ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1114 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1121 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1129 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กัจจานิชาดก
ว่าด้วย ในกาลไหนๆ ธรรมย่อมไม่ตาย

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอุบาสกผู้เลี้ยงมารดาคนหนึ่ง จึงได้ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า โอทาตวตฺถา สุจิ อลฺลเกสา ดังนี้.
               ได้ยินว่า อุบาสกผู้เลี้ยงมารดานั้น เป็นลูกผู้ดีเมืองสาวัตถี เป็นคนมีมรรยาทดี เมื่อบิดาตายแล้ว เขาบูชามารดาเหมือนเทวดา บำรุงมารดาด้วยการขวนขวายจัดน้ำล้างหน้า บ้วนปาก ไม้สีฟัน น้ำอาบ น้ำล้างเท้าเป็นต้น และด้วยข้าวยาคูแลภัตรเป็นอาทิ.
               ครั้งหนึ่ง มารดากล่าวกะเขาว่า ลูกรัก เจ้ามีการงานซึ่งเป็นเรื่องของฆราวาสมากมาย จงหาหญิงที่มีตระกูลเสมอกันคนหนึ่งเป็นภรรยา เขาจักเลี้ยงดูแม่ ส่วนเจ้าจักได้ทำการงานของตัวไป. เขากล่าวว่า ดูก่อนแม่ ฉันหวังประโยชน์สุขสำหรับตน จึงบำรุงเลี้ยงแม่ คนอื่นใครเล่าจักบำรุงเลี้ยงได้อย่างนี้.
               มารดากล่าวว่า ลูกรัก เจ้าควรทำการงานที่ให้ตระกูลเจริญ. เขากล่าวว่า ฉันไม่ต้องการครองเรือน ฉันจักบำรุงเลี้ยงแม่ เวลาแม่สิ้นชีพแล้วฉันจักบวช.
               ลำดับนั้น มารดาของเขาแม้อ้อนวอนบ่อยๆ ก็ไม่ได้ดังใจ จึงไม่ถือความพอใจของเขาเป็นเกณฑ์ นำหญิงที่มีชาติตระกูลเสมอกันมาให้เข้า. เขาก็มิได้คัดค้านมารดา ได้อยู่ร่วมกันกับหญิงนั้น.
               แม้หญิงนั้นก็คิดว่า สามีของเราบำรุงเลี้ยงมารดาด้วยความอุตสาหะอันยิ่งใหญ่ แม้เราก็ควรจักบำรุงเลี้ยงท่าน เมื่อเราทำอย่างนี้ก็จักเป็นที่รักของสามี คิดดังนี้แล้ว ก็บำรุงแม่ผัวโดยเคารพ.
               อุบาสกผู้เลี้ยงมารดาคิดว่า หญิงนี้บำรุงเลี้ยงมารดาของเราโดยเคารพ จึงนับแต่นั้นมา เขาได้ให้ของกินที่มีรสอร่อยที่ได้มาๆ แก่นางผู้เดียว. ครั้นเวลาต่อมา หญิงนั้นคิดว่า บุรุษผู้นี้ให้ของกินที่มีรสอร่อยๆ ที่ได้มาๆ แก่เราเท่านั้น เขาคงจักต้องการขับไล่มารดาเป็นแน่ เราจักทำอุบายขับไล่แก่เขา. นางลืมตัวคิดไปโดยไม่ไตร่ตรองอย่างนี้ วันหนึ่งจึงบอกสามีว่า คุณพี่ เมื่อพี่ออกไปข้างนอก มารดาของพี่ด่าฉัน. เขาได้นิ่งเสีย นางคิดว่าเราจักใส่โทษหญิงแก่นี้ แล้วทำตระกูลผัวให้แก่บุตร.
               ตั้งแต่นั้นมา เมื่อนางจะให้ข้าวยาคูก็ให้ที่ร้อนจัดบ้าง เย็นจัดบ้าง ไม่เค็มบ้าง เค็มจัดบ้าง. เมื่อแม่ผัวบอกว่า แม่หนู ข้าวยาคูร้อนจัด หรือเค็มจัด นางก็เติมน้ำเย็นใส่เสียจนเต็ม. เมื่อแม่ผัวบอกอีกว่า เย็นมากไป เค็มมากไป นางก็ส่งเสียงขึ้นว่า เมื่อกี้แม่บอกว่า ร้อนจัด เค็มจัด ใครจักสามารถทำให้ถูกใจแม่ได้.
               แม้น้ำสำหรับอาบ นางก็ต้มจนร้อนจัดแล้วราดบนหลัง. เมื่อแม่ผัวบอกว่า แม่หนู หลังแม่ไหม้หมดแล้ว นางก็เอาน้ำเย็นเติมใส่เสียจนเต็ม. เมื่อแม่ผัวบอกว่า เย็นจัดไป แม่หนู นางก็เที่ยวพูดกับชาวบ้านว่า แม่ผัวฉันพูดว่า น้ำสำหรับอาบร้อนจัดอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วกลับร้องขึ้นอีกว่า เย็นจัดไป ใครจักสามารถเอาใจหญิงแก่คนนี้ได้.
               เมื่อแม่ผัวบอกว่า แม่หนู เตียงนอนของแม่มีเลือดชุม นางก็นำออกมาแล้วเอาเตียงของตนเคาะลงบนเตียงนั้น บอกว่าฉันเคาะแล้ว แล้วก็นำกลับไปตั้งไว้ตามเดิม. แม่ผัวผู้เป็นมหาอุบาสิกาถูกเลือดกัด ต้องนั่งอยู่ตลอดคืน พอรุ่งสว่างจึงพูดว่า แม่หนู ฉันถูกเลือดกัดตลอดคืน. นางก็เถียงว่า เมื่อวานฉันก็ได้เคาะเตียงของแม่ ใครจักอาจช่วยเหลือการงานของคนเช่นนี้ได้.
               นางคิดว่า คราวนี้เราจักให้ลูกชายเขาใส่โทษ จึงแกล้งบ้วนน้ำลาย สั่งน้ำมูกเรี่ยลาดไว้ในที่นั้นๆ เมื่อสามีถามว่า ใครทำเรือนนี้ให้สกปรกไปหมด นางก็กล่าวว่า มารดาของท่านทำอย่างนี้ ฉันบอกว่าอย่าทำเลย ก็พาลทะเลาะ ฉันไม่อาจอยู่ร่วมเรือนกับหญิงกาลกรรณีเช่นนี้ เรือนนี้ท่านจะให้มารดาของท่านอยู่ หรือจักให้ฉันอยู่.
               อุบาสกผู้เลี้ยงมารดาได้ฟังคำของนางแล้ว กล่าวว่า น้องรักเธอยังสาวอยู่อาจที่จะไปดำรงชีพอยู่ในที่ใดๆ ได้ ส่วนแม่ของฉันเป็นคนแก่ทุพพลภาพ ฉันเท่านั้นเป็นที่พึ่งของแม่ เธอจงออกจากบ้านไปสู่ตระกูลของตน. นางได้ฟังคำของสามีแล้วมีความกลัวคิดว่า เราไม่อาจแยกสามีของเราจากมารดาได้ มารดาเป็นที่รักของเขาโดยส่วนเดียว ถ้าเราไปสู่เรือนแห่งตระกูล เราจักต้องอยู่อย่างเป็นหม้าย ได้รับแต่ความทุกข์เท่านั้น เราจักปฏิบัติให้แม่ผัวโปรดปรานเหมือนแต่ก่อน.
               ตั้งแต่นั้นมา นางได้ปฏิบัติแม่ผัวเหมือนดังก่อนทีเดียว.
               อยู่มาวันหนึ่ง อุบาสกผู้เลี้ยงมารดานั้นไปสู่พระวิหารเชตวันเพื่อฟังพระธรรม ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระบรมศาสดาตรัสถามว่า อุบาสกท่านไม่ประมาทในบุญกรรมมิใช่หรือ ท่านบำเพ็ญมาตาปิตุปัฏฐานกิจมิใช่หรือ? เขากราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระศาสดาว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารดาของข้าพระองค์นำหญิงในตระกูลคนหนึ่งมาเพื่อข้าพระองค์ โดยที่ข้าพระองค์ไม่ชอบใจเลย นางนั้นได้ทำอนาจารต่างๆ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงอย่างนี้ นางก็ไม่อาจจะแยกข้าพระองค์จากมารดาได้ เดี๋ยวนี้นางได้บำรุงเลี้ยงมารดาโดยเคารพ.
               พระศาสดาทรงสดับด้วยคำของอุบาสกนั้นแล้ว มีพระดำรัสว่า อาวุโส เดี๋ยวนี้เธอไม่กระทำตามคำของหญิงนั้น แต่เมื่อก่อนเธอได้ขับไล่มารดาของเธอตามคำของนาง แต่ได้อาศัยเราจึงได้นำมารดามาสู่เรือนบำรุงเลี้ยงอีก.
               อุบาสกทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว จึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี กุลบุตรของตระกูลหนึ่ง เมื่อบิดาตายแล้ว เขาบูชามารดาเหมือนเทวดา ปฏิบัติมารดาโดยทำนองดังกล่าวแล้ว
               เรื่องทั้งหมดมีเนื้อความพิสดารตามทำนองที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               จับความตอนนี้ว่า ก็เมื่อหญิงนั้นกล่าวกะสามีว่า ฉันไม่อาจอยู่ร่วมกับหญิงกาลกรรณีเช่นนี้ได้ เรือนนี้ท่านจะให้มารดาของท่านอยู่ หรือจะให้ฉันอยู่ กุลบุตรนั้นเชื่อถ้อยคำของหญิงนั้น คิดว่า เป็นความผิดของแม่เราคนเดียว จึงกล่าวกะมารดาว่า แม่ แม่ก่อการทะเลาะขึ้นในเรือนนี้เป็นนิตย์ แม่จงออกจากเรือนนี้ไปอยู่ในที่อื่นตามชอบใจเถิด.
               มารดาพูดว่า ดี แล้วร้องไห้ออกจากบ้านไปอาศัยตระกูลที่เป็นเพื่อนกันตระกูลหนึ่ง ทำงานรับจ้างเขาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยความลำบาก.
               ในเมื่อนางทำการทะเลาะกับแม่ผัวในเรือนจนแม่ผัวออกจากบ้านไปแล้ว นางก็ได้ตั้งครรภ์. นางบอกกับสามีและเที่ยวพูดกับชาวบ้านว่า เมื่อหญิงกาลกรรณีนั้นอยู่ในเรือน ฉันไม่ได้ตั้งครรภ์ เดี๋ยวนี้ฉันได้มีครรภ์แล้ว. ต่อมา นางคลอดบุตรแล้วกล่าวกะสามีที่รักว่า เมื่อมารดาของท่านอยู่ในเรือน ฉันไม่ได้บุตร เดี๋ยวนี้ฉันได้แล้ว ท่านจงรู้ว่ามารดาของท่านเป็นกาลกรรณีด้วยเหตุนี้เถิด.
               ฝ่ายหญิงผู้เป็นมารดาได้ข่าวว่า เขาว่ากันว่า หญิงสะใภ้ได้บุตรในเวลาที่เราถูกไล่ออกจากบ้าน นางจึงคิดว่าในโลกนี้ธรรมคงจักสูญไปแน่แล้ว ถ้าธรรมยังไม่สูญ ผู้ที่โบยตีมารดาแล้วขับไล่ออกจากบ้าน ไม่ควรได้บุตร ไม่ควรเป็นอยู่อย่างสบาย เราจักถวายมตกภัตต์แก่ธรรม.
               วันหนึ่ง นางถืองาแป้งข้าวสารถาดสำรับหนึ่ง และทัพพีไปป่าช้าผีดิบ เอาศีรษะมนุษย์สามศีรษะมาทำเตาก่อไฟขึ้น แล้วลงน้ำสระหัว บ้วนปากเสร็จแล้วมาที่เตา สยายผมแล้วเริ่มซาวข้าวสาร.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวสักกเทวราช ธรรมดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท. ขณะนั้น พระองค์ตรวจดูหมู่สัตวโลกเห็นหญิงนั้นกำลังมีความทุกข์ ประสงค์จะถวายมตกภัตต์แก่ธรรม ด้วยเข้าใจว่า ธรรมได้สูญเสียแล้ว จึงทรงดำริว่า วันนี้เราจักแสดงกำลังของเรา ได้แปลงเพศเป็นพราหมณ์ทำเป็นเดินทางไป.
               ครั้นเห็นหญิงนั้นจึงแวะไปยืนใกล้นาง กล่าวว่า นี่แน่ะแม่คุณ ไม่มีธรรมดาที่ไหน ที่หุงหาอาหารกันในป่าช้า ท่านจะเอาข้าวสุกคลุกงาที่ทำให้สุกในป่าช้านี้ไปทำอะไร ดังนี้
               เมื่อจะเริ่มสนทนา จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ดูก่อนแม่กัจจานี ท่านสระผม นุ่งห่มผ้าขาวสะอาด ยกถาดสำหรับนึ่งขึ้นบนเตาที่ทำด้วยศีรษะมนุษย์ ยีแป้ง ล้างงา ซาวข้าวสวยทำไม ข้าวสุกคลุกงาจะมีไว้เพื่อเหตุอะไร?


               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น ดังต่อไปนี้ :-
               ท้าวสักกเทวราชเรียกหญิงนั้นโดยโคตรว่า กัจจานี.
               บทว่า กุมฺภิมธิสฺสยิตฺวา ความว่า ยกถาดสำหรับนึ่งนี้ขึ้นบนเตาที่ทำด้วยศีรษะมนุษย์
               บทว่า เหหิติ ความว่า ข้าวสุกคลุกงานี้จะมีไว้เพื่อเหตุอะไร คือท่านจะบริโภคด้วยตนเอง หรือยังมีเหตุอย่างอื่นแอบแฝงอยู่?

               ลำดับนั้น หญิงนั้น เมื่อจะบอกความแก่ท้าวสักกะเทวราช ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนพราหมณ์ ข้าวสุกคลุกงาที่ทำให้สุกดีนี้ มิใช่เพื่อบริโภคเอง ธรรมคือความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ และธรรมคือสุจริต ๓ ประการได้สูญไปแล้ว วันนี้ ข้าพเจ้าจักทำการบูชาธรรมนั้นในกลางป่าช้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมคือความอ่อนน้อมต่อผู้เจริญ และธรรมคือสุจริต ๓ ประการ.
               บทว่า ตสฺส ปหูนมชฺช ความว่า ข้าพเจ้าจักกระทำมตกภัตร คือภัตรเพื่อผู้ตายนี้แก่ธรรมนั้น.

               ต่อจากนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงได้ตรัสคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ดูก่อนแม่กัจจานี เธอจงตริตรองก่อนแล้วจึงทำการงาน ใครบอกเธอว่า ธรรมสูญเสียแล้ว ธรรมอันประเสริฐเปรียบด้วยท้าวสหัสสเนตรมีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ ย่อมไม่ตายในกาลไหนๆ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุวิจฺจ ความว่า ท่านจงตริตรอง คือรู้ให้ชัดเจน.
               บทว่า โก นุ ตเวตสํสิ ความว่า ใครหนอบอกความนี้แก่ท่าน?
               ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะทรงแสดงพระองค์เปรียบด้วยธรรมอันประเสริฐ คือธรรมอันสูงสุด จึงตรัสอย่างนี้ว่า สหสฺสเนตฺโต

               นางได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ในข้อที่ว่าธรรมสูญแล้วนี้ ข้าพเจ้านึกมั่นใจเอาเอง ในข้อที่ว่าธรรมไม่มีสูญนี้ ข้าพเจ้ายังสงสัย เพราะเดี๋ยวนี้ คนมีบาปย่อมมีความสุข เช่นหญิงสะใภ้ของข้าพเจ้าเป็นหญิงหมัน นางทุบตีขับไล่ข้าพเจ้าแล้วคลอดบุตร เดี๋ยวนี้ นางได้เป็นใหญ่แห่งตระกูลทั้งหมด ข้าพเจ้าถูกทอดทิ้งไม่มีที่พึ่งอยู่คนเดียว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฬฺหปฺปมาณํ ความว่า หญิงนั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ในข้อที่ว่าธรรมสูญแล้วนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจแน่นอนอย่างปราศจากข้อสงสัย.
               บทว่า เย เย ความว่า เมื่อหญิงนั้นจะแสดงเหตุในข้อที่ธรรมนั้นเป็นของสูญแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วธิตฺวาน ความว่า นางทุบตี ขับไล่.
               บทว่า อปวิฏฺฐา ความว่า ข้าพเจ้าถูกทอดทิ้งไม่มีที่พึ่ง ต้องอยู่ผู้เดียว.

               ต่อแต่นั้น ท้าวสักกะได้กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า:-
               เรายังเป็นอยู่ ยังไม่ตาย เรามาในที่นี้เพื่อประโยชน์สำหรับท่านโดยเฉพาะ หญิงสะใภ้คนใดทุบตีขับไล่ท่าน แล้วคลอดบุตร เราจักทำหญิงสะใภ้คนนั้นพร้อมทั้งบุตร ให้เป็นเถ้าธุลีเดี๋ยวนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โว เป็นเพียงนิบาต.

               นางได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า เราพูดอะไรไป เราจักทำอาการที่หลานของเราจะไม่ตาย
               แล้วกล่าวคาถาที่ ๗ ว่า :-
               ข้าแต่เทวราช พระองค์ทรงพอพระทัยเสด็จมาในที่นี้ เพื่อประโยชน์สำหรับหม่อมฉันโดยเฉพาะอย่างนี้ ขอให้หม่อมฉัน บุตร ลูกสะใภ้ และหลานได้อยู่เรือนร่วมกันโดยความบันเทิงเถิด.

               ลำดับนั้น ท้าวสักเทวราชจึงได้ตรัสคาถาที่ ๘ แก่นางว่า :-
               ดูก่อนแม่กาติยานี เธอชอบใจเช่นนั้นก็ตาม เธอถึงจะถูกทุบตีขับไล่ ก็ไม่ละธรรมคือความเมตตา ขอให้เธอพร้อมทั้งบุตร ลูกสะใภ้และหลาน จงอยู่ร่วมเรือนกันโดยความบันเทิงเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตาปิ สนฺตา ความว่า เธอแม้ถึงจะถูกทุบตี แม้ถึงจะถูกขับไล่ ก็ยังไม่ละธรรมคือความเมตตาในเด็กๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอปรารถนาอย่างใด ก็จงสมประสงค์อย่างนั้น เราเลื่อมใสในคุณธรรมนี้ของเธอ.

               ก็แหละท้าวสักกเทวราช ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ประดับตกแต่งพระองค์ ประทับยืนอยู่บนอากาศด้วยอานุภาพของพระองค์ แล้วตรัสว่า ดูก่อนแม่กัจจานี เธออย่ากลัวเลย ทั้งลูกและลูกสะใภ้ของเธอจักมาด้วยอานุภาพของเรา จักขอขมาโทษในระหว่างทาง แล้วจักพาท่านไป ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ดังนี้แล้ว เสด็จไปสู่วิมานของพระองค์.
               ด้วยอานุภาพของท้าวสักกเทวราช บันดาลให้ลูกสะใภ้ระลึกถึงคุณของมารดา เขาพากันถามคนในบ้านว่า มารดาของเราไปไหน? ครั้นได้ทราบว่าเดินทางไปป่าช้า จึงพากันเดินทางไปป่าช้า พลางรำพันไปว่า แม่ แม่ พอเห็นมารดาก็หมอบลงที่เท้ากล่าวขอขมาโทษว่า ดูก่อนแม่ ขอแม่ได้โปรดยกโทษให้แก่ลูกเถิด ขออย่าได้ถือโทษเลย.
               แม้มารดาก็รับหลานมาอุ้ม ทั้งหมดต่างมีความปราโมทย์ พากันกลับบ้านอยู่กันด้วยความสามัคคีแต่นั้นมา ด้วยประการฉะนี้.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอภิสัมพุทธคาถานี้ว่า :-
               นางกาติยานีได้อยู่ร่วมเรือนกับลูกสะใภ้ด้วยความบันเทิง ทั้งบุตรและหลานต่างช่วยกันบำรุงเลี้ยง ก็เพราะท้าวสักกเทวราชทรงอนุเคราะห์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สา กาติยานี ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางกัจจานีเป็นกัจจายนโคตร.
               บทว่า เทวานมินฺเทน อธิคฺคหีตา ความว่า คนเหล่านั้นอันท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมเทวัน ทรงอนุเคราะห์แล้ว จึงอยู่ร่วมกันด้วยความสมัครสมานสามัคคีด้วยอานุภาพของท้าวเธอ.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสจบลงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจธรรม อุบาสกผู้เลี้ยงมารดานั้นได้เป็นพระโสดาบัน
               ก็อุบาสกผู้เลี้ยงมารดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นอุบาสกผู้เลี้ยงมารดาในบัดนี้
               แม้ภรรยาของเขาในครั้งนั้น ได้มาเป็นภรรยาในบัดนี้
               ท้าวสักกเทวราช ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถากัจจานิโคตตชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กัจจานิชาดก ว่าด้วย ในกาลไหนๆ ธรรมย่อมไม่ตาย จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1114 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1121 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1129 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4794&Z=4824
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=5226
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=5226
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :