ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 348 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 350 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 352 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กปิชาดก
ว่าด้วย เข้าใจว่าลิงเป็นฤาษี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุโกหกรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อยํ อิสี อุปสมสญฺญเม รโต ดังนี้.
               ได้ยินว่า ข้อที่ภิกษุนั้นเป็นผู้หลอกลวงได้ปรากฏในหมู่ภิกษุ.
               ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุโน้นบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นที่นำสัตว์ออกจากภพ ยังบำเพ็ญวัตรของผู้หลอกลวงอีก. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น มิใช่เป็นผู้หลอกลวงแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็เคยเป็นผู้หลอกลวงเหมือนกัน เกิดเป็นลิงได้ทำการหลอกลวงเพราะเหตุเพียงไฟเท่านั้น
               แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นกาสี ครั้นเจริญวัย ในเวลาที่บุตรเที่ยววิ่งเล่นได้ นางพราหมณีก็ถึงแก่กรรม จึงอุ้มบุตรเข้าสะเอวไปป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษี บวชบุตรเป็นดาบสกุมาร อาศัยอยู่ในบรรณศาลา.
               ครั้นฤดูฝน ฝนตกไม่ขาดสาย มีลิงตัวหนึ่งถูกความหนาวเบียดเบียน เที่ยวเดินตัวสั่นฟันกระทบกัน. พระโพธิสัตว์หาท่อนไม้ใหญ่ๆ มาก่อไฟแล้วนอนบนเตียง. ฝ่ายบุตรชายก็นั่งนวดเท้าอยู่. ลิงนั้นนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ของดาบสที่ตายไปแล้วรูปหนึ่ง ห่มหนังเสือเฉวียงบ่า ถือหาบและน้ำเต้าปลอมเป็นฤๅษี มายืนหลอกลวงอยู่ที่ประตูบรรณศาลา เพราะต้องการไฟ.
               ดาบสกุมารเห็นลิงนั้น จึงอ้อนวอนบิดาว่า ข้าแต่พ่อ มีดาบสผู้หนึ่งถูกความหนาวเบียดเบียน ยืนสั่นอยู่ พ่อเรียกดาบสนั้นเข้ามา ณ ที่นี้เถิด เขาจะได้ผิงไฟ
               ได้กล่าวคาถาแรกว่า :-
               ฤๅษีผู้นี้ยินดีแล้วในความสงบและความสำรวม ท่านถูกภัย คือความหนาวเบียดเบียน จึงมายืนอยู่ เชิญฤๅษีผู้นี้จงเข้ามายังบรรณศาลานี้เถิด จะได้บรรเทาความหนาว และความกระวนกระวายให้หมดสิ้นไป.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปสมญฺญเม รโต คือยินดีในความสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และในความสำรวมด้วยศีล.
               บทว่า ส ติฏฺฐติ คือ เขายืนอยู่.
               บทว่า สิสิรภเยน ได้แก่ เพราะกลัวความหนาวที่เกิดแต่ลมและฝน.
               บทว่า อทฺธิโต ความว่า เบียดเบียนแล้ว.
               บทว่า ปวิสตุมํ ตัดบทเป็น ปวิสตุ อิมํ คือ เชิญเข้ามายังบรรณศาลานี้.
               บทว่า เกวลํ ได้แก่ ทั้งสิ้น คือไม่มีเหลือ.

               พระโพธิสัตว์ฟังคำของบุตรจึงลุกขึ้นมองดู รู้ว่าเป็นลิง จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               นี่ไม่ใช่ฤๅษีผู้ยินดีในความสงบ และความสำรวม เป็นลิงที่เที่ยวโคจรอยู่ตามกิ่งมะเดื่อ มันเป็นสัตว์ประทุษร้าย ฉุนเฉียว และมีสันดานลามก ถ้าเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลาหลังนี้ ก็จะพึงประทุษร้ายบรรณศาลา.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทุมฺพรสาขโคจโร ได้แก่ เที่ยวอยู่ตามกิ่งมะเดื่อ.
               บทว่า โส ทูสโก โรสโก จาปิ ชมฺโม ความว่า ลิงเป็นสัตว์ชื่อว่าประทุษร้ายเพราะประทุษร้ายที่ที่มันไปแล้วๆ ชื่อว่าเป็นสัตว์ฉุนเฉียวเพราะกระทบกระทั่ง ชื่อว่าเป็นสัตว์เลวทรามเพราะความเป็นผู้ลามก.
               บทว่า สเจ วเช ความว่า หากลิงนั้นเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลานี้ ก็จะพึงประทุษร้ายบรรณศาลาทั้งหมด ด้วยการถ่ายอุจจาระปัสสาวะรด และด้วยการเผา.

               พระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงคว้าดุ้นฟืนติดไฟออกมา ขู่ให้ลิงตกใจกลัวแล้วให้หนีไป ลิงกระโดดหนีเข้าป่าไปไม่ได้มาที่นั้นอีก.
               พระโพธิสัตว์ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด สอนการบริกรรมกสิณแก่ดาบสกุมาร ดาบสกุมารทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้นแล้ว ดาบสทั้งสองนั้นมีฌานมิได้เสื่อม ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ตั้งแต่ครั้งก่อน ภิกษุนี้ก็เป็นผู้หลอกลวงเหมือนกัน แล้วทรงประกาศสัจจธรรม ทรงประชุมชาดก.
               ครั้นจบสัจจธรรม บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี.
               ลิงในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุหลอกลวงในครั้งนี้
               บุตรได้เป็น ราหุล
               ส่วนบิดา คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถากปิชาดกที่ ๑๐
               จบ สิคาลวรรคที่ ๑๐.
               -----------------------------------------------------

               รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. สัพพทาฐิชาดก ว่าด้วย ผู้มีบริวารมากเป็นใหญ่ได้
                         ๒. สุนขชาดก ว่าด้วย ผู้ฉลาดย่อมช่วยตัวเองได้
                         ๓. คุตติลชาดก ว่าด้วย ลูกศิษย์คิดล้างครู
                         ๔. วิคติจฉชาดก ว่าด้วย ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด
                         ๕. มูลปริยายชาดก ว่าด้วย กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง
                         ๖. พาโลวาทชาดก ว่าด้วย คนมีปัญญาบริโภค
                         ๗. ปาทัญชลิชาดก ว่าด้วย ปาทัญชลีราชกุมาร
                         ๘. กิงสุโกปมชาดก ว่าด้วย คนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม
                         ๙. สาลกชาดก ว่าด้วย สาลกวานร
                         ๑๐. กปิชาดก ว่าด้วย เข้าใจว่าลิงเป็นฤาษี
               -----------------------------------------------------

               รวมวรรคที่มีในทุกนิบาตนี้ คือ
                         ๑. ทัฬหวรรค
                         ๒. สันถวรรค
                         ๓. กัลยาณธรรมวรรค
                         ๔. อสทิสวรรค
                         ๕. รุหกวรรค
                         ๖. นตังทัฬหวรรค
                         ๗. พีรณัตถัมภกวรรค
                         ๘. กาสาววรรค
                         ๙. อุปาหนวรรค
                         ๑๐. สิคาลวรรค.
               จบ ทุกนิบาตชาดก.
               -----------------------------------------------------

.. อรรถกถา กปิชาดก ว่าด้วย เข้าใจว่าลิงเป็นฤาษี จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 348 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 350 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 352 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1960&Z=1985
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=7085
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=7085
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :