ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๐.

               จบมหาราชบรรพ

               ฝ่ายพระชาลีราชกุมารให้ตั้งค่ายแทบฝั่งสระมุจลินท์ ให้กลับรถหมื่นสี่พันคัน ตั้งให้มีหน้าเฉพาะทางที่มา. แล้วให้จัดการรักษาสัตว์ร้าย มีราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง และแรดเป็นต้น ในประเทศนั้นๆ. เสียงพาหนะทั้งหลายมีช้างเป็นต้น อื้ออึงสนั่น. ครั้งนั้น พระเวสสันดรมหาสัตว์ได้ทรงสดับเสียงนั้นก็ทรงกลัวแต่มรณภัย. ด้วยเข้าพระทัยว่า เหล่าปัจจามิตรของเราปลงพระชนม์ พระชนกของเรา แล้วมาเพื่อต้องการตัวเรากระมังหนอ จึงพาพระนางมัทรีเสด็จขึ้นภูผาทอดพระเนตรดูกองทัพ.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระเวสสันดรราชฤาษีได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น ก็ตกพระหฤทัย เสด็จขึ้นสู่บรรพต ทอดพระเนตรดูกองทัพด้วยความกลัว ตรัสว่า แน่ะพระน้องมัทรี เธอจงพิจารณาสำเนียงกึกก้องในป่า ฝูงม้าอาชาไนยร่าเริง ปลายธงปรากฏไสว พวกที่มาเหล่านี้ ดุจพวกพรานล้อมฝูงมฤคชาติในป่าไว้ด้วยข่าย ต้อนให้ตกในหลุมก่อน แล้วทิ่มแทงด้วยหอกสำหรับฆ่ามฤคชาติอันคม เลือกฆ่าเอาแต่ที่มีเนื้อล่ำๆ เราทั้งหลายผู้หาความผิดมิได้ ต้องเนรเทศมาอยู่ป่า ถึงความฉิบหายด้วยมืออมิตร เธอจงดูคนฆ่าคนไม่มีกำลัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิงฺฆ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ตักเตือน.
               บทว่า นิสาเมหิ ความว่า เธอจงดู คือใคร่ครวญดูว่ากองทัพของเรา หรือกองทัพปรปักษ์ การเชื่อมความของสองคาถากึ่งว่า อิเม นูน อรญฺญมฺหิ เป็นต้น พึงทราบอย่างนี้ แน่ะพระน้องมัทรี พวกพรานล้อมฝูงมฤคในป่าไว้ด้วยข่ายหรือต้อนลงหลุม พูดในขณะนั้นว่า จงฆ่าสัตว์ร้ายเสีย ทิ่มแทงด้วยหอกสำหรับฆ่ามฤคอันคม เลือกฆ่ามฤคเหล่านั้นเอาแต่ตัวล่ำๆ ฉันใด สองเรานี้ถูกทิ่มแทงด้วยวาจาอสัตบุรุษว่า จักฆ่าเสียด้วยหอกอันคม และเราผู้ไม่มีผิด ถูกขับไล่คือเนรเทศออกจากแว่นแคว้นมาอยู่ในป่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น.
               บทว่า อมิตฺตหตฺถฏฺฐคตา ได้แก่ ก็ยังถึงความฉิบหายด้วยมือของเหล่าอมิตร. บทว่า ปสฺส ทุพฺพลฆาตกํ ความว่า พระเวสสันดรทรงคร่ำครวญเพราะมรณภัยด้วยประการฉะนี้.

               พระนางมัทรีได้ทรงสดับพระราชดำรัส จึงทอดพระเนตรกองทัพ ก็ทรงทราบว่า เป็นกองทัพของตน เมื่อจะให้พระมหาสัตว์ทรงอุ่นพระหฤทัย จึงตรัสคาถานี้
               เหล่าอมิตรไม่พึงข่มเหงพระองค์ได้ เหมือนเพลิงไม่พึงข่มเหงทะเลได้ ฉะนั้น ขอพระองค์ทรงพิจารณาถึงพระพรที่ท้าวสักกเทวราชประทานนั้น นั่นแล ความสวัสดีจะพึงมีแก่เราทั้งหลายจากพลนิกายนี้ เป็นแน่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคิว อุทกณฺณเว ความว่า ไฟที่ติดด้วยคบหญ้าเป็นต้น ย่อมไม่ข่มเหงน้ำทั้งกว้างทั้งลึก กล่าวคือทะเล คือไม่อาจทำให้ร้อนได้ ฉันใด ปัจจามิตรทั้งหลายย่อมข่มเหงพระองค์ไม่ได้ คือข่มขี่ไม่ได้ ฉันนั้น.
               บทว่า ตเทว ความว่า พระนางมัทรีให้พระมหาสัตว์อุ่นพระหฤทัยว่า ก็พรอันใดที่ท้าวสักกเทวราชประทานแด่พระองค์ตรัสว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ไม่นานนักพระชนกของพระองค์จะเสด็จมา ขอพระองค์จงพิจารณาพร้อมนั้นเถิด ความสวัสดีพึงมีแก่พวกเราจากพลนิกายนี้ เป็นแน่แท้.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงบรรเทาความโศกให้เบาลงแล้ว พร้อมด้วยพระนางมัทรีเสด็จลงจากภูเขาประทับ นั่งที่ทวารบรรณศาลา ฝ่ายพระนางมัทรีก็ประทับนั่งที่ทวารบรรณศาลาของพระองค์.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               แต่นั้น พระเวสสันดรราชฤาษีเสด็จลงจากบรรพต ประทับนั่ง ณ บรรณศาลา ทำพระหฤทัยให้มั่นคง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฬฺหํ กตฺวาน มานสํ ความว่า ประทับนั่งทำพระหฤทัยให้มั่นคงว่า เราเป็นบรรพชิต ใครจักทำอะไรแก่เรา.

               ขณะนั้น พระเจ้าสญชัยตรัสเรียกพระนางผุสดีราชเทวีมารับสั่งว่า แน่ะผุสดีผู้เจริญ เมื่อพวกเราทั้งหมดไปพร้อมกัน จักมีความเศร้าโศกใหญ่ ฉันจะไปก่อน ต่อนั้น เธอจงกำหนดดูว่า เดี๋ยวนี้ พวกเข้าไปก่อนจักบรรเทาความเศร้าโศกนั่งอยู่แล้ว พึงไปด้วยบริวารใหญ่ ลำดับนั้น พ่อชาลีและแม่กัณหาชินารออยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจงไปภายหลัง ตรัสสั่งฉะนี้ แล้วให้กลับรถให้มีหน้าเฉพาะทางที่มา จัดการรักษาในที่นั้นๆ เสด็จลงจากคอช้างตัวประเสริฐซึ่งประดับ แล้วเสด็จไปสู่สำนักของพระราชโอรส.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระเจ้าสญชัยผู้ชนกนาถให้กลับรถ ให้กองทัพตั้งยับยั้งอยู่แล้ว เสด็จไปยังพระเวสสันดรผู้โอรส ซึ่งเสด็จประทับอยู่ในป่าพระองค์เดียว. เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงสะพักเฉวียงพระอังสาประนมพระหัตถ์ อันเหล่าอำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จมาเพื่ออภิเษกพระโอรส พระเจ้าสญชัยได้ทอดพระเนตรเห็นพระเวสสันดรราชโอรส มีพระกายมิได้ลูบไล้ตกแต่ง มีพระมนัสแน่วแน่ นั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลานั้น ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุฏฺฐาเปตฺวาน เสนิโย ความว่า ให้พลนิกายตั้งยับยั้งอยู่เพื่อประโยชน์แก่การอารักขา. บทว่า เอกํโส ได้แก่ ทำผ้าห่มเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง. บทว่า สิญฺจิตุมาคมิ ความว่า เสด็จเข้าไปเพื่ออภิเษกในราชสมบัติ. บทว่า รมฺมรูปํ ได้แก่ มิได้ลูบไล้และตกแต่ง.

               พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร เห็นพระราชบิดาผู้มีความรักในพระโอรสนั้น เสด็จมาเสด็จลุกต้อนรับถวายบังคม. ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาทพระสัสสุระ กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ของพระองค์ขอถวายบังคม ณ พระยุคลบาทของพระองค์. พระเจ้าสญชัยทรงสวมกอดสองกษัตริย์ประทับทรวง. ฝ่าพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเท วนฺทามิ เต หุสา ความว่า พระนางมัทรีกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันผู้สะใภ้ของพระองค์ ขอถวายบังคมแทบพระยุคลบาท กราบทูลฉะนี้แล้วถวายบังคม. บทว่า เตสุ ตตฺถ ได้แก่ กษัตริย์ทั้งสองนั้น ณ อาศรมที่ท้าวสักกเทวราชประทานนั้น.
               บทว่า ปลิสชฺช ความว่า ให้อิงแอบแนบพระทรวง ทรงจุมพิตพระเศียร ทรงลูบพระปฤษฎางค์ของสองกษัตริย์ด้วยพระหัตถ์อันอ่อนนุ่ม.

               ต่อนั้น พระเจ้าสญชัยทรงกันแสงคร่ำครวญ ครั้นสร่างโศกแล้ว เมื่อจะทรงทำปฏิสันถารกับสองกษัตริย์นั้น จึงตรัสว่า
               ลูกรัก พ่อไม่มีโรคาพาธกระมัง สุขสำราญดีกระมัง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกกระมัง มูลผลาหารมีมากกระมัง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานทีจะมีน้อยกระมัง ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ไม่ค่อยมีกระมัง.


               พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับพระดำรัสของพระบิดา จึงกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันทั้งสองมีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง เที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหารเลี้ยงชีพ. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายเป็นผู้เข็ญใจ ฝึกแล้ว คือหมดพยศ. ความเข็ญใจฝึกหม่อมฉันทั้งหลาย ดุจนายสารถีฝึกม้าให้หมดพยศ ฉะนั้น. ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันทั้งหลายถูกเนรเทศมีร่างกายเหี่ยวแห้ง ด้วยการหาเลี้ยงชีพในป่า จึงมีเนื้อหนังซูบลง เพราะไม่ได้เห็นพระชนกและพระชนนี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาทิสิ กีทิสา ความว่า เป็นความเป็นอยู่ต่ำอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า กสิรา ชีวิกา โหม ความว่า ข้าแต่พระบิดา ความเป็นอยู่ของหม่อมฉันทั้งหลายเป็นทุกข์ เพราะหม่อมฉันทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหาร.
               บทว่า อนิทฺธินํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ความเข็ญใจย่อมฝึกคนจนที่เข็ญใจ และความเข็ญใจนั้นย่อมฝึก คือทำให้หมดพยศ เหมือนนายสารถีผู้ฉลาดฝึกม้า ฉะนั้น หม่อมฉันทั้งหลายอยู่ในที่นี้เป็นผู้เข็ญใจอันความเข็ญใจฝึกแล้ว คือทำให้หมดพยศแล้ว ความเข็ญใจนั่นแหละฝึกหม่อมฉันทั้งหลาย. ปาฐะว่า ทเมถ โน ดังนี้ก็มี ความว่า ฝึกหม่อมฉันทั้งหลายแล้ว. บทว่า ชีวิโสกินํ ความว่า พระเวสสันดรทูลว่า หม่อมฉันทั้งหลายมีความเศร้าโศกอยู่ในป่า จะมีความสุขอย่างไรได้.

               ก็และครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเวสสันดร เมื่อจะทูลถามถึงข่าวคราวของพระโอรสและพระธิดาอีก จึงทูลว่า
               ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สำเร็จ ของพระองค์ผู้ประเสริฐของชาวสีพี คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้งสองตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ร้ายกาจเหลือเกิน. แกตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ดุจคนตีฝูงโค. ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือได้สดับข่าวลูกทั้งสองของพระราชบุตรีมัทรีนั้น. ขอได้โปรดตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งสองทันที ดุจหมองูเยียวยามาณพที่ถูกงูกัด ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทายาทปฺปตฺตมานสา ความว่า พระเวสสันดรกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ทายาทของพระองค์ผู้ประเสริฐของชาวสีพี มีมนัสยังไม่ถึงแล้ว คือมีมโนรถยังไม่สมบูรณ์ ตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์. พราหมณ์นั้นแกตีสองกุมารนั้น ราวกะว่าคนตีฝูงโค. ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือได้สดับข่าวลูกทั้งสองของพระราชบุตรีมัทรีนั้น ด้วยได้ทอดพระเนตรเห็น หรือด้วยได้ทรงสดับข่าวก็ตาม.
               บทว่า สปฺปทฏฺฐว มาณวํ ความว่า ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบ คือตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งสองทันที เหมือนหมองูเยียวยามาณพที่ถูกงูกัด เพื่อสำรอกพิษเสีย ฉะนั้น.

               พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
               หลานทั้งสองคือชาลีและกัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ชูชกไถ่ไว้แล้ว เจ้าอย่าวิตกเลย จงโปร่งใจเถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺกีตา ได้แก่ ให้ทรัพย์ไถ่ไว้แล้ว.

               พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงได้ความโปร่งพระหฤทัย เมื่อจะทรงทำปฏิสันถารกับพระบิดา จึงตรัสว่า
               ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธกระมัง สุขสำราญดีกระมัง พระเนตรแห่งพระมารดาของหม่อมฉัน ยังไม่เสื่อมกระมัง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขุ ความว่า พระเวสสันดรทูลถามว่า พระเนตรของพระมารดาผู้ทรงกันแสง เพราะความเศร้าโศกถึงพระโอรส ไม่เสื่อมเสียหรือ.

               พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
               ลูกรัก พ่อไม่ค่อยมีโรคและมีความสุขสำราญดี อนึ่ง จักษุของมารดาเจ้าก็ไม่เสื่อม.


               พระมหาสัตว์กราบทูลว่า
               ยวดยานของพระองค์หาโรคภัยมิได้กระมัง พาหนะยังใช้ได้คล่องแคล่วดีกระมัง ชนบทมั่งคั่งกระมัง ฝนตกต้องตามฤดูกาลกระมัง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุฏฺฐิ ได้แก่ ฝน.

               พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
               ยวดยานของพ่อไม่มีโรคภัย พาหนะยังใช้ได้คล่องแคล่วดี ชนบทก็มั่งคั่ง ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล.


               เมื่อสามกษัตริย์ตรัสปราศรัยกันอยู่อย่างนี้ พระนางผุสดีเทวีทรงกำหนดว่า บัดนี้ กษัตริย์ทั้งสามจักทำความโศกให้เบาบาง ประทับนั่งอยู่ จึงเสด็จไปสู่สำนักพระโอรส พร้อมด้วยบริวารใหญ่.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เมื่อสามกษัตริย์กำลังตรัสกันอยู่อย่างนี้ พระนางผุสดีราชมารดาผู้เป็นพระราชบุตรีพระเจ้ามัททราช เสด็จด้วยพระบาทไม่ได้สวมฉลองพระบาท ได้ปรากฏแทบช่องภูผา พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร เห็นพระราชชนนีผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา. ก็เสด็จลุกต้อนรับ เสด็จถวายบังคม. พระนางมัทรีทรงอภิวาทแทบพระบาทแห่งพระสัสสุด้วยพระเศียร ทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระแม่เจ้า.


               ก็ในเวลาที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ถวายบังคมพระนางผุสดีเทวี แล้วประทับยืนอยู่ พระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสอง อันกุมารกุมารีห้อมล้อมเสด็จมาถึง พระนางมัทรีประทับยืน ทอดพระเนตรทางมาแห่งพระโอรสพระธิดาอยู่ พระนางเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโอรสพระธิดาเสด็จมาโดยสวัสดี ก็ไม่สามารถจะทรงพระวรกายอยู่ด้วยภาวะของพระองค์ ทรงคร่ำครวญเสด็จไปแต่ที่นั้น ดุจแม่โคมีลูกอ่อน ฉะนั้น ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาทอดพระเนตรเห็นพระมารดา ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งตรงเข้าไปหาพระมารดาทีเดียว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระชาลีและพระกัณหาชินาผู้มาโดยสวัสดีแต่ที่ไกล ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงกันแสงวิ่งเข้าไปหา ดุจลูกโคอ่อนเห็นแม่ ก็ร้องวิ่งเข้าไปหา ฉะนั้น พระนางมัทรีเล่า พอทอดพระเนตรเห็นพระโอรสพระธิดาผู้มาโดยสวัสดีแต่ที่ไกล ก็สั่นระรัวไปทั่วพระวรกาย คล้ายแม่มดที่ผีสิงตัวสั่น ฉะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระถันทั้งคู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กนฺทนฺตา อภิธาวึสุ ความว่า ร้องไห้วิ่งเข้าไปหา. บทว่า วารุณีว ปเวเธนฺติ ความว่า ตัวสั่นเหมือนแม่มดที่ถูกผีสิง. บทว่า ถนธาราภิสิญฺจถ ความว่า สายน้ำนมไหลออกจากพระถันทั้งสอง.

               ได้ยินว่า พระนางมัทรีทรงคร่ำครวญด้วยพระสุรเสียงอันดัง พระกายสั่นถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหยียดยาวเหนือปฐพี. ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จมาโดยเร็วถึงพระชนนี ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงทับพระมารดา. ในขณะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระยุคลถันของพระนางมัทรี เข้าพระโอษฐ์แห่งกุมารกุมารีทั้งสองนั้น. ได้ยินว่า ถ้าจักไม่มีลมหายใจประมาณเท่านี้ พระกุมารกุมารีทั้งสองจักมีหทัยแห้ง พินาศไป.
               ฝ่ายพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระปิยบุตรบุตรี ก็ไม่อาจทรงกลั้นโศกาดูรไว้ ถึงวิสัญญีภาพล้มลง ณ ที่นั้นเอง. แม้พระชนกและพระชนนีแห่งพระเวสสันดร ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงในที่นั้น เหมือนกัน.
               เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติของพระมหาสัตว์ เห็นกิริยาของ ๖ กษัตริย์ดังนั้น ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลง ณ ที่นั้น เหมือนกัน. บรรดาราชบริพารทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์อันน่าสงสารนั้น. แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน. อาศรมบททั้งสิ้นได้เป็นเหมือนป่ารัง อันลมยุคันตวาตย่ำยีแล้ว. ขณะนั้น ภูผาทั้งหลายก็บันลือลั่น มหาปฐพีก็หวั่นไหว มหาสมุทรก็กำเริบ เขาสิเนรุราชก็โอนเอนไปมา เทวโลกทั่วกามาพจรก็เกิดโกลาหล เป็นอันเดียวกัน.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ พร้อมด้วยราชบริษัทถึงวิสัญญีภาพ ไม่มีใครแม้คนหนึ่งที่สามารถจะลุกขึ้น รดน้ำลงบนสรีระของใครได้ เอาเถอะ เราจักยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงเพื่อชนเหล่านั้น ในบัดนี้ ดำริฉะนี้ แล้วจึงยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลง ณ สมาคมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์. ชนเหล่าใดใคร่ให้เปียกชนเหล่านั้นก็เปียก เหล่าชนที่ไม่ต้องการให้เปียก แม้สักหยาดเดียวก็ไม่ตั้งอยู่ในเบื้องบนแห่งชนเหล่านั้น เพียงดังน้ำกลิ้งไปจากใบบัว ฉะนั้น. ฝนโบกขรพรรษนั้นเป็นเหมือนน้ำฝนที่ตกลงบนใบบัว ด้วยประการฉะนี้ ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ก็กลับฟื้นพระองค์ มหาชนทราบความมหัศจรรย์ว่า ฝนโบกขรพรรษตก ณ สมาคมพระญาติแห่งพระมหาสัตว์ และแผ่นดินไหว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ความกึกก้องใหญ่ได้เกิดแก่สมาคมพระญาติ ภูเขาทั้งหลายก็บันลือลั่น แผ่นดินก็หวั่นไหว ฝนตกลงเป็นท่อธาร ในกาลนั้น. ลำดับนั้น พระราชาเวสสันดรก็ประชุมด้วยพระประยูรญาติทั้งหลาย พระชาลีและพระกัณหาชินาผู้พระราชนัดดา พระนางมัทรีผู้สะใภ้ พระเวสสันดรผู้พระราชโอรส พระเจ้าสญชัยผู้มหาราชและพระนางเจ้าผุสดีผู้พระมเหสี ได้ประชุมโดยความเป็นอันเดียวกัน ในกาลใด. ความมหัศจรรย์อันให้ขนพองสยองเกล้าได้มี ในกาลนั้น.
               ชาวแคว้นสีพีที่มาประชุมกันทั้งหมด ร้องไห้อยู่ในป่าอันน่ากลัว ประนมมือแด่พระเวสสันดร ทูลวิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรีว่า ขอพระองค์เป็นอิสรราชแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอทั้งสองพระองค์จงครองราชสมบัติ เป็นพระราชาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โฆโส ได้แก่ ความกึกก้องอันประกอบด้วยความกรุณา.
               บทว่า ปญฺชลิกา ความว่า ชาวพระนคร ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหมด ต่างประคองอัญชลี.
               บทว่า ตสฺส ยาจนฺติ ความว่า หมอบลงแทบพระบาทแห่งพระเวสสันดร ร้องไห้คร่ำครวญวิงวอนว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงเป็นนาย เป็นใหญ่ เป็นบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มหาชนประสงค์จะอภิเษกทั้งสองพระองค์ ในที่นี้นี่แหละ แล้วนำเสด็จสู่พระนคร. ขอพระองค์จงรับเศวตฉัตร อันเป็นของมีอยู่แห่งราชสกุล.
               จบฉขัตติยบรรพ

               พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสกับพระชนก จึงตรัสคาถานี้ว่า
               พระองค์ และชาวชนบท ชาวนิคม ประชุมกันให้เนรเทศหม่อมฉันผู้ครองราชสมบัติโดยธรรม จากแว่นแคว้น.


               ต่อนั้น พระเจ้าสญชัย เมื่อจะยังพระโอรสให้อดโทษแก่พระองค์ จึงตรัสว่า
               ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ เพราะถ้อยคำของชาวสีพีนั้น ชื่อว่าพ่อได้กระทำกรรมอันชั่วช้า ทำกรรมอันทำลายความเจริญแก่พวกเรา.


               ครั้นตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อจะทรงวิงวอนพระโอรสเพื่อนำความทุกข์ของพระองค์ไปเสีย จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ธรรมดาบุตรควรนำความทุกข์ของบิดามารดา หรือพี่น้องหญิงออกเสีย ด้วยคุณที่ควรสรรเสริญอันใดอันหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทพฺพเห ได้แก่ พึงนำไป.
               บทว่า อปิ ปาเณหิ อตฺตโน ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้าสญชัยตรัสอย่างนี้กะพระเวสสันดร ด้วยพระประสงค์อันนี้ว่า แน่ะพ่อ ธรรมดาบุตรพึงนำความทุกข์ เพราะความเศร้าโศกของบิดามารดาไปเสีย แม้ต้องสละชีวิต เพราะเหตุนั้น ลูกอย่าเก็บโทษของพ่อไว้ในใจ จงทำตามคำของพ่อ จงเปลื้องเพศฤาษีออก แล้วถือเพศกษัตริย์เถิดนะลูก.

               พระโพธิสัตว์ แม้ทรงใคร่จะครองราชสมบัติ แต่เมื่อไม่ตรัสคำมีประมาณเท่านี้ ก็หาชื่อว่า เป็นผู้หนักไม่ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสกับพระราชบิดา พระเจ้าสญชัยทรงอาราธนาพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์ทรงรับว่า สาธุ.
               ครั้งนั้น เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติ รู้ว่า พระมหาสัตว์ทรงรับอาราธนา จึงกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เวลานี้เป็นเวลาสนานพระวรกาย จงชำระล้างธุลีและสิ่งเปรอะเปื้อนเถิด.


               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายรอสักครู่หนึ่ง เสด็จเข้าบรรณศาลา ทรงเปลื้องเครื่องฤาษีเก็บไว้ ทรงพระภูษาสีดุจสังข์ เสด็จออกจากบรรณศาลา ทรงรำพึงว่า สถานที่นี้เป็นที่อันเราเจริญสมณธรรมสิ้น ๙ เดือนครึ่ง และสถานที่นี้เป็นที่แผ่นดินไหว เหตุเราผู้ถือเอายอดแห่งพระบารมี บริจาคปิยบุตรทารทาน ทรงรำพึงฉะนี้แล้ว ทำประทักษิณบรรณศาลา ๓ รอบ ทรงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วทรงสถิตอยู่.
               ครั้งนั้น เจ้าพนักงานมีภูษามาลาเป็นต้น ก็ทำกิจมีเจริญพระเกสา และพระมัสสุเป็นต้นแห่งพระมหาสัตว์. ชนทั้งหลายได้อภิเษกพระมหาสัตว์ ผู้ประดับด้วยราชาภรณ์ทั้งปวงผู้รุ่งเรืองดุจเทวราช ในราชสมบัติ.

               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               แต่นั้น พระเวสสันดรราชทรงชำระล้างธุลีและของไม่สะอาดแล้ว สละวัตรปฏิบัติทั้งปวง ทรงเพศเป็นพระราชา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวาหยิ ความว่า ให้นำไป ก็และครั้นให้นำไปแล้ว ให้ถือเพศเป็นพระราชา.

               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เป็นผู้มีพระยศใหญ่ สถานที่พระองค์ทอดพระเนตรแล้ว ทอดพระเนตรแล้ว ก็หวั่นไหว. เหล่าผู้รู้มงคลทรงจำมงคลไว้ด้วยปาก ก็ยังมงคลทั้งหลายให้กึกก้อง. พวกประโคมก็ประโคมดนตรีทั้งปวงขึ้นพร้อมกัน ความกึกก้องโกลาหลแห่งดนตรี เป็นการครึกครื้นใหญ่ ราวกะเสียงกึกก้องแห่งเมฆคำรามกระหึ่มในท้องมหาสมุทร ฉะนั้น. เหล่าอำมาตย์ประดับหัตถีรัตนะ แล้วเตรียมเทียบไว้รับเสด็จพระเวสสันดร. มหาสัตว์ทรงผูกพระแสงขรรค์รัตนะ แล้วเสด็จขึ้นหัตถีรัตนะ. เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติทั้งปวง ประดับเครื่องสรรพาลังการ แวดล้อมพระมหาสัตว์. ฝ่ายนางกัญญาทั้งปวงให้พระนางมัทรีสนานพระกาย แล้วตกแต่งพระองค์ถวายอภิเษก. เมื่อถวายการรดน้ำสำหรับอภิเษก ณ พระเศียรแห่งพระนางมัทรี ได้กล่าวมงคลทั้งหลายเป็นต้นว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาล.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระเวสสันดรมหาสัตว์สนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง ทรงผูกสอดพระแสงขรรค์อันทำให้ราชปัจจามิตรเกรงขาม เสด็จขึ้นทรงพระยาปัจจัยนาคเป็นพระคชาธาร. ลำดับนั้น เหล่าสหชาติโยธาหาญทั้งหกหมื่นผู้งามสง่าน่าทัศนา ต่างร่าเริงแวดล้อมพระมหาสัตว์ผู้จอมทัพ.
               แต่นั้น เหล่าสนมกำนัลของพระเจ้ากรุงสีพีประชุมกัน สรงสนานพระนางมัทรีราชกัญญา ทูลถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงอภิบาลพระแม่เจ้า ขอพระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสองพระองค์ จงอภิบาลพระแม่เจ้า. อนึ่ง ขอพระเจ้าสญชัยมหาราช จงคุ้มครองรักษาพระแม่เจ้าเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจยํ นาคมารุยฺห ได้แก่ ช้างตัวประเสริฐซึ่งเกิดในวันที่พระเวสสันดรประสูตินั้น. บทว่า ปรนฺตปํ ได้แก่ ยังอมิตรให้เกรงขาม. บทว่า ปริกรึสุ ได้แก่ แวดล้อม. บทว่า นนฺทยนฺตา ได้แก่ ให้ยินดี. บทว่า สิวิกญฺญา ความว่า เหล่าปชาบดีของพระเจ้าสีพีราช ประชุมกันให้พระนางมัทรีสรงสนานด้วยน้ำหอม. บทว่า ชาลี กณฺหาชินา จุโภ ความว่า แม้พระโอรสพระธิดาของพระแม่เจ้าเหล่านี้ ก็จงรักษาพระมารดา.

               พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทรงได้ปัจจัยนี้ ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมในป่า อันเป็นความลำบากของพระองค์มาแต่ก่อน จึงให้ตีอานันทเภรีเที่ยวป่าวร้องตามเวิ้งเขาวงกต อันเป็นที่ควรยินดี.
               พระนางมัทรีทรงได้ปัจจัยนี้ ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมในป่า อันเป็นความลำบากแห่งพระองค์มาแต่ก่อน. พระนางถึงพร้อมด้วยพระลักษณะ มีพระหฤทัยร่าเริงยินดี ที่พบพระโอรสและพระธิดา.
               พระนางมัทรีทรงได้ปัจจัยนี้ ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมในป่า อันเป็นความลำบากของพระองค์มาแต่ก่อน. ทรงมีพระลักษณะ ดีพระหฤทัย อิ่มพระหฤทัยแล้วพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทญฺจ ปจฺจยํ ลทฺธา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทรงได้ปัจจัยนี้ คือที่พึ่งนี้แล้วดำรงอยู่ในราชสมบัติ. บทว่า ปุพฺเพ ความว่า ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมอยู่ในป่า อันเป็นความลำบากของพระองค์ในกาลก่อนแต่นี้ จึงให้ตีกลองอานันทเภรีเที่ยวป่าวร้อง.
               บทว่า รมฺมณีเย คิริพฺพเช ความว่า ให้ตีกลองอานันทเภรีที่ผูกด้วยลดาทองท่องเที่ยวป่าวร้อง ในเวิ้งเขาวงกตอันเป็นที่ควรยินดีว่า เป็นอาณาเขตแห่งพระราชาเวสสันดร จัดเล่นมหรสพให้เพลิดเพลิน.
               บทว่า อานนฺทจิตฺตา สุมนา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยพระลักษณะ ความว่า พระนางมัทรีได้พบพระโอรสพระธิดา ทรงดีพระหฤทัย คือยินดีเหลือเกิน.
               บทว่า ปีติตา ได้แก่ มีปีติโสมนัสเป็นไปแล้ว.

               ก็และครั้นทรงอิ่มพระหฤทัยอย่างนี้แล้ว พระนางมัทรีได้ตรัสแก่พระโอรสพระธิดาว่า
               แน่ะลูกรักทั้งสอง เมื่อก่อนแม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ แม่ได้ประพฤติอย่างนี้ เพราะใคร่ต่อลูก วัตรนั้นสำเร็จแล้วแก่แม่ในวันนี้ เพราะอาศัยลูกทั้งสอง วัตรนั้นเกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงอภิบาลลูก อนึ่ง ขอพระมหาราชสญชัยจงคุ้มครองลูก บุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแม่และพ่อได้บำเพ็ญไว้ จงสำเร็จแก่ลูก ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอลูกจงอย่าแก่ (เร็ว) อย่าตาย (เร็ว).


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุมฺหํ กามา หิ ปุตฺตกา ความว่า พระนางมัทรีตรัสว่า แน่ะลูกน้อยทั้งสอง แม่ปรารถนาลูกๆ เมื่อลูกๆ ถูกพราหมณ์นำไปในกาลก่อน แม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดิน แม่มีความปรารถนาลูกๆ จึงได้ประพฤติวัตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สมิทฺธชฺช ความว่า วัตรนั่นแลสำเร็จแล้วในวันนี้. บทว่า มาตุชํปิ ตํ ปาเลตุ ปิตุชํปิ จ ปุตฺตกา ความว่า โสมนัสที่เกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงคุ้มครองลูกๆ คือบุญที่เป็นของแม่และพ่อ จงคุ้มครองลูก เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยํกิญฺจิตฺถิ กตํ ปุญฺญํ ดังนี้.

               ฝ่ายพระนางผุสดีเทวีมีพระดำริว่า ตั้งแต่นี้ไป สุณิสาของเราจงนุ่งห่มภูษาเหล่านี้และทรงอาภรณ์เหล่านี้ ดำริฉะนี้แล้ว สั่งให้บรรจุวัตถาภรณ์เต็มในหีบทอง ส่งไปประทาน.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้นจึงตรัสว่า
               พระผุสดีราชเทวีผู้พระสัสสุได้ประทานกัปปาสิกพัสตร์ โขมพัสตร์ และโกทุมพรพัสตร์ อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา แต่นั้น พระนางเจ้าประทานเครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับต้นพระกร เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับพระศออีกชนิดหนึ่ง สัณฐานดุจผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยรัตนะ เครื่องประดับพระนลาตซึ่งขจิตด้วยสุวรรณเป็นต้น เครื่องประดับวิการด้วยสุวรรณ ส่วนพระกายมีพระทนต์เป็นอาทิ เครื่องประดับมีพรรณต่างๆ แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับทรวง เครื่องประดับบนพระอังสา เครื่องประดับ บั้นพระองค์ชนิดแล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ เครื่องประดับที่พระบาทและเครื่องประดับที่ปักด้วยด้ายและมิได้ปักด้วยด้าย อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา.
               พระนางมัทรีผู้ราชบุตรีทรงเพ่งพินิจพระวรกายอันยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับนั้นๆ ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ งดงามดุจเทพกัญญาในนันทนวัน. พระนางมัทรีสนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง. งามดุจเทพอัปสรในดาวดึงส์พิภพ. วันนั้น เสด็จลีลาศงามดังกัทลีชาติต้องลมที่เกิดอยู่ ณ จิตรลดาวัน สมบูรณ์ด้วยริมพระโอษฐ์มีสีแดง ดังผลตำลึงและพระนางมีพระโอษฐ์แดงดังผลนิโครธสุกงาม ประหนึ่งกินรี อันเรียกว่ามานุสินี เพราะเกิดมามีสรีระดุจมนุษย์ มีปีกอันวิจิตรกางปีกร่อนไปในอัมพรวิถี ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โขมญฺจ กายูรํ ได้แก่ เครื่องประดับพระศอมีสัณฐาน ดังผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ. บทว่า รตนามยํ ได้แก่ เครื่องประดับพระศอ อีกชนิดหนึ่งแล้วไปด้วยรัตนะ. บทว่า องฺคทํ มณิเมขลํ ได้แก่ เครื่องประดับต้นพระกร และเครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี. บทว่า อุณฺณตํ ได้แก่ เครื่องประดับชนิดหนึ่ง. บทว่า มุขผุลฺลํ ได้แก่ เครื่องประดับดิลกบนพระนลาต. บทว่า นานารตฺเต ได้แก่ มีสีต่างๆ. บทว่า มาณิเย ได้แก่ แล้วไปด้วยแก้วมณี. เครื่องประดับสองชนิด แม้เหล่านี้ คือเครื่องประดับทรวงและพระอังสา. บทว่า เมขลํ ได้แก่ เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ. บทว่า ปฏิปาทุกํ ได้แก่ เครื่องประดับพระบาท. บทว่า สุตฺตญฺจ สุตฺตวชฺชญฺจ ได้แก่ เครื่องประดับที่มีสายร้อย และมิได้มีสายร้อย. แต่ในบาลีเขียนไว้ว่า สุปฺปญฺจ สุปฺปวชฺชญฺจ ดังนี้ก็มี. บทว่า อุปนิชฺฌาย เสยฺยสิ ความว่า พระนางมัทรีราชเทวีทรงตรวจดูพระวรกายที่ยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับที่มีสายร้อยและมิได้มีสายร้อย ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ ทำให้ทรงพระโฉมประเสริฐขึ้นอีก งดงามเพียงเทพกัญญาในนันทนวัน. บทว่า วาตจฺฉุปิตา ความว่า วันนั้น พระนางเจ้าเสด็จลีลาศงาม ดุจกัทลีทองต้องลมซึ่งเกิดที่จิตรลดาวัน ฉะนั้น. บทว่า ทนฺตาวรณสมฺปนฺนา ได้แก่ ประกอบด้วยริมพระโอษฐ์สีแดงเช่นผลตำลึงสุก. บทว่า สกุณี มานุสินีว ชาตา จิตฺตปฺปตฺตา ปติ ความว่า แม้สกุณีมีนามว่ามานุสินี ซึ่งเกิดมาโดยสรีระดุจมนุษย์ มีขนปีกอันวิจิตร กางปีกบินร่อนไปในอากาศ ย่อมงดงาม ฉันใด พระนางมัทรีมีพระโอษฐ์ดังผลนิโครธสุก เพราะมีพระโอฐแดงก็งดงาม ฉันนั้น.

               อมาตย์ทั้งหลายนำช้างตัวประเสริฐไม่แก่นัก เป็นช้างทนต่อหอกและศร มีงาดุจงอนรถ สามารถนำมาเพื่อพระนางมัทรีทรง พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นสู่ช้างตัวประเสริฐไม่แก่นัก เป็นช้างทนต่อหอกและศร มีงาดุจงอนรถมีกำลังกล้าหาญ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺสา จ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อมาตย์ทั้งหลายได้นำช้างหนุ่มเชือกหนึ่งซึ่งไม่แก่นัก ยังหนุ่มมัชฌิมวัย เป็นช้างทนต่อการประหารด้วยหอกและศร ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงเพื่อพระนางมัทรี. บทว่า นาคมารุหิ ความว่า เสด็จขึ้นทรงหลังช้าง.

               พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปสู่กองทัพด้วยพระอิสริยยศใหญ่ ด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเจ้าสญชัยมหาราชประพาสเล่นตามภูผาและป่า ประมาณหนึ่งเดือนกับด้วยทวยหาญ ๑๒ อักโขภิณี พาลมฤคและนกในป่าใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้เบียดเบียนสัตว์ไรๆ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เหล่ามฤคชาติและปักษีชาติมีอยู่ในป่านั้นทั้งหมดเพียงไร ย่อมไม่เบียดเบียนกันและกัน ด้วยเดชานุภาพแห่งพระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ เสด็จไปแล้ว เหล่ามฤคชาติและปักษีชาติมีอยู่ในป่านั้นทั้งหมดเพียงไร ต่างมาชุมนุมกันอยู่ที่เดียวกัน เมื่อพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ เสด็จไปแล้ว เหล่ามฤคชาติและปักษีชาติ ในป่านั้นทั้งหมดเพียงไร ต่างไม่ร้องเสียงหวาน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวนฺเตตฺถ ตัดบทเป็น ยาวนฺโต เอตฺถ ความว่า ตลอดทั้งในป่านั้น. บทว่า เอกชฺฌํ สนฺนิปตึสุ ความว่า ประชุมในที่เดียวกัน ก็และครั้นประชุมกันแล้ว ได้มีความโทมนัสว่า ตั้งแต่นี้ไป เราทั้งหลายจักไม่มีความละอาย หรือความสังวรต่อกันและกัน ในบัดนี้. บทว่า นาสฺส มญฺชูนิ กูชึสุ ความว่า มีความทุกข์เพราะพลัดพรากจากพระมหาสัตว์ จึงไม่ส่งเสียงร้องไพเราะอ่อนหวาน.

               พระเจ้าสญชัยนรินทรราช ครั้นเสด็จประพาสเล่นตามภูผาและราวไพร ประมาณหนึ่งเดือนกับทวยหาญ ๑๒ อักโขภิณีแล้ว ตรัสเรียกเสนาคุตอมาตย์มาตรัสถามว่า เราทั้งหลายอยู่ในป่ากันนานแล้ว มรรคาเสด็จของบุตรเรา พวกเจ้าตกแต่งแล้วหรือ ครั้นเหล่าอมาตย์กราบทูลว่า ตกแต่งแล้ว และทูลเชิญเสด็จว่า ถึงเวลาเสด็จแล้ว พระเจ้าค่ะ จึงโปรดให้ทูลพระเวสสันดร ให้ตีกลองป่าวร้องให้ทราบกาลเสด็จกลับพระนคร แล้วทรงพากองทัพเสด็จกลับ พระเวสสันดรมหาสัตว์เสด็จยาตราด้วยราชบริพารใหญ่ สู่มรรคาที่ตกแต่งแล้ว กำหนดได้ ๖๐ โยชน์ตั้งแต่เวิ้งเขาวงกต จนถึงกรุงเชตุดร.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ทางหลวงตกแต่งแล้ว วิจิตรงดงามโปรยปรายด้วยดอกไม้ ตั้งแต่เขาวงกตที่พระเวสสันดรประทับจนถึงกรุงเชตุดร. แต่นั้น โยธาหกหมื่นงดงามน่าทัศนา นางข้างใน ราชกุมาร พ่อค้า พราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ห้อมล้อมพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ผู้เสด็จไปอยู่โดยรอบ. ทหารสวมหมวก ทรงหนังเครื่องบังที่คอ ถือธนู สวมเกราะไปข้างหน้าพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ผู้เสด็จไปอยู่ และชาวชนบท ชาวนิคม พร้อมกันห้อมล้อมพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ผู้เสด็จไปอยู่โดยรอบ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปยตฺโต ได้แก่ ตกแต่งเหมือนในกาลจัดบูชาพิเศษในวันวิสาขบูรณมี.
               บทว่า วิจิตฺโต ได้แก่ วิจิตรไปด้วยต้นกล้วย หม้อน้ำเต็ม ธงและแผ่นผ้าเป็นต้น.
               บทว่า ปุปฺผสณฺฐโต ได้แก่ โปรยปรายด้วยดอกไม้ทั้งหลายมีข้าวตอกเป็นที่ห้า. บทว่า ยตฺถ ความว่า ประดับตกแต่งมรรคาตั้งแต่เขาวงกตที่พระเวสสันดรประทับอยู่ ติดต่อกันจนถึงกรุงเชตุดร. บทว่า กโรฏิยา ได้แก่ หมู่ทหารสวมหมวกบนศีรษะที่ได้นามว่า สีสกโรฏิกะ ทหารสวมหมวกเกราะ. บทว่า จมฺมธรา ได้แก่ ทรงหนังเครื่องบังที่คอ. บทว่า สุวมฺมิกา ได้แก่ สวมเกราะด้วยดีด้วยข่ายอันวิจิตร. บทว่า ปุรโต ปฏิปชฺชึสุ ความว่า โยธาผู้กล้าหาญเห็นปานนี้ แม้มีโขลงช้างซับมันพากันมาก็ไม่ถอยกลับ คงดำเนินไปข้างหน้าพระราชาเวสสันดร.

               พระราชาเวสสันดรล่วงมรรคา ๖๐ โยชน์มาสิ้น ๒ เดือนถึงกรุงเชตุดร เสด็จเข้าสู่พระนครอันประดับตกแต่งแล้ว เสด็จขึ้นปราสาท.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               กษัตริย์ทั้งหกพระองค์นั้นเข้าบุรีที่น่ารื่นรมย์ มีปราการสูงและหอรบ ประกอบด้วยข้าวน้ำ และการฟ้อนรำและขับร้องทั้งสอง. ในเมื่อพระเวสสันดรมหาสัตว์ผู้ยังชาวสีพีรัฐให้เจริญ เสด็จถึงแล้ว. ชาวชนบทและชาวนิคมพร้อมกันมีจิตยินดี. เมื่อพระเวสสันดรมหาสัตว์ผู้พระราชทานทรัพย์ เสด็จมาถึง การยกแผ่นผ้าก็เป็นไป รับสั่งให้ตีนันทเภรีป่าวร้องในพระนคร โฆษณาให้ปล่อยสรรพสัตว์ที่ผูกขังไว้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุปาการโตรณํ ความว่า ประกอบด้วยปราการสูงใหญ่ และเสาค่ายที่มีหอรบเป็นอันมาก. บทว่า นจฺจคีเตหิ จูภยํ ความว่า ประกอบด้วยการฟ้อนรำ และด้วยการขับร้องทั้งสอง. บทว่า จิตฺตา ได้แก่ ยินดี คือถึงความโสมนัส. บทว่า อาคเตธนทายเก ความว่า เมื่อพระมหาสัตว์ผู้พระราชทานทรัพย์แก่มหาชนเสด็จมาถึง. บทว่า นนฺทิปฺปเวสิ ความว่า ให้ตีกลองอานันทเภรีป่าวร้องในพระนครว่า เป็นราชอาณาจักรของพระเวสสันดรมหาราช. บทว่า พนฺธโมกฺโข อโฆสถ ความว่า ได้ป่าวร้องให้ปล่อยสรรพสัตว์จากที่ผูกขังไว้ คือพระเวสสันดรมหาราชโปรดให้ปล่อยสรรพสัตว์จากที่ผูกขังไว้ โดยที่สุด แมวก็ให้ปล่อย.

               ในวันเสด็จเข้าพระนครนั่นเอง พระเวสสันดรทรงพระดำริ ในเวลาใกล้รุ่งว่า พรุ่งนี้ ครั้นราตรีสว่างแล้ว พวกยาจกรู้ว่าเรากลับมาแล้ว ก็จักพากันมา เราจักให้อะไรแก่ยาจกเหล่านั้น. ในขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชได้สำแดงอาการเร่าร้อน พระองค์ทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงยังพื้นที่ข้างหน้าและข้างหลังแห่งพระราชนิเวศน์ ให้เต็มด้วยรัตนะสูงประมาณเอวบันดาล ให้ฝนรัตนะเจ็ดตกเป็นราวกะฝนลูกเห็บ ให้ตกในพระนครทั้งสิ้นสูงประมาณเข่า. วันรุ่งขึ้น พระมหาสัตว์โปรดให้พระราชทานทรัพย์ ที่ตกอยู่ในพื้นที่ข้างหน้าและข้างหลังแห่งตระกูลนั้นๆ ว่า จงเป็นของตระกูลเหล่านั้นแหละ แล้วให้นำทรัพย์ที่เหลือขนเข้าท้องพระคลัง กับด้วยทรัพย์ในพื้นที่แห่งพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แล้วให้เริ่มตั้งทานมุข.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์ผู้ยังสีพีรัฐให้เจริญเข้าพระนครแล้ว วัสสวลาหกเทพบุตรได้ยังฝน อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำให้ตกลงมา ในกาลนั้น แต่นั้น พระเวสสันดรขัตติยราชทรงบำเพ็ญทานบารมี เบื้องหน้าแต่สิ้นพระชนมชีพ พระองค์ผู้มีพระปรีชาก็เสด็จเข้าถึงสวรรค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สคฺคํ โส อุปฺปชฺชถ ความว่า จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เสด็จเข้าถึงดุสิตบุรีด้วยอัตภาพที่สอง.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.
               ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.
               นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.
               พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.
               อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.
               ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.
               พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.
               พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.
               พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.
               ชาลีกุมาร คือ ราหุล.
               กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.
               ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.
               ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.
               จบ นครกัณฑ์

.. อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=6511&Z=8340
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=6531
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=6531
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :