ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

หน้าต่างที่ ๔ / ๙.

               ในกาลต่อจากพระองค์ ในกัปหนึ่งในที่สุดแห่งเก้าสิบสี่กัปแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงพระนามว่า สิทธัตถะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุแสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ เก้าสิบโกฏิ ครั้งที่ ๓ แปดสิบโกฏิ. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบส นามว่า มังคละ มีเดชกล้า สมบูรณ์ด้วยอภิญญาพละ ได้นำผลหว้าใหญ่มาถวายแด่พระตถาคต. แม้พระศาสดาเสวยผลไม้นั้นแล้ว ได้ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่า ในที่สุดแห่งกัปเก้าสิบสี่กัป ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้า. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นามว่าเวภาระ พระราชาทรงพระนามว่าชยเสนะ เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่าสุผัสสา. พระอัครสาวกนามว่าสัมพละ องค์หนึ่ง นามว่าสุมิตตะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าเรวตะ. พระอัครสาวิกานามว่าสิจลา องค์หนึ่ง นามว่าสุรามา องค์หนึ่ง. กัณณิกพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๖๐ ศอก พระชนมายุได้แสนปี.
               หลังจากพระธรรมทัสสี พระโลกนายกทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ทรงกำจัดความมืดเสียสิ้น เหมือนดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมาแล้ว ฉะนั้น.

               ในกาลต่อจากพระองค์ ในที่สุดแห่งกัปที่เก้าสิบสอง มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นสององค์ในกัปหนึ่ง คือ ทรงพระนามว่า ติสสะ ทรงพระนามว่า ปุสสะ. สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ติสสะ มีสาวกสันนิบาตสามครั้ง. ในครั้งแรกมีภิกษุร้อยโกฏิ. ครั้งที่ ๒ มีเก้าสิบโกฏิ. ครั้งที่ ๓ มีแปดสิบโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์มีโภคสมบัติมาก มียศใหญ่นามว่าสุชาตะ ทรงผนวชเป็นฤาษี ถึงความเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ได้สดับว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ถือเอาดอกมณฑารพ ดอกบัวหลวงและดอกปาริฉัตรอันเป็นทิพย์ มาบูชาพระตถาคต ผู้ประทับอยู่ในท่ามกลางบริษัทสี่ ในอากาศ ได้กระทำเพดานดอกไม้ไว้. แม้พระศาสดาพระองค์นั้น ก็ทรงพยากรณ์เขาว่า ในกัปที่เก้าสิบสองแต่กัปนี้ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นามว่าเขมะ. กษัตริย์ทรงพระนามว่าชนสันธะ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่าปทุมา. พระอัครสาวกนามว่าพรหมเทวะ องค์หนึ่ง นามว่าอุทยะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าสัมภวะ. พระอัครสาวิกานามว่าปุสสา องค์หนึ่ง นามว่าสุทัตตา องค์หนึ่ง. อสนพฤกษ์ (ต้นประดู่ลาย) เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๖๐ ศอก พระชนมายุได้แสนปี.
               กาลต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ก็มาถึงพระนายกผู้เลิศในโลก ทรงพระนามว่า ติสสะ หาผู้เสมอมิได้ หาผู้เปรียบมิได้ ทรงมีศีลหาที่สุดมิได้ ทรงมีพระยศนับไม่ได้.

               กาลต่อจากพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า ปุสสะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุหกสิบแสน. ครั้งที่ ๒ ห้าสิบแสน ครั้งที่สาม สามสิบสองแสน. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าวิชิตาวี. ทรงสละราชสมบัติอันใหญ่ แล้วผนวชในสำนักของพระศาสดา ทรงเล่าเรียนพระไตรปิฎก แล้วทรงแสดงธรรมกถาแก่มหาชน ทรงบำเพ็ญศีลบารมี. แม้พระปุสสะก็พยากรณ์เขาว่า จักเป็นพระพุทธเจ้า. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นามว่ากาสี พระราชาทรงพระนามว่าชยเสนะ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่าสิริมา. พระอัครสาวกนามว่าสุรักขิตะ องค์หนึ่ง นามว่าธรรมเสนะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าโสภิยะ. พระอัครสาวิกานามว่าจาลา องค์หนึ่ง นามว่าอุปจาลา องค์หนึ่ง. อามลกพฤกษ์ (ต้นมะขามป้อม) เป็นต้นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๕๘ ศอก พระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี.
               ในมัณฑกัปนั้นนั่นแหละ ได้มีพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมหาผู้เทียมมิได้ ไม่เป็นเช่นกับใคร ผู้เป็นพระนายกผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงพระนามว่า ปุสสะ.

               กาลต่อจากพระองค์ ในกัปที่เก้าสิบเอ็ดแต่กัปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุหกสิบแปดแสน. ครั้งที่ ๒ มีเก้าสิบเจ็ดแสน ครั้งที่ ๓ มีแปดหมื่น. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระยานาคนามว่าอตุละ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้ถวายตั่งใหญ่ทำด้วยทองคำขจิต ด้วยแก้วเจ็ดประการแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. แม้พระองค์ท่านก็ได้ทรงพยากรณ์เขาว่า ในกัปที่เก้าสิบเอ็ดแต่กัปนี้ ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้า. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นามว่าพันธุมดี. พระราชาทรงพระนามว่าพันธุมะ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่าพันธุมดี. พระอัครสาวกนามว่าขันธะ องค์หนึ่ง นามว่าติสสะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าอโศกะ. พระอัครสาวิกานามว่าจันทา องค์หนึ่ง นามว่าจันทมิตตา องค์หนึ่ง. ปาตลิพฤกษ์ (ต้นแคฝอย) เป็นต้นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๘๐ ศอก พระรัศมีจากพระสรีระแผ่ออกไปจด ๗ โยชน์ พระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปุสสะ พระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดในทวีป ทรงพระนามว่าวิปัสสี ผู้มีพระจักษุ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก.

               ในกาลต่อจากพระองค์ ในกัปที่สามสิบเอ็ดแต่กัปนี้ ได้มีพระพุทธเจ้าสองพระองค์คือ พระสิขี และพระเวสสภู. แม้สาวกสันนิบาตของพระสิขี ก็มีสามครั้ง ในสันนิบาตครั้งแรกมีภิกษุแสนหนึ่ง ครั้งที่ ๒ มีแปดหมื่น ครั้งที่ ๓ มีเจ็ดหมื่น. ในกาลครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาทรงพระนามว่า อรินทมะ ได้ถวายมหาทานพร้อมด้วยจีวรแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายช้างแก้วซึ่งตกแต่งด้วยแก้วเจ็ดประการ ได้ถวายกัปปิยะภัณฑ์ ทำให้มีขนาดเท่าตัวช้าง. แม้พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ในกัปที่สามสิบเอ็ดแต่กัปนี้. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น มีนามว่าอรุณวดี กษัตริย์นามว่าอรุณะ เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่าปภาวดี. พระอัครสาวกนามว่าอภิภู องค์หนึ่ง นามว่าสัมภวะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าเขมังกระ. พระอัครสาวิกานามว่าเขมา องค์หนึ่ง นามว่าปทุมา องค์หนึ่ง. ปุณฑรีกพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) เป็นต้นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๓๗ ศอก พระรัศมีจากพระสรีระแผ่ซ่านไปจด ๓๐๐ โยชน์ พระชนมายุได้ ๓๗,๐๐๐ ปี.
               ในกาลต่อจากพระวิปัสสี พระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดในทวีป เป็นพระชินเจ้า ทรงพระนามว่าสิขี หาผู้เสมอมิได้ หาบุคคลเปรียบปานมิได้.

               ในกาลต่อจากพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า เวสสภู เสด็จอุบัติขึ้น. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งแรกได้มีภิกษุแปดล้าน ครั้งที่ ๒ มีเจ็ดล้าน ครั้งที่ ๓ มีหกล้าน. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาทรงพระนามว่าสุทัสนะ ถวายมหาทานพร้อมทั้งจีวร แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วทรงผนวชในสำนักของพระองค์ ได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอาจารคุณ มากไปด้วยความยำเกรง และปีติในพระพุทธรัตนะ. แม้พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์พระองค์ว่า ในกัปที่สามสิบเอ็ดแต่กัปนี้ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า. ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นามว่าอโนมะ พระราชาทรงพระนามว่าสุปปติตะ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่ายสวดี. พระอัครสาวกนามว่าโสณะ องค์หนึ่ง นามว่าอุตตระ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าอุปสันตะ. พระอัครสาวิกานามว่ารามา องค์หนึ่ง นามว่าสมาลา องค์หนึ่ง. สาลพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๖๐ ศอก พระชนมายุได้ ๖๐,๐๐๐ ปี
               ในมัณกัปนั้นนั่นแล พระชินเจ้าผู้หาใครเสมอมิได้ หาใครเปรียบปานมิได้ ทรงพระนามว่า เวสสภู เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก.

               ในกาลต่อจากพระองค์ ในกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นสี่พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา. สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กกุสันธะ มีสาวกสันนิบาตครั้งเดียว. ในสาวกสันนิบาตนั้น นั่นแหละมีภิกษุสี่หมื่น. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาทรงพระนามว่า เขมะ ถวายมหาทานพร้อมด้วยจีวรและเภสัชมียาหยอดตาเป็นต้น แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข สดับพระธรรมเทศนาของพระศาสดา แล้วทรงผนวช. แม้พระศาสดาพระองค์นั้น ก็ได้ทรงพยากรณ์เขาไว้แล้ว. ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กกุสันธะ นามว่าเขมะ. พราหมณ์นามว่าอัคคิทัตตะ เป็นพระบิดา. นางพราหมณีนามว่าวิสาขา เป็นพระมารดา. พระอัครสาวกนามว่าวิธุระ องค์หนึ่ง นามว่าสัญชีวะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าพุทธิชะ พระอัครสาวิกานามว่าสาขา องค์หนึ่ง นามว่าสารัมภา องค์หนึ่ง. มหาสิริสพฤกษ์ [ต้นซึกใหญ่] เป็นต้นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๔๐ ศอก พระชนมายุได้ ๔๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระเวสสภูก็มาถึง พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในทวีป ทรงพระนามว่ากกุสันธะ หาคนเทียบเคียงมิได้ ยากที่ใครๆ จะต่อกรได้.

               ในกาลต่อจากพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า โกนาคมนะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีครั้งเดียว. ในสันนิบาตนั้นได้มีภิกษุสามหมื่นรูป. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาทรงพระนามว่าปัพพตะ มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม เสด็จไปยังสำนักของพระศาสดา สดับพระธรรมเทศนา แล้วนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายมหาทาน แล้วถวายผ้าปัตตุณณะ [ผ้าไหม] จีนปฏะ [ผ้าขาวในเมืองจีน] ผ้าไหม ผ้ากัมพล และผ้าเปลือกไม้เนื้อดี รวมทั้งผ้าที่ทอด้วยทองคำ แล้วทรงผนวชในสำนักของพระศาสดา. แม้พระองค์ก็ทรงพยากรณ์เขาไว้. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นามว่าโสภวดี พราหมณ์นามว่ายัญญทัตตะ เป็นพระบิดา. นางพราหมณ์นามว่าอุตตรา เป็นพระมารดา. พระอัครสาวกนามว่าภิยโยสะ องค์หนึ่ง นามว่าอุตตระ องค์หนึ่ง. อุทุมพรพฤกษ์ [ต้นมะเดื่อ] เป็นต้นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๒๐ ศอก พระชนมายุได้ ๓๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระกกุสันธะ พระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านระ ทรงพระนามว่าโกนาคมนะ ผู้เป็นพระชินเจ้า ผู้เป็นพระโลกเชษฐ์ พระนราสภ.

               ในกาลต่อจากพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า กัสสปะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีครั้งเดียวเท่านั้น. ในสันนิบาตนั้นมีภิกษุสองหมื่น. ในคราวนั้น พระโพธิสัตว์เป็นมาณพชื่อโชติปาละ เรียนจบไตรเพท เป็นผู้มีชื่อเสียง ทั้งบนแผ่นดินและกลางหาว. ได้เป็นมิตรของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เขาพร้อมกับช่างหม้อนั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถา แล้วบวชลงมือทำความเพียร เล่าเรียนพระไตรปิฎก ดูงดงามในพระพุทธศาสนา เพราะถึงพร้อมด้วยวัตรปฏิบัติ พระศาสดาก็ได้ทรงพยากรณ์เขาไว้แล้ว. พระนครอันเป็นที่ประสูติของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีนามว่าพาราณสี. พราหมณ์นามว่าพรหมทัต เป็นพระบิดา. นางพราหมณีนามว่าธนวดี เป็นพระมารดา. พระอัครสาวกนามว่าติสสะ องค์หนึ่ง นามว่าภารทวาชะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่าสัพพมิตตะ. พระอัครสาวิกานามว่าอนุลา องค์หนึ่ง นามว่าอุรุเวลา องค์หนึ่ง. ต้นนิโครธพฤกษ์ [ต้นไทร] เป็นต้นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๒๐ ศอก พระชนมายุได้ ๒๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโกนาคมนะ พระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านระ ทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระชินเจ้า เป็นพระธรรมราชา ทรงทำโลกให้สว่าง.

               ก็ในกัปที่พระทศพลทีปังกรเสด็จอุบัติขึ้น แม้พระพุทธเจ้าจะมีถึงสามองค์ พระโพธิสัตว์ไม่ได้รับการพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ท่านจึงมิได้แสดงไว้ในที่นี้ แต่ในอรรถกถา เพื่อที่จะแสดงพระพุทธเจ้าทั้งหมด จำเดิมแต่กัปนั้น. ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
               พระสัมพุทธเจ้าเหล่านี้ คือ พระตัณหังกร พระเมธังกร และพระสรณังกร พระทีปังกรสัมพุทธเจ้า พระโกณฑัญญะ ผู้สูงสุดกว่านระ พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระมุนีโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ พระปทุมุตตระ พระสุเมธะ พระสุชาตะ พระปิยทัสสี ผู้มีพระยศใหญ่ พระอัตถทัสสี พระธรรมทัสสี พระสิทธัตถะผู้เป็นโลกนายก พระติสสะ พระปุสสสัมพุทธเจ้า พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะและพระนายกกัสสปะ ล้วนทรงมีราคะกำจัดได้แล้ว มีพระหทัยตั้งมั่น ทรงกำจัดความมืดอย่างใหญ่หลวงได้ ประหนึ่งดวงอาทิตย์ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ลุกโพลงอยู่ ราวกะว่ากองไฟ เสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งสาวก
ดังนี้.
               ในเรื่องนั้น พระโพธิสัตว์ของพวกเราสร้าง คุณงามความดีในสำนักของพระพุทธเจ้ายี่สิบสี่องค์ มีพระทีปังกรเป็นต้น มาถึงตลอดสี่อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัป. ต่อจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ไม่มีพระพุทธเจ้าองค์อื่น เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์นี้. ก็พระโพธิสัตว์ได้รับคำพยากรณ์ ในสำนักของพระพุทธเจ้ายี่สิบสี่องค์มีพระทีปังกรเป็นต้นด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า.
               เพราะประมวลธรรม ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ความสมบูรณ์ ด้วยเพศ ด้วยเหตุ การได้พบพระศาสดา การบรรพชา การถึงพร้อมด้วยคุณ การกระทำยิ่งใหญ่ ความพอใจ ความปรารถนาที่ตั้งใจจริง ย่อมสำเร็จได้.

               พระมหาสัตว์ผู้ได้กระทำความปรารถนาที่ตั้งใจจริง ไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ประมวลธรรมประการเหล่านี้มาแล้ว กระทำอุตสาหะว่า เอาเถอะ เราจะเลือกเฟ้นธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จากที่โน้น บ้างที่นี้บ้าง. ได้เห็นพุทธการกธรรม มีทานบารมีเป็นต้น ด้วยกล่าวว่า ในกาลเมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ได้เห็นทานบารมีเป็นข้อแรก. เขาบำเพ็ญธรรมเหล่านั้น อยู่มาจนถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดร และเมื่อมาถึงก็ได้มาบรรลุอานิสงส์ สำหรับพระโพธิสัตว์ ผู้ได้กระทำความปรารถนาที่ตั้งใจจริง ดังที่ท่านพรรณนาไว้มากมายว่า
               นรชนผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทุกประการ ผู้เที่ยงต่อโพธิญาณ ตลอดสงสารอันมีระยะกาลยาวนาน แม้นับด้วยร้อยโกฎิกัป จะไม่เกิดในอเวจี แม้ในโลกันตรนรก ก็เช่นกัน. แม้เมื่อเกิดในทุคติ จะไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต ขุปปิปาสาเปรต กาลกัญชิกาสูร ไม่เป็นสัตว์ตัวเล็กๆ.
               เมื่อจะเกิดในมนุษย์ ก็ไม่เป็นคนบอดแต่กำเนิด ไม่เป็นคนหูหนวก ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เกิดเป็นสตรี ไม่เป็นอุภโตพยัญชนก (คนสองเพศ) และกะเทย.
               นรชนผู้เที่ยงต่อโพธิญาณ จะไม่มีใจติดพันในสิ่งใด พ้นจากอนันตริยกรรม เป็นผู้มีโคจรสะอาดในที่ทั้งปวง ไม่ซ่องเสพมิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผลในการกระทำกรรม.
               แม้จะอยู่ในพวกสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่เกิดเป็นอสัญญีสัตว์. ในพวกที่อยู่ในสุทธาวาส ก็ไม่มีเหตุไปเกิด. เป็นสัตบุรุษ น้อมใจไปในเนกขัมมะ ปลดเปลื้องภพน้อยใหญ่ออก ประพฤติแต่ประโยชน์แก่โลก มุ่งบำเพ็ญบารมีทุกประการ เที่ยวไป.

               เมื่อพระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นั่นแหละ อัตภาพที่บำเพ็ญทานบารมี คือ ในกาลเป็นพราหมณ์ชื่ออกิตติ. ในกาลเป็นพราหมณ์ชื่อสังขะ. ในกาลเป็นพระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชยะ. ในกาลเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในกาลเป็นมหาโควินทะ ในกาลเป็นนิมิมหาราช ในกาลเป็นจันทกุมาร ในกาลเป็นวิสัยหเศรษฐี ในกาลเป็นพระเจ้าสิวิราช ในกาลเป็นพระเวสสันดร ก็เหลือที่จะนับได้ แต่ทานบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้กระทำการบริจาคตน ในสสบัณฑิตชาดก อย่างนี้ว่า
               เราเห็นเขาเข้ามาเพื่อขอ จึงได้บริจาคตัวของตน. สิ่งที่เสมอด้วยทานของเราไม่มี นี้เป็นทานบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็น ปรมัตถบารมีแน่นอน.
               ก็เช่นเดียวกัน อัตภาพที่บำเพ็ญศีลบารมี คือ ในกาลเป็นสีลวนาคราช ในกาลที่เป็นจัมเปยยนาคราช ในกาลที่เป็นภูริทัตตนาคราช ในกาลที่เป็นฉัททันตนาคราช ในกาลเป็นชัยทิสราชบุตร ในกาลที่เป็นอลีนสัตตุกุมาร ก็เหลือที่จะนับได้ แต่ศีลบารมีของพระโพธิสัตว์ ผู้ทำการบริจาคตน ในสังขปาลชาดก อย่างนี้ว่า
               เราเมื่อถูกทิ่มแทงอยู่ด้วยหลาว แม้จะถูกตีซ้ำด้วยหอก ก็มิได้โกรธเคืองลูกผู้ใหญ่บ้านเลย นี้เป็นศีลบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมีแน่นอน.
               ก็เช่นเดียวกัน อัตภาพที่พระโพธิสัตว์สละราชสมบัติอย่างใหญ่ บำเพ็ญเนกขัมบารมีคือ ในกาลที่เป็นโสมนัสกุมาร ในกาลที่เป็นหัตถิปาลกุมาร ในกาลที่เป็นอโยฆรบัณฑิต ก็เหลือที่จะนับได้. แต่เนกขัมมบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ทิ้งราชสมบัติออกบวช เพราะเป็นผู้ปราศจากเครื่องข้อง ในจูฬสุตโสมชาดก อย่างนี้ว่า
               เราละทิ้งราชสมบัติอย่างใหญ่หลวง ที่อยู่ในเงื้อมมือแล้วไปดุจก้อนเขฬะ เมื่อเราสละแล้ว ไม่มีความข้องอยู่เลย นี้เป็นเนกขัมมบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมีแน่นอน.
               ก็เช่นเดียวกัน อัตภาพที่บำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ในกาลที่เป็นวิธูรบัณฑิต ในกาลที่เป็นมหาโควินทบัณฑิต ในกาลที่เป็นขุททาลบัณฑิต ในกาลที่เป็นอรกบัณฑิต ในกาลที่เป็นโพธิปริพาชก ในกาลที่เป็นมโหสถบัณฑิต ก็เหลือที่จะนับได้ แต่ปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้แสดง งูที่อยู่ข้างในกระสอบ ในกาลที่เป็นเสนกบัณฑิต ในสัตตุภัตตชาดก อย่างนี้ว่า
               เราเมื่อใคร่ครวญอยู่ด้วยปัญญา ปลดเปลื้องพราหมณ์ให้พ้นจากทุกข์ได้ ผู้ที่เสมอด้วยปัญญาของเราไม่มี นี้เป็นปัญญาบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็น ปรมัตถบารมีแน่นอน.
               ก็เช่นเดียวกัน อัตภาพที่บำเพ็ญแม้วิริยบารมีเป็นต้น ก็เหลือที่จะนับได้. แต่วิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ข้ามมหาสมุทร ในมหาชนกชาดก อย่างนี้ว่า
               ในท่ามกลางน้ำเราไม่เห็นฝั่งเลย พวกมนุษย์ถูกฆ่าตายหมด ความเป็นอย่างอื่นแห่งจิตไม่มีเลย นี้เป็นวิริยบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ ผู้อดกลั้นทุกข์หนัก เพราะทำเป็นเหมือนกับไม่มีจิตใจ ในขันติวาทีชาดก อย่างนี้ว่า
               เราไม่โกรธในพระเจ้ากาสิกราช ผู้ทุบตีเราผู้เหมือนกับไม่มีจิตใจ ด้วยขวานอันคมกริบ นี้เป็นขันติบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               สัจบารมีของพระโพธิสัตว์ ผู้สละชีวิตตามรักษาอยู่ซึ่งสัจจะ ในมหาสุตโสมชาดก อย่างนี้ว่า
               เราเมื่อตามรักษาอยู่ซึ่งสัจวาจา สละชีวิตของเราปลดเปลื้องกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ได้แล้ว นี้เป็นสัจบารมีของเรา
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์ ผู้ถึงกับสละชีวิตอธิษฐานวัตร ในมูคปักขชาดก อย่างนี้ว่า
               มารดาบิดามิได้เป็นที่เกลียดชังของเรา ทั้งยศใหญ่เราก็มิได้เกลียดชัง แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงอธิษฐานวัตร
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               เมตตาบารมีของพระโพธิสัตว์ ผู้ไม่เหลียวแลแม้แต่ชีวิต ยังคงมีเมตตาอยู่ ในเอกราชชาดก อย่างนี้ว่า
               ใครๆ ก็ทำให้เราสะดุ้งไม่ได้ ทั้งเรา มิได้หวาดต่อใครๆ เราไม่แข็งกระด้าง เพราะกำลังเมตตา จึงยินดีอยู่ในป่าเขา ทุกเมื่อ
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               อุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ ผู้ไม่ประพฤติล่วงอุเบกขา เมื่อพวกเด็กชาวบ้าน แม้จะก่อให้เกิดทุกข์และสุขด้วยการถ่มน้ำลายใส่เป็นต้นบ้าง ด้วยการนำดอกไม้และของหอม มาให้บ้าง ในโลมหังสชาดก อย่างนี้ว่า
               เราหนุนซากศพเหลือแต่กระดูก สำเร็จการนอนในป่าช้า พวกเด็กต่างพากันกระโดดจากสนามวัว แล้วแสดงรูปต่างๆ เป็นอันมาก
ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ความสังเขปในที่นี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนโดยพิศดาร พึงถือใจความนั้นจากจริยาปิฎก.
               พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอย่างนี้แล้ว ดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร กระทำบุญใหญ่ อันเป็นเหตุให้แผ่นดินใหญ่ไหว อย่างนี้ว่า
               แผ่นดินนี้ไม่มีจิตใจ ไม่รับรู้สุขทุกข์ แม้แผ่นดินนั้นก็ได้ไหวแล้วถึง ๗ ครั้ง เพราะอำนาจแห่งทานของเรา
ดังนี้
               ในเวลาสิ้นสุดแห่งอายุ จุติจากนั้นได้ไปเกิดในดุสิตพิภพ. จำเดิมแต่บาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร จนถึงพระโพธิสัตว์นี้เกิดในดุสิตบุรี ข้อนั้นพึงทราบว่า ชื่อทูเรนิทาน.

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1&Z=12
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :