ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 442อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 443อ่านอรรถกถา 26 / 444อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต
๕. นันทุตตราเถรีคาถา

               ๕. อรรถกถานันทุตตราเถรีคาถา               
               คาถาว่า อคฺคึ จนฺทญฺจ เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อนันทุตตรา.
               แม้พระเถรีชื่อนันทุตตราองค์นี้ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกัมมาสธัมมนิคม แคว้นกุรุ เรียนวิชาพื้นฐานและศิลปศาสตร์บางอย่าง เข้าบวชเป็นนิครนถ์ ขวนขวายในการกล่าวโต้ตอบ ถือกิ่งหว้าเที่ยวไปในพื้นชมพูทวีป เหมือนพระภัททากุณฑลเกสาเถรี เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ ถามปัญหา ถึงความปราชัย ตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระ บวชในพระศาสนา บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พิจารณาการปฏิบัติของตน ได้กล่าวคาถา ๕ คาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า
                                   ข้าพเจ้าไหว้ไฟ พระจันทร์ พระอาทิตย์และ
                         เทวดา ไปสู่ท่าน้ำแล้วลงดำน้ำ ข้าพเจ้าสมาทานวัตร
                         เป็นอันมาก โกนศีรษะเสียครึ่งหนึ่ง นอนบนแผ่นดิน
                         ไม่บริโภคภัตตาหารในราตรี แต่ยังยินดีการตกแต่ง
                         และการประดับ บำรุงกายนี้ด้วยการอาบน้ำและขัดสี
                         ถูกกามราคะครอบงำแล้ว ต่อมา ข้าพเจ้าได้ศรัทธา
                         ในพระศาสนา บวชเป็นบรรพชิต เห็นกายตามความ
                         เป็นจริง จึงถอนกามราคะได้ ตัดภพความอยากและ
                         ความปรารถนาได้ทั้งหมด ไม่เกาะเกี่ยวด้วยกิเลส
                         เครื่องประกอบทุกอย่าง บรรลุความสงบใจแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคึ จนฺทญฺจ สูริยญฺจ เทวตา จ นมสฺสิหํ ความว่า ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาทางบริสุทธิ์ ได้ไหว้คือได้ทำการนอบน้อมไฟ โดยประคองเครื่องบูชา เพื่อให้เทวดาทั้งหลายมีพระอินทร์เป็นต้นโปรดปราน ด้วยคิดว่า เทวดาทั้งหลายมีไฟเป็นประมุข ไหว้พระจันทร์ในวันขึ้น ๒ ค่ำทุกๆ เดือน ไหว้พระอาทิตย์เช้าเย็นทุกๆ วัน ไหว้แม้พวกเทวดาภายนอกอื่นๆ มีพวกหิรัญญคัพภะเป็นต้น.
               บทว่า นทีติตฺถานิ คนฺตฺวาน อุทกํ โอรุหามิหํ ความว่า ข้าพเจ้าเข้าไปยังท่าเป็นที่บูชาของแม่น้ำคงคาเป็นต้น ซึ่งประดิษฐานไว้อย่างดี ลงน้ำคือดำลงในน้ำ ชำระร่างกายเช้าเย็น.
               บทว่า พหูวตฺตสมาทานา ได้แก่ สมาทานวัตรมีอย่างต่างๆ ๕ ประการ มีเผาผลาญกิเลสด้วยตบะเป็นต้น ที่ทีฆะเป็นพหู ก็เพื่อสะดวกในการแต่งฉันท์.
               บทว่า อฑฺฒํ สีสสฺส โอลิขึ ความว่า ข้าพเจ้าโกนศีรษะของข้าพเจ้าเสียครึ่งหนึ่ง.
               อาจารย์บางท่านกล่าวเนื้อความของบทว่า อฑฺฒํ สีสสฺส โอลิขึ ว่า เอาปอยผมครึ่งหนึ่งผูกเป็นชฎา อีกครึ่งหนึ่งปล่อยสยาย.
               บทว่า ฉมาย เสยฺยํ กปฺเปมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้นอนบนแผ่นดิน ย่อมนอนบนพื้นดินซึ่งมีประโยชน์ไม่มีระหว่าง.
               บทว่า รตฺตึ ภตฺตํ น ภุญฺชิหํ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้งดอาหารในเวลากลางคืน ย่อมไม่บริโภคโภชนาหารในราตรี.
               บทว่า วิภูสามณฺฑนรตา ความว่า ข้าพเจ้าลำบากกายเพราะอัตตกิลมถานุโยคมาเป็นเวลานาน คิดว่า เพราะร่างกายลำบากอย่างนี้ ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาย่อมมีไม่ได้ แต่ถ้าร่างกายเอิบอิ่มเป็นที่ยินดีแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ความบริสุทธิ์พึงมีได้ เมื่อจะอนุเคราะห์กายนี้จึงยินดีในการตกแต่งและการประดับ คือยินดียิ่งในการตกแต่งด้วยเครื่องตกแต่งคือผ้า และในการประดับด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า นฺหาปนุจฺฉาทเนหิ จ ได้แก่ ด้วยให้คนอื่นๆ นวดฟั้นเป็นต้นแล้วให้อาบน้ำและขัดสี.
               บทว่า อุปกาสึ อิมํ กายํ ความว่า อนุเคราะห์กายของเรานี้ คือให้อิ่มหนำ.
               บทว่า กามราเคน อฏฺฏิตา ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงเจริญ ถูกกามราคะที่กลุ้มรุมเพราะเหตุไม่มีโยนิโสมนสิการครอบงำแล้ว คือเบียดเบียนเนืองๆ.
               บทว่า ตโต สทฺธํ ลภิตฺวาน ความว่า ทำลายพรตที่สมาทานอย่างนี้แล้ว มีร่างกายแข็งแรงเจริญ เป็นผู้ขวนขวายในการกล่าวโต้ตอบเที่ยวไปในที่นั้นๆ หลังจากนั้น คือเวลาต่อมา ได้รับโอวาทและอนุสาสน์ในสำนักของพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ศรัทธา.
               บทว่า ทิสฺวา กายํ ยถาภูตํ ความว่า ข้าพเจ้าเห็นกายของข้าพเจ้านี้ตามความเป็นจริง ด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา ถอนกามราคะได้ทั้งหมดด้วยอนาคามิมรรค.
               บทว่า สพฺเพ ภวา สมุจฺฉินฺนา อิจฺฉา จ ปตฺถนาปิ จ ประกอบความว่า ต่อจากนั้น ภพทั้งหลายทั้งที่เป็นความอยาก กล่าวคือตัณหาในภพปัจจุบัน ทั้งที่เป็นความปรารถนา กล่าวคือตัณหาในภพต่อไป ข้าพเจ้าตัดได้หมดแล้วด้วยมรรคอันเลิศ.
               บทว่า สนฺตึ ปาปุณึ เจตโส ความว่า ถึงคือบรรลุความสงบ คือพระอรหัตผลอย่างแน่นอน.

               จบอรรถกถานันทุตตราเถรีคาถาที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต ๕. นันทุตตราเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 442อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 443อ่านอรรถกถา 26 / 444อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9187&Z=9196
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=2374
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=2374
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :