ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาหังสชาดก
ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการสละชีวิตของพระอานนทเถระทีเดียว ตรัสพระธรรมเทศนานี้
               มีคำเริ่มต้นว่า เอเต หํสา ปกฺกมนฺติ ดังนี้.
               ส่วนเรื่องราวก็คงเหมือนกับเรื่องที่กล่าวมาแล้ว นั่นแล.
               ก็ในวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระอานนท์ผู้มีอายุสละชีวิตของตน เพื่อประโยชน์แก่พระตถาคต กระทำกิจอันยากที่ผู้อื่นจะกระทำได้ ท่านเห็นช้างนาลาคิรีแล้ว แม้ถูกพระศาสดาตรัสห้ามอยู่ถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ยอมกลับเลยทันที น่าชมเชยพระอานนทเถระผู้มีอายุ กระทำกิจที่ผู้อื่นกระทำได้ยาก. พระศาสดาทรงพระดำริว่า ถ้อยคำสรรเสริญคุณของพระอานนท์กำลังเป็นไปอยู่ เราควรไปในที่นั้น จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ในบัดนี้
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
               จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่บัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในกาลก่อน อานนท์แม้บังเกิดแล้ว ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ยอมเสียสละชีวิตของตน เพื่อประโยชน์แก่ตถาคตแล้วเหมือนกัน ดังนี้ แล้วจึงทรงดุษณีภาพ
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล ในเมืองพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่าสังยมะ* (บาลีเป็นสังยมนะบ้าง สัญญมนะบ้าง) มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าเขมา. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์มีหมู่หงส์เก้าหมื่นหกพันแวดล้อมเป็นบริวาร อาศัยอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ
               อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมาเทวีได้ทรงพระสุบินนิมิต ในเวลาใกล้รุ่งว่า มีพญาหงส์ทอง ๒ ตัว มาจับอยู่ที่พระราชบัลลังก์ แล้วแสดงธรรมกถาด้วยเสียงอันไพเราะ เมื่อพระนางเทวีประทานสาธุการ ทรงสดับธรรมกถาอยู่ ยังมิทันเอิบอิ่มในการสดับธรรมทีเดียว ราตรีก็สว่างเสียแล้ว พญาหงส์ทั้งสอง ครั้นแสดงธรรมแล้ว จึงพากันบินออกไปทางช่องพระแกล แม้พระนางก็รับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงรีบลุกขึ้นช่วยกันจับ ช่วยกันจับหงส์ที่กำลังบินหนีไป กำลังเหยียดพระหัตถ์อยู่นั่นแล ก็ตื่นจากพระบรรทม เหล่านางกำนัลได้ยินพระราชเสาวนีย์ของพระนาง ก็พากันแย้มสรวลเล็กน้อยว่า หงส์ที่ไหนกัน พระนางจึงทรงทราบ ในขณะนั้นว่า ทรงสุบินนิมิตไป จึงทรงดำริว่า สิ่งที่ไม่เป็นความจริง เราจะไม่ฝันเห็น พญาหงส์ที่มีสีประดุจทองคำคงจักมีอยู่ในโลกนี้เป็นแน่แท้ แต่ถ้าเราจักทูลพระราชาว่า หม่อมฉันใคร่จะฟังธรรมของพญาหงส์ทองทั้งหลาย พระองค์จะตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าหงส์ทองทั้งหลาย เรายังไม่เคยเห็นเลย และธรรมดาว่า หงส์ทั้งหลายจะกล่าวถ้อยคำได้ ก็ไม่เคยมีมาเลย ดังนี้ ก็จักเป็นผู้ไม่ทรงขวนขวายให้ แต่เมื่อเราทูลว่า เราตั้งครรภ์มีอาการแพ้ท้องแล้ว พระองค์คงจักทรงสืบเสาะแสวงหาโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ความปรารถนาของเรา จักสำเร็จสมดังมโนรถ ด้วยอาการอย่างนี้
               พระนางจึงแสร้งแสดงอาการประชวร ให้สัญญาแก่เหล่านางกำนัล ทรงบรรทมนิ่งอยู่ พระราชาประทับนั่ง ณ พระราชอาสน์ มิได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาง ในเวลาที่พระนางเคยเข้าเฝ้า จึงตรัสถามว่า พระนางเขมาไปไหน. ทรงสดับว่า ประชวร จึงเสด็จไปยังสำนักของพระนาง ประทับนั่ง ณ ประเทศส่วนหนึ่ง ข้างที่พระบรรทม ทรงลูบพระปฤษฎางค์ ตรัสถามว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เธอไม่สบายเป็นอะไรไปหรือ พระนางทูลตอบว่า ขอเดชะ ความไม่สบายอย่างอื่นมิได้มี แต่อาการทรงครรภ์บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน.
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพระนาง ถ้าเช่นนั้นจงบอกมาเถิด เธอปรารถนาสิ่งใด เราจะน้อมนำสิ่งนั้นมาให้เธอโดยเร็ว พระนางทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันปรารถนาจะทำการบูชาด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นแก่พญาหงส์ทองตัวหนึ่ง. ซึ่งจับอยู่ที่ราชบัลลังก์ มีเศวตฉัตรอันยกขึ้นไว้แล้วให้สาธุการ สดับธรรมกถา (ของพญาหงส์นั้น) ถ้าหม่อมฉันได้อย่างนี้ การได้ด้วยประการดังนี้นั้นเป็นการดี ถ้าหากไม่ได้ชีวิตของหม่อมฉันก็จะไม่มี.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงทรงปลอบเอาพระทัยพระนางว่า ถ้าสุพรรณหงส์มีอยู่ในมนุษยโลก เธอก็คงจักได้สมประสงค์ อย่าเสียใจไปเลย แล้วเสด็จออกจากห้องอันมีสิริ ตรัสปรึกษากับพวกอำมาตย์ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระนางเขมาเทวีตรัสกะเราว่า หม่อมฉันได้สดับธรรมกถาของพญาหงส์ทอง จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่ได้แล้วชีวิตของหม่อมฉัน ก็จะไม่มี หงส์ที่มีสีดุจทองคำยังมีอยู่บ้างหรือ. พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยเห็น ทั้งไม่เคยได้ยินเลย พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า ก็มีใครจะพึงรู้จักบ้าง. พวกอำมาตย์กราบทูลว่า พวกพราหมณ์ พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสสั่งให้เชิญพราหมณ์ทั้งหลายมา ทรงกระทำสักการะแล้ว ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ทั้งหลาย หงส์ที่มีสีดังทองคำยังมีอยู่บ้างหรือ. พวกพราหมณ์ทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่มหาราชเจ้า สัตว์ดิรัจฉาน ๖ จำพวกเหล่านี้ คือ ปลา ปู เต่า เนื้อ นกยูง หงส์ มีมาในมนต์ของข้าพเจ้าทั้งหลายว่า มีสีดุจทองคำ บรรดาสัตว์ทั้ง ๖ จำพวกนี้ ขึ้นชื่อว่าเหล่าหงส์ที่เกิดในตระกูลธตรฐ เป็นสัตว์ฉลาดประกอบด้วยความรู้ นับทั้งพวกมนุษย์ด้วย ย่อมเป็นสัตว์ที่มีพรรณประหนึ่งทองคำ รวมเป็น ๗ จำพวก ด้วยประการฉะนี้.
               พระราชาทรงดีพระทัยตรัสถามว่า เหล่าหงส์ที่เกิดในตระกูลธตรฐนั้นอยู่ที่ไหนเล่า ท่านอาจารย์. พวกพราหมณ์ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ทราบพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า มีใครรู้จักพวกหงส์เหล่านั้นบ้าง. เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า พวกบุตรนายพรานจักทราบ จึงตรัสสั่งให้เรียกพวกนายพราน ในแคว้นของพระองค์มาประชุมกันทั้งหมด แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อ ชื่อว่าหงส์ตระกูลธตรฐมีสีดังทองคำ อยู่ ณ ที่ไหน.
               ลำดับนั้น นายพรานคนหนึ่งจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ได้ทราบมาว่า ตระกูลแห่งญาติทั้งหลายกล่าวสืบๆ กันมาว่า หงส์เหล่านั้นอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ ในประเทศหิมวันต์. พระราชาตรัสถามว่า ก็ท่านพอจะรู้อุบายที่จะจับหงส์เหล่านั้นได้หรือ. พวกนายพรานกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ไม่ทราบ พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า ก็ชนเหล่าไหนจักทราบเล่า. พวกนายพรานกราบทูลว่า พวกพราหมณ์ พระเจ้าข้า. ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตมาแล้ว ตรัสบอกความที่พวกหงส์มีพรรณดังทองคำ มีอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏแล้ว ตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายยังจะรู้จักอุบายที่จะจับหงส์เหล่านั้นหรือ. พวกพราหมณ์ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ประโยชน์อะไรที่จะต้องไปจับหงส์เหล่านั้น ถึงภูเขาจิตตกูฏนั้น ข้าพระองค์จักนำหงส์เหล่านั้นมาสู่ที่ใกล้พระนครแล้ว จักจับเอาด้วยอุบาย.
               พระราชาตรัสถามว่า ก็อุบายอะไรเล่า. พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงตรัสสั่งให้ขุดสระใหญ่ ชื่อว่าเขมะ ประมาณ ๓ คาวุตทางทิศเหนือแต่พระนคร ให้เต็มด้วยน้ำแล้วปลูกธัญชาติต่างๆ กระทำให้ดารดาษไปด้วยดอกบัวเบญจพรรณ ให้นายพรานผู้ฉลาดคนหนึ่งอยู่ประจำรักษา อย่าให้หมู่มนุษย์เข้าไปใกล้ ให้คนอยู่ ๔ มุมสระ คอยประกาศอภัย สกุณชาติต่างๆ ชนิดก็จักลงจากทิศทั้งหลายซึ่งเห็นได้. หงส์เหล่านั้นได้สดับว่า สระนั้นเป็นที่เกษมสำราญ โดยที่เล่าลือกันสืบๆ มาก็จักพากันมา เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์พึงให้ดักด้วยบ่วง อันทำด้วยขนสัตว์ แล้วจับเอาหงส์เหล่านั้นเถิด.
               พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงให้สร้างสระมีประการดังกล่าวแล้ว ในประเทศที่พวกพราหมณ์เหล่านั้นทูลบอก แล้วตรัสสั่งให้เรียกนายพรานผู้ฉลาดมา ทรงปลอบประโลมนายพรานนั้นว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงเลิกกระทำการงานของตนเสียเถิด เราจักเลี้ยงดูบุตรและภรรยาของท่านเอง ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว พึงรักษาสระเขมะ ให้พวกมนุษย์ถอยกลับแล้ว ประกาศอภัยในมุมสระทั้ง ๔ พึงบอกถึงฝูงนกที่มาแล้ว และมาแล้วแก่เรา เมื่อสุวรรณหงส์ทั้งหลายมาแล้ว ท่านจักได้สักการะใหญ่ แล้วให้รักษาสระเขมะ. จำเดิมแต่นั้นมา นายพรานนั้นก็ปฏิบัติอยู่ในที่นั้น โดยนัยที่พระราชาตรัสสั่งไว้ทีเดียว ก็นายเนสาทนั้นปรากฏชื่อว่า นายเขมเนสาท ดังนี้ทีเดียว เพราะรักษาสระเขมะ และจำเดิมแต่นั้นมา สกุณชาติทั้งหลายต่างๆ ชนิดก็พากันลงสู่สระนั้น.
               พวกหงส์ต่างๆ พากันมาด้วยเสียงประกาศชักชวนกันต่อๆ มาว่า เขมสระไม่มีภัย. ทีแรกพวกติณหงส์มาก่อน แล้วพวกบัณฑุหงส์ก็พากันมา ด้วยเสียงประกาศของพวกติณหงส์เหล่านั้น แล้วพวกมโนศิลาวรรณหงส์ ก็พากันมาด้วยเสียงประกาศของพวกบัณฑุหงส์ แล้วเสตหงส์ก็พากันมาด้วยเสียงประกาศของพวกมโนศิลาวรรณหงส์นั้น ต่อจากนั้น พวกปากหงส์ก็พากันมา ด้วยเสียงประกาศของเสตหงส์เหล่านั้น
               ครั้นพวกหงส์เหล่านั้นมาแล้ว นายเขมเนสาทจึงได้มาเฝ้า กราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ หงส์มากินอาหารในสระถึง ๕ ประเภทแล้ว พวกหงส์มีสีดังทองคำ ก็คงจักมาใน ๒-๓ วันนี้เป็นแน่ เพราะพวกปากหงส์มาแล้ว ขอพระองค์อย่าได้ทรงวิตกไปเลย พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงให้ราชบุรุษเที่ยวตีกลองประกาศทั่วไปในพระนครว่า บุคคลอื่นอย่าพึงเข้าไปในเขมสระนั้น บุคคลผู้ใดเข้าไป บุคคลผู้นั้นจักถึงการตัดมือและเท้า และถูกริบเรือนด้วย. จำเดิมแต่วันนั้นมา ใครๆ ก็ไม่อาจเข้าไปในสระนั้น
               ก็พวกปากหงส์ทั้งหลายอาศัยอยู่ในถ้ำทอง ใกล้ภูเขาจิตตกูฏ แม้ปากหงส์เหล่านั้นเป็นสัตว์มีกำลังมาก อนึ่ง วรรณะแห่งสรีระของพวกปากหงส์เหล่านั้น ก็มิได้ผิดแปลกกับหงส์ตระกูลธตรฐ ก็ธิดาแห่งพญาหงส์ปากราชมีวรรณะประดุจทองคำ พญาปากหงส์นั้นดำริว่า ธิดาของเรานี้สมควรแก่ธตรฐราชหงส์ที่มีความยิ่งใหญ่ จึงส่งนางไปให้เป็นบาทบริจาริกาของพญาหงส์ธตรฐนั้น นางได้เป็นที่รักที่เจริญของพญาหงส์ธตรฐนั้น เพราะเหตุนั้นแล ตระกูลหงส์ทั้งสองนั้น จึงได้เกิดมีความคุ้นเคยกันอย่างสนิทสนม.
               อยู่มาวันหนึ่ง พวกหงส์ที่เป็นบริวารของพระโพธิสัตว์ ถามพวกปากหงส์ว่า ทุกๆ วันนี้ พวกท่านไปเที่ยวหาอาหารกินที่ไหน พวกเราไปหาอาหารกินในเขมสระ ใกล้เมืองพาราณสี ก็พวกท่านไปเที่ยวหากินที่ไหนเล่า เมื่อพวกหงส์เหล่าธตรฐบอกว่า พวกเราไปหาอาหารกินในที่โน้นๆ พวกปากหงส์จึงกล่าวพรรณนาคุณเขมสระว่า ทำไม พวกท่านจึงไม่ไปยังสระเขมะ ด้วยว่า สระนั้นเป็นที่น่ารื่นรมย์ เกลื่อนกลาดไปด้วยสกุณชาติต่างๆ ชนิด ดารดาษไปด้วยดอกบัวเบญจพรรณ สมบูรณ์ด้วยพืชพรรณ ธัญญาหาร และผลไม้ต่างๆ มีหมู่ภมรต่างๆ ชนิดบินว่อนอยู่อึงมี่ ในมุมสระทั้ง ๔ มีเสียงประกาศอภัย เป็นไปอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ไม่ว่ามนุษย์ไรๆ ไม่สามารถที่จะเข้าไปใกล้ได้เลย จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการกระทำอันตรายอย่างอื่นๆ เล่า สระมีคุณเห็นปานนี้แล
               พวกเหล่าหงส์ธตรฐเหล่านั้น ได้สดับคำของพวกปากหงส์แล้ว จึงพากันไปบอกแก่สุมุขหงส์ว่า ได้ยินว่า มีสระสระหนึ่งชื่อเขมะ มีคุณภาพเห็นปานนี้ อยู่ใกล้เมืองพาราณสี พวกปากหงส์ไปเที่ยวหาอาหารกินในสระนั้น แม้ท่านก็จงบอกแก่พญาหงส์ธตรฐที่มีความเป็นใหญ่ยิ่ง ถ้าพระองค์อนุญาต แม้พวกข้าพเจ้าก็จะพึงไปหาอาหารในที่นั้นบ้าง สุมุขหงส์จึงบอกแก่พญาหงส์
               แม้พญาหงส์นั้นก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ทั้งหลายมีเล่ห์เหลี่ยมมาก มีความคิดแหลม ฉลาดในอุบาย น่าจะมีเหตุในที่นั้น ขึ้นชื่อว่าสระย่อมไม่มีในที่นั้น ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ บัดนี้ ชะรอยจะมีใครมาขุดไว้ และจักขุดไว้ เพื่อคอยดักจับพวกเราเป็นแน่. พญาหงส์จึงกล่าวกะสุมุขหงส์ว่า ท่านอย่าพอใจไปในที่นั้นเลย สระนั้น พวกมนุษย์เหล่านั้นมิได้ขุดไว้ตามธรรมดาของตน คงจะขุดไว้เพื่อต้องการจับพวกเรา ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ทั้งหลาย มีเล่ห์เหลี่ยมมากมาย มีความคิดแหลม ฉลาดในอุบาย ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในที่โคจรของตนตามเดิมเถิด พวกหงส์ทองก็ได้บอกแก่สุมุขหงส์ว่า พวกเราใคร่จะไปยังเขมสระ ดังนี้ ถึงสองครั้งสามครั้ง สุมุขหงส์จึงบอกความที่พวกหงส์เหล่านั้นใคร่จะไปในสระนั้นแก่พระมหาสัตว์.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า พวกญาติทั้งหลายของเรา จงอย่าได้ลำบากเพราะอาศัยเราเลย ถ้ากระนั้น เราทั้งหลายจะไปด้วยกัน มีหงส์เก้าหมื่นหกพันแวดล้อมเป็นบริวาร พากันไปหากินในสระนั้น เล่นหงส์กีฬาแล้วบินกลับมายังเขาจิตตกูฏ.
               ฝ่ายนายพรานเขมกะ ในเวลาที่หงส์เหล่านั้นมาเที่ยวบินกลับไปแล้ว จึงไปกราบทูลแด่พระราชาว่า พวกหงส์ทองเหล่านั้นพากันมาแล้ว พระราชาทรงดีพระทัยตรัสสั่งว่า ดูก่อนสหายเขมกะ ท่านจงพยายามจับหงส์ทองนั้นไปให้ สักตัวหนึ่งหรือสองตัว เราจักให้ยศใหญ่แก่ท่าน แล้วจึงประทานเครื่องเสบียง ส่งนายพรานนั้นไป นายเขมกเนสาทนั้นไปถึงที่สระนั้นแล้ว จึงนั่งนิ่งอยู่ในเรือนกรงที่มีสัณฐานดังตุ่ม พิจารณาดูทำเลหากินของพวกหงส์
               ธรรมดาว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีปกติไม่ประพฤติมักได้ เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงจิกกินข้าวสาลี โดยลำดับ จำเดิมแต่ที่ที่ตนร่อนลง. ฝ่ายหงส์นอกนั้นเที่ยวจิกกินข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง. ลำดับนั้น บุตรนายพรานจึงคิดว่า หงส์ตัวนี้มีปกติไม่ประพฤติมักได้ เราควรดักหงส์ตัวนี้เถิด. ในวันรุ่งขึ้น เมื่อหงส์ทั้งหลายยังไม่ทันร่อนลงมาสู่สระนั่นแล จึงนั่งในเรือนกรงที่มีสัณฐานดังตุ่มนั้นแล้ว ค่อยๆ กระเถิบไปสู่ที่นั้น แล้วจึงซ่อนตัวอยู่ในพงหญ้า ในที่ไม่ไกลนัก แลดูอยู่ตามช่อง.
               ในขณะนั้น พระมหาสัตว์มีหงส์เก้าหมื่นหกพันเป็นเบื้องหน้า ร่อนลงในสถานที่ที่ตนเคยร่อนลงแล้วในวันวานนั่นเอง จับอยู่ที่แอ่งจิกกินข้าวสาลีไปพลาง. นายเนสาทแลดูตามช่องลูกกรง เห็นอัตภาพของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงแล้วซึ่งส่วนอันงามเลิศด้วยรูปร่าง จึงคิดว่า หงส์ตัวนี้มีร่างกายโตเท่าดุมเกวียน มีพรรณดุจทองคำ มีรอยแดง ๓ รอยคาดอยู่ที่คอ มีรอยพาดลงไปทางลำคอไปโดยระหว่างท้อง ๓ รอย มีรอยแล่นไปตลอดโดยส่วนแห่งเบื้องหางอีก ๓ รอย ย่อมรุ่งเรือง ประดุจลิ่มทองคำ ที่บุคคลวางไว้บนกลุ่มไหมกัมพลแดง หงส์ตัวนี้คงเป็นพญาแห่งหงส์เหล่านี้เป็นแน่แท้ เราจักจับหงส์ตัวนี้แหละ. แม้พญาหงส์เที่ยวหาอาหารได้เป็นอันมาก เล่นกีฬาในน้ำ มีฝูงหงส์แวดล้อมกลับไปยังเขาจิตตกูฏทีเดียว พระโพธิสัตว์เที่ยวหากินอาหาร โดยทำนองนี้ตลอดกาลประมาณ ๕-๖ วัน.
               ในวันที่ ๗ นายพรานเขมกะขวั้นเชือกเส้นใหญ่ ที่ทำด้วยขนหางม้าสีดำให้มั่นคง กระทำให้เป็นบ่วงมีคัน ทราบโดยถ่องแท้ว่า ในวันพรุ่งนี้ พญาหงส์จักร่อนลงในที่นี้ จึงดักบ่วงไว้ใต้น้ำ. ในวันรุ่งขึ้น พญาหงส์เมื่อโผลงมา จึงเอาเท้าถลำลงไปในบ่วง. ทันใดนั้น บ่วงของนายพรานนั้นก็รวบรัดเท้าไว้ เหมือนมีใครมาฉุดคร่าด้วยลวดเหล็ก. พญาหงส์นั้นจึงคิดว่า เราจักกระตุกบ่วงนั้นให้ขาด จึงรวบรวมกำลังฉุดคร่ามาแล้วให้ตกลงไป. ในครั้งแรก หนังอันมีสีประดุจทองคำก็ขาดไป ในครั้งที่สอง เนื้อซึ่งมีสีประดุจผ้ากัมพลก็ขาดไป ในครั้งที่สาม เส้นเอ็นก็ได้ขาดไปจนจรดกระดูก.
               พระโพธิสัตว์ดำริว่า ในครั้งที่สี่ เท้าคงขาดแน่. ธรรมดาว่า พระราชาเป็นผู้มีอวัยวะอันเลวทราม ไม่เหมาะสมเลย จึงมิได้กระทำความพยายามอีกต่อไป ทุกขเวทนาได้แผ่ซ่านไปอย่างแรงกล้า พระโพธิสัตว์จึงดำริว่า ถ้าเราร้องแสดงอาการว่า ติดบ่วง พวกญาติของเราก็จักตกใจ ไม่ทันได้กินอาหาร บินหนีไป ทั้งที่ตนกำลังหิวจัดอยู่ทีเดียว ก็จักตกลงไป ในท่ามกลางมหาสมุทร พระองค์จึงทรงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา แม้ตกอยู่ในอำนาจบ่วง ก็ทำทีเป็นเหมือนจิกกินข้าวสาลีอยู่ ในเวลาที่หงส์เหล่านั้นกินอาหารอิ่มหนำแล้ว เล่นหงส์กีฬาอยู่ จึงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า ติดบ่วง. หงส์ทั้งหลายได้ยินเสียงนั้น ต่างก็กลัวตายเป็นกำลัง จึงมุ่งหน้าตรงไปยังเขาจิตตกูฏเป็นพวกๆ บินหนีไปโดยนัยก่อนนั่นแล.
               สุมุขหงส์ที่เป็นเสนาบดีคิดว่า ภัยนี้บังเกิดขึ้นแก่มหาราชบ้างหรือไม่หนอ เราจักทราบเหตุนั้น จึงรีบบินไปค้นหาในระหว่างแห่งหมู่หงส์ที่บินไปข้างหน้า โดยนัยดังกล่าวแล้วแต่หนหลังทีเดียว มิได้เห็นพระมหาสัตว์ในหมู่แม้ทั้งสามหมู่ คิดว่า ภัยนี้บังเกิดขึ้นแก่มหาราชของเรานี้เป็นแน่แท้ทีเดียว จึงหวนกลับมา ก็ได้เห็นพระมหาสัตว์ติดบ่วง มีร่างกายเปื้อนโลหิตเร่าร้อนอยู่ ด้วยความทุกข์ จับอยู่บนหลังเปือกตม จึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่ากลัวเลย ข้าพระองค์จะสละชีวิตของข้าพระองค์ ให้นายพรานปล่อยพระองค์เสีย ร่อนลงมาปลอบประโลมพระมหาสัตว์ จับอยู่บนหลังเปือกตม. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า เมื่อหงส์เก้าหมื่นหกพันทิ้งเราหนีไป สุมุขหงส์นี้กลับมาแต่ตัวเดียว เธอจักทิ้งเราหนีไป ในเวลาที่บุตรนายพรานมาแล้วหรือไม่หนอ เป็นสัตว์มีกายเปื้อนด้วยโลหิตห้อยอยู่ที่ปลายบ่วงทีเดียว
               ได้กล่าวคาถา ๓ คาถา ด้วยสามารถจะทดลองใจว่า
               หงส์เหล่านั้นถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมบินหนีไป ดูก่อนสุมุขะผู้มีขนเหลือง มีผิวพรรณดังทองคำ ท่านจงบินหนีไปตามความปรารถนาเถิด
               หมู่ญาติละทิ้งเรา ซึ่งตกอยู่ในอำนาจบ่วงตัวเดียว บินหนีไปไม่เหลียวหลังเลย ท่านจะอยู่ผู้เดียวทำไม
               ดูก่อนสุมุขะผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย ท่านจงกลับไปเสียเถิด ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี ท่านอย่าคลายความเพียรเพื่อความไม่มีทุกข์ จงหนีไปเสียตามความปรารถนาเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภยเมริตา ความว่า ถูกภัยรุกราน ถูกภัยคุกคาม คือหวั่นไหวด้วยภัย.
               คำว่า หริ และคำว่า เหม ในบทที่สาม เป็นชื่อของทองคำเหมือนกันนั่นแหละ แม้หงส์นั้นมีพรรณเหมือนทองคำ เพราะมีหนังเป็นสีทอง เพราะเหตุนั้น พญาหงส์จึงเรียกสุมุขหงส์นั้นอย่างนี้.
               คำว่า สุมุข คือ ดูก่อนพ่อผู้มีหน้าตาดี.
               บทว่า อนเปกขมานา ได้แก่ พวกญาติเหล่านั้น มิได้แลดูหมดความห่วงใย.
               บทว่า ปเตว ได้แก่ พ่อจงบินกลับไปเสียเถิด.
               บทว่า อนีฆาย ความว่า พ่ออย่าได้คลายความเพียร เพราะความหมดทุกข์อันจะพึงถึง เพราะไปเสียจากที่นี่.

               สุมุขหงส์เสนาบดีสดับคำนั้น จึงคิดว่า พญาหงส์นี้ยังไม่รู้จักว่า เราเป็นมิตรแท้ ย่อมกำหนดเราว่า เป็นมิตรไม่มีความรักใคร่ เราจักแสดงความรักแก่พญาหงส์นี้ ดังนี้
               ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า
               ข้าแต่พญาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์ แม้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ก็จะไม่ละทิ้งพระองค์เลย ความเป็นอยู่หรือความตายของข้าพระองค์ จักมีพร้อมกับพระองค์
               ข้าแต่พญาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์ แม้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ก็จะไม่ละทิ้งพระองค์เลย พระองค์ไม่ควรจะชักชวนข้าพระองค์ให้ประกอบในกรรมอันประกอบด้วยความอันไม่ประเสริฐเลย
               ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์เป็นสหาย สหชาติของพระองค์ เป็นผู้ดำรงอยู่ในจิตของพระองค์ ใครๆ ก็รู้ว่า ข้าพระองค์เป็นเสนาบดีของพระองค์ ข้าพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะกล่าวอวดอ้างในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร
               ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะกล่าวกะฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร ข้าพระองค์จักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้ ไม่สามารถจะทำกิจอันไม่ประเสริฐได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาหํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ แม้อันความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจถูกต้องแล้ว ก็ไม่ยอมละทิ้งพระองค์.
               บทว่า อนริยสํยุตฺเต ได้แก่ ประกอบพร้อมแล้วด้วยความอันไม่ประเสริฐ เพราะเป็นกรรมที่บุคคลผู้ประทุษร้ายมิตรทั้งหลาย ผู้ไม่ประเสริฐพึงกระทำ.
               บทว่า กมฺเม ได้แก่ กรรมที่จะต้องละทิ้งพระองค์ไป.
               บทว่า สกุมาโร ได้แก่ เป็นเด็กเสมอกัน. อธิบายว่า เป็นกุมารที่ถือปฏิสนธิในวันเดียวกัน ทำลายฟองไข่ในวันเดียวกัน แล้วเติบโตเจริญมาด้วยกัน.
               บทว่า สขา ตฺยมฺหิ ได้แก่ ข้าพระองค์เป็นสหายที่รักเสมอด้วยดวงตาข้างขวาของพระองค์.
               บทว่า สจิตฺเต ได้แก่ ข้าพระองค์ตั้งอยู่ในจิตของพระองค์ ย่อมเป็นไปในอำนาจของพระองค์. อธิบายว่า เมื่อพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพระองค์ก็มีชีวิตอยู่ เมื่อพระองค์สิ้นชีวิต ข้าพระองค์ก็สิ้นชีวิตเหมือนกัน. บาลีเป็น สํจิตฺเต ดังนี้ก็มี อธิบายว่า ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในจิตของพระองค์ ตั้งอยู่ด้วยดีแล้ว.
               บทว่า ญาโต ได้แก่ รู้จักกันทั่วไป ปรากฏในระหว่างหงส์ทั้งหมด.
               บทว่า วิกตฺถิสฺสํ ความว่า ข้าพระองค์ถูกหงส์เหล่านั้นถามว่า พญาหงส์ไปไหน จักบอกว่าอย่างไร.
               บทว่า กินฺเต วกฺขามิ ความว่า ข้าพระองค์จักกล่าวกะหมู่หงส์ที่ถาม ถึงข่าวคราวของพระองค์เหล่านั้นว่าอย่างไร.

               เมื่อสุมุขหงส์บันลือสีหนาทด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้แล้ว
               พระมหาสัตว์ เมื่อจะพรรณนาคุณของสุมุขหงส์นั้น จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนสุมุขะ ท่านไม่อาจจะละทิ้งเรา ผู้เป็นทั้งนาย ทั้งสหาย ชื่อว่าตั้งอยู่ในทางอันประเสริฐนี้แล เป็นธรรมเนียมของโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย. จริงอยู่ เมื่อเรายังเห็นท่าน ความกลัวย่อมไม่เกิดขึ้นเลย ท่านจักให้เราผู้เป็นอยู่อย่างนี้รอดชีวิตได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอโส ธมฺโม ได้แก่ นี้แล เป็นสภาพของบัณฑิตในปางก่อนทั้งหลาย.
               บทว่า ภตตารํ สขารํ มํ ได้แก่ เป็นทั้งนายด้วย เป็นทั้งเพื่อนด้วย.
               บทว่า ภยํ ได้แก่ ความสะดุ้งตกใจกลัว ย่อมไม่เกิดแก่เรา เหมือนกับว่า เราอยู่ในท่ามกลางหมู่หงส์บนภูเขาจิตตกูฏ ฉะนั้น.
               บทว่า มยหํ ได้แก่ พ่อจักให้เรารอดชีวิต.
               เมื่อหงส์ทั้งสองนั้นกำลังพูดกันอยู่อย่างนี้ทีเดียว นายลุททบุตรยืนอยู่ที่ขอบสระ เห็นหงส์บินหนีไปถึง ๓ หมู่แล้ว จึงมองดูสถานที่ที่ตนดักบ่วงไว้ว่า เป็นอย่างไรหนอ เห็นพระโพธิสัตว์ห้อยอยู่ที่คันบ่วง มีความโสมนัสเกิดขึ้นแล้ว เหน็บชายกระเบนหยักรั้ง ถือไม้ค้อนลุยลงไป ดังว่าไฟบรรลัยกัลป์ เสือกศีรษะในเบื้องบน ไปยังเลนที่จะต้องเหยียบด้วยเท้า พุ่งตัวไปข้างหน้ารีบเข้าไปจนใกล้.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เมื่อสุวรรณหงส์ทั้งสองที่ประเสริฐ ซึ่งประพฤติธรรมอันประเสริฐ กำลังโต้ตอบกันด้วยประการฉะนี้ นายพรานถือท่อนไม้กระชับแน่น รีบเดินเข้ามา สุมุขหงส์เห็นนายพรานนั้นกำลังเดินมา จึงได้ร้องเสียงดัง ยืนอยู่ข้างหน้าพญาหงส์ ปลอบพญาหงส์ที่หวาดกลัว ให้เบาใจด้วยคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย อย่าทรงกลัวเลย ด้วยว่า บุคคลทั้งหลายเช่นกับพระองค์ย่อมไม่กลัว ข้าพระองค์จะประกอบความเพียรอันสมควร ประกอบด้วยธรรม พระองค์จะพ้นจากบ่วงด้วยความเพียร อันผ่องแผ้วนั้นได้โดยพลัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยวุตตินํ ได้แก่ ประพฤติอยู่ในคลองธรรมอันประเสริฐ.
               บทว่า ภุสํ ได้แก่ มีกำลังมั่นคงแข็งแรง.
               บทว่า อปริพรูหยิ ความว่า สุมุขหงส์ เมื่อจะกล่าวคำว่า พระองค์อย่ากลัวเลย ดังนี้เป็นต้น อันมาแล้วในคาถาอันเป็นลำดับต่อไป ได้ร้องเสียงดัง คือได้ส่งเสียงดัง.
               บทว่า อฏฐาสิ ความว่า สุมุขหงส์นั้นโดยยอมสละชีวิต แล้วยืนข้างหน้าพญาหงส์ ด้วยคิดว่า ถ้านายพรานจักประหารพญาหงส์ เราก็จักรับการประหารนั้นเสียเอง.
               บทว่า วิสสาสยํ คือ ให้โล่งใจให้คล่องใจ.
               บทว่า พยถํ ได้แก่ พญาหงส์ตัวหวาดกลัวแล้ว สุมุขหงส์ได้ปลอบพญาหงส์ให้เบาใจ ด้วยคำว่า มา ภายิ นี้.
               บทว่า ตาสิทา ได้แก่ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความเพียรเช่นกับพระองค์.
               บทว่า โยคํ คือ ประกอบด้วยญาณวิริยะ.
               บทว่า ยุตตํ คือ เหมาะสม.
               บทว่า ธมฺมูปสญหิตํ คือ อาศัยเหตุ.
               บทว่า เตน ปริยาปทาเนน คือ ด้วยความเพียรเป็นเครื่องประกอบอันบริสุทธิ์ ดังที่ข้าพระองค์ได้กล่าวแล้วนั้น.
               บทว่า ปโมกขสิ แปลว่า พระองค์จักหลุดพ้น.

               สุมุขหงส์ปลอบพระมหาสัตว์ให้เบาใจ อย่างนี้แล้วจึงไปยังที่ใกล้นายลุททบุตร เปล่งวาจาภาษามนุษย์อันไพเราะว่า ดูก่อนสหาย ท่านชื่อไร. เมื่อนายพรานตอบว่า ดูก่อนพญาหงส์ตัวมีผิวพรรณดังทอง เรามีชื่อว่าเขมกะ จึงกล่าวว่า ดูก่อนเขมกะผู้เป็นสหาย ท่านอย่าได้กระทำความสำคัญว่า หงส์ที่ติดในบ่วงอันท่านดักไว้นั้น เป็นหงส์ธรรมดาสามัญ หงส์ที่ติดบ่วงของท่านนี้ คือพญาหงส์ธตรฐ ประเสริฐกว่าหงส์เก้าหมื่นหกพัน ถึงพร้อมด้วยญาณและศีลาจารวัตร ดำรงอยู่ในฝ่ายแห่งความสรรเสริญ หงส์นี้ไม่สมควรที่ท่านจะฆ่าเสียเลย ข้าพเจ้าจักกระทำกิจที่ควรกระทำด้วยสรีระนี้แก่ท่าน แม้พญาหงส์นี้มีพรรณประดุจทองคำ ถึงตัวข้าพเจ้าก็มีพรรณดุจทองคำเช่นเดียวกัน แต่ข้าพเจ้าจักยอมสละชีวิตของตน เพื่อประโยชน์แก่พญาหงส์นี้ หากว่า ท่านประสงค์จะเอาขนปีกทั้งหลายของพญาหงส์นี้ ก็จงเอาขนปีกของข้าพเจ้าเถิด ถ้าแม้ว่า ท่านประสงค์จะเอาหนังเนื้อเอ็นกระดูกอย่างหนึ่ง ก็จงเอาจากสรีระของข้าพเจ้าผู้เดียว หรือถ้าท่านประสงค์จะกระทำพญาหงส์นั้นให้เป็นหงส์กีฬา(หงส์เต้นระบำ) ก็จงกระทำข้าพเจ้าผู้เดียว ถ้าท่านประสงค์จะให้บังเกิดทรัพย์ ก็จงเอาพญาหงส์นั้นขายทั้งเป็นๆ กระทำทรัพย์ให้บังเกิดขึ้น ขอท่านอย่าได้ฆ่าพญาหงส์ ตัวประกอบด้วยคุณมีญาณเป็นต้นนี้ เสียเลย เพราะถ้าท่านจักฆ่าพญาหงส์นั้น ท่านจักไม่พ้นจากอบายมีนรกเป็นต้น
               สุมุขหงส์กล่าวคุกคาม นายพรานนั้นด้วยภัยในอบายมีนรกเป็นต้นให้เชื่อถือถ้อยคำอันไพเราะของตน แล้วกลับไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์อีก ปลอบประโลมพระองค์ให้เบาใจ แล้วยืนอยู่.
               นายเนสาทสดับคำของสุมุขหงส์นั้น จึงคิดว่า หงส์นี้แม้เป็นสัตว์ดิรัจฉานยังกระทำมิตรธรรมเห็นปานนี้ อันไม่น่าจะกระทำกับมนุษย์เลย แท้จริง แม้พวกมนุษย์ด้วยกัน ก็ยังไม่อาจจะกระทำมิตรธรรมได้อย่างนี้ ดูช่างน่าอัศจรรย์ พญาหงส์นี้เป็นสัตว์ถึงพร้อมด้วยปัญญา กล่าววาจาไพเราะชื่อว่าเป็นผู้แสดงธรรม ย่อมกระทำสรีระทั้งสิ้นของเรา ให้เต็มไปด้วยปีติและโสมนัส เขามีโลมชาติชูชัน ทิ้งท่อนไม้ตั้งอัญชลีไว้เหนือศีรษะ ประหนึ่งว่านอบน้อมนมัสการพระอาทิตย์ ยืนกล่าวสรรเสริญคุณของสุมุขหงส์อยู่.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               นายพรานได้ฟังคำสุภาษิตของสุมุขหงส์นั้นแล้ว ขนลุกชูชัน นอบน้อมอัญชลีแก่สุมุขหงส์ แล้วถามว่า เราไม่เคยได้ฟัง หรือไม่เคยได้เห็น นกพูดภาษามนุษย์ได้ ท่านแม้จะเป็นนก ก็พูดภาษาอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้
               พญาหงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่านหรือ ท่านพ้นแล้ว ทำไมจึงเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งไปหมด เพราะเหตุใด ท่านจึงยังอยู่ตัวเดียว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺชลิสสูปนามยิ ความว่า นายพรานนั้นน้อมอัญชลีแก่สุมุขหงส์นั้น คือกระทำการชมเชยสุมุขหงส์นั้น ด้วยคาถาอันเป็นลำดับต่อไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มานุสํ ได้แก่ ภาษาอันเป็นของมนุษย์.
               บทว่า อริยํ ได้แก่ ดี ไม่มีโทษ.
               บทว่า จชนโต คือ กล่าวอยู่ มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า ดูก่อนสหาย ท่านแม้เป็นนกก็ได้กล่าววาจาภาษามนุษย์กับเราในวันนี้ กล่าววาจาอันไม่มีโทษ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ เราเห็นแล้วโดยประจักษ์ เพราะว่า สิ่งอัศจรรย์นี้ เราไม่เคยได้ยินมา ไม่เคยได้เห็นมา ในกาลก่อนแต่นี้เลย.
               บทว่า กินนุ ตายํ ความว่า ท่านเข้าไปใกล้นกใด นกนั้นย่อมเป็นอะไรกับท่าน.

               สุมุขหงส์ถูกนายพรานผู้มีจิตชื่นชม ไต่ถามด้วยถ้อยคำอย่างนี้แล้ว จึงดำริว่า นายพรานนี้ เป็นผู้มีใจอ่อนเกิดแล้ว บัดนี้เราจักแสดงคุณของเรา เพื่อให้นายพรานนี้มีใจอ่อนยิ่งขึ้นไปอีกทีเดียว จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนนายพราน ผู้เป็นศัตรูของนก พญาหงส์เป็นราชาของข้าพเจ้า ทรงตั้งข้าพเจ้าให้เป็นเสนาบดี ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์ ซึ่งเป็นอธิบดีของหงส์ ในคราวมีอันตรายได้ พญาหงส์นี้เป็นนายของหมู่หงส์เป็นอันมากและของข้าพเจ้า อย่าให้พระองค์พึงถึงความพินาศเสียเลย ดูก่อนนายพรานผู้สหาย เพราะเหตุที่พญาหงส์นี้เป็นนายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยินดีรื่นรมย์อยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นุสสเห ได้แก่ ไม่สามารถจะทิ้งไปได้.
               บทว่า มหาคณายํ ได้แก่ แม้ของหมู่หงส์ใหญ่.
               บทว่า มา เกโก ความว่า เมื่ออำมาตย์ราชเสวกเช่นข้าพเจ้ายังมีอยู่ ขอพระองค์อย่าได้ถึงความพินาศ แต่ผู้เดียวเลย.
               บทว่า ยถา ตํ ได้แก่ ข้าพเจ้ากล่าวไว้ฉันใด ก็ฉันนั้นแล.
               บทว่า สมม คือผู้เป็นมิตรที่รัก.
               บทว่า ภตตายํ อภิรโต รเม ความว่า พระองค์เป็นนาย ข้าพเจ้าจึงยินดียิ่งแด่พระองค์ รื่นรมย์อยู่ในที่ใกล้ ไม่เบื่อหน่าย.

               นายเนสาทสดับถ้อยคำอันไพเราะ ทั้งอาศัยธรรมของสุมุขหงส์นั้นแล้ว ก็เกิดความโสมนัสยินดี มีโลมชาติชูชัน คิดว่า ถ้าเราจักฆ่า พญาหงส์ที่ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้นเช่นนี้ คงจักไม่พ้นจากอบายทั้ง ๔ ไปได้ พระราชาทรงพระประสงค์จะกระทำเราอย่างใด ก็จงทรงกระทำอย่างนั้นเถิด เราจะกระทำพญาหงส์นี้ ให้เป็นรางวัลแก่สุมุขหงส์แล้ว จักปล่อยไป จึงได้กล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนหงส์ ท่านย่อมนอบน้อมก้อนอาหาร ชื่อว่ามีความประพฤติธรรมอันประเสริฐ ข้าพเจ้าจะปล่อยนายของท่าน ท่านทั้งสองจงไปตามสบายเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยวุตติ ได้แก่ เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยวัตรของท่านผู้ประเสริฐ ด้วยอาจาระทั้งหลาย กล่าวคือการรักษามิตรธรรม.
               บทว่า โย ปิณฑมปจานสิ ความว่า ท่านใดบูชาก้อนอาหารที่ได้แล้วจากสำนักของนาย.
               บทว่า คจฉถูโภ ความว่า ท่านแม้ทั้งสองจงยังหมู่ญาติ ซึ่งมีหน้าอันชุ่มด้วยน้ำตาให้ร่าเริงอยู่ จงไปตามความสบายเถิด.

               ก็นายเนสาท ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปใกล้พระมหาสัตว์ ด้วยจิตอันอ่อนโยนแล้ว โน้มคันบ่วงลงมา ให้จับอยู่ที่หลังเปือกตม แก้พระมหาสัตว์นั้นออกจากคันบ่วง อุ้มขึ้นนำออกจากสระ ให้จับอยู่บนลานหญ้าแพรกอ่อน ค่อยๆ แก้บ่วงที่รัดเท้าทั้งสองออก เข้าไปตั้งไว้ ซึ่งความรักในพระมหาสัตว์อย่างแรงกล้า ไปตักน้ำมาล้างเลือด ลูบคลำอยู่ไปมาด้วยเมตตาจิต
               ขณะนั้น ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของนายเนสาทนั้น เส้นเอ็นกับเส้นเอ็น เนื้อกับเนื้อ หนังกับหนัง ก็ติดต่อสนิทกัน เท้าก็หายเป็นปกติ มิได้มีส่วนผิดแปลกกับอวัยวะส่วนอื่นๆ เลย.
               พระโพธิสัตว์ถึงความสุขสบายแล้ว จับอยู่โดยความเป็นปกติทีเดียว.
               สุมุขหงส์เห็นพญาหงส์ ได้รับความสบายเพราะอาศัยตน ก็เกิดความโสมนัสยินดี จึงคิดว่า นายเนสาทชื่อว่าได้กระทำอุปการะไว้แก่เรา เป็นอันมากมีอยู่ ส่วนเรายังไม่มีอุปการะแก่เขาเลย ก็ถ้านายเนสาทนี้จับเอาเราไป เพื่อประโยชน์แก่พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น นำไปยังสำนักของอิสรชนเหล่านั้น จักได้ทรัพย์มาก ถ้าเขาจับเอาไปเพื่อประโยชน์แก่ตน ขายเราแล้วจักได้ทรัพย์เหมือนกัน เราจักถามเขาดูก่อน.
               ลำดับนั้น สุมุขหงส์ เมื่อจะกล่าวถามนายเนสาทนั้น เพราะความที่ตนใคร่ที่จะกระทำอุปการะ จึงกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนสหาย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลาย ด้วยประโยชน์ของตน ข้าพเจ้าจะขอรับทักษิณาอภัยของท่านนี้.
               ดูก่อนนายพราน ถ้าท่านไม่ได้ดักหงส์และนกทั้งหลาย ด้วยประโยชน์ของตน ท่านไม่มีอิสระ ถ้าท่านปล่อยเราทั้งสองเสีย ท่านก็ชื่อว่ากระทำความเป็นขโมย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ ความว่า ดูก่อนนายเนสาทผู้เป็นสหาย ถ้าท่านดักบ่วงหงส์และนกอันเหลือทั้งหลาย ด้วยประโยชน์ของตน คือเพื่อประโยชน์แก่ตน.
               บทว่า อนิสสโร ความว่า ท่านเป็นผู้ไม่มีอิสระที่จะปล่อยข้าพเจ้าเสีย จงไปยังสำนักของผู้ที่บังคับท่านนั้นเถิด พึงกระทำการลักแต่อย่ากระทำหนี้เลย.
               นายเนสาทสดับคำนั้น จึงกล่าวว่า เรามิได้จับท่านทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ตนเลย แต่พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่าสังยมะ มีรับสั่งให้เราจับ แล้วจึงเล่าเรื่องทั้งหมด จำเดิมแต่กาลที่ พระนางเทวีทรงเห็นสุบินนิมิตจนกระทั่งถึงพระราชาทรงทราบความที่พวกหงส์ทองเหล่านั้นมาแล้ว จึงตรัสสั่งว่า ดูก่อนเขมกะผู้เป็นสหาย ท่านจงพยายามจับหงส์สักตัวหนึ่งหรือสองตัวให้ได้ เราจักให้ยศแก่ท่าน แล้วประทานเสบียงส่งไป
               สุมุขหงส์สดับเรื่องราวนั้นแล้ว จึงคิดว่า นายเนสาทนี้มิได้เห็นแก่ชีวิตของตน ปล่อยเราไปเสีย ชื่อว่ากระทำกิจอันยากที่คนอื่นจะกระทำได้ ถ้าเราจักไปยังภูเขาจิตตกูฏจากที่นี่
                         อานุภาพแห่งบุญบารมีของพญาหงส์ธตรฐก็จะไม่ปรากฏ และ
                         มิตรธรรมของเราก็จักไม่ปรากฏ
                         ทั้งบุตรนายพรานก็จักไม่ได้ยศใหญ่
                         พระราชาก็จักมิได้ตั้งอยู่ในศีล ๕
                         ความปรารถนาของพระเทวีก็จักไม่ถึงที่สุด
               จึงกล่าวว่า ดูก่อนสหาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะปล่อยข้าพเจ้ายังไม่ได้ ท่านต้องแสดงข้าพเจ้าแก่พระราชา ท้าวเธอจักทรงกระทำข้าพเจ้าตามพอพระทัย.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

.. อรรถกถา มหาหังสชาดก ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1349&Z=1597
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=4899
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=4899
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :