ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 82อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 83อ่านอรรถกถา 26 / 84อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗
๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน

               อรรถกถามัฏฐกุณฑลีวิมาน               
               มัฏฐกุณฑลีวิมาน มีคาถาว่า อลงฺกโต มฏฺฐกุณฺฑลี เป็นต้น.
               มัฏฐกุณฑลีวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี.
               สมัยนั้น พราหมณ์ชาวสาวัตถีคนหนึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ เพราะไม่ให้นั่นเอง เขาจึงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า อทินนปุพพกะ ไม่เคยให้.
               เขาไม่ต้องการเฝ้าพระตถาคต ไม่ต้องการแม้จะเห็นสาวกของพระตถาคต เพราะความเป็นคนโลภโดยเป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาสอนบุตรของตนชื่อมัฏฐกุณฑลีว่า ลูก เจ้าไม่พึงไปหา ไม่พึงเห็นพระสมณโคดมและสาวกของพระองค์ แม้ตัวเขาเองก็ได้กระทำอย่างนั้น.
               คราวนั้น บุตรของเขาป่วย พราหมณ์ไม่ได้ทำยารักษา เพราะกลัวเปลืองทรัพย์ เมื่อโรคกำเริบขึ้นจึงเชิญหมอมาดู. หมอทั้งหลายดูร่างกายของเขาแล้ว รู้ว่าเด็กนั้นรักษาไม่หายจึงหลีกไป. พราหมณ์คิดว่า เมื่อลูกตายในเรือน นำออกลำบาก จึงอุ้มบุตรให้นอนที่นอกซุ้มประตู.
               ณ ราตรีปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นมัฏฐกุณฑลีมาณพหมดอายุ จะต้องตายในวันนั้นเอง และทรงเห็นโอกาสที่มาณพนั้นกระทำกรรมอันเป็นไปเพื่อนรก มีพระพุทธดำริว่า ถ้าเราไปในที่นั้น มาณพนั้นจักทำจิตให้เลื่อมใสเรา จักบังเกิดในเทวโลก จักเข้าไปหาบิดาที่ร้องไห้อยู่ในป่าช้า ให้บิดาสังเวช เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งเขาและบิดาของเขาจักมาหาเรา หมู่มหาชนจักประชุมกัน เมื่อเราแสดงธรรม จักมีการตรัสรู้ธรรมกันมากในที่นั้น.
               ครั้นทรงทราบอย่างนี้แล้ว รุ่งเช้า ทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ประทับยืนเปล่งพระพุทธรังสีมีวรรณะ ๖ ใกล้เรือนบิดาของมาณพมัฏฐกุณฑลี มาณพเห็นพระฉัพพัณณรังสีเหล่านั้นคิดว่า นั่นอะไร เหลียวดูข้างโน้นข้างนี้ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฝึกตนแล้ว คุ้มครองตนแล้ว มีพระอินทรีย์สงบโชติช่วงอยู่ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ และด้วยพระเกตุมาลาอันมีรัศมีวาหนึ่ง ทรงรุ่งโรจน์ด้วยพระพุทธสิริอันเปรียบมิได้ ด้วยพระพุทธานุภาพอันเป็นอจินไตย.
               ครั้นเห็นแล้ว มาณพนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จถึงที่นี้แล้วหนอ ซึ่งพระองค์มีรูปสมบัติที่จะงำแม้พระอาทิตย์ ด้วยพระเดชของพระองค์ งำพระจันทร์ด้วยพระคุณที่น่ารัก งำสมณพราหมณ์ทั้งหมด ด้วยความเป็นผู้สงบระงับ อันความสงบระงับพึงมีในที่นี้นี่แหละ อัครบุคคลในโลกนี้ก็เห็นจะผู้นี้นี่เอง และก็เสด็จถึงที่นี้ก็เพื่อทรงอนุเคราะห์เราแน่แล้ว.
               มาณพนั้นมีเรือนร่างอันปีติที่มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์สัมผัสแล้วตลอดกาล เสวยปีติโสมนัสไม่น้อย มีจิตเลื่อมใสนอนประคองอัญชลี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเขาแล้ว มีพระดำริว่า เพียงเท่านี้ก็พอที่มาณพนี้จะเข้าถึงสวรรค์ ดังนี้ เสด็จหลีกไป.
               แม้มาณพนั้นไม่ละปีติโสมนัสนั้นเลย ทำกาละตายไปบังเกิดในวิมานทอง ๑๒ โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ฝ่ายบิดาของเขาให้ทำสักการะสรีระแล้ว ในวันที่สองไปป่าช้าในเวลาเช้ามืด คร่ำครวญว่า โธ่เอ๋ย มัฏฐกุณฑลี โธ่เอ๋ย มัฏฐกุณฑลี เดินพลางร้องไห้พลาง วนไปรอบๆ ป่าช้า.
               เทพบุตรตรวจดูความสมบูรณ์แห่งสมบัติของตน ทบทวนดูว่า เราทำกรรมอะไร จากไหนจึงมาที่นี้ ได้รู้อัตภาพก่อนของตน และเห็นความเลื่อมใสแห่งจิตที่เป็นไปในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพียงทำอัญชลีที่น่าจับใจ ในเวลาจะตายในอัตภาพนั้น เกิดความเลื่อมใสและความนับถือเป็นอันมากในพระตถาคตอย่างดียิ่งว่า โอ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพมาก.
               ใคร่ครวญดูว่า อทินนปุพพกพราหมณ์ทำอะไรหนอ เห็นมาร้องไห้อยู่ในป่าช้า จึงคิดว่า พราหมณ์นี้ เมื่อก่อน ไม่ทำแม้เพียงยารักษาเรา มาบัดนี้ร้องไห้อยู่ในป่าช้า หาประโยชน์มิได้ เอาเถอะ เราจักให้พราหมณ์นั้นสังเวชแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศล ดังนี้แล้ว มาจากเทวโลก แปลงตัวเป็นมัฏฐกุณฑลีร้องไห้อยู่ ยืนประคองแขนคร่ำครวญอยู่ใกล้ๆ บิดาว่า โอ้ พระจันทร์ โอ้ พระอาทิตย์.
               ครั้งนั้น พราหมณ์คิดว่า นี้มัฏฐกุณฑลีมาแล้ว ได้กล่าวกะเขาด้วยคาถาว่า
               เจ้าแต่งตัว มีตุ้มหูเกลี้ยง ทรงมาลัยดอกไม้ ทาตัวด้วยจันทน์แดง ประคองแขนคร่ำครวญอยู่ในกลางป่า เจ้าเป็นทุกข์หรือ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลงฺกโต แปลว่า ประดับแล้ว.
               บทว่า มฏฺฐกุณฺฑลี ได้แก่ มีตุ้มหูที่ทำอย่างเกลี้ยงๆ ไม่แสดงลายดอกไม้และเครือเถาเป็นต้น เพื่อไม่ครูดสีร่างกาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มฏฺฐกุณฺฑลี แปลว่า ตุ้มหูที่บริสุทธิ์. อธิบายว่า ตุ้มหูที่ต้มแล้วเช็ดล้างด้วยหญิงคุธรรมชาติ แล้วเช็ดด้วยขนสุกร.
               บทว่า มาลธารี ได้แก่ ทัดทรงมาลัยดอกไม้. อธิบายว่า ประดับมาลัยดอกไม้.
               บทว่า หริจนฺทนุสสโท ความว่า เอาจันทน์แดงไล้ทาทั่วตัว.
               บทว่า กึ เป็นคำถาม.
               บทว่า ทุกฺขิโต แปลว่า ถึงความทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กึ ทุกฺขิโต เป็นบทเดียวกัน ความว่า ถึงทุกข์ ด้วยความทุกข์อะไร.
               ลำดับนั้น เทพบุตรกล่าวกะพราหมณ์ว่า
               เรือนรถทำด้วยทองคำงามผุดผ่องเกิดขึ้นแก่ข้า ข้าหาคู่ล้อรถนั้นยังไม่ได้ ข้าจะสละชีวิตเพราะความทุกข์นั้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์กล่าวกะเทพบุตรนั้นว่า
               พ่อมาณพผู้เจริญ เจ้าอยากได้คู่ล้อทองคำ แก้วมณี ทองแดงหรือเงินก็จงบอกแก่ข้า ข้าจะจัดคู่ล้อให้เจ้า.
               มาณพได้ฟังดังนั้น คิดว่า พราหมณ์นี้ไม่ทำยารักษาลูก เห็นเราคล้ายลูกร้องไห้ พูดว่าจะทำล้อรถทองเป็นต้นให้ ช่างเถอะ จำเราจักข่มเขา จึงกล่าวว่า ท่านจักทำคู่ล้อแก่ข้าใหญ่เท่าไร เมื่อพราหมณ์กล่าวว่าใหญ่เท่าที่เจ้าต้องการ จึงขอว่า ข้าต้องการพระจันทร์และพระอาทิตย์ ขอท่านจงให้พระจันทร์พระอาทิตย์แก่ข้าเถิด.
               มาณพนั้นกล่าวตอบพราหมณ์นั้นว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ทั้งสองย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น รถทองของข้าย่อมงามด้วยคู่ล้อนั้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์กล่าวกะเทพบุตรว่า
               พ่อมาณพ เจ้าเป็นคนโง่ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา ข้าเข้าใจว่าเจ้าจักตาย [เสียก่อน] จักไม่ได้พระจันทร์และพระอาทิตย์แน่นอน.
               ลำดับนั้น มาณพกล่าวกะพราหมณ์ว่า คนที่ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นคนโง่ หรือว่าคนที่ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่เป็นคนโง่.
               แล้วกล่าวว่า
               แม้การไปการมาของพระจันทร์พระอาทิตย์ ก็ยังเห็นกันอยู่ รัศมีของพระจันทร์พระอาทิตย์ ก็ยังเห็นกันอยู่ในวิถีทั้งสอง คนที่ตายล่วงลับไปแล้ว ใครก็ไม่เห็น บรรดาเราสองคนที่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครโง่กว่ากัน.
               พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว กำหนดในใจว่า เจ้านี่พูดถูกจึงกล่าวว่า
               พ่อมาณพ ท่านพูดจริง บรรดาเราสองคนที่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ข้านี่แหละเป็นคนโง่กว่า ปรารถนาบุตรที่ตายล่วงลับไปแล้ว เหมือนทารกร้องไห้อยากได้พระจันทร์ฉะนั้น. หายโศกเศร้าเพราะถ้อยคำของมาณพนั้น เมื่อจะชมเชยมาณพ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               เจ้ามารดข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้ เหมือนเอาน้ำรดไฟที่ราดเปรียงฉะนั้น เจ้าผู้ที่บรรเทาความโศกเศร้าถึงบุตรของข้าผู้เฝ้าแต่เศร้าโศก ชื่อว่าได้ถอนลูกศรคือความโศกที่เกาะหัวใจของข้าขึ้นได้แล้ว พ่อมาณพ ข้าเป็นผู้ที่เจ้าถอนลูกศร คือความโศกขึ้นได้แล้ว ก็เป็นผู้ดับร้อน เย็นสนิท ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องร้องไห้ เพราะฟังเจ้า ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รถปญฺชโร ได้แก่ ตัวรถ.
               บทว่า น วินฺทามิ แปลว่า ย่อมไม่ได้.
               บทว่า ภทฺทมาณว เป็นคำร้องเรียก.
               บทว่า ปฏิปาทยามิ แปลว่า จะจัดให้ ประสงค์ความว่า ท่านอย่าสละชีวิตเพราะไม่มีคู่ล้อ.
               บทว่า อุภเยตฺถ ทิสฺสเร ความว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ทั้งสองยังเห็นกันได้ในท้องฟ้านี้.
                อักษรทำหน้าที่เชื่อมบท. อีกอย่างหนึ่ง แยกบทเป็น อุภเย เอตฺถ.
               บทว่า คมนาคมนํ ความว่า การไปและการมาของพระจันทร์และพระอาทิตย์ ยังเห็นกันได้ โดยลงและขึ้นทุกๆ วัน.
               บาลีว่า คมโนคมนํ ก็มี ความว่าขึ้นและลง.
               บทว่า วณฺณธาตุ ได้แก่ แสงสว่างของวรรณะที่เหลือแต่ความเย็น เป็นแสงสว่างน่ารัก [พระจันทร์] ที่เหลือแต่ความร้อน เป็นแสงสว่างที่กล้า [พระอาทิตย์].
               บทว่า อุภยตฺถ พึงประกอบความว่า รัศมีแม้ในพระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองก็ยังเห็นกันอยู่.
               บทว่า วิถิยา ได้แก่ ในวิถีที่เป็นไป หรือในวิถีมีนาควิถีเป็นต้น ในท้องฟ้า.
               บาลีว่า อุภเยตฺถ ก็มีบ้าง แยกบทว่า อุภเย เอตฺถ.
               บทว่า พาลฺยตโร แปลว่า โง่กว่า คือโง่อย่างที่สุด.
               พราหมณ์ฟังคาถานี้แล้วก็พิจารณาดูว่า เราปรารถนาเรื่องที่ไม่น่าจะได้แล้วหนอ จึงถูกไฟคือความโศกเผาอยู่อย่างเดียว ทำไมเรายังจะต้องการด้วยความพินาศและความทุกข์ซึ่งไร้ประโยชน์.
               ครั้งนั้น เทพบุตรคลายรูปมัฏฐกุณฑลีกลับเป็นรูปทิพย์ของตนอย่างเดิม แต่พราหมณ์ไม่ได้ตรวจดูเทพบุตรนั้น พูดโดยใช้โวหารว่ามาณพอยู่อย่างเดิม กล่าวว่า สจฺจํ โข วเทสิ มาณว เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺทํ วิย ทารโก รุทํ ความว่า เหมือนทารกร้องไห้อยากได้พระจันทร์.
               บทว่า กาลกตาภิปตฺถยึ ความว่า ปรารถนาถึงคนที่ตายแล้ว. บาลีว่า อภิปตฺถยํ ก็มี.
               บทว่า อาทิตฺตํ ได้แก่ เร่าร้อนด้วยไฟคือความโศก.
               บทว่า นิพฺพาปเย ทรํ ความว่า ดับความกระวนกระวาย คือความเร่าร้อน เพราะความโศก.
               บทว่า อพฺพุหิ แปลว่า ถอน คือยกขึ้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์บรรเทาความโศกได้แล้ว เห็นผู้ให้คำชี้แจงแก่ตนอยู่ในรูปเป็นเทวดา เมื่อจะถามว่า ท่านชื่ออะไร จึงกล่าวคาถาว่า
               ท่านเป็นเทวดา หรือเป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในชาติก่อน ท่านเป็นใครหรือเป็นบุตรของใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร.
               เทพบุตรแม้นั้นก็ได้ชี้แจงตนแก่พราหมณ์นั้นว่า
               ท่านเผาบุตรที่ป่าช้าเองแล้ว คร่ำครวญร้องไห้ถึงบุตรคนใด ข้าคือบุตรคนนั้น ทำกุศลกรรมแล้ว ถึงความเป็นสหายของทวยเทพชั้นไตรทศ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยญฺจ กนฺทสิ ยญฺจ โรทสิ ความว่า ท่านร้องไห้ คือหลั่งน้ำตา ถึงมัฏฐกุณฑลีบุตรของท่านคนใด.
               ลำดับนั้น พราหมณ์กล่าวกะเทพบุตรนั้นว่า
               เมื่อท่านให้ทานน้อยหรือมากในเรือนของตน หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้น พวกเราก็มิได้เห็นเพราะกรรมอะไร ท่านจึงไปเทวโลกได้.
               ในคาถานั้นประกอบความว่า หรืออุโบสถกรรมเช่นนั้น เราก็ไม่เห็น.
               ลำดับนั้น มาณพกล่าวกะพราหมณ์ว่า
               ข้าป่วยเป็นไข้ได้รับทุกข์ มีกายกระสับกระส่ายอยู่ในที่อยู่ของตน ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี ข้ามพ้นความสงสัย เสด็จไปดีแล้ว มีพระปัญญาไม่ทราม ข้านั้นมีใจเบิกบานเลื่อมใส ได้กระทำอัญชลีแด่พระตถาคต ข้าทำกุศลกรรมนั้นจึงถึงความเป็นสหายของทวยเทพชั้นไตรทศ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาพาธิโก แปลว่า เพียบด้วยความเจ็บป่วย.
               บทว่า ทุกฺขิโต ความว่า เกิดทุกข์เพราะความเป็นคนเจ็บป่วย.นั้นแหละ.
               บทว่า คิลาโน ได้แก่ กำลังจับไข้.
               บทว่า อาตุรรูโป แปลว่า มีกายอันทุกขเวทนาเสียดแทง.
               บทว่า วิคตรชํ แปลว่า มีกิเลสดุจธุลีมีราคะเป็นต้นไปปราศแล้ว.
               บทว่า วิติณฺณกงฺขํ ความว่า ข้ามพ้นความสงสัย เพราะถอนความสงสัยได้ทุกอย่าง.
               บทว่า อโนมปญฺญํ ได้แก่ มีปัญญาบริบูรณ์. อธิบายว่า เป็นพระสัพพัญญู.
               บทว่า อกรึ แปลว่า ได้กระทำแล้ว.
               บทว่า ตาหํ ตัดบทเป็น ตํ อหํ.
               เมื่อมาณพกำลังกล่าวอยู่อย่างนี้นั่นแล ทั่วเรือนร่างของพราหมณ์เต็มเปี่ยมไปด้วยปีติ เมื่อเขาจะประกาศปีตินั้น จึงกล่าวว่า
               น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีหนอ อัญชลีกรรมมีผลเป็นได้ถึงเช่นนี้ แม้ข้าก็มีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส จึงขอถึงพระพุทธเจ้าว่า เป็นสรณะที่พึ่งในวันนี้นี่แหละ.
               ในคาถานั้น ชื่อว่าอัจฉริยะ เพราะควรปรบมือ โดยที่เป็นไปไม่บ่อยนัก. ชื่อว่าอัพภูตะ เพราะไม่เคยมี.
               พราหมณ์ครั้นแสดงความประหลาดใจด้วยบททั้งสองแล้วกล่าวว่า แม้ข้าก็มีใจเบิกบานมีจิตเลื่อมใส จึงขอถึงพระพุทธเจ้าว่า เป็นสรณะที่พึ่งในวันนี้นี่แหละ.
               ลำดับนั้น เทพบุตรเมื่อจะประกอบพราหมณ์นั้นไว้ในการถึงสรณะและสมาทานศีล จึงกล่าวสองคาถาว่า
               ขอท่านจงมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะที่พึ่งในวันนี้นี่แหละ.
               อนึ่ง ท่านจงสมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดและด่างพร้อย จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เสีย จงเว้นการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ในโลก จงไม่ดื่มน้ำเมาและไม่กล่าวเท็จ จงยินดีด้วยภรรยาของตน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตเถว ความว่า ท่านมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้ฉันใด ท่านจงมีจิตเลื่อมใสถึงพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้ฉันนั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งฉันใด ท่านมีจิตเลื่อมใสว่า นี้นำประโยชน์และความสุขมาทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยส่วนเดียว จงสมาทานคือจงประพฤติถือมั่นซึ่งศีลห้า อันเป็นบทคือเป็นส่วนแห่งสิกขาคืออธิศีลสิกขา หรือเป็นอุบายทางดำเนินถึงอธิจิตตสิกขาและอธิปัญญาสิกขา ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย เพราะไม่กำเริบและไม่เศร้าหมอง ฉันนั้นเหมือนกัน.
               พราหมณ์ถูกเทพบุตรประกอบไว้ในการถึงสรณะและการสมาทานศีลอย่างนี้แล้ว. เมื่อจะรับคำของเทพบุตรนั้นด้วยเศียรเกล้า จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่เทวดาผู้น่าบูชา ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาเกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ดังนี้.
               เมื่อดำรงอยู่ในคำนั้น ได้กล่าวสองคาถาว่า
               ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะที่พึ่งอันยอดเยี่ยม และข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นนรเทพว่า เป็นสรณะที่พึ่ง.
               ข้าพเจ้างดเว้นจากการฆ่าสัตว์อย่างฉับพลัน งดการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ในโลก ข้าพเจ้าไม่ดื่มน้ำเมา และไม่กล่าวเท็จ และเป็นผู้ยินดีด้วยภรรยาของตน ดังนี้.
               แม้คำนั้นก็รู้ง่ายเหมือนกัน.
               แต่นั้น เทพบุตรคิดว่ากิจที่ควรกระทำแก่พราหมณ์ เราก็กระทำเสร็จแล้ว บัดนี้พราหมณ์คงจักเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเองดังนี้แล้วได้อันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง.
               แม้พราหมณ์ก็เกิดเลื่อมใสและนับถือมากในพระผู้มีพระภาคเจ้า และถูกเทวดาเตือน จึงบ่ายหน้าไปวิหารด้วยหมายใจจักเข้าเฝ้าพระสมณโคดม. มหาชนเห็นดังนั้น คิดว่า พราหมณ์นี้ไม่เข้าเฝ้าพระตถาคตตลอดกาลเท่านี้ วันนี้เข้าเฝ้าเพราะโศกถึงบุตร จักมีพระธรรมเทศนาเช่นไรหนอ จึงพากันติดตามพราหมณ์นั้นไป.
               พราหมณ์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำปฏิสันถารแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม คนไม่ให้ทานอะไร ๆ หรือไม่รักษาศีล เพียงแต่เลื่อมใสในพระองค์อย่างเดียว จะบังเกิดในสวรรค์ได้หรือ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ท่านพราหมณ์ เมื่อย่ำรุ่งวันนี้ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรได้บอกเหตุที่เข้าถึงเทวโลกของตนแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ.
               ขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรมาปรากฏองค์พร้อมกับวิมาน ลงจากวิมาน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนประคองอัญชลีอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสุจริตที่เทพบุตรนั้นกระทำแล้ว ในที่ประชุมนั้น ทรงทราบว่าที่ประชุมมีความสบายใจ จึงทรงแสดงสามุกกังสิกเทศนา ธรรมแบบยกขึ้นแสดงเอง.๑-
               จบเทศนา เทพบุตร พราหมณ์และบริษัทที่ประชุมกัน รวมเป็นสัตว์แปดหมื่นสี่พันได้ตรัสรู้ธรรมแล.
____________________________
๑- สามุกกํสิกํ แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นถือของเอาเอง คือทรงเห็นด้วยพระสยัมภูภาณ (ครัสรู้เอง) ได้แก่อริยสัจจเทศนา,
               ตามแบบเรียน แปลว่า ธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง คือไม่ต้องปรารภคำถามเป็นต้นของผู้ฟัง ได้แก่เทศนาเรื่องอริยสัจ.

               จบอรรถกถามัฏฐกุณฑลีวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗ ๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 82อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 83อ่านอรรถกถา 26 / 84อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=2705&Z=2770
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=7983
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=7983
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :