ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 18 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 19 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 20 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก สีลวรรค
อายาจิตภัตตชาดก ว่าด้วยการเปลื้องตน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพลีกรรมอ้อนวอนเทวดาทั้งหลาย จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สเจ มุญฺเจ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อจะไปค้าขาย ได้ฆ่าสัตว์ทำพลีกรรมแก่เทวดาทั้งหลาย อ้อนวอนว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถึงความสำเร็จประโยชน์โดยไม่ขัดข้องมาแล้ว จักกระทำพลีกรรมแก่ท่านทั้งหลายอีก ดังนี้แล้วจึงพากันไป.
               ในกาลนั้น พวกมนุษย์ได้ถึงความสำเร็จประโยชน์ โดยไม่มีอันตรายมาแล้ว สำคัญว่า ผลนี้เกิดด้วยอานุภาพของเทวดา จึงฆ่าสัตว์เป็นอันมากกระทำพลีกรรม เพื่อปลดเปลื้องการอ้อนวอน.
               ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประโยชน์ในการอ้อนวอนนี้ มีอยู่หรือ?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล มีกุฏุมพีคนหนึ่งในบ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสี ปฏิญญาการพลีกรรมแก่เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไทร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ประตูบ้าน แล้วกลับมาโดยไม่มีอันตราย จึงฆ่าสัตว์เป็นอันมาก แล้วไปยังโคนต้นไทร ด้วยตั้งใจว่า จักเปลื้องการอ้อนวอน.
               รุกขเทวดายืนอยู่ที่ค่าคบของต้นไม้ กล่าวคาถานี้ว่า
               ถ้าท่านปรารถนาจะเปลื้องตนให้พ้น ท่านละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะพ้นได้ ก็ท่านเปลื้องตนอยู่อย่างนี้ กลับจะติดหนักเข้า เพราะนักปราชญ์หาได้เปลื้องตน ด้วยอาการอย่างนี้ไม่. การเปลื้องตนอย่างนี้ เป็นเครื่องติดของคนพาล.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ มุญฺเจ เปจฺจ มุญฺเจ ความว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ถ้าท่านจะเปลื้องตน คือท่านปรารถนาจะเปลื้องตน ท่านละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะพ้นได้ คือจงพ้น โดยประการที่ติดพันโลกหน้า.
               บทว่า มุจฺจมาโน หิ พชฺฌสิ ความว่า ก็ท่านเมื่อปลดเปลื้องโดยประการที่ปรารถนา เพื่อฆ่าสัตว์ปลดเปลื้อง ชื่อว่ายังติดพันด้วยกรรมอันลามก.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะนักปราชญ์ทั้งหลายหาได้เปลื้องตน ด้วยอาการอย่างนี้ไม่.
               อธิบายว่า ก็บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้น ย่อมไม่ปลดเปลื้องตนด้วยคำมั่นสัญญาอย่างนี้.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะการเปลื้องตน เห็นปานนี้ เป็นเหตุติดพันของคนพาล คือธรรมดา การเปลื้องตนเพราะกระทำปาณาติบาตนี้ ย่อมเป็นเหตุติดหนักของคนพาล.
               รุกขเทวดาแสดงธรรมด้วยประการดังกล่าวนี้.
               ตั้งแต่นั้น มนุษย์ทั้งหลายงดเว้นจากกรรม คือปาณาติบาตเห็นปานนั้น พากันประพฤติธรรม ยังเทพนครให้เต็มแล้ว.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบต่ออนุสนธิแล้ว
               ทรงประชุมชาดกว่า สมัยนั้น เราได้เป็นรุกขเทวดา แล.


               จบอรรถกถาอายาจิตชาดกที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก สีลวรรค อายาจิตภัตตชาดก ว่าด้วยการเปลื้องตน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 18 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 19 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 20 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=122&Z=128
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=5289
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=5289
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :