ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 798 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 803 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 808 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ทีฆีติโกสลชาดก
ว่าด้วย เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร

               พระศาสดาทรงปรารภภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้กระทำการทะเลาะทุ่มเถียงกัน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอวํภูตสฺส เต ราช ดังนี้.
               ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นโอรสของเรา ชื่อว่าบุตรผู้เกิดจากปาก อันบุตรทั้งหลายไม่ควรทำลายโอวาทที่บิดาให้ไว้ ก็เธอทั้งหลายไม่กระทำตามโอวาท โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้โจรผู้ฆ่ามารดาบิดาของตนแล้วยึดครองราชสมบัติ ตกอยู่ในเงื้อมมือในป่า ก็ยังไม่ฆ่าด้วยคิดว่า จักไม่ทำลายโอวาทที่มารดาบิดาให้ไว้ ดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ก็ในชาดกนี้ เรื่องทั้งสองคือเรื่องปัจจุบันและเรื่องในอดีต จักมีแจ้งโดยพิสดารใน โกสัมพีขันธกะ.
               ก็ทีฆาวุกุมารนั้นจับพระจุฬาพระเจ้าพาราณสีผู้บรรทมหลับอยู่บนตักของตนในป่า เงื้อดาบขึ้นด้วยหมายใจว่า บัดนี้ เราจักตัดโจรผู้ฆ่ามารดาบิดาของเราให้เป็น ๑๔ ท่อน ขณะนั้นระลึกถึงโอวาทที่มารดาบิดาให้ไว้ จึงคิดว่า เราแม้จะสละชีวิตก็จักไม่ทำลายโอวาทของท่าน จักคุกคามพระเจ้าพาราณสีนั้นอย่างเดียว
               จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ข้าแต่พระราชา เมื่อพระองค์ตกอยู่ในอำนาจของข้าพระองค์อย่างนี้แล้ว เหตุอันใดอันหนึ่งที่จะทำให้พระองค์พ้นจากทุกข์ได้ มีอยู่หรือ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วเส มมํ ได้แก่ ผู้มาสู่อำนาจของข้าพระองค์. บทว่า ปริยาโย ได้แก่ เหตุ.

               ลำดับนั้น พระราชาตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-
               พ่อเอ๋ย เมื่อฉันตกอยู่ในอำนาจของท่านอย่างนี้แล้ว เหตุอันใดอันหนึ่งที่จะทำให้ฉันพ้นทุกข์ได้ ไม่มีเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โน เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า เหตุอะไรๆ ที่จะทำให้ฉันพ้นจากทุกข์นั้น ย่อมไม่มี.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
               ข้าแต่พระราชา เว้นสุจริตและวาจาที่เป็นสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้องกันได้ในเวลาจะตาย ไม่มีเลย ทรัพย์นอกนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ.
               ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา คนนี้ได้ลักของๆ เรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
               ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา คนนี้ได้ลักของๆ เรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบ.
               ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับ ด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาญฺญํ สุจริตํ แก้เป็น นาญฺญํ สุจริตา. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้แหละ. อธิบายว่า เว้นสุจริตเสีย เราไม่เห็นอย่างอื่น. ก็ในคาถานี้ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า สุจริตบ้าง สุภาษิตบ้าง ก็หมายเอาโอวาทที่มารดาบิดาให้ไว้เท่านั้น.
               บทว่า เอวเมว ได้แก่ ไม่มีประโยชน์เลย. ท่านกล่าวอธิบายนี้ไว้ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เว้นจากสุจริตและวาจาสุภาษิต กล่าวคือการกล่าวสอนและการพร่ำสอน อย่างอื่นชื่อว่าสามารถเพื่อต่อต้านป้องกันในเวลาจะตายย่อมไม่มี ทรัพย์นอกนี้ก็เหมือนกัน คือไม่มีประโยชน์เลย ก็บัดนี้ พระองค์จะให้ทรัพย์แม้ตั้งแสนโกฏิแก่ข้าพระองค์ ก็จะไม่ได้ชีวิต เพราะฉะนั้น ข้อนี้พึงทราบว่า สุจริตและคำสุภาษิตเท่านั้น ยิ่งกว่าทรัพย์.

               แม้คาถาที่เหลือ ก็มีเนื้อความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               ข้าแต่มหาราชเจ้า คนเหล่าใดเข้าไปผูกเวร คือตั้งเวรไว้ในหทัยเหมือนผูกไว้อย่างนี้ว่า ผู้นี้ด่าเรา ผู้นี้ประหารเรา ผู้นี้ได้ชนะเรา ผู้นี้ได้ลักของเรา เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ.
               ส่วนคนเหล่าใดไม่เข้าไปผูก คือไม่ตั้งเวรนั้นไว้ในหทัย เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ เพราะในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่จะระงับด้วยความไม่มีเวร ธรรมนั้นเป็นของเก่า อธิบายว่า ธรรมเก่าก่อน คือสภาวะที่เป็นไปตลอดกาลนาน.

               ก็แหละ พระโพธิสัตว์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ประทุษร้ายพระองค์ แต่พระองค์จงฆ่าข้าพระองค์เสียเถิด แล้ววางดาบในพระหัตถ์ของพระราชานั้น.
               ฝ่ายพระราชาก็ทรงกระทำการสบถว่า เราจักไม่ประทุษร้ายท่าน แล้วเสด็จไปพระนครพร้อมกับพระโพธิสัตว์นั้น ทรงแสดงพระโพธิสัตว์นั้นแก่อำมาตย์ทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูก่อนพวกท่านทั้งหลาย ผู้นี้ คือทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าโกศล แม้ผู้นี้ก็ได้ให้ชีวิตเรา เราก็ไม่ได้ทำอะไรกะผู้นี้
               ครั้นตรัสแล้ว ได้ประทานธิดาของพระองค์แล้วให้ ดำรงอยู่ในราชสมบัติอันเป็นของพระบิดา. ตั้งแต่นั้นมา พระราชาทั้งสองพระองค์ทรงสมัครสมาน บันเทิงพระทัยครองราชสมบัติ.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               บิดามารดาในครั้งนั้น ได้มาเป็น ตระกูลมหาราช
               ส่วนทีฆาวุกุมารได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาทีฆีติโกสลชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆีติโกสลชาดก ว่าด้วย เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 798 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 803 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 808 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3723&Z=3738
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=10276
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=10276
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :