ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 17 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 18 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 19 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก สีลวรรค
มตกภัตตชาดก ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภมตกภัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอวญฺเจ สตฺตา ชาเนยฺยุํ ดังนี้.
               ความพิสดารว่า ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายฆ่าแพะเป็นต้นเป็นอันมาก ให้มตกภัตอุทิศญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว. ภิกษุทั้งหลายเห็นมนุษย์เหล่านั้นกระทำอย่างนั้น จึงทูลถามพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมาก ให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้วให้ชื่อว่ามตกภัต ความเจริญในการให้มตกภัตนี้มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า?
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าความเจริญอะไรๆ ในปาณาติบาต แม้ที่เขากระทำด้วยคิดว่า พวกเราจักให้มตกภัตดังนี้ ย่อมไม่มี. แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายนั่งในอากาศ แสดงธรรมกล่าวโทษในการทำปาณาติบาตนี้ ให้ชนชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ละกรรมนั่น แต่บัดนี้ กรรมนั่นกลับปรากฏขึ้นอีก เพราะสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้อยู่ในสังเขปแห่งภพ
               แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี. มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ผู้สำเร็จไตรเพทคนหนึ่งคิดว่าจักให้มตกภัต จึงให้จับแพะมาตัวหนึ่ง กล่าวกะอันเตวาสิกทั้งหลายว่า พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงนำแพะตัวนี้ไปยังแม่นํ้า เอาระเบียบดอกไม้สวมคอ เจิมประดับประดา แล้วนำมา.
               อันเตวาสิกทั้งหลายรับคำแล้ว พาแพะนั้นไปยังแม่นํ้า ให้อาบนํ้า ประดับแล้ว พักไว้ที่ฝั่งแม่นํ้า. แพะนั้นเห็นกรรมเก่าของตน เกิดความโสมนัสว่า เราจักพ้นจากทุกข์ ชื่อเห็นปานนี้ ในวันนี้ จึงหัวเราะลั่น ประดุจต่อยหม้อดิน. กลับคิดว่า พราหมณ์นี้ฆ่าเราแล้ว จักได้ความทุกข์ที่เราได้แล้ว เกิดความกรุณาพราหมณ์ จึงร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง.
               ลำดับนั้น มาณพเหล่านั้นจึงถามแพะนั้นว่า ดูก่อนแพะผู้สหาย ท่านหัวเราะและร้องไห้เสียงดังลั่น เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงหัวเราะ และเพราะเหตุไร ท่านจึงร้องไห้?
               แพะกล่าวว่า ท่านทั้งหลายพึงถามเหตุนี้กะเรา ในสำนักแห่งอาจารย์ของท่าน.
               มาณพเหล่านั้นจึงพาแพะนั้นไป แล้วบอกเหตุนี้แก่อาจารย์ อาจารย์ได้ฟังคำของมาณพเหล่านั้น แล้วถามแพะว่า ดูก่อนแพะ เพราะเหตุไร ท่านจึงหัวเราะ เพราะเหตุไร ท่านจึงร้องไห้?
               แพะหวนระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำด้วยญาณเครื่องระลึกชาติ ได้กล่าวแก่พราหมณ์ว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นพราหมณ์ผู้สาธยายมนต์เช่นท่านนั่นแหละ คิดว่า จักให้มตกภัต จึงได้ฆ่าแพะตัวหนึ่ง แล้วให้มตกภัต เพราะเราฆ่าแพะตัวหนึ่ง เรานั้นจึงถึงการถูกตัดศีรษะใน ๔๙๙ อัตภาพ นี้เป็นอัตภาพที่ ๕๐๐ ของเรา ซึ่งตั้งอยู่ในที่สุด. เรานั้นเกิดความโสมนัสว่า วันนี้ เราจักพ้นจากทุกข์เห็นปานนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงหัวเราะ แต่เราเมื่อร้องไห้ ได้ร้องไห้เพราะความกรุณาท่าน ด้วยคิดว่า เบื้องต้น เราฆ่าแพะตัวหนึ่ง ถึงความทุกข์ คือการถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติ จักพ้นจากทุกข์นั้นในวันนี้. ส่วนพราหมณ์ฆ่าเราแล้ว จักได้ทุกข์ คือการถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติ เหมือนเรา.
               พราหมณ์กล่าวว่า ดูก่อนแพะ ท่านอย่ากลัวเลย เราจักไม่ฆ่าท่าน.
               แพะกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านพูดอะไร เมื่อท่านจะฆ่าก็ดี ไม่ฆ่าก็ดี วันนี้ เราไม่อาจพ้นจากความตายไปได้.
               พราหมณ์กล่าวว่า ดูก่อนแพะ ท่านอย่ากลัว เราจักถือการอารักขาท่าน เที่ยวไปกับท่าน เท่านั้น.
               แพะกล่าวว่า พราหมณ์ อารักขาของท่านมีประมาณน้อย ส่วนบาปที่เรากระทำมีกำลังมาก.
               พราหมณ์ให้ปล่อยแพะ แล้วกล่าวว่า เราจักไม่ให้แม้ใครๆ ฆ่าแพะตัวนี้ จึงพาพวกอันเตวาสิกเที่ยวไปกับแพะ นั่นแหละ. แพะพอเขาปล่อยเท่านั้น ก็ชะเง้อคอเริ่มจะกินใบไม้ ซึ่งอาศัยหลังแผ่นหินแห่งหนึ่งเกิดอยู่. ทันใดนั้นเอง ฟ้าก็ผ่าลงที่หลังแผ่นหินนั้น สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งแตกตกลงที่คอแพะ ซึ่งชะเง้ออยู่ ตัดศีรษะขาดไป มหาชนประชุมกัน
               ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในที่นั้น พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อมหาชนเห็นอยู่นั่นแล นั่งขัดสมาธิในอากาศด้วยเทวานุภาพ กล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นรู้ผลของบาปอยู่อย่างนี้ ชื่อแม้ไฉนไม่ควรกระทำปาณาติบาต.
               เมื่อจะแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่า ผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวญฺเจ สตฺตา ชาเนยฺยุํ ความว่า สัตว์เหล่านี้ พึงรู้อย่างนี้. พึงรู้อย่างไร? พึงรู้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์.
               อธิบายว่า ถ้าว่า พึงรู้ว่าความเกิดในภพนั้นๆ และความสมภพ กล่าวคือความเจริญของผู้ที่เกิดโดยลำดับนี้ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งหลายมีชรา พยาธิ มรณะ ความประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก และการถูกตัดมือตัดเท้าเป็นต้น.
               บทว่า น ปาโณ ปาณินํ หญฺเญ ความว่า สัตว์ไรๆ รู้อยู่ว่า ชาติสมภพ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ว่า ผู้ทำสัตว์อื่นให้เจริญ ย่อมได้ความเจริญในชาติสมภพ. เมื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น ย่อมได้รับการเบียดเบียนดังนี้ จึงไม่ควรฆ่าสัตว์อื่น.
               อธิบายว่า สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะเหตุไร? เพราะผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก.
               อธิบายว่า เพราะบุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ด้วยการเข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ของสัตว์อื่น ด้วยประโยคอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาประโยคทั้ง ๖ มีสาหัตถิกประโยคเป็นต้น เสวยมหันตทุกข์ อยู่ในอบายทั้ง ๔ นี้ คือในมหานรก ๘ ขุม ในอุสสทนรก ๑๖ ขุม ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน มีประการต่างๆ ในเปรตวิสัยและในอสุรกาย. ชื่อว่าย่อมเศร้าโศกด้วยความเศร้าโศก อันมีความเผาไหม้ในภายใน เป็นลักษณะ ตลอดกาลนาน.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์รู้ว่า แพะนี้เศร้าโศกแล้ว เพราะมรณภัย ฉันใด ผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน แม้ฉันนั้น ดังนี้ แล้วไม่ควรฆ่าสัตว์. อธิบายว่า ใครๆ ไม่ควรกระทำกรรม คือปาณาติบาต ก็บุคคลผู้หลงเพราะโมหะ เมื่ออวิชชากระทำให้เป็นคนบอดแล้ว ไม่เห็นโทษนี้ ย่อมกระทำปาณาติบาต.
               พระโพธิสัตว์แสดงธรรม โดยเอาภัยในนรกมาขู่ ด้วยประการอย่างนี้. มนุษย์ทั้งหลายฟังธรรมเทศนานั้นแล้ว กลัวภัยในนรก พากันงดเว้นจากปาณาติบาต.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ครั้นแสดงธรรมแล้ว ยังมหาชนให้ตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วไปตามยถากรรม. ฝ่ายมหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ กระทำบุญมีทานเป็นต้น ทำเทพนครให้เต็มแล้ว.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบต่ออนุสนธิ
               ทรงประชุมชาดกว่า ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น เราได้เป็นรุกขเทวดา แล.


               จบอรรถกถามตกภัตตชาดกที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก สีลวรรค มตกภัตตชาดก ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 17 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 18 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 19 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=117&Z=121
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=5210
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=5210
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :