ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

หน้าต่างที่ ๒ / ๙.

               ก็เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จะสำเร็จได้ เพราะประมวลมาซึ่งธรรม ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความถึงพร้อมด้วยเพศ ๑ เหตุ ๑ การเห็นพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑ การสมบูรณ์ด้วยคุณ ๑ การกระทำยิ่งใหญ่ ๑ ความพอใจ ๑.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลดำรงอยู่ใน ภาวะแห่งความเป็นมนุษย์นั่นแหละ ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนา ย่อมสำเร็จ. ความปรารถนาของนาค ครุฑหรือเทวดา หาสำเร็จไม่. แม้ในภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ เมื่อเขาดำรงอยู่ในเพศบุรุษเท่านั้น ความปรารถนาจึงจะสำเร็จ. ความปรารถนาของหญิง หรือบัณเฑาะก์ กะเทย และอุภโตพยัญชนก ก็หาสำเร็จไม่. แม้สำหรับบุรุษ ความปรารถนาของผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุที่จะบรรลุอรหัต แม้ในอัตภาพนั้นเท่านั้น จึงจะสำเร็จได้ นอกนี้หาสำเร็จไม่. แม้สำหรับผู้ที่สมบูรณ์ด้วยเหตุ ถ้าเมื่อปรารถนาในสำนักของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ความปรารถนาจึงจะสำเร็จ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เมื่อปรารถนาในที่ใกล้เจดีย์ หรือที่โคนต้นโพธิ์ ก็หาสำเร็จไม่. แม้เมื่อปรารถนาในสำนักของพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของผู้ที่ดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตเท่านั้น จึงจะสำเร็จ. ผู้ที่ดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ หาสำเร็จไม่. แม้ผู้เป็นบรรพชิต ความปรารถนาของผู้ที่ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ เท่านั้น จึงจะสำเร็จ. ผู้ที่เว้นจากคุณสมบัตินี้ นอกนี้หาสำเร็จไม่. แม้ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณแล้วก็ตาม ความปรารถนาของผู้ที่ได้ กระทำการบริจาคชีวิตของตนแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการกระทำอันยิ่งใหญ่นี้เท่านั้น จึงจะสำเร็จ. ของคนนอกนี้หาสำเร็จไม่. แม้ผู้ที่จะสมบูรณ์ด้วยการกระทำอันยิ่งใหญ่แล้ว ยังจะต้องมีฉันทะอันใหญ่หลวง อุตสาหะ ความพยายามและการแสวงหาอันใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าอีก ความปรารถนาจึงจะสำเร็จ. คนอื่นนอกจากนี้หาสำเร็จไม่.
               ในข้อที่ฉันทะจะต้องยิ่งใหญ่นั้น มีข้ออุปมาดังต่อไปนี้. ก็ถ้าจะพึงเป็นไปอย่างนี้ว่า ผู้ใดสามารถที่จะใช้กำลังแขนของตน ข้ามห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้น ที่เป็นน้ำผืนเดียวกันหมด แล้วถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าได้. หรือว่า ผู้ใดเดินด้วยเท้าสามารถที่จะเหยียบย่ำ ห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้น ที่ปกคลุมด้วยกอไผ่ แล้วถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าได้. หรือว่า ผู้ใดปักดาบทั้งหลายลง แล้วเอาเท้าเหยียบห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้น ซึ่งเต็มไปด้วยฝักดาบ สามารถที่จะถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าได้. หรือว่า ผู้ใดเอาเท้าย่ำห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้น ซึ่งเต็มไปด้วยถ่านมีเปลวเพลิงลุกโชติช่วง สามารถที่จะถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าได้. ผู้ใดไม่สำคัญเหตุเหล่านั้น แม้เหตุหนึ่งว่าเป็นของที่คนทำได้ยาก คิดแต่ว่า เราจักข้าม หรือไปถือเอาซึ่งฝั่งข้างหนึ่งจนได้ ดังนี้. เขาผู้นั้นจัดว่า เป็นผู้ประกอบด้วยฉันทะ อุตสาหะ ความพยายาม และการแสวงหาอันใหญ่ ความปรารถนาของเขาย่อมสำเร็จ คนนอกนี้หาสำเร็จไม่.
               ก็สุเมธดาบส แม้จะประมวลธรรมทั้ง ๘ ประการเหล่านั้นได้แล้ว ยังการทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วนอนลง. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เสด็จมาประทับยืน ที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงลืมพระเนตรทั้งสองอันสมบูรณ์ ด้วยประสาทมีวรรณะ ๕ ชนิด ประหนึ่งว่า เปิดอยู่ซึ่งสีหบัญชรแก้วมณี ทอดพระเนตรเห็นสุเมธดาบสนอนบนหลังเปือกตม ทรงดำริว่า ดาบสนี้กระทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จ หรือไม่หนอ. ทรงส่งพระอนาคตังสญาณ ใคร่ครวญอยู่ ทรงทราบว่า ล่วงสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคดม ยังประทับยืนอยู่นั่นแหละทรงพยากรณ์ แล้วด้วยตรัสว่า พวกท่านจงดูดาบสผู้มีตบะสูงนี้ ซึ่งนอนอยู่บนหลังเปือกตม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้ว พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า
               ดาบสนี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า นอนแล้ว ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จ ในที่สุดแห่งสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคดม ก็ในอัตภาพนั้นของเขา นครนามว่ากบิลพัสดุ์ จักเป็นที่อยู่อาศัย พระเทวีทรงพระนามว่ามายา เป็นพระมารดา พระราชาทรงพระนามว่าสุทโธทนะ เป็นพระราชบิดา พระเถระชื่ออุปติสสะ เป็นอัครสาวก พระเถระชื่อโกลิตะ เป็นอัครสาวกที่สอง พุทธอุปฐากชื่ออานนท์ พระเถรีนามว่าเขมา เป็นอัครสาวิกา พระเถรีนามว่าอุบลวรรณา เป็นอัครสาวิกาที่สอง. เขามีญาณแก่กล้าแล้ว ออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรอย่างใหญ่ รับข้าวปายาสที่โคนต้นไทร เสวยที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขึ้นสู่โพธิมณฑล จักตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ ดังนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก ผู้ทรงรับเครื่องบูชา ประทับยืน ณ เบื้องศีรษะ ได้ตรัสคำนี้กะเราว่า
               พวกท่านจงดูดาบสผู้เป็นชฏิล ผู้มีตบะสูงนี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ในกัปที่นับไม่ถ้วนแต่กัปนี้ เขาเป็นตถาคตจะออกจากนครชื่อ กบิลพัสดุ์ อันน่ารื่นรมย์ ตั้งความเพียร กระทำทุกรกิริยา นั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ประคองข้าวปายาส ไปยังแม่น้ำเนรัญชราในที่นั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงถือข้าวปายาสไปที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จถึงโคนต้นโพธิ์โดยทางที่เขาแต่งไว้ดีแล้ว.
               ลำดับนั้น พระสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระยศใหญ่ มิมีใครยิ่งกว่า กระทำประทักษิณโพธิมณฑลแล้ว จักตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ. พระมารดาผู้เป็นชนนีของเขาจักมีนามว่า มายา. พระบิดาจักมีนามว่า สุทโธทนะ. เขาจักมีนามว่า โคดม. พระโกลิตะและอุปติสสะจักเป็นอัครสาวก ผู้หาอาสวะมิได้ ปราศจากราคะแล้ว มีจิตอันสงบตั้งมั่น. อุปฐากนามว่าอานนท์ จักเป็นอุปฐากพระชินเจ้านั้น. นางเขมาและนางอุบลวรรณา จักเป็นอัครสาวิกา ผู้หาอาสวะมิได้ ปราศราคะแล้ว มีจิตสงบตั้งมั่น. ต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จักเรียกกันว่า อัสสัตถพฤกษ์
ดังนี้.
               สุเมธดาบสได้บังเกิดโสมนัสว่า นัยว่า ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ ดังนี้.
               มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระทศพลทีปังกร แล้วต่างได้พากันร่าเริงยินดีว่า นัยว่า สุเมธดาบสเป็นพืชแห่งพระพุทธเจ้า เป็นหน่อแห่งพระพุทธเจ้า และพวกเขาเหล่านั้นก็ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า บุรุษเมื่อจะข้ามแม่น้ำ ไม่สามารถข้ามโดยท่าโดยตรงได้ ย่อมข้ามโดยท่าข้างใต้ ฉันใด แม้พวกเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่ได้มรรคและผลในศาสนาของพระทศพลทีปังกร ในกาลใดในอนาคต ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้า. ในกาลนั้น พวกเราพึงสามารถกระทำให้แจ้ง ซึ่งมรรคและผลในที่ต่อหน้าของท่าน ดังนี้ ต่างพากันตั้งความปรารถนาไว้. แม้พระทศพลทีปังกรทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์ ทรงบูชาด้วยดอกไม้ ๘ กำมือ ทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จหลีกไป. แม้พระขีณาสพนับได้สี่แสนต่างก็พากันบูชาพระโพธิสัตว์ ด้วยของหอมและพวงดอกไม้ กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป.
               พระโพธิสัตว์ลุกขึ้นจากที่นอนในเวลาที่คนทั้งปวงหลีกไปแล้ว คิดว่าเราจักตรวจตราดูบารมีทั้งหลายดังนี้ จึงนั่งขัดสมาธิบนที่สุดของกองดอกไม้. เมื่อพระโพธิสัตว์นั่งแล้วอย่างนี้ เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้นได้ให้สาธุการ กล่าวว่า ข้าแด่พระผู้เป็นเจ้าสุเมธดาบส ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เก่าก่อนทั้งหลายนั่งขัดสมาธิ ด้วยคิดว่า เราจักตรวจตราบารมีทั้งหลาย ชื่อว่าบุรพนิมิตเหล่าใดจะปรากฏ. บุรพนิมิตเหล่านั้น แม้ทั้งหมดปรากฏแจ่มแจ้งแล้วในวันนี้. ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย พวกเราก็รู้ข้อนั้น นิมิตเหล่านี้ปรากฏแก่ผู้ใด ผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว. ท่านจงประคองความเพียรของตนให้มั่นดังนี้ กล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ ด้วยคำสรรเสริญนานาประการ.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               คนและเทวดาได้ฟังคำนี้ของพระพุทธเจ้าผู้หาผู้เสมอมิได้ ผู้ทรงแสวงหาคุณใหญ่ ต่างยินดีว่า ดาบสนี้เป็นพืชและเป็นหน่อพระพุทธเจ้า เสียงโห่ร้องดังลั่นไป. มนุษย์พร้อมเทวดาในหมื่นโลกธาตุต่างปรบมือ หัวเราะร่า ต่างประคองอัญชลีนมัสการ. ถ้าพวกเราจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถ ก็จักอยู่เฉพาะหน้าท่านผู้นี้ ในกาลไกลในอนาคต. มนุษย์เมื่อจะข้ามฝั่ง พลาดท่าที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้า ก็จะถือเอาท่าข้างใต้ข้ามแม่น้ำใหญ่ต่อไปได้ฉันใด พวกเราแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพ้นพระชินเจ้านี้ไป ก็จักอยู่เฉพาะหน้าท่านผู้นี้ ในกาลไกลในอนาคต.
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้ทรงรับเครื่องบูชา ทรงกำหนดกรรมของเราไว้แล้ว จึงทรงยกพระบาทเบื้องขวาเสด็จไป พระสาวกผู้เป็นพระชินบุตรเหล่าใดได้มีอยู่ในที่นั้น เหล่านั้นทั้งหมดได้ทำประทักษิณเรา. คน นาค คนธรรพ์ ต่างก็กราบไหว้แล้วหลีกไป. เมื่อพระโลกนายกพร้อมด้วยพระสงฆ์ล่วงทัศนวิสัยของเราแล้ว มีจิตยินดีและร่าเริง เราจึงลุกขึ้นจากอาสนะ ในบัดนั้น.
               ครั้งนั้น เราสบายใจด้วยความสุข บันเทิงใจด้วยความปราโมทย์ ท่วมท้นด้วยปีติ นั่งขัดสมาธิอยู่. ทีนั้น เรานั่งขัดสมาธิแล้วคิดได้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ชำนาญในฌาน ถึงความเต็มเปี่ยมในอภิญญาแล้วในโลกตั้งพัน ฤๅษีที่เสมอกับเราไม่มี เราไม่มีใครเสมอในฤทธิธรรม จึงได้ความสุขเช่นนี้ ในการนั่งขัดสมาธิของเรา เทวดาและมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในหมื่นจักรวาล ต่างเปล่งเสียงบรรลือลั่นว่า ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน นิมิตใดจะปรากฏในการนั่งขัดสมาธิของพระโพธิสัตว์ในกาลก่อนนิมิตเหล่านั้น ก็ปรากฏแล้วในวันนี้.
               ความหนาวก็เหือดหาย ความร้อนก็ระงับเหล่านี้ก็ปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. โลกธาตุหมื่นหนึ่งก็ปราศจากเสียง ไม่มีความยุ่งเหยิง เหล่านี้ก็ปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. พายุใหญ่ก็ไม่พัด แม่น้ำลำคลองก็ไม่ไหล เหล่านี้ปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ดอกไม้ทั้งหลายที่เกิดบนบกและเกิดในน้ำ ทั้งหมดต่างก็บานในทันใด ดอกไม้เหล่านั้นทั้งหมดก็ผลิตผลในวันนี้. รัตนะทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในอากาศและตั้งอยู่บนพื้นดิน ต่างก็ส่องแสงในทันใด รัตนะแม้เหล่านั้น ก็ส่องแสงในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ดนตรีทั้งของมนุษย์และเป็นทิพย์ต่างบรรเลงขึ้นในทันใด แม้ทั้งสองอย่างนั้นก็ขับขานขึ้นในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน.
               ท้องฟ้ามีดอกไม้สวยงามก็ตกลงเป็นฝนในทันใด แม้เหล่านั้นก็ปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. มหาสมุทรก็ม้วนตัวลง โลกธาตุหมื่นหนึ่งก็หวั่นไหว แม้ทั้งสองอย่างนั้นก็ดังลั่นไปในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ไฟในนรกหมื่นขุมย่อมดับในขณะนั้น แม้วันนี้ไฟนั้นก็ดับแล้ว ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าแน่. พระอาทิตย์ก็ปราศจากเมฆหมอก ดาวทั้งปวงก็มองเห็นได้ แม้เหล่านี้ก็ปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. น้ำพุ่งประทุขึ้นจากแผ่นดิน โดยที่ฝนมิได้ตกเลย วันนี้น้ำก็พุ่งประทุขึ้นในทันใดนั้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. หมู่ดาวก็สว่างไสว ดาวฤกษ์ก็สว่างไสวในท้องฟ้า พระจันทร์ประกอบด้วยวิสาขฤกษ์ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน.
               สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง อาศัยอยู่ในซอกเขา ต่างก็ออกมาจากที่อยู่ของตน วันนี้แม้สัตว์เหล่านี้ก็ทิ้งที่อยู่อาศัย ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ความไม่ยินดีไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย เขาต่างถือสันโดษ วันนี้สัตว์แม้เหล่านั้นทั้งหมดก็ถือสันโดษ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. คราวนั้น โรคทั้งหลายก็สงบระงับ และความหิวก็พินาศไป วันนี้ก็ปรากฏ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. คราวนั้น ราคะก็เบาบาง โทสะโมหะก็พินาศ กิเลสเหล่านั้นทั้งปวงก็ปราศจากไป ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. คราวนั้น ภัยก็ไม่มี แม้วันนี้ข้อนั้นก็ปรากฏ พวกเรารู้ได้ด้วยนิมิตนั้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ธุลีไม่ฟุ้งขึ้นเบื้องบน แม้วันนี้ข้อนั้นก็ปรากฏ พวกเรารู้ได้ด้วยนิมิตนั้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. กลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาก็ถอยห่างไป มีแต่กลิ่นทิพย์ฟุ้งไปทั่ว วันนี้แม้กลิ่นก็ฟุ้งอยู่ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน.
               เหล่าเทวดาทั้งสิ้นเว้นอรูปพรหมก็ปรากฏ วันนี้เทวดาแม้เหล่านั้นทั้งหมดก็มองเห็นได้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ขึ้นชื่อว่านรกมีเพียงใด ทั้งหมดนั้นก็เห็นได้ในทันใด แม้วันนี้ก็ปรากฏทั้งหมด ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. คราวนั้นฝาผนัง บานประตู แผ่นหิน ไม่เป็นเครื่องกีดขวางได้ แม้สิ่งเหล่านั้น วันนี้ก็กลายเป็นที่ว่างหมด ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. การจุติ การอุบัติ ไม่มีในขณะนั้น วันนี้นิมิตเหล่านั้นก็ปรากฏ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ท่านจงประคองความเพียรให้มั่น อย่าได้ถอยกลับ จงก้าวหน้าไป แม้พวกเราก็รู้ข้อนั้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
ดังนี้.
               พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระดำรัสของพระทศพลทีปังกร และถ้อยคำของเทวดาในหมื่นจักรวาล เกิดความอุตสาหะโดยประมาณยิ่งขึ้น จึงคิดว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระดำรัสไม่ว่างเปล่า ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีเป็นอย่างอื่น. เหมือนอย่างว่า ก้อนดินที่ขว้างไปในอากาศจะต้องตก. สัตว์ที่เกิดแล้ว จะต้องตาย. เมื่ออรุณขึ้น พระอาทิตย์ก็ต้องขึ้น. ราชสีห์ที่ออกจากถ้ำที่อาศัย จะต้องบันลือสีหนาท. หญิงที่ครรภ์แก่จะต้องปลดเปลื้องภาระ [คลอด] เป็นของแน่นอน จะต้องมีเป็นแน่แท้ ฉันใด. ธรรมดาพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นของแน่นอนไม่ว่างเปล่า ฉันนั้น. เราจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่ ดังนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               เราฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าและของเทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความร่าเริง ยินดีเกิดปราโมทย์ จึงคิดขึ้นอย่างนี้ในคราวนั้นว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นพระชินเจ้า ไม่มีพระดำรัสเป็นสอง มีพระดำรัสไม่ว่างเปล่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน. ก้อนดินที่ขว้างไปในท้องฟ้า ย่อมตกบนพื้นดินแน่นอน ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแน่นอนและเที่ยงตรง แม้ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแน่นอนและเที่ยงตรง.
               เมื่อถึงเวลาราตรีสิ้น พระอาทิตย์ก็ขึ้นแน่นอน ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแน่นอนและเที่ยงตรง. ราชสีห์ที่ลุกขึ้นจากที่นอน จะต้องบันลือสีหนาทแน่นอน ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแน่นอนและเที่ยงตรง. สัตว์ผู้มีครรภ์จะต้องเปลื้องภาระ [หญิงมีครรภ์จะต้องตลอด] ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแน่นอนและเที่ยงตรง
ดังนี้.
               สุเมธดาบสนั้นกระทำการตกลงใจอย่างนี้ว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน เพื่อที่จะใคร่ครวญถึง ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า. เมื่อตรวจตราดู ธรรมธาตุทั้งสิ้นโดยลำดับว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามีอยู่ ณ ที่ไหนหนอ เบื้องสูงหรือเบื้องต่ำ ในทิศใหญ่หรือทิศน้อย ดังนี้. ได้เห็น ทานบารมีข้อที่ ๑ ที่พระโพธิสัตว์แต่เก่าก่อนทั้งหลายถือปฏิบัติเป็นประจำ จึงกล่าวสอนตนอย่างนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญทานบารมีข้อแรกให้เต็ม เหมือนอย่างว่าหม้อน้ำที่คว่ำแล้ว ย่อมคายน้ำออกไม่เหลือไม่นำกลับเข้าไปอีกฉันใด แม้ท่านเมื่อไม่เหลียวแลทรัพย์ ยศ บุตร ภริยาหรืออวัยวะใหญ่น้อย ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมดแก่ผู้ขอ ที่มาถึงกระทำมิให้มีส่วนเหลืออยู่ จักได้นั่งที่โคนต้นโพธิ์เป็นพระพุทธเจ้าได้ ดังนี้.
               ท่านได้อธิษฐานทานบารมีข้อแรก ทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               เอาเถอะเราจะเลือกเฟ้นธรรม ที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ทางโน้นและทางนี้ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำตลอดสิบทิศ ตราบเท่าถึงธรรมธาตุนี้ ครั้งนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่จึงได้เห็นทานบารมี ที่เป็นทางใหญ่เป็นข้อแรก ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อน ประพฤติสืบกันมาแล้ว. ท่านจงยึดทานบารมีข้อที่ ๑ นี้ทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นทานบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ หม้อที่เต็มน้ำใครผู้ใดผู้หนึ่งคว่ำลง ก็จะคายน้ำออกจนไม่เหลือ ไม่ยอมรักษาไว้ แม้ฉันใด ท่านเห็นยาจกไม่ว่าจะต่ำทราม สูงส่งและปานกลาง จงให้ทานอย่าให้เหลือไว้ เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำลง ฉันนั้นเถิด
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญอยู่ยิ่งๆ ขึ้นด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒ ได้มีความคิดว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญศีลบารมีให้เต็มเปี่ยม เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่า เนื้อจามรีไม่เหลียวแลแม้ชีวิต รักษาหางของตนอย่างเดียว ฉันใด จำเดิมแต่นี้ แม้ท่านก็ไม่เหลียวแลแม้ชีวิต รักษาศีลอย่างเดียว จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ดังนี้. เขาได้อธิษฐานศีลบารมีข้อที่สอง ทำให้มั่นแล้ว. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้จักหามีเพียงเท่านี้ไม่ เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้อย่างอื่นที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นศีลบารมีข้อ ๒ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ. ท่านจงยึดถือศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นศีลบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ. จามรี หางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ก็จะยอมตายในที่นั้น ไม่ยอมให้ทางหลุดลุ่ย ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้งสี่ จงรักษาศีลในกาลทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาหาง ฉันนั้นเถิด
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญอยู่ยิ่งๆ ขึ้นด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ ได้มีความคิดว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีให้เต็มเปี่ยม เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อยู่ในเรือนจำ มิได้มีความรักใคร่ในเรือนจำนั้นเลย โดยที่แท้เขาย่อมรำคาญอย่างเดียว และไม่อยากจะอยู่เลย ฉันใด แม้ท่านก็จงทำภพทั้งปวง ให้เป็นเช่นกับเรือนจำ รำคาญอยากจะพ้นไปจากภพทั้งปวง มุ่งหน้าต่อการออกบวช ฉันนั้นเหมือนกัน. ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้า โดยอาการอย่างนี้ ดังนี้. เขาได้อธิษฐานเนกขัมมบารมีข้อที่สาม มั่นแล้ว.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริงพุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีอยู่เพียงเท่านี้แน่ เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้เหล่าอื่นที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำ. ท่านจงยึดเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นเนกขัมมบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ. บุรุษผู้อยู่ในเรือนจำนาน ลำบากเพราะทุกข์ มิได้เกิดความยินดีในที่นั้น ย่อมแสวงหาทางที่จะพ้นไปฝ่ายเดียว ฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ จงตั้งหน้ามุ่งต่อการออกบวช เพื่อพ้นจากภพ ฉันนั้นเถิด
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านั้นเลย. เขาได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ ได้มีความคิดว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้เว้นใครๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นเลว ชั้นปานกลางและชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตทุกคน แล้วถามปัญหา เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้เที่ยวไปบิณฑบาตมิได้เว้นตระกูลไรๆ ในบรรดาตระกูลที่แตกต่างกัน มีตระกูลชั้นต่ำเป็นต้น เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับ ย่อมได้อาหารพอยังชีพโดยพลัน ฉันใด. แม้ท่านก็เข้าไปหาบัณฑิตแล้วได้ถามอยู่ จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ฉันนั้น ดังนี้. เขาได้อธิษฐานกระทำปัญญาบารมีข้อที่ ๔ ให้มั่น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงเท่านี้แน่ เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้เหล่าอื่นที่บ่มโพธิญาณอีก. ในกาลนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ครั้งเก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำ. ท่านจงยึดปัญญาบารมีข้อที่ ๔ นี้กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นปัญญาบารมี หากท่านปรารถนาที่จะบรรลุโพธิญาณ. ภิกษุเมื่อขอเขาไม่เว้นตระกูลสูง ปานกลางและต่ำ ย่อมได้ภิกษาพอเลี้ยงชีพ โดยอาการอย่างนี้ ฉันใด ท่านเมื่อไต่ถามชนผู้รู้ ตลอดกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นปัญญาบารมี จักบรรลุสัมโพธิญาณได้
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ ได้มีความคิดว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญวิริยบารมีให้เต็มเปี่ยม เหมือนอย่างว่า ราชสีห์พระยามฤคราช เป็นสัตว์มีความเพียรมั่นในทุกอิริยาบถ ฉันใด แม้ท่านเมื่อเป็นผู้มีความเพียรนั่น มีความเพียรไม่ย่อหย่อน จักเป็นพระพุทธเจ้าได้. เขาได้อธิษฐานวิริยบารมีข้อที่ ๕ กระทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริงพุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีอยู่เพียงเท่านี้เลย เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้เหล่าอื่นที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. ครั้งนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำ. ท่านจงยึดวิริยบารมีข้อที่ ๕ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นวิริยบารมี หากท่านปรารถนาบรรลุโพธิญาณ. ราชสีห์พระยามฤคราช มีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีใจประคับประคองตลอดเวลา ฉันใด ท่านประคองความเพียรให้มั่นในภพทั้งปวง ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุโพธิญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ ได้มีความคิดว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญขันติบารมีให้เต็มเปี่ยม พึงเป็นผู้อดทนได้ทั้งในความนับถือ ทั้งในความดูหมิ่น เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินย่อมไม่กระทำความชอบใจ ไม่กระทำความแค้นใจ มีแต่อดทน อดกลั้นเท่านั้น ฉันใด แม้ท่านเมื่อ อดทนได้ในความนับถือก็ดี ในความดูหมิ่นก็ดี จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ดังนี้. เขาได้อธิษฐานขันติบารมีข้อที่ ๖ เพราะทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริงพุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีอยู่เพียงเท่านี้เลย เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้เหล่าอื่นที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. ครั้งนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำ. ท่านจงยึดขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเล ในข้อนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณ. ธรรมดาแผ่นดินย่อมทนต่อสิ่งของที่เขาทิ้งลง สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างทุกอย่าง ไม่กระทำความแค้นใจ มีแต่เอ็นดู ฉันใด แม้ท่านเป็นผู้อดทนต่อความนับถือ และความดูหมิ่นของคนทั้งปวงได้ ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุโพธิญาณได้
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นสัจบารมีข้อที่ ๗ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญสัจบารมีให้เต็มเปี่ยม อย่าได้กระทำการพูดเท็จทั้งรู้ตัวอยู่ ด้วยมุ่งทรัพย์เป็นต้น แม้เมื่อ อสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมของท่าน เหมือนอย่างว่า ธรรมดา ดาวประกายพฤกษ์ในทุกฤดู หาเว้นทางโคจรของตนไม่ จะไม่โคจรไปในทางอื่น โคจรไปเฉพาะในทางของตนเท่านั้น ฉันใด แม้ท่านไม่ละสัจจะ ไม่กระทำ การพูดเท็จเด็ดขาด จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ดังนี้. เขาได้อธิษฐานสัจบารมีข้อที่ ๗ กระทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริงพุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีอยู่เพียงเท่านี้ เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้เหล่าอื่นที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นสัจบารมีข้อที่ ๗ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำกันมา. ท่านจงยึดสัจบารมีข้อที่ ๗ นี้กระทำให้มั่นก่อน มีคำพูดไม่เป็นสอง ในข้อนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณได้. ธรรมดาว่า ดาวประกายพฤกษ์นั้นเป็นคันชั่ง (เที่ยงตรง) ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ย่อมไม่โคจรแวะเวียนไปนอกทาง ไม่ว่าในสมัยหรือในฤดู และปีใด ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อย่าเดินเฉไปจากทางในสัจจะทั้งหลาย ถึงความเป็นสัจบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณ
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปโดยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี ท่านอธิษฐานสิ่งใดไว้ พึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานนั้น เหมือนอย่างว่า ธรรมดา ภูเขาเมื่อลมทั่วทุกทิศพัดกระทบอยู่ ย่อมไม่สะเทือน ไม่หวั่นไหว ยังคงตั้งอยู่ในที่เดิมของตน ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในความตั้งใจมั่นของตน จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ดังนี้. เขาได้อธิษฐานอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ กระทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีอยู่เพียง เท่านี้แน่ เราจักเลือกเฟ้นธรรม แม้เหล่าอื่นที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำสืบกันก่อน. ท่านจงยึดอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในข้อนั้น แล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณ. ภูเขาหินไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นแล้ว ย่อมไม่สะเทือนด้วยลมกล้า ย่อมตั้งอยู่ในที่เดิมของตนเท่านั้น ฉันใด ท่านจงไม่หวั่นไหวในความตั้งใจจริง ตลอดกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณ
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อเขาได้ใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย. เขาได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า. ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญเมตตาบารมีให้เต็มเปี่ยม ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล และมิใช่ประโยชน์ เกื้อกูล พึงมีจิตเป็นอย่างเดียวกัน เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่า น้ำย่อมกระทำให้เย็นแผ่ซ่านไปเช่นเดียวกันทั้งแก่คนชั่ว ทั้งแก่คนดี ฉันใด แม้ท่านเมื่อเป็นผู้มีน้ำใจเป็นอันเดียวกัน ด้วยเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวง จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ดังนี้. เขาได้อธิษฐานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ กระทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริงพุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีอยู่เพียงเท่านี้แน่ เราจักเลือกเฟ้นธรรมเหล่าอื่น ที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. คราวนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำกันมา. ท่านจงยึดเมตตาบารมีข้อที่ ๙ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ก็จงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอด้วยเมตตา. ธรรมดา น้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดี และคนเลวเสมอกัน ชะล้างมลทิน คือธุลี ออกได้ ฉันใด แม้ท่านก็จงเจริญ เมตตาให้สม่ำเสมอ ไปในคนทั้งที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูล ฉันนั้นเถิด. ท่านถึงความเป็นเมตตาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ
ดังนี้.
               ต่อมา เมื่อเขาใคร่ครวญ แม้ยิ่งขึ้นไปอีกด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้เลย จึงได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี พึงวางใจเป็นกลาง ในสุขก็ดีในทุกข์ก็ดี เหมือนอย่างว่า ธรรมดาแผ่นดิน เมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ย่อมวางใจเป็นกลางทีเดียว ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เมื่อวางใจเป็นกลางได้ในสุขและทุกข์ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า. เขาได้อธิษฐานอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ ทำให้มั่นแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ความจริงพุทธธรรมนี้ จักไม่มีอยู่เพียงเท่านี้แน่ เราจักเลือกเฟ้นธรรมเหล่าอื่น ที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ. คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติเป็นประจำสืบกันมา. ท่านจงยืดอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านเป็นผู้มั่นคงประดุจตราชู จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ. ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉยต่อของที่ไม่สะอาด และของที่สะอาด ซึ่งเขาทิ้งลงไป เว้นขาดจากความโกรธ และความยินดีต่อสิ่งทั้งสองนั้น ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น ควรเป็นประดุจตราชู ในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
ดังนี้.
               ต่อนั้น เขาจึงคิดว่า พุทธการกธรรมที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ มีเพียงเท่านี้เท่านั้น ยกเว้นบารมี ๑๐ เสีย ธรรมเหล่าอื่นไม่มี บารมีทั้ง ๑๐ แม้เหล่านี้ แม้ในเบื้องสูง แม้ในอากาศก็ไม่มี ภายใต้แผ่นดินก็ดี ในทิศทั้งหลาย มีทิศตะวันออกเป็นต้นก็ดี ก็ไม่มี แต่มีตั้งอยู่ภายใน หทัยของเรานี้เอง ดังนี้. เขาเมื่อเห็นว่า บารมีเหล่านั้นตั้งอยู่ในหทัยแล้ว จึงอธิษฐานบารมี แม้ทั้งหมด กระทำให้มั่น พิจารณาอยู่แล้วๆ เล่าๆ พิจารณากลับไปกลับมา ยึดเอาตอนปลายทวนมาให้ถึงต้น ยึดเอาตอนต้นมาตั้งไว้ในตอนปลาย และยึดเอาตรงกลางให้จบลงตรงข้างทั้งสอง ยึดที่ที่สุดข้างทั้งสองมาให้จบลงตรงกลาง ยึดเอาบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ คือ การบริจาคสิ่งของภายนอกเป็นทานบารมี การบริจาคอวัยวะเป็นทานอุปบารมี การบริจาคชีวิตเป็นทานปรมัตบารมี ที่ตรงท่ามกลางแล้ว พิจารณาวกวนไปมา เหมือนคนหมุนเครื่องยนต์หีบน้ำมัน ไปมาและพิจารณาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เหมือนคนกวนระคน กระทำยอดภูเขาใหญ่สิเนรุให้เป็นมหาสมุทร ในห้องจักรวาล ฉะนั้น. เมื่อเขาพิจารณาบารมีทั้ง ๑๐ อยู่ ด้วยเดชแห่งธรรม แผ่นดินใหญ่นี้ที่หนาได้สองแสนโยชน์ยิ่งด้วยสี่นหุต เป็นราวกะว่า มัดต้นอ้อที่ช้างเหยียบแล้ว และเครื่องยนต์หีบอ้อยที่กำลังหีบอยู่ ร้องดังลั่น หวั่นไหว สะเทือน เลื่อนลั่นไปหมด หมุนคว้าง ไม่ต่างอะไรกับ วงล้อเครื่องปั่นหม้อ และวงล้อของเครื่องยนต์บีบน้ำมัน.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ธรรมที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณในโลกนี้เพียงนี้เท่านั้น ไม่นอกไปจากนี้ ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็ไม่มี. ท่านจงตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั้น เมื่อเราไตร่ตรองธรรมเหล่านี้ พร้อมทั้งสภาวะกิจและลักษณะอยู่ ด้วยเดชแห่งธรรม แผ่นดินพร้อมโลกธาตุหมื่นหนึ่ง สั่นสะเทือนแล้ว ปฐพีก็ไหวร้องลั่น ดั่งเครื่องยนต์หีบอ้อยที่หีบอยู่ เมทนีดลก็เลื่อนลั่น ประดุจดังวงล้อเครื่องยนต์บีบน้ำมัน ฉะนั้น
ดังนี้.
               เมื่อมหาปฐพีไหวอยู่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัมมนคร ต่างมิสามารถทรงตัวยืนอยู่ได้ ประหนึ่งว่า ศาลาหลังใหญ่ที่ถูกลมบ้าหมูโหมพัดอย่างหนัก พากันเป็นลมล้มลง ภาชนะของช่างหม้อมีหม้อน้ำเป็นต้น ที่กำลังทำอยู่ต่างกระทบกันและกัน แตกเป็นจุรณวิจุรณไป. มหาชนสะดุ้งกลัว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์ไม่ทราบ ข้อนั้นอย่างไรเลยว่า นี้นาคทำให้หมุนวน หรือว่า บรรดาภูตยักษ์และเทวดาพวกใดพวกหนึ่ง ทำให้หมุนวน. อีกประการหนึ่ง มหาชนแม้ทั้งหมดนี้ ถูกทำให้เดือดร้อน ความชั่วหรือความดีจักมีแก่โลกนี้. ขอพระองค์จงตรัสบอกเหตุนั้น แก่พวกข้าพระองค์เถิด. พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพวกเขาแล้วตรัสว่า พวกท่านอย่าได้กลัวเลย อย่าคิดอะไรเลย ภัยจากเหตุนี้ไม่มีแก่พวกท่าน. วันนี้ สุเมธบัณฑิต เราพยากรณ์ให้แล้วว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม ในอนาคต. บัดนี้ เขาไตร่ตรองบารมีทั้งหลายอยู่ เมื่อเขาไตร่ครองอยู่ตรวจตราอยู่ เพราะเดชแห่งธรรม โลกธาตุทั้งสิ้นหมื่นหนึ่ง สะเทือนและร้องลั่นไปพร้อมกันทีเดียว ดังนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               ในที่อังคาสพระพุทธเจ้า บริษัทมีประมาณเท่าใด บริษัทในที่นั้น มีประมาณเท่านั้น ต่างตัวสั่นอยู่ เป็นลมล้มลงบนแผ่นดิน หม้อน้ำหลายพันและหม้อข้าวหลายร้อยเป็นจำนวนมาก ในที่นั้นต่างกระทบกระแทกกันแตกละเอียดไปหมด. มหาชนต่างหวาดเสียว สะดุ้งกลัวภัย หัวหมุน มีใจว้าวุ่น จึงมาประชุมกัน เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทีปังกร กราบทูลว่า อะไรจักมีแก่โลก ดีหรือชั่ว หรือโลกทั้งปวงจะถูกทำให้เดือดร้อน. ขอพระองค์ผู้เป็นดวงตาของโลก จงทรงบรรเทาเหตุนั้น.
               คราวนั้น พระมหามุนีทีปังกรให้พวกเขาเข้าใจได้แล้ว ด้วยตรัสว่า พวกท่านจงวางใจเสียเถิด อย่าได้กลัวเลย ในการไหวของแผ่นดินนี้ วันนี้เราได้พยากรณ์แล้ว ถึงบุคคลใดว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า บุคคลนั้นไตร่ตรองถึง ธรรมที่พระชินเจ้าถือปฏิบัติมาแล้ว แต่เล่าก่อน. เมื่อเขาไตร่ตรองฟังธรรม อันเป็นพุทธภูมิโดยไม่เหลือ. เพราะเหตุนั้น ปฐพีนี้พร้อมหมื่นโลกธาตุ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก จึงไหวแล้ว
ดังนี้.
               มหาชนฟังพระดำรัสของพระตถาคต ยินดีและร่าเริงแล้ว พากันถือเอาดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ออกจากรัมมนคร เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ บูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ไหว้ กระทำประทักษิณ แล้วเข้าไปยังรัมมนครตามเดิม. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ไตร่ตรองบารมีทั้งสิ้น กระทำความเพียรให้มั่น อธิษฐานแล้ว ลุกจากอาสนะที่นั่ง.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               เพราะได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ใจเย็นแล้ว ในทันใดนั้น ทุกคนเข้าไปหาเรา กราบไหว้แล้วอีก. เรายึดมั่นพระพุทธคุณ กระทำใจไว้ให้มั่น นมัสการพระทีปังกร ลุกจากอาสนะ ในกาลนั้น
ดังนี้.
               ลำดับนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว บูชาพระโพธิสัตว์ผู้ลุกจากอาสนะด้วยดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ แล้วป่าวประกาศ คำสรรเสริญอันเป็นมงคลเป็นต้นว่า ข้าแต่ท่านสุเมธดาบสผู้เป็นเจ้า วันนี้ ท่านตั้งปรารถนาอย่างใหญ่ที่บาทมูลของพระทศพลทีปังกร ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จโดยไม่มีอันตราย ความกลัวหรือความหวาดเสียวอย่าได้มีแก่ท่าน โรคแม้แต่น้อยหนึ่งอย่าได้เกิดในร่างกาย. ขอท่านจงบำเพ็ญบารมีให้เต็มโดยพลัน แล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ต้นไม้ที่จะเผล็ดดอกออกผล ย่อมเผล็ดดอกและออกผลตามฤดูกาล ฉันใด แม้ท่านก็จงได้สัมผัสพระโพธิญาณอันอุดมโดยพลัน อย่าได้ล่วงเลยสมัยนั้นเลยฉันนั้นเหมือนกัน. เทวดาทั้งหลาย ครั้นป่าวประกาศอย่างนี้แล้ว ได้กลับไปยังเทวสถานของตนๆ ตามเดิม.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ผู้อันเทวดาสรรเสริญแล้ว คิดว่า เราจักบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้วในที่สุดแห่งสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้. อธิษฐานกระทำความเพียรให้มั่นแล้ว เหาะขึ้นไปยังท้องฟ้า ไปสู่ป่าหิมพานต์ทันที.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างโปรยปรายดอกไม้อันเป็นทิพย์ และอันเป็นของมนุษย์ แก่เขาผู้กำลังลุกจากอาสนะ ทั้งเทวดาและมนุษย์สองฝ่ายนั้น ต่างก็ได้รับความยินดีทั่วหน้า ความปรารถนาของท่านยิ่งใหญ่ ขอท่านจงได้สิ่งนั้นตามที่ท่านปรารถนาไว้ ขอสรรพเสนียดจัญไร จงแคล้วคลาดไป ขอโรคภัยจงพินาศไป ขออันตรายจงอย่ามีแก่ท่านเถิด ขอท่านจงได้รับสัมผัสพระโพธิญาณโดยพลัน. ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงเบิกบานด้วยพุทธญาณ เหมือนต้นไม้ที่มีดอกเมื่อถึงฤดูกาลก็เผล็ดดอกฉันนั้นเถิด.
               พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งพึงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้เต็มเปี่ยมฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้เต็มเปี่ยมฉันนั้นเถิด. พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งตรัสรู้ที่โพธิมณฑลฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงตรัสรู้ที่โพธิมณฑลของพระชินเจ้าฉันนั้น. พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งทรงประกาศพระธรรมจักรฉันใด ขอท่านจงประกาศพระธรรมจักรฉันนั้น. พระจันทร์ในวันเพ็ญผ่องแผ้วย่อมรุ่งโรจน์ฉันใด ขอท่านจงมีใจเต็มเปี่ยม รุ่งโรจน์ในหมื่นโลกธาตุฉันนั้นเถิด. พระอาทิตย์ที่พ้นจากราหูแล้ว ย่อมแผดแสงด้วยความร้อนแรงฉันใด ขอท่านจงปลดเปลื้องเรื่องโลกีย์ออก แล้วสว่างไสวอยู่ด้วยสิริฉันนั้นเถิด. แม่น้ำใดๆ ก็ตามย่อมไหลไปลงทะเลใหญ่ฉันใด ขอชาวโลกพร้อมทั้งเทวดา จงรวมลงที่สำนักของท่านฉันนั้นเถิด.
               ในกาลนั้น เขาอันเทวดาและมนุษย์ชมเชยและสรรเสริญแล้ว ยึดมั่นบารมีธรรม ๑๐. เมื่อจะบำเพ็ญบารมีธรรมเหล่านั้น เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์แล้ว.


               กถาว่าด้วยสุเมธดาบส จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1&Z=12
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :