ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2352 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2370 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2372 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มหากปีชาดก
ว่าด้วย ผลบาปของผู้ทำร้ายผู้มีคุณ

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการกลิ้งศิลาของพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พาราณสิยํ อหุ ราชา ดังนี้.
               ความโดยย่อว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวติเตียนพระเทวทัต เพราะใช้นายขมังธนู เพราะกลิ้งศิลา ในเวลาต่อมา พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน พระเทวทัตก็กลิ้งศิลาเพื่อฆ่าเราเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี
               ในหมู่บ้านกาสิกคาม พราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่งไถนาเสร็จแล้วปล่อยโคไป เริ่มทำการงานขุดหญ้าพรวนดินด้วยจอบ. ฝูงโคเคี้ยวกินใบไม้ที่พุ่มไม้แห่งหนึ่งพลางพากันหนีเข้าไปสู่ดงโดยลำดับ พราหมณ์นั้นคะเนว่าถึงเวลาแล้ว ก็วางจอบเหลียวหาฝูงโคไม่พบ เกิดความโทมนัส จึงเที่ยวค้นหาในดงเข้าไปจนถึงป่าหิมพานต์.
               พราหมณ์นั้นหลงทิศทางในป่าหิมพานต์ อดอาหารถึงเจ็ดวัน เดินไปพบต้นมะพลับต้นหนึ่ง จึงขึ้นไปเก็บผลรับประทาน พลัดตกลงมาจากต้นมะพลับ เลยตกลงไปในเหวดุจขุมนรกลึกตั้ง ๖๐ ศอก.
               พราหมณ์ตกอยู่ในเหวล่วงไปได้สิบวัน. คราวนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดวานรกำลังเคี้ยวกินผลาผล เหลือบเห็นบุรุษนั้นเข้าจึงผูกเชือกเข้าที่หิน ช่วยบุรุษนั้นขึ้นมาได้. เมื่อวานรโพธิสัตว์กำลังหลับ พราหมณ์ได้เอาหินมาทุ่มลงที่ศีรษะ
               พระมหาสัตว์เจ้ารู้การกระทำของเขาแล้วจึงกระโดดขึ้นไปบนกิ่งไม้ กล่าวว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านจงเดินไปตามพื้นดิน ข้าพเจ้าจักเดินบอกหนทางแก่ท่านไปทางกิ่งไม้ แล้วพาบุรุษนั้นออกจากป่าจนถึงหนทาง จึงเข้าไปสู่บรรพตตามเดิม.
               บุรุษนั้นล่วงเกินพระมหาสัตว์เจ้าแล้วเกิดโรคเรื้อน กลายเป็นมนุษย์เปรตในปัจจุบันทันตาเห็นทีเดียว. เขาถูกความทุกข์เบียดเบียนอยู่เจ็ดปี เที่ยวเร่ร่อนไปถึงมิคาชินอุทยาน เขตพระนครพาราณสี ลาดใบตองลงภายในกำแพงนอนเสวยทุกขเวทนา.
               คราวนั้น พระเจ้าพาราณสีเสด็จประพาสพระราชอุทยาน เสด็จเที่ยวไปพบเขา ณ ที่นั้น แล้วดำรัสถามว่า เจ้าเป็นใคร ทำกรรมอะไรไว้ จึงต้องรับทุกข์เช่นนี้? ฝ่ายเปรตนั้นได้กราบทูลเรื่องราวทั้งมวลโดยพิสดาร.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถาความว่า
               พระราชาแห่งชนชาวกาสีผู้ทรงยังรัฐสีมามณฑลให้เจริญ ในพระนครพาราณสี ทรงแวดล้อมไปด้วยมิตรและอำมาตย์ผู้มีความภักดีมั่นคง เสด็จไปยังมิคาชินอุทยาน.
               ณ ที่นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ ซึ่งเป็นโรคเรื้อน ขาวพราวเป็นจุดๆ ตามตัว มากไปด้วยกลากเกลื้อน เรี่ยราดด้วยเนื้อที่หลุดออกมาจากปากแผล เช่นกับดอกทองกวาวที่บาน ในเรือนร่างทุกแห่ง มีเพียงกระดูกซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น.
               ครั้นทอดพระเนตรเห็นคนที่ตกยาก ถึงความลำบากน่าสงสารยิ่งนักแล้ว ทรงหวั่นหวาดพระทัย จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นยักษ์ประเภทไหน ในจำพวกยักษ์ทั้งหลาย.
               อนึ่ง มือและเท้าของท่านขาว ศีรษะยิ่งขาวกว่านั้น ตัวของท่านก็ด่างพร้อย มากไปด้วยเกลื้อนกลาก. หลังของท่านก็เป็นปุ่มเป็นปม ดุจเถาวัลย์อันยุ่งอวัยวะของท่านบ้างก็ดำ บ้างก็หงิกงอ คล้ายเถาวัลย์มีข้อดำ ดูไม่เหมือนคนอื่นๆ.
               เท้าเปรอะเปื้อนด้วยธุลี น่าหวาดเสียว ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น หิวระหาย ร่างกายซูบซีด ท่านมาจากไหน และจะไปไหน.
               แลดูน่าเกลียด รูปร่างก็อัปลักษณ์ ผิวพรรณชั่วช้า ดูน่ากลัว แม้มารดาบังเกิดเกล้าของท่าน ก็ไม่ปรารถนาจะดูแลเจ้าเลย.
               ในชาติก่อน ท่านทำกรรมอะไรไว้ ได้เบียดเบียนผู้ที่ไม่ควรเบียดเบียนไว้อย่างไร ได้เข้าถึงทุกข์นี้ เพราะทำกรรมอันหยาบช้าอันใดไว้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาราณสฺยํ ได้แก่ ในพระนครพาราณสี.
               บทว่า มิตฺตามจฺจปริพฺยุฬฺโห ความว่า ทรงแวดล้อมไปด้วยมิตร และอำมาตย์ผู้มีความภักดีมั่นคง.
               บทว่า มิคาชินํ ได้แก่ พระอุทยานที่มีนามอย่างนี้.
               บทว่า เสตํ ความว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นอนอยู่ในใบตอง ชื่อว่าขาวเพราะเป็นโรคเรื้อนขาว พราวเป็นจุดๆ ชื่อว่าเป็นหิตเพราะเป็นหิตเปื่อยแตกเยิ้ม เสวยทุกขเวทนา.
               บทว่า วิทฺธสฺตํ โกวิลารํว ความว่า เรี่ยราดไปด้วยเนื้อที่หลุดออกจากปากแผล เช่นกับดอกทองกวาวที่บานแล้ว.
               บทว่า กีสํ ความว่า ในบางส่วนจะมีเรือนร่างเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ผอมสะพรั่งไปด้วยแถวแห่งเส้นเอ็น.
               บทว่า พฺยมฺหิโต ความว่า พระราชาทรงหวั่นเกรง คือหวาดหวั่นพระทัย.
               บทว่า ยกฺขานํ ความว่า พระราชาได้ตรัสถามว่า ในระหว่างพวกยักษ์ทั้งหลาย ท่านเป็นยักษ์ประเภทไหน.
               บทว่า วฏฺฐนาวลิสงฺกาสา ความว่า ในที่ด้านหลังของท่านเป็นปุ่มเป็นปม คล้ายเถาวัลย์ที่ยุ่ง.
               บทว่า องฺคา ความว่า อวัยวะทั้งหลายของท่านดำ หงิกงอ คล้ายเถาวัลย์ที่มีข้อดำ.
               บทว่า นาญฺญํ ความว่า เราไม่เห็นคนอื่น ๆ มีลักษณะเหมือนเช่นนี้.
               บทว่า อุคฺฆฏฺฐปาโท ได้แก่ มีเท้าเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลี.
               บทว่า อาทิตฺตรูโป ได้แก่ มีร่างกายซูบซีด.
               บทว่า ทุทฺทสี ความว่า มองดูน่าเกลียด.
               บทว่า อปฺปกาโรสิ ความว่า มีร่างกายไร้สง่าราศรี คือมีรูปร่างเลวทราม.
               บทว่า กึ กมฺมมกรา ความว่า ในชาติก่อนแต่ชาตินี้ ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้.
               บทว่า กิพฺพิสํ ได้แก่ กรรมอันหยาบช้า.

               ต่อจากนั้น พราหมณ์จึงกล่าวคาถากราบทูลว่า
               ขอเดชะ ขอเชิญพระองค์ทรงสดับ ข้าพระองค์จักกราบทูลอย่างคนที่ฉลาดทูล เพราะว่าบัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมสรรเสริญคนที่พูดจริง.
               เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวตามโคที่หายไปคนเดียว ได้หลงทางเข้าไปในป่าหิมพานต์ อันแสนจะกันดาร เงียบสงัด อันหมู่กุญชรชาติท่องเที่ยวไปมา.
               ข้าพระองค์หลงทางเข้าไปในป่าทึบ อันหมู่มฤคร้ายกาจท่องเที่ยวไปมา ต้องทนหิวระหาย เที่ยวไปในป่านั้นตลอด ๗ วัน.
               ณ ป่านั้น ข้าพระพุทธเจ้ากำลังหิวจัด ได้เห็นต้นมะพลับต้นหนึ่ง ตั้งอยู่หมิ่นเหม่ เอนไปทางปากเหว มีผลดกดื่น.
               ทีแรก ข้าพระพุทธเจ้าเก็บผลที่ลมพัดหล่นมากินก่อน เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากินผลที่หล่นมาเหล่านั้น รู้สึกพอใจ ยังไม่อิ่มจึงปีนขึ้นไปบนต้น ด้วยหวังใจว่าจะกินให้สบายบนต้นนั้น.
               ข้าพระพุทธเจ้ากินผลที่หนึ่งเสร็จแล้ว ปรารถนาจะกินผลที่สองต่อไป เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเหยียดมือคว้าเอาผลที่ต้องการ ทันใดนั้น กิ่งไม้ที่ขึ้นเหยียบอยู่นั้นก็หักขาดลง ดุจถูกตัดด้วยขวานฉะนั้น.
               ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยกิ่งไม้นั้น ตีนชี้ฟ้าหัวหกตกลงไปในห้วงเหวภูเขาอันขรุขระ ซึ่งไม่มีที่ยึดที่เหนี่ยวเลย.
               ข้าพระพุทธเจ้าหยั่งไม่ถึงเพราะน้ำลึก ต้องไปนอนไร้ความเพลิดเพลิน ไร้ที่พึ่งอยู่ในเหวนั้น ๑๐ ราตรีเต็มๆ.
               ภายหลังมีลิงตัวหนึ่งมีหางดังหางโค เที่ยวไปตามซอกเขา เที่ยวไต่ไปตามกิ่งไม้หาผลไม้กิน ได้มาถึงที่นั้น มันเห็นข้าพระพุทธเจ้าผอมเหลือง ได้กระทำความเอ็นดูกรุณาในข้าพระพุทธเจ้า.
               จึงถามว่า พ่อชื่อไร ทำไมจึงมาทนทุกข์อยู่ที่นี่อย่างนี้ เป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ขอได้โปรดแนะนำตนให้ข้าพเจ้าทราบด้วย.
               ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ประนมอัญชลีไหว้ลิงตัวนั้น แล้วกล่าวว่า เราเป็นมนุษย์ถึงแล้วซึ่งหายนะ เราไม่มีหนทางที่จะไปจากที่นี่ได้ เพราะเหตุนั้น เราจึงบอกให้ท่านทราบไว้ ขอท่านจงมีความเจริญ. อนึ่ง ขอท่านโปรดเป็นที่พำนักของข้าพเจ้าด้วย.
               ลิงตัวองอาจเที่ยวไปหาก้อนหินก้อนใหญ่ในภูเขามา แล้วผูกเชือกไว้ที่ก้อนหิน ร้องบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า มาเถิดท่าน จงขึ้นมาเกาะหลังข้าพเจ้า เอามือทั้งสองกอดคอไว้ เราจักพาท่านกระโดดขึ้นจากเหวโดยเต็มกำลัง.
               ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำของพญาพานรินทร์ตัวมีสิรินั้นแล้ว จึงขึ้นเกาะหลัง เอามือทั้งสองโอบคอไว้.
               ลำดับนั้น พญาวานรตัวมีเดชมีกำลังก็พาข้าพระพุทธเจ้ากระโดดขึ้นจากเหว โดยความยากลำบากทันที.
               ครั้นขึ้นมาได้แล้ว พญาวานรตัวองอาจได้ขอร้องข้าพระพุทธเจ้าว่า แน่ะสหาย ขอท่านจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจักงีบสักหน่อย.
               ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี และเสือดาว สัตว์เหล่านั้นพึงเบียดเบียนข้าพเจ้าซึ่งหลับไปแล้ว ท่านเห็นพวกมันจงป้องกันไว้.
               เพราะข้าพระพุทธเจ้าช่วยป้องกันให้อย่างนั้น พญาวานรจึงหลับไปสักครู่หนึ่ง คราวนั้น โดยที่ข้าพระพุทธเจ้าขาดความคิด กลับได้ความเห็นอันลามกว่า ลิงนี้ก็เป็นอาหารของมนุษย์ทั้งหลาย เท่ากับมฤคอื่นๆ ในป่านี้เหมือนกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรฆ่าวานรนี้กินแก้หิวเถิด.
               อนึ่ง อิ่มแล้ว จักถือเอาเนื้อไปเป็นเสบียงเดินทาง เราจักต้องผ่านทางกันดาร เนื้อก็จักได้เป็นเสบียงของเรา.
               ทันใดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หยิบเอาหินมาทุ่มศีรษะลิง การประหารของข้าพระพุทธเจ้าผู้ลำบากเพราะอดอาหาร จึงมีกำลังน้อย.
               ด้วยกำลังก้อนหินที่ข้าพระพุทธเจ้าทุ่มลง ลิงนั้นผลุดลุกขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวอาบไปด้วยเลือด ร่ำไห้มองดูข้าพระพุทธเจ้าด้วยตาอันเต็มไปด้วยน้ำตา พลางกล่าวว่า นายอย่าทำข้าพเจ้าเลย ขอท่านจงมีความเจริญ แต่ท่านได้ทำกรรมอันหยาบช้าเช่นนี้ และท่านก็รอดตายมีอายุยืนมาได้ สมควรจะห้ามปรามคนอื่น แน่ะท่านผู้กระทำกรรมอันยากที่บุคคลจะทำลงได้ น่าอดสูใจจริงๆ ข้าพเจ้าช่วยให้ท่านขึ้นจากเหวลึก ซึ่งยากที่จะขึ้นได้เช่นนี้.
               ท่านเป็นดุจข้าพเจ้านำมาจากปรโลก ยังสำคัญตัวข้าพเจ้าว่า ควรจะฆ่าเสียด้วยจิตอันเป็นบาปธรรมซึ่งเป็นเหตุให้ท่านคิดชั่ว.
               ถึงท่านจะไร้ธรรม เวทนาอันเผ็ดร้อนก็อย่าได้ถูกต้องท่านเลย และบาปกรรมก็อย่าได้ตามฆ่าท่านอย่างขุยไผ่ ฆ่าไม้ไผ่เลย.
               แน่ะท่านผู้มีธรรมอันเลว หาความสำรวมมิได้ ความคุ้นเคยของข้าพเจ้าจะไม่มีอยู่ในท่านเลย มาเถิดท่านจงเดินไปห่างๆ เรา พอมองเห็นหลังกันเท่านั้น.
               ท่านพ้นจากเงื้อมมือแห่งสัตว์ร้าย ถึงทางเดินของมนุษย์แล้ว ท่านผู้ไร้ธรรม นี่หนทาง ท่านจงไปตามสบายโดยทางนั้นเถิด.
               วานรนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ล้างเลือดที่ศีรษะ เช็ดน้ำตาเสร็จแล้วก็กระโดดขึ้นไปยังภูเขา. ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้อันวานรนั้นอนุเคราะห์แล้ว ถูกความกระวนกระวายเบียดเบียน ร้อนเนื้อตัว ได้ลงไปยังห้วงน้ำแห่งหนึ่งเพื่อจะดื่มกินน้ำ.
               ห้วงน้ำก็เดือดพล่าน เหมือนถูกต้มด้วยไฟ นองไปด้วยเลือด คล้ายกับน้ำเลือดน้ำหนองฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าอย่างเห็นชัด.
               หยาดน้ำตกต้องกายของข้าพระพุทธเจ้ามีเท่าใด ฝีก็ผุดขึ้นเท่านั้น มีสัณฐานเหมือนมะตูมครึ่งลูก.
               ฝีก็แตกในวันนั้นเอง น้ำเลือดน้ำหนองของข้าพระพุทธเจ้าก็ไหลออกมา มีกลิ่นเหม็นดุจซากศพ อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าจะเดินไปทางไหน ในบ้านและนิคมทั้งหลาย พวกมนุษย์ทั้งหญิงแลชาย พากันถือท่อนไม้ห้ามกันข้าพระองค์ผู้ฟุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นว่า อย่าเข้ามาข้างนี้นะ.
               บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เสวยทุกขเวทนา เห็นปานนี้ อยู่ ๗ ปี ซึ่งเป็นผลกรรมชั่วของตนในปางก่อน.
               เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายที่มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ ขอพระองค์อย่าได้ประทุษร้ายมิตร เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตรจัดเป็นคนเลวทราม. ในโลกนี้ ผู้ที่ประทุษร้ายมิตรย่อมเป็นโรคเรื้อนเกลื้อนกลาก เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงนรก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสโล ความว่า ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้าจักกราบทูลแด่พระองค์ ฉันเดียวกับคนที่ฉลาดพูดกัน.
               บทว่า โคคเวโส ความว่า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวตามโคที่หายไป.
               บทว่า อจฺจสรึ ความว่า หลงทางล่วงแดนมนุษย์เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์
               บทว่า อรญฺเญ ได้แก่ ในป่าเปลี่ยวไร้ราชาครอบครอง.
               บทว่า อีริเน ความว่า แห้งแล้งกันดาร.
               บทว่า วิวเน แปลว่า เงียบเหงา.
               บทว่า วิปฺปนฺนฏฺโฐ แปลว่า หลงทาง.
               บทว่า พุภุกฺขิโต ความว่า เกิดความหิวระหาย คือถูกความหิวแผดเผาแล้ว.
               บทว่า ปปาตมภิลมฺภนฺตํ ความว่า มีลำต้นโน้มเอนไปทางปากเหว.
               บทว่า สมฺปนฺนผลธารินํ ความว่า สะพรั่งไปด้วยพวงผลอันมีรสหวาน.
               บทว่า วาต สีตานิ ความว่า ทีแรกข้าพระพุทธเจ้าเก็บผลที่ลมพัดหล่น(มากิน) ก่อน.
               บทว่า ตตฺถ เหสฺสามิ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าจึงปีนขึ้นไปบนต้นมะพลับนั้น ด้วยคิดว่าจักกินอยู่บนต้นให้สบาย.
               บทว่า ตโต สา ความว่า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเหยียดมือคว้าเอาผลที่ต้องการ กิ่งไม้ที่ขึ้นเหยียบอยู่นั้นก็หักขาดลง เหมือนถูกตัดด้วยขวานฉะนั้น.
               บทว่า อนาลมฺเพ ความว่า ไม่มีที่ซึ่งจะพึงยึดพึงเหนี่ยวได้เลย.
               บทว่า คิริทุคฺคสฺมิ ได้แก่ ภูเขาที่ขรุขระ.
               บทว่า เสสึ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าจำต้องนอน.
               บทว่า กปิ มาคญฺฉิ ความว่า มีวานรมาถึงที่นั้น.
               บทว่า โคนงฺคุฏฺโฐ ความว่า มีหางคล้ายหางโคทั้งหลาย ปาฐะว่า นงฺคุฏฺโฐ ดังนี้ก็มี. บางอาจารย์ก็กล่าวว่า โคนงฺคุลี.
               บทว่า อกรมฺมยิ ความว่า ได้กระทำความเอ็นดูในข้าพระพุทธเจ้า.
               บทว่า อมฺโภ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พญาวานรนั้นได้ยินเสียงข้าพระพุทธเจ้าว่ายน้ำอยู่ในเหวลึกนั้น จึงร้องทักข้าพระพุทธเจ้าว่า แน่ะท่านผู้เจริญ แล้วถามว่า ท่านเป็นใคร.
               บทว่า พฺยสมฺปตฺโต แปลว่า ถึงแล้วซึ่งความฉิบหาย. ปาฐะว่า ปปาตสฺส วสํ ปตฺโต ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ภทฺทํ โว ความว่า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าววิงวอนท่าน ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน.
               บทว่า ครุสิลํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว พญาวานรนั้นจึงปลอบใจข้าพระพุทธเจ้าว่าอย่ากลัวเลย แล้วเที่ยวไปในภูเขา ผูกเชือกยึดก้อนศิลาอันหนักไว้เป็นเบื้องแรก.
               บทว่า นิสโภ ความว่า จอมวานรตัวองอาจผูกเชือกที่ศิลาแล้ว ยืนอยู่ที่เงื้อมภูเขา ได้กล่าวคำนี้กะข้าพระพุทธเจ้า.
               บทว่า พาหาหิ ความว่า ท่านจงมาขึ้นหลังข้าพเจ้า เอาแขนทั้งสองเกาะคอข้าพเจ้าไว้ให้ดี.
               บทว่า เวคสา ความว่า โดยเต็มกำลัง.
               บทว่า สิรีมโต ได้แก่ ผู้มีบุญ.
               บทว่า อคฺคหึ ความว่า เมื่อพญาวานรโดดลงมายังเหวนรกลึก ๖๐ ศอกโดยเร็วปานลม ข้าพระพุทธเจ้าโดดขึ้นเกาะหลังโดยเร็ว เอาแขนทั้งสองกอดคอไว้.
               บทว่า วิหญฺญมาโน แปลว่า ลำบาก.
               บทว่า กิจฺเฉน ความว่า ด้วยความยากลำบาก อีกนัยหนึ่ง หมายความว่า บัณฑิตผู้เป็นสัตบุรุษ เมื่อหาโอกาสช่วยเหลือ ก็ต้องเดือดร้อน.
               บทว่า รกฺขสฺสุ ความว่า ข้าพเจ้าช่วยเหลือท่านจนเหน็ดเหนื่อย จักพักผ่อนม่อยหลับสักครู่หนึ่ง ฉะนั้น ท่านจงรักษาความปลอดภัยให้ข้าพเจ้าด้วย.
               บทว่า ยถา จญฺเญ วเน มิคา ความว่า (วานรนี้ก็เป็นอาหารควรกินได้ของมนุษย์) เท่ากับพวกพาลมฤคในป่านี้ นอกจากสัตว์ดุร้ายมีราชสีห์เป็นต้น. แต่ในพระบาลีท่านเขียนไว้ว่า อจฺฉโก กตรจฺฉโย.
               บทว่า ปริตฺตาตูน ความว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า เพราะพญาวานรทำข้าพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องป้องกันไว้อย่างนี้ ขาดโยนิโสมนสิการจึงหลับไปครู่หนึ่ง.
               บทว่า ภกฺโข ความว่า ควรแก่การเคี้ยวกิน.
               บทว่า อาสิโต ความว่า กินจนอิ่มหนำแล้ว.
               บทว่า สมฺพลํ ได้แก่ เสบียง.
               บทว่า มตฺถกํ สนฺนิตาฬยึ ความว่า ทุบศีรษะของพญาวานรนั้น. ปาฐะว่า สนฺนิตาฬยํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ทุพฺพโล อหุ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ค่อยมีกำลัง จึงทุ่มไม่ได้แรงสมความประสงค์.
               บทว่า เวเคน ความว่า ด้วยกำลังแห่งก้อนหินที่ข้าพระพุทธเจ้าทุ่มไปแล้ว.
               บทว่า อุทปฺปตฺโต แปลว่า ผลุดลุกขึ้นแล้ว.
               บทว่า มายฺโย ความว่า ก้อนหินที่บุรุษผู้มักประทุษร้ายมิตร ทุ่มลงตัดหนังใหญ่ขาดห้อยลงเลือดไหล. พระมหาสัตว์เสวยทุกขเวทนาคิดว่า ในที่นี้ไม่มีคนอื่นเลย ภัยนี้ต้องเกิดขึ้น เพราะอาศัยชายคนนี้ จึงหวาดกลัวต่อมรณภัย เอามือจับหนังที่ขาดห้อยอยู่ไว้ กระโดดขึ้นกิ่งไม้ เมื่อจะเจรจากับชายลามกนั้น จึงกล่าวคาถามีอาทิว่า มายฺโย มํ ท่านอย่าได้ทำข้าพเจ้าเลย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มายฺโย มํ ภทฺทนฺเต ความว่า พญาวานรห้ามพราหมณ์นั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าได้ทำข้าพเจ้าเลย.
               บทว่า ตวญฺจ นาม ความว่า ท่านอันข้าพเจ้าช่วยให้ขึ้นมาจากเหวอย่างนี้แล้ว กระทำกรรมร้ายกาจในข้าพเจ้าเห็นปานนี้น่าอนาถ ท่านทำกรรมที่ไม่สมควรเลย.
               บทว่า อโห วต ความว่า พญาวานรเมื่อจะตำหนิพราหมณ์นั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ตาว ทุกฺกรการกา ความว่า แน่ะบุรุษอาธรรม์ผู้กระทำกรรมยากที่บุคคลจะกระทำลงได้ เพราะผิดในเรา.
               บทว่า ปรโลกาว ความว่า ท่านเป็นดุจอันข้าพเจ้านำมาจากปรโลก.
               บทว่า ทุพฺเภยฺยํ (ยังเข้าใจตัวข้าพเจ้าว่า) ควรประทุษร้าย คือควรฆ่าเสีย.
               บทว่า เวทนํ กฏุกํ ความว่า แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านเป็นผู้ไม่มีธรรม ข้าพเจ้าต้องประสบทุกขเวทนาเช่นใด เวทนาอันเผ็ดร้อนเช่นนี้อย่าถูกต้องท่านเลย บาปกรรมนั้นอย่าฆ่าท่าน ดังขุยไผ่ฆ่าไม้ไผ่เลย. ขอเดชะพระมหาราชเจ้า พญาวานรเอ็นดูข้าพระพุทธเจ้าอย่างบุตรสุดที่รักด้วยประการฉะนี้. ทีนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวกะพญาวานรว่า ข้าแต่เจ้า ท่านอย่ากระทำสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำเลย ท่านอย่าให้ข้าพเจ้าผู้เป็นอสัตบุรุษ ต้องฉิบหายเสียในป่าเห็นปานนี้เลย ข้าพเจ้าหลงทิศไม่รู้หนทาง โปรดอย่ายังกุศลกรรมที่ตนทำแล้วให้พินาศเสีย โปรดให้ชีวิตเป็นทานแก่ข้าพเจ้า ช่วยนำข้าพเจ้าออกจากป่าไปดำรงอยู่ในถิ่นฐานแดนมนุษย์เถิด. เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว พญาวานรนั้น เมื่อจะเจรจาปราศรัยกับข้าพเจ้า จึงกล่าวคาถามีคำว่า ตยิ เม นตฺถิ วิสาโส ความคุ้นเคยในท่านไม่มีสำหรับเราดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ตตฺถ ตยิ ความว่า นับแต่วันนี้ไป เรากับท่านไม่มีความคุ้นเคยกัน.
               บทว่า เอหิ ความว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เราจะไม่เดินทางไปกับท่าน แต่ท่านจงมาเถิด ท่านจงเดินไปพอเห็นร่างไม่ห่างจากหลังเรา เราจักเดินไปทางปลายยอดไม้เท่านั้น.
               บทว่า มุตฺโตสิ ความว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า ลำดับนั้น พญาวานรได้นำข้าพเจ้าออกจากป่าแล้วกล่าวว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านพ้นจากเงื้อมมือสัตว์ร้ายแล้ว.
               บทว่า มานุสึ ปทํ ความว่า พญาวานรกล่าวว่า ท่านถึง คือมาถึงถิ่นอันเป็นอุปจารของมนุษย์แล้ว นี่ทาง ท่านจงไปตามทางนั้นเถิด.
               บทว่า คิริจโร ได้แก่ วานรมีปกติเที่ยวไปตามซอกเขา.
               บทว่า ปกฺขนฺลย แปลว่า ล้างแล้ว.
               บทว่า เตนาภิสตฺโตสฺมิ ความว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้อันพญาวานรนั้นสงเคราะห์แล้ว เมื่อบาปกรรมนั้นสุกงอมแล้ว สำคัญว่า อันพญาวานรอนุเคราะห์แล้ว จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อทฺทิโต ความว่า ถูกความกระวนกระวายเบียดเบียนแล้ว.
               บทว่า อุปาคมึ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าเข้าไปยังห้วงน้ำแห่งหนึ่ง.
               บทว่า สมปชฺชถ ความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้า เป็นเห็นปานนี้.
               บทว่า ยาวนฺโต ความว่า มีประมาณเท่าใด.
               บทว่า คณฺฑุ ชาเยถ ความว่า ฝีก็ผุดขึ้น(มีประมาณเท่านั้น).
               ได้ยินว่า มนุษย์เปรตนั้น เมื่อไม่สามารถจะทนความหิวกระหายได้ จึงยกกระพุ่มมือวักน้ำดื่มเข้าไปหน่อยหนึ่ง แล้วรดน้ำที่เหลือลงที่ศีรษะ ทันใดนั้นเอง ฝีขนาดเท่ามะตูมสุกก็ผุดขึ้นตามจำนวนหยาดน้ำ เพราะเหตุนั้น เขาจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า ปภินฺนา ความว่า ฝีเหล่านั้นก็แตกในวันนั้นเอง น้ำหนองน้ำเลือดก็ไหลออกมา มีกลิ่นเหม็นดุจซากศพ.
               บทว่า เยน ความว่า (ข้าพระพุทธเจ้าจะเดินไป)ทางใดๆ.
               บทว่า โอกิตฺตา ความว่า ฟุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็น คือมีกลิ่นเหม็นตลบอยู่รอบตัว.
               บทว่า มาสฺสุ โอเรน อาคมา ความว่า พวกมนุษย์ทั้งหลายต่างถือท่อนไม้ห้ามกันข้าพระพุทธเจ้าว่า เจ้าสัตว์สกปรกออกไปให้ห่าง อย่าเข้าใกล้ข้า คืออย่าเข้ามาใกล้พวกเรา.
               บทว่า สตฺตวสฺสานิ ทานิ เม ความว่า พราหมณ์กราบทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า นับแต่วันนั้นมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลาเจ็ดปี ข้าพระพุทธเจ้าต้องเสวยกรรมของตน ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ครั้นมนุษย์เปรตนั้นพรรณนากรรม คือการประทุษร้ายมิตรของตนให้พินาศอย่างนี้แล้วทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ใครๆเห็นข้าพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างแล้ว ไม่ควรทำกรรมเห็นปานนี้ แล้วกล่าวคาถามีอาทิว่า ตํ โว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ เท่ากับ ตสฺมา แปลว่า เพราะเหตุนั้น. อธิบายว่า เพราะเหตุกรรมเห็นปานนี้ มีทุกข์เป็นวิบากอย่างนี้.
               พระบรมศาสดาตรัสอภิสัมพุทธคาถานี้ไว้ ความว่า
               ในโลกนี้ ผู้ประทุษร้ายมิตรย่อมเป็นโรคเรื้อน เกลื้อนกลาก เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงนรก.


               อธิบายว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดประทุษร้ายเบียดเบียนมิตรในโลกนี้ บุคคลนั้นย่อมมีสภาพเห็นปานนี้.

               เมื่อบุรุษนั้นกำลังกราบทูลพระราชาอยู่ แผ่นดินก็แยกช่องให้. เขาก็จุติไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ในขณะนั้นเอง. พระราชาก็เสด็จออกจากพระราชอุทยาน เสด็จสู่พระนคร.

               พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแสดงจบแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน พระเทวทัตก็กลิ้งศิลา ประทุษร้ายเราเหมือนกัน
               แล้วทรงประชุมชาดกว่า
                         บุรุษผู้ประทุษร้ายมิตรในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเทวทัต
                         พญาวานรได้มาเป็น เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถามหากปิชาดกที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหากปีชาดก ว่าด้วย ผลบาปของผู้ทำร้ายผู้มีคุณ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2352 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2370 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2372 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=9618&Z=9702
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=5582
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=5582
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :