ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 3 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 4 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้ละความเพียรเหมือนกัน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิธ เจ หิ นํ วิราเธสิ ดังนี้.
               ก็พระศาสดาทรงเห็นภิกษุนั้นถูกภิกษุทั้งหลายนำมาโดยนัยก่อนนั่นแล จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันให้มรรคผลเห็นปานนี้ เมื่อละความเพียรเสีย จักเศร้าโศกตลอดกาลนาน เหมือนเสรีววาณิชเสื่อมจากถาดทองอันมีค่าแสนหนึ่ง ฉะนั้น.
               ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ.
               ในอดีตกาล ในกัปที่ ๕ แต่ภัทรกัปนี้ พระโพธิสัตว์ได้เป็นพ่อค้าเร่ ชื่อว่าเสรีวะ ในแคว้นเสริวรัฐ. เสรีววาณิชนั้น เมื่อไปเพื่อต้องการค้าขาย กับพ่อค้าเร่ผู้โลเลคนหนึ่ง ชื่อว่าเสรีวะ ข้ามแม่น้ำชื่อว่านีลพาหะ แล้วเข้าไปยังพระนครชื่อว่าอริฏฐปุระ แบ่งถนนในนคร (ไปคนละทาง) กันแล้ว เที่ยวขายสินค้าในถนนที่ประจวบกับตน.
               ฝ่ายวาณิชนอกนี้ ยึดเอาถนนที่ประจวบเข้ากับตนเท่านั้น. ก็ในนครนั้นได้มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่. บุตร พี่น้องและทรัพย์สินทั้งปวงได้หมดสิ้นไป. ได้มีเด็กหญิงคนหนึ่งเหลืออยู่กับยาย. ยายหลานแม้ทั้งสองนั้นกระทำการรับจ้างคนอื่น เลี้ยงชีวิต.
               ก็ในเรือน ได้มีถาดทองที่มหาเศรษฐีของยายกับหลานนั้นเคยใช้สอย ถูกเก็บไว้กับภาชนะอื่นๆ เมื่อไม่ได้ใช้สอยมานาน เขม่าก็จับ. ยายและหลานเหล่านั้นย่อมไม่รู้ แม้ความที่ถาดนั้นเป็นถาดทอง.
               สมัยนั้น วาณิชโลเลคนนั้นเที่ยวร้องขายของว่า จงถือเอาเครื่องประดับ จงถือเอาเครื่องประดับ ได้ไปถึงประตูบ้านนั้น.
               กุมาริกานั้นเห็นวาณิชนั้น จึงกล่าวกะยายว่า ยาย ขอยายจงซื้อเครื่องประดับอย่างหนึ่งให้หนู.
               ยายกล่าวว่า หนูเอ๋ย เราเป็นคนจน จักเอาอะไรไปซื้อ.
               กุมาริกากล่าวว่า พวกเรามีถาดใบนี้อยู่ และถาดใบนี้ไม่เป็นอุปการะเกื้อกูลแก่พวกเรา จงให้ถาดใบนี้ แล้วถือเอา (เครื่องประดับ).
               ยายจึงให้เรียกนายวาณิชมา แล้วให้นั่งบนอาสนะ ให้ถาดใบนั้น แล้วกล่าวว่า เจ้านาย ท่านจงถือเอาถาดนี้ แล้วให้เครื่องประดับอะไรๆ ก็ได้แก่หลานสาวของท่าน.
               นายวาณิชเอามือจับถาดนั่นแล คิดว่าจักเป็นถาดทอง จึงพลิกเอาเข็มขีดที่หลังถาด รู้ว่าเป็นทอง จึงคิดว่าเราจักไม่ให้อะไรๆ แก่คนเหล่านี้ จักนำเอาถาดนี้ไป แล้วกล่าวว่า ถาดใบนี้จะมีราคาอะไร ราคาของถาดใบนี้ แม้กึ่งมาสกก็ยังไม่ถึง จึงโยนไปที่ภาคพื้น แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.
               พระโพธิสัตว์คิดว่า คนอื่นย่อมได้เพื่อจะเข้าไปยังถนนที่นายวาณิชนั้นเข้าไป แล้วออกไป จึงเข้าไปยังถนนนั้น ร้องขายของว่า จงถือเอาเครื่องประดับ ดังนี้ ได้ไปถึงประตูบ้านนั้นนั่นแหละ.
               กุมาริกานั้นกล่าวกะยายเหมือนอย่างนั้นแหละอีก.
               ลำดับนั้น ยายได้กล่าวกะกุมาริกานั้นว่า หลานเอ๋ย นายวาณิชผู้มายังเรือนนี้ โยนถาดนั้นลงบนภาคพื้นไปแล้ว บัดนี้ เราจักให้อะไรแล้ว ถือเอาเครื่องประดับ.
               กุมาริกากล่าวว่า ยาย นายวาณิชคนนั้นพูดจาหยาบคาย ส่วนนายวาณิชคนนี้ น่ารัก พูดจาอ่อนโยน คงจะรับเอา.
               ยายกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นจงเรียกเขามา กุมาริกานั้นจึงเรียกนายวาณิชนั้นมา.
               ลำดับนั้น ยายและหลานได้ให้ถาดใบนั้นแก่พระโพธิสัตว์นั้น ผู้เข้าไปยังเรือน แล้วนั่ง.
               พระโพธิสัตว์นั้นรู้ว่า ถาดนั้นเป็นถาดทอง จึงกล่าวว่า แม่ ถาดใบนี้มีค่าตั้งแสน สินค้าอันมีค่าเท่าถาด ไม่มีในมือของเรา.
               ยายและหลานจึงกล่าวว่า เจ้านาย นายวาณิชผู้มาก่อนพูดว่า ถาดใบนี้มีค่าไม่ถึงแม้กึ่งมาสก แล้วเหวี่ยงถาดลงพื้นไป แต่ถาดใบนี้จักเกิดเป็นถาดทอง เพราะบุญของท่าน พวกเราให้ถาดใบนี้แก่ท่าน ท่านให้อะไรๆ ก็ได้แก่พวกเรา แล้วถือเอาถาดใบนี้ไปเถิด.
               ขณะนั้น พระโพธิสัตว์จึงให้กหาปณะ ๕๐๐ ซึ่งมีอยู่ในมือ และสินค้าซึ่งมีราคา ๕๐๐ กหาปณะทั้งหมด แล้วขอเอาไว้เพียงเท่านี้ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ตาชั่งนี้กับถุง และกหาปณะ ๘ กหาปณะแก่ข้าพเจ้า แล้วถือเอาถาดนั้นหลีกไป.
               พระโพธิสัตว์นั้นรีบไปยังฝั่งแม่นํ้า ให้นายเรือ ๘ กหาปณะ แล้วขึ้นเรือไป. ฝ่ายนายวาณิชพาลหวนกลับไปเรือนนั้นอีก แล้วกล่าวว่า ท่านจงนำถาดใบนั้นมา เราจักให้อะไรๆ บางอย่างแก่ท่าน. หญิงนั้นบริภาษนายวาณิชพาลคนนั้น แล้วกล่าวว่า ท่านได้กระทำถาดทอง อันมีค่าตั้งแสนของพวกเรา ให้มีค่าเพียงกึ่งมาสก แต่นายวาณิชผู้มีธรรมคนหนึ่ง เหมือนกับนายท่านนั่นแหละ ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พวกเรา แล้วถือเอาถาดทองนั้นไปแล้ว.
               นายวาณิชพาลได้ฟังดังนั้นคิดว่า เราเป็นผู้เสื่อมจากถาดทองอันมีค่าตั้งแสน. วาณิชคนนี้ทำความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแก่เราหนอ เกิดความโศกมีกำลัง ไม่อาจดำรงสติไว้ได้ จึงสลบไป (พอฟื้น) ได้โปรยกหาปณะที่อยู่ในมือ และสิ่งของไว้ที่ประตูเรือนนั่นแหละ ทิ้งผ้านุ่งผ้าห่ม ถือคันชั่งทำเป็นไม้ค้อน. หลีกไปตามรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ ไปถึงฝั่งแม่นํ้านั้น เห็นพระโพธิสัตว์กำลังไปอยู่ จึงกล่าวว่า นายเรือผู้เจริญ ท่านจงกลับเรือ. พระโพธิสัตว์ห้ามว่า อย่ากลับ.
               เมื่อนายวาณิชพาล แม้นอกนี้ เห็นพระโพธิสัตว์ไปอยู่นั่นแล เกิดความโศกมีกำลัง หทัยร้อน เลือดพุ่งออกจากปาก หทัยแตกเหมือนโคลนในบึง ฉะนั้น. วาณิชพาลนั้นผูกอาฆาตพระโพธิสัตว์ ถึงความสิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้นนั่นเอง.
               นี้เป็นการผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์ของพระเทวทัต เป็นครั้งแรก.
               พระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น ได้ไปตามยถากรรม.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วแล ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
               ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง สิ้นกาลนาน เหมือนวาณิชชื่อเสรีวะ ผู้นี้ ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ เจ นํ วิราเธสิ สทฺธมฺมสฺส นิยามกํ ความว่า หากท่านพลาด คือ ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค กล่าวคือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมอย่างนี้ ในศาสนานี้ อธิบายว่า ท่าน เมื่อละความเพียร จะไม่บรรลุคือไม่ได้.
               บทว่า จิรํ ตุวํ อนุตปฺเปสิ ความว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านเมื่อเศร้าโศก คือรํ่าไรอยู่ตลอดกาลนาน ชื่อว่าจักเดือดร้อนใจภายหลัง ในกาลทุกเมื่อ. อีกอย่างหนึ่ง ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ท่านเกิดในนรกเป็นต้น เสวยทุกข์มีประการต่างๆ ตลอดกาลนาน ชื่อว่าจักเดือดร้อนใจภายหลัง คือชื่อว่าจักลำบาก เพราะความเป็นผู้ละความเพียร คือเพราะความเป็นผู้พลาดอริยมรรค.
               ถามว่า จักเดือดร้อนภายหลัง อย่างไร?
               ตอบว่า จักเดือดร้อนภายหลัง เหมือนนายวาณิช ชื่อว่าเสรีวะ ผู้นี้.
               อธิบายว่า เหมือนนายวาณิชผู้นี้ อันมีชื่ออย่างนี้ว่า เสรีวะ. ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า เมื่อก่อน วาณิชชื่อเสรีวะได้ถาดทองมีค่าหนึ่งแสน ไม่ทำความเพียรเพื่อจะถือเอาถาดทองนั้น จึงเสื่อมจากถาดทองนั้น เดือดร้อนใจในภายหลังฉันใด แม้เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน. เมื่อไม่บรรลุอริยมรรคอันเช่นกับถาดทองที่เขาจัดเตรียมให้ในศาสนานี้ เพราะละความเพียรเสีย เป็นผู้เสื่อมรอบจากอริยมรรคนั้น จักเดือดร้อนใจภายหลัง ตลอดกาลนาน ก็ถ้าจักไม่ละความเพียรไซร้ จักได้โลกุตรธรรม แม้ทั้ง ๔ ในศาสนาของเรา เหมือนนายวาณิชผู้เป็นบัณฑิต ได้เฉพาะถาดทอง ฉะนั้น.

               พระศาสดาทรงถือเอายอดด้วยพระอรหัตทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แก่ภิกษุนี้อย่างนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะ ๔ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ละความเพียร ดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ.
               แม้พระศาสดาก็ทรงตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่อกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               วาณิชพาลในกาลนั้น ได้เป็น พระเทวทัต ในบัดนี้
               นายวาณิชผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้น ได้เป็น เราเอง ทรงให้เทศนาจบลงแล้ว.

               จบอรรถกถาเสรีวาณิชชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 3 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 4 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=19&Z=24
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=3587
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=3587
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :