ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 137 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 138 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 139 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โคธชาดก
ว่าด้วย ฤาษีหลอกกินเหี้ย

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กินฺเต ชฏาหิ ทุมฺเมธ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในหนหลังนั่นแล.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดเหี้ย ครั้งนั้น ดาบสรูปหนึ่งได้อภิญญา ๕ มีตบะกล้า อาศัยปัจจันตคามตำบลหนึ่ง อยู่ ณ บรรณศาลาชายป่า พวกชาวบ้านช่วยกันบำรุงพระดาบสด้วยความเคารพ. พระโพธิสัตว์ก็ได้อยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ณ ที่สุดที่จงกรมของท่าน ก็แลเมื่ออยู่นั้น ได้ไปหาพระดาบสวันละ ๓ ครั้งทุกๆ วัน ฟังคำอันประกอบด้วยเหตุประกอบด้วยผลแล้ว ไหว้พระดาบสแล้วกลับไปสู่ที่อยู่ของตน.
               ต่อมา พระดาบสก็อำลาพวกชาวบ้านหลีกไป ก็แลเมื่อพระดาบสผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและวัตรนั้นหลีกไปแล้ว มีดาบสโกงอื่นมาพำนักอยู่ในอาศรมบทนั้น พระโพธิสัตว์กำหนดว่า แม้ท่านผู้นี้ก็มีศีล จึงได้ไปสู่สำนักของเขาโดยนัยก่อนนั่นแล.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเมฆตั้งขึ้นในสมัยใช่กาล ยังฝนให้ตกลงมาในฤดูแล้ง ฝูงแมลงเม่าพากันออกจากจอมปลวกทั้งหลาย ฝูงเหี้ยก็พากันออกเที่ยวหากินแมลงเม่าเหล่านั้น พวกชาวบ้านก็พากันออกจับเหี้ยที่กินแมลงเม่าได้เป็นอันมาก แล้วจัดทำเป็นเนื้อส้ม ปรุงด้วยเครื่องปรุงอันอร่อย ถวายพระดาบส.
               ดาบสฉันเนื้อส้มแล้วติดใจในรส จึงถามว่า เนื้อนี้อร่อยยิ่งนัก เนื้อนั้นเป็นเนื้อของสัตว์ประเภทไหน? ครั้นได้ยินเขาบอกว่าเนื้อเหี้ย ก็ดำริว่า เหี้ยตัวใหญ่มาในสำนักของเรา จักฆ่ามันกินเนื้อเสีย แล้วให้คนขนภาชนะสำหรับต้มแกงและวัตถุมีเนยใสและเกลือเป็นต้น วางไว้ข้างหนึ่ง ถือไม้ค้อนซ่อนไว้ด้วยผ้าห่ม คอยการมาของพระโพธิสัตว์ อยู่ที่ประตูบรรณศาลา นั่งวางท่าทำเป็นเหมือนสงบเสงี่ยม.
               ในเวลาเย็น พระโพธิสัตว์คิดว่า เราจักไปหาดาบสแล้วออกเดิน ขณะที่กำลังเข้าไปใกล้นั่นเอง ได้เห็นข้อผิดแผกแห่งอินทรีย์ของเขา จึงคิดว่า ดาบสนี้มิได้นั่งด้วยท่าทางที่เคยนั่งในวันอื่นๆ แม้จะมองดูเราในวันนี้เล่า ก็ชำเลืองเป็นที่เคลือบแฝง ต้องคอยจับตาดูให้ดี ดังนี้.
               พระโพธิสัตว์จึงไปยืนใต้ทิศทางลมของดาบส ได้กลิ่นเนื้อเหี้ย จึงคิดว่า วันนี้ ดาบสโกงนี้คงฉันเนื้อเหี้ย ติดใจในรสแล้ว คราวนี้มุ่งจะตีเราผู้เข้าไปหาด้วยไม้ค้อน แล้วเอาเนื้อไปต้มแกงกินเป็นแน่ ก็ไม่ยอมเข้าไปใกล้เขา ถอยกลับวิ่งไป.
               ดาบสรู้ความที่พระโพธิสัตว์ไม่ยอมมา ก็คิดว่า เหี้ยตัวนี้คงจะรู้ตัวว่าเรามุ่งจะฆ่ามัน ด้วยเหตุนั้น จึงไม่เข้ามา แม้ถึงเมื่อมันจะไม่เข้ามา ก็ไม่พ้นมือไปได้ แล้วเอาไม้ค้อนออกขว้างไป ไม้ค้อนนั้นกระทบเพียงปลายหางของพระโพธิสัตว์เท่านั้น
               พระโพธิสัตว์เข้าจอมปลวกไปโดยเร็ว โผล่ศีรษะออกมาทางช่องอื่น กล่าวว่า เหวยชฏิลเจ้าเล่ห์ เมื่อเราเข้าไปหาเจ้า ก็เข้าไปหาด้วยสำคัญว่าเป็นผู้มีศีล แต่เดี๋ยวนี้ความเจ้าเล่ห์ของเจ้า เรารู้เสียแล้ว มหาโจรอย่างเจ้า บวชไปทำไมกัน.

               เมื่อจะติเตียนดาบส จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               "เหวยชฏิลปัญญาทราม เจ้ามุ่นชฎาทำไม นุ่งหนังเสือทำไม ข้างในของเจ้ารุงรัง เจ้ามัวขัดสีแต่ภายนอก"
ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺเตหิ ชฏาหิ ทุมฺเมธ ความว่า เหวยชฏิล ปัญญาทราม ไร้ความรอบรู้ การมุ่นชฎานี้ อันผู้เว้นจากการเบียดเบียน จึงควรธำรงไว้ อธิบายว่า เจ้าปราศจากคุณ คือการเว้นจากความเบียดเบียนเสียแล้ว จะมุ่นชฎานั้นไว้ทำไมเล่า?
               บทว่า กินฺเต อชินิสาฏิยา ความว่า จำเดิมแต่เวลาที่เจ้าไม่มีสังวรคุณ อันคู่ควรกัน เจ้าจะนุ่งหนังเสือทำไมเล่า?
               บทว่า อพฺภนฺตรนฺเต คหนํ ความว่า ภายใน คือหัวใจของเจ้ารุงรัง หนาแน่นด้วยเครื่องรุงรัง คือราคะโทสะโมหะ.
               บทว่า พาหิรมฺปริมชฺชสิ ความว่า เจ้านั้น เมื่อภายในยังรุงรัง ยังมัวขัดสีข้างนอกด้วยการอาบน้ำเป็นต้น และด้วยการถือเพศ เมื่อมัวแต่ขัดข้างนอก เจ้าก็เป็นเหมือนกะโหลกน้ำเต้าที่เต็มด้วยรัง เป็นเหมือนตุ่มเต็มด้วยยาพิษ เป็นเหมือนจอมปลวกที่เต็มด้วยอสรพิษ และเป็นเหมือนหม้อที่วิจิตรเต็มด้วยคูถ ซึ่งเกลี้ยงเกลาแต่ข้างนอกเท่านั้น เจ้าเป็นโจร จะอยู่ที่นี่ทำไม รีบหนีไปเสียโดยเร็วเถิด ถ้าเจ้าไม่หนีไป เราจักบอกชาวบ้านให้ทำการขับไล่ข่มขี่เจ้า.

               พระโพธิสัตว์คุกคามดาบสเจ้าเล่ห์อย่างนี้แล้ว ก็เข้าสู่จอมปลวก แม้ดาบสเจ้าเล่ห์ก็หลบไปจากที่นั้น.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ดาบสโกงในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุหลอกลวงนี้
               ดาบสผู้มีศีลองค์นั้นได้มาเป็น พระสารีบุตร
               ส่วนโคธบัณฑิตได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โคธชาดก ว่าด้วย ฤาษีหลอกกินเหี้ย จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 137 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 138 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 139 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=913&Z=918
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=36&A=7340
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=36&A=7340
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :