ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1994 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2001 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2024 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ทสพราหมณชาดก
ว่าด้วย ชาติพราหมณ์ ๑๐ ชาติ

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภอสทิสทาน ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ราชา อโวจ วิธูรํ ดังนี้.
               เรื่องอสทิสทานนั้นมีความพิสดารปรากฏแล้ว ในวิธูรชาดก อัฏฐนิบาต
               เรื่องมีว่า ปางเมื่อพระราชาจะทรงถวายทานนั้น ทรงเลือกคัดภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป กระทำพระศาสดาให้ทรงเป็นประธาน และได้ทรงถวายทานแด่พระมหาขีณาสพทั้งนั้น. ครั้งนั้นเมื่อภิกษุจะกล่าวคุณกถาของท้าวเธอ ยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระราชาเมื่อจะทรงถวายอสทิสทาน ได้ทรงเลือกถวายในภิกษุผู้เป็นที่ประดิษฐานแห่งมรรคผล.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้ พวกเธอกำลังสนทนาเรื่องอะไรกัน เมื่อพวกภิกษุพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่น่าอัศจรรย์เลยที่โกศลราชผู้อุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าเช่นเรา ทรงเลือกถวายทาน ปวงบัณฑิตแต่ก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ก็เคยเลือกถวายแล้ว
               ภิกษุเหล่านั้นพากันกราบทูลอาราธนา ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิลโคตรเสวยราชสมบัติ ณ พระนคร อินทปัต แคว้นกุรุ. อำมาตย์ของพระองค์นามว่าวิธูระ คอยถวายอรรถและธรรม. พระราชาทรงยังชมพูทวีปทุกแห่งหนให้กระฉ่อน ทรงถวายมหาทาน.
               บรรดาคนที่รับทานนั้นบริโภค จะหาคนหนึ่งที่รักษาศีล ๕ ก็ไม่มีเลย ทุกคนทุศีลทั้งนั้น ทานมิได้กระทำให้พระราชาทรงยินดี พระราชาเข้าพระหทัยว่า การเลือกให้ทานมีผลมาก ทรงมีพระประสงค์จะให้ทานแก่ผู้มีศีล ทรงดำริว่า ต้องปรึกษากับวิธูรบัณฑิต. ท้าวเธอทรงรับสั่งให้ท่านผู้มาสู่ที่เฝ้านั่งเหนืออาสนะ ตรัสถามปัญหา.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสกึ่งพระคาถาว่า

               พระราชายุธิฏฐิลทรงปรารถนาธรรม ได้ตรัสกะวิธูรอำมาตย์.


               ต่อไปเป็นดำรัสของพระราชาและคำตอบของท่านวิธูระว่า

               พระเจ้ายุธิฏฐิละผู้ทรงฝักใฝ่ในธรรม ได้ตรัสกับวิธูรอำมาตย์ว่า
               ดูก่อนวิธูระ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจะให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลเป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ที่สมควรจะบริโภคโภชนาหารของพระองค์นั้นหาได้ยาก ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า ชาติพราหมณ์มี ๑๐ ชาติ ขอพระองค์จงทรงสดับการจำแนกแจงชาติพราหมณ์เหล่านั้นของข้าพระองค์
               ชนทั้งหลายถือเอากระสอบอันเต็มไปด้วยรากไม้เรียบร้อย ปิดสลากบอกสรรพคุณยาไว้ รดน้ำมนต์และร่ายมนต์ ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะเป็นเหมือนกับหมอก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               (พระเจ้าโกรัพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์มิได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ชนทั้งหลายถือกระดิ่ง ตีประกาศไปข้างหน้าบ้าง คอยรับใช้บ้าง ศึกษาในการขับรถบ้าง ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับคนบำเรอ ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เหล่านั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               พวกพราหมณ์ถือน้ำเต้าและไม้สีฟัน คอยเข้าใกล้พระราชาทั้งหลาย ในบ้านและนิคมด้วยตั้งใจว่า เมื่อคนทั้งหลายในบ้านหรือนิคมไม่ให้อะไรๆ พวกเราจักไม่ลุกขึ้น ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับผู้กดขี่ข่มเหง ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจักต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ คนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ชนทั้งหลายมีเล็บและขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะเกรอะกรังด้วยฝุ่นละออง เป็นพวกยาจกท่องเที่ยวไป ข้าแต่พระราชา ชนพวกนั้นแม้จะเหมือนกับมนุษย์ขุดตอ ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งประชาชน ชนทั้งหลายขายสิ่งของเครื่องชำ คือผลสมอ ผลมะขามป้อม มะม่วง ชมพู่ สมอพิเภก ขนุนสำมะลอ ไม้สีฟัน มะตูม พุทรา ผลเกด อ้อยและงบน้ำอ้อย เครื่องโบกควัน น้ำผึ้งและยาหยอดตา ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับพ่อค้า ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระองค์กราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ชนทั้งหลายใช้คนให้ทำการไถและการค้า ใช้ให้เลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ สู่ขอนางกุมารีทำการวิวาหมงคลและอาวาหมงคล ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับกุฎุมพีและคฤหบดี ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงชนพวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ยังอีกพวกหนึ่งเล่า เป็นปุโรหิตในบ้านบริโภคภิกษาที่เก็บไว้ ชนเป็นอันมากพากันถามปุโรหิตบ้านเหล่านั้น พวกเหล่านั้นจักรับจ้างตอนสัตว์ แม้ปศุสัตว์คือกระบือ สุกร แพะถูกฆ่าเพราะปุโรหิตชาวบ้านเหล่านั้น ข้าแต่พระราชา คนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับคนฆ่าโค ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงชนพวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจักต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               อีกพวกหนึ่งเป็นพราหมณ์ถือดาบและโล่เหน็บกระบี่ ยืนเฝ้าอยู่ที่ย่านพ่อค้าบ้าง รับคุ้มครองขบวนเกวียนบ้าง ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนคนเลี้ยงโคและนายพราน ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจักต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               ชนทั้งหลายปลูกกระท่อมไว้ในป่า ทำเครื่องดักสัตว์ เบียดเบียนกระต่ายและเสือปลาตลอดถึงเหี้ยทั้งปลาและเต่า ข้าแต่พระราชา ชนทั้งหลายแม้จะเป็นผู้เสมอกับนายพราน เขาก็เรียกกันว่าพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.

               อีกพวกหนึ่งย่อมนอนใต้เตียง เพราะปรารถนาทรัพย์ พระราชาทั้งหลายสรงสนานอยู่ข้างบน ในคราวมีพิธีโสมยาคะ ข้าแต่พระราชา ชนพวกนั้นแม้จะเหมือนกับคนกวาดมลทิน ก็ยังเรียกกันว่าเป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจักต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า.

               ดูก่อนวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูก่อนสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลวนฺเต ได้แก่ ท่านผู้มีศีลที่มากับมรรค. บทว่า พหุสฺสุเต ได้แก่ ท่านผู้เป็นพหูสูตด้วยปฏิเวธ. บทว่า ทกฺขิณํ ได้แก่ทาน. บทว่า เย ได้แก่ หมู่สมณะและพราหมณ์ผู้ทรงธรรมเหล่าใด ควรบริโภคทานนั้น สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นหาได้ยาก. บทว่า พฺราหฺมณชาติโย ได้แก่ ตระกูลของพราหมณ์.
               บทว่า เตสํ วิภงฺควิจยํ ความว่า เชิญพระองค์ทรงสดับการจำแนกพราหมณ์เหล่านั้น อันเป็นความวิจิตรแห่งปัญญาของข้าพระพุทธเจ้าโดยพิสดาร.
               บทว่า สํวุเต ได้แก่ ผูกปากร่วมไว้.
               บทว่า โอสธิกาเย คนฺเถนฺติ ความว่า ประพันธ์ฉันท์อย่างนี้ว่า ยาขนานนี้สำหรับโรคนี้ ขนานนี้สำหรับโรคนี้ แล้วให้ฝูงคน. บทว่า นฺหาปยนฺติ ได้แก่ ทำน้ำที่เรียกว่าน้ำสรง(น้ำมนต์). บทว่า ชปนฺติ จ ความว่า ร่ายวิชชัมภูต.
               บทว่า ติกิจฺฉกสมา คือ เสมือนด้วยแพทย์.
               บทว่า เตปิ วุจฺจนฺติ ความว่า แม้พวกนั้นก็มิได้รู้เลยว่าพวกเราเป็นพราหมณ์หรือมิใช่พราหมณ์ คงเลี้ยงชีวิตด้วยเวชกรรมเรื่อยไป ฝูงชนพากันเรียกว่าพราหมณ์ตามโวหาร.
               บทว่า อกฺขาตา เต ความว่า ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพวกพราหมณ์ที่ชื่อว่า พราหมณ์หมอเหล่านี้นั้นแล้ว.
               บทว่า นิปตามเส ความว่า ท่านวิธูระกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชา พวกเรายังจะเข้าไปหาเพื่อต้องการนิมนต์พวกพราหมณ์เช่นนั้นหรือ คือพระองค์ยังมีความต้องการพวกพราหมณ์เหล่านี้อยู่หรือ.
               บทว่า พฺราหฺมญฺญา ได้แก่ พราหมณธรรม. บทว่า น เต วุจฺจนฺติ ความว่า พวกนั้นจะเรียกว่าพราหมณ์ ตามความหมายว่าผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วไม่ได้.
               บทว่า กิงฺกิณิโย ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ยังมีพวกพราหมณ์พวกหนึ่งละทิ้งพราหมณธรรมของตนเสีย ถือเอากังสดาลบรรเลงขับร้องไปข้างหน้าพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา เพื่อต้องการเครื่องเลี้ยงชีพ.
               บทว่า เปสนานิปิ ความว่า บางทีก็รับใช้เหมือนอย่างทาสและกรรมกร.
               บทว่า รถจริยาสุ ความว่า ย่อมศึกษาในรถศิลปะ. บทว่า ปริจาริกสมา คือ เสมือนทาสและกรรมกร. บทว่า ปงฺกทณฺฑํ ได้แก่ ไม้สีฟัน.
               บทว่า ปจฺจุเปสฺสนฺติ ราชาโน ความว่า พวกพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง เข้าไปคบหาใกล้ชิดพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา.
               บทว่า คาเมสุ นิคเมสุ จ ความว่า นั่งอยู่ใกล้ประตูนิเวศน์ของท่านเหล่านั้น.
               บทว่า นิคฺคาหกสมา ความว่า เป็นเสมือนราชบุรุษผู้เก็บภาษีอากร หมายความว่า คนเหล่านั้นกล่าวว่า เก็บไม่ได้ไม่ยอมไป กระทำการเร่งรัดเอาจนได้ทีเดียวฉันใด ก็คิดว่า จะไปในบ้านหรือในป่าก็ตาม เมื่อยังไม่ได้แล้ว พวกเราจะตายก็ไม่ขอลุกขึ้น แล้วอยู่ประจำฉันนั้น.
               บทว่า เตปิ ได้แก่ แม้พวกนั้นเล่าก็เป็นเสมือนพนักงานเก็บภาษีอากรมีบาปกรรม.
               บทว่า รชชลฺเลหิ ความว่า ยังอีกพวกหนึ่งโสมมด้วยละอองฝุ่น.
               บทว่า ยาจกา ได้แก่ คนขอทรัพย์เสมือนคนขุดตอ คือเป็นผู้เสมอกับก่นตอไม้ในไร่ที่เผาแล้ว ได้แก่พวกคนที่พากันขุดดินแล้วถอนตอไม้ที่ไฟไหม้ เพราะมีร่างกายสกปรก และเพราะยืนอยู่ด้วยความไม่เคลื่อนไหวด้วยตั้งใจว่า ไม่ได้รับไม่ไป จึงเป็นเสมือนตอไม้ที่เขาขุดขึ้นวางไว้ฉะนั้น.
               บทว่า เตปิ ความว่า พวกนั้นเล่าก็เก็บออมทรัพย์ที่ได้ด้วยวิธีนั้นไว้จนร่ำรวยแล้ว ยังเที่ยวไปอย่างนั้นอีก เป็นพราหมณ์ทุศีล.
               บทว่า อุจฺฉุปูฏํ ได้แก่ อ้อยและน้ำอ้อยงบ. บทว่า มธุอญฺชนํ ได้แก่ น้ำผึ้งและยาหยอดตา. บทว่า อุจฺจาวจานิ คือ มีค่าน้อยและมาก.
               บทว่า ปณิยานิ ได้แก่ สิ่งของทั้งหลาย. บทว่า วิปเณนฺติ ได้แก่ ย่อมซื้อขาย.
               บทว่า เตปิ ความว่า แม้พวกนั้นผู้ค้าขายสิ่งของเหล่านี้เพียงเท่านี้ เลี้ยงชีพก็เป็นพราหมณ์พ่อค้า.
               บทว่า โปสยนฺติ คือได้เลี้ยงเพื่อเลี้ยงชีวิตโดยทางซื้อขาย.
               บทว่า ปเวจฺฉนฺติ ความว่า รับเงินทองให้ธิดาของตนแก่ผู้อื่น พวกนั้นให้แก่ผู้อื่นอย่างนี้เรียกว่า วิวาหะรับ(ธิดาของคนอื่น) เพื่อบุตรของตน เรียกอาวาหะ.
               บทว่า อมฺพฏฺฐเวเสหิ ความว่า พวกนั้นเสมือนกับพวกกุฎุมพีและคหบดี แม้พวกนั้นก็เรียกกันว่า พราหมณ์ด้วยอำนาจแห่งบัญญัติ.
               บทว่า นิกฺขิตฺตภิกฺขํ ได้แก่ ยังอีกพวกหนึ่งนั้นเล่า เป็นพวกปุโรหิตประจำบ้าน บริโภคภิกษาที่เขากะไว้เพื่อประโยชน์แก่ตน.
               บทว่า พหู เน ความว่า ชนเป็นอันมากพากันถามยามและการมงคลกะพวกปุโรหิตประจำบ้านเหล่านั้น.
               บทว่า อณฺฑจฺเฉทานิ ลญฺจกา ความว่า พวกเหล่านั้นยังรับจ้างตอนวัวเปลี่ยวเป็นต้น และรับจ้างสักอวัยวะเป็นรูปตรีศูลเป็นต้น คือกระทำเครื่องหมาย.
               บทว่า ตตฺถ ความว่า ในเรือนของพวกปุโรหิตประจำบ้าน ฝูงสัตว์เลี้ยงเป็นต้นเหล่านั้นพากันถูกฆ่าเพื่อจำหน่ายเนื้อ.
               บทว่า เตปิ ความว่า แม้พวกนั้นจะเป็นเสมือนคนฆ่าโค ก็ยังเรียกกันว่าพราหมณ์.
               บทว่า อสิจมฺมํ ได้แก่ ดาบและเครื่องป้องกันลูกศรที่ทำด้วยหนัง.
               บทว่า เวสฺสปเถสุ ได้แก่ ในทางเดินของพวกพ่อค้า.
               บทว่า อมฺพาหยนฺติ ความว่า บางทีก็รับเอากระษาปณ์ ๑๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง จากมือของนายกองเกวียนเข้าสู่ดงย่านพวกโจรไป.
               บทว่า โคปนิสาเทหิ ความว่า พวกนั้นเสมือนกับพวกนายโคบาล และพวกนายพรานคือโจรผู้ปล้นบ้าน.
               บทว่า เตปิ ความว่า แม้พวกนั้นคือเห็นปานนั้นก็เรียกกันว่าพราหมณ์.
               บทว่า กูฏานิ การยนฺติ เต ความว่า ยังอีกพวกหนึ่ง(สร้างกระท่อมในป่า) ก่อสร้างกลโกงต่างๆ มีบ่วงแร้วเป็นต้น. บทว่า สสํ วิฬารํ ความว่า ดักมฤคที่เที่ยวไปบนบก ซึ่งแสดงความคำว่า กระต่ายและแมวนั้น.
               บทว่า อาโคธา มจฺฉกจฺฉปํ ความว่า เบียดเบียนคือฆ่าเสีย ซึ่งบรรดาสัตว์ที่เกิดบนบก ที่มีชีวิตใหญ่และเล็ก จนถึงเหี้ยเป็นที่สุด บรรดาสัตว์เกิดในน้ำ ก็ฝูงปลาและเต่า.
               บทว่า เตปิ คือ แม้พวกนั้นจะเสมือนพรานผู้ฉกาจ ก็ยังเรียกกันว่าพราหมณ์.
               บทว่า อญฺเญ ธนสฺส กามาหิ ความว่า ยังมีพราหมณ์พวกหนึ่ง ปรารถนาแต่จะได้ทรัพย์.
               บทว่า เหฏฺฐา มญฺเจ ปสกฺขิตา ความว่า พวกนั้นคิดว่า พวกเราจักได้กระทำกรรม คือการไล่กลีแล้วให้สร้างเตียงอันสำเร็จด้วยแก้ว มุดเข้าไปนอนอยู่ใต้เตียงแก้วนั้น ครั้นถึงวิธีโสมยาคะของพวกนั้น พระราชาทั้งหลายก็ทรงสรงในเบื้องบน ได้ยินว่า พวกนั้นครั้นพิธีโสมยาคะเสร็จแล้วพากันมานั่งเหนือเตียงนั้น ลำดับนั้น พราหมณ์พวกอื่นดำริว่า พวกเราจักขับกลี ก็ให้พวกนั้นอาบน้ำ เตียงแก้วและราชาลังการของพระราชาทุกอย่าง เป็นของผู้นอนใต้เตียงทั้งนั้น.
               บทว่า เตปิ ความว่า แม้พวกนั้นจะเสมือนกับคนกวาดมลทิน คือคนที่เขาอาบรดก็เรียกกันว่าพราหมณ์.

               พระโพธิสัตว์กราบทูลแถลงถึงพวกพราหมณ์ เพียงบัญญัติเรียกเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว คราวนี้ เมื่อจะทูลแถลงถึงพราหมณ์ผู้มีประโยชน์ยอดเยี่ยม
               ได้กราบทูลคาถา ๒ คาถาว่า

               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของพระองค์ มีอยู่แล พราหมณ์เหล่านั้นบริโภคภัตตาหารหนเดียว และไม่ดื่มน้ำเมา ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์เหล่านั้นแก่พระองค์แล้ว พวกเราคงต้องการพราหมณ์เช่นนี้ซิ พระเจ้าข้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลวนฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยอริยศีล.
               บทว่า พหุสฺสุตา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นพหูสูตเพราะปฏิเวธ.
               บทว่า ตาทิเส ความว่า พวกเราคงจะเข้าใกล้พราหมณ์ คือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว เห็นปานนั้น.

               พระราชาทรงสดับคำของท่านแล้ว ตรัสถามว่า สหายวิธูระ ท่านพราหมณ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลเลิศเช่นนี้ อยู่ที่ไหนเล่า.
               กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ท่านอยู่ ณ เงื้อมเขานันทมูลในหิมวันต์ตอนเหนือ พระเจ้าข้า.
               รับสั่งว่า พ่อบัณฑิต ถ้าเช่นนั้น เธอจงช่วยแสวงหาท่านพราหมณ์พวกนั้นแก่เราด้วยกำลังของเธอเถิด ทรงดีพระฤทัยตรัสคาถาว่า

               ดูก่อนวิธูระ พราหมณ์เหล่านั้นแหละเป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต ดูก่อนวิธูระ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์พวกนั้น และจงเชิญพราหมณ์พวกนั้นมาโดยเร็วด้วยเถิด.


               พระมหาสัตว์รับพระดำรัสของพระองค์ด้วยคำว่า สาธุ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าเช่นนั้น พระองค์ให้ราชบุรุษนำกลองออกไปเที่ยวตีประกาศว่า ชาวพระนครทุกคนจงตกแต่งพระนครพากันให้ทาน อธิษฐานอุโบสถและถือศีล จงทั่วกันเถิด แม้พระองค์ก็ทรงสมาทานอุโบสถกับชนผู้เป็นบริษัทเถิด พระเจ้าข้า
               ตนเองพอรุ่งเช้าบริโภคแล้ว สมาทานอุโบสถ ตอนเย็นให้คนนำผอบทองเต็มด้วยดอกไม้ตามธรรมชาติ กับพระราชาประดิษฐานเบญจางคประดิษฐ์ ระลึกถึงพระคุณทั้งหลายแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย กราบไหว้แล้วนิมนต์ด้วยคำว่า
               ขอพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๕๐๐ องค์ผู้สถิตอยู่ ณ เงื้อมเขานันทมูลกะในหิมวันตประเทศตอนเหนือ จงรับภิกษาของข้าพเจ้าทั้งหลายในวันพรุ่งนี้
               แล้วทิ้งกำดอกไม้ ๘ กำไปในอากาศ.
               ครั้งนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์อยู่ ณ ที่นั้น ดอกไม้ทั้งหลายลอยไปตกลงในเบื้องบนสำนักแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พระคุณท่านนึกอยู่รู้เหตุนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีเนียรทุกข์ทั้งหลาย ชาวเรา วิธูรบัณฑิตนิมนต์แล้ว ก็แหละท่านผู้นี้มิใช่สัตว์พอดีพอร้าย ท่านผู้นี้เป็นหน่อเนื้อแห่งพระพุทธเจ้า จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกัปนี้แล พวกเราต้องกระทำสงเคราะห์ท่าน พากันรับนิมนต์.
               พระมหาสัตว์ทราบ การที่พระปัจเจกพุทธเจ้ารับนิมนต์ ด้วยสัญญาที่ดอกไม้ทั้งหลายไม่คืนมา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายจักพากันมา เชิญพระองค์ทรงกระทำสักการะและสัมมานะเถิด พระเจ้าข้า.
               วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงกระทำสักการะใหญ่โต ให้ตกแต่งอาสนะอันควรค่ามากในท้องพระโรงหลวง ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพากันกระทำปรนนิบัติสรีระ ในสระอโนดาต เสร็จแล้วกำหนดเวลา พากันมาทางอากาศลงที่ท้องพระลานหลวง
               พระราชาและพระโพธิสัตว์มีใจเลื่อมใส รับบาตรจากหัตถ์แห่งพระคุณท่านเหล่านั้น เชิญขึ้นปราสาท ให้นั่งแล้ว ถวายทักษิโณทก อังคาสด้วยขาทนียะและโภชนียะ อันประณีต ในที่สุดแห่งภัตกิจของพระคุณท่านเหล่านั้น ก็นิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นๆ ต่อๆ กันไป รวมเป็น ๗ วัน ด้วยวิธีนี้ถวายมหาทานในวันคำรบ ๗ ได้ถวายบริขารทั้งปวง.
               พระคุณท่านเหล่านั้นกระทำอนุโมทนาแล้ว พากันไป ณ เงื้อมเขานันทมูลกะนั้นทางอากาศ. บริขารทั้งหลายเล่า ก็ไปพร้อมกันกับพระคุณท่านทีเดียวแล.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่โกศลราชผู้อุปัฏฐากของเราถวายวิเจยยทาน (การเลือกแล้วให้) ไม่น่าอัศจรรย์ บัณฑิตแต่ปางก่อนถึงพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ก็ได้ถวายทานแล้วเหมือนกัน
               ทรงประชุมชาดกว่า
                         พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็น พระอานนท์
                         พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ปรินิพพานแล้ว
                         ส่วนวิธูรบัณฑิตได้มาเป็น เราตถาคต แล.


               จบอรรถกถาทสพราหมณชาดกที่ ๑๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทสพราหมณชาดก ว่าด้วย ชาติพราหมณ์ ๑๐ ชาติ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1994 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2001 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2024 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=7815&Z=7939
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=7403
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=7403
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :