ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 931 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 937 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 944 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ปัพพชิตวิเหฐกชาดก
ว่าด้วย กราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวโลก จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทุพฺพณฺณรูปํ ดังนี้.
               เรื่องนี้จักมีแจ้งใน กัณหชาดก.
               ก็ในคราวครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน ตถาคตก็บำเพ็ญประโยชน์แก่โลกเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกะ. ครั้งนั้น วิชาธรคนหนึ่งร่ายเวทย์มนต์แล้วเข้าไปในห้องมิ่งขวัญในเวลาเที่ยงคืน ประพฤติล่วงเกินกับพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี. ฝ่ายข้าหลวงของพระนาง ได้กราบทูลแด่พระราชา. พระนางจึงเสด็จเฝ้าพระราชาเสียเองทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชายคนหนึ่งเข้ามาในห้องมิ่งขวัญ ในเวลาเที่ยงคืนข่มขืนหม่อมฉัน.
               พระราชา : ก็เธอจะสามารถทำเครื่องหมาย คือสัญญาณอะไรไว้ที่มันได้ไหม?
               พระอัครมเหสี : สามารถ พระเจ้าข้า.
               พระนางทรงให้นำถาดใส่ชาด คือชาติหิงคุมาได้ เมื่อเวลาชายคนนั้นมาในเวลากลางคืน ร่วมอภิรมย์แล้วจะไป ทรงประทับนิ้วทั้ง ๕ ไว้ที่หลัง แล้วได้กราบทูลพระราชาแต่เช้าทีเดียว.
               พระราชาตรัสสั่งบังคับคนทั้งหลายว่า สูเจ้าทั้งหลายจงไป จงพากันตรวจดูทั่วทุกทิศ แล้วจับชายคนที่มีรอยชาดอยู่บนหลัง. ฝ่ายวิชาธร เมื่อทำอนาจารในเวลากลางคืนแล้ว กลางวันก็ยืนขาเดียวนมัสการพระอาทิตย์อยู่ที่สุสาน. ราชบุรุษทั้งหลายเห็นเขาแล้วจึงพากันล้อมไว้. เขารู้ว่า กรรมของเราปรากฏแล้ว จึงร่ายเวทย์เหาะไปทางอากาศ.
               พระราชาทรงเห็นชายคนนั้นแล้ว จึงตรัสถามราชบุรุษทั้งหลายที่มาแล้วว่า เธอทั้งหลายได้เห็นไหม?
               ราชบุรุษ : ได้เห็น พระพุทธเจ้าข้า.
               พระราชา : มันชื่ออะไรล่ะ คือใคร.
               ราชบุรุษ : เป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า.
               เพราะว่าเวลากลางคืนเขาทำอนาจาร แต่เวลากลางวันเขาอยู่โดยเพศบรรพชิต. พระราชาทรงกริ้วบรรพชิตทั้งหลายว่า บรรพชิตเหล่านี้กลางวันประพฤติโดยเพศสมณะ แต่กลางคืนทำอนาจาร แล้วทรงยึดถือผิดๆ จึงทรงให้ตีกลองประกาศว่า สูเจ้าทั้งหลายจักต้องปฏิบัติตามพระราชโองการ ในที่ๆ ตนได้เห็นแล้ว เห็นแล้วว่า บรรพชิตทั้งหมดจงหนีไปจากอาณาจักรของเรา บรรพชิตทั้งหมดจึงหนีไปจากแคว้นกาสีที่มีที่ ๓๐ โยชน์ได้พากันไปยังราชธานีอื่นๆ.
               สมณะพราหมณ์ผู้ทรงธรรม แม้คนเดียวที่จะให้โอวาทแก่คนทั้งหลายทั่วแคว้นกาสีก็ไม่มี. คนทั้งหลายที่ไม่ได้รับโอวาท ได้เป็นคนหยาบคาย. คนทั้งหลายที่ปล่อยปละละเลยทานและศีลเป็นต้น ตายไปแล้วโดยมาก ก็เกิดในนรก. ขึ้นชื่อว่าจะเกิดในสวรรค์ไม่มีแล้ว.
               ท้าวสักกะเมื่อไม่ทรงเห็นเทพบุตรใหม่ จึงทรงรำลึกว่า มีเหตุอะไรหนอแล? แล้วก็ทรงทราบว่า พระเจ้าพาราณสีทรงพิโรธเพราะอาศัยวิชาธร ทรงไล่บรรพชิตออกจากแว่นแคว้น เพราะทรงเชื่อถือผิด จึงทรงดำริว่า คนอื่นนอกจากเราที่จะสามารถทำลายความเชื่อถือผิดของพระราชาพระองค์นี้ไม่มี และเราจักเป็นที่พึ่งของพระราชาและราษฎรทั้งหลาย แล้วได้เสด็จไปสำนักพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เงื้อมแห่งภูเขาชื่อว่านันทมูลกะ ทรงไหว้แล้วทูลว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จงให้พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เฒ่าองค์หนึ่งแก่กระผม กระผมจักให้ราษฎรชาวกาสีเลื่อมใส.
               ท้าวเธอได้พระสังฆเถระทีเดียว จึงท้าวเธอทรงรับเอาบาตรและจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ให้ท่านอยู่ข้างหน้า พระองค์เองอยู่ข้างหลัง ทรงแปลงเพศเป็นมาณพรูปหล่อ วางอัญชลีไว้เหนือเศียร นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเที่ยวไปทางเบื้องบนพระนครทั้งหมด ๓ เที่ยว มาถึงประตูพระราชวัง ได้ประทับยืนอยู่บนอากาศ.
               อำมาตย์ทั้งหลายได้กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ มาณพรูปงามคนหนึ่งนำเอาสมณะรูปหนึ่งมา ยืนอยู่บนอากาศตรงประตูพระราชวัง. พระราชาจึงเสด็จลุกจากราชอาสน์ ประทับยืนที่ช่องพระแกล เมื่อทรงเจรจากับด้วยท้าวสักกะนั้นว่า ดูก่อนมาณพ เธอเป็นผู้มีรูปร่างงาม แต่เหตุไฉน จึงยืนถือบาตรและจีวรของสมณะผู้มีรูปร่างขี้เหร่ พลางนมัสการอยู่ดังนี้
               ได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               เธอผู้มีรูปร่างงาม แต่ให้สมณะรูปร่างขี้เหร่อยู่ข้างหน้า ประคองอัญชลีนมัสการ สมณะรูปนั้นดีกว่าเธอหรือเสมอกันกับเธอ ขอจงบอกทั้งชื่อของตนทั้งชื่อของผู้อื่น คือสมณะ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยวณฺณี ได้แก่ รูปร่างสวยงาม.
               บทว่า เสยฺโย นุ เต โส ความว่า บรรพชิตรูปร่างขี้เหร่รูปนั้นดียิ่งกว่าเธอหรือเสมอกับเธอ.
               บทว่า ปรสฺสตฺตโน จ ความว่า พระราชาตรัสถามว่า เธอจงบอกชื่อของผู้อื่นนั้นและของตนเถิด.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะพระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ขึ้นชื่อว่าสมณะทั้งหลายย่อมเป็นผู้ควรเคารพ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เพื่อเรียกชื่อของท่าน แต่ข้าพเจ้าจักบอกชื่อข้าพเจ้าแก่ท่าน
               แล้วตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ข้าแต่มหาราช ทวยเทพอุปัตติเทพจะไม่เอ่ยชื่อและโคตรของเทพทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติตรงคือวิสุทธิเทพ แต่ข้าพเจ้าจะบอกชื่อของข้าพเจ้าแก่ท่าน ข้าพเจ้าคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมทวยเทพชาวไตรทศ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมคฺคตานุชฺชุคตาน เทวา ความว่า อุปปัตติเทพทั้งหลายจะไม่แตะต้องชื่อและโคตรของพระมหาขีณาสพทั้งหลาย ผู้ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันแล้ว เพราะพิจารณาสังขารทั้งมวลด้วยอำนาจแห่งกิจตามความเป็นจริงแล้วบรรลุอรหัตผลที่เป็นผลเลิศ และผู้ชื่อว่าดำเนินไปตรงแล้วเพราะดำเนินไปสู่พระนิพพานด้วยมรรคมีองค์ ๘ ที่ตรง ผู้เป็นวิสุทธิเทพยอดเยี่ยมกว่าอุปปัตติเทพทั้งหลาย.
               บทว่า อหญฺ จ เต นามเธยฺยํ ความว่า ก็แต่ว่าข้าพเจ้าจักบอกชื่อของตนแก่ท่าน.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การนมัสการภิกษุ ด้วยคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ผู้ใดเห็นภิกษุผู้เข้าถึงจรณะ ให้ท่านผู้อยู่ข้างหน้า ประคองอัญชลีนมัสการ ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ขอถามข้อความนี้กะพระองค์ ผู้นั้นจุติจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้รับความสุขอะไร?


               ท้าวสักกะตรัสตอบด้วยคาถาที่ ๔ ว่า :-
               ผู้ใดเห็นภิกษุผู้เข้าถึงจรณะ ให้ท่านอยู่ข้างหน้า แม้ประคองอัญชลีนมัสการอยู่ ผู้นั้นจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน และจะไปสวรรค์ เพราะร่างกายแตกดับไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุ ได้แก่ บุคคลผู้บริสุทธิ์เพราะทำลายกิเลสได้แล้ว.
               บทว่า จรณูปปนฺนํ ความว่า ผู้เข้าถึงด้วยศีลและจรณะ.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ความว่า ไม่ใช่ว่า จุติจากโลกนี้อย่างเดียวเท่านั้นจึงจะไปสวรรค์ ถึงในอัตภาพนี้ เขาก็ได้รับการสรรเสริญ คือประสบความสุขจากการสรรเสริญ.

               พระราชาทรงสดับเทวคาถาเรื่องของท้าวสักกะแล้ว ทำลายการเชื่อถือผิดได้
               พอพระราชหฤทัยได้ตรัสคาถาที่ ๕ ว่า :-
               วันนี้บุญได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ ที่ข้าพระองค์ได้พบเห็นพระผู้เป็นเจ้า วาสวะ ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพระองค์เห็นพระภิกษุ และพระองค์แล้ว จะทำบุญหาน้อยไม่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺขี คือ บุญ ได้แก่มิ่งขวัญ. มีคำอธิบายไว้ว่า วันนี้ปัญญาที่รู้วิบากของกุศลและอกุศล เกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์ผู้ฟังพระดำรัสของพระองค์อยู่นั่นแหละ.
               บทว่า ยํ เป็น เพียงนิบาต. บทว่า ภูตปติมทฺทสํ ความว่า ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้เป็นเจ้า.

               ท้าวสักกะทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงสดุดีบัณฑิต จึงตรัสคาถาที่ ๖ ว่า :-
               ควรคบหาผู้มีปัญญา เป็นพหูสต คิดถึงเหตุการณ์มากมายโดยแน่แท้แล ดูก่อนพระราชา พระองค์เห็นภิกษุและหม่อมฉันแล้ว จงทรงทำบุญหาน้อยไม่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐานจินฺติตา ความว่า ผู้สามารถคิดถึงเหตุการณ์ได้มากมาย.

               พระราชาทรงสดับเทวดำรัสนั้นแล้ว จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า :-
               ผู้ไม่มักโกรธ มีจิตเลื่อมใสเนืองนิตย์ เป็นผู้ควรแก่การขอของแขกทุกคน ข้าแต่จอมเทพ ข้าพระองค์สดับสุภาษิตแล้ว จักทำลายมานะ กราบไหว้ท่านผู้นั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพาติถียาจโยโค ความว่า บรรดาแขกทั้งหลายคืออาคันตุกะทั้งหลายที่มาแล้วทั้งหมด คนเหล่านั้นขอสิ่งใดๆ เขาก็เป็นผู้เหมาะคือสมควรแก่สิ่งนั้นๆ. อธิบายว่า ให้อยู่ทุกสิ่งที่ชนเหล่านั้นขอแล้ว ขอแล้ว. บทว่า สุตฺวาน เทวินฺท สุภาสิตานิ ความว่า พระราชาทูลว่า ข้าพระองค์ฟังสุภาษิตของพระองค์แล้ว จักเป็นคนแบบนี้.

               ก็แหละ พระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้ก็เสด็จลงจากปราสาท ทรงไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วได้ประทับยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงนั่งคู้บัลลังก์ที่อากาศ แล้วทรงโอวาทพระราชาว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร วิชาธรนั้นไม่ใช่สมณะ ต่อแต่นี้ไปขอพระองค์จงทรงทราบไว้ว่า โลกไม่ว่างเปล่า ยังมีสมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีลอยู่ แล้วทรงอวยทาน ทรงศีล ทรงอุโบสถกรรมเถิด.
               ฝ่ายท้าวสักกะประทับยืนอยู่ที่อากาศด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ ประทานโอวาทแก่ทวยนครว่า ต่อแต่นี้ไป สูเจ้าทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด แล้วทรงให้ตีกลองป่าวประกาศว่า
               สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้หนีไปแล้ว จงกลับมา.

               จึงท่านทั้ง ๒ คือท้าวสักกะและพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เสด็จไปยังที่ของตน.
               พระราชาทรงตั้งอยู่ในเทวโอวาทของท้าวสักกะนั้นแล้วได้ทรงทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า
               พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ได้ปรินิพพานแล้ว
               พระราชาได้แก่ พระอานนท์
               ส่วนท้าวสักกะได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาบัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปัพพชิตวิเหฐกชาดก ว่าด้วย กราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 931 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 937 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 944 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4168&Z=4193
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=1988
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=1988
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :