ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1380 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1390 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1400 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา นิโครธชาดก
ว่าด้วย การคบคนดี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า น จาหเมตํ ชานามิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องพระเทวทัต ที่ภิกษุทั้งหลายตักเตือนว่า ดูก่อนท่านเทวทัต พระศาสดาทรงมีพระอุปการะแก่เธอมา เพราะเธอได้อาศัยพระองค์ จึงได้บรรพชาอุปสมบท ได้เรียนพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก และได้ฌาน แม้ลาภสักการะของเธอก็เกิดแต่พระทศพลทั้งนั้น.
               พระเทวทัตยังยกสลากหญ้าขึ้นประกาศว่า อุปการคุณแม้เพียงเท่านี้ เราก็ไม่แลเห็นว่า พระสมณโคดมกระทำให้แก่เรา ดังนี้.
               พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตเป็นอกตัญญูประทุษร้ายมิตร แม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญูประทุษร้ายเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล พระเจ้ามคธราชครองราชสมบัติอยู่ในนครราชคฤห์ ครั้งนั้น เศรษฐีเมืองราชคฤห์ได้ขอธิดาของเศรษฐีในชนบทมาให้เป็นภรรยาของบุตรตน นางนั้นเป็นหญิงหมัน ต่อมาภายหลังตระกูลนั้นก็เสื่อมลาภสักการะลง เขาพูดกันให้นางนั้นได้ยินว่า เมื่อหญิงหมันมาอยู่เรือนลูกชายเรา วงศ์ตระกูลจักเจริญได้อย่างไร.
               นางได้ฟังคำนั้นจึงคิดว่า ช่างเถอะ เราจักทำมีครรภ์ลวงคนเหล่านี้ แล้วกล่าวถามหญิงพี่เลี้ยงที่ไว้วางใจ ถึงวิธีการของหญิงมีครรภ์ว่า ธรรมดาหญิงที่มีครรภ์จะต้องทำอย่างไรบ้าง? ครั้นได้ฟังแล้ว เมื่อถึงคราวมีระดูก็ปกปิดเสีย แสดงกิริยาของหญิงแพ้ท้อง มีชอบของเปรี้ยวเป็นต้น ในเวลาที่มือเท้าบวมจึงทุบหลังมือหลังเท้าให้นูน เอาผ้าเก่าพันท้องให้โตขึ้นทุกวันๆ ทำหัวนมให้ดำ แม้จะทำสรีรกิจก็ไม่ทำต่อหน้าคนอื่นนอกจากหญิงพี่เลี้ยงคนนั้น แม้สามีก็ได้ช่วยบริหารครรภ์แก่นาง.
               อยู่มาได้ ๙ เดือนด้วยอาการอย่างนี้ นางจึงลาพ่อผัวแม่ผัวจะไปคลอดบุตร ณ เรือนบิดาในชนบทแล้วก็ขึ้นรถ ออกจากเมืองราชคฤห์เดินทางไปด้วยบริวารใหญ่.
               ข้างหน้านาง มีพวกเกวียนไปพวกหนึ่ง นางไปถึงที่ซึ่งพวกเกวียนหยุดพักแล้วไปในเวลาอาหารเช้า วันหนึ่งหญิงเข็ญใจคนหนึ่งที่อาศัยไปในพวกเกวียนนั้น คลอดบุตรที่โคนต้นไทรต้นหนึ่งในกลางคืน ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพวกเกวียนออกเดินทาง จึงคิดว่า เราเว้นพวกเกวียนเสียแล้วไม่อาจไปได้ แลเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ก็อาจที่จะได้บุตร ดังนี้แล้วจึงเอารถและครรภ์มลทินมาราดลงที่ควงข่ายต้นไทรแล้วทิ้งบุตรไป เทวดาได้มาอารักขาทารกไว้ เพราะทารกนั้นไม่ใช่สัตว์สามัญ คือองค์พระโพธิสัตว์ทีเดียว แลครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้มาถือปฏิสนธิเช่นนั้น.
               เวลาเช้า หญิงหมันได้ไปถึงที่นั้นในเวลาอาหารเช้า คิดว่าจักทำสรีรกิจ จึงไปที่โคนต้นไทรกับหญิงพี่เลี้ยงนั้น เห็นทารกมีวรรณะดังทอง จึงพูดกับพี่เลี้ยงว่า กิจของเราสำเร็จแล้ว แล้วก็แก้ผ้าพันท้องออก เอาโลหิตและครรภมลทินทาหน้าขา แล้วบอกว่าตนคลอดบุตร ทันใดนั้น พวกบริวารชนต่างพากันร่าเริงยินดี ช่วยกันเอาม่านกั้นให้นาง แล้วมีหนังสือส่งไปนครราชคฤห์.
               ลำดับนั้น พ่อผัวแม่ผัวของนางมีหนังสือส่งไปว่า เมื่อคลอดแล้วก็ไม่ต้องไปตระกูลบิดา จงกลับมาที่นี้เถิด นางจึงกลับเข้านครราชคฤห์ทันที เมื่อจะรับขวัญตั้งชื่อทารก ญาติทั้งหลายตั้งชื่อให้ว่า นิโครธกุมาร เพราะเกิดที่โคนต้นไทร.
               ในวันเดียวกันนั้น หญิงสะใภ้ของอนุเศรษฐี ก็ไปตระกูลบิดามารดาเพื่อจะคลอดบุตร ได้คลอดบุตรที่ใต้กิ่งไม้แห่งหนึ่งในระหว่างทาง พวกญาติได้ตั้งชื่อให้ทารกนั้นว่าสาขกุมาร.
               และในวันเดียวกันนั้น ภรรยาของช่างชุนที่อาศัยมหาเศรษฐีอยู่ ก็คลอดบุตรที่ระหว่างกองผ้าขี้ริ้ว พวกญาติจึงตั้งชื่อให้ทารกนั้นว่าโปติกะ.
               มหาเศรษฐีทราบว่า ทารกทั้งสองคนนั้นเกิดในวันที่นิโครธกุมารเกิด จึงนำมาบำรุงเลี้ยงไว้ร่วมกับนิโครธกุมาร กุมารทั้งสามนั้นเติบโตมาพร้อมๆ กัน ครั้นเจริญวัยแล้วจึงไปเมืองตักกสิลาเรียนศิลปะ สองบุตรเศรษฐีให้ทรัพย์เป็นค่าสอนแก่อาจารย์คนละพัน แต่โปติกกุมารคอยรับเรียนศิลปะในสำนักนิโครธกุมาร. เมื่อกุมารทั้งสามสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงลาอาจารย์ออกเที่ยวไปตามชนบท ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ นอนอยู่ ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง.
               ครั้งนั้น เป็นคราวที่พระเจ้าพาราณสีเสด็จสวรรคตได้เจ็ดวัน พวกเสนามาตย์ให้ตีกลองประกาศทั่วนครว่า วันพรุ่งนี้จักเสี่ยงบุศยราชรถ ขณะที่เพื่อนรักทั้งสามพากันนอนหลับอยู่ที่โคนต้นไม้ โปติกะลุกขึ้นเวลาเช้ามืด นั่งนวดฟั้นเท้านิโครธกุมารอยู่.
               บนต้นไม้นั้นมีไก่นอนอยู่สองตัว ไก่ตัวบนถ่ายอุจจาระลงถูกไก่ตัวล่าง. ลำดับนั้น ไก่ตัวล่างจึงถามไก่ตัวบนว่า ใครถ่ายอุจจาระ. ไก่ตัวบนตอบว่า เพื่อนอย่าโกรธเลย เราไม่รู้จึงถ่ายลง. ไก่ตัวล่างต่อว่าไก่ตัวบนว่า เจ้าสัตว์ร้าย เจ้าเข้าใจว่าตัวข้าเป็นที่ถ่ายอุจจาระของเจ้าหรือ เจ้าไม่รู้จักความดีของข้าหรือ? ไก่ตัวบนกล่าวกะไก่ตัวล่างนั้นว่า เจ้าสัตว์ร้าย เมื่อข้าซึ่งเป็นผู้ไม่รู้ยอมรับแล้วว่าถ่ายเอง เจ้ายังโกรธอยู่อีก อะไรนะที่เป็นความดีของเจ้า. ไก่ตัวล่างตอบว่า ผู้ใดฆ่าเราแล้วกินเนื้อ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์พันหนึ่งแต่เช้าทีเดียว ฉะนั้น ข้าจึงถือตัวนัก ไก่ตัวบนกล่าวกะไก่ตัวล่างนั้นว่า เจ้าสัตว์ร้าย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เจ้ายังถือตัวได้ เรานี่สิถ้าใครฆ่าแล้วกินเนื้อกล้ามของเรา เขาจะได้เป็นพระราชาแต่เช้าทีเดียว คนที่กินเนื้อกลางๆ จะได้เป็นเสนาบดี คนที่กินเนื้อติดกระดูกจะได้เป็นขุนคลัง.
               โปติกะได้ยินถ้อยคำของไก่ทั้งสองนั้น จึงคิดว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยทรัพย์พันหนึ่ง ราชสมบัติเท่านั้นประเสริฐ จึงค่อยๆ ขึ้นต้นไม้ไปจับไก่ตัวที่นอนบนลงมาฆ่า ย่างบนถ่านไฟแล้วฉีกเนื้อกล้ามให้นิโครธกุมาร ให้เนื้อกลางๆ แก่สาขกุมาร ตัวเองบริโภคเนื้อติดกระดูก.
               ก็แลครั้นบริโภคกันแล้ว โปติกะจึงพูดว่า เพื่อนนิโครธ วันนี้ท่านจักได้เป็นพระราชา เพื่อนสาขะ วันนี้ท่านจักได้เป็นเสนาบดี ส่วนเราจักได้เป็นขุนคลัง ถูกสองสหายถามว่า ท่านรู้ได้อย่างไร? จึงเล่าเรื่องราวให้ฟังทุกประการ.
               สามสหายนั้น ครั้นถึงเวลาบริโภคอาหารเช้า ก็พากันเข้าเมืองพาราณสี บริโภคข้าวปายาสที่ระคนด้วยเนยใสและน้ำตาลกรวดที่เรือนพราหมณ์คนหนึ่ง แล้วออกจากเมืองเข้าพระราชอุทยาน นิโครธกุมารนอนบนแผ่นศิลา สองกุมารนอนข้างนอก.
               ขณะนั้น พวกเสนามาตย์ทั้งหลายได้เอาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์วางไว้ภายในบุศยราชรถแล้วปล่อยไป.
               ความพิสดารของการเรื่องบุศยราชรถนั้น จักมีแจ้งใน มหาชนกชาดก.
               บุศยราชรถไปถึงพระราชอุทยานก็หันกลับหยุดอยู่ ประหนึ่งว่าเตรียมการคอยท่าให้คนขึ้น ปุโรหิตคิดว่า สัตว์ผู้มีบุญคงจะมีในพระราชอุทยาน จึงเข้าพระราชอุทยาน เห็นกุมารเข้าก็เลิกผ้าปลายเท้าขึ้น พิจารณาลายลักษณ์ที่เท้าทั้งสอง ก็ทราบชัดว่า ราชสมบัติเมืองพาราณสียังคงดำรงอยู่ต่อไป กุมารนี้สมควรเป็นราชาธิราชใหญ่ยิ่งทั่วชมพูทวีป จึงสั่งให้ประโคมขึ้น.
               นิโครธกุมารตื่นขึ้น เลิกผ้าคลุมหน้าออกแลเห็นคนประชุมกันมาก พลิกกลับมานอนปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปอีกหน่อยหนึ่ง แล้วลุกขึ้นนั่งขัดสมาธิบนแผ่นศิลา.
               ลำดับนั้น ปุโรหิตคุกเข่าลงกล่าวกะนิโครธกุมารนั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ราชสมบัติถึงแก่พระองค์แล้ว.
               เมื่อนิโครธกุมารกล่าวว่า ดีแล้ว ก็จัดราชพิธีให้นั่งเหนือกองแก้ว ณ ที่นั้น แล้วอภิเษกตามราชประเพณี. นิโครธกุมารนั้นครองราชสมบัติแล้วพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่สาขกุมาร แล้วเสด็จเข้าพระนครด้วยสักการะใหญ่ แม้โปติกะก็ตามเสด็จเข้าไปด้วย.
               จำเดิมแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ได้ครองราชสมบัติในนครพาราณสีโดยธรรม.
               วันหนึ่งพระองค์ทรงระลึกถึงมารดาบิดา จึงกล่าวกะสาขะว่า แน่ะเพื่อน เราไม่อาจอยู่โดยปราศจากมารดาบิดาได้ ท่านพร้อมด้วยบริวารใหญ่จงไปหามารดาบิดาของเรามา.
               สาขเสนาบดีทูลปฏิเสธว่า ข้าพระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องไปในที่นั้น.
               ต่อจากนั้น พระราชารับสั่งโปติกะให้ไปรับ โปติกกุมารรับพระราชบัญชาว่า ได้พระเจ้าข้า แล้วก็ไป ณ ที่นั้น เข้าไปหาพระชนกชนนีของพระเจ้านิโครธราช แจ้งว่า นิโครธกุมารบุตรของท่านได้ราชสมบัติแล้ว มาเถิด ท่านเราจักไป ณ ที่นั้น. พระชนกชนนีจึงห้ามว่า อย่าให้เราไปเลย สมบัติของเราก็มีอยู่แล้ว.
               โปติกกุมารจึงมาบอกมารดาบิดาของสาขเสนาบดี ท่านทั้งสองนั้นก็ไม่ยอมไป จึงได้มาหามารดาบิดาของตน อ้อนวอนจะให้ไปอยู่ด้วย ท่านทั้งสองนั้นก็ห้ามเสียว่า ลูกรัก เราจักขอเป็นอยู่ด้วยทำการชุนเช่นนี้ อย่าให้เราต้องไปเลย.
               โปติกกุมารครั้นไม่ได้มารดาบิดาไปแล้ว ก็กลับมายังเมืองพาราณสี คิดว่าจะไปพักที่เรือนของเสนาบดีให้หายเหนื่อยแล้วจึงจะเข้าเฝ้าพระเจ้านิโครธราชต่อภายหลัง จึงไปที่ประตูเรือนเสนาบดี กล่าวกะนายประตูว่า จงไปบอกท่านเสนาบดีว่า นายโปติกะสหายของท่านมาหา นายประตูได้ทำตามนั้น.
               ฝ่ายสาขเสนาบดีผูกเวรในโปติกกุมารว่า โปติกะนี้ไม่ให้ราชสมบัติแก่เรา ไปให้แก่นิโครธกุมารผู้สหายเสีย พอสาขเสนาบดีได้ฟังคำนั้นเท่านั้นก็โกรธออกมาด่าว่า ใครเป็นสหายของไอ้คนนี้ มันเป็นคนบ้า ลูกอีทาสี จงจับมันไป แล้วให้บ่าวใช้มือเท้าศอกเข่าทุบถอง จับคอไสออกไป.
               โปติกกุมารนั้นคิดว่า ไอ้สาขะ มันได้ตำแหน่งเสนาบดีก็เพราะเรา มันยังอกตัญญูประทุษร้ายมิตร ให้คนทุบถองขับไล่เรา แต่ท่านนิโครธเป็นบัณฑิตกตัญญู เป็นสัตบุรุษ เราจักไปเฝ้าท่าน แล้วไปยังประตูพระราชวัง ให้นายประตูเข้าไปกราบทูลแด่พระราชาว่า
               นัยว่า พระสหายของพระองค์ชื่อว่าโปติกะ มาเฝ้าอยู่ที่ประตู.
               พระราชารับสั่งให้เข้ามา ครั้นทอดพระเนตรเห็นนายโปติกะมาก็เสด็จลุกจากพระราชอาสน์ออกต้อนรับทรงปฏิสันถาร ตรัสสั่งให้ช่างกัลบกมาแต่งผมและหนวด แล้วให้ประดับเครื่องสรรพาภรณ์ และให้บริโภคโภชนะอันประณีตที่มีรสอันเลิศ แล้วประทับตรัสด้วยถามฉันมิตรกับโปติกะ ตรัสถามถึงข่าวคราวของพระชนกชนนี ทรงทราบว่าท่านไม่ยอมมา.
               แม้สาขเสนาบดีก็คิดว่า นายโปติกะคงทำลายเราในสำนักพระราชา แต่เมื่อเราไปเฝ้าเขาคงไม่อาจกล่าวโทษอะไรๆ คิดดังนี้แล้วจึงไปเฝ้า ณ พระราชสำนักนั้นแหละ.
               นายโปติกะได้กราบทูลพระราชาต่อหน้าสาขเสนาบดีนั้นแลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์เหน็ดเหนื่อยมาตามทาง คิดว่า จะไปเรือนท่านสาขะพักผ่อนแล้ว จักเข้าเฝ้า แต่ท่านสาขะกล่าวกะข้าพระองค์ว่า จำข้าพระองค์ไม่ได้ให้คนทุบถองจับคอไสออกไป ขอพระองค์ได้ทรงเชื่อดังนี้เถิด.
               แล้วกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
               ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงนามว่านิโครธ ท่านสาขะเสนาบดีพูดว่า เราไม่รู้จักคนนี้เลยว่าเป็นใครกัน หรือเป็นเพื่อนของใคร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยอย่างไร.
               ลำดับนั้น บุรุษผู้ทำตามคำของท่านสาขะเสนาบดี เข้าจับคอ ตบหน้าข้าพระองค์ ขับไสออกไป.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชานิกร กรรมอันไม่ประเสริฐเช่นนี้ อันท่านสาขะเสนาบดีผู้เป็นเพื่อนเก่าของพระองค์ เป็นคนมีความคิดทราม เป็นคนอกตัญญูประทุษร้ายมิตร ได้กระทำแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺติ มญฺญสิ ความว่า ท่านสาขเสนาบดีได้กล่าวกะข้าพระองค์อย่างใด พระองค์จะทรงเข้าพระทัยอย่างนั้นหรือไม่. อธิบายว่า ท่านสาขเสนาบดีกล่าวอย่างนี้กะข้าพระองค์ พระองค์จงทรงเชื่อหรือไม่?
               บทว่า คลวินีเตน คือ จับที่คอ. บทว่า ทุพฺภินา ได้แก่ผู้ประทุษร้ายมิตร.

               พระเจ้านิโครธราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสพระคาถา ๔ พระคาถาว่า :-
               ดูก่อนสหาย เรื่องนี้เราไม่รู้เลย แม้ใครๆ ก็มิได้บอกเรา ท่านมาบอกเราแล้วว่า ท่านสาขะเสนาบดีฉุดคร่าท่าน.
               ท่านเป็นคนทำเพื่อนให้มีชีวิตอยู่สบายดี ท่านเป็นคนให้อิสริยยศ คือความเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์แก่เรา และแก่สาขะเสนาบดีทั้งสองคน เราได้รับความสำเร็จเพราะท่าน ในข้อนี้เราไม่มีความสงสัยเลย.
               กรรมที่บุคคลทำในอสัตบุรุษ ย่อมฉิบหายไม่งอกงาม เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในไฟ ย่อมถูกไฟไหม้ไม่งอกงาม ฉะนั้น.
               ส่วนกรรมที่บุคคลทำในคนกตัญญู มีศีล มีความประพฤติประเสริฐ ย่อมไม่ฉิบหายไป เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดี ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํสติ แปลว่า บอกกล่าว. บทว่า กฑฺฌนํ กตํ ได้แก่ ทำการฉุดคร่า กล่าวคือการฉุดมาฉุดไปโดยโบยและทุบตี.
               บทว่า สขีนํ สาชีวงฺกโร ความว่า ดูก่อนโปติกะผู้สหาย ท่านเป็นคนทำเพื่อนให้มีชีวิตอยู่สบาย คือเป็นผู้ให้ความอยู่เกิดขึ้นแก่เพื่อน.
               บทว่า มม สาขสฺส จูภยํ คือ แก่เราและแก่สาขเสนาบดีผู้เป็นเพื่อนกันทั้งสองคน.
               บทว่า ตฺวํ โนปิสฺสริยํ ความว่า อนึ่ง ท่านเป็นผู้ให้อิสริยยศแก่พวกเรา คือพวกเราได้อิสริยยศนี้เพราะท่าน. บทว่า มหคฺคตํ ความว่า คือความเป็นใหญ่.

               แลเมื่อพระเจ้านิโครธราชกำลังตรัสอยู่อย่างนี้ สาขเสนาบดีได้ยืนอยู่ ณ ที่นั้นเอง. ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามเขาว่า ท่านสาขะ ท่านจำโปติกะนี้ได้ไหม? สาขเสนาบดีได้นั่งอยู่.
               พระองค์ เมื่อจะลงพระราชอาญาแก่เขา ได้ตรัสพระคาถาที่ ๘ ว่า :-
               ราชบุรุษทั้งหลายจงฆ่าสาขะเสนาบดี ผู้ชั่วช้ามักหลอกลวง มีความคิดอย่างอสัตบุรุษคนนี้เสียด้วยหอกทั้งหลาย เราไม่อยากให้มันมีชีวิตอยู่เลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชมฺมํ แปลว่า ผู้เลวทราม.
               บทว่า เนกติกํ แปลว่า ผู้หลอกลวง.

               นายโปติกะได้ฟังดังนั้นคิดว่า ไอ้คนพาลนี้จงอย่าฉิบหายเพราะเราเลย.
               จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-
               ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ได้โปรดอดโทษให้แก่เขาเถิด ชีวิตของคนตายแล้วไม่อาจจะนำกลับคืนมาได้ ขอได้ทรงโปรดอดโทษแก่อสัตบุรุษเถิดพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่อยากให้ฆ่าเขา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขมตสฺส คือ ขมตทสฺส ความว่า ขอพระองค์ได้โปรดอดโทษให้แก่อสัตบุรุษนี้เถิด. บทว่า ทุปฺปฏิอานยา คืออันชีวิตของคนที่ตายอันใครๆ ไม่อาจที่จะนำกลับคืนมาได้.

               พระราชาได้ทรงสดับถ้อยคำของโปติกะแล้ว ก็ทรงยกโทษให้สาขะ พระองค์ประสงค์จะพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่นายโปติกะ แต่เขาไม่ประสงค์.
               ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงพระราชทานตำแหน่งขุนคลัง เพิ่มอำนาจให้มีหน้าที่ตรวจตราราชการทั้งหมด ได้ยินว่า ฐานันดรเช่นนั้น แต่ก่อนไม่เคยมีเพิ่งมีขึ้นแต่นั้นมา ต่อมา ท่านขุนคลังโปติกะเจริญด้วยบุตรธิดา กล่าวสอนบุตรธิดาของตนด้วยคาถาสุดท้ายว่า :-
               ควรคบแต่ท่านนิโครธเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปคบเจ้าสาขะอยู่ ตายเสียในสำนักท่านนิโครธประเสริฐกว่า เป็นอยู่ในสำนักเจ้าสาขะจะประเสริฐอะไร.


               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนาเรื่องนี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญูอย่างนี้แหละ แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               สาขเสนาบดีในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเทวทัต ในบัดนี้
               โปติกะขุนคลังในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนพระเจ้านิโครธราชในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถานิโครธชาดกที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิโครธชาดก ว่าด้วย การคบคนดี จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1380 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1390 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1400 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5690&Z=5718
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=9461
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=9461
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :