ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 85อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 26 / 87อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค
๑. เขตตูปมาเปตวัตถุ

               ปรมัตถทีปนี               
               อรรถกถาขุททกนิกาย เปตวัตถุ               
               กถาเริ่มต้นปกรณ์               
                                   ข้าพเจ้าขอนมัสการ ซึ่งพระโลกนาถเจ้า
                         ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ ผู้บรรลุฝั่งแห่ง
                         สาครคือไญยธรรม ผู้มีเทศนานัยอันละเอียดลึกซึ้ง
                         และวิจิตร.
                                   ข้าพเจ้าขอนมัสการ ซึ่งพระธรรมเจ้า อัน
                         สูงสุดนั้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบูชาแล้ว
                         ซึ่งเป็นเครื่องนำสัตว์ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชา และ
                         จรณะให้ออกจากโลก.
                                   ข้าพเจ้าขอนมัสการ ซึ่งพระอริยสงฆ์ ผู้
                         เพียบพร้อมด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ผู้ดำรงอยู่ใน
                         มรรคและผล ผู้เป็นบุญเขต อันยอดเยี่ยม.
                                   ด้วยเดชแห่งบุญอันเกิดจากการนมัสการ
                         พระรัตนตรัย ดังกล่าวมาแล้วนี้ ขอข้าพเจ้าจง
                         เป็นผู้มีอันตรายอันห้วงบุญนั้น กำจัดแล้วในที่
                         ทุกสถาน
                                   ก็เทศนาใดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
                         ประกาศถึงกรรมที่เปรตทั้งหลาย กระทำไว้ใน
                         ชาติก่อน อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเป็นเปรต
                         โดยความต่างกันแห่งผลกรรมของเปรตเหล่านั้น
                         อันนำความสังเวชให้เกิดโดยพิเศษ ทำกรรมและ
                         ผลของกรรมให้ประจักษ์ เทศนานั้นมีเรื่องที่ทราบ
                         กันดีแล้ว โดยชื่อว่าเปตวัตถุ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณ
                         อันยิ่งใหญ่ได้สังคายนาไว้แล้ว ในขุททกนิกาย.
                                   ข้าพเจ้าจะยึดเอานัยแห่งอรรถกถาเก่าของ
                         เปตวัตถุนั้นมาชี้แจงถึงเหตุในเรื่องนั้นๆ ให้แจ่ม
                         แจ้งโดยพิเศษ จักกระทำอรรถสังวรรณนาอันงด
                         งามบริสุทธิ์ด้วยดี ไม่ปะปน มีอรรถและวินิจฉัย
                         อันละเอียด ไม่ค้านกับลัทธิของพระมหาเถระผู้
                         อยู่ในมหาวิหารตามกำลัง ขอสาธุชนทั้งหลายจง
                         ตั้งใจสดับอรรถสังวรรณนานั้นของข้าพเจ้าผู้กล่าว
                         อยู่โดยเคารพเทอญ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เปตวตฺถุ ได้แก่ กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์นั้นๆ มีบุตรแห่งเศรษฐีเป็นต้นเกิดเป็นเปรต.
               ก็พระปริยัติธรรมอันเป็นไปโดยประกาศถึงกรรมนั้นมีอาทิว่า พระอรหันต์ทั้งหลายเปรียบด้วยนา ท่านประสงค์เอาเปตวัตถุในที่นี้.
               ถามว่า เปตวัตถุนี้นั้น ใครกล่าว กล่าวที่ไหน กล่าวเมื่อไรและเพราะเหตุไรจึงกล่าว?
               ข้าพเจ้าจะเฉลย :
               จริงอยู่ เปตวัตถุนี้เกิดด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นแห่งเรื่อง ๑ ด้วยอำนาจคำถามและคำตอบ ๑.
               ในสองอย่างนั้น ที่เกิดด้วยอัตถุปปัตติเหตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส นอกนั้น พระนารทเถระเป็นต้นเป็นผู้ถาม พวกเปรตนั้นๆ เป็นผู้แก้.
               ก็เพราะเหตุที่เมื่อพระนารทเถระเป็นต้น กราบทูลถึงคำถามและคำตอบนั้นๆ พระศาสดาจึงกระทำเรื่องนั้นๆ ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว แสดงธรรมแก่บริษัทพร้อมหน้ากัน. ฉะนั้น เปตวัตถุนั้นทั้งหมด จึงเป็นอันชื่อว่า พระศาสดาตรัสทั้งนั้น.
               จริงอยู่ เมื่อพระศาสดาทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในที่นั้นๆ มีกรุงราชคฤห์เป็นต้น เปตวัตถุนั้นๆ จึงขึ้นสู่เทศนา โดยกระทำกรรมและผลของกรรมแห่งสัตว์ทั้งหลายให้ประจักษ์ ด้วยการถามและแก้ไขอัตถุปปัตติเหตุนั้นๆ โดยมาก ดังนั้น ในที่นี้เทศนานี้ จึงเป็นการตอบโดยทั่วไป แห่งบททั้งหลายว่า เกน ภาสิตํ ดังนี้เป็นต้น เป็นอันดับแรก.
               แต่เมื่อว่าโดยไม่ทั่วไป เทศนานี้จักมาในอรรถวรรณนาแห่งเรื่องนั้นๆ นั่นแล.
               ก็เปตวัตถุนี้นั้น นับเนื่องในสุตตันตปิฎก ในบรรดาปิฎก ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก.
               นับเนื่องในขุททกนิกาย ในบรรดานิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายและขุททกนิกาย.
               สงเคราะห์เข้าในคาถา ในบรรดาศาสนามีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตก ชาดก อัพภูตธรรมและเวทัลละ.
               สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์เล็กน้อย ในบรรดาธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่พระอานนท์ผู้ธรรมภัณฑาคาริก ได้ปฏิญญาณไว้อย่างนี้ว่า
                         ข้าพเจ้าเรียนเอาพระธรรมขันธ์จากพุทธสำนัก
                         ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จากสำนักภิกษุ ๒,๐๐๐
                         พระธรรมขันธ์ที่เป็นไปในหทัยของข้าพเจ้าจึงมี
                         จำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ดังนี้.
               ว่าโดยภาณวาร มีเพียง ๔ ภาณวาร ว่าโดยวรรค สงเคราะห์เป็น ๔ วรรคคือ อุรควรรค อุพพริวรรค จูฬวรรคและมหาวรรค.
               ใน ๔ วรรคนั้น วรรคแรกมี ๑๒ เรื่อง วรรคที่ ๒ มี ๑๓ เรื่อง วรรคที่ ๓ มี ๑๐ เรื่อง วรรคที่ ๔ มี ๑๖ เรื่อง รวมความว่า เมื่อว่าโดยเรื่อง ประดับด้วยเรื่อง ๕๑ เรื่อง.
               ในบรรดาวรรคของเรื่องนั้น อุรควรรคเป็นวรรคต้น.
               ในบรรดาเรื่องมีเรื่องเขตตูปมเปรตเป็นเรื่องต้น คาถาของเรื่องต้นนั้นมีคำว่า เขตฺตูปมา อรหนฺโต เป็นต้นเป็นคาถาแรก.

               อุรควรรคที่ ๑               
               อรรถกถาเขตตูปมาเปตวัตถุที่ ๑               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ จึงทรงปรารภเปรตบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนั้นดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ ได้มีเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจอย่างมากมาย สั่งสมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนหลายโกฏิ. ได้มีบุตรคนเดียว น่ารัก น่าชอบใจ.
               เมื่อบุตรนั้นรู้เดียงสา บิดามารดาจึงพากันคิดอย่างนี้ว่า เมื่อบุตรของเราจ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไปวันละ ๑,๐๐๐ ทุกวันแม้ถึงร้อยปี ทรัพย์ที่สั่งสมไว้นี้ก็ไม่หมดสิ้นไป. จะประโยชน์อะไร ด้วยการที่จะให้บุตรนี้ลำบากในการศึกษาศิลปะ ขอให้บุตรนี้จงมีความไม่ลำบากกายและจิต บริโภคโภคสมบัติตามสบายเถิด ดังนี้แล้วจึงไม่ให้บุตรศึกษาศิลปะ.
               ก็เมื่อบุตรเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาได้นำหญิงสาวแรกรุ่น ผู้สมบูรณ์ด้วยสกุล รูปร่างความเป็นสาวและความงาม ผู้เอิบอิ่มด้วยกามคุณ บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา. เขาอภิรมย์อยู่กับหญิงสาวนั้น ไม่ให้เกิดแม้ความคิดถึงธรรม ไม่มีความเอื้อเฟื้อในสมณพราหมณ์และคนที่ควรเคารพ ห้อมล้อมด้วยพวกนักเลง กำหนัดยินดี ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เป็นผู้มืดมนธ์ไปด้วยโมหะ ให้เวลาผ่านไป.
               เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมลง ให้สิ่งที่ปรารถนาแก่นักรำนักร้องเป็นต้น ผลาญทรัพย์ให้วอดวายไป ไม่นานเท่าไรนักก็สิ้นเนื้อประดาตัว (เที่ยว) ขอยืม (เงิน) เลี้ยงชีวิต ยืมหนี้ไม่ได้อีก ถูกพวกเจ้าหนี้ทวงถามก็ต้องให้ที่นาที่สวนและเรือนเป็นต้นของตนแก่พวกเจ้าหนี้เหล่านั้น ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานกิน พักอยู่ที่ศาลาคนอนาถาในพระนครนั้นนั่นแล.
               ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พวกโจรมาประชุมกัน กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า นายผู้เจริญ ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยการเป็นอยู่ลำบากอย่างนี้ ท่านยังเป็นหนุ่มมีเรี่ยวแรงกำลังก็สมบูรณ์ เหตุไฉนท่านจึงอยู่เหมือนมีมือเท้าพิกล มาเถิด มาร่วมกับพวกเรา (เที่ยว) ปล้นทรัพย์พวกชาวบ้านแล้ว เป็นอยู่สบายดี.
               ชายคนนั้นพูดว่า เราไม่รู้วิธีทำโจรกรรม.
               พวกโจรตอบว่า พวกเราจะสอนให้เธอ ขอให้เธอจงเชื่อคำของพวกเราอย่างเดียว. ชายนั้นรับคำแล้วได้ไปกับพวกโจรเหล่านั้น.
               ลำดับนั้น พวกโจรเหล่านั้นใช้ให้เขาถือค้อนใหญ่ ตัดช่องย่องขึ้นเรือน ให้เขายืนตรงที่ปากช่องแล้วสอนว่า ถ้าคนอื่นมาในที่นี้ เจ้าจงเอาไม้ค้อนนี้ทุบผู้นั้นทีเดียวให้ตายเลย. เขาเป็นคนบอดเขลา ไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ได้ยืนอยู่แต่ในที่นั้น มองดูทางมาของคนเหล่าอื่นอย่างเดียว.
               ฝ่ายพวกโจรเข้าไปยังเรือนแล้ว ถือเอาสิ่งของที่ควรถือเอาไปด้วย พอพวกคนในเรือนรู้ตัวเท่านั้นก็พากันหนีไปคนละทิศคนละทาง. พวกคนในเรือนลุกขึ้น ต่างก็พากันวิ่งขับโดยเร็ว พร้อมกับดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นชายคนนั้นยืนอยู่ตรงช่องประตู เฮ้ย คนร้ายแล้วพากันจับไว้ เอาไม้ค้อนเป็นต้นทุบมือและเท้าแล้ว กราบทูลแสดงแด่พระราชาว่า ขอเดชะ คนนี้เป็นโจร ข้าพระองค์จับได้ที่ปากช่อง.
               พระราชาทรงมีพระบัญชาให้ผู้รักษาพระนครลงโทษด้วยพระดำรัสว่า จงตัดศีรษะของผู้นี้. ผู้รักษาพระนครรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว จึงให้จับชายคนนั้นแล้ว ให้มัดไพล่หลังอย่างมั่นคง ให้ตระเวนเขาผู้ถูกคล้องคอด้วยพวงมาลัยสีแดงห่างๆ มีศีรษะเปื้อนด้วยผงอิฐ ตามทางที่เขาแสดงด้วยกลอง ตีประจานโทษจากทางรถบรรจบทางรถ จากทางสี่แพร่งบรรจบทางสี่แพร่งแล้ว ให้เฆี่ยนด้วยหวายพลางนำไปยังสถานที่ประหารชีวิต.
               ประชาชนพากันแตกตื่นว่า ในพระนครนี้ เขาจับโจรปล้นสะดมภ์คนนี้ได้.
               ก็สมัยนั้นในพระนครนั้น มีหญิงงามเมืองคนหนึ่งชื่อว่าสุลสา ยืนอยู่ที่ปราสาทมองไปตามช่องหน้าต่าง เห็นชายคนนั้นถูกนำไปอย่างนั้น เธอเคยถูกชายผู้นั้นบำเรอมาในกาลก่อน จึงเกิดความสงสารชายคนนั้นขึ้นว่า ชายคนนี้เคยเสวยสมบัติเป็นอันมากในพระนครนี้เอง บัดนี้ถึงความพินาศวอดวายถึงเพียงนี้ จึงส่งขนมต้ม ๔ ลูกและน้ำดื่มไปให้. และได้แจ้งให้ผู้รักษาพระนครทราบว่า ขอเจ้านายจงรอจนถึงชายผู้นี้กินขนมต้มเหล่านี้ แล้วดื่มน้ำก่อน.
               ครั้นในระหว่างนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะตรวจดูด้วยทิพยจักษุ เห็นชายคนนั้นจะถึงความวอดวาย ด้วยแรงกรุณาเตือนใจ คิดว่า ชายคนนี้ไม่เคยทำบุญ ทำแต่บาป เพราะฉะนั้น ชายผู้นี้จักเกิดในนรก ครั้นพอเราไป เขาถวายขนมต้มและน้ำดื่มแล้วจักเกิดในภุมมเทพ ไฉนหนอ เราจะพึงเป็นที่พึ่งของชายผู้นี้ ดังนี้แล้วได้ไปปรากฏข้างหน้าของชายผู้นั้น ในขณะที่เขานำน้ำดื่มและขนมต้มเข้าไปให้.
               เขา ครั้นเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่าเราผู้จะถูกคนเหล่านี้ฆ่าในบัดนี้เอง จะมีประโยชน์อะไรด้วยขนมต้มที่เราจะกินเข้าไป ก็ผลทานนี้จักเป็นเสบียงสำหรับคนไปสู่ปรโลก จึงให้เขาถวายขนมต้มและน้ำดื่มแด่พระเถระ.
               เพื่อจะเจริญความเลื่อมใสของชายผู้นั้น เมื่อชายผู้นั้นกำลังดูอยู่นั่นแหละ พระเถระจึงนั่งในที่เช่นนั้น ฉันขนมต้มและดื่มน้ำแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป.
               ฝ่ายชายผู้นั้นถูกเพชฌฆาตนำไปสู่ที่ประหาร แล้วให้ถึงการตัดศีรษะ ด้วยบุญที่เขาทำไว้ในพระมหาโมคคัลลานเถระผู้เป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม แม้จะเป็นผู้ควรจะเกิดในเทวโลกชั้นเยี่ยม แต่เพราะเหตุที่เธอมีจิตเศร้าหมองในเวลาใกล้จะตาย เพราะความเสน่หาที่มุ่งถึงนางสุลสาว่า เราได้ไทยธรรมนี้เพราะอาศัยนางสุลสา ฉะนั้น เมื่อจะเกิดเป็นหมู่เทพชั้นต่ำ จึงเกิดเป็นรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ มีร่มเงาอันสนิท อันเกิดแทบภูเขา.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า
               "ได้ยินว่า ถ้าในปฐมวัย เขาจักได้ขวนขวายในการดำรงวงศ์สกุลไซร้ เขาจักเป็นผู้เลิศกว่าเศรษฐีทั้งหลายในพระนครนั้นนั่นเอง ถ้าขวนขวายในมัชฌิมวัย เขาจักเป็นเศรษฐีวัยกลางคน ถ้าขวนขวายในปัจฉิมวัย เขาก็จักเป็นเศรษฐีในวัยสุดท้าย.
               แต่ถ้าในปฐมวัยเขาจักได้บวชไซร้ เขาก็จักได้เป็นพระอรหันต์. ถ้าบวชในมัชฌิมวัย เขาก็จักได้เป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามี. ถ้าบวชในปัจฉิมวัย เขาก็จักได้เป็นพระโสดาบัน.
               แต่เพราะเขาคลุกคลีด้วยบาปมิตร เขาจึงเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา ยินดีแต่ในทุจริต เป็นคนไม่เอื้อเฟื้อ เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง ถึงความย่อยยับอย่างใหญ่หลวงโดยลำดับ."
               ครั้นสมัยต่อมา เทพบุตรนั้นเห็นนางสุลสาไปสวน เกิดกามราคะ เนรมิตให้มืดแล้วนำนางไปยังภพของตน สำเร็จการอยู่ร่วมกับนางสิ้น ๗ วันและได้แนะนำตนแก่นาง. มารดาของนางเมื่อไม่เห็นนาง ร้องไห้พลางวิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้.
               มหาชนเห็นเข้าจึงกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้ามหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จะพึงรู้คติของนาง ท่านพึงเข้าไปหาท่านแล้วไต่ถามเถิด.
               นางรับคำแล้วเข้าไปหาท่าน ถามความนั้น.
               พระเถระกล่าวว่า ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมในพระเวฬุวันมหาวิหาร เธอจักเห็น ณ ที่สุดบริษัท.
               ลำดับนั้น นางสุลสาได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นว่า ข้อที่เราอยู่ในภพของท่านไม่สมควร วันนี้เป็นวันที่ ๗ มารดาของฉันเมื่อไม่เห็นฉันก็จักถึงความร่ำไรโศกเศร้า ดีละเทวดา ท่านจงพาฉันไปที่นั้นนั่นเถิด.
               เทพบุตรพานางไปพักไว้ท้ายบริษัท ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ในพระเวฬุวัน ได้ยืนไม่ปรากฏตัว.
               ลำดับนั้น มหาชนเห็นนางสุลสาแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า แม่สุลสา เธอไปไหนมาตลอดวันเท่านี้ มารดาของเธอเมื่อไม่เห็นเธอ ก็ได้ถึงความร่ำไรโศกเศร้าเหมือนคนบ้า. นางจึงแจ้งเรื่องนั้นแก่มหาชนและเมื่อมหาชนถามว่า อย่างไรบุรุษนั้นกระทำความขวนขวายแต่บาปเช่นนั้น ไม่ได้ทำกุศลไว้เลย ยังเกิดเป็นเทพได้.
               นางสุลสากล่าวว่า เขาได้ถวายขนมต้มและน้ำดื่มที่เราให้แก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ด้วยบุญนั้นจึงได้เกิดเป็นเทพบุตร.
               มหาชนได้ฟังดังนั้น จึงได้เกิดอัศจรรย์จิตไม่เคยมี จึงได้คิดว่า เขาได้กระทำบุญกรรมแม้น้อยในพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมของชาวโลก จึงนำสัตว์มาเกิดเป็นเทพบุตร ดังนี้แล้วจึงได้เสวยปีติและโสมนัสอันโอฬาร.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ลำดับนั้น เพราะอัตถุปปัติเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า :-
                                   พระอรหันต์ทั้งหลาย เปรียบด้วยนา
                         ทายกทายิกาทั้งหลาย เปรียบด้วยชาวนา
                         ไทยธรรมเปรียบด้วยพืช ผลทานย่อมเกิด
                         แต่การบริจาคไทยธรรมของทายกทายิกา
                         ผู้ให้แก่ปฏิคาหกผู้รับนั้น พืชนาและการ
                         หว่านพืชนี้ย่อมให้เกิดผลแก่พวกเปรตและ
                         ทายกทายิกาผู้ให้ เปรตทั้งหลายย่อมพากัน
                         บริโภคผลนั้น ทายกทายิกาย่อมเจริญด้วย
                         บุญ ทายกทายิกาทำกุศลในโลกนี้แล้วอุทิศ
                         ให้เปรตทั้งหลาย ครั้นทำกรรมดีแล้ว ย่อม
                         ไปสวรรค์.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เขตฺตูปมา ได้แก่ ชื่อว่านา เพราะเป็นที่ต้านทาน คือรักษาพืชที่ซัดคือที่หว่าน โดยทำภาวะให้ทำผลมาก ได้แก่สถานที่เป็นที่งอกแห่งพืชมีข้าวสาลีเป็นต้น.
               พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าเขตตูปมา เพราะมีนาเป็นอุปมา. อธิบายว่า เป็นเสมือนคันนา.
               บทว่า อรหนฺโต ได้แก่ ท่านผู้สิ้นอาสวะทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ท่านผู้สิ้นอาสวะทั้งหลายเหล่านั้น ท่านเรียกว่าพระอรหันต์ เพราะกำจัดซี่กำแห่งกิเลสเป็นต้น และซี่กำแห่งสังสารจักร เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสเป็นต้นนั้นนั่นแล เพราะเป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมมีปัจจัยเป็นต้น และเพราะไม่มีที่ลับในการทำบาป.
               จริงอยู่ ในข้อนั้น สันดานของพระขีณาสพเว้นจากโทษมีโลภเป็นต้น ประกอบด้วยปัจจัยอื่นมีกาลเป็นต้น ในเมื่อเขาหว่านพืชคือไทยธรรมที่ตบแต่งไว้ดีแล้ว ย่อมมีผลมากแก่ทายก เปรียบเหมือนนาเว้นจากโทษมีหญ้าเป็นต้น ประกอบด้วยปัจจัยอื่นมีฤดูและน้ำเป็นต้น ในเมื่อหว่านพืชที่เขาจัดแจงไว้ดี ย่อมมีผลมากแก่ชาวนาฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เขตฺตูปมา อรหนฺโต ดังนี้เป็นต้น.
               นี้เป็นนิเทศอย่างอุกฤษฏ์ เพราะไม่ปฏิเสธว่า แม้พระอริยบุคคลมีพระเสขะเป็นต้นว่า เป็นเขตของทายกนั้น.
               บทว่า ทายกา ได้แก่ ผู้ให้ คือผู้บริจาคปัจจัยมีจีวรเป็นต้น. อธิบายว่า ผู้สละคือผู้ตัดกิเลสมีโลภะเป็นต้นในสันดานของตน โดยการบริจาคปัจจัยมีจีวรเป็นต้นนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ชำระและผู้รักษาสันดานของตนจากกิเลสมีความโลภเป็นต้นนั้น.
               บทว่า สฺสกูปมา ได้แก่ เสมือนชาวนา.
               ชาวนาไถนาข้าวสาลีเป็นต้น เมื่อไม่ประมาทด้วยกิจมีการหว่าน การไขน้ำเข้า การเปิดน้ำออก การปักดำและการรักษาเป็นต้นตามควรแก่เวลา ย่อมได้รับผลแห่งข้าวกล้าอันโอฬารและไพบูลย์ฉันใด แม้ทายกก็ฉันนั้น เมื่อไม่ประมาทด้วยการบริจาคไทยธรรม และการปรนนิบัติในพระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมได้รับผลแห่งทานอันโอฬารและไพบูลย์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าทายกและทายิกาเปรียบด้วยชาวนาดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า พีชูปมํ เทยฺยธมฺมํ ท่านกล่าวด้วยลิงควิปปลาส, อธิบายว่า ไทยธรรมเป็นเหมือนพืช.
               จริงอยู่ คำว่า เทยฺยธมฺมํ นี้เป็นชื่อของวัตถุที่จะพึงให้ ๑๐ อย่างมีข้าวและน้ำเป็นต้น.
               บทว่า เอตฺโต นิพฺพตฺตเต ผลํ ความว่า ผลแห่งทานย่อมบังเกิด และเกิดขึ้นจากการบริจาคไทยธรรมของทายกแก่ปฏิคาหกนั้น และย่อมเป็นไปด้วยอำนาจการสืบเนื่องตลอดกาลนาน.
               ก็ในที่นี้ เพราะเหตุที่วัตถุมีข้าวและน้ำเป็นต้นที่จัดแต่งด้วยเจตนาเครื่องบริจาค ไม่ใช่ภาวะแห่งวัตถุนอกนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดไทยธรรมด้วยศัพท์ว่า พีชูปมํ เทยฺยธมฺมํ ดังนี้. เพราะเหตุนั้น พึงเห็นเจตนาเครื่องบริจาคซึ่งมีไทยธรรมวัตถุเป็นอารมณ์นั่นแหละว่าเป็นพืช โดยอ้างถึงไทยธรรม.
               จริงอยู่ เจตนาเครื่องบริจาคนั้นให้สำเร็จผลต่างด้วยปฏิสนธิเป็นต้น และต่างด้วยอารมณ์อันเป็นนิสสัยปัจจัยแห่งปฏิสนธิเป็นต้นนั้น ไม่ใช่ไทยธรรมแล.
               บทว่า เอตํ พีชํ กสี เขตฺตํ ได้แก่ พืชตามที่หว่านแล้วและนาตามที่กล่าวแล้ว.
               อธิบายว่า กสิ กล่าวคือประโยคในการหว่านพืชนั้นในนานั้น.
               การหว่านทั้ง ๓ อย่างนั้นจำปรารถนา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เปตานํ ทายกสฺส จ เป็นต้น. ถ้าทายกให้ทานอุทิศให้เปรตทั้งหลาย. แก่พวกเปรตและทายก.
               ถ้าไม่ให้ทานอุทิศให้พวกเปรต, อธิบายว่า พืชนั้น การหว่านนั้น และนานั้นย่อมมีเพื่อความอุปการะแก่ทายกเท่านั้น.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงถึงอุปการะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พวกเปรตย่อมบริโภคผลนั้น ผู้ให้ย่อมเจริญด้วยบุญ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ เปตา ปริภุญฺชนฺติ ความว่า เมื่อทายกถวายทานอุทิศพวกเปรต เมื่อนา การหว่านและพืชตามที่กล่าวแล้วสมบูรณ์และมีการอนุโมทนา พวกเปรตย่อมบริโภคผลทานที่สำเร็จแก่เปรต.
               บทว่า ทาตา ปุญฺเญน วฑฺฒติ ความว่า แต่ผู้ให้ย่อมเจริญด้วยผลแห่งบุญมีโภคสมบัติเป็นต้น ในเทวดาและมนุษย์อันมีบุญที่สำเร็จจากทานของตนเป็นนิมิต.
               จริงอยู่ แม้ผลแห่งบุญ ท่านก็เรียกว่า บุญ ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ย่อมเจริญอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งการสมาทานกุศลธรรม.
               บทว่า อิเธว กุสลํ กตฺวา ความว่า สั่งสมบุญอันสำเร็จด้วยทาน ด้วยอำนาจการอุทิศแก่พวกเปรต ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่าไม่มีโทษและมีสุขเป็นผลในอัตตภาพนี้เอง.
               บทว่า เปเต จ ปฏิปูชิย ความว่า ต้อนรับด้วยทานอุทิศเปรต ให้เปรตเหล่านั้น พ้นจากทุกข์ที่เสวยอยู่.
               จริงอยู่ ทานที่ให้อุทิศเปรต เป็นอันชื่อว่าบูชาเปรตเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าก็การบูชาที่พวกญาติทำแล้วแก่พวกเรา และว่าการบูชาอันยิ่งใหญ่ที่พวกญาติทำแล้วแก่พวกเปรต.
               ด้วย ศัพท์ ในบทว่า เปเต จ นี้ จัดเข้าในอานิสงส์แห่งทานที่เป็นปัจจุบัน มีอาทิอย่างนี้ว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่ถึงใจ เป็นที่ไว้วางใจ เป็นผู้ยกย่อง เป็นผู้ที่ควรเคารพและเป็นผู้อันวิญญูชนควรสรรเสริญควรระบุถึง.
               บทว่า สคฺคญฺจ กมติฏฺฐานํ กมฺมํ กตฺวาน ภทฺทกํ ความว่า กระทำกัลยาณกรรมคือกุศลกรรม ย่อมก้าวถึงคือเข้าถึงด้วยอำนาจการเข้าถึงเทวโลกอันเป็นสถานที่เกิดของพวกคนผู้ได้ทำบุญไว้ อันได้นามว่าสวรรค์ เพราะมีอารมณ์ดีด้วยฐานะ ๑๐ ประการ มีอายุทิพย์เป็นต้น.
               ก็ในบทเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า ทำกุศลแล้วกล่าวซ้ำว่า อันกระทำกรรมดี พึงเห็นว่า เพื่อจะแสดงว่า แม้การบริจาคธรรมเป็นทาน โดยการให้ส่วนบุญ เหมือนการบริจาคไทยธรรม จัดเป็นกุศลกรรมอันสำเร็จด้วยทานเหมือนกัน. ก็ในที่นี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระอรหันต์ ท่านประสงค์เอาว่า เปรต. คำนั้นเป็นเพียงมติของเกจิอาจารย์เหล่านั้น เพราะที่มาว่าพระขีณาสพนั้น เป็นเปรตไม่มีเลย เพราะพระขีณาสพเหล่านั้นไม่ประกอบภาวะมีพืชเป็นต้นเหมือนทายก และเพราะผู้เกิดในกำเนิดเปรตมีภาวะมีพืชเป็นต้นประกอบไว้.
               ในเวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ตั้งต้นแต่เทพบุตรและนางสุลสาได้ตรัสรู้ธรรมแล้วแล.

               จบอรรถกถาเขตตูปมาเปตวัตถุที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค ๑. เขตตูปมาเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 85อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 26 / 87อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=2972&Z=2982
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :