ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 364 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 367 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 370 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ชรูทปานชาดก
ว่าด้วย ขุดบ่อได้ทรัพย์กลับพินาศเพราะขุดเกิน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ชรูทปานํ ขณมานา ดังนี้
               ได้ยินว่า พ่อค้าเหล่านั้นซื้อสินค้าในเมืองสาวัตถีบรรทุกเกวียน ในเวลาจะไปเพื่อต้องการค้าขาย ได้นิมนต์พระตถาคตมาแล้ว ถวายมหาทานรับสรณะตั้งอยู่ในศีล ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายจักเดินทางไกลไปค้าขาย จำหน่ายสินค้าหมดแล้ว สำเร็จเสร็จการไปได้กลับมาโดยปลอดภัย จักถวายบังคมพระองค์อีก ครั้นกราบทูลแล้ว ก็ออกเดินทางไป.
               พ่อค้าเหล่านั้นได้พบบ่อน้ำเก่าในหนทางกันดาร จึงกล่าวกันว่า ในบ่อนี้ไม่มีน้ำดื่ม และพวกเราก็กระหายน้ำ จักขุดบ่อนั้น ว่าแล้วก็พากันขุดได้เหล็ก โลหะ และแก้วไพฑูรย์โดยลำดับ พ่อค้าเหล่านั้นเป็นผู้สันโดษด้วยทรัพย์นั้นเท่านั้น เอารัตนะเหล่านั้นบรรทุกจนเต็มเกวียน กลับมาพระนครสาวัตถีโดยปลอดภัย. พ่อค้าเหล่านั้นเก็บทรัพย์ที่ได้มาแล้วคิดกันว่า พวกเราเดินทางสำเร็จเรียบร้อยแล้วจักถวายทาน จึงนิมนต์พระตถาคต ถวายทาน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลถึงเหตุที่ตนได้ทรัพย์แด่พระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสว่า ท่านทั้งหลายแลเป็นอุบาสก สันโดษด้วยทรัพย์นั้น จึงได้ทรัพย์และชีวิต เพราะความเป็นผู้รู้ประมาณ ส่วนพวกเก่าเป็นผู้ไม่สันโดษ ไม่รู้จักประมาณ ไม่กระทำตามคำของบัณฑิตทั้งหลาย จึงถึงความสิ้นชีวิตไป
               อันพ่อค้าเหล่านั้นอ้อนวอนอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพ่อค้าในนครพาราณสี พอเจริญวัย ก็ได้เป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน พระโพธิสัตว์นั้นซื้อสินค้าในนครพาราณสีบรรทุกเกวียน พาพวกพ่อค้าเป็นอันมากเดินไปทางกันดารนั้นเหมือนกัน ได้เห็นบ่อน้ำเหมือนกัน. ณ ที่นั้น พ่อค้าเหล่านั้นกล่าวกันว่า จักดื่มน้ำจึงขุดบ่อนั้น ได้ทรัพย์มีแก้วไพฑูรย์เป็นต้นมากมายโดยลำดับ. พ่อค้าเหล่านั้นได้รัตนะแม้มากมาย ก็ยังไม่สันโดษ คือยินดีเท่าที่ได้รัตนะนั้น พากันขุดบ่อนั้นหนักยิ่งขึ้นด้วยหมายใจว่า ในบ่อนี้จักมีสิ่งแม้อื่นที่ดีกว่ารัตนะแม้นี้.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อค้าทั้งหลายผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าความโลภนี้เป็นมูลแห่งความพินาศ พวกท่านได้ทรัพย์มากแล้ว จงสันโดษด้วยทรัพย์มีประมาณเท่านี้เถิด อย่าขุดเกินไปนัก. พ่อค้าเหล่านั้นแม้จะถูกพระโพธิสัตว์ห้ามก็ยังขืนขุดอยู่นั้นแหละ ก็บ่อน้ำนั้น นาคหวงแหนไว้. ลำดับนั้น พระยานาคผู้อยู่ภายใต้บ่อน้ำนั้น เมื่อวิมานของตนถูกทำลาย เมื่อก้อนดินและฝุ่นตกใส่ ก็โกรธใช้ลมจมูกเป่าพ่อค้าทั้งหมดให้ถึงความสิ้นชีวิตไม่มีเหลือ เว้นไว้แต่พระโพธิสัตว์ แล้วออกจากนาคพิภพให้เทียมเกวียนบรรทุกรัตนะทั้ง ๗ จนเต็ม ให้พระโพธิสัตว์นั่งในยานน้อยอันสบาย พวกนาคมาณพขับเกวียนนำพระโพธิสัตว์ไปยังนครพาราณสี เข้าไปยังเรือนเก็บทรัพย์แล้ว ก็ไปสู่นาคพิภพของตนตามเดิม.
               พระโพธิสัตว์จ่ายทรัพย์นั้น กระทำให้ชมพูทวีปทั้งสิ้น ไม่ต้องไถนา ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปเกิดในสวรรค์.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว เป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งเองได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า :-
               พ่อค้าทั้งหลายผู้มีความต้องการน้ำ พากันขุดบ่อน้ำเก่า ได้แร่เหล็ก แร่ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว แก้วมณี เงินทอง แก้วมุกดาและแก้วไพฑูรย์เป็นอันมาก
               แต่พ่อค้าเหล่านั้นไม่ได้ยินดีด้วยทรัพย์นั้น พากันขุดลึกยิ่งขึ้นๆ ในบ่อน้ำมัน มีพระยานาคมีพิษร้ายแรง มีเดช ได้ฆ่าพ่อค้าเหล่านั้นเสียด้วยเดชแห่งพิษ.
               เพราะฉะนั้น บุคคลพึงขุดบ่อน้ำเถิด แต่ไม่ควรขุดให้ลึกเกินไป เพราะบ่อที่ขุดลึกเกินไปเป็นของลามก ทรัพย์ที่พวกพ่อค้าได้แล้วด้วยการขุดก็พินาศไป เพราะการขุดลึกเกินไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยํ ได้แก่ โลหะสีดำ(เหล็ก). บทว่า โลหํ ได้แก่ โลหะสีแดง(ทองแดง). บทว่า มุตฺตา ได้แก่ แก้วมุกดาเป็นต้น. บทว่า เต จ เตน อสนฺตุฏฺฐา ความว่า ก็พ่อค้าเหล่านั้นไม่ได้ยินดีด้วยทรัพย์นั้น. บทว่า เต ตตฺถ ได้แก่ พ่อค้าเหล่านั้นในบ่อน้ำนั้น. บทว่า เตชสี ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยเดชแห่งพิษ. บทว่า เตชสา หนิ ได้แก่ ฆ่าด้วยเดชแห่งพิษ. บทว่า อติกฺขาเตน นาสิตํ ความว่า เพราะขุดลึกเกินไป ทรัพย์และชีวิตนั้น จึงพินาศไป.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               พระยานาคในกาลนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร ในบัดนี้
               ส่วนหัวหน้าพ่อค้าเกวียน คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาชรูทปานชาดกที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ชรูทปานชาดก ว่าด้วย ขุดบ่อได้ทรัพย์กลับพินาศเพราะขุดเกิน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 364 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 367 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 370 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2043&Z=2054
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=602
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=602
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :