ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 183 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 185 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 187 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วย เหยี่ยวนกเขา

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ พระสูตรว่าด้วยโอวาทของนก อันเป็นพระอัธยาศัยของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เสโน พลสา ปตมาโน ดังนี้.
               ความพิสดารมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสพระสูตรในมหาวรรคสังยุตต์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปในโคจรอันเป็นวิสัยของบิดาของตน แล้วตรัสว่า พวกเธอจงยกไว้ก่อนเถิด เมื่อก่อนแม้เดียรัจฉานทั้งหลายก็ละวิสัยของตน แล้วเที่ยวไปในที่เป็นอโคจร ไปสู่เงื้อมมือของข้าศึก แต่รอดจากเงื้อมมือข้าศึกได้ ก็ด้วยความฉลาดในอุบาย เพราะตนมีปัญญาเป็นสมบัติ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกมูลไถ อาศัยอยู่ในก้อนดินที่ทำการไถ. วันหนึ่ง นกมูลไถนั้นละถิ่นที่หากินเดิมของตนไปท้ายดง ด้วยคิดว่า จักหาอาหารในถิ่นอื่น ครั้งนั้น เหยี่ยวนกเขาเห็นนกมูลไถกำลังหาอาหารอยู่ จึงโฉบจับเอามันไป. เมื่อมันถูกเหยี่ยวนกเขาพาไป จึงคร่ำครวญอย่างนี้ว่า เราเคราะห์ร้ายมาก มีบุญน้อย เราเที่ยวไปในที่อโคจรอันเป็นถิ่นอื่น ถ้าวันนี้ เราเที่ยวไปในที่โคจรอันเป็นถิ่นบิดาของตนแล้ว เหยี่ยวนกเขานี้ไม่พอมือเราในการต่อสู้. เหยี่ยวนกเขาถามว่า ดูก่อนนกมูลไถ ที่หาอาหารอันเป็นถิ่นบิดาของเจ้าเป็นอย่างไร. นกมูลไถตอบว่า คือที่ก้อนดินคันไถน่ะซิ. เหยี่ยวนกเขายังออมกำลังของมันไว้ จึงได้ปล่อยมันไปโดยพูดว่า ไปเถิดเจ้านกมูลไถ แม้เจ้าไปในที่นั้น ก็คงไม่พ้นเราดอก. นกมูลไถบินกลับไปในที่นั้น ได้ขึ้นไปยังดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวว่า มาเดี๋ยวนี้ซิเจ้าเหยี่ยวนกเขา. เหยี่ยวนกเขามิได้ออมกำลังของมัน ลู่ปีกทั้งสองโฉบนกมูลไถทันทีทันใด. ก็เมื่อนกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้มาถึงเราด้วยกำลังแรง จึงบินหลบกลับเข้าไปในระหว่างก้อนดินนั้นเอง. เหยี่ยวไม่อาจยั้งความเร็วได้ จึงกระแทกอกเข้ากับก้อนดินในที่นั้นเอง เหยี่ยวอกแตกตาถลนตายทันที.
               พระศาสดา ครั้นทรงแสดงเรื่องในอดีตนี้แล้ว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สัตว์เดียรัจฉานเที่ยวไปในที่อโคจรอย่างนี้ ยังถึงเงื้อมมือข้าศึก แต่เมื่อเที่ยวไปในถิ่นหาอาหาร อันเป็นของบิดาของตน ก็ยังข่มข้าศึกเสียได้ เพราะฉะนั้น แม้พวกเธอก็จงอย่าเที่ยวไปในอโคจรซึ่งเป็นแดนอื่น
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอเที่ยวไปในอโคจรอันเป็นแดนอื่น มารย่อมได้ช่อง มารย่อมได้อารมณ์
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อโคจรอันเป็นแดนอื่นของภิกษุคืออะไร คือกามคุณห้า
               กามคุณห้าเป็นไฉน กามคุณห้า คือ
                         รูปที่รู้ได้ด้วยตา ๑
                         เสียงที่รู้ได้ด้วยหู ๑
                         กลิ่นที่รู้ได้ด้วยจมูก ๑
                         รสที่รู้ได้ด้วยลิ้น ๑
                         โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ๑
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอโคจรเป็นแดนอื่นของภิกษุ

               เมื่อทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว จึงตรัสคาถาแรกว่า :-
               เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่าจะเฉี่ยวเอานกมูลไถ ซึ่งจับอยู่ที่ท้ายดง เพื่อหาเหยื่อโดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า พลสา ปตมาโน ความว่า เหยี่ยวโผลงด้วยกำลัง คือด้วยเรี่ยวแรงด้วยคิดว่า จักจับนกมูลไถ. บทว่า โคจรฏฺฐานิยํ ความว่า เหยี่ยวโฉบเอานกมูลไถ ซึ่งออกจากแดนของตน เที่ยวไปท้ายดงเพื่อหาอาหาร. บทว่า อชฺฌปฺปตฺโต ได้แก่โผลง. บทว่า เตนุปาคมิ ได้แก่ เหยี่ยวถึงแก่ความตายด้วยเหตุนั้น.

               ก็เมื่อเหยี่ยวตาย นกมูลไถจึงออกมายืนบนอกของเหยี่ยว ด้วยมั่นใจว่าเราชนะข้าศึกได้แล้ว เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวคาถาที่สองว่า :-
               เรานั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบายยินดีแล้ว ในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.


               ในบทเหล่านั้นบทว่า นเยน ได้แก่อุบาย. บทว่า อตฺถมตฺตโน ได้แก่ ความเจริญ กล่าวคือความปลอดภัยของตน.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น.
               เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในบัดนี้
               ส่วนนกมูลไถ คือ เราตถาคต นี้แล.

.. อรรถกถา สกุณัคฆิชาดก ว่าด้วย เหยี่ยวนกเขา จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 183 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 185 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 187 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1188&Z=1194
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=1517
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=1517
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :