ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 131 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 132 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 133 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ปัญจภีรุกชาดก
ว่าด้วย ความสวัสดี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระสูตร ว่าด้วยการประเล้าประโลมของมารธิดา ณ อชปาลนิโครธ
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กุสลูปเทเส ธิติยาทฬฺหาย จ ดังนี้.
               ความพิสดารว่า ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนั้นตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ อย่างนี้ว่า :-
               นางตัณหา นางอรดีและนางราคา ล้วนเพริศพริ้งแพรวพราวพากันมา พระศาสดาทรงกำจัดนางเหล่านั้นไปเสีย เหมือนลมพัดปุยนุ่นให้หล่นกระจายไปฉะนั้น.
               พวกภิกษุประชุมกันในโรงธรรม ตั้งเรื่องสนทนากันว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงลืมพระเนตรแลดูพวกมารธิดาอันจำแลงรูปทิพย์หลายร้อยอย่าง แล้วเข้าไปหา เพื่อจะเล้าโลม. โอ ขึ้นชื่อว่า กำลังของพระพุทธเจ้า น่าอัศจรรย์.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันการที่ไม่แลดูพวกมารธิดาของเรา ผู้ทำให้อาสวะหมดสิ้นไปแล้ว บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย แท้จริงในกาลก่อน เรากำลังแสวงหาพระโพธิญาณ มิได้ทำลายอินทรีย์ทั้งหลายเสีย แลดูแม้ซึ่งรูปทิพย์ที่พวกนางยักษิณีพากันเนรมิตไว้ด้วยอำนาจกิเลส ทั้งที่เรายังมีกิเลส ดำเนินไปจนบรรลุถึงความเป็นมหาราชได้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นน้ององค์เล็กที่สุด ของพระพี่ยาเธอตั้ง ๑๐๐ องค์.
               เรื่องราวทั้งหมด บัณฑิตพึงให้พิสดารโดยนัยดังกล่าวแล้วในตักกสิลาชาดก ในหนหลังนั้นแล
               (แปลก) แต่ว่า ในครั้งนั้น เมื่อชาวเมืองตักกสิลาเข้าไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ ณ ศาลาภายนอกพระนคร มอบถวายราชสมบัติ กระทำการอภิเษกแล้ว ชาวตักกสิลานคร พากันตกแต่งพระนครเหมือนเมืองสวรรค์ ตกแต่งพระราชนิเวศน์เหมือนวิมานอินทร์. ปางเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าพระนครแล้ว เสด็จขึ้นสู่บัลลังก์รัตน์ ภายใต้เศวตฉัตรในท้องพระโรงหลวงในปราสาทอันเป็นพระราชสถาน ประทับนั่งด้วยลีลาประหนึ่งท้าวเทวราช.
               เหล่าอำมาตย์ พราหมณ์ คฤหบดีและขัตติยกุมาร ต่างแต่งองค์ทรงเครื่อง พร้อมแวดล้อมโดยขนัด นางบำเรอประมาณหมื่นหกพันนาง ล้วนแน่งน้อย เปรียบประดุจเทพอัปสร ทุกนางต่างฉลาดในการฟ้อนรำ ขับร้องและบรรเลง.
               พระราชวังก็ครื้นเครงทั่วกัน ด้วยเสียงขับร้องและบรรเลงเพลงประสาน ปานประหนึ่งท้องมหาสมุทรที่กำลังคะนองคลื่นเบื้องหน้า แต่เมฆฝนตกกระหน่ำแล้ว.
               พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรดูศิริเสาวภาคอันบรรลุแก่พระองค์นั้น ทรงดำริว่า ถ้าเราจักพะวงแลดูรูปทิพย์ที่นางยักษิณีเหล่านั้นจำแลงเสียแล้วละ ก็คงสิ้นชีวิตไปแล้ว คงไม่ได้ดูศิริเสาวภาคนี้ แต่เพราะเราตั้งอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ศิริโสภาคนี้จึงบรรลุแก่เรา.
               ครั้นทรงดำริฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงเปล่งพระอุทาน ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               "เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของพวกรากษส เพราะความเพียรมั่นคง ดำรงอยู่ในคำแนะนำของผู้ฉลาด และความไม่หวาดหวั่นต่อภัย และความสยดสยอง สวัสดิภาพจากภัยอันใหญ่หลวง จึงมีแก่เรา"
ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสลูปเทเส ความว่า ในคำชี้แจงของท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย. อธิบายว่า ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า ธิติยา ทฬฺหาย จ ความว่า เพราะความเพียรอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง และเพราะความเพียรอันเฉียบขาดแน่นอน.
               บทว่า อวตฺถิตตฺตา ภยภีรุตาย จ ความว่า และเพราะความไม่หวาดหวั่นต่อภัยใหญ่ ที่ทำให้กายสะท้าน ในภัยทั้งสองอย่างนั้น ภัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้จิตสะดุ้งชื่อว่า ภัย ภัยใหญ่หลวงที่ทำให้ร่างกายสั่นหวั่นไหว ชื่อว่าความสยดสยอง ภัยทั้งสองประการนี้ก็ดี อารมณ์อันน่าสยดสยองว่า ขึ้นชื่อว่ายักษิณีเหล่านี้ มันกินมนุษย์ทั้งนั้น ดังนี้ก็ดี มิได้มีแก่พระมหาสัตว์เลย ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อวตฺถิตตฺตา ภยภีรุตาย จ ความไม่มีความหวาดหวั่นต่อภัย และความสยดสยอง. อธิบายว่า เพราะไม่มีความหวาดหวั่นสยดสยองเสียเลย คือถึงจะเห็นอารมณ์ที่น่าสยดสยอง ก็ไม่ยอมท้อถอย.
               บทว่า น รกฺขสีนํ วสมาคมิมฺห เส ความว่า ไม่ต้องมาสู่อำนาจแห่งนางรากษสเหล่านั้น ในทางอันกันดารด้วยยักษ์ ท่านกล่าวอธิบายว่า เพราะเหตุที่เรามีความเด็ดเดี่ยวมั่นคงในคำชี้แจงของท่านผู้ฉลาด และเรามีการไม่ย่นย่อท้อถอยเป็นสภาพ เพราะไม่มีความกลัวและความหวาดสะดุ้ง ฉะนั้น เราจึงไม่มาสู่อำนาจของพวกรากษส ดังนี้ สวัสดิภาพ คือความเกษมจากภัยอันใหญ่หลวง คือจากทุกข์โทมนัสที่เราต้องประสบในสำนักของพวกนางรากษส ของเรานั้น ก็คือความปีติโสมนัสอย่างเดียวนี้เกิดแล้วแก่เราในวันนี้.

               พระมหาสัตว์ทรงแสดงธรรมด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้ ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม บำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               เราตถาคต ได้เป็นราชกุมารผู้ไปปกครองราชสมบัติในพระนครตักกสิลา ในครั้งนั้นฉะนี้แล.


               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปัญจภีรุกชาดก ว่าด้วย ความสวัสดี จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 131 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 132 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 133 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=875&Z=880
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=36&A=7000
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=36&A=7000
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :