ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1564 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1577 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1588 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา สังวรชาดก
ว่าด้วย พระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุทอดทิ้งความเพียรเสียแล้วรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ชานนฺโต โน มหาราชา ดังนี้.
               เรื่องมีว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา บรรพชาได้อุปสมบทแล้ว บำเพ็ญอาจาริยวัตรและอุปัชฌายวัตร ท่องพระปาฏิโมกข์ทั้งสองจนคล่อง มีพรรษาครบ ๕ เรียนกรรมฐาน ลาอาจารย์และอุปัชฌาย์ว่า ผมจักอยู่ในป่า ไปถึงบ้านชายแดนตำบลหนึ่ง พวกคนต่างเลื่อมใสในอิริยาบถพากันสร้างบรรณศาลา บำรุงอยู่ในบ้านนั้น.
               ครั้นเข้าพรรษา ก็บำเพ็ญสืบสร้างพยายาม จำเริญกรรมฐานตลอดไตรมาส ด้วยความเพียรอันปรารภแล้ว ไม่สามารถให้คุณแม้เพียงโอภาสบังเกิดได้ ดำริว่า ในบุคคลสี่เหล่าที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว เราคงเป็นประเภทปทปรมะเสียแน่แล้ว เราจะอยู่ป่าทำไม ไปพระเชตวันคอยดูพระรูปพระโฉมของพระตถาคตเจ้า สดับธรรมเทศนาอันไพเราะ ยับยั้งอยู่เถอะ.
               เธอทอดทิ้งความเพียรออกจากบ้านนั้นไปถึงพระเชตวันโดยลำดับ ถูกอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งภิกษุที่เคยรู้จักมักคุ้น รุมถามถึงเหตุที่บังคับให้มาก็บอกเรื่องนั้น ถูกภิกษุเหล่านั้นติเตียนว่า เหตุไร คุณจึงทำอย่างนี้ นำตัวไปสู่สำนักพระศาสดา.
               เมื่อตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอพาภิกษุผู้ไม่ปรารถนามากันหรือ. กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ทอดทิ้งความเพียรมาแล้ว พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสถามว่า ที่เขาว่าน่ะจริงหรือ. เมื่อกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เหตุไรจึงทอดทิ้งความเพียรเสียล่ะ ที่จริง ผลอันเลิศในพระศาสนานี้ที่มีนามว่า อรหัตผล ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เกียจคร้าน ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว จึงจะชื่นชมอธิคมธรรมได้.
               ก็แลในปางก่อน เธอก็เป็นคนมีความเพียรทนต่อโอวาท ด้วยเหตุนั้นแล แม้เป็นน้องสุดท้องแห่งโอรส ๑๐๐ ของพระเจ้าพาราณสี ตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิตทั้งหลาย ก็ถึงเศวตฉัตรได้.
               ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล พระโอรสสุดท้องนี้ได้ทรงยึดเหนี่ยวผูกน้ำใจฝูงชน ผู้ถึงพระนครพาราณสีทั่วหน้า ด้วยสังคหวัตถุนั้นๆ ได้เป็นที่รักที่เจริญใจของคนทั้งปวง.
               กาลต่อมา พวกอำมาตย์พากันกราบทูลถามพระราชาผู้ประทับนั่งเหนือพระแท่นที่สวรรคตว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ เมื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสวรรคตไป พวกข้าพระพุทธเจ้าจักถวายเศวตฉัตรให้แก่ใคร พระเจ้าข้า.
               พระองค์ตรัสสั่งว่า พ่อเอ๋ย ลูกของฉันแม้ทั้งหมด เป็นเจ้าของเศวตฉัตรทั้งนั้น แต่ผู้ใดจับใจพวกเธอ พวกเธอก็ให้เศวตฉัตรแก่ผู้นั้น ก็แล้วกัน.
               ครั้นพระองค์สวรรคต พวกอำมาตย์นั้นจัดการถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์เสร็จ ประชุมกันในวันที่ ๗ ตกลงกันว่า พระราชารับสั่งไว้ว่า ผู้ใดจับใจเธอได้ พวกเธอพึงยกเศวตฉัตรให้แก่ผู้นั้น ก็แล พระสังวรกุมารพระองค์นี้จับใจพวกเราไว้ได้ แล้วพากันยกเศวตฉัตรกาญจนมาลาแด่พระกุมารสังวรพระองค์นั้น.
               พระเจ้าสังวรมหาราชดำรงในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม.
               พระกุมาร ๙๙ พระองค์นอกนั้นเล่าต่างตรัสว่า ข่าวว่า พระราชบิดาของพวกเราสวรรคตแล้ว. ได้ยินว่า พวกอำมาตย์ยกเศวตฉัตรถวายแก่เจ้าสังวรกุมาร เธอเป็นน้องสุดท้องยังไม่ถึงเศวตฉัตรของพระบิดานั้น พวกเราต้องยกเศวตฉัตรถวายพระพี่ใหญ่ ทุกองค์มาร่วมกันส่งหนังสือถึงพระเจ้าสังวรมหาราชว่า จงให้ฉัตรแก่พวกเรา หรือไม่ก็รบกัน แล้วพากันล้อมพระนครไว้.
               พระราชาตรัสบอกเรื่องนั้นแก่พระโพธิสัตว์ แล้วตรัสถามว่า คราวนี้พวกเราจะทำอย่างไร. กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ไม่ต้องทำการรบกับพระเจ้าพี่เหล่านั้นดอก พระเจ้าข้า. พระองค์ทรงแบ่งพระราชทรัพย์ของพระบิดาออกเป็น ๙๙ ส่วน ส่งถวายแด่พระพี่เจ้า ๙๙ พระองค์ ทรงส่งสาสน์ไปด้วยว่า เชิญเจ้าพี่ทั้งหลายรับส่วนพระราชทรัพย์ของพระราชบิดาของเจ้าพี่นี้เถิด หม่อมฉันไม่ขอรบกับเจ้าพี่ดอก. พระองค์ทรงกระทำอย่างนั้น.
               ครั้งนั้น เจ้าพี่องค์ใหญ่ของพระองค์พระนามว่า อุโบสถกุมาร ตรัสเรียกพระเจ้าน้องที่เหลือมา ตรัสว่า พ่อทั้งหลาย ผู้เป็นพระราชา ก็ไม่มีผู้สามารถจะย่ำยีได้. อนึ่งเล่า เจ้าน้องของพวกเราองค์นี้ มิได้ตั้งตน แม้แต่จะเป็นศัตรูตอบ ส่งพระราชสมบัติของบิดาให้พวกเรา ส่งสาส์นมาด้วยว่า ฉันไม่ขอต่อรบกับเจ้าพี่. ก็แล พวกเราเล่าจักยกเศวตฉัตรขึ้นในขณะเดียวกัน ทุกคนไม่ได้ พวกเราให้เศวตฉัตรแก่เธอองค์เดียวก็แล้วกัน เจ้าน้องนี้เท่านั้นจงเป็นพระราชา มาเถิดเธอทั้งหลาย พวกเราพากันไปพบเธอ มอบราชทรัพย์ แล้วพากันไปสู่ชนบทของพวกเรา ดังเดิม.
               ครั้งนั้น พระกุมารแม้ทั้งหมดนั้นก็ให้เปิดประตูเมือง มิได้เป็นศัตรูเลย พากันเข้าสู่พระนคร. ฝ่ายพระราชาตรัสสั่งให้พวกอำมาตย์คุมสักการะเพื่อพระกุมารเหล่านั้น ทรงส่งสวนทางไป. พระกุมารทรงพระดำเนินมาด้วยบริวารเป็นอันมาก ขึ้นสู่พระราชวัง แสดงอาการนอบน้อมแด่พระเจ้าสังวรมหาราช พากันประทับนั่งเหนืออาสนะต่ำ. พระเจ้าสังวรมหาราชทรงประทับนั่งเหนือสีหาสนะ ภายใต้เศวตฉัตร พระยศใหญ่ พระสิริโสภาคอันใหญ่ได้ปรากฏแล้ว สถานที่ที่ทอดพระเนตรแล้วๆ ระยิบระยับไป.
               พระอุโบสถกุมารทอดพระเนตรเห็นสิริสมบัติของพระเจ้าสังวรมหาราช แล้วทรงพระดำริว่า พระราชบิดาของพวกเรา ทรงทราบความที่สังวรกุมารได้เป็นพระราชา. เมื่อพระองค์ล่วงลับไป จึงประทานชนบทอื่นๆ แก่พวกเรา มิได้ประทานแก่สังวรกุมารนี้.
               เมื่อจะทรงปราศรัยกับพระเจ้าสังวรมหาราชนั้น ได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถาว่า
               มหาราชาผู้เป็นจอมแห่งชนทรงทราบถึงพระศีลาจารวัตรของพระองค์ ทรงยกย่องพระกุมารเหล่านี้ มิได้สำคัญพระองค์ด้วยชนบทอะไรเลย.
               เมื่อพระมหาราชาผู้สมมติเทพยังทรงพระชนม์อยู่ หรือทิวงคตแล้วก็ตาม พระประยูรญาติผู้เห็นประโยชน์ตนเป็นสำคัญ พากันยอมรับนับถือพระองค์.
               ข้าแต่พระเจ้าสังวรราช ด้วยพระศีลาจารวัตรข้อไหน พระองค์จึงสถิตอยู่เหนือพระเชษฐภาดาผู้ทรงร่วมกำเนิดได้. ด้วยพระศีลาจารวัตรข้อไหน หมู่พระญาติที่ประชุมกันแล้ว จึงไม่ย่ำยีพระองค์ได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานนฺโต โน แปลว่า ทรงทราบแน่นอนอยู่.
               บทว่า ชนาธิโป ความว่า พระจอมนรชนผู้พระราชบิดาของพวกหม่อมฉัน.
               บทว่า อิเม ได้แก่ ซึ่งพระกุมาร ๙๙ พระองค์เหล่านี้. แต่ในคัมภีร์พระบาลีทั้งหลาย ท่านเขียนไว้ว่า กุมารเหล่าอื่น.
               บทว่า ปูเชนฺโต ความว่า ทรงยกย่องด้วยชนบทนั้นๆ.
               บทว่า น ตํ เกนจิ ความว่า แต่มิได้ทรงสำคัญพระองค์ว่า ควรจะทรงเชิดชูแม้ด้วยชนบทน้อยๆ เลย ชะรอยจะทรงทราบถึงพระองค์ว่า ผู้นี้เมื่อเราล่วงลับไป จักได้เป็นพระราชา จึงให้ประทับอยู่แทบบาทมูลของตน.
               บทว่า ติฏฺฐนฺเต โน ความว่า ไม่ว่าจะเป็น เมื่อพระมหาราชผู้สมมติเทพยังทรงพระชนม์อยู่. พระองค์ตรัสถามด้วย บทว่า นุ แปลว่า มิใช่หรือ.
               บทว่า อาทู เทเว ความว่า หรือว่า เมื่อพระบิดาของพวกเราเสด็จทิวงคต หมู่พระญาติกับชาวนิคมชาวชนบทที่เป็นข้าราชการ เห็นประโยชน์ คือความเจริญของตน ต่างยอมรับนับถือพระองค์ว่า เป็นพระราชาเถิดด้วยพระศีลาจารวัตรไรเล่า.
               บทว่า สญฺชาเต อภิติฏฺฐสิ ความว่า พระองค์ทรงครอบงำพระญาติผู้มีกำเนิดเสมอกัน คือพระภาดา ๙๙ พระองค์เสีย ประทับอยู่ได้.
               บทว่า นาติวตฺตนฺติ ความว่า พระญาติเหล่านั้นพากันครอบงำพระองค์มิได้.

               พระเจ้าสังวรมหาราชทรงสดับพระดำรัสนั้น.
               เมื่อทรงแถลงพระคุณของพระองค์ ได้ตรัสคาถา ๖ คาถาว่า
               ข้าแต่พระราชบุตร หม่อมฉันมิได้ริษยาสมณะทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง หม่อมฉันนอบน้อมท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไหว้เท้าของท่านผู้คงที่.
               สมณะเหล่านั้นยินดีแล้วในธรรมของผู้แสวงหาคุณ ย่อมพร่ำสอนหม่อมฉันผู้ประกอบในคุณธรรม ผู้พอใจฟัง ไม่มีความริษยา.
               หม่อมฉันได้ฟังคำของสมณะผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวงเหล่านั้น แล้วมิได้ดูหมิ่น สักน้อยหนึ่งเลย ใจของหม่อมฉันยินดีแล้วในธรรม.
               กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลเดินเท้า หม่อมฉันไม่ตัดเบี้ยเลี้ยง และบำเหน็จบำนาญของจตุรงคเสนาเหล่านั้น ให้ลดน้อยลง.
               อำมาตย์ผู้ใหญ่ และข้าราชการผู้มีปรีชาของฉัน มีอยู่ ช่วยกันบำรุงพระนครพาราณสี ให้มีเนื้อมาก มีน้ำดี.
               อนึ่ง พวกพ่อค้าผู้มั่งคั่งมาแล้ว จากรัฐต่างๆ หม่อมฉันช่วยจัดอารักขาให้พ่อค้าเหล่านั้น ขอได้โปรดทราบอย่างนี้เถิด เจ้าพี่อุโบสถ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ราชปุตฺต ความว่า ข้าแต่พระราชบุตร หม่อมฉันมิได้กีดกันใครๆ เลยว่า สมบัติอย่างนี้ จงอย่ามีแก่ผู้นี้.
               บทว่า ตาทินํ ความว่า หม่อมฉันกราบไหว้บาทยุคลแห่งหมู่สมณะผู้ทรงธรรม ผู้ประกอบด้วยลักษณะอันคงที่ ได้นามว่าสมณะ เพราะท่านสงบบาปได้แล้ว ได้นามว่าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง เพราะท่านแสดงคุณ มีศีลขันธ์เป็นต้นอันใหญ่ ด้วยเบญจางประดิษฐ์. เมื่อจะให้ทาน และเมื่อจะจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแด่ท่านเหล่านั้นก็นอบน้อมท่านเหล่านั้นโดยเคารพ คือบูชาอย่างใจรักใคร่ทีเดียว.
               บทว่า เต มํ ความว่า สมณะเหล่านั้นรู้จักหม่อมฉันโดยถ่องแท้ว่า กุมารนี้ขวนขวายในส่วนแห่งธรรม รับฟังด้วยดี มิได้มีความริษยา ก็พากันพร่ำสอนหม่อมฉันผู้ประกอบด้วยธรรมคุณ รับฟังด้วยดี ไม่ริษยา คือพากันให้โอวาทว่า กระทำข้อนี้ อย่ากระทำข้อนี้.
               บทว่า เตสาหํ ตัดบทเป็น เตสํ อหํ.
               บทว่า หตฺถาโรหา ความว่า พวกพลช้าง คือนักรบที่ขึ้นช้างรบ.
               บทว่า อนีกฏฺฐา ความว่า ตั้งอยู่ในกองทัพช้างเป็นต้น.
               บทว่า รถิกา ได้แก่ พลรถ (นักรบขี่รถ).
               บทว่า ปตฺติการกา ได้แก่ พวกพลรบเดินเท้า.
               บทว่า นิพฺพิตฺถํ ความว่า สินจ้างรางวัลอันใดที่พวกเหล่านั้นจัดเตรียมไว้ หม่อมฉันมิได้ลดหย่อนสินจ้างรางวัลนั้น คือให้อย่างไม่ต้องลดเลย.
               บทว่า มหามตฺตา ความว่า ข้าแต่พี่ชาย หมู่มหาอำมาตย์ผู้มีปัญญามาก คือผู้ฉลาดในมนต์ทั้งหลาย และผู้บำรุง อันมีความคิดอ่านที่เหลือของหม่อมฉัน มีอยู่. หม่อมพี่ไม่ได้อาจารย์ผู้สมบูรณ์ด้วยความคิด เป็นบัณฑิต แต่อาจารย์ของหม่อมฉันเป็นบัณฑิต ฉลาดในอุบาย ท่านเหล่านั้นเกี่ยวโยงหม่อมฉันไว้ด้วยเศวตฉัตร.
               บทว่า พาราณสี ความว่า ข้าแต่พี่ จำเดิมแต่กาลที่ยกฉัตร ถวายแก่หม่อมฉันแล้ว ท่านพวกนั้นต่างรู้ถึงมัจฉมังสาหารที่ควรเคี้ยวกิน และน้ำดีๆ ก็ควรดื่ม อันจะมีในพระนครพาราณสีว่า พระราชาของพวกเราทรงธรรม ฝนย่อมตกทุกๆ กึ่งเดือน ข้าวกล้าต่างๆ ย่อมสมบูรณ์ ด้วยอาการอย่างนี้ ชาวพระนครก็พากันอยู่กระทำพระนครพาราณสี ให้มีมัจฉมังสาหารและน้ำท่ามากมาย.
               บทว่า ผีตา ความว่า พวกพ่อค้าผู้ไม่ถูกประทุษร้าย นำช้างแก้ว ม้าแก้วและแก้วมุกดาเป็นต้น มาทำการค้า พากันมั่งคั่งร่ำรวยไปตามกัน.
               บทว่า เอวํ ชานาหิ ความว่า ข้าแต่พี่อุโปสถ ด้วยเหตุเหล่านี้ เพียงเท่านี้ หม่อมฉันถึงจะเป็นน้องสุดท้อง ก็ครอบงำพี่ทั้งหลายของหม่อมฉัน ถึงเศวตฉัตรได้ โปรดทรงทราบด้วยประการฉะนี้.

               ครั้นพระอุโบสถกุมารทรงสดับพระคุณของพระองค์ แล้วได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถาว่า
               ข้าแต่พระเจ้าสังวรราช ได้ยินว่า พระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติแห่งหมู่พระญาติโดยธรรม พระองค์เป็นผู้มีพระปรีชาด้วย เป็นบัณฑิตด้วย ทั้งทรงเกื้อกูลพระประยูรญาติด้วย.
               ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่เบียดเบียนพระองค์ ผู้แวดล้อมไปด้วยพระประยูรญาติ ทรงพร้อมมูลด้วยรัตนะต่างๆ เหมือนจอมอสูรไม่เบียดเบียนพระอินทร์ ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน กิร ความว่า ข้าแต่พระสังวรมหาราช ได้ยินว่า พระองค์ทรงครอบงำอานุภาพแห่งญาติ คือพระเชษฐภาดาทั้งหลายของพระองค์ทั้ง ๙๙ คนเสีย. จำเดิมแต่นี้ เชิญพระองค์นั้นแลทรงครองราชสมบัติโดยธรรมเถิด พระองค์เล่าก็ทรงหลักแหลม ทั้งเป็นบัณฑิต และยังเกื้อกูลแก่หมู่ญาติ.
               บทว่า ตํ ตํ ได้แก่ ซึ่งพระองค์ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณต่างๆ อย่างนี้.
               บทว่า ญาติปริพฺยุฬฺหํ ความว่า ผู้อันหม่อมฉันผู้เป็นญาติ ๙๙ คนแวดล้อม.
               บทว่า นานารตนโมจิตํ ความว่า ทรงพร้อมมูลมั่งคั่งด้วยนานารัตนะ คือทรงสั่งสมรัตนะไว้มากมาย.
               บทว่า อสุราธิโป ความว่า เปรียบเหมือนอสุรราชไม่ย่ำยีพระอินทร์ผู้อันเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์แวดล้อมแล้วฉันใด หมู่มิตรจะไม่ย่ำยีพระองค์ผู้อันพวกหม่อมฉันคอยป้องกันแวดล้อมแล้ว ทรงครองราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี มีบริเวณ ๑๒ โยชน์ในแคว้นกาสี อันมีอาณาเขต ๓๐๐ โยชน์ฉันนั้น.

               พระเจ้าสังวรมหาราชทรงประทานยศใหญ่แด่พระเจ้าพี่ทุกพระองค์. พระเจ้าพี่เหล่านั้นประทับอยู่ในสำนักของพระองค์ ตลอดกึ่งเดือน กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พวกหม่อมฉันจักคอยระวังพวกโจรที่กำเริบขึ้นในชนบททั้งหลาย เชิญพระองค์ทรงเสวยสุขในราชสมบัติเถิด แล้วเสด็จไปสู่ชนบทของตนๆ.
               พระราชาทรงดำรงในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ในที่สุดแห่งพระชนมายุ ได้ไปเพิ่มเทพนครให้เต็ม.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุ ครั้งก่อน เธอทนต่อโอวาทเช่นนี้ บัดนี้ เหตุไร ไม่กระทำความเพียร ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
               ทรงประชุมชาดกว่า
                         สังวรกุมารผู้เป็นพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้
                         อุโบสถกุมารได้มาเป็น พระสารีบุตร
                         เจ้าพี่ที่เหลือได้เป็นเถรานุเถระ
                         และบริษัทได้มาเป็นพุทธบริษัท
                         ส่วนอำมาตย์ผู้ถวายโอวาทได้มาเป็น เราตถาคต แล.

               จบอรรถกถาสังวรชาดกที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังวรชาดก ว่าด้วย พระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1564 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1577 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1588 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=6309&Z=6339
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=1184
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=1184
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :