ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 662 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 666 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 670 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา วานรชาดก
ว่าด้วย ผู้รู้เท่าถึงเหตุการณ์เอาตัวรอดได้

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าพระองค์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสกฺขึ วต อตฺตานํ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารไว้แล้วทีเดียว.
               ส่วนเรื่องในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกระบี่ ในหิมวันตประเทศ เจริญวัยแล้วอยู่ ณ ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา.
               ครั้งนั้น นางจระเข้ตัวหนึ่งในแม่น้ำคงคา เกิดแพ้ท้อง อยากกินเนื้อหัวใจของพระโพธิสัตว์ จึงบอกแก่จระเข้สามี. จระเข้สามีนั้นคิดว่า เราจักให้กระบี่นั้นดำลงในน้ำแล้วฆ่าเสีย ให้เนื้อหัวใจแก่นางจระเข้ผู้ภรรยา จึงกล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า มาเถิดเพื่อน พวกเราจะไปกินผลมะม่วงที่ระหว่างเกาะด้วยกัน. พระมหาสัตว์กล่าวว่า เราจักไปได้อย่างไร. จระเข้กล่าวว่า เราจักให้ท่านนั่งบนหลังเรานำไป. พระมหาสัตว์นั้นไม่รู้ความคิดของจระเข้นั้น จึงโดดไปนั่งบนหลัง. จระเข้ไปได้หน่อยหนึ่ง จึงเริ่มจะดำน้ำ.
               ลำดับนั้น วานรจึงกล่าวกะจระเข้นั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจะให้เราดำลงในน้ำทำไม. จระเข้กล่าวว่าเราจักฆ่าท่านแล้วให้เนื้อหัวใจแก่ภรรยาของเรา. วานรกล่าวว่า ช้าก่อน ท่านเข้าใจว่าเนื้อหัวใจของเราอยู่ที่อกหรือ. จระเข้กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เนื้อหัวใจของท่านตั้งอยู่ที่ไหน. วานรกล่าวว่า ท่านไม่เห็นเนื้อหัวใจนั่น ซึ่งห้อยอยู่ที่ต้นมะเดื่อหรือ. จระเข้กล่าวว่า เห็นแต่ท่านจักให้เราหรือ. วานรกล่าวว่า เออจักให้. เพราะความโง่เขลา จระเข้จึงพาวานรนั้นไปยังโคนต้นมะเดื่อที่ริมแม่น้ำ
               พระโพธิสัตว์จึงโดดจากหลังของจระเข้นั้นไปนั่งบนต้นมะเดื่อ แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า:-

               ดูก่อนจระเข้เราสามารถยกตนขึ้นจากน้ำสู่บกได้ บัดนี้ เราจักไม่ตกอยู่ในอำนาจของท่านอีกต่อไป.

               เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้าและผลขนุนทั้งหลาย ที่จะต้องข้ามแม่น้ำไปบริโภค ผลมะเดื่อของเราดีกว่า.

               ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุการณ์อันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นจะต้องตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และต้องเดือดร้อนในภายหลัง.

               ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นย่อมพ้นจากวงล้อมของศัตรู และไม่ต้องเดือดร้อนภายหลัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสกฺขึ วต ความว่า ได้เป็นผู้สามารถหนอ. บทว่า อุฏฺฐาตุ ได้แก่ เพื่อยกขึ้น. วานรเรียกจระเข้ว่า วาริชะ. บทว่า ยานิ ปารํ สมุทฺทสฺส ความว่า วานรเมื่อจะเรียกแม่น้ำคงคาโดยชื่อว่าสมุทร จึงกล่าวว่า พอกันทีด้วยผลไม้ที่เราจะต้องข้ามฝั่งแม่น้ำไปกิน. บทว่า ปจฺฉา จ อนุตปฺปติ ความว่า บุคคลผู้ไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ย่อมไปสู่อำนาจของศัตรู และย่อมต้องเดือดร้อนภายหลัง.

               วานรนั้นกล่าวเหตุอันเป็นเครื่องให้สำเร็จกิจฝ่ายโลกิยะ ด้วยคาถาทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ไปสู่ชัฏป่าทีเดียว.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               จระเข้ในครั้งนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
               ส่วนวานรในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาวานรชาดกที่ ๒

.. อรรถกถา วานรชาดก ว่าด้วย ผู้รู้เท่าถึงเหตุการณ์เอาตัวรอดได้ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 662 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 666 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 670 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3202&Z=3212
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=8165
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=8165
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :