ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 469อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 470อ่านอรรถกถา 26 / 471อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา วิสตินิบาต
๔. สุนทรีเถรีคาถา

               ๔. อรรถกถาสุนทรีเถรีคาถา               
               คาถาว่า เปตานิ โภติ ปุตฺตานิ เป็นต้นเป็นคาถาของพระสุนทรีเถรี.
               พระเถรีแม้รูปนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ ๓๑ กัปนับแต่กัปนี้ไป ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู ก็บังเกิดในเรือนคนมีสกุล รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเห็นพระศาสดากำลังเสด็จบิณฑบาต มีใจเลื่อมใสแล้วถวายภิกษา [คืออาหาร] แล้วถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์.
               พระศาสดาทรงทราบถึงความมีจิตเลื่อมใส ทรงทำอนุโมทนาแล้วก็เสด็จไป.
               เพราะบุญนั้น นางบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่จนตลอดอายุในสวรรค์ชั้นนั้น เสวยทิพยสมบัติจุติจากสวรรค์ชั้นนั้นแล้ว ก็เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่ในสุคติเท่านั้น มีญาณแก่กล้า ในพุทธุปบาทกาลนี้ก็บังเกิดเป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อสุชาตะ กรุงพาราณสี เพราะนางมีรูปสมบัติคือสวย จึงมีนามว่าสุนทรี.
               เมื่อเติบโตแล้ว น้องชายของนางก็ตาย บิดาของนางเศร้าโศกยิ่งนัก ท่องเที่ยวไปในที่นั้นๆ ได้สมาคมกับพระเถรีนามว่าวาสิฏฐี เมื่อจะไถ่ถามพระเถรีถึงเหตุที่จะช่วยบรรเทาความเศร้าโศก จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถามีว่า เปตานิ โภติ ปุตฺตานิ เป็นต้น.
               พระเถรีรู้ว่าพราหมณ์เศร้าโศกมาก ประสงค์จะช่วยบรรเทาความเศร้าโศก ก็กล่าว ๒ คาถามีว่า พหูนิ เม ปุตฺตธีตานิ เป็นต้นแล้วบอกถึงเรื่องที่ตนไม่เศร้าโศก. พราหมณ์ฟังเรื่องนั้นแล้วก็ถามพระเถรีว่า พระแม่ท่านเจ้าข้า พระแม่เจ้าไม่เศร้าโศกอย่างนี้ได้อย่างไร.
               พระเถรีจึงพรรณนาพระคุณพระรัตนตรัยของตนแก่พราหมณ์นั้น.
               พราหมณ์ถามว่า พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน ทราบว่า เวลานี้ประทับอยู่ในกรุงมิถิลา ในทันใดนั้นก็เทียมรถ ควบขับไปกรุงมิถิลา เข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม กล่าวสัมโมทนียกถาตามธรรมเนียมแล้ว ก็นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมโปรดเขา พราหมณ์นั้นฟังธรรมแล้วได้ศรัทธาก็บวช เริ่มเจริญวิปัสสนา พากเพียรพยายามอยู่ วันที่ ๓ ก็บรรลุพระอรหัต.
               ครั้งนั้น สารถีคนขับรถก็นำรถกลับไปกรุงพาราณสี บอกเรื่องราวแก่พราหมณี [ภรรยา].
               ฝ่ายสุนทรีรู้เรื่องที่บิดาตนบวชก็บอกลาว่า แม่จ๋า ลูกก็จักบวชจ้ะ.
               มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย โภคสมบัติในเรือนนี้ทั้งหมดเป็นของลูก ลูกจงปฏิบัติตัวเป็นทายาทรับมรดกของตระกูลนี้ จงบริโภคทรัพย์ทุกอย่างเถิด อย่าบวชเลย.
               สุนทรีกล่าวว่า ลูกไม่ต้องการโภคทรัพย์ดอก ลูกจักบวชจ้ะ.
               เธออ้อนวอนให้มารดาอนุญาตแล้ว ก็ทิ้งสมบัติกองใหญ่ เหมือนทิ้งก้อนเขฬะไปบวช ครั้นบวชเป็นสิกขมานาแล้ว เริ่มเจริญวิปัสสนา พากเพียรพยายามอยู่เพราะญาณแก่กล้า เหตุเพียบพร้อมด้วยเหตุสัมปทา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า๑-
               ข้าพเจ้าถือข้าว ๑ ทัพพี ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ พระนามว่าเวสสภู ซึ่งกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต พระเวสสภูสัมพุทธเจ้า พระศาสดาผู้นำโลก ทรงรับแล้ว ประทับยืน ณ ท้องถนน ทรงกระทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า
               ท่านถวายข้าว ๑ ทัพพี จักไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จักเป็นมเหสีของท้าวสักกะเทวราช ๓๖ พระองค์ จักเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐ พระองค์ ท่านจักได้ทุกอย่างที่ใจปรารถนาทุกเมื่อ ท่านครั้นเสวยสมบัติแล้วก็จักเว้นจากเครื่องกังวล จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง ไม่มีอาสวะ ดับสนิท
               พระเวสสภูสัมพุทธเจ้า ปราชญ์ผู้นำทาง ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วก็เสด็จสู่ท้องฟ้า เหมือนพระยาหงส์บินไปในอากาศ.
               ทานอย่างประเสริฐ ข้าพเจ้าก็ถวายดีแล้ว ยาคสัมปทา ความพร้อมแห่งยาคะ [การบูชา] ข้าพเจ้าก็บูชาแล้ว ข้าพเจ้าถวายข้าวทัพพีเดียวก็บรรลุอจลบท บทอันไม่สั่นคลอน.
               ๓๑ กัปนับแต่กัปนี้ไป ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ถวายภิกษาทานอันใด ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติเลย ที่เป็นผลของภิกษาทานอันนั้น กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาเสียแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.
____________________________
๑- ไม่มีในบาลีอปทาน

               ก็แลสิกขมานาสุนทรี ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วอยู่ด้วยสุขในผลและสุขในพระนิพพาน ต่อมา [อุปสมบทแล้ว] คิดว่า จำเราจักบรรลือสีหนาทต่อพระพักตร์ของพระศาสดา จึงลาพระอุปัชฌายะ ออกจากกรุงพาราณสี พร้อมด้วยภิกษุณีมากรูป เดินไปโดยลำดับถึงกรุงสาวัตถีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้ว ก็พยากรณ์พระอรหัต ด้วยการประกาศความที่ตนเป็นธิดา เกิดแต่พระอุระของพระศาสดาเป็นต้น
               ครั้งนั้น หมู่ญาติทุกคนตั้งต้นแต่มารดาของนางและคนใกล้เคียง ก็พากันออกบวช.
               ต่อมา พระสุนทรีเถรีนั้นพิจารณาทบทวนถึงความเป็นมาของตนจึงกล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทาน ตั้งแต่คาถาที่บิดากล่าวมาแล้วเป็นต้นไปว่า
               สุชาตพราหมณ์ถามพระวาสิฏฐีเถรีว่า
                                   ข้าแต่ท่านแม่เจ้าวาสิฏฐี แต่ก่อน แม่เจ้ากินลูกๆ
                         ที่ตายไปแล้ว แม่เจ้าต้องเดือดร้อนอย่างหนัก วันนี้
                         พราหมณีนั้นกินลูกหมดทั้งร้อยคน เพราะเหตุไร จึง
                         ไม่เดือดร้อนหนักหนาเล่า.

               พระวาสิฏฐีเถรีตอบว่า
                                   ดูก่อนท่านพราหมณ์ บุตรร้อยคนและหมู่ญาติ
                         ร้อยคน เรากับท่านก็กินกันมามากแล้วในอดีตภาค
                         เรานั้นรู้ธรรมที่ชาติและชราแล่นออกไปแล้ว จึงไม่
                         เศร้าโศก ไม่ร้องไห้และไม่เดือดร้อนเลย.

               สุชาตพราหมณ์ถามว่า
                                   ข้าแต่ท่านแม่เจ้าวาสิฏฐี น่าอัศจรรย์จริงหนอ
                         แม่เจ้ากล่าววาจาเช่นนี้ ก็แม่เจ้ารู้ธรรมของใครเล่า
                         จึงกล่าววาจาเช่นนี้.

               พระวาสิฏฐีเถรีตอบว่า
                                   ดูก่อนท่านพราหมณ์ ในกรุงมิถิลา พระสัมพุทธ
                         เจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์ เพื่อละ
                         ทุกข์ทั้งปวง ดูก่อนท่านพราหมณ์ เราฟังธรรมที่ไม่มี
                         กิเลสและทุกข์ของพระอรหันต์พระองค์นั้น รู้แจ้ง
                         สัทธรรมในพระธรรมเทศนานั้นแล้ว จึงบรรเทาความ
                         เศร้าโศกถึงบุตรเสียได้.

               สุชาตพราหมณ์กล่าวว่า
                                   ถึงข้าพเจ้านั้น ก็จักไปกรุงมิถิลาเหมือนกัน ถ้า
                         กระไร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ก็คงจะทรง
                         ช่วยเปลื้องข้าพเจ้าเสียจากทุกข์ทั้งหมดได้.
                                   พราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้น โดย
                         ประการทั้งปวง ทรงไม่มีกิเลสและทุกข์ พระมุนีผู้ถึงฝั่ง
                         แห่งทุกข์ ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์นั้น คือทุกข์
                         เหตุเกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ให้
                         ถึงความระงับทุกข์ สุชาตพราหมณ์รู้แจ้งสัทธรรมในพระ
                         ธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็เข้าบวช ๓ ราตรีก็บรรลุวิชชา ๓.

               สุชาตภิกษุกล่าวกะสารถีคนขับรถว่า
                                   มานี่แน่ะสารถี เธอจงกลับไป เรามอบรถคันนี้ให้
                         จงบอกพราหมณีถึงความสบายไม่เจ็บป่วยว่า บัดนี้
                         พราหมณ์บวชแล้ว ๓ ราตรี สุชาตพราหมณ์ก็บรรลุวิชชา ๓.
                                   ลำดับนั้น สารถีพารถและทรัพย์พันกหาปณะไป
                         มอบให้พราหมณี บอกพราหมณีถึงความสบายไม่เจ็บป่วย
                         ว่า บัดนี้ พราหมณ์บวชแล้ว ๓ ราตรี สุชาตพราหมณ์ก็บรรลุ
                         วิชชา ๓.

               พราหมณีกล่าวว่า
                                   ดูก่อนสารถี ข้าฟังเรื่องพราหมณ์ได้วิชชา ๓ แล้ว
                         ก็ขอมอบรถม้าคันหนึ่งกับทรัพย์พันกหาปณะเป็นรางวัล
                         ตอบแทนที่ให้ข่าวน่ายินดีแก่เจ้า.

               สารถีไม่ยอมรับกลับกล่าวว่า
                                   ข้าแต่แม่พราหมณี รถม้ากับทรัพย์พันกหาปณะ
                         จงกลับเป็นของแม่ท่านตามเดิมเถิด แม้ข้าพเจ้าก็จัก
                         บวชในสำนักพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ.

               พราหมณีกล่าวกะสุนทรีธิดาว่า
                                   ดูก่อนสุนทรี บิดาของลูกละ ช้าง โค ม้า มณี
                         และกุณฑล ความมั่งคั่งและสมบัติคฤหัสถ์นี้ ออกบวช
                         เสียแล้ว ลูกจงบริโภคโภคสมบัติ จงเป็นทายาท รับ
                         มรดกในตระกูลนะลูก.

               สุนทรีธิดากล่าวกะพราหมณีมารดาว่า
                                   แม่จ๋า บิดาของลูกถูกความเศร้าโศกถึงลูกชาย
                         รบกวนหนัก จึงละช้าง โค ม้า มณีและกุณฑล ความ
                         มั่งคั่ง และสมบัติคฤหัสถ์นี้ออกบวช ถึงลูกก็ถูกความ
                         เศร้าโศกถึงน้องชายรบกวนมาก จึงจักบวชจ้ะแม่.

               พราหมณีมารดากล่าวอนุญาตว่า
                                   ดูก่อนสุนทรี ความดำรินั้นของลูกจงสำเร็จสม
                         ปรารถนาเถิด ลูกเมื่อสำเร็จกิจเหล่านี้คือ การยืนรับ
                         ก้อนข้าว การแสวงหาอาหาร และการทรงผ้าบังสุกุล
                         จีวร จงเป็นผู้ไม่มีอาสวะในปรโลกเถิด.

               เมื่อบวชบำเพ็ญเพียรบรรลุพระอรหัตแล้ว พระสุนทรีเถรีจึงขออนุญาตอุปัชฌายะว่า
                                   ข้าแต่แม่เจ้า ข้าพเจ้าเมื่อเป็นสิกขมานาก็ชำระ
                         ทิพยจักษุได้แล้ว ข้าพเจ้าระลึกรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่
                         แต่ก่อนได้แล้ว.
                                   ข้าแต่พระเถรีผู้มีกัลยาณธรรม ผู้งามเอง และผู้
                         ทำหมู่ให้งาม ข้าพเจ้าอาศัยท่านแม่เจ้าค่ะ วิชชา ๓
                         ก็บรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.
                                   ข้าแต่แม่เจ้า โปรดอนุญาตเถิดเจ้าค่ะ ข้าพเจ้า
                         ประสงค์จะไปกรุงสาวัตถี จักบรรลือสีหนาท ในสำนัก
                         ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.

               พระสุนทรเถรีได้รับอนุญาตแล้วเข้าไปพระเชตวันวิหาร พบพระศาสดาประทับนั่งอยู่ จึงกล่าวคาถาเป็นอุทานว่า
                                   ดูก่อนสุนทรี เจ้าจงพิศดูพระศาสดาผู้มีพระฉวี-
                         วรรณปานทอง ผู้ทรงฝึกพวกคนที่ใครๆ ฝึกไม่ได้
                         ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
                                   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอโปรดทรงดูสุนทรี
                         ผู้กำลังเดินมา ผู้หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง ผู้ไม่มี
                         กิเลสแลทุกข์ ปราศจากราคะไม่หอบทุกข์ไว้ ทำกิจ
                         เสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ.
                                   ข้าแต่พระผู้ทรงมีเพียรยิ่งใหญ่ สุนทรีออกจาก
                         กรุงพาราณสีมาเฝ้าพระองค์ เป็นสาวิกาของพระองค์
                         ขอถวายบังคมพระยุคลบาทพระเจ้าข้า.
                                   ข้าแต่พระผู้เป็นพราหมณ์ พระองค์เป็นพระพุทธ
                         เจ้า พระองค์เป็นพระศาสดา ข้าพระองค์เป็นธิดาของ
                         พระองค์ เป็นโอรสเกิดแต่พระโอษฐ์ ทำกิจเสร็จแล้ว
                         ไม่มีอาสวะพระเจ้าข้า.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
                                   ดูก่อนลูกสุนทรี เจ้ามาดีแล้ว มาไม่เลวเลย ด้วยว่า
                         ผู้ฝึกอย่างนี้แล้ว ปราศจากราคะ ไม่หอบทุกข์ไว้ ทำกิจ
                         เสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ย่อมมาไหว้เท้าพระศาสดาของตน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เปตานิ ได้แก่ ตายแล้ว.
               สุชาตพราหมณ์เรียกพระวาสิฏฐีเถรีนั้นว่า ข้าแต่พระแม่ผู้เจริญ.
               คำว่า ปุตฺตานิ ท่านกล่าวโดยเป็นลิงควิปลาส [เพราะศัพท์ ปุตฺต ปกติเป็น ปุํ. แต่ท่านทำเป็น นปุํ. ดังว่านี้ไปเสีย จึงเป็นลิงควิปลาส]
               ความว่า ลูกชายที่ตายแล้ว ความจริงลูกชายของพระวาสิฏฐีเถรีนั้นตายไปแล้วมีคนเดียวเท่านั้น แต่พราหมณ์สำคัญอย่างนี้ว่า พระวาสิฏฐีเถรีนี้ถูกความเศร้าโศกรบกวน จึงท่องเที่ยวไปเสียตั้งนาน ชะรอยลูกชายนางที่ตายไปแล้วมีมากคน จึงกล่าวคำเป็นพหุวจนะ [จำนวนมาก] และกล่าวคำเป็นพหุวจนะ อย่างนั้นว่า สาชฺช สพฺพานิ ขาทิตฺวา สตปุตฺตานิ.
               คำว่า ขาทมานา นี้ เป็นคำด่าตามโวหารโลก.
               จริงอยู่ ลูกชายที่เกิดแล้วเกิดเล่าของหญิงคนใดตายไปเสีย คนทั้งหลายเมื่อจะติเตียนหญิงคนนั้น จึงกล่าวคำว่า หญิงกินลูกเป็นต้น.
               บทว่า อตีว แปลว่า เกินเปรียบ คือหนักหนา.
               บทว่า ปริตปฺปสิ แปลว่า เดือดร้อน ประกอบความว่า แต่ก่อน. ก็ในข้อนี้มีความย่อดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านแม่เจ้าวาสิฏฐี แต่ก่อน ท่านแม่ก็ลูกชายตาย ใจแห้งผากคร่ำครวญเพียบแปร้ด้วยความเศร้าโศกอย่างเหลือเกิน ต้องท่องเที่ยวไปยังคามนิคมราชธานีทั้งหลาย.
               บทว่า สาชฺช ตัดบทเป็น สา อชฺช ความว่า เดี๋ยวนี้ ท่านแม่นั้น ก็กินลูกชายหมดทั้งร้อยคน.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า สชฺช ก็มี.
               บทว่า เกน วณฺเณน แปลว่า เพราะเหตุไร.
               ด้วยบทว่า ขาทิตานิ แม้พระเถรีก็กล่าวตามปริยายที่พราหมณ์กล่าวแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเถรีกล่าวอย่างนี้ว่า ขาทิตานิ ก็หมายถึงชาติของสัตว์ร้ายมีเสือโคร่ง เสือเหลือง แมวป่าเป็นต้น.
               บทว่า อตีตํเส แปลว่า ส่วนที่เป็นอดีต. ความว่า ในภพที่ล่วงแล้ว.
               บทว่า มม ตุยฺหญฺจ แปลว่า อันเราและท่าน [กินกันมาแล้ว].
               บทว่า นิสฺสรณํ ญตฺวา ความว่า แทงตลอดพระนิพพาน อันเป็นเครื่องแล่นออกไปแห่งชาติและมรณะด้วยมรรคญาณ.
               บทว่า น จาหํ ปริตปฺปามิ ความว่า เราไม่เดือดร้อน ไม่ถึงความคับแค้นใจแล้ว.
               บทว่า อพฺภูตํ วต แปลว่า น่าอัศจรรย์หนอ.
               จริงอยู่ ความอัศจรรย์นั้น เรียกว่า อัพภูตะ.
               บทว่า เอทิสํ แปลว่า เห็นปานนี้ คือวาจาที่แสดงความไม่มีความเศร้าโศกเป็นต้น อย่างนี้ว่า เราไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้และไม่เดือดร้อน เพราะเหตุที่ยังไม่ได้ธรรมเช่นนี้อย่างเดียว ฉะนั้น.
               ด้วยบทว่า กสฺส ตฺวํ ธมฺมมญฺญาย พราหมณ์จึงถามถึงพระศาสดาและคำสั่งสอนว่า แม่ท่านรู้ทั่วถึงธรรมของพระศาสดา พระนามว่าอะไร จึงกล่าววาจาเช่นนี้.
               บทว่า นิรูปธึ ได้แก่ ไม่มีทุกข์.
               บทว่า วิญฺญาตสทฺธมฺมา ได้แก่ แทงตลอดธรรมคืออริยสัจ.
               บทว่า พฺยปานุทึ ได้แก่ นำออกคือละ.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตํ ได้แก่ หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง คือพรากออกจากกิเลสทุกอย่าง และจากภพทุกภพ.
               บทว่า สฺวสฺส ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์นั้น.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในเทศนาว่าด้วยสัจจะ ๔ นั้น.
               บทว่า รถํ นิยฺยาทยาหิมํ ความว่า จงมอบรถนี้แก่พราหมณี.
               บทว่า สหสฺสญฺจาปิ ประกอบความว่า จงนำรถม้าและทรัพย์พันกหาปณะที่เรานำไปด้วย เพื่อใช้สอยในระหว่างทางไปมอบแก่พราหมณี.
               บทว่า อสฺสรถํ ได้แก่ รถเทียมม้า.
               บทว่า ปุณฺณปตฺตํ ได้แก่ รางวัลที่ให้ข่าวน่ายินดี.
               เมื่อพราหมณีให้รางวัลที่ให้ข่าวน่ายินดีอย่างนี้ สารถีไม่ยอมรับรางวัลนั้น กลับกล่าวคาถาว่า ตุเยฺหว โหตุ เป็นต้น ไปบวชในสำนักพระศาสดา เหมือนกัน.
               เมื่อสารถีบวชแล้ว พราหมณีจึงเรียกสุนทรีธิดาของตนมา เมื่อจะชักจูงประกอบไว้ในฆราวาสวิสัย จึงกล่าวคาถามีว่า หตฺถิ ควสฺสํ เป็นต้น
               ในคาถานั้น บทว่า หตฺถิ ได้แก่ ช้าง.
               บทว่า ควสฺสํ ได้แก่ โคและม้า.
               บทว่า มณิกุณฺฑลญฺจ ได้แก่ มณีและกุณฑล.
               บทว่า ผีตญฺจิมํ เคหวิคตํ ปหาย ความว่า บิดาของลูกละสมบัติที่กล่าวแล้ว ต่างโดยช้างเป็นต้น และที่ไม่ได้กล่าว ต่างโดยที่นา เงินและทองเป็นต้น ความมั่งคั่ง สมบัติของเรือน เครื่องอุปกรณ์เรือนเป็นอันมาก และอย่างอื่นมีทาสและทาสีเป็นต้นทุกอย่างนี้ไปบวช.
               บทว่า ภุญฺช โภคานิ สุนฺทริ ความว่า ดูก่อนสุนทรี ลูกจงบริโภคโภคะเหล่านี้.
               บทว่า ตุวํ ทายาทิกา กุเล ความว่า ด้วยลูกสมควรเป็นทายาทรับมรดกในตระกูลนี้.
               สุนทรีฟังคำมารดานั้นแล้ว เมื่อจะประกาศอัธยาศัยที่น้อมไปในเนกขัมมะ การออกบวชของตน จึงกล่าวคาถาว่า หตฺถิควสฺสํ เป็นต้น.
               ลำดับนั้น มารดาเมื่อจะชักจูงประกอบนางไว้ในเนกขัมมะนั่นแล จึงกล่าวคาถาครึ่งโดยนัยว่า โส เต อิชฺฌตุ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ตฺวํ ปตฺเถสิ สุนฺทริ ความว่า ดูก่อนสุนทรี บัดนี้ลูกปรารถนาจำนงหวังอันใด ความดำริในการบรรพชา ความพอใจในการบรรพชานั้นจงสำเร็จ คือสำเร็จโดยไม่มีอันตรายแก่ลูก.
               บทว่า อุตฺติฏฺฐปิณฺโฑ ได้แก่ ก้อนข้าวที่ภิกษุณีไปยืนทุกๆ บ้านได้มา.
               บทว่า อุญฺโฉ ได้แก่ การเที่ยวไปตามลำดับบ้าน และยืนเจาะจงเพื่อก้อนข้าวนั้น.
               บทว่า เอตานิ ได้แก่ กิจกรรมมีก้อนข้าวที่ไปยืนทุกบ้านได้มาเป็นต้น.
               บทว่า อภิสมฺโภนฺติ ความว่า เป็นผู้ไม่เหนื่อยหน่าย อาศัยกำลังแข้งสำเร็จมา คือทำให้บริสุทธิ์.
               ครั้งนั้น สุนทรีรับปากคำมารดาว่า ดีละแม่จ๋า ก็ออกไปยังสำนักภิกษุณี บวชเป็นสิกขมานา ทำให้แจ้งวิชชา ๓ ตั้งใจว่าจักไปเฝ้าพระศาสดา บอกอุปัชฌาย์แล้ว ก็ไปยังกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สิกฺมานาย เม อยฺเย เป็นต้น ในคำนั้น.
               บทว่า สิกฺขมานาย เม ความว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นสิกขมานา.
               พระสุนทรีเถรีเรียกอุปัชฌายะของตนด้วยคำว่า อยฺเย.
               บทว่า ตุวํ นิสฺสาย กลฺยาณิ เถริสงฺฆสฺส โสภเณ ประกอบความว่า ข้าแต่แม่เจ้า ชื่อว่าเป็นสังฆเถรี เพราะเป็นผู้แก่กว่าในภิกษุณีสงฆ์ และเพราะประกอบด้วยคุณที่มั่นคง. ชื่อว่าเป็นผู้งาม เป็นกัลยาณี เพราะประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้นอันงาม ข้าพเจ้าอาศัยแม่เจ้าผู้เป็นกัลยาณมิตรคือแม่ท่าน ข้าพเจ้าจึงบรรลุวิชชา ๓ ทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จ.
               บทว่า อิจฺเฉ แปลว่า ปรารถนา.
               บทว่า สาวตฺถึ คนฺตเว แปลว่า เพื่อไปกรุงสาวัตถี.
               พระสุนทรีเถรีกล่าวว่า สีหนาทํ นทิสฺสามิ หมายถึง การพยากรณ์พระอรหัตเท่านั้น.
               ครั้งนั้น พระสุนทรีเถรีถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เข้าไปยังพระวิหาร เห็นพระศาสดาซึ่งประทับนั่งเหนือธรรมาสน์ ซาบซึ้งปิติและโสมนัสอันโอฬาร เมื่อจะเรียกตัวเองเท่านั้น จึงกล่าวว่า ปสฺส สุนฺทริ เป็นต้น.
               บทว่า เหมวณฺณํ ได้แก่ มีพระวรรณดั่งทอง.
               บทว่า หริตฺตจํ ได้แก่ มีพระฉวีเปล่งปลั่งดั่งทอง.
               ก็ในคำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเรียกว่า มีพระวรรณะดั่งทอง เพราะพระวรรณะเหลือง.
               ครั้งนั้นแล พระสุนทรีเถรีกล่าวว่า เหมวณฺณํ มีพระวรรณะดั่งทอง แล้วกล่าวว่า หริตฺตจํ มีพระฉวีดั่งทอง ก็เพื่อแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งกระจกทองที่เขาขัดอย่างดีแล้ว บรรจงทาด้วยชาติหิงคุลิกะ ก้อนชาติหิงคุ แล้วชักเงา.
               บทว่า ปสฺส สุนฺทริมายนฺตึ ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทอดพระเนตรดูข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าสุนทรีนั้นซึ่งกำลังเดินมา. พระสุนทรีเถรี ขณะพยากรณ์พระอรหัตด้วยคำว่า วิปฺปมุตฺตํ ก็กล่าวด้วยความซาบซ่านแห่งปิติ แต่เพื่อจะกลับความหวัง ความสงสัยของเหล่าคนที่รักใคร่ว่า สุนทรีมาแต่ไหน มาในที่ไหนและสุนทรีนี้เป็นเช่นไร จึงกล่าวคาถาว่า พาราณสิโต เป็นต้น เพื่อจะทำเนื้อความที่กล่าวไว้ว่า สาวิกา จ ในคาถานั้นให้ปรากฏชัด จึงกล่าวคาถาว่า ตุวํ พุทฺโธ เป็นอาทิ.
               เนื้อความของคำนั้นมีว่า
               พระองค์เท่านั้นเป็นพระสัพพัญญูพุทธะ เป็นเอกในโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ พระองค์เป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ เพราะทรงสั่งสอนตามสมควรด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ขีณาสพ ชื่อว่าโอรส เพราะเป็นอภิชาติที่ทรงให้เกิดด้วยความพยายามในพระอุระของพระองค์ ชื่อว่าเกิดจากพระโอษฐ์ เพราะเกิดด้วยเสียงธรรมที่ทรงให้เป็นไปจากพระโอษฐ์ และด้วยอริยมรรคที่เป็นประธานของคำสั่งสอน ชื่อว่าทำกิจเสร็จแล้ว เพราะกรณียกิจมีสัจจะที่กำหนดรู้เป็นต้นเสร็จไปแล้ว ชื่อว่าหาอาสวะมิได้ ก็เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปโดยประการทั้งปวง.
               ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อทรงชื่นชมการมาของพระสุนทรีเถรีนั้น จึงตรัสคาถาว่า ตสฺสา เต สฺวาคตํ เป็นต้น
               เนื้อความของพระคาถานั้นมีว่า
               ดูก่อนสุนทรีผู้เจริญ ท่านผู้ใดบรรลุธรรมที่เราตถาคตบรรลุแล้ว ตามเป็นจริง การมาของท่านผู้นั้นในสำนักเรานี้ เป็นการมาที่ดี เพราะข้อนั้นนั่นแล การมานั้นจึงเป็นการมาที่ไม่เลว คือไม่ใช่การมาที่เลว เพราะเหตุไร เพราะว่าคนทั้งหลายที่ฝึกแล้วอย่างนี้ ย่อมพากันมา.
               ประกอบความว่า ดูก่อนสุนทรี ด้วยว่าคนทั้งหลายชื่อว่าฝึกแล้ว เพราะฝึกด้วยอริยมรรคอันยอดเยี่ยม. ชื่อว่าปราศจากราคะในที่ทั้งปวง เพราะฝึกแล้วนั้นนั่นแล. ชื่อว่าไม่หอบทุกข์ ทำกิจเสร็จ ไม่มีอาสวะ เพราะตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ย่อมพากันมาไหว้เท้าทั้งสองของพระศาสดา ก็เหมือนอย่างที่ท่านมานี่แหละ.

               จบอรรถกถาสุนทรีเถรีคาถาที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา วิสตินิบาต ๔. สุนทรีเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 469อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 470อ่านอรรถกถา 26 / 471อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9782&Z=9859
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=6197
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=6197
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :