ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 944 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 951 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 957 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา วิฆาสาทชาดก
ว่าด้วย การกินของที่เป็นเดน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ บุปผาราม ทรงปรารภภิกษุผู้มีศีลน่าเยาะเย้ย แล้วตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุสุขํ วต ชีวนฺติ ดังนี้.
               ความย่อว่า เมื่อภิกษุเหล่านั้นให้พระมหาโมคคัลลานเถระยังปราสาทให้สั่นสะเทือนแล้ว พากันสังเวชใจอยู่ ภิกษุทั้งหลายพากันนั่งกล่าวโทษที่ไม่ใช่คุณของภิกษุเหล่านั้นในโรงธรรมสภา. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ในบัดนี้? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าด้วยเรื่องชื่อนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่ในแต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุเหล่านี้ก็เป็นผู้มีศีลเป็นที่เยาะเย้ยเหมือนกัน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกะ. ในครั้งนั้น พี่น้อง ๗ คนในหมู่บ้านกาสิกคาม ตำบลใดตำบลหนึ่ง เห็นโทษในกามทั้งหลาย พากันออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ท่ามกลางป่า ไม่ทำความเพียรในโยคะ เป็นผู้มากไปทางร่างกายแข็งแรง เที่ยวเล่นกีฬานานัปการ.
               ท้าวสักกะเทวราชทรงดำริว่า เราจักให้ฤๅษีเหล่านี้สลดใจ แล้วทรงปลอมพระองค์เป็นนกแก้ว เสด็จมาถึงที่อยู่ของฤๅษีเหล่านั้น แอบอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง.
               เมื่อจะให้ฤๅษีเหล่านั้นสลดใจ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               เหล่าชนผู้กินเดนทั้งหลายพากันอยู่อย่างสบายดีจริงหนอ ทั้งในปัจจุบันก็น่าสรรเสริญ ทั้งในสัมปรายภพก็จะมีสุคติ.


               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นต่อไป
               นกแก้วกล่าวหมายถึง พวกคนที่กินอาหารที่เหลือจากผู้อื่นกินแล้ว.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ความว่า เหล่าชนแบบนี้ในปัจจุบันนี้ก็ควรสรรเสริญทีเดียว และในสัมปรายภพ คนเหล่านั้นก็จะมีสุคติ คือนกแก้วกล่าวโดยอธิบายว่า เขาเหล่านั้นจะเกิดในสวรรค์.

               ลำดับนั้น บรรดาฤๅษีเหล่านั้น ฤๅษีตนหนึ่งได้ยินคำของนกแก้วนั้นแล้ว จึงเรียกคนที่เหลือมา แล้วจึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนท่านบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อนกแก้วพูดอยู่ ท่านทั้งหลายก็ไม่สงบใจฟัง ดูก่อนท่านพี่น้องร่วมท้องทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำนี้ นกแก้วนี้กำลังสรรเสริญเราทีเดียว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาสมานสฺส ความว่า เมื่อนกแก้วพูดอยู่ด้วยถ้อยคำของมนุษย์.
               บทว่า นิสาเมถ ได้แก่ไม่ฟัง.
               บทว่า อิทํ สุณาถ ความว่า ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำนี้ของนกแก้วนั้น. เขาร้องเรียกคนเหล่านั้นว่าโสทริยา คือพี่น้องร่วมอุทร เพราะความเป็นผู้อยู่แล้วในอุทรเสมอกัน.

               ครั้งนั้น นกแก้ว เมื่อจะห้ามคนเหล่านั้นจึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ดูก่อนท่านผู้กินซากศพทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่สรรเสริญท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นผู้กินของเหลือเป็นปกติ แต่ท่านทั้งหลายไม่เป็นผู้กินเดนเป็นปกติ.


               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นต่อไป
               นกแก้วร้องเรียกคนเหล่านั้นว่า กุณปาทา ความว่า ผู้กินซากศพ.

               คนเหล่านั้นได้ยินคำนั้นแล้วทั่วทั้งหมด ได้พากันกล่าวคาถา ที่ ๔ ว่า :-
               พวกเราบวชได้ ๗ พรรษาแล้ว เป็นเหมือนนกยูงอยู่กลางป่า เลี้ยงชีพด้วยอาหารที่เป็นเดนเท่านั้น ถ้าหากจะเป็นผู้ที่ท่านผู้เจริญสรรเสริญ?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิขณฺฑิโน ความว่า ประกอบด้วยหงอน.
               บทว่า วิฆาเสเนว ความว่า พวกเราเมื่อเลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่เป็นเดนของราชสีห์และเสือโคร่งอย่างเดียวถึง ๗ ปี ตลอดกาลเท่านี้ ถ้าหากเป็นผู้ที่ท่านผู้เจริญพึงตำหนิไซร้ ก็ใครเล่าจะเป็นผู้ที่ท่านผู้เจริญควรสรรเสริญ.

               พระมหาสัตว์ เมื่อให้คนเหล่านั้นสลดใจอยู่ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-
               ของที่เหลือของราชสีห์ เสือโคร่งและสัตว์ร้ายทั้งหลายมีอยู่ ท่านทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยอาหารที่เหลือนั้นนั่นเอง พวกเราสำคัญว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้กินเดนเป็นปกติ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลานญฺจาวสิฏฺฐกํ ของที่เหลือ คือโภชนะที่เหลือของสัตว์ร้ายทั้งหลายด้วย.

               ดาบสทั้งหลายได้ฟังคำนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ถ้าหากพวกเราไม่เป็นผู้กินเดนไซร้ ถ้าอย่างนั้นท่านตำหนิใครล่ะ? ใครเป็นผู้กินเดน
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะบอกข้อความนั้นแก่ดาบสเหล่านั้น
               จึงได้กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-
               ชนเหล่าใดให้ทานแก่สมณะ พราหมณ์และวณิพกอื่นแล้ว จึงบริโภคส่วนที่เหลือ ชนเหล่านั้นเป็นผู้กินเดน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วณิพฺพิโน ได้แก่ผู้ขอสิ่งของนั้นๆ
               พระมหาสัตว์ ครั้นให้ดาบสเหล่านั้นสลดใจแล้ว จึงไปที่อยู่ของตนนั่นเอง.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกไว้ว่า
               พี่น้องชาย ๗ คน ในครั้งนั้น ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลน่าเยาะเย้ยเหล่านี้ ในบัดนี้
               ส่วนท้าวสักกะได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาวิฆาสาทชาดกที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิฆาสาทชาดก ว่าด้วย การกินของที่เป็นเดน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 944 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 951 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 957 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4212&Z=4230
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=2170
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=2170
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :