ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 451 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 454 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 457 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มณิสูกรชาดก
ว่าด้วย ของดีใครทำลายไม่ได้

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภการสมาคมแห่งนางสุนทรี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทริยา สตฺต วสฺสานิ ดังนี้.
               ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเป็นปกติ. แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงและเป็นผู้ได้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารเป็นปกติ.
               ฝ่ายพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ใครๆ ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร.
               ได้ยินว่า เมื่อลาภสักการะประดุจห้วงน้ำใหญ่แห่งแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ พวกอัญญเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะเป็นผู้อับรัศมี ประดุจหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จึงมาร่วมประชุมหารือกันว่า จำเดิมแต่พระสมณโคดมเกิดขึ้นแล้ว พวกเราเป็นผู้เสื่อมลาภสักการะ ใครๆ ย่อมไม่รู้แม้ความที่พวกเรามีอยู่ พระสมณโคดมถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ พวกเราจะร่วมกับใครดีหนอ จึงจะยังโทษมิใช่คุณให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ทำลาภสักการะของพระสมณโคดมนั้นให้อันตรธานไป.
               ลำดับนั้น พวกเดียรถีย์เหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พวกเราร่วมกับนางสุนทรีจักสามารถทำได้. วันหนึ่ง พวกเดียรถีย์เหล่านั้นไม่พูดจากะนางสุนทรีผู้เข้าไปยังอารามของเดียรถีย์ ไหว้แล้วยืนอยู่.
               นางสุนทรีนั้นถึงจะพูดจาบ่อยๆ ก็ไม่ได้คำตอบ จึงถามว่า เออก็พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายถูกใครๆ เบียดเบียนหรือ?
               พวกอัญญเดียรถีย์กล่าวว่า น้องหญิง เธอไม่เห็นหรือ พระสมณโคดมเที่ยวเบียดเบียนพวกเรา กระทำให้เสื่อมลาภสักการะ.
               นางสุนทรีนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ในเรื่องนี้ ดิฉันควรจะทำอย่างไร.
               อัญญเดียรถีย์ทั้งหลายกล่าวว่า น้องหญิง เจ้าแลเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยความงาม จงยกโทษมิใช่ยศขึ้นแก่พระสมณโคดม ให้มหาชนเชื่อถือคำของเจ้า แล้วกระทำให้เสื่อมลาภสักการะ.
               นางสุนทรีนั้นรับคำว่าได้ จึงไหว้แล้วหลีกไป.
               จำเดิมแต่นั้นมา นางก็ถือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ กระบูรและผลเผ็ดร้อนเป็นต้น แล้วบ่ายหน้าตรงไปยังพระเชตวันวิหารในตอนเย็น เวลาที่มหาชนฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเข้าเมือง และถูกถามว่า เธอจะไปไหน? ก็กล่าวว่าไปสำนักพระสมณโคดม ด้วยว่าเราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม แล้วก็ไปอยู่เสียในอารามของอัญญเดียรถีย์แห่งหนึ่ง.
               พอเช้าตรู่ ก็ย่างลงหนทางสายที่จะไปพระเชตวัน บ่ายหน้ามุ่งไปพระนคร และถูกถามว่า สุนทรี เธอไปไหนมาหรือ? จึงกล่าวว่า เราอยู่ในพระคันธกุฎีหลังเดียวกันกับพระสมณโคดม ให้พระสมณโคดมรื่นรมย์ยินดีด้วยกิเลสแล้วจึงมา.
               ครั้นล่วงไป ๒-๓ วัน พวกอัญญเดียรถีย์ให้กหาปณะแก่พวกนักเลง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงไปฆ่านางสุนทรี แล้วหมกไว้ในระหว่างกองหยากเยื่อดอกไม้ใกล้ๆ กับพระคันธกุฎีของพระสมณโคดมแล้วจงมา. พวกนักเลงเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น พวกอัญญเดียรถีย์พากันทำความโกลาหลว่า เราทั้งหลายไม่เห็นนางสุนทรีจึงกราบทูลพระราชา เป็นผู้อันพระราชาตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายมีความรังเกียจแหนงใจที่ไหน จึงกราบทูลว่า ทุกวันนี้ นางสุนทรีอยู่ในพระเชตวัน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทราบความเป็นไปของนางในพระเชตวันนั้น พระราชาทรงอนุญาตว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงไปค้นหานาง จึงพาคนผู้เป็นอุปัฏฐากของตนไปยังพระเชตวัน ค้นหาอยู่เห็นนางสุนทรีอยู่ในระหว่างกองขยะดอกไม้ จึงให้ยกศพนางสุนทรีขึ้นวางบนเตียงน้อยแล้วเข้าไปยังพระนคร กราบทูลแก่พระราชาว่า พวกสาวกของพระสมณโคดมคิดว่า จักปกปิดกรรมชั่วที่พระศาสดาของตนกระทำ จึงฆ่านางสุนทรีแล้วหมกไว้ในระหว่างกองขยะดอกไม้.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงไปเที่ยวประกาศให้ทั่วพระนคร เดียรถีย์เหล่านั้นจึงเที่ยวประกาศในถนนทั่วพระนคร โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านทั้งหลายจงดูกรรมของพวกสมณะศากยบุตร ดังนี้แล้วก็กลับมายังประตูพระราชนิเวศน์อีก. พระราชารับสั่งให้ยกร่างของนางสุนทรีขึ้นสู่เตียงน้อยในป่าช้าผีดิบแล้วให้อารักขาไว้.
               ชาวเมืองสาวัตถี ยกเว้นพระอริยสาวก ที่เหลือโดยมาก กล่าวคำเป็นต้นว่า ท่านทั้งหลาย จงดูการกระทำของพวกสมณะศากยบุตรดังนี้ แล้วเที่ยวด่าภิกษุทั้งหลายทั้งภายในเมืองและนอกเมือง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระตถาคตเจ้า.
               พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น แม้เธอทั้งหลายจงโจทย์ท้วงตอบพวกมนุษย์เหล่านั้นอย่างนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
               บุคคลผู้พูดคำไม่จริง ย่อมเข้าถึงนรก หรือแม้บุคคลใดทำแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำ ชนแม้ทั้งสองนั้น เป็นมนุษย์มีกรรมเลวทราม ละไปในโลกอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกัน.


               พระราชาทรงส่งพวกราชบุรุษไปโดยรับสั่งว่า พวกท่านจงรู้ว่า นางสุนทรีถูกคนอื่นฆ่า. ลำดับนั้น พวกนักเลงแม้เหล่านั้นดื่มสุราด้วยกหาปณะเหล่านั้น กระทำการทะเลาะกันและกันอยู่ ในนักเลงเหล่านั้น นักเลงคนหนึ่งพูดอย่างนี้ว่า ท่านฆ่านางสุนทรีด้วยการประหารคราวเดียวเท่านั้น แล้วหมกไว้ในระหว่างกองขยะดอกไม้ จึงได้ดื่มสุราด้วยกหาปณะที่ได้จากการฆ่านางสุนทรีนั้น. พวกราชบุรุษจึงจับนักเลงเหล่านั้นแสดงแก่พระราชา.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามนักเลงเหล่านั้นว่า พวกเจ้าฆ่าหรือ? พวกนักเลงกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ. พระราชาตรัสถามว่า ใครใช้ให้ฆ่า? นักเลงทั้งหลายกราบทูลว่า ขอเดชะ พวกอัญญเดียรถีย์ใช้ให้ฆ่าพระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งให้เรียกพวกอัญญเดียรถีย์มาแล้วตรัสว่า พวกเจ้าจงให้หามนางสุนทรีไป จงเที่ยวไปตลอดทั่วพระนคร กล่าวอย่างนี้ว่า นางสุนทรีนี้พวกเราประสงค์จะยกโทษพระสมณโคดม จึงให้ฆ่าเสีย โทษแห่งสาวกทั้งหลายของพระสมณโคดมไม่มีเลย เป็นโทษของเราทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้นตามรับสั่ง. ในกาลนั้น มหาชนผู้เขลาเชื่อ. ฝ่ายพวกอัญญเดียรถีย์ถูกลงอาญาในฐานฆ่าคน.
               จำเดิมแต่นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีสักการะมากยิ่งขึ้น.
               ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า
               ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พวกเดียรถีย์คิดว่าจักยังความมัวหมองให้เกิดแก่พระพุทธเจ้า ตนเองกลับเป็นฝ่ายมัวหมอง อนึ่ง ลาภสักการะใหญ่ยิ่งเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้า.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครๆ ไม่อาจทำความมัวหมองให้เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้า ชื่อว่าการกระทำความเศร้าหมองแก่พระพุทธเจ้า ก็เป็นเช่นกับทำความเศร้าหมองแก่แก้วมณีชาติ ในกาลก่อน สุกรทั้งหลายแม้พยายามอยู่ด้วยหวังว่า จักทำแก้วมณีชาติ คือมณีโดยกำเนิดให้เศร้าหมอง ก็ไม่ได้อาจทำให้เศร้าหมอง อันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พอเจริญวัยแล้ว เห็นโทษในกามทั้งหลายจึงออกจากเรือนข้ามทิวเขา ๓ ลูกในหิมวันตประเทศ ไปเป็นดาบสอยู่ในบรรณศาลา ได้มีถ้ำแก้วมณีอยู่ในที่ไม่ไกลบรรณศาลานั้น สุกรประมาณ ๓๐ ตัวอยู่ในถ้ำแก้วมณีนั้น มีราชสีห์ตัวหนึ่งเที่ยวไปในที่ไม่ไกลถ้ำนั้น เงาของราชสีห์นั้นย่อมปรากฎที่แก้วมณี. สุกรทั้งหลายเห็นเงาราชสีห์ ตกใจกลัวสะดุ้ง จึงได้มีเนื้อและเลือดน้อย.
               สุกรเหล่านั้นคิดกันว่า เพราะแก้วมณีนี้ใส เงานี้จึงปรากฎ พวกเราจงทำแก้วมณีนี้ให้เศร้าหมอง ไม่มีสี จึงไปยังสระแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล กลิ้งเกลือกในเปือกตมแล้วมาสีที่แก้วมณีนั้น. แก้วมณีนั้นถูกขนสุกรทั้งหลายเสียดสีอยู่กลับใสแจ๋วยิ่งขึ้น ประหนึ่งพื้นสุทธากาสอันบริสุทธิ์.
               สุกรทั้งหลายมองไม่เห็นอุบายจึงตกลงกันว่า จักถามอุบายเป็นเครื่องทำแก้วมณีนี้ให้ปราศจากสีกะพระดาบส จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ไหว้แล้วยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง
               กล่าวคาถา ๒ คาถาแรกว่า :-
               พวกข้าพเจ้าประมาณ ๓๐ ตัว อาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณี ๗ ปี ได้ปรึกษากันว่า จะช่วยกันกำจัดแสงแก้วมณีให้เศร้าหมอง.
               พวกข้าพเจ้าช่วยกันเสียดสีแก้วมณี แก้วมณีกลับมีสีสุกใสขึ้นกว่าเก่า บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านถึงเหตุนั้น ท่านย่อมสำคัญกิจในเรื่องนี้อย่างไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทริยา แปลว่า ในถ้ำแก้วมณี. บทว่า วสามเส แปลว่า ย่อมอยู่. บทว่า หญฺญาม ความว่า พวกข้าพเจ้าจักขจัด คือแม้พวกข้าพเจ้าก็จักกระทำให้หมดสี.
               บทว่า อิทญฺจิทานิ ปุจฺฉาม ความว่า บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านถึงข้อนี้ว่า เพราะเหตุไร? แก้วมณีนี้อันพวกข้าพเจ้าทำให้เศร้าหมองอยู่ ยังกลับสุกใส.
               บทว่า กึ กิจฺจํ อิธ มญฺญสิ ความว่า ในเรื่องนี้ ท่านสำคัญกิจนี้ว่าอย่างไร.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะบอกแก่สุกรเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ดูก่อนหมูทั้งหลาย แก้วไพฑูรย์นี้เป็นของบริสุทธิ์งามผ่องใส ใครๆ ไม่อาจกำจัดแสงแก้วไพฑูรย์นั้นให้เศร้าหมองได้ ท่านทั้งหลายจงพากันหลีกหนีไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกาโจ แปลว่า ไม่กระด้าง. บทว่า สุโภ แปลว่า งาม. บทว่า สิรึ แปลว่า รัศมี. บทว่า อปกฺกมถ ความว่า ใครๆ ไม่อาจทำแสงของแก้วมณีนี้ให้พินาศไปได้ ก็พวกท่านแหละจงละถ้ำแก้วมณีนี้ไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด.

               สุกรเหล่านั้นได้ฟังถ้อยคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น. พระโพธิสัตว์ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้ว ในเวลาสิ้นอายุขัย ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               พระดาบสในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถามณิสูกรชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มณิสูกรชาดก ว่าด้วย ของดีใครทำลายไม่ได้ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 451 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 454 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 457 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2405&Z=2415
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=3659
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=3659
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :