ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1199 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1207 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1216 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา คิชฌชาดก
ว่าด้วย ผู้ไม่ทำตามคำสอนย่อมพินาศ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปริสงฺกุปโถ นาม ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุว่ายากรูปนั้นเป็นลูกผู้ดีคนหนึ่ง แม้บวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์ เมื่ออาจารย์อุปัชฌาย์และเพื่อนพรหมจารีผู้หวังดี กล่าวสอนว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ มองไปข้างหน้าอย่างนี้ เหลียวซ้ายแลขวาอย่างนี้ คู้เข้าอย่างนี้ เหยียดออกอย่างนี้ นุ่งอย่างนี้ ห่มอย่างนี้ ถือบาตรอย่างนี้ พึงรับภัตแต่พอยังอัตภาพให้เป็นไป พิจารณาก่อนแล้วจึงฉัน พึงคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเนืองๆ พึงรู้ธรรมเนียมต้อนรับอาคันตุกะ พึงรู้ธรรมเนียมของผู้เดินทาง พึงประพฤติด้วยดีในขันธกวัตร ๑๔ และมหาวัตร ๘๐ พึงสมาทานธุดงคคุณ ๑๓ ดังนี้
               เป็นผู้ว่ายากไม่อดทนต่อโอวาท ไม่ยินดีรับคำสอน กล่าวตอบว่า กระผมไม่ได้ว่าพวกท่าน เหตุไรพวกท่านจึงว่ากระผม กระผมเท่านั้นจักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับตน แล้วได้ทำตัวให้ใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้.
               ได้ยินว่า พวกภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ว่ายาก จึงได้ประชุมกันกล่าวโทษในธรรมสภา
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสถามว่า ได้ยินว่า เธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่าจริง จึงตรัสว่า เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงไม่เชื่อคำของผู้ที่หวังดี แม้ในกาลก่อน เธอก็ไม่เชื่อคำ ต้องแหลกละเอียดในช่องลมเวรัมพวาตมาแล้วดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกแร้งที่เขาคิชฌกูฏ นกแร้งนั้นมีบุตรเป็นพญาแร้งชื่อสุปัต ซึ่งมีกำลังมาก มีนกแร้งหลายพันเป็นบริวาร พญาแร้งนั้นเลี้ยงดูมารดาบิดา แต่เพราะความที่ตนมีกำลังมาก จึงบินไปไกลเกินควร
               บิดาได้กล่าวสอนพญาแร้งนั้นว่า ลูกรัก เจ้าไม่ควรไปเกินที่ประมาณเท่านี้ พญาแร้งนั้นแม้รับคำว่า ดีแล้ว ก็จริง แต่วันหนึ่งเมื่อฝนตกใหม่ๆ ได้บินไปกับนกแร้งทั้งหลาย ทิ้งนกแร้งหลายเสีย ตนเองบินสูงเกินภูมิของนก ถึงช่องลมเวรัมพวาต ได้ถึงความเป็นผู้แหลกละเอียด.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า :-
               ทางบนยอดเขาคิชฌกูฏ มีชื่อว่าปริสังกุปถะมาแต่ดึกดำบรรพ์ นกแร้งเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ชราอยู่ที่ทางนั้น.
               โดยมากไปเที่ยวหามันข้นงูเหลือมมาให้มารดาบิดาเหล่านั้นกิน ฝ่ายบิดารู้ว่านกแร้งสุปัตมีปีกแข็งแล้ว มีกำลังมาก มักร่อนขึ้นไปสูง เที่ยวไปไกลๆ จึงได้กล่าวสอนลูกว่า.
               แน่ะพ่อ เมื่อใดเจ้าเห็นแผ่นดินมีทะเลล้อมรอบ กลมประหนึ่งว่ากงจักร ลอยลิบๆ อยู่ดุจใบบัวลอยอยู่ในน้ำ เจ้าจงรีบกลับเสียจากที่นั้น อย่าบินต่อจากนั้นไปอีกเลย.
               นกแร้งสุปัตเป็นสัตว์ มีร่างกายสมบูรณ์ มีกำลังมาก มีปีกแข็ง บินขึ้นไปถึงอากาศเบื้องบนโดยกำลังเร็ว เมื่อเหลียวกลับมาแลดูภูเขาและป่าไม้ทั้งหลาย.
               ก็ได้เห็นแผ่นดินมีทะเลล้อมรอบ กลมดุจกงจักรเหมือนคำของบิดาบอกไว้.
               นกแร้งสุปัตก็บินล่วงเลยที่นั้น ไปเบื้องหน้าอีก ยอดลมแรงแข็งกล้า ได้ประหารนกแร้งสุปัตผู้มีกำลังมากนั้นให้แหลกละเอียด.
               นกแร้งสุปัตบินเกินไป ไม่สามารถจะกลับจากที่นั้นได้อีก ตกอยู่ในอำนาจลมเวรัมพวาต ถึงความพินาศแล้ว.
               เมื่อนกแร้งสุปัตไม่ทำตามโอวาทของบิดา บุตรภรรยาและนกแร้งอื่นๆ ที่อาศัยเลี้ยงชีพด้วย ก็พากันถึงความพินาศไปด้วยกันหมด.
               แม้ในศาสนานี้ก็เหมือนกัน ผู้ใดไม่เชื่อถ้อยฟังคำของผู้ใหญ่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าล่วงศาสนา ดังนกแร้งไปล่วงเขตแดน ต้องเดือดร้อนฉะนั้น ผู้ไม่ทำตามคำสอนของผู้ใหญ่ ย่อมถึงความพินาศทั้งหมด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริสงฺกุปโถ คือมีชื่อว่าสังกุปถะ มนุษย์ไปหาเงินทองต้องตอกหลักผูกเชือกขึ้นไปบนถิ่นนั้น เพราะเหตุนั้น ทางเดินเท้าบนคิชฌบรรพตนั้น ท่านจึงเรียกว่า สังกุปถะ.
               ทางใหญ่บนยอดเขาคิชฌกูฏ ชื่อว่า คิชฺฌปโถ.
               บทว่า สนนฺตโน แปลว่า มีมาแต่ดึกดำบรรพ์.
               บทว่า ตตฺราสิ ความว่า ใกล้ทางเดินเท้าชื่อสังกุปถะ บนยอดเขาคิชฌกูฏนั้น ได้มีนกแร้งตัวหนึ่งอาศัยอยู่ นกแร้งตัวนั้นเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ชราแล้ว.
               สองบทว่า อชครํ เมทํ เท่ากับ อชครเมทํ แปลว่ามันข้นงูเหลือม.
               บทว่า อจฺจาหาสิ คือนำมาแล้วมากมาย.
               บทว่า พหุตฺตโต เท่ากับ พหุตฺตโส แปลว่าโดยมาก.
               บทว่า ชานํ อุจฺจํ ปปาตินํ ความว่า บิดาได้สดับว่า บุตรของท่านโลดแล่นขึ้นสู่ที่สูงเกินไป จึงรู้ว่านกแร้งสุปัตนี้มักร่อนขึ้นที่สูง. บทว่า เตชสึ ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยเดชของบุรุษ. บทว่า ทูรคามินํ คือ ไปไกลด้วยเดชนั้นเอง. บทว่า ปริปฺลวตฺตํ คือ ลอยลิบๆ อยู่ดุจใบบัวลอยอยู่ในน้ำ. บทว่า วิชานหิ เท่ากับ วิชานาสิ แปลว่า รู้.
               บทว่า จกฺกํว ปริมณฺฑลํ ความว่า บิดากล่าวสอนอย่างนี้ว่า เมื่อใดชมพูทวีปอันล้อมรอบด้วยทะเล ปรากฏแก่เจ้าผู้ดำรงอยู่ในถิ่นนั้น ประหนึ่งว่ากงจักร เจ้าจงรีบกลับเสียจากที่นั้น.
               บทว่า อุทฺธํ ปตฺโตสิ ความว่า นกแร้งสุปัตไม่กระทำตามโอวาทของบิดา วันหนึ่งได้บินไปกับนกแร้งทั้งหลายทิ้งนกแร้งเหล่านั้นเสีย ได้บินขึ้นไปถึงที่ที่บิดาบอกแล้ว.
               บทว่า โอโลกยนฺโต คือ เมื่อถึงที่ตรงนั้นแล้วมองดูข้างล่าง. บทว่า วงฺกงฺโค เท่ากับ โวงฺกคีโว แปลว่า เอี้ยวคอลงมา. บทว่า ยถสฺสาสิ ปิตุสฺสุตํ ความว่า ได้แลเห็นเหมือนกับคำที่ตนได้ฟังมาจากสำนักของนกแร้งผู้บิดาฉะนั้น บาลีว่า ยถาสฺสาสิ ดังนี้ก็มี. บทว่า ปรเมว ปวตฺตถ ความว่า บินล่วงเลยจากที่ที่บิดาบอกแล้วขึ้นไปเบื้องหน้าอีก.
               บทว่า ตญฺจ วาตสิขา ติกฺขา ความว่า ยอดลมเวรัมพวาตอันแรงแข็งกล้าได้ประหาร คือได้ขจัดนกแร้งสุปัตผู้ไม่กระทำตามโอวาท ผู้แม้จะเป็นสัตว์ที่มีกำลังมากนั้นแล้ว ได้แก่ ได้กระทำให้แหลกละเอียดแล้ว.
               บทว่า นาสกฺขาติคโต ตัดบทเป็น นาสกฺขิ อติคโต แปลว่า ไม่สามารถจะกลับจากที่นั้นได้.
               สัตว์ชื่อว่าโปโส.
               บทว่า อโนวาทกเร ความว่า เมื่อนกแร้งสุปัตนั้นไม่ทำตามโอวาทของบัณฑิตทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก็พากันประสบทุกข์อันใหญ่หลวง.
               บทว่า อกตฺวา วุฑฺฒสาสนํ ผู้ไม่ทำตามคำสอนของผู้ใหญ่ผู้หวังประโยชน์ ย่อมถึงความพินาศ คือทุกข์ใหญ่ อย่างนั้นเหมือนกัน.

               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ฉะนั้น เธอจงอย่าเป็นเหมือนนกแร้ง จงเชื่อถ้อยคำของผู้ที่หวังดี ภิกษุนั้น เมื่อพระศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ได้เป็นผู้ว่าง่ายตั้งแต่นั้นมา.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               นกแร้งว่ายากในกาลนั้น ได้มาเป็น ภิกษุว่ายาก ในบัดนี้
               ส่วนนกแร้งผู้เป็นบิดาในกาลนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาคิชฌชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา คิชฌชาดก ว่าด้วย ผู้ไม่ทำตามคำสอนย่อมพินาศ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1199 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1207 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1216 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5101&Z=5126
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=6830
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=6830
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :