ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 460อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 461อ่านอรรถกถา 26 / 462อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา สัตตกนิบาต
๓. อุปจาลาเถรีคาถา

               ๓. อรรถกถาอุปจาลาเถรีคาถา               
               คาถาว่า สตีมตี ดังนี้เป็นต้นเป็นคาถาของพระอุปจาลาเถรี.
               เรื่องของนางอุปจาลาเถรีนั้นได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องพระจาลาเถรี
               ก็พระอุปจาลาเถรีแม้นี้บวชแล้วเหมือนพระจาลาเถรี เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต เมื่อเปล่งอุทานได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   ข้าพเจ้าเป็นภิกษุณี มีสติ มีจักษุ มีอินทรีย์อัน
                         อบรมแล้ว รู้แจ้งตลอดสันตบท อันอุดมบุรุษเสพแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตีมตี ความว่า ถึงพร้อมด้วยสติ คือเป็นผู้ประกอบด้วยสติ รักษาตนไว้ได้เป็นอย่างยิ่ง อันเป็นส่วนเบื้องต้น ประกอบด้วยสติสูงสุด โดยถึงความไพบูลย์แห่งสติ เพราะเจริญอริยมรรคในภายหลัง.
               บทว่า จกฺขุมตี ได้แก่ ประกอบด้วยปัญญาจักษุ คือประกอบอุทยัตถคามินีปัญญา อันชำแรกกิเลสออกไปอย่างประเสริฐ.
               ท่านอธิบายว่า ประกอบด้วยปัญญาจักษุเป็นอย่างยิ่ง โดยถึงความไพบูลย์แห่งปัญญา.
               บาทคาถาว่า อกาปุริสเสวิตํ ได้แก่ บุรุษผู้ไม่ต่ำ คืออุดมบุรุษ ได้แก่ พระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเสพแล้ว.
               มารประสงค์จะชักนำพระเถรีเข้าไปในกามทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาว่า กึ นุ ชาตึ น โรเจสิ ดังนี้.
               ความจริง พระเถรีถูกมารถามว่า แม่ภิกษุณี แม่นางไม่ชอบใจอะไร? จึงตอบว่า ท่านเอย เราไม่ชอบใจชาติความเกิดจริงๆ
               ลำดับนั้น มารเมื่อแสดงว่าสัตว์ที่เกิดแล้วบริโภคกาม เพราะฉะนั้น จึงปรารถนาชาติบ้าง บริโภคกามบ้าง ได้กล่าวคาถาว่า
                                   เหตุไฉน แม่นางจึงไม่ชอบใจความเกิด เพราะ
                         ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกามทั้งหลาย เชิญแม่นางบริโภค
                         ความยินดีในกามทั้งหลายเถิด อย่าได้เป็นผู้มีความเดือด
                         ร้อนในภายหลังเลย.

               คาถานั้นมีความว่า
               เหตุนั้นเป็นอย่างไรเล่า แม่อุปจาลา แม่นางไม่ชอบใจ คือไม่พอใจความเกิดด้วยเหตุใด เหตุนั้นก็ไม่มี เพราะเหตุที่ผู้เกิดแล้ว ย่อมบริโภคกามทั้งหลาย คือผู้เกิดแล้วในโลกนี้ เมื่อซ่องเสพรูปเป็นต้นที่ประกอบด้วยกามคุณ ย่อมชื่อว่าบริโภคกามสุข แต่กามสุขนั้นก็ย่อมไม่มีแก่ ผู้ไม่เกิดแล้ว ฉะนั้นเชิญแม่นางบริโภคความยินดีในกามทั้งหลายเถิด คือเชิญท่านเสวยความยินดีในการเล่นกับกามทั้งหลาย.
               บาทคาถาว่า มาหุ ปจฺฉานุตาปินี ความว่า อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อหนุ่ม เราหาได้เสวยกามสุขในเมื่อโภคสมบัติมีอยู่ไม่ดังนี้.
               อธิบายว่า ธรรมดาว่า ธรรมทั้งหลายในโลกนี้มีประโยชน์ปรากฏไปจนถึงว่า ความต้องการและมีการบรรลุประโยชน์เป็นประโยชน์ ความต้องการมีกามสุขเป็นประโยชน์.
               พระเถรีฟังคำนั้นแล้วก็ประกาศว่า ชาติเป็นเครื่องหมายแห่งทุกข์ และว่าตนก้าวล่วงวิสัยของมารเสียแล้ว เมื่อขู่จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   ผู้เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ถูกตัดมือเท้า ถูกฆ่า ถูก
                         จองจำ ผู้เกิดมาแล้ว จำต้องประสบทุกข์.
                                   พระสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในตระกูลศากยะ ผู้
                         ทรงชนะแล้วมีอยู่ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอันเป็น
                         อุบายล่วงเสียซึ่งชาติ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความ
                         ล่วงทุกข์ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทาง
                         ดำเนินให้ถึงความระงับทุกข์โปรดข้าพเจ้า
                                   ข้าพเจ้าได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่
                         ในพระศาสนา ข้าพเจ้าได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอน
                         ของพระพุทธเจ้าข้าพเจ้าได้ทำเสร็จแล้ว ข้าพเจ้ากำจัด
                         ความเพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวงได้แล้ว ทำลายกองแห่ง
                         ความมืดแล้ว
                                   ดูก่อนมารผู้มีใจบาป ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ดูก่อน
                         มารผู้กระทำที่สุด ตัวท่านข้าพเจ้าก็กำจัดได้แล้ว.

               บรรดาคาถาเหล่านั้น บาทคาถาว่า ชาตสฺส มรณํ โหติ ความว่า เพราะเหตุที่ความตายย่อมมีแก่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หามีแก่สัตว์ผู้ไม่เกิดไม่ มิใช่แต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้ โรคทั้งหลายมีโรคชราเป็นต้นมีประมาณเท่าใด โรคเหล่านั้นแม้ทั้งปวงซึ่งหาประโยชน์มิได้ มีชาติเป็นเหตุย่อมมีแก่ผู้เกิดมาแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
               ด้วยเหตุนั้นแล พระอุปจาลาเถรีจึงกล่าวว่า หตฺถปาทาน เฉทนํ ได้แก่ การถูกตัดมือและเท้า ย่อมมีแก่ผู้เกิดแล้ว หามีแก่ผู้ไม่เกิดไม่ ก็ในข้อนี้พึงเห็นว่า ท่านแสดงแม้กรรมกรณ์ [การลงโทษ] ๓๒ อย่าง ไว้ด้วยการอ้างการถูกตัดมือเท้าเป็นตัวอย่าง.
               สองบาทคาถาว่า วธพนฺธปริเกฺลสํ ชาโต ทุกฺขํ นิคจฺฉติ ความว่า การถูกฆ่ามีการพรากชีวิตและการชกด้วยหมัดเป็นต้น การจองจำมีการจองจำด้วยโซ่ตรวนเป็นต้น และกรรมกรณ์อย่างอื่นทุกอย่าง ชื่อว่าทุกข์ ผู้เกิดแล้วย่อมได้ประสบทุกข์นั้นทั้งหมด ผู้ไม่เกิดหาประสบไม่ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบใจความเกิด.
               บัดนี้ พระอุปจาลาเถรี เมื่อแสดงส่วนเกินของกามทั้งหลาย และตนก้าวล่วงกามได้ตั้งแต่ชาติเป็นมูล จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า มีพระสัมพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติในตระกูลศากยะ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อปราชิโต ได้แก่ ผู้อันมารไรๆ มีกิเลสมารเป็นต้นให้พ่ายแพ้ไม่ได้แล้ว [คือชนะ].
               แท้จริง พระศาสดาทรงเป็นพระสัพพาภิภู ผู้ทรงครอบงำโลกพร้อมทั้งเทวโลกไว้ได้โดยแท้จริง เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้อันใครให้แพ้มิได้.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยอันกล่าวมาแล้ว.

               จบอรรถกถาอุปจาลาเถรีคาถาที่ ๓               
               จบอรรถกถาสัตตกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา สัตตกนิบาต ๓. อุปจาลาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 460อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 461อ่านอรรถกถา 26 / 462อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9432&Z=9454
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=4543
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=4543
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :