของพระองค์ อันเป็นอนาคตว่า ยังเป็นไปยั่งยืนอยู่หรือ.
               บทว่า สมเวกฺขสิ ความว่า พญาหงส์ธตรฐทูลถามว่า พระองค์ทรงทราบว่า อายุสังขารเป็นของน้อยหรือ.
               บทว่า มทนีเย คือ ในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่นำความมึนเมามา.
               บทว่า น สนฺตสิ คือ ไม่ทรงหวาดกลัว มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พระองค์เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในกามคุณทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น มิได้ทรงสะดุ้งกลัวต่อปรโลก เพราะทรงกระทำกุศลมีทานเป็นต้นหรือ.
               บทว่า ทสสุ หมายเอาราชธรรม ๑๐ ประการ
                         เจตนาที่เป็นไปในทานเป็นต้น ชื่อว่าทาน
                         ศีล ๕ และศีล ๑๐ เป็นต้น ชื่อว่าศีล
                         การบริจาคไทยธรรม ชื่อว่าบริจาค
                         ความเป็นผู้ซื่อตรง ชื่อว่าความซื่อตรง
                         ความเป็นผู้อ่อนโยน ชื่อว่าความอ่อนโยน
                         กรรมคือการรักษาอุโบสถ ชื่อว่าตบะ
                         ส่วนเบื้องต้นแห่งเมตตา ชื่อว่าความไม่โกรธ
                         ส่วนเบื้องต้นแห่งกรุณา ชื่อว่าความไม่เบียดเบียน
                         ความอดกลั้น ชื่อว่าความอดทน
                         ความไม่ขัดเคือง ชื่อว่าความไม่พิโรธ.
               บทว่า อจินฺเตตฺวา ได้แก่ ไม่ทันคิดถึงคุณสมบัติของเราเหล่านี้.
               บทว่า ภาวโทสํ คือ โทษที่เกิดแก่จิต.
               บทว่า อนญฺญาย แปลว่า ไม่รู้.
               บทว่า อสฺมากํ ความว่า ขึ้นชื่อว่าโทษที่เกิดขึ้นแก่จิตของเรา ย่อมไม่มี หงส์สุขุมะนี้มิได้ทราบถึงสิ่งที่ตัวควรจะรู้นั้น จึงได้กล่าววาจาหยาบคายออกมา.
               บทว่า อโยนิโส คือ โดยมิใช่อุบาย.
               บทว่า ยานสมาสุ ความว่า หงส์สุขุมะนี้ย่อมกล่าวถึงโทษที่ไม่มีอยู่ในเรา.
               บทว่า นยิทํ ตัดบทเป็น น อิทํ อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คำของสุมุขหงส์นี้ จึงเหมือนคำของผู้มีปัญญาก็หาไม่ คือด้วยเหตุนี้แล สุมุขหงส์จึงปรากฏแก่เราเหมือนมิใช่เป็นบัณฑิต.

               สุมุขหงส์ได้สดับคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า พระราชาทรงประกอบไปด้วยคุณอันใหญ่ ถูกเรารุกราน และโกรธเคืองพระองค์ เราจักขอขมาโทษพระองค์เสียเถิด จึงกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ ความพลั้งพลาดนั้นมีแก่ข้าพระองค์ โดยความรีบร้อน ก็เมื่อพญาหงส์ธตรฐติดบ่วง ข้าพระองค์มีความทุกข์มากมาย
               ขอพระองค์ได้ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ เหมือนบิดาเป็นที่พึ่งของบุตร และดุจแผ่นดินเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ ฉะนั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นราชกุญชร ขอพระองค์ได้ทรงโปรดงดโทษให้แก่ ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติสารํ ได้แก่ ความพลาดพลั้งทุกอย่าง.
               บทว่า เวเคน ได้แก่ ข้าพระองค์ เมื่อจะกราบทูลข้อความนี้ ได้กราบทูลไปโดยความรีบร้อน คือโดยความผลุนผลัน.
               บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ความทุกข์อันเป็นไปทางจิต ได้มีแก่ข้าพระองค์มากมาย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงได้กราบทูลคำนั้นออกไป ด้วยอำนาจความโกรธ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงอดโทษนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.
               บทว่า ปุตฺตานํ ได้แก่ พระองค์เปรียบเหมือนเป็นบิดาของบุตรทั้งหลาย.
               บทว่า ธรณีริว ได้แก่ อนึ่งเล่า ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ เหมือนแผ่นดินเป็นที่พำนักอาศัยของเหล่าสัตว์ ฉะนั้น.
               บทว่า อธิปนฺนานํ ได้แก่ ข้าพระองค์ผู้กำลังถูกโทษ คือความผิดท่วมทับแล้ว.
               บทว่า ขมสฺสุ ความว่า สุมุขหงส์นั้นลงจากอาสนะ ประคองอัญชลีด้วยปีกทั้งสองข้างแล้ว จึงกราบทูลคำนี้ไว้.

               ลำดับนั้น พระราชาจึงทรงสวมกอดสุมุขหงส์นั้นแล้ว ทรงพาไปให้เกาะบนตั่งทองคำ เมื่อจะทรงรับการแสดงโทษ จึงตรัสว่า
               เราย่อมอนุโมทนาแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้ เพราะท่านไม่ปกปิดความในใจ ดูก่อนหงส์ ท่านซื่อตรง จงทำลายความข้องใจเสียเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุโมทาม ความว่า เรายอมอดโทษนั้นแก่ท่าน
               บทว่า ยํ ความว่า เพราะเหตุที่ท่านมิได้ซ่อนเร้นสิ่งที่ควรจะปิดบังในใจของตน.
               บทว่า ขีลํ ได้แก่ เสาเขื่อนแห่งจิต คือหลักตอแห่งจิต.

               ก็พระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงเลื่อมใสธรรมกถาของพระมหาสัตว์ และความซื่อตรงของสุมุขหงส์ จึงทรงพระดำริว่า ธรรมดา ผู้มีความเลื่อมใส ต้องกระทำอาการแสดงความเลื่อมใส
               เมื่อจะทรงมอบสิริราชสมบัติของพระองค์ แก่พญาหงส์ทั้งสองนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในนิเวศน์ของเรา ผู้เป็นพระเจ้ากาสี คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์อันมากมาย แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์แดง และเหล็กอีกมาก เราขอให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดนี้แก่ท่าน และขอสละความเป็นใหญ่ให้แก่ท่าน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถิ คือ ที่เก็บเอาไว้.
               บทว่า มุตฺตา ได้แก่ แก้วมุกดาทั้งที่เจียระไนแล้ว และยังมิได้เจียระไน.
               บทว่า มณโย ได้แก่ เครื่องใช้ที่ทำด้วยแก้วมณีทั้งหลาย.
               บทว่า สงฺขมุตฺตญฺจ ได้แก่ แก้วสังข์ทักษิณาวัฏ และแก้วไข่มุกดีกลม ประดุจผลมะขามป้อม.
               บทว่า วตฺถิกํ ได้แก่ ผ้าเนื้อละเอียดซึ่งนำมาจากแคว้นกาสี.
               บทว่า อชินํ ได้แก่ หนังมฤคเหลือง.
               บทว่า โลหํ กาฬายสํ ได้แก่ โลหะมีสีแดงและโลหะมีสีดำ.
               บทว่า อิสฺสริยํ ความว่า เราขอสละราชสมบัติในพระนครพาราณสี มีอาณาเขตกว้างยาว ๑๒ โยชน์กับเศวตฉัตรประดับมาลาทองให้แก่ท่าน.

               ก็พระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงทรงบูชาพญาหงส์ แม้ทั้งสองนั้น ด้วยเศวตฉัตร มอบราชสมบัติให้.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะสนทนากับพระราชา จึงกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นอันพระองค์ทรงยำเกรง และทรงสักการะโดยแท้ ขอพระองค์ทรงเป็น พระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้งสอง ซึ่งประพฤติอยู่ในธรรมทั้งหลายเถิด
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอาจารย์ผู้ปราบปรามข้าศึก ข้าพระองค์ทั้งสองอันพระองค์ทรงยอมอนุญาตแล้ว จักกระทำประทักษิณพระองค์แล้ว จักกลับไปหาหมู่ญาติ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ.
               บทว่า อาจริโย ความว่า พระองค์เป็นผู้ฉลาดกว่าข้าพระองค์ทั้งสอง เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงเป็นอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด. อีกอย่างหนึ่ง พระมหาสัตว์ทูลว่า อนึ่ง พระองค์จงเป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้งสองเถิด เพราะพระองค์ตรัสราชธรรม ๑๐ ประการ และเพราะพระองค์ทรงแสดงโทษแก่สุมุขหงส์แล้ว ทรงกระทำการงดโทษ เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงเป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้งสอง ด้วยเหตุที่ให้ศึกษามรรยาท แม้ในวันนี้เถิด.
               บทว่า ปสฺเสมุรินฺทม ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ย่ำยีซึ่งข้าศึก ข้าพระองค์จักเห็นหมู่ญาติทั้งหลาย.

               พระราชาประทานอนุญาตให้พญาหงส์ทั้งสองนั้นกลับไป. แม้เมื่อพระโพธิสัตว์แสดงธรรมอยู่ทีเดียว อรุณขึ้นมาแล้ว.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระเจ้ากาสีทรงดำริ และทรงปรึกษาข้อความตามที่ได้กล่าวมา ตลอดราตรีทั้งปวง แล้วทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้งสอง ซึ่งประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถากถํ ความว่า พระเจ้ากาสิราชทรงพระดำริถึงเนื้อความอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระองค์ควรจะดำริ และทรงปรึกษากับพญาหงส์ทั้งสองนั้น.
               บทว่า อนุญฺญสิ ได้แก่ พระองค์ทรงอนุญาตว่า ท่านทั้งสองจงพากันกลับไปเถิด.

               พระโพธิสัตว์อันพระราชานั้นทรงอนุญาตอย่างนี้แล้ว จึงทูลถวายโอวาทพระราชาว่า ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาท จงเสวยราชสมบัติโดยชอบธรรมเถิด แล้วให้พระราชาประดิษฐานอยู่ในศีล ๕ ประการ พระราชาทรงน้อมข้าวตอกอันระคนด้วยน้ำผึ้งและน้ำหวาน เข้าไปให้แก่พญาหงส์ทั้งสองนั้นด้วยภาชนะทองคำ ในเวลาที่เสร็จอาหารกิจแล้ว จึงทรงบูชาด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้ เป็นต้น ทรงเอาผอบทองคำประคองพระโพธิสัตว์ ยกขึ้นด้วยพระองค์เอง ฝ่ายพระนางเขมาเทวีทรงยกสุมุขหงส์ขึ้น.
               ลำดับนั้น ท้าวเธอทั้งสองจึงให้เผยสีหบัญชร แล้วตรัสว่า
               ดูก่อนนาย ท่านทั้งสองจงกลับไป ในเวลามีอรุณขึ้นเถิด แล้วทรงปล่อยพญาหงส์นั้น.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคต เมื่อราตรีสว่างจ้า พญาหงส์ทั้งสองก็พากันบินไปจาก พระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากาสี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิคาหิสุํ ได้แก่ แล่นขึ้นไปสู่อากาศ.

               พระมหาสัตว์บินขึ้นไปจากผอบทองคำ แล้วประเล้าประโลมพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้เสียพระทัยไปเลย พระองค์พึงเป็นผู้ไม่ประมาท ทรงประพฤติในโอวาทของข้าพระองค์เถิด ดังนี้แล้ว จึงพาสุมุขหงส์บินไปยังภูเขาจิตตกูฏทีเดียว ฝ่ายหงส์เก้าหมื่นหกพัน แม้เหล่านั้นแล พากันบินออกจากถ้ำทอง จับอยู่บนพื้นภูเขา เห็นพญาหงส์นั้นบินกลับมา จึงบินไปต้อนรับห้อมล้อมแล้ว หงส์ทั้งสองนั้นแวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ เข้าไปยังภูเขาจิตตกูฏ.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               หงส์เหล่านั้นเห็นพญาหงส์ทั้งสองที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีโรคกลับมาถึง จึงพากันส่งเสียงว่า เกเก ได้เกิดเสียงอื้ออึงขึ้น หงส์มีความเคารพนายเหล่านั้น ได้ปัจจัยมีปีติโสมนัส เพราะนายหลุดพ้นกลับมา พากันกระโดดโลดเต้น เข้าไปห้อมล้อมโดยรอบ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกรุํ ได้แก่ ได้เปล่งเสียงดังลั่นเซ็งแซ่ไปหมด.
               บทว่า ปรเม คือ สูงสุด.
               บทว่า เกเก ความว่า พวกหงส์เหล่านั้น ได้กระทำเสียงว่า เกเก ด้วยเสียงร้องตามภาษาของตน.
               บทว่า ภตฺตุคารวา ได้แก่ เต็มไปด้วยความเคารพในพญาหงส์ที่เป็นนาย.
               บทว่า ปริกรึสุ ความว่า หงส์เหล่านั้นมีความยินดี ด้วยเหตุที่นายพ้นจากภัยมาได้ จึงพากันเข้าไปห้อมล้อมนายนั้นอยู่โดยรอบ.
               บทว่า ลทฺธปจฺจยา ได้แก่ ได้ที่พึ่งพำนักแล้ว.

               พวกหงส์เหล่านั้น ครั้นห้อมล้อมอยู่อย่างนี้แล้ว จึงพากันไต่ถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์พ้นมาได้อย่างไร. พระมหาสัตว์จึงเล่าถึงความที่ตนพ้นมาได้ เพราะอาศัยสุมุขหงส์ และเล่าถึงกิจการที่กระทำกันในราชตระกูล และกิจการที่นายลุททบุตรกระทำ ให้พวกหงส์เหล่านั้นฟัง ฝูงหงส์ได้สดับเรื่องราวนั้นแล้ว จึงกล่าวอวยพรอีกว่า สุมุขหงส์เสนาบดี และนายพราน จงเป็นผู้มีความสุขนิราศทุกข์ มีชีวิตอยู่ยืนยาวนานเถิด.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า
               ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตร ย่อมให้สำเร็จความสุขความเจริญ เหมือนพญาหงส์ธตรฐและสุมุขหงส์ สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตร เกิดประโยชน์ให้สำเร็จความสุขความเจริญ กลับมายังหมู่ญาติ ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตวตํ ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยกัลยาณมิตร.
               บทว่า ปทกฺขิณา ได้แก่ ย่อมสำเร็จความสุข และประกอบไปด้วยความเจริญ.
               บทว่า ธตรฏฐา ความว่า เปรียบเหมือนพญาหงส์เหล่าธตรฐ แม้ทั้งสองนั้น คือพญาหงส์และสุมุขหงส์เสนาบดี สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรทั้งสอง คือพระราชาและนายลุททบุตร.
               บทว่า ญาติสงฆมุปาคมุ ความว่า ประโยชน์ของหงส์ทั้งสองนั้น กล่าวคือการได้กลับมาถึงหมู่ญาติ ย่อมประกอบไปด้วยความสุขความเจริญ เกิดแล้วคือว่าประโยชน์ทั้งหลายของผู้สมบูรณ์ ด้วยกัลยาณมิตรแม้เหล่าอื่น ก็ย่อมประกอบไปด้วยความสุขความเจริญอย่างนี้ เหมือนกัน.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่ว่า อานนท์จะสละชีวิตเพื่อเราตถาคตในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ ถึงเมื่อก่อน อานนท์ก็ได้สละชีวิตเพื่อตถาคตมาแล้ว เหมือนกัน.
               แล้วจึงทรงประมวลชาดกว่า
                         นายพรานในกาลนั้น ได้มาเป็นภิกษุชื่อว่า ฉันนะ ในกาลนี้
                         พระนางเขมาเทวี ได้มาเป็นภิกษุณีชื่อว่า เขมา
                         พระราชา ได้มาเป็น สารีบุตร
                         สุมุขหงส์เสนาบดี ได้มาเป็นภิกษุชื่อว่า อานนท์
                         บริษัทนอกนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท
                         ส่วนพญาหงส์ธตรฐ ได้มาเป็น เราตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาหังสชาดก ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1349&Z=1597
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=4899
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=4899
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :